ดอกกุหลาบ ภาษาอังกฤษ Rose
ดอกกุหลาบชื่อวิทยาศาสตร์ Rosa
วงศ์ Rosaceae
ดอกกุหลาบลักษณะเป็นพืชไม้ดอกยืนต้นที่มีมากกว่าสามร้อยสายพันธุ์ ลักษณะของดอกกุหลาบจะมีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกันไป ส่วนมากมักจะมีขนาดใหญ่และมีหลากหลายสี ตั้งแต่สีขาว ไปจนถึงสีเหลืองและสีแดง กุหลาบส่วนใหญ่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย และมีบางสายพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดในยุโรป อเมริกาเหนือและแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ มักมีการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์กันอย่างแพร่หลาย และ สายพันธุ์ที่เป็นลูกผสมต่างเป็นที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย เพราะมีความสวยงามและมีกลิ่นหอม และการผสมพันธุ์กันทำได้โดยง่าย ขนาดของต้นมีตั้งแต่ขนาดจิ๋วเล็ก ไปจนถึงต้นที่มีลักษณะเป็นไม้เลื้อยที่อาจมีความสูงได้ถึงเจ็ดเมตรเลยทีเดียว
ในประเทศไทย มีพื้นที่เพาะปลูกกุหลาบกว่าห้าพันไร่ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่พื้นที่ที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูกกุหลาบเพื่อให้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพสูง มักพบที่บริเวณภาคเหนือและบนที่สูง โดยปลูกภายใต้การควบคุมสภาพแวดล้อม ทั้งด้าน อุณหภูมิ การให้น้ำ การป้องกันโรคจากแมลงต่าง ๆ เช่นปลูกในโรงเรือน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูกที่เหมาะสมและใช้แรงงานที่มีความเชี่ยวชาญ จะทำให้ได้ดอกที่มีคุณภาพดี มีความทนทาน สามารถอยู่ได้นานเมื่อตัดดอกมาปักแจกันแล้ว
สายพันธุ์ของดอกกุหลาบ
สายพันธุ์ของกุหลาบที่มีในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลักด้วยกัน ได้แก่
Wild Roses
กุหลาบยืนต้นหรือกุหลาบป่า คือ กุหลาบชนิดแรกๆ ที่ค้นพบ ดอกกุหลาบสีชมพูถ้าได้เจอเป็นสีอื่นเรียกว่าโชคดีเพราะหาชมได้ในธรรมชาติได้ยากมาก และยังเป็นรากฐานของกุหลาบเกือบทุกประเภทในปัจจุบัน
Old Garden Roses
มักเรียกกันว่ากุหลาบ “โบราณ” หรือกุหลาบ “ประวัติศาสตร์” ซึ่งสายพันธุ์นี้มีมาตั้งแต่ก่อนปีพ. ศ. 2410 โดยมีลักษณะที่โดดเด่น คือ มีกลิ่นหอม แต่จะบานเพียงครั้งเดียวต่อฤดูกาล จุดเด่นอีกประการคือมีความแข็งแรง ทนทานเป็นพิเศษ โดยสายพันธุ์เด่นๆ ที่เป็นที่รู้จักในกลุ่มนี้ ได้แก่ กุหลาบมอญ Damask Rose หรือ Rosa damascene หนึ่ง ในพืชตระกูลกุหลาบ ที่มีมากกว่า ๑,๐๐๐ สายพันธุ์ มีสถานะประดุจ ‘ราชินีแห่ง วงการเครื่องสำอาง’ ของโลก เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งสามารถสกัดกลิ่น หอมธรรมชาติอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย มิหนำซ้ำยังค้นพบแร่ธาตุ วิตามิน ฯลฯ อันเป็นประโยชน์ (ทางการค้า) ต่อมนุษย์มากมาย
