กุ้งแม่น้ำ หรือ กุ้งก้ามกราม สัตว์น้ำจืดมูลค่าสูงที่ต้องเพาะเลี้ยงอย่างพิถีพิถัน

หากพูดถึงสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจค่อนข้างสูง หนึ่งในนั้นก็คือกุ้งแม่น้ำหรือกุ้งก้ามกรามที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมายาวนานหลายปี ตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีการเพาะเลี้ยงอย่างจริงจัง แต่อาศัยการจับกุ้งชนิดนี้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป เหตุผลที่ทำให้กุ้งแม่น้ำหรือกุ้งก้ามกรามเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่เสมอก็คือคุณสมบัติในด้านเนื้อสัมผัสและรสชาติ ซึ่งสามารถปรับใช้กับเมนูอาหารได้หลากหลายประเภท และให้คุณค่าทางโภชนาการที่ดี จึงมีปริมาณการซื้อขายภายในประเทศสูงมาก ทั้งยังเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างผลกำไรติดอันดับต้นๆ อีกด้วย กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ประเทศไทยติด 10 อันดับแรกของผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามของโลก แม้ว่าการจับกุ้งหรือการประมงกุ้งจากแหล่งธรรมชาติจะทำได้น้อยลง แต่เราก็มีแหล่งเพาะพันธุ์กุ้งชั้นดีกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ข้อได้เปรียบของการเพาะเลี้ยงกุ้งพันธุ์นี้ก็คือสามารถเพาะเลี้ยงได้ตลอดทั้งปีและเป็นวัตถุดิบที่จำหน่ายได้ราคาสูง จึงเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่น่าสนใจมากทีเดียว

กุ้งแม่น้ำ กุ้งก้ามกราม คืออะไร

กุ้งก้ามกราม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Macrobrachium rosenbergii de Man เป็นกุ้งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่มีเนื้อแน่น รสชาติดี ลักษณะรูปร่างภายนอกจะมีส่วนหัวชิดติดกับช่วงอกและมีขนาดใหญ่กว่าลำตัวอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับกุ้งทะเลแล้วจะมีลำตัวที่อ้วนกลมและมีเปลือกหุ้มที่แข็งกว่า ทั้งยังมีขาเดินคู่หน้าที่ส่วนปลายเป็นก้ามหนีบ ส่วนมากขาเดินคู่นี้จะมีความยาวมากกว่าช่วงลำตัวและมีสีฟ้าเข้มเด่นชัด กุ้งก้ามกรามนั้นมีอีกหลายชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ เช่น กุ้งใหญ่ กุ้งหลวง กุ้งนาง กุ้งแม่น้ำ เป็นต้น

กุ้งแม่น้ำ กุ้งก้ามกราม คือ
www.technologychaoban.com

แหล่งที่อยู่อาศัยของกุ้งแม่น้ำหรือกุ้งก้ามกราม

เราสามารถพบกุ้งก้ามกรามที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติได้จากแหล่งน้ำจืดทั่วไป แต่ต้องเป็นน้ำจืดที่มีจุดเชื่อมต่อกับแหล่งน้ำเค็มเท่านั้น จากข้อมูลของกองเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งกล่าวว่า กุ้งก้ามกรามจะเดินทางไปยังพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งน้ำกร่อยเพื่อทำการผสมพันธุ์และวางไข่ตามฤดูกาล จากนั้นก็เฝ้าเลี้ยงดูตัวอ่อนจนกว่าจะโตได้ระยะหนึ่ง ถึงค่อยเดินทางกลับมาใช้ชีวิตในแหล่งน้ำจืดต่อไป

สถานที่ที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงกุ้งแม่น้ำหรือกุ้งก้ามกราม

แม้ว่าการเพาะเลี้ยงกุ้งแม่น้ำหรือกุ้งก้ามกรามจะทำได้ในหลายพื้นที่ แต่การเลือกบริเวณที่มีองค์ประกอบครบถ้วนจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก และผลผลิตที่ได้ก็จะมีคุณภาพสูงกว่าด้วย

การเลือกสถานที่

อันดับแรกให้พิจารณาลักษณะดินของจุดที่ต้องการขุดบ่อเสียก่อน ควรเป็นดินเหนียวหรือดินร่วนเท่านั้น เพื่อให้โครงสร้างของบ่อเลี้ยงไม่พังทลายลง และต้องไม่ใช่ดินเปรี้ยวที่ทำให้น้ำมีสภาพเป็นกรดได้ ต่อมาคือปริมาณน้ำที่มากพอต่อการเพาะเลี้ยง พื้นที่ควรตั้งอยู่ในจุดที่รับน้ำได้ง่าย ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ และไม่มีต้นเหตุของมลภาวะทางน้ำในบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้อย่าลืมนึกถึงความสะดวกในการคมนาคมด้วย เพราะจะมีการขนส่งพันธุ์กุ้ง อาหาร และส่งกุ้งก้ามกรามที่โตเต็มวัยแล้วออกสู่ตลาดอยู่เสมอ

แหล่งน้ำและคุณภาพน้ำที่ใช้ในการเลี้ยง

คุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงมีผลต่ออัตราการเติบโตของกุ้งแม่น้ำหรือกุ้งก้ามกรามโดยตรง นอกจากการเลือกใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่สะอาดเพียงพอแล้ว ก็ยังต้องปรับสภาพน้ำตามปัจจัยสำคัญเหล่านี้ด้วย

