ชื่อภาษาอังกฤษ Anyamani
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aglaonema sp.
วงศ์ ARACEAE
ต้นอัญมณีเป็นไม้ใบในกลุ่มอโกลนีมา ซึ่งถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์และได้รับความนิยมสูงมาก จุดเด่นอยู่ที่สีสันและลวดลายของใบ ขนาดพุ่มที่ไม่ใหญ่จนดูแลได้ยากเกินไป และเป็นไม้มงคลที่ช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลได้หลายด้าน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่เลือกมาปลูก เช่น อัญมณีสีขาวหมายถึงความสว่างสไว ความรุ่งเรืองและสงบสุข อัญมณีสีแดงหมายถึงพลังอำนาจ มากด้วยวาสนาและบารมี เป็นต้น ส่วนการใช้ประโยชน์ในด้านอื่นก็มีคุณสมบัติช่วยฟอกอากาศ ช่วยดูดซับสารพิษ และช่วยปรับบรรยากาศโดยรอบให้สดชื่นขึ้นได้
ความเชื่อเกี่ยวกับต้นอัญมณี
คุณสมบัติอันโดดเด่นของต้นอัญมณีในบทบาทของไม้มงคล ก็คือการเสริมโชคลาภและดึงดูดทรัพย์ให้ไหลมาเทมา นับเป็นพันธุ์ไม้ยอดนิยมของกลุ่มคนทำมาค้าขายอย่างมาก เพราะนอกจากจะใช้ประดับร้านให้สวยงามสบายตาได้แล้ว ก็ยังช่วยให้มีลูกค้าสม่ำเสมอจนกิจการรุ่งเรือง และช่วยให้มีโชคลาภเข้ามาแบบไม่ขาดสายอีกด้วย ยิ่งกว่านั้น ต้นอัญมณีแต่ละสายพันธุ์ก็ยังให้คุณในด้านอื่นๆ ที่แตกต่างกันไป สามารถเลือกพันธุ์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะเจาะจงตามต้องการได้ หรือจะปลูกรวมกันหลายพันธุ์เพื่อให้เสริมสิริมงคลแบบรอบด้านก็ได้เหมือนกัน
ลักษณะของต้นอัญมณี
- ลักษณะของลำต้น เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ใต้ดินมีเหง้าและแตกหน่ออ่อนได้เรื่อยๆ ลำต้นเป็นทรงกลมผิวเรียบเกลี้ยง เมื่อใบล่างหลุดร่วงไปก็จะมองเห็นข้อปล้องได้อย่างชัดเจน ผิวลำต้นมีตั้งแต่สีขาวนวลไปจนถึงโทนเขียว เป็นส่วนเดียวที่สีไม่เปลี่ยนแปลงไปตามปริมาณแสงแดดที่ได้รับ
- ใบ รูปทรงเรียวยาวคล้ายวงรี ปลายใบแหลม แกนกลางใบใหญ่ ผิวใบเรียบลื่นเป็นมันเงา ลายด่างจะเป็นการผสมอย่างน้อย 2 สีที่แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ และลวดลายบนใบจะเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะการเพาะเลี้ยง เช่น ปริมาณการให้น้ำ ปริมาณแสงแดด เป็นต้น
- ดอก ดอกเป็นดอกเชิงลดแบบกาบเดี่ยว มีแกนกลางเป็นแท่งตั้งตรง ผิวขรุขระเล็กน้อย ปลายแท่งเรียวเล็กกว่าบริเวณโคน รอบนอกมีกาบโอบล้อมไว้ เนื้อกาบอาจจะหนาหรือบางก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ทรงจนกว่าจะเหี่ยวแห้งและหลุดร่วงไป
สายพันธุ์ยอดนิยม
- อัญมณีขาว บางครั้งก็ถูกเรียกว่าอัญมณีเงิน รูปทรงใบเป็นแบบเรียวยาว มีสีเขียวเข้มตลอดแนวขอบใบ พื้นที่ตรงกลางเป็นสีขาวนวลแต้มเขียว เส้นกลางใบตัดขอบด้วยสีเขียวเช่นเดียวกับขอบใบด้านนอก
- อัญมณีแดง หน้าใบจะกว้างกว่าอัญมณีขาวเล็กน้อย รูปทรงคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเป็นเส้นกรอบสีเขียวเข้ม ตัดกับเนื้อใบตรงกลางที่เป็นสีแดงแต้มเขียว
