เพลี้ย แมลงศัตรูพืชที่ต้องเฝ้าระวังและจัดการให้ถูกวิธี

เพลี้ย เป็นแมลงศัตรูพืชขนาดเล็กที่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์สูงมาก บางชนิดมีปีก บางชนิดกระโดดได้ไกล ส่วนรูปลักษณ์ของแต่ละสายพันธุ์ก็แตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง เพลี้ยเป็นแมลงตัวอ่อนที่มีวงจรชีวิตไม่ยืนยาวนัก แต่สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว เพลี้ยที่โตเต็มวัยแล้วจะออกลูกได้หลายสิบตัวต่อครั้ง และยังสามารถออกลูกได้ตลอดชีวิตของมันอีกด้วย เมื่อไรที่สภาพแวดล้อมเหมาะสม เพลี้ยจะเริ่มแพร่ระบาดในเรือกสวนไร่นาเป็นวงกว้าง พร้อมสร้างความเสียหายรุนแรงต่อพืชผลทางการเกษตร หากไม่มีการรับมือที่ดีก็จะสูญเสียผลผลิตส่วนใหญ่ไปอย่างน่าเสียดาย การทำความรู้จักกับเพลี้ยแต่ละชนิดที่พบได้บ่อยจึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเกษตรกร จะได้รู้ว่าพืชที่เราเพาะปลูกอยู่นั้นสุ่มเสี่ยงกับเพลี้ยแบบใดบ้าง และควรจะเตรียมการป้องกันอย่างไร

ชนิดของเพลี้ย

เพลี้ยอ่อน

จุดเด่นของเพลี้ยอ่อนคือปากแบบแทงดูดที่สามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสสู่เซลล์พืชได้ ในช่วงที่ยังเป็นตัวอ่อนจะมีขนาดเล็กมาก ลำตัวอ้วนป้อมสีเหลืองอ่อน มีขา 6 คู่ที่มองเห็นได้ชัดเจน แม้ว่าเพลี้ยอ่อนตอนแรกเกิดจะคล้ายคลึงกันหมด แต่ในระยะ 5-6 วันจะผ่านการลอกคราบอีก 4 ครั้ง ทำให้สีลำตัวเปลี่ยนแปลงไปและมีเอกลักษณะเฉพาะสายพันธุ์บางอย่างโดดเด่นขึ้นมา คุณพัชรินทร์ ครุฑเมืองกล่าวไว้ว่า เพลี้ยอ่อนบางชนิดจะมีลำตัวสีเขียว บางชนิดมีลำตัวสีเหลือง และอาจจะมีปีกหรือไม่มีก็ได้ ตัวอย่างของเพลี้ยอ่อนที่สำคัญได้แก่ เพลี้ยอ่อนยาสูบ เพลี้ยอ่อนแตง เพลี้ยอ่อนฝ้าย เป็นต้น

ลักษณะการทำลาย
เพลี้ยอ่อนจะเริ่มสร้างความเสียหายให้พืชตั้งแต่ยังไม่โตเต็มวัย ด้วยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของพืช จนทำให้เซลล์พืชเหี่ยวแห้ง ส่วนใบมักจะแสดงอาการให้เห็นก่อน เริ่มตั้งแต่ใบมีรอยด่าง สีใบซีดเหลือง แล้วก็หลุดร่วงไปในท้ายที่สุด หากเพลี้ยอ่อนยังไม่ถูกกำจัดก็จะทำลายต้นพืชมากขึ้นจนถึงขั้นหยุดเจริญเติบโตและตายไป ยิ่งกว่านั้น เพลี้ยอ่อนยังเป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคพืชอื่นๆ อีกด้วย

