ปุ๋ยพืชสด แค่เลือกใช้ให้ถูกก็ตอบโจทย์ทุกด้านการบำรุงดิน

ปุ๋ยพืชสด เป็นปุ๋ยอินทรีย์อีกชนิดหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะงานเกษตรกรรมที่เป็นการเพาะปลูกบนพื้นที่ขนาดใหญ่ ลักษณะของปุ๋ยพืชสดคือการปลูกพืชบางชนิดลงบนที่ดินที่ต้องการเสียก่อน รอจนกระทั่งเติบโตได้ระยะหนึ่ง จึงทำการไถกลบ ตัด สับ และย่อยพืชเหล่านั้นให้มีขนาดเล็กลง แล้วคลุกเคล้าเข้ากับหน้าดินเพื่อรอให้มันสลายไปเองตามธรรมชาติ จากนั้นปุ๋ยพืชสดก็จะค่อยๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารลงสู่ดิน ทั้งแร่ธาตุที่สะสมอยู่ในต้นพืชนั้นและแร่ธาตุกลุ่มไนโตรเจนที่ตรึงได้จากสิ่งแวดล้อมภายนอก พืชที่ถูกเลือกใช้อยู่เสมอคือพืชตระกูลถั่วและพืชโตเร็วบางชนิด ในเอกสารชุดความรู้จากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีการกล่าวเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการสับสนเอาไว้ว่า ปุ๋ยพืชสดนั้นต่างการจากปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อหมุนเวียน ต่างทั้งกระบวนการและเป้าหมายในการใช้งาน เพราะปุ๋ยพืชสดเน้นบำรุงและปรับโครงสร้างดิน ขณะที่การปลูกพืชหมุนเวียนเน้นลดความเสี่ยงของโรคพืชเป็นสำคัญ

ประโยชน์ของปุ๋ยพืชสด

คุณสมบัติพื้นฐานของปุ๋ยพืชสดก็จะเหมือนกับปุ๋ยอินทรีย์ชนิดอื่น คือเสริมธาตุอาหารให้ดินและปรับปรุงสภาพดินให้มีคุณภาพมากขึ้นได้ โดยเราสามารถแยกเป็นประเด็นเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายดังนี้

  • ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน
    ระหว่างการเพาะปลูกพืชหลักจะมีการสูญเสียอินทรียวัตถุอยู่ตลอดเวลา การใช้ปุ๋ยพืชสดจะช่วยชดเชยส่วนที่ขาดหายไปได้ พร้อมทั้งส่งเสริมกิจกรรมของจุลินทรีย์ในชั้นดิน เพื่อกระตุ้นให้เกิดอินทรียวัตถุตามธรรมชาติ จะเรียกว่าเป็นการปรับปรุงคุณภาพเพื่อให้ได้ผลในระยะยาวก็ไม่ผิดนัก
  • ช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินโดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน
    เนื่องจากพืชที่นำมาปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดส่วนใหญ่จัดอยู่ในพืชตระกูลถั่ว ซึ่งสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาสะสมไว้ในเซลล์พืชได้ดี หลังจากไถกลับธาตุเหล่านี้จึงถ่ายเทลงสู่ดิน พร้อมกับธาตุอาหารชนิดอื่นที่พืชได้รับระหว่างการเติบโตด้วย และเมื่อดินมีไนโตรเจนปริมาณสูงเพียงพอแล้ว ก็ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงไปได้อีก
  • ช่วยรักษาแร่ธาตุที่มีอยู่เดิมไม่ให้สูญสลายมากเกินไป
    คุณบัญชา รัตนีทู วท.ม. กล่าวไว้ว่า ช่วงที่เราใส่ปุ๋ยเพื่อบำรุงพืชหลักในฤดูกาลเพาะปลูก จะมีแร่ธาตุบางส่วนที่ตกค้างอยู่ในดินและค่อยๆ สลายไปตามกาลเวลา แต่พืชที่นำมาปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดจะดึงเอาธาตุเหล่านี้มาใช้ พร้อมกับสะสมบางส่วนเอาไว้ในลำต้น ใบ ดอกและราก เมื่อถูกย่อยก็ปล่อยธาตุกลับสู่ดินเช่นเดิม
  • ช่วยปรับโครงสร้างดินให้เหมาะสมแก่การเพาะปลูก
    นอกจากการเพิ่มธาตุอาหารและการส่งเสริมจุลินทรีย์ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีกรดบางชนิดที่เกิดขึ้นระหว่างการย่อยสลายของพืชสด ทำให้แร่ธาตุในดินเหมาะสำหรับการใช้ประโยชน์มากขึ้น เม็ดดินก็เปลี่ยนสภาพเป็นร่วนซุย อากาศถ่ายเทได้สะดวก รักษาความชุ่มชื้นในดินได้ดี เมื่อปลูกพืชรุ่นใหม่จึงเติบโตได้ดีขึ้น
  • ช่วยปกป้องหน้าดินและตัดวงจรของวัชพืชบางชนิด
    ด้วยระบบรากที่แผ่ขยายรวดเร็วและต่อเนื่องกันเป็นพื้นที่กว้าง จึงช่วยยึดเกาะหน้าดินไม่ให้ถูกกัดเซาจากสายลมและกระแสน้ำได้ดี ในช่วงที่ยังไม่ถึงจังหวะไถกลบ ปุ๋ยพืชสดก็ทำหน้าที่คลุมดินไม่ให้เสื่อมโทรมจากปัจจัยทางสภาพแวดล้อม พร้อมกับลดอัตราการเกิดของวัชพืชไปด้วยในตัว
ปุ๋ยพืชสด ปอเทือง
www.organicfarmthailand.com

