หากนึกถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดที่ยังมีโอกาสเติบโตในตลาดได้อีกมาก เนื่องจากมีกำลังผลิตที่ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด หนึ่งในนั้นก็ต้องมีการเพาะเลี้ยงปลาคังหรือปลากดคังรวมอยู่ด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นการบริโภคภายในประเทศหรือเป็นสินค้าส่งออกก็ถือว่ายังขาดแคลนอยู่ไม่น้อย ปลาชนิดนี้มีเนื้อสัมผัสดีจึงนิยมใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารเป็นหลัก แต่ก็มีบางส่วนที่นิยมเลี้ยงไว้เพื่อความสวยงามด้วย ยิ่งตัวใหญ่และเนื้อมากเท่าไรก็ยิ่งได้ราคาดีมากเท่านั้น ปัจจุบันวงการเพาะเลี้ยงปลาคังได้ต่อยอดลักษณะการซื้อขายให้มีทั้งแบบปลาสดและแบบแปรรูปแล้ว เกษตรกรก็เริ่มให้ความสนใจเพาะเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น แต่ในภาพรวมกลับยังขาดการประชาสัมพันธ์ที่จะช่วยให้คนทั่วไปได้รู้จักและอยากลิ้มลอง ในมุมของผู้เพาะเลี้ยงเองก็มีหลายส่วนที่ต้องพัฒนาต่อเนื่องให้ดีขึ้นไปอีกเช่นเดียวกัน
ข้อมูลทั่วไปของปลาคังหรือปลากดคัง
ปลาคังหรือปลากดคัง คือปลาน้ำจืดเนื้ออ่อนที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากได้รับความนิยมจากผู้บริโภคค่อนข้างสูงแล้วก็ยังเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงอีกด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คณิต ชูคันหอม จากคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบายถึงปลาชนิดไว้ว่า ปลาคังมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mystus wyckioides และมีชื่อเรียกอื่นที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ปลากดแก้ว ปลากดหางแดง ปลากดเขี้ยว ปลากดข้างหม้อ เป็นต้น เดิมทีปลาคังจะพบมากตามแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป ทั้งแม่น้ำลำคลอง อ่างเก็บน้ำ และเขื่อน แต่ปัจจุบันจำนวนปลาคังลดน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่ความต้องการในตลาดกลับเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา การเพาะเลี้ยงปลาคังเพื่อจำหน่ายแทนการจับปลาจากธรรมชาติจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่ดีกว่าของเกษตรกร
ลักษณะทั่วไป
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สงขลา ระบุว่า ปลาคังจัดเป็นปลาขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวโตเต็มวัยประมาณ 1-3 กิโลกรัม โดยเฉลี่ยจะมีลำตัวยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร แต่ในแหล่งน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาก เราอาจพบปลาคังที่หนัก 30-70 กิโลกรัมได้ รูปร่างของปลาคังค่อนข้างเพรียวยาว ส่วนหัวแบนกว้างและมีด้านบนเรียบลื่น ตำแหน่งปากอยู่ต่ำ ฟันแหลมคม มีหนวด 4 คู่อยู่ตรงจมูกกับขากรรไกร หนวดที่ขากรรไกรจะเป็นเส้นยาวจนเลยช่วงกลางลำตัวไป ด้านบนลำตัวเป็นสีม่วงปนเทาดำ ท้องด้านล่างค่อนข้างขาว ผิวเป็นมันเงาไม่มีเกล็ด ครีบทั่วลำตัวมีทั้งแบบก้านครีบแข็งและอ่อนผสมกัน แต่ละส่วนมีสีต่างกันไปดังนี้ ครีบหูเป็นสีเทาดำ ครีบหางเป็นสีแดงเข้ม ครีบท้องเป็นสีขาวเหลืองแต่มีปลายครีบเป็นสีแดง และครีบไขมันเป็นสีม่วงอมดำ
การแพร่กระจาย
