ต้นหูเสือ พืชสมุนไพรพื้นบ้านที่มากไปด้วยประโยชน์และสรรพคุณ

ต้นหูเสือ ภาษาอังกฤษ : Indian borage, Country borage, French thyme, Mexican mint, Spanish thyme, Oreille

ต้นหูเสือ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plectranthus amboinicus (Lour.) Spreng.

ต้นหูเสือ ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Coleus aromaticus Lour., Coleus aromaticus Benth.

วงศ์ : วงศ์กระเพรา (Lamiaceae หรือ Labiatae)

ชื่อเรียกอื่น ๆ : เนียมหูเสือ, หอมด่วนหลวง, หอมด่วนหูเสือ, ผักฮ่านใหญ่ ฯลฯ

ต้นหูเสือ หรือเนียมหูเสือ เป็นพืชที่มีลักษณะเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี โดยมีถิ่นกำเนิดจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแถบประเทศไทย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา ฯลฯ ต่อมาได้ขยายพันธุ์ไปในพื้นที่เขตร้อนต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น อินเดีย จีนตอนใต้ แอฟริกาตะวันออก และคาบสมุทรอาหรับ ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมปลูกเป็นไม้คลุมดินหรือไม้กระถางเพื่อประดับบ้าน สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค แต่พบมากในภาคเหนือ ซึ่งมักจะขึ้นตามที่ชื้นแฉะทั่วไป หรือตามที่รกร้างต่าง ๆ ที่มีความชื้นสูง

ต้นหูเสือ ภาษาอังกฤษ
clippenkhao.com

ความรู้เกี่ยวกับต้นหูเสือ

ต้นหูเสือเป็นผักที่มีกลิ่นหอมฉุน มีรสเผ็ดร้อน และมีรสเปรี้ยวแทรกอยู่เล็กน้อย ตามบ้านเรือนต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะพบต้นหูเสือปลูกอยู่ในกะละมัง ถึงแม้ว่าต้นหูเสือจะไม่ใช่ผักหรือสมุนไพรที่โดดเด่น แต่แทบทุกบ้านมักจะปลูกไว้เป็นไม้คู่บ้าน โดยชาวบ้านในแถบทางภาคอีสานและภาคเหนือจะนิยมปลูกไว้เป็นยาสามัญประจำบ้าน ส่วนคนจีนจะปลูกไว้เป็นยาแก้ไอ

ควรปลูกบริเวณใดของบ้าน

ต้นหูเสือสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินอุดมสมบูรณ์ที่มีอินทรียวัตถุสูง แต่ก็สามารถขึ้นได้ในทุกสภาพดิน เป็นพืชที่ชอบความชื้นมาก และชอบแสงแดดปานกลาง เพราะฉะนั้นหากจะนำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้านก็ควรเลือกบริเวณที่มีความชื้นหรือบริเวณที่แฉะ และโดนแสงแดดปานกลาง ยิ่งถ้าบริเวณนั้นเป็นดินร่วนที่มีอินทรียวัตถุสูงก็จะทำให้ต้นหูเสือเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น

