พุดจีบ ภาษาอังกฤษ Crepe jasmine, East Indian rosebay
พุดจีบ ชื่อวิทยาศาสตร์ Tabernaemontana divaricata (L.) Br. ex Roem & Schult.
ชื่ออื่นๆ พุดซ้อน, พุดป่า, พุดสวน, พุดสา
วงศ์ APOCYNACEAE
พุดจีบ เป็นไม้ประดับทรงพุ่มที่นิยมปลูกใกล้ชายคามาตั้งแต่โบราณ เพราะมีดอกที่ใช้ร้อยมาลัยถวายพระได้ และยังส่งกลิ่นหอมเย็นให้รู้สึกผ่อนคลายได้ตลอดทั้งปี ข้อดีของพันธุ์ไม้ชนิดนี้ก็คือการดูแลไม่ยุ่งยาก ขอแค่ได้น้ำและแดดเพียงพอก็จะเติบโตแข็งแรงดี อาจมีบางช่วงที่หนอนเขียวมารบกวนบ้าง แต่ก็กำจัดไม่ยากและมีทางป้องกันได้ ต้นพุดจีบเป็นหนึ่งในตระกูลต้นดอกพุดซึ่งนับเป็นไม้มงคลที่ให้ความร่มเย็น และมีคุณเฉพาะตัวในด้านการเสริมความสำเร็จ หลายบ้านที่มีลูกหลานอยู่ในวัยสร้างตัวจึงนิยมปลูกพุดจีบไว้ เพื่อให้เกื้อกูลการงานจนบรรลุตามเป้าหมายที่ต้องการ
ความเชื่อเกี่ยวกับต้นพุดจีบ
ดอกพุดจีบที่มีสีขาวบริสุทธิ์และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เป็นดอกไม้สำหรับถวายพระและใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาหลายอย่าง จึงมีความเชื่อว่านี่เป็นหนึ่งในดอกไม้มงคล หากบ้านไหนปลูกต้นพุดจีบไว้ในเขตรั้วก็แสดงว่าเป็นคนมีศีลธรรมในระดับหนึ่ง และถ้าได้บำรุงให้ต้นไม้ชนิดนี้มีความอุดมสมบูรณ์พร้อมออกดอกจนเต็มต้น ก็เชื่อว่าจะส่งเสริมให้คนในบ้านมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข คิดทำสิ่งใดก็ประสบความสำเร็จและคงความสำเร็จนั้นไว้ได้ยาวนาน
ตำแหน่งที่เหมาะสม แก่การปลูกภายในบริเวณบ้าน
ต้นพุดจีบจะออกดอกได้ดีและแตกพุ่มใบสวยงามก็ต่อเมื่อมีแดดเหมาะสม จึงต้องเลือกตำแหน่งที่ปลูกให้ได้รับแดดในช่วงเช้าเป็นหลัก จะปลูกให้ชิดแนวรั้วหรือลงในสวนหน้าบ้านก็ได้ แต่ถ้าจะเน้นเสริมสิริมงคลตามความเชื่อโบราณ จะต้องปลูกในทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวบ้านเท่านั้น โดยให้คนที่เป็นหัวหน้าครอบครัวลงมือปลูกด้วยตัวเองในเช้าวันมงคล
ลักษณะของต้นพุดจีบ
ลักษณะของลำต้น เมื่อพุดจีบลักษณะโตเต็มที่จะสูงประมาณ 1-2 เมตร กิ่งก้านจะแตกแขนงเป็นพุ่มเตี้ยและมีการทิ้งใบส่วนล่างทิ้งตลอด เลยทำให้พุ่มใบดูไม่แน่นจนเกินไป เปลือกไม้เป็นสีน้ำตาลอ่อน มีรอยแตกเป็นร่องตื้นๆ ตามยาวและมีน้ำยางสีขาวขุ่น
ใบ เป็นใบเดี่ยวสีเขียวสด ท้องใบมีสีอ่อนกว่าหลังใบ รูปร่างใบเป็นทรงวงรีและมีปลายแหลมคล้ายหอก ขอบใบมีลอนคลื่นเล็กน้อย ผิวสัมผัสมันเงา
ดอก ดอกจะออกรวมกันเป็นช่อขนาดเล็กตามปลายกิ่ง แต่ละดอกมี 5 กลีบสีขาวล้วน กึ่งกลางเป็นวงกลมสีเหลือง เนื้อกลีบบางและบอบช้ำง่าย ให้กลิ่นหอมตลอดทั้งวัน
ผล เป็นฝักคู่ติดกัน ความยาวของแต่ละฝักอยู่ที่ประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ฝั่งที่โค้งงอมีสันนูนขึ้นมา ผลอ่อนเป็นสีเขียวแต่เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้ม
