อุโลก หรือส้มกบ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง โดยเป็นพืชในวงศ์เข็ม ลักษณะเป็นไม้ต้นผลัดใบ มีถิ่นกำเนิดในอนุทวีปอินเดีย อินโดจีน ไปจนถึงฟิลิปปินส์ ซึ่งพบได้ในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ โดยจะขึ้นได้ดีในดินร่วนปนทรายกลางแดดจัด ถือเป็นพันธุ์ไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์และสรรพคุณมากมาย ในประเทศไทยจะพบได้ในป่าเต็งรังและป่าผสมผลัดใบในทุกภาคของประเทศ นอกจากนี้อุโลกก็ยังเป็นไม้เนื้ออ่อน เนียนละเอียด ที่สามารถนำไปใช้สำหรับงานแกะสลักชั้นเยี่ยมได้ โดยอุโลกนั้นเคยใช้ในการสลักตราของพระเจ้าแผ่นดินและในวัง และถือเป็น 1 ใน 9 ไม้มงคลที่ใช้แกะสลักในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ อีกด้วย
ความเชื่อเกี่ยวกับต้นไม้
ต้นอุโลกหรือส้มกบนั้นถือเป็นอีกหนึ่งพันธุ์ไม้มงคลของไทย สืบเนื่องจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่อเนื่องและโครงการเฉพาะกิจ (ปลูกต้นส้มกบ) ในตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี โดยพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้มีพระราชดำริให้ดำเนินการแกะสลักผลิตภัณฑ์จากไม้อุโลก โดยทรงสนพระหฤทัยเกี่ยวกับไม้อุโลก ซึ่งทางมูลนิธิศิลปาชีพได้ทดลองนำไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ สิ่งประดิษฐ์กรรม ปรากฏว่าเนื้อไม้นั้นดูสวยงามมาก เห็นควรส่งเสริมให้ชาวบ้านได้มีการปลูกในพื้นที่หัวไร่ ปลายนาหรือพื้นที่เกษตรกรรม สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) จึงดำเนินการปลูกไม้อุโลกเพื่อเป็นแหล่งเก็บเมล็ดพันธุ์ไม้และทำการเพาะชำกล้าไม้ แจกจ่ายแก่ประชาชนทั่วไป เพื่อนำไปปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ก็คือ
- เพื่อเป็นแหล่งศึกษาและวิจัยทางด้านวิชาการป่าไม้
- เพื่อสนองแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ราษฎรปลูกไม้ส้มกบในที่ดินกรรมสิทธิ์
- เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้และพันธุ์ไม้ป่าที่หายาก นอกจากนี้อุโลกก็เคยใช้ในการสลักตราของพระเจ้าแผ่นดินและในวังอีกด้วย จึงถือได้ว่าต้นอุโลกหรือส้มกบนั้นเป็นอีกหนึ่งไม้มงคลของไทย
ส่วนประกอบของต้นอุโลกหรือส้มกบ
ลักษณะของลำต้น
อุโลกจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง โดยลักษณะเป็นไม้ผลัดใบ มีความสูงประมาณ 10-20 เมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง เรือนออกเป็นทรงพุ่มกลมโปร่ง แตกแขนงออกจากลำต้นเป็นวงรอบตรงส่วนปลายกิ่ง และมีเปลือกต้นที่หนาแตกลอนออกเป็นสะเก็ด ซึ่งเปลือกต้นนั้นจะมีสีน้ำตาลปนเทา หรือบางทีจะเป็นสีเทาปนน้ำตาล
ใบ
ใบของอุโลกจะเป็นใบเดี่ยว โดยใบนั้นจะออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ออกเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง ซึ่งใบจะมีลักษณะเหมือนรูปรี รูปไข่ หรือรูปโล่ ปลายใบมนและมีติ่ง โคนใบจะสอดเข้าหาก้านใบ ส่วนขอบใบนั้นจะเป็นคลื่นเล็กน้อย โดยใบมีความกว้างประมาณ 8-12 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 12-25 เซนติเมตร ซึ่งแผ่นใบนั้นจะมีลักษณะเป็นลอนเล็กน้อย ในส่วนของหลังใบและท้องใบจะมีขนสัมผัสนุ่มทั้งสองด้าน แต่แผ่นใบจะมีความหนา เส้นใบนั้นสามารถมองเห็นได้ชัดเจนเป็นร่างแห และมีเส้นแขนงใบประมาณ 7-9 คู่ ส่วนก้านใบมีสีแดงอ่อน โดยมีความยาวประมาณ 6 เซนติเมตร และมีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ
ดอก
ดอกอุโลกเป็นดอกเพศเมียหรือเรียกว่าสมบูรณ์เพศ โดยดอกนั้นจะออกเป็นช่อตรงส่วนปลายยอดสีส้มแดง มีความยาว 5-15 เซนติเมตร และมีดอกย่อยเป็นจำนวนมาก กลีบรองมี 5 กลีบ ซึ่งจะเชื่อมกันเป็นหลอดขนาด 2 เซนติเมตร ไม่มีกลีบดอก มีเกสรตัวผู้ 15 อัน เกาะกันอยู่เป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 อัน
