“ถึงกลิ่นดอกไม่หอมเท่าที่ควร แต่ทุกส่วนล้วนมีประโยชน์” ต้นสำโรงเป็นไม้ยืนต้นที่มีสรรพคุณหลายอย่าง เพียงแค่เมล็ดอย่างเดียวก็ทำได้ทั้งการสกัดน้ำมัน และการประดิษฐ์ของตกแต่ง ส่วนอื่นๆ ยังมีคุณสมบัติทางยาช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยพื้นฐานได้ ไม่ใช่แค่นั้น สำโรงยังเป็นไม้มงคลที่ส่งเสริมคนตามราศีเกิดอีกด้วย หากมีพื้นที่โล่งกว้าง ก็น่าจะปลูกต้นสำโรงไว้ให้ร่มเงาพร้อมกับใช้ประโยชน์สักต้นหนึ่ง
ความเชื่อเกี่ยวกับไม้มงคล
ในสมัยก่อน คนโบราณจะให้ความสำคัญกับชื่อของต้นไม้มาก หากชื่อพ้องกับคำที่ไม่ดีในภาษาไทย ก็จะมองว่ามันไม่ค่อยเป็นสิริมงคลมากเท่าไร ทำให้ต้นสำโรงเป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้ที่ถูกมองว่าเป็นต้นไม้นำโชคร้ายมาโดยตลอด เพราะคำว่าสำโรงมันคล้ายคลึงกับคำว่า “โลง” นั่นเอง หากปลูกไว้ในบ้านก็เกรงว่าจะทำให้ใครต้องเจ็บป่วยล้มตายไป แต่ปัจจุบัน ความเชื่อในแง่มุมนี้ก็มีน้ำหนักค่อนข้างน้อยแล้ว และยังมีอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า ต้นสำโรงเป็นไม้มงคลสำหรับคนที่เกิดปีจอ หากมีไว้ในรั้วบ้านแล้ว จะส่งเสริมให้เจริญก้าวหน้า ทำสิ่งใดก็ไร้ศัตรู แม้แต่คนที่เคยไม่ถูกกันมากๆ ก็บรรเทาให้ปรองดองต่อกันได้ และยังช่วยให้คนปีจอได้รับสิ่งที่ปรารถนารวดเร็วกว่าปกติด้วย
ตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การปลูกภายในบริเวณบ้าน
อันที่จริงต้นสำโรงเป็นไม้ที่ไม่ค่อยนิยมปลูกไว้ใกล้ตัวบ้านมากเท่าไร แต่ด้วยคุณประโยชน์ที่หลากหลายของพันธุ์ไม้ชนิดนี้ การเพาะเก็บไว้สักต้นหนึ่งก็น่าสนใจเหมือนกัน โดยเงื่อนไขของการปลูกต้นสำโรงคือ ต้องเป็นบ้านที่มีพื้นที่ของบริเวณโดยรอบกว้างขวางพอสมควร เนื่องจากต้นสำโรงต้องอยู่ห่างตัวบ้านค่อนข้างมาก ไม่ใช่เรื่องขนาดของการเจริญเติบโต แต่เป็นกลิ่นของดอกที่ไม่หอมเอาเสียเลย เมื่อมันบานเต็มที่ก็แทบไม่อยากเดินเฉียดเข้าไปใกล้ต้น และสำโรงยังเป็นไม้เนื้ออ่อนที่หักเปราะได้ง่าย กิ่งเล็กๆ น้อยๆ อาจหล่นลงมาสร้างความเสียหายให้กับตัวบ้านได้ถ้าปลูกใกล้เกินไป และอย่าลืมดูทิศทางลมที่พัดเข้ามาในตัวบ้านด้วย ไม่อย่างนั้นกลิ่นดอกจะต้องลอยมาตามลมแน่นอน
ส่วนประกอบของต้นสำโรง
ลักษณะของลำต้น
ปลือกของลำต้นค่อนข้างหนา มีสีน้ำตาลอมเทา ในช่วงแรกของการเจริญเติบโตจะมีรูปทรงไม่ต่างจากพันธุ์ไม้อื่นเท่าไร แต่เมื่อนานไปจะปรับเปลี่ยนเป็นทรงสูงและมองเห็นพุ่มใบเป็นชั้นๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น
ใบ
ขนาดของใบค่อนข้างใหญ่ เป็นใบประกอบที่กางออกรอบทิศจากจุดเดียวกัน หน้าใบมีสีเขียว ผิวสัมผัสเรียบลื่น ปลายใบเรียวแหลม
ดอก
