ด้วงสาคูหรือด้วงมะพร้าว แหล่งโปรตีนชั้นดีที่เริ่มต้นเพาะเลี้ยงได้ไม่ยาก

ความจริงแล้วด้วงสาคูหรือด้วงมะพร้าวไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร สัตว์ชนิดนี้เป็นเสมือนอาหารท้องถิ่นของคนภาคใต้มายาวนานหลายสิบปีแล้ว เช่นเดียวกับการบริโภคแมลงต่างชนิดกันในภูมิภาคอื่นนั่นเอง แต่หลังจากที่มีการค้นพบว่าด้วงสาคูมีคุณค่าทางอาหารสูงมาก โดยเฉพาะโปรตีนชนิดที่มีคุณภาพดีเทียบเท่าเนื้อสัตว์ทั่วไป เลยทำให้ด้วงชนิดนี้ได้รับความสนใจในการทำการเลี้ยงสัตว์ชนิดนี้มากขึ้น ทั้งจากคนที่ต้องการลิ้มลองรสชาติของมันและกลุ่มคนที่ต้องการเพาะเลี้ยงเพื่อสร้างอาชีพ ที่สำคัญยังมีการมองการณ์ไกลว่าด้วงสาคูจะเป็นหนึ่งในอาหารแห่งอนาคตได้อีกด้วย จากเดิมที่ใช้หนอนด้วงเป็นวัตถุดิบสดในการปรุงอาหารธรรมดา จึงเริ่มมีการแปรรูปและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น จากแมลงศัตรูพืชที่สร้างความเสียหายให้กับพืชจำพวกปาล์ม เลยกลายเป็นสินค้าที่ทำรายได้มหาศาลให้คนในชุมชน ซึ่งตลาดที่ต้องการด้วงสาคูยังขยายวงกว้างได้อีกหลายเท่า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ด้วงสาคู คือ
siamrath.co.th

ความนิยมของด้วงสาคูหรือด้วงมะพร้าว

การขายปลีก

ด้วงสาคูหรือด้วงมะพร้าวนั้นมีรสชาติหอมมันเป็นเอกลักษณ์ และยังมีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูง สามารถปรุงเป็นเมนูอาหารได้หลากหลาย จึงนิยมขายปลีกด้วยการนำมาทอดขายเพื่อเป็นอาหารทานเล่น หรือไม่ก็ขายแบบในรูปแบบของวัตถุดิบสด จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพระบุว่า ด้วงสาคูสดใหม่นี้จะขายปลีกได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละประมาณ 300 บาทเลยทีเดียว

การขายส่ง

หากไม่ส่งต่อให้กับพ่อค้าคนกลาง ก็จะเป็นแหล่งรับซื้อที่นำด้วงสาคูไปเพิ่มมูลค่าอย่างเช่นร้านอาหาร ลักษณะการขายที่นิยมทำกันอย่างแพร่หลายก็คือ การบรรจุหนอนด้วงถุงละ 1 กิโลกรัม แล้วก็ส่งให้ลูกค้าตามออเดอร์ โดยราคาส่งแบบนี้จะแปรผันไปตามพื้นที่ ช่วงราคาอาจต่างกันที่ประมาณ 20-40 บาท

การขายมูลด้วงสาคูหรือด้วงมะพร้าว

นี่เป็นผลิตผลที่จะได้จากการเลี้ยงด้วงสาคูโดยธรรมชาติ หลังจากหนอนด้วงโตเต็มวัยพร้อมจับขายได้แล้ว พื้นที่เพาะเลี้ยงจะมีเศษอาหารและมูลด้วงสะสมอยู่ ก็สามารถตักไปทำปุ๋ยเพื่อจำหน่ายต่อได้ ราคาจำหน่ายของปุ๋ยจะขึ้นอยู่กับวิธีการแปรรูป เช่น ถ้านำไปหมักเป็นปุ๋ยน้ำก็จะได้ราคาแพงกว่าปุ๋ยด้วงสาคูที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการอะไรเลย เป็นต้น

