มะพลับ หนึ่งในไม้มงคลของคนไทย ซึ่งจัดเป็นไม้ต้นขนาดกลาง เป็นพันธุ์ไม้ป่าดงดิบที่พบขึ้นในป่าที่ลุ่มต่ำบริเวณแนวกันชนระหว่างป่าบกและป่าชายเลน บริเวณชายคลอง ชายป่าพรุ ป่าดิบใกล้แหล่งน้ำ ป่าละเมาะริมทะเล และตามเรือกสวนทั่วไป ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 2-30 เมตร (อีกข้อมูลระบุว่าประมาณ 50-400 เมตร) โดยมีถิ่นกำเนิดในป่าดงดิบของประเทศไทย อินเดีย และในชวาเกาะเซลีเบส ซึ่งในประเทศไทยพบได้ทางภาคใต้ ส่วนในต่างประเทศนั้นพบได้ที่มาเลเซีย ลักษณะของใบเป็นใบเดี่ยว อยู่ในวงศ์เดียวกับต้นตะโก ดอกของมะพลับมีขนาดเล็ก ส่วนผลนั้นจะมีลักษณะค่อนข้างกลม เมื่อสุกแล้วสามารถนำมารับประทานได้ซึ่งมีรสชาติอร่อย ต้นมะพลับนอกจากจะเป็นไม้มงคลแล้วยังเป็นพืชที่มีคุณค่าทางด้านสมุนไพร
สูงมากอีกด้วย
มะพลับ ภาษาอังกฤษ : Bo tree, Sacred fig tree, Pipal tree, Peepul tree
มะพลับ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Diospyros malabarica (Desr.) Kostel. var. siamensis (Hochr.) Phengklai
วงศ์ : Ebenaceae
ชื่อเรียกอื่น ๆ : ตะโกสวน, พลับ, มะพลับใหญ่ ฯลฯ
ความเชื่อเกี่ยวกับต้นมะพลับ
คนไทยมีความเชื่อว่ามะพลับเป็นหนึ่งในไม้มงคล ซึ่งตามโบราณนั้นเชื่อว่าถ้าหากปลูกต้นมะพลับไว้ในบริเวณบ้านจะทำให้ผู้อยู่อาศัยร่ำรวยยิ่งขึ้น และมะพลับยังเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดอ่างทอง นอกจากนี้ต้นมะพลับยังให้ร่มเงาที่ดีอีกด้วย ดังนั้นคนไทยจึงนิยมปลูกต้นมะพลับไว้ประดับบ้านเพื่อเป็นร่มเงา
ควรปลูกบริเวณใดของบ้าน
มะพลับถูกกำหนดให้ปลูกไว้ทางทิศใต้ (ทักษิณ) ในบางตำรากล่าวว่ามะพลับเป็นไม้ที่ควรปลูกไว้ทางทิศใต้ แต่ยังหาหลักฐานยืนยันที่แน่ชัดไม่ได้ คาดว่าคงเป็นเพราะมะพลับเป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืน ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี จึงเชื่อว่าหากนำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้านจะทำให้มีความอดทนต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนดังต้นมะพลับ
ลักษณะของต้นมะพลับ
ลำต้น
มะพลับเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นเปลาลง มีความสูงประมาณ 8-15 เมตร มีลักษณะเป็นทรงพุ่มกลมทึบ เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทาปนดำ หรือบางทีแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตามยาว ส่วนเนื้อไม้นั้นเป็นสีขาว
ใบ
ใบเดี่ยวออกเรียงสลับ โดยมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปหอกกลับ ปลายใบแหลมทู่ โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีความกว้างประมาณ 2.5-8 เซนติเมตร เนื้อใบหนา หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบแต่มีสีอ่อนกว่า หรือมีขนประปรายบ้างตามบริเวณเส้นกลางใบด้านล่าง มีเส้นใบประมาณ 6-12 คู่ โดยแต่ละเส้นมีลักษณะคดงอไปมา พอมองเห็นได้ทั้งสองด้าน ก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และมีขนประปราย
ดอก
