มะม่วงหิมพานต์ (Cashew or Cashew Nut) ถ้าพูดถึงคำว่า หิมพานต์ ใครหลายคนคงจะนึกถึงป่าในวรรณคดีที่มีกินนรและกินรีแถมน่าจะนึกเลยไปถึงป่าหิมพานต์ที่ตั้งอยู่บนเชิงเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นความเชื่อในเรื่องไตรภูมิตามคติของศาสนาพุทธและฮินดูก็ได้ แต่วันนี้เราไม่ได้จะมาพูดเกี่ยวกับป่าหิมพานต์ แต่ต้องการจะนำเสนอถึงพรรณไม้ชนิดหนึ่งที่มีชื่อคล้องจองกัน วึ่งต้นไม้นั้นก็คือ มะม่วงหิมพานต์
ตอนนี้ท่าจะร้องอ๋อกันแล้วใช่ไหม เพราะชื่อนี้คุ้นหูเป็นอย่างดี เอาเป็นว่า เราจะพาไปดูเรื่องราวน่ารู้ของพันธุ์ไม้ยืนต้น ต้นนี้กัน
เราสงสัยกันไหมว่าทำไมพันธุ์ไม้ชนิดนี้ถึงถูกเรียกว่า "มะม่วงหิมพานต์" แต่ถ้าใครเคยเห็นต้นและผลจริง ๆ ของพันธุ์ไม้ชนิดนี้จะต้องงงกันอย่างแน่นอนเพราะ ตัวผลของมันมีลักษณะเหมือน "ลูกชมพู" เวลาผลสุกจะมีสีแดง เอ๊ะ! แต่เดี่ยวก่อนทุกคน แล้วคุณแน่ใจหรอว่าผลของต้นไม้ชนิดนี้ คือส่วนที่มีสีแดง ๆ นั้นจริง ๆ เอาละ ในบทความนี้ Kasettoday จะมาไขข้อค่องใจของทุกคนกันว่าต้นมะม่วงหิมพานต์มันเป็นยังไง มีลักษณะและวิธีกินยังไง และที่สำคัญเรื่องของ "พิษ" ที่เราต้องระวัง มันอยู่ส่วนไหนของต้นมะม่วงหิมพานต์ ไปดูกันเลย
ข้อมูลทั่วไปของมะม่วงหิมพานต์
ชื่อภาษาไทย : มะม่วงหิมพานต์
ชื่อภาษาอังกฤษ : Cashew และ Cashew Nut
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anacardium occidentale L.
ชื่อวงศ์ : ANACARDIACEAE อันเป็นวงศ์เดียวกับมะม่วง
แหล่งกำเนิด
เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้แถบประเทศบราซิล ก่อนจะแพร่กระจายสู่ทวีปแอฟริกา อเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเซีย สำหรับประเทศไทยได้มีการนำเข้ามาปลูกพร้อมกับยางพาราจากประเทศมาเลเซีย ในปี พ.ศ.2444 โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี ซึ่งขณะนั้นได้ดำรงตำแหน่งเทศาภิบาลจังหวัดตรังและได้ทดลองปลูกครั้งแรกที่จังหวัดตรัง จนต่อมาเป็นที่นิยมปลูกกันมากในภาคใต้ของประเทศ
ลักษณะทั่วไป
ลำต้น
จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางไม่ผลัดใบ สูงประมาณ 6-12 เมตร โดยลำต้นจะแตกกิ่งแขนงหลักเป็นแนวขนานกับพื้นดินจึงทำให้เกิดรูปทรงพุ่มหรือรูปร่มที่มีความกว้าง 4-10 เมตร แล้วก็มีกิ่งย่อยจำนวนมาก และเปลือกจะมีสีเทาอมน้ำตาลกับเรียบหนา
ใบ
ใบ มีขนาดใหญ่ โคนใบจะสอบแคบและขยายใหญ่จนถึงปลายใบ ส่วนปลายใบจะมนหรือป้าน ความยาวของใบ 10-20 เซนติเมตร และกว้าง 5-8 เซนติเมตร แผ่นใบมีสีเขียวสดแถมเรียบเกลี้ยงเป็นมัน
