ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium gratum (Wight) S.N.Mitra var. gratum
ชื่อวงศ์ Myrtaceae
ชื่ออื่น ๆ ผักเสม็ด, ผักเม็ก (นครราชสีมา); ไคร้เม็ด (เชียงใหม่); เม็ก (ปราจีนบุรี); เม็ดชุน (นครศรีธรรมราช); เสม็ด (สกลนคร, สตูล); เสม็ดเขา, เสม็ดแดง (ตราด); เสม็ดชุน (ภาคกลาง); ยีมือแล (มลายู – ภาคใต้)
ผักเม็ก หรือเสม็ดแดง มีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อเช่น เม็ก หรือต้นไคร้เม็ด เป็นไม้ยืนต้นสูงได้ถึง 7 เมตร เป็นพืชที่สามารถพบในป่าดิบแล้งโดยเฉพาะบริเวณชายฝั่ง มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทร ได้แก่ หมู่เกาะสุมาตรา ชวา และเกาะบอร์เนียว พบขึ้นตามป่าธรรมชาติทุกภาคของประเทศไทย ออกดอกสีขาวเป็นช่อๆ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน ยอดอ่อนเสม็ดแดง สามารถนำมารับประทานได้ มีรสเปรี้ยวอมฝาด นิยมลวก และกินสดกับน้ำพริก กินเป็นยาขับลม ทั้งยังเป็นสมุนไพรแก้ฟกช้ำ บวม ปวดเมื่อย เเละปวดฟัน โดยมีความเชื่อกันว่าจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง คอยป้องกันภัยให้กับคนในบ้าน เชื่อกันว่าต้นเม็กเป็นที่สิงสถิตของรุกขเทวดา หรือเทพชั้นสูง จะล่วงเกินหรือลบหลู่ไม่ได้เด็ดขาด อีกทั้งยังช่วยให้บ้านหลังนี้ มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุขด้วย เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับในบ้าน เพราะมีทรงพุ่มสวย ต้นอายุน้อยใช้ปลูกในสวนสมุนไพร ลำต้นที่มีอายุมากใช้ประดับสวน มีผิวที่สวยโดดเด่น ให้ร่มเงาในบ้าน แข็งแรง ดูแลง่าย สามารถเพาะพันธุ์จากเมล็ด และขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง
ควรปลูกไว้บริเวณใดของบ้าน
เนื่องจากต้นผักเม็ก เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดกลาง สูงได้ถึง 7 เมตร จึงไม่ควรปลูกไว้ใกล้ชิดกับตัวบ้าน หากจะปลูกต้องมีบริเวณบ้านกว้างพอสมควร และควรปลูกเป็นแนวรั้วรอบบ้าน
ลักษณะทั่วไป
- ลำต้น
เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ขนาดกลางมีความสูงโดยทั่วไป 7 เมตร สามารถสูงได้ 10-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกสีน้ำตาลแดง แตกสะเก็ดแผ่นบางๆ โคนต้นที่มีอายุมากมักเป็นพูพอน มีสีน้ำตาลแดงเปลือกบางซ้อนกันเป็นชั้น ๆ แตกกิ่งก้านสาขาโดยรอบพุ่มต้น กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม
- ใบ
เป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงเป็นคู่ตรงข้ามกัน ใบย่อยรูปหอกมี 2-4 คู่ ขอบใบเรียบปลายใบมีลักษณะแหลม ใบอ่อนมีสีน้ำตาลอมชมพู ส่วนใบแก่มีสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอกช่อเล็ก ๆ ที่บริเวณปลายยอด เป็นใบเดี่ยว รูปรีแกมรูปใบหอก ออกตรงข้ามปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ยอดอ่อนมีสีแดงเรื่อ
- ดอก
มีสีขาวถึงสีเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแยกแขนงตามปลายกิ่งและซอกใบ ช่อดอกยาว 8-12 ซม. ดอกไม่มีก้านดอก ฐานรองดอกรูปถ้วย ปากแคบ ขนาด 4-10 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 5 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ยาว 5-10 มิลลิเมตร มักมีดอกดกและดอกบานพร้อมกัน ออกดอกเดือน มีนาคม-เมษายน
- ผล
มีสีขาว สีขาวขุ่น ทรงกลมขนาดเล็ก ขนาด 8-12 มม. มีเนื้อเมล็ดเดี่ยว ที่ก้นของผลส่วนใหญ่มีลักษณะนูนขณะยังอ่อนสีเขียวและเมื่อแก่จัดสีขาวโพลน ติดผลดกเป็นพวง ผลรสหวาน ออกผลเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ให้บรรยากาศสวยงาม
สายพันธุ์
ต้นผักเม็กคือเสม็ดแดง มีลักษณะคือ เปลือกไม้บริเวณลำต้นจะแตกเป็นร่อง และมีบางส่วนที่หลุดเป็นสะเก็ดออกมา มีสีน้ำตาลแดงชัดเจน บริเวณปลายใบและช่อดอกจะมีสีเหลืองนวล เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ของต้นเสม็ดที่ซึ่งพบในประเทศไทย 2 สายพันธุ์ คือเสม็ดแดงและเสม็ดขาว ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย
วิธีการปลูกต้นผักเม็ก
ต้นเสม็ดเป็นพันธุ์ไม้ที่แข็งแรง และเติบโตได้ดีในทุกสภาพพื้นดิน วิธีการเพาะปลูกตลอดจนการดูแลรักษาจึงค่อนข้างง่าย หากเพาะด้วยเมล็ด ก็หว่านลงแปลงปลูก คลุมพลาสติกเพื่อรักษาความชื้นเล็กน้อย รอจนต้นกล้างอกออกมาก็ย้ายไปเพาะในถุงต่อ พอต้นกล้าสูงสักประมาณ 15-30 เซนติเมตร ก็นำไปลงดินตามตำแหน่งที่ต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมดินแต่อย่างใด แต่ถ้ารู้สึกว่าดินแน่นมากไป เราสามารถใช้ดินผสมกากมะพร้าวรองก้นหลุมได้ เพื่อช่วยให้รากติดไวในตอนแรก
วิธีการรักษา
ต้นผักเม็กต้องการแสงในปริมาณมาก จึงต้องปลูกบริเวณที่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ในช่วงแรกที่ยังเป็นต้นกล้าขนาดเล็ก ควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอวันละครั้ง จากนั้นให้ปรับเป็น 3-5 ครั้งต่ออาทิตย์ แล้วแต่สภาพความแห้งแล้งของพื้นที่ สามารถใช้ดินได้ทุกชนิด แม้แต่ดินที่มีปัญหา เช่น ดินเปรี้ยว ดินพรุ เป็นต้น และเลือกใช้สูตรปุ๋ยตามจังหวะการเติบโตของต้นเสม็ด โดยใส่ปุ๋ยปีละ 3-4 ครั้ง
ประโยชน์และสรรพคุณ
ปลูกเป็นไม้ประดับในบ้าน เพราะมีทรงพุ่มสวย ยอดอ่อนหรือใบเพสลาดมีรสฝาดกินเป็นผักสด หรือลวกกินกับน้ำพริก ลาบ ขนมจีนน้ำยา หรือปรุงใส่ในซ่าผัก ถ้าปลูกกลางแจ้งควรพรางแสงให้บ้าง ต้นจะไม่แคระแกร็น เมื่อนำมากินจะมีรสชาติอร่อย ใบเสม็ดมีประโยชน์หลายด้าน นอกจากสามารถทานสดหรือเป็นผักเครื่องเคียง สามารถต้มดื่มแบบน้ำชาได้ ถ้านำใบสดมาบดละเอียดแล้วพอกตามผิวหนังก็จะลดฟกช้ำได้ดี นอกจากนี้ยังสกัดเอาน้ำมันเขียวแล้วทานเพื่อช่วยขับลม บรรเทาอาการท้องอืด และลดการระคายเคืองในช่องคอขณะที่มีเสมหะ ส่วนเนื้อไม้ของต้นผักเม็ก ก็นิยมใช้เป็นเสาเข็ม เครื่องเรือน และอุปกรณ์ต่าง ๆ เนื่องจากมีความแข็งแรง ทนทานมาก ผลของผักเม็กเองก็สามารถนำมาเป็นเครื่องปรุงอาหารได้ ให้รสเผ็ดร้อน มีคุณสมบัติกระตุ้นให้รู้สึกสดชื่น และช่วยให้เจริญอาหารด้วย