Modern Roses
เป็นสายพันธุ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ โดยการผสมสายพันธุ์จากสายพันธุ์เดิม ลักษณะของสายพันธุ์กลุ่มนี้ จะมีการบานอย่างต่อเนื่องและมีขนาดดอกที่ใหญ่ อีกทั้งมีอายุการปักแจกันที่ยาวนานกว่าอีกสองสายพันธุ์ข้างต้น ข้อเสียเพียงประการเดียวของสายพันธุ์นี้คือ มักจะไม่ค่อยมีกลิ่นหอม และความแข็งแรงทนทานจะน้อยกว่าสายพันธุ์แบบดั้งเดิม ตัวอย่างของสายพันธุ์ในกลุ่มนี้ ได้แก่
Climbing (กุหลาบเลื้อย) ไม่สามารถเลื้อยไปตามแนวกำแพงเองได้ มีหนามแข็ง ก้านแข็ง เลื้อยไปได้มากกว่า 10 ถึง 20 ฟุต ต้องมีสร้างโครงรองรับให้กุหลาบเลื้อยขึ้นไป ใช้เวลานาน ในการเติบโต จนสามารถกระจายเถาเลื้อยให้เต็มพื้นที่ พันธุ์นี้ควรปลูกตามแนวนอนให้ได้มากที่สุดจะทำให้ดอกดก
Rosaceae ดอกกุหลาบสีแดง สัญลักษณ์แทนคำว่ากุหลาบทั้งหมด เพราะ ขึ้นชื่อว่ากุหลาบแล้ว ใครๆ ก็จดจำสีแดงได้ดีที่สุด มีพันธุ์ย่อยๆ ได้แก่ พันธุ์บราโว. เรดมาสเตอร์พีช, คริสเตียนดิออร์, โอลิมเปียด,
Miniature / Fairy rose / Pygmy rose (กุหลาบหนู) ดอกเล็ก ใช้เนื้อที่ในการปลูกไม่ได้ เหมาะกับการปลูกในกระถางเล็กๆ
Floribunda (กุหลาบพวง), เติบโต และผลิดอกรวมกันเป็นช่อๆ
นอกจากสายพันธุ์หลักๆ ที่กล่าวมาทั้ง 3 สายพันธุ์นี้แล้ว เรายังคงคุ้นชื่อคำว่า กุหลาบหิน Kalanchoe กันด้วย ใช่ไหม ซึ่งลักษณะรูปลักษณ์จะมีความแตกต่างจากดอกกุหลาบ อื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น นั่นคือมีลักษณะเป็นไม้อวบน้ำ เป็นพุ่มเตี้ยสูง ใบค่อนข้างกลมมนเป็นหยักซ้อนกัน ออกดอกเป็นช่อสูง มีหลายสี ไม่ว่าจะเป็น ชมพู ส้ม เหลือง ถือได้ว่าเป็นไม้ประดับขนาดเล็ก เหมาะในการปลูกไว้ในคอนโด ที่ทำงาน ที่อยู่อาศัยที่มีขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มความสดชื่น สดใส ที่สำคัญยังดูแลรักษาง่ายอีกด้วย
ส่วนประกอบของดอกกุหลาบ
กุหลาบส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม โดยมีขนาดของลำต้นที่เป็นพุ่มเตี้ย ๆ ประมาณ 10 เซนติเมตร ไปจนถึงสูงเป็นเมตรเลยก็มี และกุหลาบบางสายพันธุ์ ก็มีลักษณะเป็นไม้เลื้อยก็มี ลักษณะของใบ จะออกใบแบบสลับ มีรูปทรงเหมือนขนนก เป็นไม้ผลัดใบ ลักษณะของดอก จะเป็นดอกเดี่ยว หรืออาจเป็นหลายดอกในช่อเดียวก็มี ส่วนใหญ่ดอกกุหลาบทั่วไปจะมีกลีบ 5 กลีบ ยกเว้นบางสายพันธุ์ที่อาจมีกลีบดอกเพียง 4 กลีบ โดยในดอกจะประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้คือ
กลีบชั้นนอก (Sepal)
หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า กลีบเลี้ยง จะมีสีเขียวติดกับฐานของดอก ทำหน้าที่หุ้มดอกขณะที่ดอกยังเล็กและเป็นดอกตูมอยู่ ตามปกติจะมี 5 กลีบ
กลีบดอกชั้นใน (Petal)