เพลี้ยอ่อน

เพลี้ยไฟ

ตามปกติเพลี้ยไฟจะมีลำตัวเรียวยาวและมีปีกแคบแนบข้างลำตัว ขนาดตัวยาวไม่เกิน 2 มิลลิเมตร ตัวอ่อนกับตัวที่โตเต็มวัยแล้วมีรูปร่างลักษณะไม่ต่างกันมากนัก นอกจากเฉดสีที่เปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นน้ำตาลปนเหลืองเมื่ออายุมากขึ้น หรืออาจเห็นเป็นสีโทนส้มอมน้ำตาลบ้างในบางสายพันธุ์ เพลี้ยไฟจะออกลูกจำนวนมากในแต่ละครั้งไม่ว่าจะได้รับการผสมพันธุ์หรือไม่ก็ตาม ช่วงที่ต้นพืชแตกยอดอ่อนจะพบการระบาดของเพลี้ยไฟมากเป็นพิเศษ แต่ก็มีข้อดีตรงที่พวกมันชอบอยู่อาศัยรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ทำให้สังเกตเห็นได้ง่าย คุณศิริณี พูนไชยศรี จากกองกีฏและสัตววิทยา ได้แยกประเภทของเพลี้ยไฟเอาไว้มากกว่า 9 ชนิด ซึ่งตัวอย่างที่เกษตรกรควรทำความรู้จักไว้ก็คือ เพลี้ยไฟพริก เพลี้ยไฟมังคุด เพลี้ยไฟดอกไม้ เป็นต้น

ลักษณะการทำลาย

เพลี้ยไฟจะทำลายต้นพืชในทุกช่วงการเจริญเติบโต เนื่องจากมีการระบาดของเพลี้ยไฟได้ตลอดทั้งปี ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะเจาะดูดน้ำเลี้ยงของพืชไปใช้ จนเห็นบริเวณที่ถูกทำลายเป็นเส้นทางสีขาวในระยะแรก ต่อมาจึงเริ่มเหี่ยวแห้งกลายเป็นสีน้ำตาลไหม้ ถ้าเป็นส่วนยอดอ่อนก็จะเกิดการบิดงอ ขั้วผลกลายเป็นสีเทาเงิน ในหน้าแล้งจะรุนแรงจนผลหลุดร่วงได้ง่าย กรณีที่เพลี้ยไฟระบาดอย่างรุนแรงจะทำส่งผลให้พืชแคระแกร็นและหยุดการเจริญเติบโต

เพลี้ยไฟ
www.kasetkawna.com

เพลี้ยแป้ง

เพลี้ยแป้งมีลักษณะอย่างหนึ่งที่ค่อนข้างโดดเด่น คือมีผงแป้งปกคลุมอยู่ทั่วลำตัวไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ไหนก็ตาม รูปร่างของเพลี้ยแป้งค่อนข้างอ้วนกลม มีขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ตัวเมียไม่มีปีกและต้องลอกคราบ 3 ครั้งก่อนวางไข่ ขณะที่ตัวผู้จะมีปีก ลำตัวเล็กกว่า และลอกคราบทั้งหมด 4 ครั้ง สำนักงานเกษตรจังหวัดตราดได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความน่ากลัวของเพลี้ยแป้งคือมีมดเป็นพาหะ ช่วยให้เกิดการแพร่กระจายในวงกว้างได้เร็วขึ้น ทั้งยังช่วยให้เพลี้ยมีชีวิตรอดอยู่ใต้ดินในช่วงที่สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมด้วย

1. เพลี้ยแป้งลาย
เพลี้ยแป้งลายมีรูปร่างคล้ายลิ่ม ผิวด้านนอกมีสีเทาอ่อน ผงแป้งที่ปกคลุมมีความมันเงาเล็กน้อย พบการระบาดในมันสำปะหลังมากที่สุด รองลงมาเป็นไม้ผลและไม้ดอกทั่วไป เพลี้ยชนิดนี้จะขยายพันธุ์ได้เร็วในฤดูฝน แต่ก็มักจะถูกกำจัดโดยตัวห้ำซึ่งเป็นเพลี้ยอีกสายพันธุ์หนึ่ง จึงไม่ค่อยสร้างความเสียหายให้เกษตรกรมากมายนัก

2. เพลี้ยแป้งแจ๊คเบียดเลย์
ลำตัวของเพลี้ยแป้งแจ๊คเบียดเลย์เป็นรูปทรงไข่ที่ค่อนข้างแบน และมีสีเทาอมชมพู นอกจากผงแป้งที่ปกคลุมอยู่ด้านบนแล้วก็ยังมีเส้นแป้งแนบข้างลำตัวด้วย ส่วนใหญ่พบการระบาดในไร่มันสำปะหลัง โดยจะกระจุกตัวอยู่ตามบริเวณโคนต้นเป็นหลัก