ชนิดของปุ๋ยพืชสด

วิธีการเลือกชนิดของพืชที่จะนำมาปลูกเป็นปุ๋ยพืชสด นอกจากต้องมีคุณสมบัติที่ดีในแง่ของธาตุอาหารแล้ว ยังต้องโตเร็ว ดูแลง่าย และค่าใช้จ่ายโดยรวมไม่สูงจนเกินไป คุณอัญชลี พัดมีเทศ ได้แนะนำพืชที่น่าสนใจเอาไว้ในเอกสารชุดการใช้ปุ๋ยพืชสด ของกองเกษตรสัมพันธ์ ดังนี้

1. พืชตระกูลถั่ว

ถือเป็นพืชชนิดแรกที่ต้องนึกถึง เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารอันเป็นประโยชน์ต่อพืชสูงมาก เติบโตเร็วและย่อยสลายง่าย ทั้งยังมีจุลินทรีย์ไรโซเบียมในปมรากถั่วที่สามารถดึงธาตุไนโตรเจนจากอากาศมาสะสมเอาไว้ได้อีกด้วย แต่พืชตระกูลถั่วนั้นมีความหลากหลายของสายพันธุ์พอสมควร จึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ด้วย

1.1 โสนใต้หวัน
พืชชนิดนี้ออกดอกเป็นช่อสีเหลืองสวยงาม โตได้ดีในดินเหนียวน้ำท่วมขังและพื้นที่ราบลุ่มอื่นๆ ทนชื้นและทนแล้งได้ดีมาก นิยมใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าวโซนภาคกลาง

1.2 โสนอินเดีย
ลักษณะทั่วไปคล้ายกับโสนใต้หวัน แต่มีขนาดลำต้นสูงและมีดอกใหญ่กว่า ปลูกได้ดีในทุกสภาพดินขอแค่น้ำไม่ท่วมขังก็พอ นิยมปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดบนที่ดอนมากกว่าที่ลุ่ม และจะโตได้เร็วมากถ้าดินมีความเป็นด่าง

1.3 โสนคางคก
ปัญหาดินเค็มทำให้ปลูกพืชได้จำกัด แต่โสนคางคกนั้นกลับเติบโตได้ดี ความแตกต่างของโสนชนิดนี้คือมีลำต้นขรุขระคล้ายผิวคางคก ชอบน้ำท่วมขัง เป็นพืชอีกชนิดที่นิยมปลูกในนาข้าวเช่นกัน

