มะเกลือ ภาษาอังกฤษ Ebony tree
มะเกลือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros mollis Griff.
ด้วยธรรมชาติของต้นมะเกลือที่เติบโตได้ช้า บวกกับความต้องการแก่นไม้ที่มีปริมาณค่อนข้างสูง เลยทำให้มะเกลือกลายเป็นไม้หายากพอสมควรในปัจจุบัน ประเภทที่จะพบได้ทั่วไปตามธรรมชาตินั้นแทบไม่มีแล้ว แม้แต่ท้องไร่ท้องนาที่เคยมีต้นไม้ชนิดนี้เติบโตอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ก็ตามที ต้นมะเกลือจึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคนมีพื้นที่เพียงพอกับการเพาะปลูก เพราะนอกจากจะได้พันธุ์ไม้ที่ใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วนของลำต้นแล้ว แก่นมะเกลือก็ยังมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นตามอายุของมันอีกด้วย
ความเชื่อเกี่ยวกับต้นมะเกลือ
ต้นมะเกลือเป็นไม้มงคลที่ไม่ได้ให้คุณในรูปแบบของการเพาะปลูก แต่มีความเชื่อเกี่ยวกับการนำแก่นไม้ไปใช้งาน ด้วยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์กับเนื้อไม้สีดำ จึงนิยมนำไปเป็นส่วนประกอบของอาวุธในสมัยโบราณ เช่น ด้ามปืน ด้ามขวาน เป็นต้น ตลอดจนเครื่องใช้ในการเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และเครื่องรางของขลังก็ใช้แก่นมะเกลือเช่นเดียวกัน เชื่อกันว่ายิ่งต้นมะเกลือมีอายุมากจนแก่นกลายเป็นสีดำสนิท ก็ยิ่งให้คุณในด้านการเสริมพลังอำนาจให้กับสิ่งของเหล่านั้นมากขึ้น ทั้งยังช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าใกล้เจ้าของได้ด้วย
ตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การปลูกภายในบริเวณบ้าน
เนื่องจากต้นมะเกลือเป็นไม้ใหญ่ที่เติบโตได้ช้า จึงมีการนำต้นกล้าขนาดเล็กมาเพาะลงกระถางเป็นไม้ประดับอยู่บ้าง เมื่อโตเกินกว่าจะอยู่ในกระถางได้ถึงย้ายลงดินต่อไป หากต้องการปลูกไว้ในบริเวณบ้านก็ต้องแน่ใจว่ามีพื้นที่มากเพียงพอ ตำแหน่งที่ปลูกควรอยู่ห่างจากสิ่งปลูกสร้างทุกชนิดอย่างน้อย 3 เมตร และถ้าสามารถจัดให้อยู่ทางด้านหลังของตัวบ้านได้ก็จะตรงตามหลักฮวงจุ้ยที่ดีมากกว่า
ลักษณะของต้นมะเกลือ
- ลักษณะของลำต้น ต้นมะเกลือเป็นไม้ยืนต้นสูงใหญ่ เมื่อโตเต็มที่แล้วจะสูงได้มากกว่า 10 เมตร ลำต้นตั้งตรงและมีทรงพุ่มหนา กิ่งก้านไม่แผ่ออกด้านข้างมากนัก เปลือกไม้เป็นสีน้ำตาลอ่อนผสมเทา มีร่องตามแนวยาวของลำต้น ยิ่งอายุมากก็ยิ่งมีพูพอนบริเวณโคนต้นชัดเจน
- ใบมะเกลือ ผิวสัมผัสใบเรียบเกลี้ยง มีรูปทรงเป็นวงรีที่ค่อนข้างเรียวยาว ปลายใบแหลม เนื้อใบหนาสีเขียวสด ส่วนใบอ่อนจะมีขนสีเงินปกคลุมและมีรูปร่างกลมมากกว่า
- ดอกมะเกลือ เป็นดอกช่อแบบแยกเพศต่างต้นกัน ดอกเพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่า แต่ลักษณะดอกโดยรวมเหมือนกันทั้งหมด กลีบดอกเป็นสีโทนเหลืองอ่อนจำนวน 4 กลีบ ฐานดอกเป็นทรงถ้วยที่ไม่ลึกมากนัก
