ชื่อภาษาอังกฤษ: Kratom
ชื่อวิทยาศาสตร์: Mitragyna speciosa
ต้นกระท่อม เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นที่มีความเขียวชอุ่มตลอดทั้งปี มีแหล่งกำเนิดอยู่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพบได้ทั่วไปในประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ และปาปัวนิวกินี ต้นกระท่อมเป็นไม้ในตระกูลต้นเข็มและต้นกาแฟซึ่งมีการใช้เป็นพืชสมุนไพรนับตั้งแต่ยุคศตรรษที่ 19 เนื่องจากมีสารกระตุ้นบางอย่างและมีสารระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์
ความเป็นมาเกี่ยวกับต้นกระท่อม
ต้นกระท่อมถูกบรรจุให้เป็นยาเสพติดต้องห้ามตามกฎหมายในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ซึ่งเหตุผลในการบรรจุเป็นยาเสพติดเนื่องจากฝิ่นที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดนั้นมีราคาแพง คนจึงหันมาสูบกระท่อมแทนการสูบฝิ่น ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าการบรรจุพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดนั้นทำไปเพื่อเหตุผลหลักทางการค้าและทางภาษีของรัฐ ไม่ใช่เพราะพืชกระท่อมเป็นพืชเสพติด
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการแถลงปลดล็อคให้พืชกระท่อมไม่บรรจุเป็นพืชยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป โดยประชาชนสามารถปลูกพืชกระท่อมได้อย่างเสรี อีกทั้งยังสามารถปลูกเพื่อการบริโภค ครอบครอง ซื้อ-ขายหรือนำมาบดเคี้ยวได้ นอกจากประชาชนสามารถครอบครองในครัวเรือนและส่งขายเชิงพาณิชย์หรือเชิงอุตสาหกรรมได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ห้ามขายให้แก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งยังถือว่าเป็นเยาวชนอยู่ รวมถึงห้ามขายให้แก่สตรีมีครรภ์ด้วย นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ห้ามจัดจำหน่ายในบางสถานที่ เช่น วัดหรือโรงเรียนและสำหรับการประกอบธุรกิจการส่งออกหรือนำเข้านั้น จำเป็นต้องขออนุญาตก่อน
ต้นกระท่อม ปลูกบริเวณใดถึงจะดี
เนื่องจากต้นกระท่อมเป็นพืชในตระกูลต้นเข็มและต้นกาแฟ ซึ่งมีความสูง 4-16 เมตร จึงเหมาะกับการปลูกกลางแจ้งในบริเวณที่ไม่มีเพิงหรือหลังคามาบดบัง อีกทั้งยังเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่ดินมาความชุ่มชื้นสูง ดินอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งแสงแดดยังควรส่องถึงในระดับปานกลาง สถานที่ที่เหมาะสมที่สุดจึงเป็นพื้นที่ตามธรรมชาติหรือมีการจัดสวนสำหรับการปลูกต้นกระท่อมแบ่งเป็นสัดเป็นส่วน
ส่วนประกอบของต้นกระท่อม
ต้นกระท่อม ถือว่าเป็นไม้ขนาดใหญ่ปานกลาง พบได้ในบางจังหวัดในภาคกลาง และพบได้มากในป่าธรรมชาติในภาคใต้ของไทย ส่วนประกอบของต้นกระท่อม มีดังนี้
- ลักษณะลำต้น: ต้นกระท่อมมีแก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง เป็นไม้สูงเฉลี่ยประมาณ 4-16 เมตร
- ลักษณะใบ: คล้ายใบกระดังงา มีทั้งแบบชนิดก้านใบแดงและก้านใบเขียว ใบเดี่ยวมีสีเขียว เรียงตัวเป็นคู่ตรงข้าม แผ่นใบกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร
- ลักษณะดอก: ดอกของต้นกระท่อมมีลักษณะกลมโตเท่าผลพุทรา มีสีขาวอมเหลือง ออกเป็นช่อกลม ๆ ขนาด 3-5 เซนติเมตร
สายพันธุ์ต้นกระท่อม มีสายพันธุ์ใดบ้าง
ต้นกระท่อมที่พบในประเทศไทย มีอยู่ด้วยกัน 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์แตงกวา (ก้านเขียว) พันธุ์ยักษาใหญ่ (รูปใบใหญ่) และพันธุ์ก้านแดง ซึ่งพันธุ์ก้านแดงเป็นสายพันธุ์ที่นิยมบริโภคกันมากที่สุด
