กระบก ภาษาอังกฤษ: Barking deer’s mango, Wild almond
กระบก ชื่อวิทยาศาสตร์: Irvingia malayana Oliv. ex A.W.Benn.
วงศ์: Irvingiaceae
ชื่อพื้นเมือง: กะบ๊ก (นครราชสีมา); หมักลื่น (นครราชสีมา, สุโขทัย); กระบก, กะบก, จะบก, ตระบก (ภาคกลาง); จำเมาะ (เขมร); ซะอัง (ชอง – ตราด); บก, หมากบก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); มะมื่น, มื่น (ภาคเหนือ); มะลื่น,หลักกาย (ส่วย – สุรินทร์)
กระบก มีชื่อเดิมว่า “ต้นเติม” (Bischofia javanica blume) หมายถึง เป็นไม้เบิกนำ เจริญเติบโตตามพื้นที่ว่างไปเรื่อยๆ ซึ่งมีความหมายตรงข้ามกับ “หมากบก” ที่หมายถึง น้อยลง เบา บาง หรือหมดไป ทำให้ชาวอีสานมีความเชื่อว่า กระบก เป็นพรรณไม้ไม่มงคล บางคนเชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ไม่นิยมให้ปลูกในบ้านเพราะเชื่อว่าจะทำให้เงินทองหมดไป แต่จะปลูกตามไร่นา หรือพื้นที่ป่าชุมชน
ในอีกแง่มุมหนึ่ง กระบก มีประโยชน์มากมายจนเปรียบเทียบได้ว่า เม็ดกระบก คือ อัลมอนด์อีสาน ทีเคี้ยวทานอร่อย และมีคุณค่าทางโภชนาการ และมีน้ำมันในเม็ดที่มีประโยชน์ต่อการบำรุงสมองด้วย และยังได้ชื่อว่าเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดร้อยเอ็ดอีกด้วย
เม็ดกระบก หรือ อัลมอนด์อีสาน หรือ อัลมอนด์เมืองไทย มีลักษณะเป็นเมล็ดรูปไตขนาดใหญ่ เปลือกหุ้มเมล็ดมีสีน้ำตาล เนื้อในเป็นแป้งสีขาว เม็ดกระบก ถือเป็นยารสเบื่อเมา มีรสมันติดขมเล็กน้อย กินแล้วช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง ที่สำคัญป้องกันโรคความจำเสื่อม บำรุงหัวใจ และป้องกันมะเร็งเต้านม กินได้ทุกเพศทุกวัย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น
กระบกเป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ผลัดใบ สูง 10 – 30 เมตร ลำต้นเปลา เมื่อมีอายุมากโคนต้นมักเป็นพอน เปลือกสีเทาอ่อนปนน้ำตาล
ใบ
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมทู่ โคนใบมน สอบเรียวไปทางปลายใบ ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนา ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน มีหูใบม้วนหุ้มยอด เรียวแหลม โค้งเล็กน้อยเป็นรูปดาบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างเกลี้ยง หรือมีขนประปราย ใบแก่ผิวเรียบ ด้านบนเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างมักจะมีนวลสีเขียวเทา เส้นแขนงใบ ข้างละ 8-10 เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหเห็นชัดเจน ทั้งสองด้าน ก้านใบ ยาว 0.5-1.5 ซม. เป็นร่องทางด้านบน เกลี้ยง หูใบลักษณะเป็นกรวยยาวหุ้มยอดอ่อน ปลายแหลมโค้งเล็กน้อย เป็นรูปดาบ ยาว 1.5-3 ซม. หลุดร่วงง่ายทิ้งร่องรอยเป็นวงแหวนบนกิ่ง
ดอก
ดอกออกเป็นช่อแยกแขนง มีขนาดเล็ก สีขาวปนเขียวอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อโตตามปลายหกิ่ง ออกดอกเดือนเมษายน – พฤษภาคม ช่อดอกกระบก แบบช่อแยกแขนง ยาว 5-15 ซม. ออกตามซอกใบ หรือปลายกิ่ง ดอกมักจะออกก่อนที่จะเกิดใบชุดใหม่ ดอกร่วงอย่างรวดเร็ว ใบประดับ รูปไข่ปลายแหลม ขนาดเล็กร่วงง่าย ดอกขนาดเล็ก สีขาวอมเขียว หรือสีเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยง กว้างประมาณ 0.5 มม. ยาวประมาณ 1 มม. เชื่อมกัน กลีบดอก กว้างประมาณ 1.5 มม. ยาว 2-3 มม. ปลายกลีบดอกจะม้วนออก เกสรเพศผู้ 10 อัน ติดกับขอบนอกของหมอนรองดอก รังไข่อยู่ เหนือวงกลีบ มี 2 ช่อง แต่ละช่อง มีออวุล 1 เม็ด
ผล
ผลเดี่ยว รูปกลมรี ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเหลือง มีเนื้อหุ้มเมล็ด แต่ละผลมีเมล็ดเดียวเนื้อในเมล็ดสีขาว มีน้ำมัน ออกผลเดือนมิถุนายน – สิงหาคม ผลสดกระบกมีผนังชั้นในแข็ง รูปไข่หรือรูปรี กว้าง 3-4 ซม. ยาว 4-5 ซม. มีนวลเล็กน้อย ผลมีสีเขียว เมื่อผลสุกสีเหลือง มีเนื้อสีส้ม เมล็ด 1 เมล็ด แข็ง รูปไข่หรือรูปรีแกมรูปไข่ ค่อนข้างแบน เนื้อในเมล็ดสีขาว และมีน้ำมัน
แหล่งที่พบ
พบขึ้นในป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ ตลอดจนป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเล จนถึงประมาณ 300 เมตร
วิธีการปลูกกระบก
การขยายพันธุ์และการผลิตกล้า โดยวิธีการเพาะเมล็ด เนื่องจากเปลือกหุ้มเมล็ดแข็งมาก ก่อนเพราะจะช่วยการงอกด้วยการตัดหัวท้ายของเมล็ดหรือขลิบตามร่อยแยกของเมล็ด จากนั้นนำแช่น้ำ 1 คืน ก่อนนำลงดินที่ผสมไว้ด้วยแกลบ จากนั้นต้นจะงอก และค่อยลงพื้นดิน วิธีการปลูกต้นกระบกและระยะปลูกที่เหมาะสม กล้าที่ใช้ปลูกควรเป็นกล้าค้างปี ขนาดของหลุมที่ขุดปลูก 30x30x30–50x50x50 ซม. ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์รองก้นหลุมส่วนระยะปลูกที่เหมาะสม 4×4, 4×6, 4×8, 6×6, และ 8×8 เมตร ในช่วงระยะปลูกแรกๆ ใช้พืชเกษตรปลูกควบตามระบบวนเกษตร เมื่อต้นไม้เจริญเติบโตมีการแก่งแย่ง ควรมีการตัดสางขยายระยะจนเหลือระยะปลูก 8×8 หรือ 12×12 หรือ 16×16 ม.