  • ค่าความเป็นกรด-ด่าง ความจริงแล้วค่านี้จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เพียงแค่ช่วงเวลา 1 วันก็จะมีการปรับตัวขึ้นลงอยู่เสมอ เป็นค่าทางเคมีที่เราไม่สามารถทำให้มันคงที่ได้ แต่ควบคุมให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมได้ สำหรับบ่อกุ้งควรจะมีค่า pH อยู่ที่ 7-9 เมื่อไรที่สูงกว่านี้ก็ควรจะเปลี่ยนน้ำในบ่อเลี้ยงเสียใหม่ เพื่อไม่ให้แพลงก์ตอนพืชโตเร็วเกินไปจนทำให้น้ำเน่าเสียในเวลาต่อมา และถ้าเมื่อไรที่ค่ากรด-ด่างต่ำก็ให้เติมปูนขาวประมาณ 1-1.5 กิโลกรัมต่อไร่ ทำต่อเนื่อง 3-4 วัน เพื่อไม่ให้น้ำมีปริมาณออกซิเจนน้อยเกินไปนั่นเอง
  • ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำได้ จากข้อมูลของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวว่าระดับออกซิเจนในน้ำต่ำสุดที่กุ้งแม่น้ำหรือกุ้งก้ามกรามจะทนได้อยู่ที่ประมาณ 0.35-0.90 ppm ซึ่งการรักษาค่าออกซิเจนให้มีปริมาณมากกว่านี้ก็มีอยู่หลายส่วนที่ต้องควบคุมดูแล
    – แพลงก์ตอนพืชนั้นมีทั้งประโยชน์และโทษ ช่วงกลางวันที่กำลังสังเคราะห์แสงจะช่วยเพิ่มออกซิเจนให้น้ำ แต่ช่วงกลางคืนก็มีการดึงออกซิเจนกลับเพื่อหายใจเช่นกัน เราจึงต้องควบคุมจำนวนแพลงก์ตอนพืชไม่ให้มากหรือน้อยเกินไป
    – ระวังสิ่งอื่นที่จะมาแย่งออกซิเจนในน้ำ เช่น สัตว์น้ำขนาดเล็ก สารอินทรีย์ที่สะสมอยู่ก้นบ่อเลี้ยง เป็นต้น หากสิ่งเหล่านี้เริ่มมีมากขึ้นก็ต้องกำจัดออกไปบ้าง
    – ถ้าเป็นน้ำบาดาลจะต้องมีการพักน้ำไว้กลางแจ้ง เพื่อให้แสงแดดช่วยสลายธาตุอาหารบางชนิดพร้อมกับเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำก่อนนำมาใช้งาน
    – ใช้เครื่องตีน้ำช่วยในช่วงเวลาที่ต้องการออกซิเจนมากเป็นพิเศษ คือ ช่วงฝนตกที่ปกติค่าออกซิเจนจะลดต่ำลงโดยธรรมชาติ และช่วงที่กุ้งกำลังลอกคราบ
  • อุณหภูมิของน้ำ กุ้งแม่น้ำหรือกุ้งก้ามกรามจะมีสุขภาพแข็งแรงในอุณหภูมิประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ให้หมั่นตรวจสอบและใช้เทคนิคการผสมน้ำจนกว่าจะได้อุณหภูมิที่ต้องการ
  • สีของน้ำ น้ำในบ่อเลี้ยงที่มีคุณภาพจะต้องมีสีเขียวอมน้ำตาล หากน้ำใสเกินไปแสดงว่าขาดแร่ธาตุ ให้เติมปุ๋ย 15-15-15 ในอัตรา 3 กิโลกรัมต่อไร่ แต่หากน้ำขุ่นจนเป็นสีเขียวเข้มเกินไป ให้เปลี่ยนน้ำใหม่พร้อมกับใส่ปูนขาวในอัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่
  • ขี้แดด ขี้แดดคือพืชน้ำที่เติบโตดีจากการได้แสงแดดในปริมาณมาก แล้วตายไปสะสมอยู่ที่ก้นบ่อ มันจะทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง จึงต้องหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ
สถานที่เพาะเลี้ยงกุ้งแม่น้ำ
farmerspace.co

การเพาะและอนุบาลลูกกุ้ง

การเตรียมสถานที่และอุปกรณ์

ขั้นตอนนี้นับว่ามีรายละเอียดมากที่สุด หากเราจัดเตรียมได้ถูกต้องครบถ้วนก็จะเป็นผลดีต่อการเพาะเลี้ยงอย่างมาก ซึ่งสามารถแบ่งองค์ประกอบสำคัญได้ 3 ส่วนดังนี้

