ชื่อภาษาอังกฤษ Paper mulberry
ชื่อวิทยาศาสตร์ Broussonetia papyrifera
ต้นปอสาเป็นพันธุ์ไม้ให้เส้นใยที่จัดอยู่ในตระกูลเดียวกันกับต้นหม่อน มีคุณสมบัติแข็งแรงทนทาน เพาะเลี้ยงง่าย เติบโตเร็ว ยิ่งถ้าได้ปลูกใกล้กับแหล่งน้ำหรือปลูกในบริเวณที่มีความชื้นสูง ก็ยิ่งแตกยอดและขยายกิ่งก้านได้ไว ต้นปอสาถือว่าเป็นสมุนไพรที่ใช้ประโยชน์ในทางยาได้แทบทุกส่วน แต่จะโดดเด่นในอุตสาหกรรมกระดาษสามากกว่า บางสายพันธุ์ถูกใช้เพื่อผลิตกระดาษสาแบบทำมือมาเกินกว่า 100 ปีแล้ว
ลักษณะของต้นปอสา
- ลักษณะของลำต้น
เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงได้ประมาณ 6-10 เมตร พุ่มใบแผ่กว้าง กิ่งก้านโปร่งและค่อนข้างเปราะ บริเวณปลายกิ่งที่ยังอ่อนจะมีขนสีขาวปกคลุม เปลือกไม้เป็นสีน้ำตาลอ่อน ผิวเรียบเกลี้ยงและมีเนื้อบาง ต้นปอสาที่อายุมากจะมีรอยแตกตื้นๆ กระจายอยู่ทั่วลำต้น
- ใบ
ลักษณะใบปอสาจะมี 2 แบบ แบบแรกเป็นทรงขอบมน โคนใบกว้างป้านและปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเป็นรอยหยักฟันปลาขนาดเล็ก กับอีกแบบหนึ่งจะมีรอยเว้าช่วงกลางใบจนกลายเป็นใบ 3-4 แฉก ใบทั้ง 2 แบบจะมีเนื้อใบบางและผิวสากหยาบ อาจพบในต้นเดียวกันหรือแยกต้นก็ได้
- ดอก
ดอกเพศผู้จะเป็นดอกช่อที่ห้อยย้อยลงด้านล่าง ดอกย่อยมีขนาดเล็กมากและมีกลีบดอกสีขาว ความยาวประมาณ 8 เซนติเมตร ส่วนดอกเพศเมียจะเป็นทรงกลมที่มีขนเส้นยาวสีน้ำตาลปกคลุมอยู่
- ผล
เป็นผลรวมที่มีรูปร่างค่อนข้างกลม รอบนอกเป็นสีส้มแดง แกนกลางเป็นสีเขียว เนื้อนิ่มและฉ่ำน้ำ ขนาดผลไม่ใหญ่แต่มีเนื้อมาก
สายพันธุ์ยอดนิยม
เกณฑ์ที่ใช้ในการแยกสายพันธุ์ต้นปอสานั้นมีหลายรูปแบบ บ้างก็แยกตามสีของลำต้น บ้างก็แยกตามสีของก้านใบ ทำให้สายพันธุ์ปอสามีมากมายนับไม่ถ้วน จึงขอยกเฉพาะสายพันธุ์ที่น่าสนใจมาบางส่วน ดังนี้
- ปอสาพันธุ์ต้นม่วง เป็นสายพันธุ์พื้นเมืองของไทย มีกิ่งอ่อนและก้านใบสีม่วงอมน้ำตาล อีกชื่อเรียกหนึ่งคือ “ต้นดำ” เพาะปลูกง่ายและให้ผลผลิตได้ดีในทุกพื้นที่
- ปอสาพันธุ์ Aka Kozo จุดเด่นอยู่ที่ลำต้นสีแดง เป็นพันธุ์ญี่ปุ่นที่ใช้สำหรับผลิตกระดาษสาคุณภาพดี
- ปอสาพันธุ์ Tsuru Kozo เป็นอีกพันธุ์ที่นิยมใช้ผลิตกระดาษ มีลักษณะเป็นไม้เลื้อยที่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ อย่างชัดเจน
วิธีการปลูก
การขยายพันธุ์ต้นปอสาที่นิยมจะมีอยู่ 2 วิธี วิธีแรกเป็นการเพาะเมล็ด ให้เลือกเมล็ดปอสาที่แก่จัดจากดอกที่สมบูรณ์ หว่านลงในกระบะทรายแล้วรดน้ำจนกว่าจะงอกเป็นต้นอ่อน พอแตกใบจริง 1-2 ใบแล้วก็ย้ายไปลงถุงเพาะชำได้ ใช้เวลาดูแลประมาณ 1 เดือนจะได้ต้นกล้าที่พร้อมลงดิน อีกวิธีหนึ่งคือการใช้ราก เนื่องจากปอสามีระบบรากที่แผ่กระจายมาก และยังแยกมาเป็นต้นอ่อนได้ด้วย จึงสามารถตัดรากที่เลื้อยอยู่ตามผิวดินมาชำในถุงเพาะ ไม่นานก็จะได้ต้นกล้าพร้อมลงดินเช่นเดียวกัน สำหรับพื้นที่เพาะปลูกให้ทำการกำจัดวัชพืชจนหมดและไถพรวนให้ดินร่วนซุยดีเสียก่อน ตัดใบต้นกล้าที่มีมากเกินไปทิ้งบ้างเพื่อลดการคายน้ำ แล้วปลูกให้ห่างกันประมาณ 1-2 เมตร