- พันธุ์แตงกวา (ก้านเขียว): มีเส้นใบสีเขียวอ่อนกว่าแผ่นใบ
- พันธุ์ยักษาใหญ่ (ลักษณะใบใหญ่): มีขนาดใบใหญ่กว่าายพันธุ์อื่น ๆ ส่วนของขอบใบมีลักษณะเป็นหยัก ๆ
- พันธุ์ก้านแดง: มีก้านและเส้นใบสีแดง
วิธีการปลูกต้นกระท่อม ปลูกอย่างไรให้โตดี
ปัจจุบันประชาชนและเกษตรกรสนใจหันมาปลูกพืชกระท่อมกันมากขึ้น เพราะสามารถขายเพื่อทำเงินได้ โดยวิธีการปลูกต้นกระท่อมสามารถทำได้ ดังนี้
การเพาะจากเมล็ด
โดยธรรมชาติแล้ว ต้นกระท่อมสามารถขายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติผ่านเมล็ด เมล็ดของต้นกระท่อมมีลักษณะเป็นปีกบาง จึงสามารถปลิวได้ตามกระแสลมพัดพาไป อีกทั้งยังสามารถลอยไปกับน้ำได้ง่าย นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราสามารถพบต้นกระท่อมได้ริมน้ำ ริมลำธาร หรือในบริเวณที่ดินมีความชื้นสูง การเพาะต้นกระท่อมจากเมล็ด เมื่อได้ต้นสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ให้ย้ายไปปลูกในดินที่มีความชุ่มชื้นเหมาะสม จะทำให้ต้นกระท่อมโตได้ดี
การติดทาหรือทาบกิ่ง
วิธีการนี้จะใช้ติดตาหรือทาบกิ่งกับต้นกระท่อมที่มีความแข็งแรง หรือไปทาบกิ่งหรือติดตากับต้นกระท่อมป่าที่ไม่สามารถกินได้ หรือที่เราเรียกว่าต้นกระท่อมขี้หมู เพราะต้นกระท่อมนี้มีระบบรากที่แข็งแรงกว่าสายพันธุ์ที่กินได้ทั่ว ๆ ไป
การปักชำ
การปักชำนั้น แนะนำให้ใช้กิ่งต้นกระท่อมที่ไม่อ่อนและไม่แก่จนเกินไป หากกิ่งที่ใช้มีใบใหญ่จนเกินไปให้ตัดครึ่งใบเพื่อให้รากงอกไวยิ่งขึ้น การปักชำแบบควบแน่นจะช่วยประหยัดพื้นที่ในการปักชำ และช่วยป้องกันการเกิดความเสียหายจากสภาพอากาศได้
เคล็ดลับดูแลต้นกระท่อมให้โตไว แข็งแรง
ถึงแม้ว่าต้นกระท่อมจะเป็นพืชที่งอกและเติบโตได้เองตามธรรมชาติ แต่ก็ยังต้องการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ทั้งแสงที่เหมาะสม ปริมาณน้ำและดินที่มีความชื้นที่พอดี อีกทั้งการให้ปุ๋ยยังช่วยให้ต้นโตไว แข็งแรงมากยิ่งขึ้น
แสงที่เหมาะสม
ต้นกระท่อมเป็นต้นไม้ที่ชื่นชอบแสงแดด แต่ไม่ควรเป็นแสงแดดที่จัดจนเกินไป ดังนั้น หากต้องการปลูกต้นกระท่อม ควรปลูกในพื้นที่ที่มีแสงแดดปานกลาง ในหน้าหนาวที่แดดจัด ควรหากำบังมาช่วยพรางแสง
การให้น้ำ
พืชกระท่อมเป็นพืชที่ชอบน้ำและความชื้น การปลูกพืชกระท่อมจึงจำเป็นต้องวางแผนระบบน้ำอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ยังควรรดน้ำให้ชุ่มในแต่ละวัน โดยสามารถรดน้ำได้วันละ 1-3 ครั้งในดินร่วนซุย แต่หากดินมีความแข็งหรือระบายน้ำได้ช้า ก็อาจลดปริมาณการรดน้ำลงได้
ดินที่เหมาะแก่การปลูก
ดินที่เหมาะสมต่อการปลูกต้นกระท่อม ควรเป็นดินที่ไม่มีความแข็งเหมือนดินลูกรัง แต่ควรเป็นดินที่มีความร่วนซุย สามารถอุ่มน้ำให้ชุ่มชื้นแต่ระบายน้ำได้ดี
วิธีการให้ปุ๋ย
การให้ปุ๋ยจะช่วยให้ต้นกระท่อมแข็งแรง ใบมีความเขียว และมีความต้านทานโรคได้ดี เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมให้ปุ๋ยคอกแต่ต้นกระท่อมหรือปุ๋ยโอโซน ซึ่งจะไปช่วยปรับสภาพดินให้มีความร่วนและอุ้มน้ำได้ดีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ปุ๋ยยังทำให้รากชอนไชได้ดี ป้องกันรากต้นไม้เน่า และเป็นแหล่งสารอาหารของต้นไม้
สรรพคุณน่ารู้ของต้นกระท่อม
ต้นกระท่อมถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพรมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 โดยมีสรรพคุณทางยา ดังนี้