  • โรงเพาะฟัก
    ส่วนนี้มีไว้สำหรับเพาะพันธุ์ลูกกุ้ง โดยวัสดุที่ใช้ทำโรงเพาะฟักจะต้องเป็นพลาสติกคุณภาพดีชนิดกันแสง UV ได้ เพื่อรักษาอุณหภูมิภายในไม่ให้เปลี่ยนแปลงมากเกินไปจนกระทบการเติบโตของลูกกุ้ง โรงเพาะฟักที่ดีควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำเค็มและน้ำจืด รวมถึงใกล้บ่อเลี้ยงกุ้งด้วย ยิ่งใกล้เท่าไรก็ยิ่งสร้างความเสียหายได้น้อยลงเท่านั้น
  • บ่ออนุบาลกุ้ง
    ระบบของบ่ออนุบาลกุ้งทั้งหมดจะแบ่งเป็น 4 ส่วนตามขั้นตอน เริ่มต้นที่บ่อเตรียมน้ำซึ่งจะทำการปรับสภาพน้ำให้เหมาะสมกับการเลี้ยงลูกกุ้งต่อไป ต่อด้วยส่วนของบ่ออนุบาลกุ้งที่นำน้ำจากบ่อเตรียมน้ำมาเลี้ยงลูกกุ้งให้เติบโต โดยจะใช้เป็นบ่อซีเมนต์กลมหรือเหลี่ยมก็ได้ ส่วนบ่อเพาะไรน้ำเค็มจะเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญให้กับลูกกุ้งตลอดระยะเวลาการอนุบาล และสุดท้ายคือส่วนบ่อพักน้ำทิ้ง เป็นการพักน้ำเพื่อปรับสภาพก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม
  • ระบบและอุปกรณ์อื่นๆ
    ในส่วนของระบบจะแบ่งเป็นระบบเกี่ยวกับน้ำและระบบเกี่ยวกับอากาศ ระบบน้ำคือการวางท่อและเตรียมเครื่องสูบน้ำสำหรับการถ่ายเทน้ำไปยังบ่อที่ต้องการ ส่วนระบบอากาศจะเน้นไปที่การเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำโดยเฉพาะ ที่เหลือเป็นอุปกรณ์สำหรับการวัดค่าต่างๆ เพื่อควบคุมสภาพการเพาะเลี้ยงให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เช่น เครื่องวัดความเค็ม เครื่องวัดอุณหภูมิ ท่อดูดตะกอนก้นบ่อ เป็นต้น

การเตรียมน้ำ

อย่างที่เราได้รู้กันไปแล้วว่าช่วงแรกเกิดจนถึงช่วงวัยรุ่นของกุ้งก้ามกรามตามธรรมชาตินั้นจะเติบโตในน้ำกร่อย การเตรียมน้ำสำหรับบ่อเลี้ยงจึงควรมีค่าความเค็มอยู่ที่ประมาณ 12-13 ppt พร้อมกับฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนความเข้มข้น 25 ppm ให้เรียบร้อย จากนั้นให้อากาศต่อเนื่อง 2-3 วันแล้วกรองน้ำด้วยตาข่าย 5 ไมครอนก่อนใช้งาน แต่ถ้าการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ค่อยสะดวกนัก ก็สามารถทำตามวิธีของกรมส่งเสริมการประมงได้ ด้วยการเลือกแหล่งน้ำที่มีคุณภาพเสียก่อน ต้องแน่ใจว่าไม่มีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตราย หลังสูบน้ำเข้าบ่อแล้วให้พักไว้ก่อน 2-3 วัน ครบกำหนดก็เติมปุ๋ยสูตร 15-15-15 ปริมาณ 3 กิโลกรัมต่อไร่ ตามด้วยปลาป่นที่ผสมกับรำละเอียดในอัตราส่วนเท่าๆ กันอีก 3 กิโลกรัมต่อไร่ พอสีน้ำเป็นโทนเขียวอมน้ำตาลแล้วก็เริ่มใช้งานได้

การเตรียมพันธุ์กุ้ง

การจัดหาพันธุ์กุ้งก้ามกรามหรือกุ้งแม่น้ำมาเพาะเลี้ยงสามารถหาได้จาก 2 แหล่ง คือบ่อเลี้ยงของเกษตรกรและแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งการดักจับตามธรรมชาติอาจมีต้นทุนที่ต่ำกว่าแต่ก็ควบคุมปริมาณไข่ได้ยาก ส่งผลให้ผลิตลูกกุ้งได้น้อยกว่าพันธุ์กุ้งที่มาจากบ่อเลี้ยงอื่น เกษตรกรจึงต้องชั่งน้ำหนักเอาเองว่าตัวเลือกไหนจะคุ้มค่าที่สุด ลักษณะของพันธุ์กุ้งที่ดีควรมีขนาดลำตัวใกล้เคียงกัน ปราดเปรียวแข็งแรง และตามลำตัวมีความใสไม่มีเฉดสีที่ผิดปกติ หลังจากได้พันธุ์กุ้งมาแล้วให้แช่ในฟอร์มาลินเพื่อฆ่าเชื้อเป็นเวลาประมาณ 30-60 นาที แล้วปล่อยลงบ่อเพาะพันธุ์ ทุกวันให้คัดแยกลูกกุ้งออกจากแม่พันธุ์ โดยจะใช้วิธีตักลูกกุ้งออกไปแล้วปล่อยแม่พันธุ์ให้วางไข่ต่อ หรือจะย้ายตัวแม่พันธุ์ไปลงบ่อเพาะพันธุ์บ่อใหม่ก็ได้เหมือนกัน