1.4 ปอเทือง
แม้ว่าจะปอเทืองเป็นพืชที่หลายคนพึ่งได้รู้จักเมื่อไม่นานมานี้ แต่นี่เป็นปุ๋ยพืชสดคุณภาพเยี่ยมที่ให้อินทรียวัตถุแก่ดินสูงมาก ลำต้นคล้ายคลึงกับปอแก้วและมีดอกสีเหลืองสด เติบโตเร็ว หลังไถกลบย่อยสลายเร็วเช่นเดียวกัน สามารถปลูกได้ดีในทุกสภาพดิน แต่ไม่เหมาะกับดินที่มีค่าความชื้นสูงหรือมีน้ำท่วมขัง

1.5 ถั่วพร้า
ถั่วพร้าเป็นพืชที่มีสายพันธุ์แยกย่อยลงไปอีก บ้างมีลักษณะเป็นต้นตรง บ้างเป็นไม้เลื้อยเกี่ยวพัน ระบบรากค่อนข้างลึก ต้นสูง ใบใหญ่ นิยมปลูกในพื้นที่ไร่เนื่องจากทนแล้งได้ดีมาก

1.6 ถั่วประเภทเถาเลื้อย
ปกติจะไม่ได้ทำเป็นปุ๋ยพืชสดโดยตรง แต่ปลูกไว้เพื่อคลุมดินมากกว่า ผลพลอยได้อยู่การร่วงหล่นของใบใต้ต้นแล้วย่อยสลายเป็นปุ๋ยไปเอง ถั่วประเภทนี้มีให้เลือกหลายชนิด เช่น อัญชัน ไมยราบไร้หนาม ถั่วลาย เป็นต้น

1.7 ถั่วประเภทใช้เมล็ดอื่นๆ
ถั่วกลุ่มนี้เกษตรกรรู้จักกันดี เพราะเป็นถั่วที่ใช้งานได้ง่าย แค่หว่านเมล็ดไปก็งอกและเติบโตได้โดยไม่ต้องดูแลอะไรมาก อีกทั้งยังเหมาะกับทุกสภาพพื้นที่ด้วย เช่น ถั่วเขียว ถั่วลิสง ถั่วนา เป็นต้น

ส่วนประกอบปุ๋ยพืชสด
www.ugaoo.com

2. พืชชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่พืชตระกูลถั่ว

ใครว่าต้นหญ้าจะเป็นเพียงแค่วัชพืชกวนใจเกษตรกรได้อย่างเดียว เราสามารถเพาะปลูกเพื่อให้กลายเป็นปุ๋ยพืชสดได้ด้วย ข้อดีคือโตเร็ว ต้นทุนต่ำ แต่ข้อเสียคือมีธาตุอาหารค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเสริมอินทรียวัตถุให้ดินเพียงอย่างเดียว ในช่วงไถกลบเลยต้องหว่านปุ๋ยไนโตรเจนเสริมเข้าไปด้วย

ส่วนประกอบของปุ๋ยพืชสด
pstip.cc

3. พืชน้ำ

กรณีพื้นที่เพาะปลูกมีน้ำขัง เราสามารถเลือกพืชน้ำมาทำเป็นปุ๋ยพืชสดได้ เพราะจะได้เปรียบในการขยายปริมาณและใช้แรงในการปลูกน้อยกว่า ตัวอย่างคือการปลูกแหนแดงในนาข้าว พืชกลุ่มนี้มีคุณสมบัติตรึงไนโตรเจนได้เช่นเดียวกับถั่ว เวลาที่ใช้ในการย่อยสลายก็สั้นเพราะเป็นพืชน้ำที่มีอัตราการเน่าเปื่อยสูงตามธรรมชาติอยู่แล้ว

ปุ๋ยพืชสด แหนแดง
www.technologychaoban.com

ปัจจัยที่ควรพิจารณาก่อนทำปุ๋ยพืชสด

ถึงการปุ๋ยพืชสดจะดีต่อแปลงเพาะปลูกในระยะยาว และค่อนข้างเหมาะกับการปรับโครงสร้างดินที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่ก็มีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนเสมอ เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากปุ๋ยพืชสดอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องเสียเวลา แรงงาน และงบประมาณมากเกินไป