กลีบดอกนี้จะออกสีต่าง ๆ ตามลักษณะสายพันธุ์ของดอก จำนวนของกลีบดอกนั้น ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นเท่าไหร่ แล้วแต่สายพันธุ์นั้น ๆ แต่โดยปกติจะอยู่ประมาณ 5-20 กลีบต่อหนึ่งดอก
เกสรตัวผู้ (Stamen)
จะประกอบด้วยก้านเกสรตัวผู้ ซึ่งจะล้อมรอบเกสรตัวเมียอยู่ภายในกลีบดอกชั้นใน ด้านปลายของก้านจะเป็นอับละอองของเกสรตัวผู้ เมื่อดอกบานออก จะสังเกตเห็นละอองของเกสรเป็นสีเหลืองซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก
เกสรตัวเมีย (Pistil)
ประกอบด้วย 4 ส่วนคือ ปลายเกสรตัวเมีย ก้านเกสรตัวเมีย รังไข่และไข่ โดยทั้งหมดจะรวมกันอยู่ตรงกลางดอก ซึ่งจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกสรตัวผู้
ฝัก (Hip)
เป็นส่วนที่เจริญมาจากรังไข่ ทำหน้าที่ห่อหุ้มไข่หรือเมล็ดที่ผสมแล้ว เมื่อฝักแก่จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีส้ม สีเหลือง หรือน้ำตาล โดยแต่ละฝักจะมีจำนวนของเมล็ดตั้งแต่สองเมล็ดจนถึงหลายสิบเมล็ด
การเพาะปลูก
กุหลาบเป็นไม้ประดับที่ขยายพันธุ์ได้โดยง่าย และทำได้หลายวิธี ได้แก่
การเพาะเมล็ด
เป็นวิธีการที่นิยมในหมู่นักวิจัยที่ต้องการทดลองหาพันธุ์กุหลาบใหม่ ๆ เพราะการเพาะจากเมล็ด ต้นที่ได้มักจะไม่เหมือนต้นพ่อหรือต้นแม่ หรือเรียกได้ว่า กลายพันธุ์
การตอนกิ่ง
มักนิยมทำกับกุหลาบพันธุ์เลื้อย ซึ่งเป็นวิธีโบราณที่ใช้มานาน ซึ่งมีข้อดีคือ ได้ผลแน่นอน แต่ข้อเสียคือ เสียเวลามากและได้จำนวนผลผลิตน้อย
การต่อกิ่ง
ทำได้แต่ไม่ค่อยนิยม เพราะให้ผลผลิตช้าและค่อนข้างน้อย มักทำกับกุหลาบที่ปลูกในกระถาง
การติดตา
เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่นิยมมากที่สุด เพราะสามารถทำได้รวดเร็ว และได้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก โดยหากหาพันธุ์กุหลาบที่จะมาเป็นต้นตอที่ดี ซึ่งมักจะเป็นพันธุ์กุหลาบป่า และหาพันธุ์ใหม่ ๆ มาติดเข้า ก็จะได้ต้นที่มีสภาพแข็งแรง สมบูรณ์ และให้ดอกตามที่ต้องการอีกด้วย
ประโยชน์และสรรพคุณของดอกกุหลาบ
- เป็นไม้ประดับ ที่นิยมปลูกเพื่อเพิ่มสีสันและกลิ่นหอมแก่สวนในบ้าน หรือสวนสาธารณะ
- นำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย หรือเป็นส่วนประกอบของน้ำหอมกลิ่นกุหลาบ
- นำมาปรุงอาหาร โดยเป็นส่วนผสมในไอศกรีม อาหารคาว อาหารหวาน หรือจะนำดอกสด ๆ มาทอดกรอบก็อร่อยเช่นกัน
- ดอกกุหลาบ สรรพคุณนำมาทำเป็นยา โดยฝักของดอกกุหลาบ มีวิตามินซี จึงนิยมนำมาทำเป็นอาหารเสริม อีกทั้งมีการใช้ส่วนของดอกในสมุนไพรและยาพื้นบ้าน นอกจากนั้น ดอกกุหลาบยังถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์แผนจีนมานานแล้ว อีกทั้งยังเป็นส่วนผสมของยาที่แก้อาการที่เกี่ยวกับโรคกระเพาะอาหาร และในปัจจุบัน ยังมีการวิจัยว่า สามารถนำกุหลาบมาใช้เพื่อควบคุมการเจริญเติบโตของมะเร็งได้อีกด้วย.
ที่มา
https://www.panmai.com