ดอกมะพลับเป็นแบบแยกเพศและอยู่กันคนละต้น โดยมะพลับจะออกดอกเป็นช่อที่บริเวณซอกใบ ดอกเพศผู้จะออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ก้านดอกยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร และมีขนอยู่หนาแน่น โดยมีกลีบดอก 4-5 กลีบ ยาวประมาณ 7-15 มิลลิเมตร ดอกมีขนาดเล็กสีขาวนวล มีลักษณะคล้ายกับรูปคนโทคว่ำ มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ส่วนดอกเพศเมียจะออกดอกเดี่ยวมีสีเหลือง ก้านดอกยาวประมาณ 5-10 มิลลิเมตร และมีขนคลุมแน่นที่โคนเชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกเป็นแฉกแบบตื้น ๆ ซึ่งจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
ผล
ผลของมะพลับเป็นรูปทรงกลม บริเวณโคนและปลายผลบุ๋ม โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.50 เซนติเมตร ตรงขั้วผลมีกลีบเลี้ยงและขนสีน้ำตาลแผ่กว้างแนบกับส่วนล่างของผล ขอบกลีบเป็นคลื่น ๆ กลีบไม่พับกลับ เมื่อผลสุกจะมีสีส้มเหลือง โดยผลสุกและผลแก่นั้นจะค่อนข้างนุ่ม ผิวมีเกล็ดสีน้ำตาลแดงคลุม ซึ่งเกล็ดเหล่านี้จะหลุดได้ง่าย
เมล็ด
ภายในผลมะพลับจะมีเมล็ด 8 เมล็ด เป็นสีน้ำตาลดำทรงรีแป้น ซึ่งมีความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม
สายพันธุ์อื่น ๆ
มะพลับเจ้าคุณ (Diospyros winitii)
อยู่ในวงศ์ Ebenaceae สกุลเดียวกับมะพลับ โดยเป็นไม้ชั้นกลาง สูงได้ 10-15 เมตร มะพลับเจ้าคุณถือเป็นพืชถิ่นเดียวและมีสถานะเป็นพืชที่หายาก ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2465 โดยหมอคาร์ ชาวไอริช ที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ในส่วนของชื่อสปีชีส์นั้นได้ตั้งตามชื่อของพระยาวินิจวนันดร มะพลับเจ้าคุณเป็นไม้พุ่มที่มีทรงสวยงาม กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น เนื้อไม้มีสีดำเหมือนกับไม้สกุลมะพลับทั่ว ๆ ไป ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ มีลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปขอบขนาน โดยมีความยาว 5-15 เซนติเมตร แผ่นใบด้านล่างมีขนหนาแน่น ก้านใบยาว 0.3-1 เซนติเมตร ในส่วนของดอกนั้นเป็นแบบแยกเพศ ต่างต้น กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีจำนวนอย่างละ 4 กลีบ ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อกระจุกสั้น ๆ ตามซอกใบ ก้านดอกยาว 0.1-0.3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมีลักษณะเป็นรูประฆัง มีความยาว 0.3-0.4 เซนติเมตร กลีบแยกถึงโคน ซึ่งมีขนทั้ง 2 ด้าน กลีบดอกเป็นรูปคนโท มีความยาว 0.4-0.6 เซนติเมตร กลีบแยกประมาณ 1/3 มีขน มีเกสรเพศผู้ 14-18 อัน ก้านเกสรมีขนคล้ายไหม อับเรณูเกลี้ยง ส่วนดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว ๆ เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.5 เซนติเมตร มะพลับเจ้าคุณจะขึ้นตามป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูง 200-1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ผลแก่ในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม
มะพลับทอง (Diospyros transitoria Bakh.)