  • พืชที่เลือกใช้ต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมในทุกด้าน คือต้องปลูกง่ายเจริญเติบโตไว ระบบราก ดอกและใบโตเต็มที่ได้ในระยะสั้น น้ำหนักพืชค่อนข้างสูงเพื่อให้ได้ปุ๋ยจำนวนมาก ให้ธาตุอาหารแก่ดินได้ดี และต้องไม่เป็นแหล่งแพร่กระจายโรคพืชเสียเอง จุดที่มองข้ามไม่ได้คือช่วงไถกลบ ต้องคิดเผื่อด้วยว่าพืชที่เลือกนั้นตัดสับได้ง่ายหรือไม่
  • แรงงานและเครื่องมือที่ใช้มีเพียงพอ เนื่องจากปุ๋ยพืชสดต้องเริ่มตั้งแต่เพาะปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยว ยิ่งพื้นที่มากเท่าไรก็ยิ่งต้องใช้แรงงานมากเท่านั้น เราจึงต้องประเมินคร่าวๆ เอาไว้ก่อนว่าแรงงานและเครื่องมือที่มีอยู่พอใช้หรือไม่ หากไม่พอจะแก้อย่างไร จัดหามาเพิ่มหรือวางแผนใหม่ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่มีอยู่
  • กระบวนการใช้ปุ๋ยพืชสดนั้นประยุกต์ได้ บางครั้งเราไม่ต้องรอให้ถึงช่วงพักแปลงปลูก ถ้าจำเป็นก็สามารถปลูกพืชที่ใช้เป็นปุ๋ยร่วมกับการปลูกพืชหลักได้เลย แต่อาจจะมีข้อเสียเรื่องการแย่งธาตุอาหารกันอยู่บ้าง หรือถ้าพื้นที่มีน้อยก็เปลี่ยนเป็นเพาะพืชสำหรับเป็นอาหารก็ได้ แล้วใช้เศษเหลือมากลบเป็นปุ๋ยในภายหลัง
  • ปุ๋ยพืชสดไม่ให้ผลในทันที สิ่งที่ต้องรู้ก่อนก็คือปุ๋ยอินทรีย์ชนิดนี้ต้องใช้เวลาพอสมควรในการบำรุงดิน ช่วงแรกจึงอาจยังไม่เห็นผลอะไร ยิ่งถ้ามีบางส่วนของพืชแก่จัดหรือถูกย่อยไม่ละเอียดมากพอ ธาตุอาหารที่จะถูกปล่อยออกมาก็ช้าลงอีก เราจึงควรมีแผนสำรองที่จะช่วยเสริมคุณภาพของดินในช่วงแรกๆ ด้วย
ปุ๋ยพืชสด ถั่วเขียว
www.cimmyt.org

วิธีการทำปุ๋ยพืชสด

เราสามารถแบ่งขั้นตอนการทำปุ๋ยพืชสดได้เป็น 2 ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ ช่วงของการหว่านปุ๋ยพืชสดและช่วงของการนำปุ๋ยพืชสดลงดิน โดยในแต่ละช่วงมีส่วนที่ต้องให้ความสำคัญดังนี้

การหว่านปุ๋ยพืชสด

นี่คือช่วงเริ่มต้นที่เราจะเลือกพันธุ์พืชและทำการเพาะปลูกเพื่อให้กลายเป็นปุ๋ยต่อไป สถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรีได้ให้ข้อมูลไว้ในเอกสารชุด พืชปุ๋ยสด “การสร้างโรงงานปุ๋ยไว้ในไร่นา” ว่า การหว่านปุ๋ยพืชสดให้ได้ผลดีจะต้องใส่ใจใน 3 องค์ประกอบนี้ให้ดี

