ต้นไม้ฟอกอากาศ

ต้นไม้ฟอกอากาศ ปลูกง่าย สารพัดประโยชน์กำจัดได้ทั้งฝุ่นและมลพิษ

Facebook

เชื่อว่าหลายคนคงจะคุ้นชินกันดีกับปัญหามลพิษทางอากาศหรือที่รู้จักกันในชื่อฝุ่น PM2.5 ซึ่งปัจจุบันมันได้เพิ่มสูงเกินกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในหลายพื้นที่ ทำให้กรุงเทพและปริมณฑลรวมถึงในจังหวัดอื่น ๆ ที่มีพื้นที่แออัด มีการจราจรที่ค่อนข้างหนาแน่น ต้องต่อสู้กับปัญหาฝุ่นเหล่านี้จนบางทีอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกเหนือไปจากการรณรงค์ให้โรงงานต่าง ๆ ลดการเผาไหม้วัสดุต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและลดการใช้รถสัญจรที่ก่อให้เกิดมลพิษควันดำแล้ว ปราการด่านสุดท้ายที่เราจะสามารถทำได้คือสร้างสภาพแวดล้อมภายในบ้านของเราให้ปลอดจากฝุ่นหรือมลภาวะที่เป็นพิษ

ต้นไม้ฟอกอากาศ

เราจะเห็นว่าปัจจุบันเริ่มมีผู้คนมากมายหันมาปลูกต้นไม้เพื่อฟอกอากาศให้กับบ้านหรือที่พักของเรา เพราะต้นไม้เหล่านี้จะทำหน้าที่ในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือมลพิษต่าง ๆ เปลี่ยนมาเป็นออกซิเจนที่เป็นแหล่งอากาศบริสุทธิ์ให้เราได้หายใจกันสะดวกขึ้น โดยเราสามารถปลูกเป็นไม้ประดับในห้องหรือปลูกไว้รอบ ๆ บ้านเพื่อดักจับฝุ่นได้ ดังนั้น ถ้าใครเริ่มสนใจอยากหันมาปลูกต้นไม้ฟอกอากาศแต่ยังไม่รู้จะเริ่มปลูกต้นอะไรดี Kaset today วันนี้จะมาแบ่งปันสาระประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องต้นไม้ฟอกอากาศ พร้อมทั้งแนะนำพันธุ์ไม้ที่สามารถปลูกไว้ฟอกอากาศได้ รับรองว่าปลูกง่ายและทำให้ห้องเรามีชีวิตชีวาขึ้นมาแน่นอน เดี๋ยวเรามาดูกันว่ามีเนื้อหาอะไรที่น่าสนใจมาฝากกันบ้าง

ต้นไม้ฟอกอากาศ คืออะไร?

ต้นไม้ฟอกอากาศ คือ ต้นไม้ที่ช่วยในการดักจับฝุ่น สารพิษหรือมลพิษทางอากาศต่าง ๆ แล้วแลกเปลี่ยนออกมาเป็นอากาศบริสุทธิ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ มีทั้งไม้ดอกและไม้ประดับ สามารถปลูกได้ทั้งภายในอาคาร บ้านเรือนและบริเวณภายนอกตามพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรร จากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่ส่งเสียต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันจึงทำให้ต้นไม้ฟอกอากาศกลายเป็นต้นไม้ที่คนนิยมนำมาปลูกมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกไว้ในอาคาร ห้องนอน ตึกสำนักงาน เช่น ต้นลิ้นมังกร จั๋ง ยางอินเดีย เฟิร์นบอสตัน และเฟิร์นดาบออสเตรเลีย เป็นต้น

ต้นไม้ฟอกอากาศ

ต้นไม้ฟอกอากาศได้อย่างไร

1. ต้นไม้จะดูดซับกลิ่น มลพิษและฝุ่นละอองผ่านทางใบและเปลือกหรือลำต้น ซึ่งต้นไม้ทุกชนิดจะมีคุณสมบัติในการดักจับฝุ่นอยู่แล้ว

2. มลพิษหรืออากาศที่ปนเปื้อน เมื่อไหลผ่านเรือนยอดของต้นไม้แล้วจะสามารถลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้ 10-50% อีกทั้งยังช่วยทำให้อุณหภูมิในอากาศลดลงอีกด้วย