3. เพลี้ยแป้งสีเขียว
ลักษณะของเพลี้ยแป้งสีเขียวนั้นคล้ายกับพันธุ์แจ๊คเบียดเลย์ เพียงแค่มีลำตัวเป็นสีเขียวอมเหลืองเท่านั้นเอง ปกติจะพบได้ในพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง และมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วงฤดูฝน เพลี้ยชนิดนี้มีช่วงอายุที่แปรผันตามอุณหภูมิด้วย ยิ่งอากาศเย็นมากเท่าไรก็ยิ่งช่วยให้เพลี้ยมีอายุยืนยาวมากขึ้นเท่านั้น

4. เพลี้ยแป้งสีชมพู
ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช แห่งคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง นี่ถือเป็นเพลี้ยที่สร้างความเสียหายได้มากที่สุด เพลี้ยแป้งสีชมพูมีลำตัวเป็นทรงไข่ ผิวนอกเป็นสีชมพูที่ปกคลุมด้วยแป้งสีขาว นอกจากจะขยายพันธุ์ได้รวดเร็วแล้ว ก็ยังควบคุมป้องกันได้ยาก แต่ก็มีข้อดีตรงที่เราจะไม่เห็นการระบาดของเพลี้ยชนิดนี้ในฤดูฝนเลย

ลักษณะการทำลาย

เพลี้ยแป้งทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดน้ำเลี้ยงจากต้นพืช โดยเน้นที่ส่วนของผล ตา ดอก และใบมากเป็นพิเศษ ตัวอ่อนจะแฝงตัวอยู่ในช่อดอกหรือยอดอ่อนทำให้มองเห็นได้ยาก ระหว่างนั้นก็จะขับถ่ายของเหลวที่ดึงดูดราดำไปพร้อมกัน สัญญาณที่บอกว่าต้นพืชกำลังได้รับความเสียหายจากเพลี้ยแป้ง คือผงสีขาวที่กระจุกตัวอยู่บนต้นพืช และมีมดคอยลำเลียงผงเหล่านั้นไปตามจุดต่างๆ นอกจากต้นพืชจะเหลืองซีดและหยุดการเติบโตแล้ว ผลผลิตที่ได้ยังมีคุณภาพต่ำลงด้วย

เพลี้ยแป้ง
www.thespruce.com

เพลี้ยจักจั่น

เพลี้ยจักจั่นที่โตเต็มวัยจะมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 5.5-6.5 มิลลิเมตร ส่วนหัวมีความกว้างป้านแล้วเรียวเล็กลงไปทางปลายหาง มีขาหลังค่อนข้างยาวและแข็งแรงจึงกระโดดได้ไกล ทุกครั้งที่กระโดดจะมีแรงดีดที่ทำให้เกิดเสียง พืชต้นไหนที่มีเพลี้ยจักจั่นมาก เมื่อมันถูกรบกวนจนต้องกระโดดไปมา เราก็จะได้ยินเสียงการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเพลี้ยจักจั่นคือแต้มจุดบนลำตัว หลังผ่านการลอกคราบครบ 4 ครั้ง ลวดลายบนตัวก็ยิ่งเด่นชัดมากขึ้น

1. เพลี้ยจักจั่นสีเขียว
สำนักวิจัยและพัฒนาข้าวกล่าวว่า เพลี้ยจักจั่นสีเขียวสร้างปัญหาให้กับนาข้าวค่อนข้างมาก พวกมันจะอพยพเข้าท้องนาตั้งแต่ระยะต้นกล้า จากนั้นก็ขยายพันธุ์แล้วทำลายต้นข้าวไปเรื่อยๆ ลักษณะของเพลี้ยชนิดนี้คือมีลำตัวสีเขียวอ่อนและมีจุดแต้มสีดำบนส่วนหัว เคลื่อนไหวรวดเร็วและบินได้ไกลหลายกิโลเมตร

2. เพลี้ยจักจั่นลายจุดสีน้ำตาล
เพลี้ยชนิดนี้จะมีขนาดลำตัวอยู่ที่ประมาณ 2.5-3.5 มิลลิเมตร ทั่วทั้งตัวจะมีจุดสีน้ำตาลอ่อนขนาดเล็กแต้มอยู่ โดยมีช่วงอายุประมาณ 50-70 วัน เป็นศัตรูตัวร้ายที่ทำให้เกิดโรคใบขาวในต้นอ้อย มีการระบาดอย่างมากในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม

3. เพลี้ยจักจั่นหลังขาว
เพลี้ยจักจั่นหลังขาวก็เป็นอีกหนึ่งตัวการของโรคใบขาวในต้นอ้อยเช่นกัน จุดเด่นอยู่ที่มีแถบสีขาวพาดผ่านกลางลำตัวตามแนวยาว ในช่วงยังเป็นตัวอ่อนอาจทำให้สับสนกับพันธุ์ลายจุดสีน้ำตาลอยู่บ้าง เพราะต้องลอกคราบครั้งสุดท้ายก่อนถึงจะมีแถบขาวให้เห็น ขนาดลำตัวไม่เกิน 4 มิลลิเมตร และระบาดในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน

ลักษณะการทำลาย

นักวิชาการของกองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่าบริเวณโคนก้านจะถูกเพลี้ยจักจั่นดูดกินน้ำเลี้ยงเป็นอันดับแรก เราจึงเห็นความผิดปกติที่ส่วนใบได้ในทันที โดยใบอ่อนจะบิดงอ ขอบใบแห้งกรอบ พืชบางชนิดมีสีใบที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น โรคใบขาวในต้นอ้อย เป็นต้น ถ้าบังเอิญอยู่ในช่วงออกดอกก็จะทำให้ดอกเหี่ยวแห้ง ติดผลน้อย หลังจากต้นพืชเข้าสู่ช่วงออกผลแล้ว เพลี้ยจักจั่นจะลดน้อยลงเองตามธรรมชาติ แต่จะทิ้งสารที่ก่อให้เกิดราดำเอาไว้ สร้างผลเสียให้ผลผลิตต่อเนื่องไปอีก

เพลี้ยจักจั่น
www.parichfertilizer.com

เพลี้ยกระโดด

เพลี้ยกระโดดจัดเป็นแมลงจำพวกปากดูด ลำตัวอ้วนป้อมเล็กน้อยและมีปีกที่แข็งแรงจนสามารถอพยพย้ายถิ่นด้วยระยะทางไกลได้ ทุกสายพันธุ์จะปีกทั้งแบบสั้นและแบบยาว เพลี้ยกระโดดที่โตเต็มวัยแล้วจะมีอายุอยู่ได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ และพวกมันจะวางไข่คราวละ 100 ฟองเป็นอย่างต่ำ จุดที่ทำให้สังเกตการระบาดของเพลี้ยกระโดดได้ง่ายขึ้นคือลักษณะการเรียงไข่ตามเส้นกลางของใบข้าว และมีรอยช้ำสีน้ำตาลตรงพื้นที่วางไข่ชัดเจน

1. เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
ลำตัวของเพลี้ยชนิดนี้จะมีสีน้ำตาลอ่อนเสมอกันตั้งแต่หัวจรดหาง แม้แต่ส่วนปีกก็เป็นสีเดียวกับลำตัวด้วย ตัวเมียที่มีปีกสั้นจะมีรูปร่างกลมมากกว่าตัวปีกยาว และสามารถวางไข่ได้มากกว่าประมาณ 2 เท่า เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลชอบอยู่ในจุดที่มีความชื้นสูง ดังนั้นมันจะย้ายมารวมกันบริเวณโคนกอข้าวหรือพื้นดินเมื่อนาข้าวขาดน้ำ

2. เพลี้ยกระโดดหลังขาว
ลักษณะโดยรวมคล้ายคลึงกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่ส่วนปีกจะมีจุดดำเล็กๆ กระจายตัวอยู่และมีแถบสีขาวตรงช่วงอก เมื่อยังเป็นตัวอ่อน เพลี้ยกระโดดหลังขาวจะรวมกลุ่มกันอยู่บริเวณโคนกอข้าว แต่เมื่อโตเต็มวัยแล้วจะย้ายมาอาศัยในจุดที่สูงกว่านั้น อาจเป็นช่วงกลางลำต้นหรือปลายยอดข้าวก็ได้  

ลักษณะการทำลาย

การเข้าทำลายของเพลี้ยกระโดดจะเริ่มตั้งแต่ระยะต้นกล้า โดยอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชเพื่อการเติบโต และขยายพันธุ์หลายรุ่นในฤดูกาลเพาะปลูกเดียว ก่อนที่ต้นข้าวจะออกดอกเพลี้ยรุ่นหลังก็พัฒนาเป็นสายพันธุ์ปีกยาวเพื่อรอการอพยพ ความเสียหายจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะกระจุกตัวเป็นหย่อมๆ ขณะที่เพลี้ยกระโดดหลังขาวนั้นทำลายเป็นวงกว้างอย่างสม่ำเสมอ ต้นข้าวจะมีอาการใบเหลืองส้มไปจนถึงน้ำตาลเข้ม ใบแห้ง ต้นแคระแกร็น และทยอยตายไป งานส่งเสริมการเกษตร เทศบาลตำบลยางหล่อ ระบุว่าเพลี้ยเหล่านี้พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนล่างมากกว่าบริเวณอื่น