ดอก
ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งตรงซอกใบ แต่ละช่อมีก้านช่อย่อยอยู่เรียงสลับกันบนก้านช่อหลัก 5-10 ก้าน และก้านช่อจะมีดอก 10-30 ดอก แล้วที่ก้านดอกหลักก็จะมีดอกอยู่ 3 ประเภท คือ ดอกตัวผู้ (ร้อยละ 96) และ ดอกตัวเมีย กับ ดอกสมบูรณ์เพศ (2 ชนิดรวมกันประมาณร้อยละ 4) ทั้งนี้ ดอกสามารถผสมเกสรได้เองภายในช่อเดียวกันและจะติดผลต่อช่อไม่มาก ส่วนกลีบดอกมีสีเหลืองอมขาวจำนวน 5 กลีบ ลักษณะเรียวและปลายกลีบแหลม เมื่อดอกบานเต็มที่โคนกลีบดอกจะเป็นสีแดงเรื่อๆ
ผล
จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ผลเทียม มีลักษณะเหมือนผลชมพู่ ความยาวราว 5-12 เซนติเมตร เมื่อผลอ่อนจะมีสีเขียว หากแก่หรือสุกจะเป็นสีแดงอ่อนหรือสีชมพูหรือสีเหลือง (แล้วแต่สายพันธุ์) ส่วนเนื้อผลมีความฉ่ำ รสชาติจะฝาดมากถ้าสุกน้อยและหวานมากขึ้นถ้าสุกจัด
ผลแท้ จะห้อยอยู่ด้านล่างของผลเทียม ลักษณะคล้ายไต เมื่อผลอ่อนจะมีสีเขียว หากแก่จะเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาล ผลแท้จะกว้าง 2.5 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร และเปลือกหุ้มผลมีความหนา 2-3 มิลลิเมตร ข้างในผลแท้จะมีเมล็ดสีขาวรูปไต แล้วที่เปลือกหุ้มเมล็ดของผลแท้จะมีน้ำยางสีน้ำตาลอ่อนซึ่งมีความเป็นกรดสูงจึงมิควรให้น้ำยางนี้ถูกผิวหนัง เพราะจะทำให้ผิวหนังเปื่อยพองได้
เกร็ดความรู้ ! ผลเที่ยมที่เป็นดอก เอะ! คืออะไร มีหลายคนที่มักจะเข้าใจผิดในส่วนที่มีลักษณะคล้ายรูปลูกแพร์ หรือชมพู่ มีเนื้อนิ่ม สีเขียวเมื่ออ่อน และเปลี่ยนเป็นสีแดง ส้ม หรือเหลืองเมื่อแก่นั้น คนทั่วไปมักคิดว่าคือส่วนของผล แต่ที่จริงแล้วโครงสร้างส่วนนี้คือส่วนของก้านดอกย่อย (pedicel) และฐานดอก (receptacle) ที่ขยายขนาดขึ้นมา เรียก hypocarpium ซึ่งรับประทานได้ แต่มักจะเน่าเสียเร็วมาก ... ฝรั่งมักเรียกส่วนนี้ว่า cashew apple และส่วนผลที่แท้จริงที่เจริญมาจากรังไข่คือส่วนที่คนทั่วไปคิดว่าเป็นเมล็ด ซึ่งอยู่ใต้ส่วนที่อวบมีเนื้อด้านบน ส่วนผลนี้มักถูกเรียกว่า cashew nut แต่จริง ๆ แล้วผลของมะม่วงหิมพานต์ไม่ได้เป็น nut แต่เป็นผลแบบ drupe คือมี endocarp แข็ง.... เป็นส่วนที่เรานำมารับประทานกันนั้นเอง
การขยายพันธุ์
สำหรับการขยายพันธุ์ มะม่วงหิมพานต์ สามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ
วิธีการเพาะเมล็ด โดยให้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดี ปลูกเพาะใส่ถุงขนาด 5×8 นิ้ว หรือปลูกลงหลุมดิน ด้วยการกดเมล็ดด้านเว้าให้จมดินจนมิดและวางเมล็ดให้เอียง 45 องศา เพาะไว้ประมาณ 4 เดือน แล้วจึงย้ายต้นกล้าลงปลูกในหลุมที่กว้าง ยาว ลึก ประมาณ 50-100 เซนติเมตร แล้วผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักคลุกกับดินและกลบลงหลุม จากนั้นนำต้นกล้าวางในหลุม ให้โคนต้นอยู่เหนือปากหลุมเล็กน้อยและปักมัดไม้เพื่อพยุงลำต้น สุดท้ายกลบดินให้แน่น
วิธีขยายพันธุ์โดยไม่ใช้เพศ มีอยู่หลายวิธี ได้แก่ การตอน การติดตา การทาบกิ่ง และการเสียบข้าง แต่วิธีที่นิยมคือ การเสียบข้าง เพราะได้ผลผลิตเร็ว วิธีนี้จะใช้เวลาประมาณ 20-30 วัน เมื่อยอดแตกใบและกิ่งราว 5-10 ใบ ก็สามารถตัดออก แล้วนำลงปลูกได้
การปลูกและดูแลยังไงให้ปลอยภัย กับคนในบ้าน
การปลูก
แสง
ชอบอยู่กลางแจ้ง มีแสงแดดเต็มวัน หรือถ้าได้ครึ่งวัน เช้า-บ่าย ก็ได้เหมือนกัน
น้ำ
ต้องการร้ำในปริมาณปานกลางไม่มากเกินไป แต่ถ้าปลูกลงดินแล้ว สามารถให้น้ำวันเว้นวันได้
ดิน
โดยธรรมชาติแล้ว สามารถอยุ่ได้เกือบทุกสภาพดิน เพราะรากของต้นมะม่วงหิมพานต์สามารถแตกแขนงได้ดีทำให้หาอาหารได้มาก
ปุ๋ย
เรื่องของการบำรุงด้วยปุ๋ย ถ้าปลุกลงดินสามารถให้ปุ๋ยหมักเดือนละ 1 ครั้ง แต่ถ้าปลุกในกระถางก็สามารถให้เป็นปุ๋ยสูตรเสมอ แบบละลายช้าได้เลย 1 ครั้ง ต่อ 2-3 เดือน ปริมาณ 1 กำมือ
การดูแลให้ปลอยภัย
เนื่องจากต้นมะม่วงหิมพานต์ จัดได้ว่าอยู่ในวงค์มะม่วง ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มียาง หากโดยจะมีผลทำให้ระคายเคืองถ้าเกิดไปสัมผัส ซึ่งน้ำยางของมีสารพิษเรียกว่า Resin, Diterpene ester ซึ่งอยู่ที่เปลือกของเมล็ดของมะม่วงหิมพานต์
ถ้าถูกยางจากเปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ทำให้เกิดบาดแผลพุพองต่อผิวหนัง ถ้ารับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองรุนแรงต่อปาก ลิ้น คอ และหลอดลมอักเสบ
ถ้ารับประทานเข้าไป 1. ให้ใช้ Activated charcoal (ถ่าน) รับประทาน 2. ล้างท้องหรือทำให้อาเจียน 3. ถ้าอาการหนักให้ส่งโรงพยาบาล
ดังนั้นการปลุกต้นมะม่วงหิมพานต์ไว้ในเขตบ้าน และมีเด็ก ๆ ออกมาวิ่งเล่นในสนาม ควรมีการสอนพวกเขาให้รู้ถึงพิษของต้นไม้ชนิดนี้ เพราะเวลาที่ลูกของมะม่วงหล่นลงมาที่พื้น เด็ก ๆ อาจจะนำขึ้นมากิน หรือ กัดได้เพราะความไม่รู้ ดังนั้นต้องระวังมากๆ แต่ในความอันตรานั้น ก็มีความแปลกและสวยงามอยุ่ เพราะเวลาเนื้อเยื่อส่วนของก้านดอกย่อย (pedicel) และฐานดอก (receptacle) ที่ขยายขนาดขึ้นมา เรียก hypocarpium เป็นสีแดง แล้วห้อยอยุ่ที่ต้นนั้นมันสวยและน่ารักมาก
