กาฬพฤกษ์ ภาษาอังกฤษ Horse cassia
กาฬพฤกษ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia grandis L.f.
ถึงต้นกาฬพฤกษ์จะมีข้อจำกัดเรื่องขนาดลำต้นที่ค่อนข้างใหญ่ แต่ด้วยเป็นไม้ดอกที่มีช่อดอกงดงามไม่เหมือนใครจึงทำให้ได้รับความนิยมเสมอมา ก่อนหน้านี้ส่วนมากจะปลูกเป็นไม้ประดับในสถานที่ราชการ สวนสาธารณะ และในโครงการบ้านขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันกาฬพฤกษ์กลับเป็นพันธุ์ไม้ที่เริ่มหายากมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นจุดสนใจตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แทน
ความเชื่อเกี่ยวกับต้นกาฬพฤกษ์
ต้นกาฬพฤกษ์เป็นไม้มงคลประจำจังหวัดบุรีรัมย์ มีความเชื่อว่าเป็นไม้ที่ให้คุณเช่นเดียวกับพืชกลุ่มที่มีชื่อลงท้ายด้วยพฤกษ์ทั้งหมด คือ เมื่อปลูกไว้ในบริเวณบ้านหรือที่ทำงาน จะช่วยเสริมให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่กำลังลงมือทำอยู่ และยังเสริมสิริมงคลให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขแก่พื้นที่นั้นๆ ด้วย
ตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การปลูกภายในบริเวณบ้าน
ถ้าคิดจะปลูกไว้ภายในรั้วบ้าน ก็ต้องแน่ใจก่อนว่ามีพื้นที่ว่างมากเพียงพอ เนื่องจากต้นกาฬพฤกษ์นั้นค่อนข้างสูงใหญ่ ทั้งพุ่มใบและระบบรากก็แผ่ออกด้านข้างเป็นวงกว้าง สุ่มเสี่ยงที่จะทำลายสิ่งปลูกสร้างในบริเวณใกล้เคียงสูงมาก อีกทั้งยังมีฝักขนาดใหญ่ที่ร่วงหล่นได้ทุกเวลา หากปลูกในตำแหน่งที่มีคนเดินผ่านไปมาก็นับว่าอันตราย ควรเลือกตำแหน่งปลูกที่เป็นพื้นที่สวนหรือพื้นที่โล่งบริเวณหลังบ้าน นอกจากต้องมีแดดส่องถึงตลอดวันแล้ว ก็ควรเป็นบริเวณที่ไม่ได้ใช้ทำกิจกรรมอะไรเป็นประจำด้วย
ลักษณะของต้นกาฬพฤกษ์
- ลักษณะของลำต้น กาฬพฤกษ์เป็นไม้ใหญ่พุ่มใบกว้าง เปลือกไม้เป็นสีน้ำตาลเข้ม บางส่วนที่แก่จัดจะมีสีดำผสมอยู่ด้วย มีรอยแตกเป็นร่องลึกตลอดแนวลำต้น กิ่งก้านที่ยังอ่อนจะมีขนสีน้ำตาลปกคลุม มองผิวเผินจะดูคล้ายกับต้นราชพฤกษ์
- ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกที่มีใบย่อยเป็นรูปวงรี โคนใบและปลายใบโค้งมน เนื้อใบบาง สัมผัสเรียบลื่นแต่ไม่เป็นมันเงา ยอดอ่อนจะมีโทนสีน้ำตาลอมแดง
- ดอกกาฬพฤกษ์ ช่อดอกมีขนาดใหญ่และมีความหนาแน่นของดอกย่อยค่อนข้างมาก ดอกย่อยมีกลีบรูปไข่ 5 กลีบ ตอนที่เป็นดอกตูมจนถึงช่วงแรกที่เริ่มบานจะมีสีแดงคล้ำ บานแล้วจึงเปลี่ยนเป็นสีส้มอมชมพูและส่งกลิ่นหอม แต่ละปีจะออกดอกแค่ช่วงเดียวตอนปลายฤดูหนาว
- ผล ผลมีลักษณะเป็นฝักยาวทรงกระบอก เปลือกหนาและแข็ง ด้านนอกเป็นผิวขรุขระสีเกือบดำ เมื่อแก่ ฝักจะแตกออกให้เห็นด้านในสีน้ำตาลอ่อน มีเมล็ดรูปวงรีสีครีมจำนวนมาก
ลักษณะเด่นของสายพันธุ์
กาฬพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ และกัลปพฤกษ์ เป็นพันธุ์ไม้กลุ่มที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ทำให้หลายคนเกิดความสับสนได้ง่าย วิธีการแยกว่าต้นไม้ที่พบเจอนั้นเป็นต้นอะไร จึงต้องพิจารณาจุดเด่นที่เป็นรายละเอียดเล็กๆ ได้แก่ ต้นกาฬพฤกษ์จะมีดอกสีเข้มโทนชมพูอมส้มซึ่งต่างจากต้นชัยพฤกษ์ที่เป็นสีชมพูเพียงอย่างเดียว และต่างจากกัลปพฤกษ์ที่เป็นชมพูผสมขาว ใบกาฬพฤกษ์จะมีขนาดเล็กและมีรูปทรงสมมาตรมากที่สุด ส่วนฝักจะอ้วนใหญ่ ในขณะที่ฝักกัลปพฤกษ์จะมีขนกำมะหยี่และชัยพฤกษ์จะมีผิวฝักแบบเรียบเกลี้ยง
วิธีการปลูกต้นกาฬพฤกษ์ให้เจริญงอกงาม
มองหาฝักแก่ที่ร่วงหล่นจากต้นซึ่งมีสภาพสมบูรณ์ ไม่มีแมลงเจาะหรือมีรอยของโรคพืช นำไปตากแห้งแล้วค่อยแกะเมล็ดด้านในออกมา ตัดปลายด้านแหลมของเมล็ดให้มองเห็นเนื้อในจากนั้นแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน นำขึ้นไปวางบนกระดาษทิชชู่พร้อมพรมน้ำให้ชุ่ม ราวๆ 3-4 วันจะเริ่มงอกต้นอ่อน ก็ให้นำลงเพาะในถุงเพาะชำต่อไป ระหว่างเพาะกล้าให้ตั้งไว้ในจุดที่ได้รับแดดเพียงครึ่งวัน พอต้นยืดสูงกว่า 40 เซนติเมตรจึงจะสามารถย้ายลงดินได้ โดยขุดหลุมกลางแจ้งให้ห่างจากพืชหรือสิ่งปลูกอย่างรอบด้านอย่างน้อย 3-5 เมตร และรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกเล็กน้อยก่อนนำต้นกล้าลงปลูก
วิธีการดูแลรักษา
- แสง ต้องการแสงมาก จึงต้องปลูกในตำแหน่งที่ได้รับแดดจัดตลอดทั้งวัน
- น้ำ ควรรดน้ำเป็นประจำทุกวันในช่วงต้นกล้าและช่วงย้ายที่ปลูกใหม่ จากนั้นค่อยลดปริมาณลงได้ตามความเหมาะสม เพราะเป็นพืชทนแล้งได้ดี
- ดิน เติบโตได้ดีในดินร่วนซุย
- ปุ๋ย ให้ใช้ปุ๋ยบำรุงดินปีละ 3-4 ครั้ง
คุณประโยชน์ที่ได้จากต้นกาฬพฤกษ์
- เมล็ด มีสรรพคุณเป็นยาขับพิษ สามารถทานเพื่อกระตุ้นให้อาเจียนออกมาได้
- เนื้อในฝัก คนโบราณจะใช้ส่วนนี้ผสมกับหมากเคี้ยว มีฤทธิ์เป็นยาลดพิษไข้ได้ดี ช่วยระบายได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พร้อมกับช่วยลดอาการปวดมวนในท้องได้ด้วย
- เนื้อไม้ นำมาใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง
กาฬพฤกษ์ที่ไม่ใช่ต้นไม้แห่งกาลเวลา
เรื่องราวเกี่ยวกับต้นไม้ชนิดนี้ได้สร้างความสับสนให้กับผู้คนอยู่ไม่น้อย หลายคนเข้าใจว่ากาฬพฤกษ์กับกัลปพฤกษ์นั้นเป็นชนิดเดียวกัน ซึ่งได้กล่าวไปแล้วข้างต้นแล้วว่าเป็นพันธุ์ไม้ที่มีภาพลักษณ์โดยรวมคล้ายกันจริง แต่ก็มีจุดสังเกตที่สามารถแยกกาฬพฤกษ์ออกจากกัลปพฤกษ์ได้อย่างชัดเจน ต่อมาเป็นเรื่องของชื่อเรียก บางข้อมูลใช้ชื่อพันธุ์ไม้ชนิดนี้ว่า กาลพฤกษ์ ซึ่งตีความได้เป็นต้นไม้แห่งกาลเวลา แล้วนำไปใช้เสริมสิริมงคลแบบที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก ทั้งที่ความจริงความหมายอันใกล้เคียงที่สุดมาจากการผสมคำ “กาฬ” และ “พฤกษ์” ซึ่งแปลได้ว่า ต้นไม้สีดำ นับว่าเป็นการตั้งชื่อเรียกแบบตรงไปตรงมา เพราะเปลือกกาฬพฤกษ์จะมีบางส่วนที่เป็นสีดำนั่นเอง