  • ลักษณะของดิน แม้ว่าเราจะปลูกพืชสดเพื่อเป้าหมายในการบำรุงดินอยู่แล้ว แต่พืชนั้นก็ต้องการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต เราจึงต้องปรับสภาพดินก่อน ทั้งเรื่องการปรับค่ากรดด่างในดินและการเติมธาตุอาหารด้วยปุ๋ยรองพืช พืชสดจะได้โตเร็วและมีน้ำหนักมาก
  • เวลาและฤดูกาลที่ปลูก พืชสดที่เรานำมาทำปุ๋ยก็มีความต้องการพื้นฐานเช่นเดียวกับพืชทั่วไป ถ้าอยากลดภาระในการดูแลก็ต้องปลูกช่วงต้นฤดูฝน เพื่อให้พืชสดได้รับปริมาณน้ำมากพอสำหรับการเติบโต โดยที่เราไม่ต้องเสียต้นทุนในการให้น้ำเพิ่ม หรือถ้าจังหวะไม่เหมาะสมจริงๆ ก็ควรเลือกปลูกพืชสดหลังเก็บเกี่ยวพืชหลักทันที เพราะยังมีความชื้นหลงเหลืออยู่ในดิน
  • เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด การปลูกพืชสดทำได้หลายวิธี แต่การหว่านบนดินที่ไถพรวนเรียบร้อยแล้วถือว่าดีที่สุด เพราะประหยัดเวลาและแรงงาน สิ่งสำคัญคือต้องใช้เมล็ดพันธุ์พืชสดให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่ ตัวอย่างเช่น ปอเทืองใช้ 5 กิโลกรัมต่อไร่ โสนคางคกใช้ 3-5 กิโลกรัมต่อไร่ ถั่วพุ่มใช้ 8 กิโลกรัมต่อไร่ ถั่วลายใช้ 2 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นต้น
การหว่านปุ๋ยพืชสด
old.khonkaenlink.info

การนำปุ๋ยพืชสดลงดิน

การไถกลบก็มีส่วนทำให้เราได้ปุ๋ยพืชสดคุณภาพดีด้วยเหมือนกัน คือต้องจัดการในเวลาที่พืชสดเติบโตเต็มที่แต่ยังไม่แก่เกินไป ส่วนใหญ่ใช้ช่วงที่พืชออกดอกเป็นตัววัด เมื่อไรมีดอกก็ทำการไถกลบได้เลย อย่าลืมตัด สับ หรือบดต้นพืชเหล่านั้นให้ละเอียดเพียงพอก่อนกลบดินทับ ธาตุอาหารในพืชจะได้ปลดปล่อยสู่ดินได้ง่าย และไม่ควรกลบดินลึกเกินไป ระยะที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 5-20 เซนติเมตรแล้วแต่สภาพดิน ถ้าดินแห้งแข็งก็กลบตื้นหน่อย ถ้าดินชื้นก็ให้ขุดลึกลงไป

วิธีทำปุ๋ยพืชสด
www.ecofarmingdaily.com

อัตราและวิธีการใช้ปุ๋ยพืชสด

รูปแบบการเพาะปลูกพืชสดเพื่อให้กลายเป็นปุ๋ยในภายหลังนั้นทำได้หลายวิธี แล้วแต่ความเหมาะสมของพื้นที่และความต้องการของเกษตรกร ดังนี้

  • ปลูกพืชสดแล้วทำการกลบฝังในที่ดินนั้นเลย ซึ่งจะทำกันในช่วงพักแปลงปลูก ได้ประโยชน์ทั้งในแง่ของการบำรุงดินและคลุมดินไม่ให้เสื่อมโทรม
  • ปลูกพืชสดแซมระหว่างร่องปลูกพืชหลัก สามารถทำได้เมื่อพืชหลักโตเต็มที่แล้วเท่านั้น จะได้ไม่เกิดการแย่งธาตุอาหารจนกลายเป็นผลเสีย หลังจากพืชสดออกดอกแล้วก็ไถกลบให้อยู่ในร่องนั้น
  • ปลูกพืชสดในพื้นที่อื่นแล้วค่อยตัดส่วนที่ต้องการมาทำปุ๋ยพืชสดในแปลงเพาะปลูก วิธีนี้ใช้ได้ดีกับพื้นที่จำกัดและมีรอบเพาะปลูกถี่ จนไม่เหมาะกับการแทรกช่วงทำปุ๋ยพืชสด