เพลี้ยกระโดด
blog.arda.or.th

เพลี้ยไก่แจ้

เพลี้ยไก่แจ้มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่าเพลี้ยไก่ฟ้า เนื่องจากตัวอ่อนระยะแรกจะมีปุยสีขาวติดอยู่ตามลำตัว โดยช่วงท้ายของลำตัวจะมีปุยขาวเป็นเส้นยาวคล้ายหางไก่ เมื่อผ่านการลอกคราบเป็นตัวโตเต็มวัย ผิวด้านนอกจะกลายเป็นสีน้ำตาลปนเขียว หนวดยาว ปีกใส ช่วงลำตัวยาวไม่เกิน 5 มิลลิเมตร พอถึงช่วงขยายพันธุ์จะทำการวางไข่ภายในเนื้อเยื่อพืช จุดที่เพลี้ยวางไข่ไว้จะมีตุ่มนูนขึ้นมาพร้อมกับเกิดวงสีเหลืองหรือน้ำตาลเป็นกลุ่มๆ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า เพลี้ยไก่แจ้ในแต่ละรุ่นนั้นมีอายุได้ยาวนานถึง 6 เดือนทีเดียว และเรานิยมเรียกชื่อเพลี้ยสายพันธุ์นี้ตามต้นพืชที่มันเข้าทำลายด้วย เช่น เพลี้ยไก่แจ้ลำไย เพลี้ยไก่แจ้ทุเรียน เพลี้ยไก่แจ้ส้ม เป็นต้น

ลักษณะการทำลาย

แม้ว่าการเลือกเข้าทำลายสายพันธุ์พืชของเพลี้ยไก่แจ้แต่ละกลุ่มจะต่างกัน เช่น กลุ่มหนึ่งเจาะจงเข้าจัดการกับต้นลำไยโดยเฉพาะ อีกกลุ่มเน้นเข้าจัดการกับต้นทุเรียน เป็นต้น แต่ลักษณะการสร้างความเสียหายก็คล้ายคลึงกันหมด คือตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดน้ำเลี้ยงจากต้นพืช ส่วนที่เป็นใบอ่อนและยอดอ่อนจะได้รับผลกระทบก่อน ใบจะหงิกงอและไม่คลี่ออกตามธรรมชาติ มีสีเหลืองซีดและแห้งกรอบ ไม่นานก็จะหลุดร่วงไป นอกจากนี้ระหว่างที่ตัวอ่อนดูดกินน้ำเลี้ยงก็จะขับของเหลวออกมาด้วย ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดราบนต้นพืชด้วย

เพลี้ยไก่แจ้
bangkrathum.phitsanulok.doae.go.th

เพลี้ยหอย

เพลี้ยหอยเป็นแมลงปากดูดขนาดเล็กที่มีรูปร่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในแต่ละสายพันธุ์ ต้นพืชที่เป็นเป้าหมายและช่วงเวลาในการแพร่ระบาดก็ต่างกันด้วย เหตุที่เรียกว่าเพลี้ยหอยเพราะมีจุดร่วมหนึ่งเหมือนกัน นั่นคือมีเกราะหุ้มลำตัวคล้ายเปลือกหอย แต่ก็ยังแยกเป็นแบบเกราะแข็งกับเกราะอ่อนอีก ส่วนมากเพลี้ยหอยจะไม่ได้มีเกราะมาตั้งแต่แรกเริ่ม ต้องผ่านการลอกคราบและเริ่มดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นพืชเสียก่อน