พื้นที่อาศัยของปลาคังจะมีการกระจายตัวอยู่ตามแหล่งน้ำจืดหลายแห่ง ไม่ใช่เพียงแค่แม่น้ำโขงอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่มีทั้งในแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำปิง แม่น้ำแควน้อย รวมไปถึงเขื่อนสำคัญๆ เช่น เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนรัชชประภา เป็นต้น ส่วนการกระจายตัวของปลาคังในต่างประเทศจะอยู่ตามแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ทะเลสาบในเขมร แม่น้ำสาละวิน รวมถึงแม่น้ำหลายสายในมณฑลยูนนานของประเทศจีนด้วย
นิสัยการกินอาหาร
อาหารของปลาคังเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็กและซากสัตว์ทั่วไป เนื่องจากปลาชนิดนี้กินเนื้อเป็นอาหาร แต่ด้วยโครงสร้างร่างกายไม่ได้เข้าข่ายปลานักล่า หากเป็นอาหารที่ยังมีชีวิตจึงเป็นกลุ่มสัตว์ที่จับได้ง่าย เช่น ปลาขนาดเล็ก กบ เขียด เป็นต้น กรณีที่ทำการเพาะเลี้ยงปลาคังก็สามารถเปลี่ยนเป็นอาหารทะเลสับ อาหารผสม หรืออาหารสำเร็จรูปแบบเดียวกับที่ใช้เลี้ยงปลาชนิดอื่นๆ ได้
การเพาะพันธุ์ปลาคังหรือปลากดคัง
ความยากของการเพาะพันธุ์ปลาคังจะอยู่ที่วิธีการขยายพันธุ์ปลาซึ่งเป็นการผสมเทียม ไม่ใช่ปล่อยให้ปลาพ่อแม่พันธุ์เกิดการขยายพันธุ์กันตามธรรมชาติ เพราะการปล่อยให้ผสมพันธุ์กันอย่างอิสระนั้นได้ผลลัพธ์ที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร และก่อนจะได้ข้อสรุปก็ผ่านการทดสอบกับวิธีขยายพันธุ์ในรูปแบบอื่นมาหมดแล้ว จนลงตัวที่การฉีดฮอร์โมนผสมเทียมปลานี่เอง
เริ่มจากหาพ่อแม่พันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมชาติหรือจากแหล่งเพาะเลี้ยงที่เชื่อถือได้ นำมาเลี้ยงในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้จนสมบูรณ์เพียงพอ พ่อแม่พันธุ์ที่เลือกใช้จะต้องมีลักษณะเด่นของสายพันธุ์ชัดเจน ร่างกายแข็งแรง และไม่มีสัญญาณของโรคแทรกซ้อนใดๆ ช่วงของการบำรุงพ่อแม่พันธุ์จะใช้วิธีปล่อยปลาลงบ่อเลี้ยงด้วยอัตราส่วน 1 ตัวต่อพื้นที่ 5 ตารางเมตร เน้นให้อาหารที่มีโปรตีนสูงจนกระทั่งปลามีความพร้อมสำหรับการขยายพันธุ์ คุณวิศณุพร รัตนตรัยวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญจากกองประมงน้ำจืด กรมประมง ได้ให้จุดสังเกตสำคัญเอาไว้ดังนี้ ปลาคังตัวเมียจะมีท้องที่อวบอูมกว่าปกติและมีความอ่อนนิ่ม ช่องเพศกลมนูนมีสีแดงสด ส่วนปลาคังตัวผู้จะมีลำตัวเรียวยาว ติ่งเพศเรียวยาวและเป็นสีชมพูระเรื่อ น้ำหนักโดยเฉลี่ยของปลาพ่อแม่พันธุ์ควรอยู่ที่ประมาณ 2-3 กิโลกรัมขึ้นไป
เมื่อปลาคังแม่พันธุ์พร้อมแล้วก็เริ่มทำการฉีดฮอร์โมน โดยใช้เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ buserelin acetatae ร่วมกับตัวยา domperidone เพื่อเสริมการออกฤทธิ์ ฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อข้างลำตัวหรือช่วงช่องท้องก็ได้ รูปแบบการฉีดฮอร์โมนสามารถเลือกตามความสะดวกและความเหมาะสมได้ 2 แบบ ดังนี้
- ฉีดครั้งเดียว จะใช้ความเข้มข้นของฮอร์โมนที่ 15-20 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม หลังฉีด 12-13 ชั่วโมงก็นำแม่ปลามารีดไข่เพื่อรอผสมเทียมได้
- ฉีด 2 ครั้ง จะใช้ความเข้มข้นของฮอร์โมนในครั้งแรกที่ 5 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม จากนั้นเว้นช่วงประมาณ 6 ชั่วโมงค่อยฉีดฮอร์โมนเข้มข้น 15 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม หลังฉีด 6-9 ชั่วโมงก็นำแม่ปลามารีดไข่ผสมเทียมได้