- อัญมณี 3 สี ลักษณะใบเป็นทรงอ้วนป้อม หน้าใบกว้าง ปลายใบโค้งมน ขอบใบตัดเส้นด้วยสีเขียวเข้ม กลางใบเป็นการผสมลายด่าง 3 สี ได้แก่ สีขาว สีโทนชมพูแดง และสีเขียว โดยการเกิดลวดลายจะเป็นแบบอิสระ อาจแบ่งครึ่งกลางใบ แบ่งส่วนของพื้นที่แต่ละสี หรือจะคละกันไปเลยก็ได้
- อัญมณีสีชมพู ทรงใบกว้างป้อมและมีกรอบนอกคล้ายรูปหัวใจ โคนใบเว้า ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเป็นสีเขียวเข้ม กลางใบเป็นสีชมพูอ่อนที่เกือบจะขาว ส่วนแกนกลางใบจะเป็นโทนชมพูที่เข้มกว่าเล็กน้อย พันธุ์นี้จะมีลักษณะคล้ายกับต้นซุปเปอร์พิงค์ ต่างกันที่อัญมณีจะมีโทนสีอ่อนกว่าและมีลายด่างมากกว่า
วิธีการปลูก
การขยายพันธุ์ต้นอัญมณีนั้นทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนรักไม้ใบพันธุ์นี้จะเป็นการปักชำแบบควบแน่น เพราะสร้างความเสียหายให้ต้นแม่พันธุ์และยอดที่ตัดมาน้อยมาก ใบไม่เหี่ยวแห้ง ไม่หลุดร่วง แถมรากยังเดินได้เร็วกว่าการปักชำแบบปกติด้วย อันดับแรกให้เริ่มจากเลือกยอดแข็งแรงสมบูรณ์ ใช้มีดบางตัดให้ติดใบมาอย่างน้อย 2-3 ใบ ทาปูนแดงที่แผลทันทีแล้วพักไว้จนกว่าปูนนั้นจะแห้ง ระหว่างรอให้เตรียมวัสดุปลูกด้วยการผสมกาบมะพร้าวสับละเอียดที่แช่น้ำไว้ข้ามคืน ขุยมะพร้าว และดินร่วน โดยใช้อัตราส่วนของดินให้น้อยกว่าวัสดุอื่นประมาณครึ่งหนึ่ง จากนั้นก็นำยอดอัญมณีที่พักไว้มาเพาะลงกระถาง กดโคนต้นให้แน่นแล้วรดน้ำจนชุ่ม รอให้น้ำไหลออกจากกระถางจนหมดเสียก่อน แล้วใส่กระถางต้นกล้าลงในถุงพลาสติก มัดปากถุงให้แน่นวางไว้ในที่ร่ม ประมาณ 15-20 ค่อยมาเปิดถุงแล้วย้ายต้นกล้าไปปลูกตามปกติ
วิธีการดูแลรักษา
- แสง ต้องการแสงค่อนข้างน้อย เหมาะสำหรับการปลูกในพื้นที่แดดรำไร
- น้ำ ต้องการน้ำปานกลาง ควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์
- ดิน เติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่มีแร่ธาตุมากและระบายน้ำได้ดี
- ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักบำรุงดิน 2-3 เดือนต่อครั้ง
คุณประโยชน์ที่ได้จากต้นอัญมณี
ต้นอัญมณีเป็นพืชไม้ใบอีกชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกประดับไว้ภายในอาคาร เนื่องจากเพาะเลี้ยงในพื้นที่แสงน้อยได้ เป็นไม้มงคล และยังมีคุณสมบัติเป็นไม้ฟอกอากาศอีกด้วย ช่วยดูดซับสารพิษบางชนิดที่ปะปนอยู่ในอากาศ พร้อมกับช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในช่วงกลางวัน ทำให้บรรยากาศภายในบ้านสดชื่นมากขึ้น แต่ควรหลีกเลี่ยงการตั้งต้นอัญมณีที่มีพุ่มใหญ่ไว้ในห้องนอน เพื่อไม่ให้รบกวนการนอนจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากเกินไป
ความเข้าใจผิดที่ว่าต้นอัญมณีออกดอกยาก
ด้วยเหตุที่เราไม่ค่อยได้เห็นดอกของพันธุ์ไม้ชนิดนี้มากเท่าไร จึงทำให้หลายคนเข้าใจผิดไปว่าต้นอัญมณีนั้นออกดอกค่อนข้างยาก ทั้งที่ความจริงเกิดจากเทคนิคในระหว่างการเพาะเลี้ยง โดยจะมีการตัดดอกทิ้งทุกครั้งตั้งแต่ยังเป็นดอกตูม เพื่อให้ใบเติบโตได้อย่างสมบูรณ์และคงความสวยงามอย่างที่ไม้ใบควรจะเป็น เพราะหากปล่อยให้ดอกเติบโตและบานตามปกติ ใบของต้นอัญมณีจะมีสีผิดเพี้ยนและมีขนาดที่เล็กลงมาก ทั้งยังทำให้จุดเด่นบางอย่างของแต่ละสายพันธุ์ลดน้อยลงตามไปด้วย