ลักษณะของต้นหูเสือ

  • ลักษณะของลำต้น ต้นหูเสือเป็นไม้ล้มลุก มีอายุได้ประมาณ 2-3 ปี ลำต้นมีความสูงประมาณ 0.3-1 เมตร ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ หักได้ง่าย ลำต้นและกิ่งค่อนข้างกลม โดยต้นอ่อนนั้นจะมีขนหนาแน่น และเมื่อแก่ขนจะค่อย ๆ หลุดร่วงไป
  • ใบ ใบของต้นหูเสือเป็นใบเดี่ยว โดยใบมีลักษณะเป็นรูปไข่กว้างค่อนข้างกลมหรือรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า มีสีเขียวอ่อน ออกตรงข้าม ใบมีความกว้าง 2.5-5 เซนติเมตร และยาว 3-8 เซนติเมตร ปลายใบกลมมน โคนใบกลมหรือตัด ขอบใบจักเป็นคลื่นมนรอบ ๆ ใบ แผ่นใบมีความหนาและอวบน้ำ ผิวใบมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมทั่วทั้งใบ แผ่นใบนูน เส้นใบลึก ก้านใบยาว 2-4.5 เซนติเมตร เมื่อขยี้ใบมาดมจะมีกลิ่นหอมฉุน
  • ดอก ต้นหูเสือจะออกดอกเป็นช่อ ซึ่งมีความยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร โดยดอกจะออกอยู่ตามปลายกิ่งหรือยอด มีดอกย่อยติดหนาแน่นเป็นวงรอบแกนกลาง เป็นระยะ ๆ มีขน โดยช่อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 6-8 ดอก ซึ่งจะทยอยบานทีละ 1-2 ดอก ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปเรือ สีม่วงขาว มีความยาว 8-12 มิลลิเมตร โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ปลายแยกออกเป็น 2 กลีบ กลีบบนสั้น ตั้งตรง และมีขน ส่วนกลีบล่างจะยาวและเว้า ก้านเกสรเพศผู้เชื่อมติดกันเป็นหลอด ตอนโคนล้อมก้านเกสรเพศเมียไว้ โดยกลีบเลี้ยงจะเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร มีขนและต่อม ปลายแยกเป็น 5 แฉก แฉกบนเป็นรูปไข่กว้าง ปลายแหลมแฉกข้าง ๆ เป็นรูปหอกแคบ ส่วนแฉกล่างจะยาวกว่าแฉกอื่นเล็กน้อย ใบประดับมีลักษณะเป็นรูปไข่กว้าง ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ปลายแหลม ก้านสั้น
  • ผล ผลของต้นหูเสือจะมีเปลือกแข็ง ขนาดเล็ก กลมแป้น สีน้ำตาลอ่อน ผิวเรียบ โดยมีความกว้างประมาณ 0.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร
ลักษณะต้นหูเสือ
www.phargarden.com

สายพันธุ์

หูเสือด่าง (Cuban Oregano, Mexican mint, Spanish thyme)

มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Plectranthus amboinicus ‘Variegatus’ เป็นไม้ล้มลุก อวบน้ำ มีความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร ลำต้นทอดเลื้อย กิ่งเป็นสีเขียวอมม่วง มีขนปกคลุมทั้งต้น ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับตรงข้าม มีลักษณะเป็นรูปไข่กว้างหรือรูปเกือบกลม ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบหยักตื้นไม่เป็นระเบียบ แผ่นใบมีสีเขียว ขอบใบสีขาวนวล เส้นกลางใบและก้านใบมีสีม่วงอ่อน มีกลิ่นฉุน ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกมีสีม่วง โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น 5 แฉก ปลายแหลม มีสีเขียว โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น 4 แฉก ไม่เท่ากัน รูปเกือบกลม ปลายมน ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อย มีสีม่วงเข้ม โคนกลีบดอกและภายในหลอดเป็นสีขาว และมีเกสรเพศผู้และเพศเมียติดอยู่กับกลีบด้านบน

ต้นหูเสือด่าง

วิธีปลูกต้นหูเสือ

ปลูกด้วยต้น

– สามารถนำต้นหูเสือมาปลูกในดินร่วน ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมปลูกใส่กระถาง หรือภาชนะที่มีขนาดที่เหมาะสม
– หลังจากปลูกเสร็จแล้วให้รดน้ำในระดับปานกลาง จากนั้นนำไปวางไว้บริเวณที่มีความชื้นหรือในที่ร่ม ควรให้ต้นหูเสือโดนแสงแดดปานกลางแบบครึ่งวัน

ปลูกด้วยการปักชำ

– เลือกกิ่งต้นหูเสือที่มีความแข็งแรงแล้วนำมาตัดใบออกบางส่วนตามความเหมาะสม
– นำมาปักลงในดินที่เตรียมไว้ให้ลึกประมาณ 5-10 เซนติเมตร หากปลูกในกระถางหลังจากปลูกเสร็จควรนำไปวางในที่ร่ม และรดน้ำปานกลางทุกวัน หลังจากนั้น 1-2 สัปดาห์ จะเริ่มมีรากออกมาและแตกกิ่งก้านไปเรื่อย ๆ