ไม่ว่าจะเลือกการฉีดแบบใดก็ตาม ทุกครั้งจะต้องใช้ยาเสริม 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมด้วยเสมอ ทางฝั่งของพ่อพันธุ์จะต้องผ่าท้องเอาถุงน้ำเชื้อออกมาเพื่อผสมกับไข่ที่เตรียมไว้ เสร็จแล้วให้นำไข่ทั้งหมดไปไว้ในภาชนะฟักซึ่งแขวนอยู่เหนือบ่อพัก ควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ที่ประมาณ 27 องศาเซลเซียส คอยสังเกตว่ามีไข่ส่วนไหนเน่าเสียหรือไม่ ไข่ดีจะมีสีเหลืองใสขณะที่ไข่เสียจะกลายเป็นสีขาวขุ่น ทิ้งไว้ 30-32 ชั่วโมงก็จะเกิดการฟัก ได้ลูกปลาคังที่มีขนาดลำตัว 5-6 มิลลิเมตร ก็จะเข้าสู่กระบวนการอนุบาลลูกปลาต่อไป
การอนุบาลลูกปลาคังหรือปลากดคัง
ลูกปลาคังที่พึ่งฟักออกจากไข่ใหม่ๆ จะมีถุงไข่แดงติดอยู่กับตัว ลูกปลาอาศัยการดูดซับสารอาหารจากถุงไข่แดงในช่วงแรกก่อน เมื่อครบกำหนด 3 วันถุงนี้จะยุบไปและลูกปลาก็เริ่มกินอาหารได้ การอนุบาลปลาคังก็จะนับตั้งแต่จุดนี้เป็นต้นไป โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้
อนุบาลลูกปลาวัยอ่อน
ในระยะแรกลูกปลาจะรวมกลุ่มกันตามมุมหรือขอบของภาชนะ อาหารที่ให้จึงต้องกระจายทั่วถึง มีขนาดเล็กและลอยอยู่บริเวณผิวน้ำได้นาน สิ่งสำคัญคือต้องมีสารอาหารที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างครบถ้วน ไรแดงจึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด หากไม่สามารถหาไรแดงได้ก็ใช้เป็นอาหารสำเร็จรูปที่มีโปรตีนสูงทดแทน เช่น ไข่ผง อาหารเม็ดจากลูกกุ้ง เป็นต้น แต่อาหารสำเร็จรูปอาจทำให้ลูกปลาคังเติบโตได้ไม่ดีเท่ากับไรแดง และยังต้องระวังเรื่องตะกอนของเศษอาหารที่จะทำให้น้ำเน่าเสียด้วย สถานที่อนุบาลลูกปลาวัยอ่อนจะใช้เป็นตู้กระจก บ่อปูน หรือถังไฟเบอร์ก็ได้ แต่ต้องอยู่ในร่มที่มีระบบดูแลเรื่องอากาศและความสะอาดของบ่ออยู่ตลอดเวลา ปล่อยลูกปลาในอัตราส่วน 300-500 ตัวต่อตารางเมตร ถ้าใส่ใจรายละเอียดต่างๆ ในการเพาะเลี้ยงดีพอ อัตราการรอดชีวิตของลูกปลาในช่วงนี้จะมีมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ หลังผ่านช่วง 10 วันไปแล้ว ลูกปลาคังจะเริ่มดำน้ำลงไปกินอาหารที่อยู่ก้นบ่อได้ เราสามารถปรับรูปแบบของอาหารให้หลากหลายขึ้น และฝึกให้ปลาคุ้ยเคยกับอาหารสำเร็จรูปมากขึ้นได้
อนุบาลลูกปลาวัยรุ่น
เมื่อลูกปลามีขนาดได้ประมาณ 2 นิ้วก็เข้าสู่ช่วงอนุบาลปลาวัยรุ่น เป็นการย้ายลูกปลาไปลงบ่อเพาะเลี้ยงที่ใหญ่กว่าและเริ่มให้อาหารเป็นเวลามากขึ้น หากเลี้ยงในบ่อซีเมนต์จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ให้อากาศและระบบหมุนเวียนน้ำที่ทำให้เกิดอัตราการไหล 10 ลิตรต่อนาที ความหนาแน่นของปลาอยู่ที่ 10-40 ตัวต่อตารางเมตร และให้อาหารสำหรับลูกปลาวันละ 2 ครั้ง ส่วนการเลี้ยงในบ่อดินจะมีความหนาแน่นของปลาอยุ่ที่ 5-10 ตัวต่อตารางเมตร และให้อาหารวันละ 2 ครั้งเช่นเดียวกัน การอนุบาลลูกปลาวัยรุ่นนั้นกินเวลาทั้งหมดประมาณ 60 วัน ความต่างอยู่ที่ลูกปลาในบ่อซีเมนต์จะมีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่าและมีขนาดลำตัวที่สม่ำเสมอมากกว่า
การเลี้ยงปลาคังหรือปลากดคัง