ประโยชน์
ในด้านสรรพคุณ คิดว่าคงจะพอรู้กันบ้างแล้ว อาทิ
เม็ดมะม่วงหิมพานต์ – ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด, ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่, ช่วยบำรุงสุขภาพเหงือก ฟันและกระดูก, ช่วยป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อม และใช้ประกอบอาหารได้อร่อย
ยางของต้น – ใช้รักษาหูดและทำลายตาปลา ส่วน
น้ำจากผล – ช่วยแก้อาการอาเจียน, รักษาแผลในช่องปาก และช่วยขับเหงื่อ เป็นต้น
ปลูกเป็นไม้ประดับดีไหม
ยิ่งไปกว่านั้น พรรณไม้นี้ยังใช้เป็นไม้ประดับได้ด้วย เพราะมีรูปทรงเป็นพุ่มจึงสามารถให้ร่มเงาได้และตัวผลก็มีสีสันกับเปลี่ยนสีได้ซึ่งจะทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกแตกต่างกันไปเวลามีการเปลี่ยนสีเป็นของแถม
ฉะนั้นจึงเหมาะที่จะปลูกตามสวนสาธารณะหรือสถานที่ที่ต้องการร่มเงาหรือสีสัน แล้วเนื่องด้วยระบบรากมีการแผ่ขยายได้กว้างก็เหมาะมากที่จะปลูกริมหนองริมคลองหรือบึง เพื่อป้องกันแนวดินริมตลิ่ง สำหรับบ้านเรือนก็มิได้เป็นสิ่งหวงห้าม สามารถปลูกและนำไปประยุกต์จัดให้เข้ากับแบบสวนต่างๆ ได้ไม่ว่าจะสวนแบบไทย สวนแบบโมเดิร์น สวนแบบญี่ปุ่น และอื่นๆ
เป็นอย่างไรกันบ้างกับต้นมะม่วงหิมพานต์ พันธุ์ไม้ยืนต้นที่มีรูปร่างหน้ายาประหลาด แต่ก็สามารถนำมารับประทานได้ แถมยังสามารถปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับสวน ให้ลูกที่มีสีสันสนใส อย่างสี เขียว เหลือง ส้ม แดง เมื่อปลุกไปหลาย ๆ ปีก็ยังสร้างร่มเงาให้กับบ้านของเราได้อีกด้วย แต่ข้อเสียของต้นนี้ชนิดนี้ก็มีเช่นกัน นั้นก็คือน้ำยางของมันนั้นเอง แต่ถ้าทุกคนได้อ่านบทความนี้จนถึงตรงนี้ Kasettoday เชื่อว่าเราจะสามารถปลุกและอยู่ร่วมกับต้นไม้ชนิดนี้ไปได้อีกนานและปลอดภัยแน่นอน
และสำหรับใครที่สนใจเรื่องอื่น ๆ เช่น การปลูกดอกไม้ ข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรที่น่าสนใจ ทางเรามีก็ข้อมูลพร้อมเสิร์ฟเหมือนกัน และหากใครกำลังมองหาลู่ทางอาชีพเสริมเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ ทางเราก็มีบทความเกี่ยวกับปศุสัตว์ให้ได้อ่านหาความรู้อีกด้วย
แหล่งอ้างอิง Department of Botany, Faculty of Science, Chulalongkorn University ฐานข้อมูลพรรณไม้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ฐานข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