วิธีการดูแล

  • แสงแดด ต้นหูเสือเป็นพืชที่ชอบความชื้น สำหรับแสงแดดที่เหมาะกับต้นหูเสือควรจะเป็นแสงแดดปานกลางแบบครึ่งวัน ดังนั้นควรนำต้นหูเสือไว้ในบริเวณที่โดนแสงแดดปานกลางแบบครึ่งวัน
  • น้ำ ต้นหูเสือเป็นพืชที่ชอบความชื้นมาก หากปลูกไว้ในบริเวณที่มีความชื้นสูงจะเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะบริเวณที่ชื้นแฉะ สำหรับการดูแลหลังจากการปลูกควรรดน้ำในระดับปานกลางทุกวัน
  • ดิน ต้นหูเสือขึ้นได้ในทุกสภาพดิน แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนอุดมสมบูรณ์ที่มีอินทรียวัตถุสูง และสามารถระบายน้ำได้ดี
  • ปุ๋ย สำหรับการให้ปุ๋ยต้นหูเสือเพื่อการเจริญเติบโตที่ดี ควรใช้ปุ๋ยละลายช้าสูตร 13-13-13 เติมลงไปในดินอย่างน้อยเดือนละครั้ง  โดยใส่ในปริมาณประมาณ 1 หยิบมือต่อต้น
วิธีปลูกต้นหูเสือ

ประโยชน์และสรรพคุณต่าง ๆ

  1. สามารถนำต้นหูเสือมาตำหรือบดใช้ซักผ้า และสระผมได้
  2. ต้นหูเสือเป็นพืชที่มีน้ำมันหอมระเหยสูง ซึ่งจะช่วยย่อยและดับกลิ่นคาวได้ดีมาก
  3. กลิ่นหอมของใบหูเสือจะคล้ายกับเครื่องเทศออริกาโน (Oregano) ที่ใช้โรยหน้าพิซซ่า หากใครที่ชอบกลิ่นของออริกาโนก็สามารถนำใบหูเสือมาตากให้แห้งสนิทในที่ร่ม จากนั้นนำมาบดให้ละเอียด เสร็จแล้วสามารถนำมาใช้แทนออริกาโนได้เลย
  4. ใบหูเสือสามารถนำมาทำเป็นยานัตถุ์ได้ เนื่องจากมีกลิ่นหอม หรือจะนำมาใส่ในยุ้งข้าวเพื่อไล่แมลงก็ได้เช่นกัน
  5. ยอดอ่อนและใบอ่อนของต้นหูเสือสามารถนำมารับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก ทานคู่กับลาบ ก้อย แจ่วป่น ซุบหน่อไม้ ซุบมะเขือ หรือใส่แกงต่าง ๆ ใช้รับประทานสดเป็นผักแกล้มกับอาหารอื่น ๆ ใช้กินกับหมาก อีกทั้งยังสามารถนำมาใช้แทนใบกะเพราในแกงกบ แกงปลาไหล ผัดหมูสับ เป็นต้น
  6. ในตำรายาไทย ใบและต้นหูเสือมีกลิ่นหอมฉุน รสเผ็ดร้อน สามารถนำมาคั้นเอาน้ำหยอดแก้ฝีในหู แก้ปวดหู พิษฝีในหู หูน้ำหนวก ปิดห้ามเลือด ขยี้ทาท้องเด็กแก้ท้องอืด ช่วยเจริญอาหาร แก้ไข้หวัดในเด็ก และแก้โรคหืด
  7. สามารถนำต้นและใบหูเสือมาตำแล้วนำมาโปะหน้าผากหรือกระหม่อมเด็กเล็ก จะช่วยลดไข้ตัวร้อน และแก้ไข้หวัดในเด็กได้
  8. นำใบหูเสือมาขยี้ดม จะช่วยแก้อาการหวัด คัดจมูดได้
  9. สามารถนำใบหูเสือสดมารับประทานร่วมกับน้ำพริก แจ่ว จะช่วยแก้หอบหืด ทำให้หายใจโล่ง อีกทั้งยังช่วยแก้ไอและแก้หวัดได้ด้วย
  10. ใบของต้นหูเสือมีสรรพคุณที่ช่วยบำรุงร่างกาย แก้ไอเรื้อรัง หืดหอบ แก้ลมชักบางประเภท ต้มน้ำกินแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ กินหลังคลอดขับน้ำคาวปลา
  11. ใบใช้ภายนอกเป็นยาพอกศีรษะ แก้อาการปวด ลดไข้
  12. ใบใช้ภายนอก สามารถนำมาขยี้ทาหรือใช้เป็นยาพอกแก้แมงป่องต่อย และตะขาบกัดได้
  13. ใบใช้เป็นยาพอกรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ด้วยการนำใบหูเสือมาล้างให้สะอาดแล้วนำมาตำ จากนั้นใช้โปะบริเวณที่เป็นแผล จะช่วยทำให้แผลไม่เปื่อย ไม่พอง และไม่ลุกลาม
  14. สามารถนำยางจากใบหูเสือมาผสมกับน้ำตาลกินขับลม แก้ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ใช้ภายนอกเป็นยาพอกศีรษะแก้ปวด ลดไข้ แก้แมงป่องต่อย ตะขาบกัด แก้หิด รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก รักษาอาการบวม ตำพอกแก้ปวดข้อ ขยี้ทาห้ามเลือด คั้นเอาน้ำทาแผลเรื้อรัง หรือนำไปทำยานัตถุ์เพราะมีกลิ่นหอม ใส่ยุ้งข้าวเพื่อไล่แมลง และอมดับกลิ่นคาวอาหาร
  15. ตำรับยาบำรุงเลือดลม ระบุให้ใช้รากของต้นหูเสือมาต้มกับน้ำกิน จะช่วยรักษาเลือดลมให้เป็นปกติ
  16. สามารถนำรากของต้นหูเสือมาแช่กับน้ำธรรมดา และนำมากินและอมบ่อย ๆ จะช่วยดับกลิ่นปาก แก้ปวดฟัน และป้องกันฟันผุได้