วิธีการดูแลรักษา
- แสง ต้องการแดดจัดตลอดทั้งวัน ควรปลูกกลางแจ้งเท่านั้น
- น้ำ ต้องการน้ำค่อนข้างมาก ควรรดน้ำเป็นประจำทุกวันโดยเฉพาะช่วงแรกที่เพาะต้นกล้า
- ดิน เติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่อุดมสมบูรณ์
- ปุ๋ย การให้ปุ๋ยช่วงแรกให้ใช้ปุ๋ยคอกบำรุงดิน และหลังจากนั้นให้ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ทุกครั้งหลังการเก็บเกี่ยว
คุณประโยชน์ที่ได้จากต้นปอสา
- ลำต้น
เปลือกไม้มีสรรพคุณบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน ช่วยขับลมส่วนเกินในร่างกาย บรรเทาอาการปวดท้องบิด ช่วยลดความเจ็บปวดจากการตกเลือด แก้อาการบวมน้ำ และยังใช้ภายนอกเพื่อห้ามเลือดได้ดี เส้นใยที่ได้จากเปลือกปอสาสามารถนำไปทำกระดาษสาและเส้นใยสำหรับทอผ้าได้ กิ่งอ่อนจะใช้ต้มน้ำดื่มเป็นยาบรรเทาโรคตาแดงหรือบดละเอียดพอกผิวแก้ผื่นคัน ส่วนยางไม้จะใช้เป็นยาแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
- ใบ
ถ้านำมาทานก็จะช่วยบรรเทาอาการตาพร่ามัว แก้ร้อนใน แก้เลือดกำเดาไหลไม่หยุด บรรเทาอาการริดสีดวงทวาร และลดอาการแสบร้อนในกระเพาะ แต่ถ้านำมาทาพอกผิวจะช่วยรักษากลากเกลื้อน ผิวหนังอักเสบ และผดผื่นคัน
- ผล
มีคุณสมบัติเป็นยาชูกำลัง ให้รสหวานชุ่มคอ ช่วงบำรุงสายตา บำรุงกระดูก เส้นเอ็น และใช้บรรเทาอาการหน้ามืดเวียนศีรษะบ่อยๆ ได้
- ราก
ใช้เป็นยาขับลม ขับปัสสาวะ บำรุงตับและไต หรือจะบดเพื่อใช้เป็นยาสมานแผลก็ได้
การผลิตกระดาษสาแบบทำมือ
เริ่มจากนำเปลือกปอสามาแช่น้ำจนอ่อนตัว แล้วใส่ภาชนะต้มจนเปื่อย อาจใช้การต้มด้วยด่างขี้เถ้าหรือใช้โซดาไฟก็ได้ เมื่อโครงสร้างของเปลือกปอสาแยกออกจากกันแล้วก็ล้างน้ำให้สะอาด นำมาทำให้เป็นเยื่อด้วยการทุบ ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาค่อนข้างมาก อยู่ที่ว่าใช้มือทุบหรือใช้เครื่องตีเยื่อ เสร็จแล้วให้นำเยื่อที่ได้ไปฟอกสีจนได้ระดับความขาวที่ต้องการ ปิดท้ายด้วยการเทเยื่อใส่แม่พิมพ์สำหรับทำกระดาษ ตากแดดประมาณ 1-3 ชั่วโมงจนแห้งสนิท จึงนำมาลอกเป็นแผ่นแล้วตัดแต่งต่อไป
บทบาทของปอสาในวงการความงาม
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของสารสกัดปอสา โดยใช้เอทานอลสกัดสารที่ต้องการออกมาจากส่วนใบ ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งใบแก่และใบอ่อน พบว่าเป็นสารที่มีฤทธิ์เย็น มีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระสูง สามารถยับยั้งการสร้างเม็ดสีในชั้นผิวได้ดีกว่าวิตามินซีหลายเท่า ทั้งยังช่วยต้านการอักเสบบนผิวหนังได้ด้วย จึงมีการนำองค์ความรู้นี้ไปต่อยอดเพื่อทำผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในกลุ่มของครีมลดปัญหาฝ้า กระ และรอยด่างดำจากสิว แล้วก็ยังได้เสียงตอบรับที่ค่อนข้างดีอีกด้วย