มะพลับทองหรือสาวดำ เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์มะเกลือ (Ebenaceae) สกุล Diospyros มะพลับทองเป็นไม้ป่าขนาดใหญ่ สูงได้ 25-30 เมตร ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่นั้น ๆ โดยพบในป่าเขาหินปูนและที่แห้งแล้งกันดาร ซึ่งไม้ป่าพวกนี้จะโตช้ามาก ถือเป็นคุณสมบัติสำคัญของไม้คุณภาพสูง เนื้อไม้แข็งมีสีดำ คุณภาพดี ลายสวย ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ มีลักษณะเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ฐานใบมน ปลายใบแหลม เนื้อใบหนา เกลี้ยง ดอกแยกเพศ มักออกเดี่ยวหรือเป็นช่อสั้น ๆ ตามกิ่งและตามง่ามใบ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอาจอยู่ต้นเดียวกันหรืออยู่ต่างต้นกันก็ได้ ดอกเป็นหลอดยาวโคนกลีบเชื่อมติดกัน ปลายแยกจากกัน กลีบรองดอกมี 4-5 กลีบ โดยกลีบดอกนั้นมีจำนวนเท่ากับกลีบรองดอก ขอบกลีบเรียงเกยซ้อนกันคล้ายกังหันลม ดอกเพศผู้มีลักษณะเป็นช่อ ซึ่งเป็นหลอดยาวกว่าเพศเมีย มีความกว้างประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-2.0 เซนติเมตร เกสรเพศผู้มี 6 อันขึ้นไป ส่วนดอกเพศเมียมีความกว้าง 1.0 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.0-1.5 เซนติเมตร รังไข่จะอยู่เหนือโคนกลีบรองดอก ซึ่งมี 2-12 ช่อง โดยแต่ละช่องนั้นจะมีไข่อ่อน 1-2 หน่วย ก้านชูเกสรเพศเมีย 1-6 อัน ผลของมะพลับทองเป็นชนิดสดและอุ้มน้ำ เกลี้ยง เป็นทรงกลมแบน ขั้วผลมีฝาหรือกลีบเลี้ยงคล้ายหมวก ซึ่งพัฒนามาจากกลีบรองดอก โดยมีขนาดผลประมาณ 3.0-4.0 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน ผลสุกแก่ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน
มะพลับพรุ (Diospyros siamang)
เป็นพืชในวงศ์มะพลับ (Ebenaceae) ซึ่งกระจายพันธุ์ทางใต้ของคาบสมุทรมลายู เกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว โดยเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูง 30-40 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทรงสูงแตกกิ่งชั้นเดียว โคนต้นมีพูพอนสูงถึง 1 เมตร ใบหนาเป็นรูปรีถึงรูปไข่ มีความกว้าง 4-9 เซนติเมตร และมีความยาว 8-20 เซนติเมตร ผิวใบเกลี้ยง ปลายใบมนถึงเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบถึงมนกลม ดอกเพศผู้มีสีเขียวอ่อนถึงเหลืองนวล เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร เกิดบนช่อสั้น ๆ ตามซอกใบ เกสรเพศผู้มี 12-15 อัน ส่วนดอกเพศเมียจะเกิดบนช่อสั้น ๆ ตามปลายกิ่ง ผลเป็นรูปไข่ปลายตัด มีความกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 3.5 เซนติเมตร มีขนคลุมหนาแน่น ซึ่งมี 8 เมล็ด
วิธีการปลูก
- สามารถปลูกด้วยการเพาะเมล็ดหรือปลูกด้วยต้นกล้า หากปลูกด้วยเมล็ดให้นำผลมะพลับมาแกะเอาเมล็ดที่อยู่ด้านใน จากนั้นนำเมล็ดที่ได้ไปตากแดดจนแห้ง
- นำเมล็ดที่ตากแดดจนแห้งแล้วมาเพาะปลูกในดิน
- ขุดหลุมประมาณ 1 เมตร กว้าง 1 เมตร แยกดินชั้นล่างและบนออกเป็น 2 ส่วน ตากแดดประมาณ 5-7 วัน
- รองก้นหลุมด้วยฟางข้าวหรือหญ้าแห้ง หรือหากมีปุ๋ยใบไม้ก็จะดี นำดินปลูกที่มีส่วนผสมของดินปุ๋ยคอกใส่ก้นหลุมระดับ 15 เซนติเมตร จากนั้นทำการเพาะปลูกด้วยเมล็ดหรือต้นกล้าที่เตรียมไว้
- เติมดินปลูกที่เป็นส่วนผสมของดินปลูกปุ๋ยคอก ประเภทมูลวัวกับดินก้นหลุมที่ขุดขึ้นมา เพื่อให้รากได้คุ้นเคยกับสภาพดินในพื้นที่