ดอกมีขนาดเล็กสีแดงเลือดนก ออกรวมกันเป็นช่อตามปลายกิ่ง ไม่มีกลีบดอก แต่มีกลีบเลี้ยงที่มีขนปกคลุม ในช่วงที่ดอกบานจะมีกลิ่นเหม็นมาก
ผล
ผลสำโรงก็ออกเป็นพวงเช่นกัน แต่จะมีขั้วสั้นมาก ลักษณะของผลมีความกลมรีคล้ายเมล็ดถั่ว ผิวนอกเป็นสีเขียวอ่อนเสมอกันทั่วทั้งผล เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงอมส้มและแตกออก ด้านในเป็นเมล็ดคล้ายถั่วดำจำนวนมาก
วิธีการปลูกต้นสำโรงให้เจริญงอกงาม
ถ้าต้องการต้นสำโรงที่มีลักษณะเหมือนสายพันธุ์ดั้งเดิมไม่ผิดเพี้ยน ลำต้นแข็งแรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมและโรคแมลง ควรปลูกด้วยการเพาะเมล็ดมากกว่าการเพาะจากต้นกล้า โดยเลือกเมล็ดจากต้นที่สมบูรณ์ ยิ่งเป็นต้นสำโรงที่อายุมากเท่าไรก็ยิ่งดี นำเมล็ดมาแช่น้ำข้ามคืนไว้ ก่อนปลูกในถุงเพาะกล้าขนาดเล็ก วิธีการเพาะก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก เริ่มจากใส่ดินและหย่อนเมล็ดลงไปในถุงเพาะ โดยไม่ต้องใส่อะไรเพิ่มอีก เมื่องอกและโตพอแล้ว ก็ขุดหลุมในตำแหน่งที่ต้องการ แล้วลงต้นกล้าโดยไม่ต้องรองอะไรที่ก้นหลุม กลบดินพร้อมกดให้แน่น จากนั้นก็หมั่นรดน้ำใส่ปุ๋ยตามความเหมาะสม หรือจะเอาลงดินในตำแหน่งที่ต้องการปลูกเลยก็ยังได้ ขอแค่มีไม้กั้นล้อมคอกไว้สักหน่อยก็พอ
วิธีการดูแลรักษา
แสง
แสงต้องการปริมาณแสงแดดค่อนข้างมาก ควรปลูกไว้กลางแจ้งที่รับแดดได้ตลอด
น้ำ
ในช่วงแรกของการเพาะเมล็ดหรือต้นกล้า ให้มั่นรดน้ำทุกวัน แต่ไม่ต้องใช้ปริมาณน้ำมากจนท่วมขัง จนเมื่อต้นเติบโตขึ้นแล้ว ก็ค่อยลดความถี่ในการให้น้ำลงได้ เหลือประมาณอาทิตย์ละ 3-4 ครั้งก็พอแล้ว
ดิน
ดินร่วนซุยถือเป็นสภาพดินที่เหมาะสมกับการเติบโตมากที่สุด
ปุ๋ย
ให้ใช้เป็นปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ บำรุงดินรอบโคนต้นประมาณปีละ 1-2 ครั้ง
คุณประโยชน์ที่ได้จากต้นสำโรง
- ใบ มีคุณสมบัติเป็นยาระบายอ่อนๆ
- ผล เราใช้ส่วนของเปลือกมาเป็นยาบรรเทาอาการปวดท้องบิด และช่วยขับปัสสาวะ
- เมล็ด ใช้บดละเอียดและทาพอกไว้เพื่อสมานแผล หรือจะสกัดเอาน้ำมันเพื่อมาใช้ในครัวเรือนก็ได้
- เปลือกไม้ ทั้งแบบสดและแบบแห้งมีคุณประโยชน์หลายด้าน สามารถใช้เพื่อบำรุงโลหิต บรรเทาอาการบวมน้ำ และบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคไส้เลื่อนได้
- เนื้อไม้ เหมาะแก่การทำเครื่องเรือนขนาดกลาง ไปจนถึงของใช้ขนาดเล็ก เช่น หีบใส่ของ ไม้จิ้มฟัน กระดานไม้ เป็นต้น
ราคาต่อต้นโดยประมาณ
ราคาของต้นสำโรงจะเพิ่มขึ้นตามอายุต้นกล้าที่มากขึ้น โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 50 บาท
แหล่งอ้างอิง
: http://www.rspg.or.th/plants_data/palace/chitralada/cld6-2_098.htm