แม้ว่าการเพาะเลี้ยงปลาคังหรือปลากดคังดูจะเป็นช่องทางสร้างรายได้ที่น่าสนใจ และมีกลุ่มเกษตรกรที่ลงมือทำกันไปพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะกลายเป็นกระแสนิยมได้ เนื่องจากมีอุปสรรคในแง่ของการขาดแคลนลูกปลาคังที่ได้คุณภาพ หากเริ่มจากการหาจับปลาคังตามแหล่งน้ำธรรมชาติมาเลี้ยงให้ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ ก็จะมีข้อจำกัดหลายอย่างจนทำให้ไม่สามารถสร้างผลผลิตที่สม่ำเสมอได้ และในระยะยาวก็ไม่อาจมั่นใจได้เลยว่าจะยังจับปลาในพื้นที่ได้เท่าเดิมอีก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีตัวช่วยอย่างการเพาะพันธุ์โดยวิธีผสมเทียม ซึ่งผ่านการทดสอบจนได้ข้อสรุปแล้วว่าลูกปลาที่ได้นั้นตรงกับความต้องการจริงๆ สามารถเลี้ยงให้เติบโตได้ทั้งในบ่อดินและในกระชัง อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาคังก็เป็นของที่หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป เช่น อาหารเม็ดสำหรับปลาดุก ปลาทะเลสด เป็นต้น จากองค์ความรู้เหล่านี้ทำให้เกิดตัวอย่างการเพาะเลี้ยงที่น่าสนใจในจังหวัดแพร่ เป็นการเลี้ยงในกระชังที่ให้ผลผลิตเป็นปลาคังน้ำหนักเฉลี่ยตัวละ 1-1.2 กิโลกรัมเลยทีเดียว
การเลี้ยงปลาคังหรือปลากดคังในกระชัง
สถานีฟาร์มฝึกนักศึกษา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ยกตัวอย่างการเพาะเลี้ยงปลาคังในกระชังที่น่าสนใจของจังหวัดสงขลาเอาไว้ว่า เป็นกระชังอวนขนาดกว้างยาวด้านละ 5 เมตร ติดตั้งในบ่อดินกินพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ใช้ลูกปลาคังขนาด 2 นิ้วจำนวน 700-800 ตัวต่อกระชัง คิดเป็นอัตราส่วน 30 ตัวต่อตารางเมตร อาหารที่ใช้เป็นเนื้อปลาบดและปลาทะเลสับ ให้วันละ 2 ครั้งด้วยน้ำหนักประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวปลา ทำแบบนี้เป็นเวลา 6 เดือนก็จะได้ปลาคังโตเต็มวัย 300-400 กิโลกรัมต่อกระชัง แต่ละตัวจะมีน้ำหนักราวๆ ครึ่งกิโลกรัม
การเลี้ยงปลาคังหรือปลากดคังในบ่อดิน
ตัวอย่างการเพาะเลี้ยงปลาคังในบ่อดินก็มีเช่นเดียวกัน เป็นการเลี้ยงในลูกปลาคังขนาด 6 นิ้ว จำนวน 1100 ตัว ในบ่อดินขนาด 1000 ตารางเมตร ถ้าคิดเป็นอัตราส่วนจะอยู่ที่ปลา 1.1 ตัวต่อตารางเมตร ให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปแบบเดียวกับที่ใช้เลี้ยงปลาดุกวันละ 2 ครั้ง เมื่อครบกำหนด 8 เดือน จะได้ปลาประมาณ 370 กิโลกรัม โดยมีขนาดปลาไม่สม่ำเสมอ เริ่มตั้งแต่ตัวละ 0.3 กิโลกรัมไปจนถึง 0.7 กิโลกรัม
อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นการเลี้ยงปลาคังร่วมกับปลานิล ใช้ลูกปลาคังขนาด 6 นิ้ว จำนวน 1000 ตัว และลูกปลานิลขนาด 5-7 เซนติเมตรอีก 500 ตัว เลี้ยงรวมในบ่อดินขนาด 1000 ตารางเมตร ให้อาหารเม็ดปลาดุกวันละ 2 ครั้งเป็นเวลา 8 เดือน ได้ผลผลิตเป็นปลาคังประมาณ 413 กิโลกรัม ปลานิลประมาณ 200 กิโลกรัม และได้ลูกปลานิลอีก 20000 ตัว ทั้งปลาคังและปลานิลจะได้ขนาดตัวไม่สม่ำเสมอ แต่ก็มีอัตราการรอดชีวิตค่อนข้างสูง
ราคาจำหน่ายพันธุ์ปลาคังหรือปลากดคัง
มีการกำหนดราคาเป็นมาตรฐานจากกรมประมง โดยวัดจากขนาดลำตัวของปลากดคัง ดังนี้
- ปลากดคังขนาด 2-3 เซนติเมตร ราคาตัวละ 1 บาท
- ปลากดคังขนาด 3-5 เซนติเมตร ราคาตัวละ 2 บาท
- ปลากดคังขนาด 5-7 เซนติเมตร ราคาตัวละ 3 บาท
- ปลากดคังขนาด 15-20 เซนติเมตร ราคาตัวละ 10 บาท