ผล
ผลของอุโลกจะพบได้ในดอก ซึ่งจะมีลักษณะเป็นรูปทรงรีขนาดเล็ก มีร่อง 2 ร่อง เมื่อผลสุกจะแตกได้ ในส่วนผิวเปลือกของผลนั้นจะแข็งบางเป็นสีน้ำตาลแดง โดยมีความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร อยู่รวมกันเป็นพวงห้อยลง แต่ปลายผลนั้นจะชี้ย้อนขึ้นไปทางโคนช่อ ภายในผลจะมีเมล็ดจำนวนมาก ซึ่งเมล็ดนั้นจะมีครีบหรือปีกบาง ๆ ตรงส่วนปลาย โดยผลของอุโลกนั้นจะติดผลในช่วงเดือนกรกฎาคม-มกราคม
วิธีการปลูก
- ขั้นตอนแรกให้เพาะต้นกล้าในกระบะเพาะชำก่อน
- หลังจากเพาะต้นกล้าได้ 1 ปีแล้วให้นำไปปลูกในตำแหน่งถาวร
- ปลูกด้วยดินร่วนปนทราย ขุดหลุมพอประมาณ โดยขุดหลุมพอให้รากนั้นอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
- นำต้นกล้าที่ผ่านการเพาะมา 1 ปีแล้วมาปลูกในหลุมที่ทำการขุดไว้
- เมื่อวางต้นให้อยู่ในตำแหน่งและองศาที่เหมาะสมแล้วก็ทำการกลบดินให้แน่น
- หลังจากปลูกเสร็จให้รดน้ำเล็กน้อย
วิธีการดูแล
แสงแดด
อุโลกเป็นพืชที่ชอบแดดจัด ๆ เพราะฉะนั้นควรให้ต้นอุโลกอยู่กลางแดด โดยการเลือกปลูกในบริเวณที่แดดนั้นสามารถส่องเข้ามาถึงตัวต้นได้ ยิ่งถ้าให้ต้นอุโลกโดนแดดตลอดวันได้ก็ยิ่งดี
น้ำ
เนื่องจากต้นอุโลกนั้นสามารถอยู่กลางแดดจัด ๆ ได้ และชอบดินที่มีความอุดมสมบูรณ์และสามารถระบายน้ำได้ดี เพราะฉะนั้นจึงควรรดน้ำในปริมาณที่พอดี ไม่มากจนเกินไป เพราะต้นอุโลกชอบดินที่ไม่มีน้ำขังมาก
ดิน
อุโลกเป็นพืชที่ขึ้นได้ดีในดินร่วนปนทรายที่อยู่กลางแดดจัด ๆ ซึ่งเป็นดินที่มีค่า pH ในช่วง 5.5-6.5 และเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สามารถระบายน้ำได้ ดังนั้นควรใช้ดินร่วนปนทรายและพื้นที่ที่สามารถระบายน้ำได้ดีในการปลูกต้นอุโลกเพื่อให้ต้นมีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้นและอยู่ได้นาน
ปุ๋ย
โดยปกติแล้วต้นอุโลกนั้นไม่จำเป็นจะต้องใส่ปุ๋ยก็ได้ เนื่องจากเป็นต้นที่เจริญเติบโตได้ดีอยู่แล้วถ้าหากปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม แต่ถ้าหากจะใส่ปุ๋ยให้ต้นอุโลกแนะนำให้ใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์จากเศษใบไม้
ประโยชน์หรือสรรพคุณอื่น ๆ
- ใบอ่อนจะมีรสเปรี้ยว ซึ่งสามารถนำไปรับประทานแบบสดหรือลวกก็ได้ และยิ่งถ้าทานกับน้ำพริกก็จะเข้ากันมาก ๆ
- เนื้อไม้ของต้นอุโลกนั้นสามารถนำไปใช้งานเบา ๆ ได้ เช่น ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ฝาบ้าน ฯลฯ
- ราก แก่น และเปลือกต้นอุโลกสามารถใช้เป็นยาแก้อาการร้อนในกระหายน้ำได้
- รากและแก่นของอุโลกสามารถนำไปใช้เป็นยาช่วยแก้อาการไอและขับเสมหะได้
- ใบและรากของอุโลกสามารถนำไปใช้เป็นยาดูดพิษฝีหนอง และสามารถใช้เป็นยาภายนอกในการแก้ไขข้ออักเสบ และแก้ปวดบวมแดงตามข้อได้
- ราก แก่น และเปลือกต้นของอุโลกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้พิษต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะช่วยในการระงับความร้อน โดยสามารถนำไปใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้อาการตัวร้อน ไข้หวัด และไข้จับสั่นได้
- ในประเทศบังคลาเทศนำเปลือกไปใช้เพื่อเพิ่มความอยากอาหารและรักษาเนื้องอก ไม้ผงใช้สำหรับเริม และใบต้มในน้ำนำไปใช้ในอ่างอาบน้ำเพื่อรักษาโรคดีซ่าน
- ในประเทศอินเดียเปลือกไม้ขมใช้เป็นยาสมานแผลและยาแก้ไข้ รากไม้และเปลือกลำต้นใช้สำหรับแก้ไข้และบรรเทาอาการกระหายน้ำ
- ในรัฐอานธรประเทศ ประเทศอินเดีย นำเปลือกลำต้นไปใช้สำหรับระดูขาวและประจำเดือน ใบใช้ในการรักษาแผล อาการเจ็บคอ และต่อมทอนซิลอักเสบ
ราคาต่อต้นโดยประมาณ
- กล้าต้นอุโลกจะมีราคาอยู่ที่ 70 บาท
- ต้นอุโลกที่มีความสูง 20 เซนติเมตร มีราคาอยู่ที่ 100 บาท
- ต้นอุโลกที่มีความสูง 30-60 เซนติเมตร มีราคาอยู่ที่ 200 บาทขึ้นไป