การเตรียมอาหารสำหรับลูกกุ้ง

อาร์ทีเมียหรือไรน้ำเค็มเป็นอาหารหลักสำหรับลูกกุ้งตลอดระยะการอนุบาล ในช่วง 2-8 วันแรกเราจะให้อาร์ทีเมียวันละ 2-4 ครั้ง พร้อมกับสังเกตพฤติกรรมการกินอาหารของลูกกุ้งอย่างใกล้ชิด เพื่อให้รู้ว่าปริมาณอาหารเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ และลูกกุ้งสามารถกินอาหารได้อย่างสะดวกมากน้อยแค่ไหน ถ้าพบว่าลูกกุ้งกินอาหารได้น้อยก็อาจจะต้องดูว่าขนาดอาร์ทีเมียที่ใช้ใหญ่เกินไปหรือไม่ หรือว่าลูกกุ้งมีสัญญาณของโรคใดบ้างหรือไม่ พอเข้าสู่วันที่ 9 เป็นต้นไปก็เริ่มให้อาหารเสริมเพิ่ม ที่นิยมก็คือไข่ตุ๋นผสมนมผง ให้ 2-3 ครั้งต่อวัน แล้วปิดท้ายด้วยอาร์ทีเมียในมื้อเย็น ทางสถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ให้คำแนะนำในการเตรียมอาร์ทีเมียไว้ว่า ให้ใช้ไข่อาร์ทีเมียสำเร็จรูปมาเลี้ยงในบ่อน้ำเค็ม 7-35 ppt ประมาณ 24-36 ชั่วโมง หลังเปลือกไข่หลุดลอยขึ้นมาบนผิวน้ำแล้ว ให้ช้อนตัวอาร์ทีเมียไปน็อคน้ำอุ่นก่อนนำไปเป็นอาหาร

ลูกกุ้งก้ามกราม

การเลี้ยงดูแลกุ้งแม่น้ำหรือกุ้งก้ามกราม

หากแบ่งการเลี้ยงกุ้งแม่น้ำหรือกุ้งก้ามกรามตามมาตรฐาน GAP ของกรมประมง จะแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ดังนี้

  • กุ้งก้ามกรามที่ไม่ผ่านการอนุบาล
    หมายถึงการจับลูกกุ้งที่คว่ำตัวแล้วลงบ่อเพาะเลี้ยงทันที แล้วปล่อยให้เติบโตในบ่อนั้นจนครบเวลาประมาณ 4 เดือนจึงเริ่มจับไปขาย อัตราการเพาะเลี้ยงจะอยู่ที่ประมาณ 30000-50000 ตัวต่อไร่ เหมาะกับเกษตรกรที่มีพื้นที่ไม่มาก จำนวนบ่อน้อย ข้อดีคือประหยัดต้นทุนได้บางส่วนและประหยัดเวลาเตรียมการอนุบาล แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ลูกกุ้งบางส่วนที่ตายไปอาจจะส่งผลเสียต่อกุ้งตัวอื่น และการทยอยจับแต่ละครั้ง ก็อาจทำให้กุ้งที่เหลือบอบช้ำได้
  • กุ้งก้ามกรามที่ผ่านการอนุบาล
    หลักการก็คือนำลูกกุ้งมาลงบ่ออนุบาลก่อนประมาณ 2 เดือน เพื่อคัดกรองเอาเฉพาะกุ้งที่เติบโตได้อย่างแข็งแรงไปลงบ่อเพาะเลี้ยงต่อ อัตราการเพาะเลี้ยงจะอยู่ที่ประมาณ 8000-10000 ตัวต่อไร่ ข้อดีคือผลผลิตที่ได้ค่อนข้างมีคุณภาพดี ตัวกุ้งจะมีขนาดไล่เลี่ยกัน และใช้เวลาเลี้ยงสั้นกว่าปกติ แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่และปริมาณการเพาะเลี้ยง หากบ่อเลี้ยงมีน้อยและจำนวนกุ้งที่ต้องการเลี้ยงน้อยเกินไป รูปแบบนี้อาจไม่คุ้มค่าการลงทุน

การเจริญเติบโต

หลังฟักออกจากไข่ลูกกุ้งจะว่ายน้ำในลักษณะหงายท้อง ปล่อยหัวห้อยลงด้านล่างและใช้หางตีน้ำเมื่อต้องการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ทำให้ลูกกุ้งทั้งหมดลอยอยู่บริเวณใกล้ผิวน้ำเป็นส่วนใหญ่ ต้องผ่านการลอกคราบประมาณ 11 ครั้งก่อนจะคว่ำตัวและว่ายน้ำแบบตัวเต็มวัย โดยการลอกคราบแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 2 วัน ระหว่างนี้ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับตรวจดูสุขภาพของลูกกุ้งด้วย ตัวที่มีอาการป่วยจะมีสีลำตัวค่อนข้างซีด อาจเห็นเป็นสีน้ำตาลเข้ม เคลื่อนไหวช้า กินอาหารน้อย ไม่นานก็อาจตายและจมไปอยู่ก้นบ่อ จึงต้องคอยดูดออกเพื่อไม่ให้กระทบลูกกุ้งตัวอื่นๆ เมื่อลูกกุ้งคว่ำตัวดีแล้วให้ตักแยกไปยังบ่อเลี้ยงใหม่ที่มีค่าความเค็มของน้ำลดลง