กรมส่งเสริมการเกษตรได้เพิ่มเติมไว้ว่าอัตราส่วนในการใช้ปุ๋ยพืชสดไม่แน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์พืชสดที่ใช้และสภาพดิน แต่ระยะในการไถกลบที่ดีจะใกล้เคียงกันหมด คือช่วงที่พืชสดอายุได้ประมาณ 45-60 วัน และควรทิ้งให้ย่อยสลายอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนจะปลูกพืชหลักอีกครั้ง

การตัดสับและไถกลบปุ๋ยพืชสด

เหตุผลที่ต้องใช้จังหวะออกดอกของพืชสดเป็นช่วงไถกลบ ก็เพราะนี่เป็นช่วงอายุพืชที่เหมาะสมที่สุดทั้งทางกายภาพและเคมี นับตั้งแต่เริ่มออกดอกจนถึงดอกบานสะพรั่ง ต้นพืชจะสะสมอาหารเอาไว้มาก เส้นใยต่างๆ ภายในลำต้นก็ยังสดใหม่และยังไม่ถึงขั้นเหนียวจนแข็ง การย่อยสลายจึงเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ธาตุอาหารที่ได้ก็อยู่ในระดับสูงที่สุดด้วย ถ้าพ้นช่วงนี้ไปธาตุอาหารจะค่อยๆ ลดน้อยลง ตัวอย่างอายุการไถกลบของปุ๋ยพืชสดยอดนิยม ได้แก่ ปอเทืองควรไถกลบที่ระยะ 75-90 วัน จะได้ไนโตรเจน 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ ถั่วพุ่มควรไถกลบที่ระยะ 40-50 วัน จะได้ไนโตรเจน 20 กิโลรัมต่อไร่ ถั่วข้าวควรไถกลบที่ระยะ 60-75 วัน จะได้ไนโตรเจน 20 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องใช้วิธีการไถกลบที่มีประสิทธิภาพด้วย ถ้าพืชสดมีต้นเตี้ยก็สามารถไถได้เลยทันที แต่ถ้าต้นสูงใหญ่ควรฟันชิดโคนต้นก่อนรอบหนึ่ง แล้วค่อยไถกลบอีกครั้ง แบบนี้จะช่วยให้พืชย่อยสลายได้เร็วอย่างที่ควรจะเป็น

ไถกลบปุ๋ยพืชสด
Facebook, Sugar Research Institute of Fiji

การปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์

มาถึงส่วนของเมล็ดพันธุ์ที่เราจะนำมาหว่านทำปุ๋ยพืชสดกันบ้าง แน่นอนว่าถ้าจะให้ดีก็ควรปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์กันเอง เพราะประหยัดต้นทุนมากกว่าและมั่นใจได้ว่าเมล็ดพันธุ์นั้นสมบูรณ์แข็งแรงดี ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้แนะนำขั้นตอนการปลูกเพื่อผลผลิตที่ได้คุณภาพเอาไว้ดังนี้