- รักษาโรคบิด ท้องเสีย ท้องเฟ้อ และบรรเทาอาการมวนท้อง
- บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดฟัน ลดกล้ามเนื้อกระตุก
- แก้อาการนอนไม่หลับ ระงับประสาท ช่วยให้ผ่อนคลายและลดอาการวิตกกังวล
- ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ทำงานได้ยาวนานยิ่งขึ้น และไม่หิวง่าย
- ใช้ทำยาสมุนไพรพอกรักษาแผล
- ระงับอาการไอ
ผลข้างเคียงจากการใช้ใบกระท่อมมากเกินไป
อะไรที่มากเกินไปก็อาจส่งผลต่อร่างกายได้ ใบกระท่อมก็เช่นเดียวกัน หากกินมากจนเกินไปอาจทำให้ส่งผลข้างเคียงได้ ดังนี้
- น้ำหนักลดเพราะความอยากอาหารลดลง
- ท้องผูก ฉี่บ่อย ปากแห้ง
- มีอาการแพ้แดด ผิวหนังมีสีเข้ม เหงื่อออกมาก และมีอาการคัน
- นอนไม่หลับ ตื่นตัวตลอดเวลา กระวนกระวายใจ
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- อาจเห็นภาพหลอน
พิษและข้อควรระวังในการปลูกต้นกระท่อม
โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ใบกระท่อมมีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้ม จึงทำให้เกิดปัญหานำมาใช้ในทางที่ผิด เช่น การนำน้ำต้มใบกระท่อมมาใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง หรือสารอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้รู้สึกมึนเมา คึกคะนอง จึงทำให้ผู้ป่วยหลายรายเกิดภาวะเป็นพิษจากพืชกระท่อม เช่น เวียนหัว ปวดหัว ใจสั่น กระสับกระส่าย สับสน ความดันสูง อีกทั้งยังอาจเกิดภาวะพิษจากยาหรือสารอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมกับใบกระท่อมด้วย
สำหรับข้อควรระวังและข้อควรหลีกเลี่ยงในการใช้ใบกระท่อม มีดังนี้
- หลีกเลี่ยงใช้ในสตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร
- ผู้ที่ติดสุรา หรือผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง
- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ
- ผู้ที่มีอาการผิดปกติทางจิต
ต้นกระท่อม กระแสมาแรงในหมู่เกษตรกร
สำหรับแนวโน้มของพืชกระท่อมหลังปลดล็อคบัญชียาเสพติดนั้น ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รายงานว่าความสำเร็จในภาพรวมของพืชกระท่อมในระยะแรกนั้นยังมีรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป ถึงแม้ผู้ประกอบการรายใหญ่จะเข้ามามีบทบาทในวงการพืชกระท่อมบ้างแล้ว แต่เรายังไม่เห็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมมากนัก ซึ่งยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างตลาดเพื่อรองรับผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อม แต่สำหรับสินค้าและผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารหรือเครื่องดื่มจากกระท่อม จะโตขึ้นคิดเป็นเฉลี่ย 1-3% ส่วนในตลาดต่างประเทศนั้น สินค้าประเภทยาลดปวด เครื่องสำอาง และเครื่องดื่มชูกำลังจะโตขึ้นถึง 3-6% ในช่วงปี 2564-2568
เราจะเห็นได้ว่าพืชกระท่อมเป็นพืชที่มอบประโยชน์และคุณค่าทางสมุนไพรมากมาย แต่การใช้อย่างไม่ถูกต้องก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ แต่ด้วยคุณประโยชน์มากมาย ทำให้ทางภาครัฐได้ถอดพืชนี้ออกจากบัญชียาเสพติด อีกทั้งยังสนับสนุนให้ประชาชนและเกษตรกรหันมาปลูกเพื่อสร้างรายได้เชิงเศรษฐกิจกันมากขึ้น ทั้งนี้ ทิศทางตลาดของต้นกระท่อมจะเป็นไปในทิศทางไหน เราคงต้องติดตามกันต่อไป
แหล่งที่มา
อนาคต กระท่อม, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ปลดล็อค“กระท่อม”แล้ววันนี้ ปชช.ปลูกได้เสรี, กรุงเทพธุรกิจ