- ผล ผลเป็นทรงกลมที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ผิวนอกเรียบเกลี้ยงมีสีเขียวสด เมื่อแก่จึงกลายเป็นสีเหลืองและสีดำตามลำดับ
สายพันธุ์ยอดนิยม
การแบ่งสายพันธุ์ของต้นมะเกลือจะอ้างอิงจากพื้นที่เพาะปลูกเป็นหลัก เช่น มะเกลือศรีลังกาที่ขึ้นอยู่ในอินเดียและศรีลังกา มะเกลือสุลาเวสีที่ขึ้นอยู่ในอินโดนีเซีย เป็นต้น มะเกลือแต่ละสายพันธุ์จะมีลักษณะและการใช้ประโยชน์คล้ายคลึงกันหมด ต่างกันเพียงเล็กน้อยแค่ส่วนลวดลายเนื้อไม้และขนาดของผล ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากสภาพแวดล้อมและปริมาณแร่ธาตุในแหล่งเพาะปลูกนั่นเอง
วิธีการปลูกต้นมะเกลือให้เจริญงอกงาม
เริ่มจากคัดเมล็ดที่สมบูรณ์มาทำให้เกิดรอยแผลที่ปลายเมล็ด แล้วนำไปเพาะลงในถุงเพาะชำตามปกติ ประมาณ 2 สัปดาห์จะเริ่มเห็นต้นกล้างอกขึ้นมา ให้หมั่นรดน้ำพรวนดินจนกว่าจะครบกำหนด 6 เดือนจึงย้ายไปลงดินในตำแหน่งที่ต้องการได้ แต่ก่อนย้ายกล้า 1 เดือนควรลดปริมาณน้ำลงเพื่อฝึกให้ต้นมะเกลือคุ้นชินกับสภาพแวดล้อมได้ง่ายขึ้น จากนั้นขุดหลุมให้ห่างกันด้านละ 3 เมตรเป็นอย่างต่ำ นำต้นกล้าลงปลูกพร้อมใส่ปุ๋ยที่โคนต้นเล็กน้อย รดน้ำจนดินชุ่มพร้อมกำจัดวัชพืชเป็นประจำทุกวันในช่วงแรก
วิธีการดูแลรักษา
- แสง ต้องการแสงแดดปานกลาง จะปลูกในตำแหน่งที่ได้รับแดดครึ่งวันหรือเต็มวันก็ได้
- น้ำ ระยะต้นกล้าควรรดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง หลังจากนั้นให้ลดปริมาณลงจนกระทั่งเหลือ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์
- ดิน เติบโตได้ดีในดินทุกประเภท
- ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยบำรุงดินปีละ 1-2 ครั้งตามความเหมาะสม
คุณประโยชน์ที่ได้จากต้นมะเกลือ
- ลำต้น ใช้เป็นส่วนผสมตัวยาแก้กระษัย แก้ซางตานขโมย และช่วยขับพยาธิได้ เปลือกนอกใช้สำหรับขับเสมหะ ขับพิษในเบื้องต้น และช่วยให้เจริญอาหาร
- ผล ผลสดจะมีคุณสมบัติในการขับพยาธิบางชนิด และใช้เพื่อแก้โรคซางตานขโมย ส่วนผลสดที่แก่จัดแล้วจะนิยมนำไปทำสีย้อมผ้ามากกว่า
- ใบ ใช้ใบสดบดละเอียดแล้วคั้นกับน้ำผสมเหล้า ช่วยลดอาการตกเลือดหลังคลอดได้ดี
- ราก ช่วยบรรเทาอาการริดสีดวงทวาร ลดอาการหน้ามืด แก้คลื่นไส้อาเจียน และขับพยาธิได้
“ถ่ายพยาธิ” คุณสมบัติเด่นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์
ในบรรดาพืชสมุนไพรพื้นบ้านที่มีคุณสมบัติถ่ายพยาธิได้ ผลมะเกลือนั้นเป็นตัวเลือกที่ให้ผลลัพธ์น่าพึงพอใจทีเดียว แต่ปัจจุบันได้มีการให้คำแนะนำผ่านงานวิจัยแล้วว่า ไม่ให้ใช้ผลมะเกลือสดในการถ่ายพยาธิอีกต่อไป เนื่องจากผลมะเกลือมีสารในกลุ่มแนฟทาลีนตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นพิษต่อระบบประสาทตาโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ผลมะเกลือแบบผิดวิธีหรือใช้เกินขนาดล้วนเป็นอันตรายทั้งสิ้น และยังรุนแรงถึงขั้นที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นแบบถาวรในระยะเวลาอันสั้นอีกด้วย