การปล่อยลูกกุ้งลงบ่อ

วิธีการปล่อยกุ้งลงบ่อให้ได้ประสิทธิภาพดี ควรมีกระชังสำหรับคัดลูกกุ้งที่รอดชีวิตติดตั้งเอาไว้ในบ่อชำด้วย โดยนำลูกกุ้งที่คว่ำตัวดีแล้วมาปล่อยลงในกระชัง ให้อาหารตามปกติไปประมาณ 7 วันแล้วตรวจเช็คลูกกุ้งที่รอดชีวิตรอบหนึ่ง หากตายไปมากก็เติมลูกกุ้งเข้าไปเพิ่ม ส่วนอัตราการปล่อยกุ้งลงบ่อก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ความหนาแน่นน้อยไปจนถึงความหนาแน่นมาก สิ่งที่เกษตรกรต้องใช้ในการตัดสินใจก็คือ ยิ่งความหนาแน่นในการปล่อยกุ้งสูงเท่าไร ยิ่งทยอยจับกุ้งขายได้หลายครั้งมากขึ้น แต่กุ้งก็จะมีขนาดตัวที่เล็กลงและสภาพน้ำเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว จำเป็นต้องบำรุงรักษากันบ่อยครั้ง ไม่มีทางเลือกไหนดีที่สุดมีแค่ทางเลือกที่ตอบโจทย์ของเกษตรกรได้มากกว่าเท่านั้น หลังจากเพาะเลี้ยงกุ้งได้ประมาณ 2 เดือน ก็ใช้อวนขนาดตา 1-2 เซนติเมตรช้อนกุ้งที่โตได้ระดับหนึ่งแล้วไปลงบ่อเลี้ยง จากนั้นอีกประมาณ 2 เดือนค่อยเริ่มจับขาย ทุกครั้งที่จับกุ้งใหญ่ขายไปก็นำกุ้งจากจากบ่อชำรุ่นใหม่มาลงบ่อเลี้ยง และนำลูกกุ้งรุ่นใหม่ไปลงบ่อชำเช่นกัน ทำต่อกันเป็นทอดๆ แบบนี้

อาหารและการให้อาหาร

ประเภทของอาหารที่ใช้สำหรับการเพาะเลี้ยงกุ้งจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ อาหารที่มีชีวิตและอาหารที่ไม่มีชีวิต ตัวอ่อนของไรน้ำเค็มหรืออาร์ทีเมียเป็นอาหารหลักประเภทที่มีชีวิต ซึ่งปกติเกษตรกรจะต้องมีส่วนเพาะเลี้ยงอาหารชนิดนี้เอง เพื่อให้ได้อาหารที่มีคุณภาพและต้นทุนต่ำกว่าการซื้อหามาใช้ ส่วนอาหารไม่มีชีวิตจะเป็นส่วนเสริมต่างๆ เช่น ไข่ตุ๋น อาหารสำเร็จรูป เต้าหู้ไข่ เป็นต้น กรณีที่เป็นอาหารสำเร็จรูปก็จะต้องเลือกอาหารที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ดังนี้

  • มีสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วน ตัวแรกคือโปรตีนที่ควรมีอย่างน้อย 28-38 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาเป็นไขมันที่จำเป็นต้องการลอกคราบของกุ้ง และสุดท้ายคือคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยได้ง่าย
  • มีขนาดเม็ดอาหารที่เหมาะสม หากกุ้งยังมีขนาดเล็กมาก การเลือกใช้อาหารแบบเกล็ดหรือแบบแผ่นบางจะช่วยให้กุ้งกินอาหารได้ง่ายขึ้น เมื่อโตแล้วก็ปรับเป็นอาหารอัดเม็ดขนาดเล็ก
  • อาหารคงสภาพในน้ำได้นาน อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ควรต่ำกว่า 4 ชั่วโมง เพื่อให้กุ้งมีเวลากินมากเพียงพอ และยังช่วยลดอัตราการเน่าเสียของน้ำในบ่อได้ด้วย

การถ่ายน้ำและดูแลความสะอาด

คุณภาพน้ำในบ่อเพาะเลี้ยงมีความสัมพันธ์ต่อสุขภาพและอัตราการเติบโตของกุ้งทุกช่วงวัย จึงต้องมีการดูแลอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับช่วงวัยนั้นๆ เสมอ โดยศูนย์พัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามได้ให้คำแนะนำไว้ว่า ระยะแรกที่ยังไม่ได้ย้ายบ่อและยังไม่ได้เริ่มให้อาหารเสริม มีเพียงอาหารหลักที่เป็นอาร์ทีเมียอย่างเดียว ให้ถ่ายน้ำทุก 3-4 วัน พร้อมกับเพิ่มระดับน้ำเพื่อรักษาอุณหภูมิของน้ำในบ่อเป็นประจำทุกวันด้วย เมื่อเริ่มให้อาหารเสริมจำพวกอาหารเม็ดหรือไข่ตุ๋น จึงต้องเปลี่ยนเป็นทำการดูดตะกอนก้นบ่อทุกวัน และถ่ายน้ำถัดจากวันที่ให้อาหารเสมอ ในช่วงที่เปลี่ยนน้ำใหม่อย่าลืมลดปริมาณอาหาร 1-2 วันแรก เพราะกุ้งจะลอกคราบและกินอาหารน้อยลง นอกจากนี้อย่าลืมดูแลความสะอาดของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งไว้ด้วย เช่น สายแอร์ปั๊ม เป็นต้น