กระบกจะชอบดินในสภาพธรรมชาติ และจะเติบโตได้ดีขึ้นบนดินร่วน หรือดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี ไม่ควรเป็นที่ลุ่มน้ำขัง และมีสภาพเป็นกรด และควรปลูกกระบกไว้ในบริเวณที่ มีความชื้นปานกลาง – มาก มีแสงมาก
สรรพคุณ และการใช้ประโยชน์
กระบกเป็นพืชที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ เพราะมีสรรพคุณทางยาที่หลากหลายเม็ดกระบกเมื่อกินทั้งเปลือกจะมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ เบื่อพยาธิ เนื้อในสีขาว รสมัน บำรุงไขข้อ กระดูก บำรุงไต แก้เส้นเอ็นพิการและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย และไขมันในเม็ดกระบกนำมาใช้ในการทำเครื่องสำอาง และเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดและบอกต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ดังเช่น
1.เมล็ดกระบก มีสรรพคุณหลายอย่าง น้ำมันจากเมล็ดกระบกช่วยบำรุงสมอง บำรุงหัวใจ ช่วยรักษาริดสีดวงจมูก ช่วยบรรเทาอาการหอบ บำรุงสมอง บำรุงหัวใจ ทำให้เจริญอาหาร ช่วยบำรุงไต ช่วยบำรุงเส้นเอ็นและไขข้อ มักนำมาใช้สกัดทำเป็นน้ำมันสำหรับประกอบอาหาร หรือทำเป็นยาบำรุง
2.เนื้อในเมล็ดกระบก มีรสมันร้อน รสมันอมหวาน บำรุงเส้นเอ็น บำรุงไขข้อ แก้ข้อขัด บำรุงไต ฆ่าพยาธิในท้อง ไม่ระบุส่วนที่ใช้ ผสมกับกระเบาและมะเกลือ ต้มน้ำดื่มสำหรับผู้หญิงที่อยู่ไฟไม่ได้ ช่วยฆ่าพยาธิในท้อง ช่วยบำรุงไต ช่วยบำรุงเส้นเอ็น แก้เส้นเอ็นพิการ บำรุงไขข้อกระดูก แก้ข้อขัดได้อีกด้วย กินได้ทั้งแบบดิบ และทำให้สุกด้วยการคั่วก็ได้
3.แก่นไม้กระบก แก้ผื่นคัน แก้ไอ เมื่อนำแก่นไม้กระบกไปผสมแก่นพันจำ และแก่นมะป่วน หรือผสมแก่นมะเดื่อปล้อง แก่นพันจำ แก่นปีบ และแก่นมะพอก ต้มน้ำหรือแช่น้ำดื่ม
- แก้ไอ ผสมลำต้นต่อไส้ และแก่นกันแสง แช่น้ำอาบ
- แก้ผื่นคัน แก่นผสมกับแก่นมะพอกต้มน้ำดื่มแก้ฟกช้ำ ลำต้น ต้มน้ำดื่ม รักษาโรคปอดพิการ
- แก้ไอเป็นเลือด ผสมเหง้าขมิ้นอ้อย รากทองแมว เมล็ดงา ครั่ง มดแดง และเกลือ ต้มน้ำดื่ม
- แก้เคล็ดยอก เปลือกต้น ผสมลำต้นเหมือดโลด ใบหวดหม่อน ลำต้นเม่าหลวง และเปลือกต้นมะรุม ตำพอกแก้ปวด ใบ ตำผสมกับเลือดควายใช้ย้อมแห
4.เปลือกต้นกระบก เมื่อนำไปผสมเหง้าสับปะรด งวงตาล รากไผ่รวก นมควายทั้งต้น และสารส้ม ต้มน้ำดื่ม รักษาโรคหนองใน
5.เนื้อไม้ ใช้ในการก่อสร้างและเผาถ่าน เมล็ดกระบกทำอาหารได้ นำไปอบหรือคั่ว รับประทานได้ เนื้อในเมล็ด ทางจังหวัดระยองนำเมล็ดกระบกมาบดละเอียด คลุกน้ำตาล ห่อด้วยใบตอง เรียกข้าวราง เมล็ดมีน้ำมันมาก ใช้ทำสบู่และเทียนไขได้ เนื้อในเมล็ด บำรุงเส้นเอ็นและไขข้อ ฆ่าพยาธิในท้อง
ที่มา
http://www.phargarden.com