3. ฝุ่น PM2.5 จะเกาะแน่นกับผิวของใบไม้ที่เยื่อบุผิวนอก ที่มีสารคล้ายขี้ผึ้งห่อหุ้มอยู่และมีเส้นขนที่ปกคลุมปกคลุมผิวใบ ที่ทำให้ดักจับฝุ่นหรือสิงแปลกปลอมต่าง ๆ ไว้ก่อนเมื่อชะล้างฝุ่นลงสู่พื้นดิน

4. ฝุ่นสามารถเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อของพืชได้ทางช่องเปิดของปากใบและช่องอากาศตามกิ่งและลำต้น ที่จะเป็นดักจับฝุ่นและสารพิษไม่ให้กระจายไปมาก

5. การสังเคราะห์แสงของพืชจะช่วยดูดฝุ่น PM2.5 และก๊าซพิษต่าง ๆ แล้วเปลี่ยนเป็นก๊าซออกซิเจนและไอน้ำออกมา จึงทำให้อากาศดีขึ้น

ประโยชน์ของการปลูกต้นไม้ที่ฟอกอากาศได้

1. ช่วยดักฝุ่น ลดมลพิษทางอากาศได้เป็นอย่างดี จึงเป็นตัวช่วยที่ทำให้อากาศสะอาดมากขึ้นและผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้แถมยังช่วยประหยัดจากการซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ช่วยกรองอากาศที่อาจส่งผลเสียทางอ้อมได้

2. ช่วยลดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากต้นไม้ฟอกอากาศมีส่วนช่วยในการดักจับฝุ่น และมลพิษต่าง ๆ ทำให้อากาศที่เราสูดดมมีความสะอาดมากขึ้นและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้

3. ช่วยให้ผ่อนคลาย ลดความเสี่ยงของอาการซึมเศร้าและสมองเสื่อมอีกด้วย นอกจากจะมีส่วนช่วยในเรื่องของสุขภาพแล้ว ยังช่วยให้เราได้มีจดจ่อ มีสมาธิกับสิ่งที่ทำมากขึ้นและช่วยให้ควบคุมอารมณ์ได้อีกทางหนึ่ง

4. เป็นงานอดิเรกที่สนุก และช่วยทำให้เกิดกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เพราะการปลูกต้นไม้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยให้คนในครอบครัวได้มีส่วนร่วมพูดคุย และเชื่อมสัมพันธ์กันมากขึ้น

แนะนำต้น 18 ไม้ฟอกอากาศที่ไม่ควรพลาด

เดหลี

1. เดหลี (Spathiphyllum)

ลักษณะลำต้นมีใบเลี้ยงเดี่ยว ปลายใบแหลม สีเขียวเข้มเป็นมัน และมีจานดอกสีขาวคล้ายกาบหรือจานรูปหัวใจมีกลิ่นหอมบริเวณช่อดอก ซึ่งนิยมปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงามและมีกลิ่นหอม นอกจากนี้ยังเป็นต้นไม้ที่สามารถดูดสารพิษจำพวกแอลกฮอล์ อาซีโตน ไตรคลอไรเอทีรีน เบนซีนและฟอร์มาดีไฮด์ได้ในปริมาณอีกด้วย

ต้นจั๋ง

2. ต้นจั๋ง (lady palm หรือ Bamboo palm)

มีลักษณะเป็นไม้พุ่มสูงประมาณ 10-15 ฟุต คล้ายกับกอไผ่ ลำต้นแข็งเหนียว มีใบย่อยประมาณ 8-10 ใบ สีเขียวเป็นมันแผ่ออกเป็นครึ่งวงกลม ก้านใบเรียบมัน และปลายใบทู่ นอกจากนี้ยังเป็นต้นไม้ที่มีความทนทานสามารถปลูกได้ทั้งภายในและภายนอกอาหารมีส่วนช่วยในเรื่องดูดไอระเหยของสารเคมีชนิดต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

เขียวหมื่นปี

3. เขียวหมื่นปี (Aglaonema)