การลำเลียงพันธุ์กุ้ง

การลำเลียงพันธุ์กุ้งจะมีอยู่ 2 ช่วงเวลาที่สำคัญ คือการลำเลียงลูกกุ้งหลังคว่ำตัวแล้วไปลงบ่อเพาะเลี้ยง และการลำเลียงแม่พันธุ์กุ้งมาลงบ่อเพาะพันธุ์ สำหรับลูกกุ้งที่ยังมีความเสี่ยงในการตายสูง ระหว่างลำเลียงต้องคำนึงถึงความหนาแน่น อุณหภูมิและระยะทางขนส่งให้สอดคล้องกัน โดยมากนิยมขนส่งกันช่วงกลางคืนเพื่อให้ควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในช่วง 20-22 องศาเซลเซียสได้ง่าย หากใช้เวลาลำเลียงลูกกุ้งไม่เกิน 6 ชั่วโมง ให้บรรจุลูกกุ้ง 2000 ตัวต่อน้ำ 2-2.5 ลิตร พร้อมเติมอากาศ 1-1.5 เท่าของปริมาตรน้ำ แต่ถ้าการลำเลียงนั้นใช้เวลามากกว่า 6 ชั่วโมง ก็ต้องเพิ่มอากาศเป็น 2-2.5 เท่าของปริมาตรน้ำ และถ้าลดจำนวนกุ้งลงได้ก็จะช่วยลดความเสียหายได้อีก ในส่วนของแม่พันธุ์กุ้งขอแค่อย่าบรรจุมาหนาแน่นเกินไปและอย่าใช้เวลาขนส่งนานจนกุ้งอ่อนแอก็พอ สำคัญที่การเลือกแหล่งเพาะพันธุ์มากกว่า อย่างเช่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรีก็มีการเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามที่ควบคุมโรคเอาไว้อย่างดี จึงมั่นใจได้ว่าแม่พันธุ์จะสมบูรณ์แข็งแรง แบบนี้ถึงจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่น่าสนใจ

ระยะเวลาการเลี้ยงและจับ

หลังจากกุ้งแม่น้ำหรือกุ้งก้ามกรามที่เลี้ยงไว้โตเต็มวัยและมีขนาดใหญ่พอที่จะจับได้แล้ว เราจะลดน้ำในบ่อลงประมาณ 50 เซนติเมตร พร้อมกับใช้อวนที่มีตาขนาด 4 เซนติเมตรในการจับ การใช้อวนตาเล็กเกินไปจะสร้างความบอบช้ำให้กุ้งในบ่อมาก และอาจจับได้กุ้งที่ยังไม่โตขึ้นมาอีกด้วย เสร็จแล้วทำการคัดแยกกุ้งเพื่อส่งขายต่อไป โดยจะแยกเป็น ตัวผู้ใหญ่ขนาด 100 กรัม ตัวผู้รองขนาด 70 กรัม ตัวผู้เล็กขนาด 50 กรัม ตัวผู้ขายาว ตัวเมียไม่มีไข่ ตัวเมียมีไข่ กุ้งนิ่ม และกุ้งแคระแกร็นที่ไม่ลอกคราบ ซึ่งราคาซื้อขายก็จะไล่จากราคาสูงมาราคาต่ำตามลำดับ

ระยะเวลาจับกุ้งก้ามกราม
siamrath.co.th

โรคของกุ้งแม่น้ำหรือกุ้งก้ามกรามและการป้องกันรักษา

กองเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง และกองส่งเสริมการประมง ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคกุ้งที่น่าสนใจและควรเฝ้าระวังเอาไว้ดังนี้

  • โรคจุดดำบนเปลือกกุ้ง
    เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Chitinolytic bacteria ซึ่งจะกัดกินเปลือกกุ้งไปเรื่อยๆ บริเวณที่ติดเชื้อจึงมองเห็นเป็นจุดสีดำชัดเจน แถมกุ้งที่ติดโรคยังมีนิสัยไล่กัดกุ้งตัวอื่นด้วย โรคนี้ป้องกันได้ด้วยการลดความหนาแน่นในบ่อเลี้ยงลง และเมื่อพบสัญญาณของโรคให้ใช้ยาปฏิชีวนะผสมอาหารจนกว่าอาการจะหาย
  • โรคแบคทีเรียในเหงือก
    เกิดจากแบคทีเรียในกลุ่ม Filamenus ที่เข้าไปอาศัยอยู่ในเหงือกกุ้งจนมันหายใจไม่สะดวก ไม่นานกุ้งที่ติดเชื้อก็จะตายไป ป้องกันด้วยการรักษาสุขอนามัยของบ่อเพาะเลี้ยงให้ดี พร้อมกับระวังไม่ให้บ่อหนาแน่นเกินไป เมื่อพบกุ้งที่เป็นโรคควรแยกออกไปทันที
  • โรคกล้ามเนื้อขุ่นขาว
    แม้จะไม่ใช่โรคที่สร้างความเสียหายมากนัก แต่ก็เป็นสัญญาณที่บอกว่ากุ้งในบ่อได้รับปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างรวดเร็วด้วย การป้องกันนั้นทำได้ไม่ยาก แค่ลดความหนาแน่นในการเพาะเลี้ยงพร้อมกับดูแลปรับสภาพน้ำให้มีคุณภาพอยู่เสมอ
  • โรคเหงือกดำ
    ต้นเหตุของโรคมาจากของเสียที่สะสมอยู่ในบ่อเลี้ยง อาจแค่ทำให้กุ้งสุขภาพไม่แข็งแรงหรือทำให้ตายไปเลยก็ได้ ทางแก้ไขคือหมั่นกำจัดของเสียที่ก้นบ่อเป็นประจำและถ่ายน้ำให้มีการหมุนเวียนตามรอบเวลาที่เหมาะสม
  • โรคลอกคราบช้า
    กุ้งจะไม่ลอกคราบตามปกติหากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม การป้องกันจึงการดูแลทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ทั้งคุณภาพอาหาร คุณภาพน้ำ และสารพิษที่อาจปนเปื้อนอยู่ในบ่อ