- ปิดทับด้านบนด้วยดินชั้นบนของหลุมปลูกผสมกับดินปลูกปุ๋ยคอก จากนั้นคลุมทับด้วยฟางข้าวหรือเศษหญ้าแห้งเพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้นบริเวณโคนต้น
- รดน้ำให้ชุ่มเช้าเย็น หลังจากปลูกเสร็จแล้วให้หมั่นดูแลและสังเกตการเจริญเติบโต
วิธีการดูแล
แสง มะพลับชอบแสงแดดจัดแบบครึ่งวันถึงตลอดวัน ดังนั้นหากจะปลูกต้นมะพลับก็ควรคำนึงถึงพื้นที่ที่จะปลูกด้วย ควรปลูกไว้ในพื้นที่ที่แสงแดดสามารถส่องถึง เพราะต้นมะพลับชอบแสงแดดและสามารถทนต่อความแห้งแล้งได้ดี
น้ำ หมั่นรดน้ำเช้าเย็น และควรรดน้ำให้ต้นมะพลับในระดับปานกลาง ไม่ควรรดน้ำน้อยหรือมากเกินไป
ดิน มะพลับเป็นไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยหรือดินเหนียวที่ชุ่มชื้น มีน้ำและความชื้นปานกลาง ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี ดังนั้นควรใช้ดินชนิดนี้ในการปลูก และถ้าจะให้ดีก็ควรนำต้นดาวเรืองและต้นกะเพรามาปลูกบริเวณโคนต้น ซึ่งจะช่วยไล่แมลงศัตรูพืชบางชนิดที่ชอบกินใบมะพลับได้
ปุ๋ย สำหรับปุ๋ยที่เหมาะในการปลูกควรจะเป็นปุ๋ยจำพวกใบไม้ พวกฟางข้าวหรือเศษหญ้าแห้ง หรือปุ๋ยคอก ซึ่งปุ๋ยพวกนี้จะช่วยให้ต้นมะพลับเจริญเติบโตได้ดี ควรนำปุ๋ยใบไม้มาคลุมทับเพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้นบริเวณโคนต้น
ประโยชน์และสรรพคุณอื่น ๆ
ประโยชน์
- เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องมือทางการเกษตร เครื่องกลึง และใช้ในงานแกะสลักได้
- เปลือกต้นให้น้ำฝาดใช้สำหรับฟอกหนัง
- ยางของลูกมะพลับให้สีน้ำตาล ซึ่งสามารถนำมาละลายน้ำใช้ย้อมผ้า แห และอวน เพื่อให้ทนทานเช่นเดียวกับตะโก แต่ยางของลูกมะพลับนั้นจะใช้ได้ดีกว่าค่อนข้างมาก เนื่องจากไม่ทำให้เส้นด้านแข็งกรอบเหมือนผลตะโก จึงทำให้ยางของมะพลับมีราคาดีกว่าตะโกมาก ด้วยเหตุนี้จึงมีพ่อค้าหัวใสนำยางของลูกตะโกมาปลอมขายเป็นยางมะพลับ จึงเกิดคำพังเพยที่ว่า “ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก”
- สามารถปลูกต้นมะพลับได้ตามริมน้ำ ซึ่งจะให้ร่มเงาได้ดี เนื่องจากเป็นไม้ไม่ผลัดใบ
- คนไทยเชื่อว่าต้นมะพลับเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้าหากปลูกไว้ในบริเวณบ้านจะทำให้ร่ำรวยยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้ปลูกไว้ทางทิศใต้
- ผลของมะพลับแก่สามารถนำมารับประทานได้ ซึ่งมีรสชาติอร่อย
สรรพคุณ
- ตามตำรายาไทยกล่าวว่าเปลือกต้นและเนื้อไม้ของมะพลับมีรสฝาด ซึ่งมีสรรพคุณบำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร ลดไข้ แก้บิด แก้ท้องร่วง ขับผายลม แก้กามตายด้าน บำรุงความกำหนัด เป็นยาสมานแผลและห้ามเลือด ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าการใช้เป็นยาแก้บิดและแก้ท้องร่วงนั้นให้ใช้เปลือกและผลอ่อนนำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนการใช้เป็นยาห้ามเลือดนั้นให้ใช้ผลดิบ และใช้เปลือกและผลอ่อนนำมาต้มเอาน้ำใช้ในการชะล้างบริเวณบาดแผล และสมานแผล
- เปลือกและผลอ่อนสามารถใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย
- เปลือกและผลแก่มีรสฝาดหวาน สามารถใช้เป็นยารักษาแผลในปาก แก้คออักเสบ ด้วยการใช้เปลือกและผลแก่นำมาต้มเป็นยาอม กลั้วคอ
ราคาต่อต้นโดยประมาณ
โดยทั่วไปแล้วกล้ามะพลับที่มีความสูงราว 30-50 เซนติเมตร จะมีราคาต้นละ 50 บาท ส่วนต้นมะพลับที่มีความสูงประมาณ 100 เซนติเมตรขึ้นไป จะมีราคา 500 บาทขึ้นไป และต้นมะพลับที่มีความสูง 4-5 เมตร จะขายในราคาประมาณ 10,000 บาท