เขียวหมื่นปีหรืออีกชื่อที่คุ้นหูกันดีคือต้นแก้วกาญจนามีลำต้นที่ตั้งตรง ข้อถี่ แตกใบอ่อนตรงส่วนยอด ก้านใบยาวกลม ส่วนที่เป็นกาบคล้ายใบพายและมีลายสีเทาเงิน หรือบางชนิดมีลายสีแดงและจุดขาวตลอดทั้งใบ สามารถปลูกในอาคารที่แสงไม่จัดมาก อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในต้นไม้ที่ช่วยลดและดูดสารพิษในอากาศได้ดี

พลูด่าง

4. พลูด่าง (Devil’s ivy)

เป็นไม้เลื้อยที่มีลักษณะลำต้นกลม มีใบกลมคล้ายรูปหัวใจ ส่วนปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ สีใบออกสีเขียวอ่อนตลอดทั้งใบหรือบางใบอาจแซมด้วยสีขาว นิยมนำมาเป็นไม้ประดับตกแต่งตามโต๊ะทำงาน ห้องน้ำหรือปลูกไว้ในอาคารต่าง ๆ มีคุณสมบัติในการฟอกมลพิษในอากาศอย่างแอมโมเนีย และลดปริมาณเบนซินและสารละลายไครคลิโรเอทิลีที่มีอยู่ในอากาศ

เศรษฐีเรือนใน

5. เศรษฐีเรือนใน (Spider plant)

มีลักษณะใบเป็นแถบยาวสีเขียว ตรงกลางใบมีสีขาว ดอกสีขาวส่งกลิ่นหอม ส่วนรากจะมีสีขาวอวบน้ำและเหง้าอยู่ในดิน สำหรับคุณสมบัติของต้นไม้ชนิดนี้มีส่วนช่วยลดไซลีน ที่พบได้จากควันจากบุหรี่ ยาสูบ หรืออุสาหกรรมเครื่องหนัง และลดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่พบได้จากการติดเครื่องยนต์ที่ไม่มีอากาศถ่ายเทเช่น การจอดรถแบบติดเครื่องและปิดกระจกทิ้งไว้

เฟิร์นบอสตัน

6. เฟิร์นบอสตัน (Boston fern)

เป็นไม้พุ่มลักษณะใบคล้ายกับรูปหอยเชลล์ มีลำต้นอยู่เหนือดิน สูงประมาณ 0.35 เมตร มีใบประกอบแบขนนก ต้นอ่อนจะมีสีเขียวอ่อนและเมื่อกลายเป็นต้นแก่จะมีสีน้ำตาลเข้ม ขอบใบเป็นเกลียวคลื่น นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยกำจัดมลพิษจากไปเสียของรถยนต์และลดฟอร์มาลดีไฮด์ที่พบตามถุงกระดาษ กระดาษชำระหรือผ้าใยสังเคราะห์

มอนสเตอร่า

 7. มอนสเตอร่า (Monstera)

เป็นตระกูลไม้เลื้อยส่วนใบลักษณะเป็นใบมัน ขนาดใหญ่ และเป็นแฉกฉลุบนพื้นใบ เป็นต้นไม้ที่มีความแข็งแรงทนทานและสามารถปลูกได้นาน จึงกลายเป็นที่นิยมในปัจจุบันเป็นอย่างมาก สำหรับต้นมอนสเตอร่าที่มีลักษณะใบด่างแล้วนั้นราคาในตลาดก็จะยิ่งสูงขึ้นถึงราคาหลักล้านเลยทีเดียว สำหรับการฟอกอากาศของต้นไม้ชนิดนี้มีส่วนช่วยกำจัดสารฟอร์มาลดีไฮด์ ที่เป็นก๊าซไม่มีสีที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ ส่วนใหญ่จะนิยมปลูกไว้ในห้องนอน ห้องนั่งเล่นที่มีความสวยงาม

กวักมรกต

8. กวักมรกต (Zamioculcas zamiifolia)

เป็นไม้อวบน้ำ มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดินส่วนใบประกอบมีลักษณะคล้ายกับขนนก และใบย่อยเป็นรูปไข่ โคนมน ปลายแหลม ขอบใบเรียบ และส่วนดอกออกดอกเป็นช่อคล้ายกับดอกหน้าวัวมีสีเหลืองแกมเขียว อีกทั้งยังเป็นต้นไม้ที่ช่วยลดสารพิษอย่างเบนซีนและไซลีนอีกด้วย

ยางอินเดีย

9. ยางอินเดีย (Rubber plant)

เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นมีความสูงประมาณ 10-20 เมตร ไม่ผลัดใบ ทุกส่วนของลำต้นจะมีน้ำยางสีขาว ส่วนใบจะเรียงสลับเป็นรูปใบไข่ กว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 10-12 เซนติเมตร โคนขอบเรียว ขอบใบเรียบปลายแหลม และเป็นต้นที่มีทั้งดอกและผล คุณสมบัติสำคัญมีส่วนช่วยลดฟอร์มาลดีไฮด์ ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มความชุมชื่นในอากาศ และดูดซับฝุ่นละออง เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นภูมิแพ้ฝุ่นและอากาศที่จะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น

10. ลิ้นมังกร (Snapdragon)

ลิ้นมังกร

เป็นไม้ล้มลุกที่มีความสูงได้ประมาณ 15-80 เซนติเมตรลำต้นตรง ใบเดี่ยวรูปเข็ม ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ส่วนใบด้านบนสีเขียวเข้มขอบเหลือง ท้องใบสีเขียวเข้มขอบเหลือง ใบอ่อนสีเขียวขอบเหลือง ใบแก่สีเขียวเข้มขอบเหลือง และส่วนดอกจะมี 2 แบบได้แก่ ดอกมาตรฐาน และดอกแบบอเซเลีย คุณสมบัติสำคัญของต้นลิ้นมังกรสามรถช่วยลดเบนซีนได้ ถึง 52% ไตรคลอไรเอทิลีน 13% ที่พบมากในพลาสติก เรซิน ไฟเบอร์สังเคราะห์ อุตสาหกรรมฟอกสี กาว ยาสูบ และสีวาดภาพ ลดฟอร์มาลดีไฮด์และสารไซลีน

หมากเหลือง

11. หมากเหลือง (Areca palm)

เป็นต้นปาล์มแตกกอ ที่มีความสูงได้ถึง 8 เมตร ส่วนลำต้นและกาบจะมีคราบไข ใบเป็นรูปขนนกมีสีเหลืองส้มไปจนเขียวและทางใบยาวได้ถึง 2 เมตร เรียงชิดติดกันอย่างสม่ำเสมอ ส่วนปลายใบย่อยโค้งลง ผิวใบเกลี้ยงและมีคราบไขละเอียด สามารถปลูกได้กลางแจ้งหรือที่มีแสงรำไร ส่วนใหญ่จะปลูกบริเวณนอกอาคารเพราะเป็นต้นไม้ที่สูง นอกจากนี้ยังสามารถลดสารเบนซีนและสารฟอร์มาลดีไฮด์ได้อีกด้วย

สาวน้อยประแป้ง

12. สาวน้อยประแป้ง (Dumb cane) 

เป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายกับแก้วกาญจนา ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงเป็นทรงกลมและอวบน้ำ มีสีเขียวสด ส่วนใบเป็นใบเลี้ยงเดี่ยวรูปไข่ แต่ละใบเรียงสลับกันเป็นวงตามความสูงของลำต้น และแผ่นใบจะมีสีเขียว เส้นกลางใบมีสีเขียวอ่อนขนาดใหญ่พร้อมลายประสีขาวกระจายออกจากเส้นกลางใบในแนวเฉียงบริเวณของเส้นใบย่อย และยังเป็นต้นที่มีทั้งผลและดอกที่คล้ายกับดอกหน้าวัว นอกจากนี้ยังเป็นพืชที่ช่วยฟอกอากาศได้หลายชนิด แต่ต้องระวังเป็นอย่างมาก เพราะต้นสาวน้อยประแป้งเป็นพืชมีพิษหากถูกผิวหนังจะเกิดอาการคันระคายเคือง ถ้าหากเผลอกินอาจทำให้เสียชีวิตได้ จึงต้องใส่ถุงมือก่อนสัมผัสทุกครั้ง

พลับพลึงด่าง

13. พลับพลึงด่าง (Poison bulb)

เป็นไม้ล้มลุกมีความสูงประมาณ 90-120 เซนติเมตร ส่วนลำต้นจะอยู่ใต้ดิน ต่อมาส่วนใบจะเป็นใบเดี่ยวสีเขียว ลักษณะแคบ เรียวยาว ขอบใบเป็นคลื่น ปลายใบแหลม และจะดอกเป็นช่อใหญ่ส่งกลิ่นหอม จะนิยมปลูกเป็นไม้ประดับเพราะสามารถขจัดไอระเหยมีพิษในอากาศได้