หากอาการของโรคกุ้งที่พบจำเป็นต้องใช้ยารักษา จะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเลือกใช้ยาได้ถูกต้องกับเชื้อที่เป็นต้นเหตุจริงๆ ถ้าไม่แน่ใจสามารถขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจโรคในห้องปฏิบัติการได้ และอย่าลืมพิจารณาหลักการเลือกใช้ยาเหล่านี้เสมอ

  • เลือกใช้ยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ยับยั้งการเติบโตของเชื้อได้ดี
  • เลือกใช้ยาที่ระบบทางเดินอาหารของกุ้งดูดซึมได้ง่าย
  • ยาที่คงรูปในน้ำได้นานจะช่วยให้กุ้งได้รับปริมาณตัวยาที่เพียงพอมากกว่า เพราะกุ้งกินอาหารช้า
  • ถ้าสภาพน้ำมีผลต่อการออกฤทธิ์ของตัวยา ก็ควรตรวจสภาพน้ำก่อนแล้วเลือกใช้ยาให้เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาหลายชนิดร่วมกันในคราวเดียว
  • ศึกษาตัวยาเกี่ยวพิษสะสมในตัวกุ้งก่อนเลือกใช้ทุกครั้ง
  • ใช้ยาในปริมาณที่นักวิชาการหรือสัตวแพทย์แนะนำเท่านั้น

โรคในกุ้งวัยอ่อน

กุ้งวัยอ่อนมีความเสี่ยงต่อการติดโรคที่ค่อนข้างหลากหลาย โดยทางศูนย์พัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามได้ให้ข้อมูลเอาไว้ดังนี้

  • โรคตัวขาวหรือเนื้อตาย
    เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดความเครียด ส่งผลให้ตัวกุ้งมีสีขาวขุ่นโดยเริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วขยายวงกว้างขึ้น โรคนี้จะทำให้กุ้งตายได้ภายใน 2-3 วัน การป้องกันทำได้ด้วยการรักษาสภาพแวดล้อมในบ่อเพาะเลี้ยงให้ดีอยู่เสมอ อย่าให้ขาดออกซิเจน อย่าให้หนาแน่นเกินไป
  • โรค Larval mid cycle disease (MCD)
    โรคนี้ยังไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัดนัก แต่จะทำให้กุ้งอ่อนแอ เริ่มไม่กินอาหาร ลำตัวเป็นสีน้ำเงินปนเทา และอาจว่ายน้ำในท่าควงสว่าน พบมากในกุ้งอายุ 12-24 วัน หากเป็นแล้วไม่มีทางรักษา ให้จับแยกตัวที่เป็นโรคแล้วทำความสะอาดบ่อเพาะเลี้ยง
  • โรคเนื้อตายจากแบคทีเรีย
    คาดว่าเกิดจากแบคทีเรียหลายชนิด แต่ก็ยังไม่อาจสรุปสาเหตุที่แท้จริงได้ กุ้งจะมีสีลำตัวสีน้ำเงิน รยางค์และหนวดเห็นจุดสีน้ำตาล มีอาการอ่อนแอนอนซมอยู่ก้นบ่อ ให้รักษาด้วย penicillin 2 ppm หรือ furanace 7 ppm
  • โรคเรืองแสง
    เกิดจากแบคทีเรีย  Vibrio harveyi ซึ่งพบได้ทั่วไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่งผลให้ตัวกุ้งมีความเรืองแสง มองเห็นได้ชัดเจนในเวลากลางคืน มักมีพฤติกรรมเฉื่อยชาและว่ายน้ำรวมกลุ่มกัน ให้ฆ่าเชื้อในน้ำด้วย แคลเซียมไฮโป คลอไรท์ 20 – 30 ppm หรือ ฟอร์มาลิน 50 ppm ก่อนนำน้ำมาใช้งาน และใช้ยา  Chloramphenical 2 – 3 ppm เมื่อพบโรคแล้ว
  • โรคลอกคราบไม่ออก
    โรคนี้ต่างจากอาการไม่ลอกคราบของกุ้งอย่างชัดเจน และยังไม่มีการระบุสาเหตุของโรคที่แท้จริง แต่มันจะทำให้ลูกกุ้งที่พยายามลอกคราบนั้นติดอยู่กับคราบเก่า หรือถ้าลอกได้ลำตัวก็จะไม่ปกติและตายไปในท้ายที่สุด แนวทางป้องกันมีเพียงแค่รักษาสภาพแวดล้อมในบ่อกุ้งให้เป็นปกติเท่านั้น
  • โรคจากโปรโตซัว
    มีโปรโตซัวหลายชนิดที่เป็นต้นเหตุของโรค ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณของโปรโตซัวเหล่านั้น พวกมันจะเกาะอยู่ตามตัวกุ้ง ถ้ามีน้อยก็หลุดไปพร้อมการลอกคราบ แต่ถ้ามีมากก็จะทำให้กุ้งลอกคราบไม่ได้ ให้ดูแลสุขอนามัยของบ่อเลี้ยงให้ดี และเพิ่มอาหารที่มีเลซิธิน

โรคกุ้งในโรงเพาะฟัก

คุณณัฐพงค์ วรรณพัฒน์ จากกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้กล่าวถึงโรคบางชนิดที่เกิดกับกุ้งในโรงเพาะฟักได้บ่อย ดังนี้