1. เพลี้ยหอยเกราะอ่อน
เป็นเพลี้ยหอยที่มีรูปร่างคล้ายไข่ไก่สีชมพูอมส้ม ขนาดประมาณ 2.5-3.0 มิลลิเมตร เพศเมียจะมีแผ่นไขมันสีขาวปกคลุมทั่วตัว แต่เพศผู้จะลำตัวสีเข้มกว่าเล็กน้อยและมีปีกบางใส ในฤดูขยายพันธุ์เพลี้ยหอยเกราะอ่อนสามารถวางไข่ได้ครั้งละ 600-2000 ฟอง ที่ต้องวางไข่มากขนาดนี้เพราะตัวอ่อนใช้เวลานานกว่าจะโตเต็มวัย ส่วนมากพบการระบาดในลำไย ลิ้นจี่และเงาะ

2. เพลี้ยหอยข้าวตอก
เพลี้ยหอยข้าวตอกจะมีขนาดลำตัวประมาณ 5 มิลลิเมตร ผิวรอบนอกมีชั้นไขมันปกคลุมทำให้ดูเหมือนเมล็ดข้าวตอก กรมวิชาการเกษตรให้ข้อมุลว่าเพลี้ยหอยข้าวตอกตัวเมียจะวางไข่หลายพันฟองเพื่อเพิ่มจำนวนตัวอ่อนที่เป็นสีสนิม จากนั้นตัวอ่อนจะหาตำแหน่งดูดกินน้ำเลี้ยงพร้อมสร้างชั้นไขมันคลุมตัวเอง ไม่เคลื่อนที่ไปไหนอีก พบว่าระบาดมากในลำไยและลิ้นจี่

3. เพลี้ยหอยเกล็ด
แม้ว่าเพลี้ยหอยเกล็ดจะเข้าทำลายพืชหลายชนิด แต่จากสถิติพบว่าระบาดในมันสำปะหลังและทุเรียนมากเป็นพิเศษ รูปร่างของเพลี้ยหอยเกล็ดจะคล้ายกับเปลือกหอยขนาดเล็กที่เป็นเกล็ดสีขาวนูน ขึ้นปกคลุมทั่วต้นพืช เพลี้ยจะเคลื่อนที่ได้แค่ช่วงตัวอ่อนระยะแรกเท่านั้น หลังผ่านการลอกคราบก็จะทิ้งคราบเก่าสะสมไปเรื่อยๆ พร้อมกับแผ่ขยายเป็นวงกว้างปิดพื้นผิวของต้นพืชจนหมด

4. เพลี้ยหอยสีเขียว
เพลี้ยหอยสีเขียวที่โตเต็มวัยแล้วจะมีสีเขียวอ่อนอมเหลือง ลำตัวเป็นรูปไข่ ท้องแบนหลังโป่ง และมีเกราะแข็งหุ้มอยู่ชั้นนอกสุด หลังจากดูดกินน้ำเลี้ยงได้แล้วก็จะขับถ่ายของเหลวมาปกคลุมต้นพืชจนไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ จากข้อมูลในเอกสารวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่าเพลี้ยชนิดนี้เป็นศัตรูพืชที่สร้างความเสียหายให้ต้นกาแฟสูงมาก แต่ก็มีศัตรูตามธรรมชาติอยู่ด้วย เช่น แตนเบียน ด้วงเต่าสีส้ม เป็นต้น

5. เพลี้ยหอยสีแดง
นี่คือเพลี้ยหอยเกราะอ่อนอีกชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย ลำตัวเป็นทรงกลมเหมือนโล่สีน้ำตาลแดง เมื่อโตเต็มวัยแล้วจะมีเพียงแค่ตัวผู้เท่านั้นที่มีปีก เป็นกลุ่มเพลี้ยที่เน้นเข้าทำลายพืชตระกูลส้มโดยเฉพาะ สายพันธุ์พืชที่พบปัญหาได้บ่อยคือส้มโอ ส้มเขียวหวาน ส้มสายน้ำผึ้ง และมะนาว

ลักษณะการทำลาย

รูปแบบการสร้างความเสียหายของเพลี้ยหอยทุกชนิดจะคล้ายคลึงกับเพลี้ยอ่อน คือเจาะเซลล์พืชเพื่อดูดกินน้ำเลี้ยงจนต้นพืชนั้นเสื่อมโทรม ในระยะแรกอาจจะเป็นการเสียรูปทรงของใบอ่อน สีใบเหลืองซีดและเหี่ยวย่น บางส่วนอาจหลุดจากขั้วไป นอกจากนี้เพลี้ยหอยบางชนิดยังสามารถปล่อยของเหลวที่ทำให้เกิดเชื้อราเกาะติดที่ผิวนอกของต้นพืชได้ด้วย