วาสนาราชินี

14. วาสนาราชินี (Janet Craig)

เป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงได้ประมาณ 4-8 เมตร ลำต้นมีลักษณะกลม ไม่มีกิ่งก้าน ผิวเปลือกลำต้นมีสีน้ำตาล ส่วนใบเรียวยาว ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน มีความยาว 20-40 เซติเมตรและกว้าง 3-6 เซนติเมตร และส่วนดอกจะมีช่อดอกขนาดใหญ่เป็นรูปทรงกลม มีสีขาวหรือเหลืองอ่อนส่งกลิ่นหอมฉุน สามารถดูดสารพิษอย่างฟอร์มาดีไฮด์และไตรคลอโรเอทธีลีน ได้เป็นอย่างดี

เงินไหลมา

15. เงินไหลมา (Syngonium podophyllum)

เป็นไม้เลื้อยที่มีเถายาว ลักษณะลำต้นอวบน้ำ มีสีเขียวอมเทา ส่วนใบเดี่ยวโคนใบเป็นรูปหัวศร ปลายใบเรียวแหลมมีสีเขียวหรืออกด่างขาว ตรงดอกช่อจะคล้ายกับดอกหน้าวัว แต่ต้องระวังเมื่อสัมผัสกับยางของต้นจะทำให้เป็นผื่นคันและห้ามนำมารับประทานอาจทำให้เกิดพิษได้ นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องของการดูดสารพิษในอากาศที่ช่วยให้อากาศดีขึ้นได้

กุหลาบหิน
https://www.cacpot.com

16. กุหลาบหิน (Succulent)

เป็นไม้ประดับที่สามารถปลูกได้ทั้งในและนอกอาคารที่มีแสงแดดส่องถึง ส่วนใหญ่จะนิยมปลูกในกระถางประดับตามที่ต่าง ๆ ในส่วนของลักษณะลำต้นจะเป็นไม้อวบน้ำ พุ่มเตี้ยสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร มีใบเดี่ยวค่อนข้างกลมสีเขียว ปลายมนขอบใบหยัก และมีช่อดอกที่ชูเหนือพุ่มใบ มีดอกย่อยขนาดเล็กออกสีแดงอมส้ม สามารถดูดสารพิษได้เหมือนกับไม้ฟอกอากาศชนิดอื่นแต่อาจจะไม่มากเท่าพืชอื่นก็ตาม

ฟิโลเดนดรอน

17. ฟิโลเดนดรอน (Philodendron)

เป็นไม้เถาเลื้อยที่โดนแสงจัดไม่ได้ มีลักษณะคล้ายกับพลูแฉกและพลูด่าง ส่วนใบจะเป็นใบขนาดใหญ่สีเขียวเป็นมัน เส้นใบและขอบใบจะมีสีขาวครีม ปลายใบแหลมยาวได้ถึง 3 ฟุต เมื่อใบแก่จะเป็นเลื่อมสีน้ำตาลอ่อน สามารถฟอกสารพิษและดักจับฝุ่นในอากาศได้

ว่านงาช้าง

18. ว่านงาช้าง (Sansevieria cylindrica)

เป็นไม้ล้มลุกตระกูลเดียวกับต้นลิ้นมังกร มีถิ่นกำเนิดทางแอฟริกาใต้ เป็นไม้ที่ปลูกง่ายอยู่ได้ทั้งในร่มและกลางแจ้ง มีลำต้นใต้ดิน ไม่มีใบ ลำต้นสีเขียวโผล่ขึ้นจากดินรูปร่างเหมือนงาช้าง เป็นต้นไม้ที่ไม่ต้องการการดูแลมากเติบโตได้ในดินที่ร่วนซุย ใส่ปุ๋ยบ้างบางครั้ง รดน้ำแค่ 1 -2 ครั้งต่อสัปดาห์ อยู่ได้ทั้งในที่ที่แสงแดดส่องถึงหรือในบริเวณที่แสงรำไร ตั้งไวเในที่พัก ที่ทำงานหรือห้องนอนสามารถช่วยฟอกอากาศได้ดีมาก