  • โรคหางขาว
    เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มที่มีการเจริญและเพิ่มจำนวนในไซโทพลาส ส่งผลให้อวัยวะส่วนต่างๆ ของกุ้งเริ่มตายไป อาการที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ กุ้งกินอาหารน้อยลง ลำตัวซีด อาจมองเห็นกล้ามเนื้อเป็นสีขาวขุ่นหรือไม่ก็ได้ หลังติดเชื้อ 2-3 วันจะเริ่มเห็นรยางค์ขาดกร่อน ความน่ากลัวของโรคนี้คือเมื่อติดเชื้อแล้วจะมีเปอร์เซ็นต์การตายสูงมาก และยังติดต่อไปยังกุ้งตัวอื่นๆ ได้ด้วย วิธีการป้องกันควรเริ่มจากการคัดเลือกแม่พันธุ์ที่ปลอดโรค มีการฆ่าเชื้อและพักน้ำที่จะใช้ในบ่อเพาะเลี้ยงเสมอ รวมถึงการเร่งกำจัดกุ้งที่มีอาการของโรคออกจากบ่อโดยเร็ว

โรคอื่นๆ ที่พบได้บ่อยของกุ้งในโรงเพาะฟักจะเป็นโรคเรืองแสง และโรคโปรโตซัว ซึ่งมีลักษณะอาการและวิธีป้องกันเช่นเดียวกับโรคกุ้งวัยอ่อนนั่นเอง

โรคกุ้งในบ่อดิน

บ่อดินเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงที่คุมเรื่องความสะอาดได้ค่อนข้างยาก ทางกระมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงแนะนำโรคที่ควรเฝ้าสังเกตการณ์เอาไว้ดังนี้

  • โรคเหงือกเน่า
    เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เป็นเส้นยาวเกาะตามเหงือกกุ้งจนหายใจไม่สะดวก ไม่นานนักกุ้งจะเริ่มลอยตายให้เห็นตามขอบบ่อ ป้องกันได้โดยควบคุมไม่ให้มีปริมาณของเน่าเสียสะสมในน้ำมากเกินไป จัดการลดปริมาณอาหาร และดูดตะกอนก้นบ่อเป็นประจำทุกวัน ถ้าพบว่ากุ้งยังมีอาการป่วยไม่มากนัก สามารถใช้การเปลี่ยนถ่ายน้ำเพื่อช่วยฟื้นฟูสุขภาพของกุ้งโดยรวมได้
  • โรคเหงือกดำ
    เมื่อไรที่ในบ่อเลี้ยงกุ้งมีดินและเกลือของธาตุเหล็กมากเกินไป มันก็จะมาสะสมไว้ที่บริเวณเหงือกกุ้งจนเห็นเป็นสีดำหรือน้ำตาลเข้ม การป้องกันให้เริ่มตั้งแต่เตรียมบ่อให้ครั้งแรก ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพื้นล่างแข็งแรงและมิดชิด จะไม่มีดินเปื่อยยุ่ยมากนักเมื่อเวลาผ่านไป หมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำตามรอบเวลา และย้ายบ่อกุ้งเมื่อโตได้ระยะหนึ่งแล้ว
  • โรคเปลือกกร่อนและหางแดง
    เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นผลมาจากการสะสมของเสียที่ก้นบ่อ เปลือกของกุ้งที่ติดเชื้อจะโดนกัดกร่อนเป็นรอยแหว่ง เหงือกและหางมีจุดดำเล็กน้อย ขาและหางจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดง โรคนี้ทำให้กุ้งมีอัตราการตายค่อนข้างสูงทีเดียว ป้องกันได้ด้วยการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับให้ยาปฏิชีวนะหลังพบโรคแล้ว
  • โรคซูโอแทมเนียม
    เป็นอีกโรคหนึ่งที่เกิดจากความไม่สะอาดของบ่อเลี้ยงเช่นกัน เมื่อไรที่น้ำในบ่อมีสีเขียวเข้มและมีค่าความเป็นด่างสูงขึ้น ก็จะทำให้กุ้งเป็นโรคนี้ได้ง่าย ส่งผลให้เปลือกกุ้งเป็นขุยและเติบโตได้ช้า ป้องกันแก้ไขด้วยการลดปริมาณอาหารลงเพื่อลดการสะสมตะกอน และเปลี่ยนถ่ายน้ำในปริมาณมากขึ้น
  • โรคหมัด
    ตัวการของโรคเป็นปรสิตเปลือกแข็งที่มีขนาดประมาณ 0.5 เซนติเมตร จะเกาะและกันกินตามกระพุ้งแก้มของกุ้ง ทำให้กุ้งอ่อนแอและติดเชื้อจนเกิดโรคชนิดอื่นได้ง่าย ป้องกันด้วยการกรองน้ำและฆ่าเชื้อก่อนนำไปใช้ในบ่อเพาะเลี้ยงทุกครั้ง
  • กุ้งอ่อนแอจากสภาพน้ำ
    เมื่อในบ่อเพาะเลี้ยงมีแพลงก์ตอนพืชมากเกินไป ความเป็นกรดด่างของน้ำสูงขึ้น กระตุ้นให้สารแอมโมเนียที่มีอยู่ในน้ำเป็นพิษมากขึ้นด้วย กุ้งที่ได้รับพิษก็จะตายไปโดยไม่มีอาการผิดปกติ ป้องกันด้วยการรักษาสภาพแวดล้อมในบ่อให้เหมาะสมอยู่เสมอ พอเห็นว่าน้ำเริ่มเขียวเข้มก็รีบถ่ายน้ำใหม่ พร้อมกับควบคุมปริมาณอาหารที่ให้ในแต่ละวันด้วย
โรคกุ้งก้ามกราม
jingjonews.com

แหล่งอ้างอิง

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้