วิธีการปลูก
เราสามารถขยายพันธุ์ต้นพุดจีบได้ง่ายๆ ด้วยการเพาะเมล็ด เพียงแค่เก็บผลแก่ที่ยังไม่แตกมาแกะเอาเมล็ดด้านใน ล้างน้ำสะอาดเพื่อเอาเนื้อออกให้หมด หรือจะแช่ทิ้งไว้ข้ามคืนก็ได้ แล้วนำไปเพาะในถุงเพาะชำซึ่งผสมดินร่วนกับปุ๋ยคอกเอาไว้ ตั้งในพื้นที่แดดรำไรและหมั่นรดน้ำอย่างสม่ำเสมอวันละ 1-2 ครั้ง ไม่เกินสัปดาห์จะมีต้นอ่อนงอกออกมา หลังจากเริ่มแตกใบจริงให้ย้ายไปวางกลางแจ้งที่ได้รับแดดครึ่งวัน เนื่องจากพุดจีบเป็นไม้โตช้าในช่วงแรกจึงอาจใช้เวลามากกว่าจะได้ต้นกล้า ให้รอจนกว่าต้นกล้าจะสูงมากกว่า 30 เซนติเมตรค่อยนำไปปลูกลงดินอีกที สิ่งสำคัญคือต้องเว้นระยะหลุมปลูกให้ห่างกันด้านละประมาณ 3-4 เมตร เพื่อให้พุ่มใบของต้นพุดจีบเติบโตได้อย่างเต็มที่
วิธีการดูแลรักษา
- แสง ต้องการแสงปานกลาง เหมาะกับการปลูกในตำแหน่งที่ได้รับแดดครึ่งวัน
- น้ำ ต้องการน้ำปานกลาง ควรรดน้ำประมาณ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์
- ดิน เติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย
- ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักบำรุงดินปีละ 2-3 ครั้ง
คุณประโยชน์ที่ได้จากต้นพุดจีบ
- ลำต้น เนื้อไม้มีรสออกฝาดสามารถใช้เป็นยาดับพิษไข้ และใช้เป็นยาขับถ่ายพยาธิ ส่วนกิ่งจะใช้ต้มน้ำดื่มเพื่อลดความดันโลหิต
- ใบ ใช้ใบที่โตเต็มที่แต่ไม่แก่จัดมาตำกับน้ำตาลแล้วชงน้ำดื่ม ช่วยบรรเทาอาการไอและระคายคอได้ดี
- ดอก นอกจากจะนำมาร้อยมาลัยถวายพระแล้ว ก็ยังนำมาคั้นน้ำเพื่อทาผิวแก้โรคผิวหนังบางชนิด และกลั่นน้ำมันหอมระเหยเพื่อทำเป็นหัวน้ำหอมได้
- ผล ผลที่สุกเต็มที่จนมีผิวนอกเป็นสีส้มแดงแล้ว สามารถนำมาทำเป็นสีย้อมผ้าได้ และยังขูดเอาเนื้อในมาผลิตเป็นธูปได้อีกด้วย
- ราก มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย บรรเทาอาการปวดฟัน และปรุงสูตรยาได้ทั้งยาระบายและยาแก้ท้องเสีย
ต้นพุดจีบ ความหวังใหม่ของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์
ต้นพุดจีบเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีงานทดสอบและวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของมัน แต่ในบรรดาผลการวิจัยทั้งหมด เรื่องสารสกัดจากต้นพุดจีบที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการป่วยจากโรคอัลไซเมอร์นั้นน่าสนใจที่สุด เพราะสารที่ได้มีคุณสมบัติเป็นสารยับยั้งต้นเหตุของโรค ไม่ใช่การช่วยฟื้นฟูแต่เป็นการตัดต้นตอของปัญหาออกไปเลย มีการขยายความเพิ่มเติมอีกว่าการใช้สารนี้จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อผู้ป่วยอยู่ในระดับเริ่มต้นหรือระดับกลางเท่านั้น อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้งานอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะต้องรอทดสอบผลข้างเคียงให้ชัดเจนกว่านี้ก่อน