เพลี้ยหอย
www.doa.go.th

การป้องกันกำจัด

สายพันธุ์เพลี้ยทั้งหมดข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งที่พบได้บ่อยในบ้านเราเท่านั้น การจะระบุสายพันธุ์ที่ชัดเจนเพื่อจัดการป้องกันจึงเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควร อีกทั้งระยะเวลาในการระบาดก็มีผลอย่างมากต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ยิ่งปล่อยทิ้งไว้นานเท่าไรผลผลิตก็ยิ่งเสียหายมากเท่านั้น ข้อดีคือเราสามารถใช้วิธีการป้องกันกำจัดแบบเดียวกันกับเพลี้ยทุกชนิดได้ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนวิธีการไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังนี้

  1. หมั่นสำรวจแปลงเพาะปลูกอยู่เสมอ เพื่อให้เห็นสัญญาณการระบาดของเพลี้ยตั้งแต่เนิ่นๆ และเร่งจัดการได้ทันท่วงที พร้อมกับตัดแต่งพุ่มใบไม่ให้หนาแน่นรกทึบจนเกินไป
  2. หากพบเพลี้ยจำนวนเล็กน้อยในต้นพืช สามารถไล่เพลี้ยที่หลบซ่อนอยู่ให้หลุดออกไปจากต้นพืชได้ ด้วยการฉีดน้ำใส่ยอดอ่อน ปลายกิ่ง และช่อดอก โดยต้องทำต่อเนื่องหลายครั้งจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีเพลี้ยกลับมาอีก
  3. ถ้าการระบาดของเพลี้ยเริ่มกินวงกว้างขึ้น แต่ยังไม่หนักหนาเกินไป สามารถใช้วิธีตัดกิ่งก้านที่มีเพลี้ยอาศัยอยู่ไปเผาทำลายได้ หรือหากเป็นเพลี้ยอาศัยแบบไม่เคลื่อนที่ จะใช้วิธีรูดเฉพาะตัวเพลี้ยไปทำลายก็ได้
  4. กรณีที่เพลี้ยระบาดรุนแรงก็จำเป็นต้องใช้สารเคมีฉีดพ่นเพื่อกำจัดเพลี้ยเหล่านั้น ซึ่งสูตรสารเคมีที่ใช้มีให้เลือกค่อนข้างหลากหลาย เช่น คาร์บาริล บูโพรเฟซิน มาลาไทออน ไดอะซินอน เป็นต้น โดยอัตราส่วนในการใช้งานก็ให้ปรับตามคำแนะนำของผู้ผลิตที่เหมาะสมกับเพลี้ยแต่ละชนิด
  5. สำหรับพืชที่ไม่ใช่ไม้ยืนต้น เช่น มันสำปะหลัง ต้นข้าว เป็นต้น ให้เลือกเพาะปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์ต้านทานโรค หรือแช่เมล็ดพันธุ์และท่อนพันธุ์ในน้ำยาป้องกันศัตรูพืชก่อนเพาะปลูก
  6. ใช้ปุ๋ยเร่งใบกระตุ้นการแตกใบอ่อนเพื่อให้ต้นพืชแตกยอดพร้อมกันทั้งหมด จะช่วยลดระยะการเข้าทำลายของเพลี้ยให้สั้นลงได้
  7. ระวังป้องกันแมลงพาหะที่ช่วยเคลื่อนย้ายเพลี้ยบางชนิด เช่น มดที่ช่วยเคลื่อนย้ายเพลี้ยอ่อน เป็นต้น จะใช้เป็นสารเคมีหรือสมุนไพรกำจัดแมลงก็ได้ ขณะเดียวกันก็ให้รักษาศัตรูเพลี้ยตามธรรมชาติเอาไว้ด้วย
  8. ฉีดพ่นสารป้องกันและยับยั้งเชื้อราทุกครั้ง หลังกำจัดเพลี้ยชนิดที่ขับถ่ายของเหลวดึงดูดเชื้อราได้

นอกจากนี้การศึกษาว่าพืชที่เราเพาะปลูกมีโอกาสพบเจอกับเพลี้ยชนิดใดบ้าง และการแพร่ระบาดจะเกิดขึ้นในช่วงไหนของปี ก็จะช่วยให้เราวางแผนเพื่อเตรียมการป้องกันได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

กำจัดเพลี้ย
www.greenery.org

แหล่งอ้างอิง

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้