  • เลือกที่ดิน แปลงปลูกควรมีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอให้พืชเติบโตได้ ควรเป็นดินร่วนซุยที่ระบายน้ำและอากาศได้ดี มีค่ากรดด่างประมาณ 6-7 ถ้าพบว่าดินมีธาตุอาหารน้อยเกินไปก็ใช้ปุ๋ยชนิดอื่นช่วยได้
  • ฤดูกาลที่เหมาะสม ช่วงฤดูฝนคือตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะต้นพืชสดจะได้รับน้ำอย่างเพียงพอ โดยในแต่ละภูมิภาคก็อยู่ในช่วงเดือนที่แตกต่างกันไป แค่ต้องระวังเชื้อราและการเน่าเสียของเมล็ดหากมีฝนในช่วงเก็บเกี่ยวพอดี
  • การเตรียมดิน วิธีการก็เหมือนกับเตรียมเพาะปลูกทั่วไป คือต้องไถพรวนให้ดินร่วนซุยแล้วพักดินทิ้งไว้ก่อน เพื่อลดปริมาณวัชพืชและแมลงบางชนิดก่อนเพาะปลูก
  • การเตรียมเมล็ดพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ชุดแรกที่ใช้ควรผ่านการคัดสรรมาอย่างดี ไม่ให้มีโรคพืชและสารเจือปน ตลอดจนมีอัตราการงอกค่อนข้างสูงด้วย
  • อัตราของเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูก การปลูกพืชสดเพื่อไถกลบเป็นปุ๋ยกับปลูกเพื่อเก็บเมล็ดนั้นต่างกัน หากต้องการเมล็ดพันธุ์จะต้องปลูกเป็นแถว เว้นระยะห่างระหว่างต้นพอสมควร พืชสดจะได้โตเต็มที่และเก็บเกี่ยวได้ง่าย
  • วิธีการปลูก จะใช้การโรยเป็นแถวหรือหยอดลงหลุมก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงขนาดของเมล็ดพันธุ์ หากเล็กมากก็ไม่ควรหยอดลงหลุมลึก เพราะมันจะโตได้ยากหรืออาจไม่โตเลย สายพันธุ์ไหนงอกได้ยากก็ควรนำมาแช่น้ำเพื่อกระตุ้นการงอกเสียก่อน
  • การดูแลรักษา ให้มีการตรวจหาต้นที่ไม่สมบูรณ์แล้วถอนทิ้งหลังปลูกไปประมาณ 1 สัปดาห์ ที่เหลือก็พรวนดินและกำจัดวัชพืชตามปกติ
  • การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มแร่ธาตุให้ดินหลังจากเพาะปลูกได้ 3 สัปดาห์ ถ้าพบว่าดินมีความเป็นกรดหรือด่างมากเกินไปก็ต้องปรับสภาพด้วยเช่นกัน
  • การป้องกันกำจัดศัตรูพืช ให้ระวังแมลงจำพวกหนอนและเพลี้ยอ่อนมากเป็นพิเศษ ส่วนมากจะมาให้เห็นในช่วงใกล้ออกดอก ต้องเร่งฉีดยาปราบศัตรูพืชทันที นอกจากนี้ให้เลี่ยงการปลูกพืชชนิดเดิมซ้ำๆ ก็จะป้องกันโรคพืชบางชนิดได้
  • การเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ พืชแต่ละชนิดมีอายุเก็บเกี่ยวที่ต่างกัน ให้หมั่นสังเกตว่าฝักแก่จัดเมื่อไรก็เร่งมือเก็บทันที อย่ารอให้ฝักแตกเพราะเมล็ดจะร่วงลงดิน แนะนำว่าให้เก็บในช่วงเช้าแล้วเอาไปตากให้แห้ง ช่วงบ่ายเริ่มนวดฝักเอาเมล็ด แล้วคัดเลือกเฉพาะส่วนที่ใช้ประโยชน์ได้เอาไว้
  • การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด แม้ว่าเมล็ดพืชบางชนิดจะเก็บไว้ได้นาน แต่ช่วงเวลาไม่เกิน 5 เดือนนั้นมีอัตราการงอกที่ดีกว่า เมื่อยังไม่ได้นำเมล็ดพันธุ์มาใช้ก็เก็บไว้ในภาชนะปิดมิดชิด พร้อมกับคลุกขี้เก้าแกลบและสารเคมี เพื่อป้องกันความชื้นและแมลงที่จะมาสร้างควาเสียหาย
ปุ๋ยพืชสด ข้อเสีย
today.line.me

แหล่งอ้างอิง

พืชปุ๋ยสด “การสร้างโรงงานปุ๋ยไว้ในไร่นา”, สถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรี.
เอกสารวิชาการเรื่อง เรื่องควรรู้เกี่ยวกับปุ๋ยอินทรีย์, นางนรีลักษณ์ ชูวรเวช.สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
ปุ๋ยอินทรีย์ฟื้นฟูสภาพดิน, บัญชา รัตนีทู วท.ม.
ปุ๋ยอินทรีย์, กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
การใช้ปุ๋ยพืชสด, อัญชลี พัดมีเทศ. กองเกษตรสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้