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของหูเสือ

– สารสำคัญที่พบได้ในใบหูเสือ ได้แก่ น้ำมันหอมระเหย carvacrol, cyperene, thymol, y-terpinene เป็นต้น
– หูเสือหรือเนียมหูเสือเป็นพืชที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งเชื้อรา ยับยั้งยีสต์ ฆ่าแมลง ยับยั้งการงอกของพืชอื่น และยับยั้งเอนไซม์ protease จากเชื้อ HIV

คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ต้นหูเสือ

– สตรีมีครรภ์และสตรีที่ให้นมบุตรไม่ควรรับประทานต้นหูเสือ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปต่าง ๆ จากต้นหูเสือ
– ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะใช้ต้นหูเสือเสมอ เพราะอาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้
– ไม่ควรรับประทานส่วนต่าง ๆ ของต้นหูเสือ ทั้งรับประทานแบบสด ๆ หรือในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของต้นหูเสือในปริมาณที่มากและนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ดังนั้นควรใช้ให้ถูกวิธีและอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม

ราคาต่อต้นโดยประมาณ

ต้นหูเสือที่ปลูกในถุงดำ ราคาถุงละ 35 บาท ส่วนต้นหูเสือที่ปลูกในกระถางขนาด 6 นิ้ว ราคากระถางละ 50 บาท นอกจากนี้ยังมีต้นหูเสือพันธุ์ด่างอีกด้วย โดยจะขายในราคาต้นละ 35 บาท หากเป็นต้นขนาดใหญ่อาจมีราคาถึง 90-100 บาท ซึ่งราคานั้นจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ

ประโยชน์ต้นหูเสือ
medthai.com

แหล่งที่มา

http://www.rspg.or.th

https://oer.learn.in.th

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้