คุณค่าการแปรรูปอาหาร

ด้วยลักษณะทางกายภาพและองค์ประกอบเชิงชีวภาพของด้วงสาคู ทำให้เหมาะสำหรับการแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายวิธี ทั้งทอด นึ่ง และอบ ซึ่งแต่ละวิธีจะทำให้คุณค่าของสารอาหารเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไป อันดับแรกที่ต้องพูดถึงคือโปรตีน สารอาหารสำคัญที่เป็นจุดขายของด้วงชนิดนี้ คุณพิมพ์เพ็ญและคุณนิธิยาให้ข้อมูลจากการทดลองเพื่อวิเคราะห์คุณค่าของด้วงสาคูไว้ว่า โปรตีนจะลดน้อยลงตามระดับความร้อน ทำให้ด้วงสาคูแบบสด แบบอบ แบบทอด และแบบนึ่ง มีปริมาณโปรตีนจากมากไปน้อยตามลำดับ ขณะที่ไขมันมีเพียงแบบทอดเท่านั้นที่เพิ่มปริมาณสูงขึ้นจากน้ำมันทอด ที่เหลือก็ไล่เลี่ยกันทั้งหมด ปริมาณคาร์โบไฮเดรตจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเมื่อหนอนด้วงผ่านการแปรรูป แต่ก็เป็นคาร์โบไฮเดรตย่อยได้ง่าย สุดท้ายคือเนื้อสัมผัสที่ได้จากการอบจะแห้งที่สุด และแบบทอดจะมีความชื้นมากที่สุด

ด้วงสาคู ประโยชน์
www.innews.news

รู้จักกับด้วงสาคูหรือด้วงมะพร้าว

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้เห็นหนอนด้วงสาคูกันไปบ้างแล้ว เพราะปัจจุบันมีแหล่งเพาะเลี้ยงที่กระจายตัวตามพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น และผลิตภัณฑ์จากหนอนด้วงก็ยังถูกเลือกให้ไปอยู่ในแหล่งซื้อขายขนาดใหญ่มากขึ้นด้วย แต่ก็อาจจะยังไม่รู้ว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้คืออะไร และมีวงจรชีวิตแบบไหนกันแน่

ด้วงสาคูหรือด้วงมะพร้าวคืออะไร

แต่ละพื้นที่จะเรียกด้วงสาคูหรือด้วงมะพร้าวด้วยชื่อที่แตกต่างกันไป เช่น ด้วงลาน ด้วงไฟ ด้วงงวง เป็นต้น ด้วงชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มของแมลงวงศ์ Curculioniidae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhynchophorus ferruginus Oliver รูปร่างของด้วงสาคูที่โตเต็มวัยจะมีขนาดลำตัวยาวสุดประมาณ 3.5 เซนติเมตร ผิวนอกมีตั้งแต่สีน้ำตาลอมส้มจนถึงสีน้ำตาลเข้ม ข้อปล้องแรกถัดจากส่วนหัวจะมีลายแต้มจุดหลายแบบ การเจริญเติบโตของด้วงสาคูจะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมทางด้านโภชนาการ อุณหภูมิและความชื้นในถิ่นที่อยู่ ด้วงสาคูในระยะตัวหนอนนั้นได้รับความนิยมอย่างมากทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติ เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูงและรสชาติอร่อยถูกปาก จึงทำให้มีการเพาะเลี้ยงกันเป็นจำนวนมากทางภาคใต้ คุณพิสุทธิ์ เอกอำนวย จากกรมปศุสัตว์กล่าวว่า การเพาะเลี้ยงนั้นถูกแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ เลี้ยงแบบดั้งเดิมในท่อนสาคูหรือท่อนลานที่ปล่อยให้ด้วงเติบโตตามธรรมชาติ และการเลี้ยงด้วงสาคูประยุกต์ซึ่งเป็นการเลี้ยงในกะละมังแทน

ลักษณะด้วงสาคูหรือด้วงมะพร้าว

ลักษณะของด้วงสาคูจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามช่วงเวลาในวงจรชีวิต จากไข่ สู่ตัวหนอน และเป็นดักแด้ก่อนที่จะโตเต็มวัย ตั้งแต่ระยะไข่จนถึงดักแด้เรายังไม่สามารถแยกเพศของด้วงสาคูได้ ด้วยรูปร่างโดยรวมนั้นเหมือนกันทั้งหมด ต้องรอจนกว่าตัวด้วงจะเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ด้วงสาคูเพศผู้และเพศเมียก็ยังมีรูปลักษณ์ที่คล้ายคลึงกันมาก มีเพียงจุดสังเกตเล็กๆ เพียงจุดเดียวที่ใช้ตัดสินแยกเพศได้ถูกต้องแม่นยำ คือให้ดูบริเวณปลายงวงด้านหน้าสุดที่พุ่งออกจากกึ่งกลางของส่วนหัว ที่งวงนั้นจะมีหนวดแตกออกด้านข้างอีก 2 เส้น ปกติเพศเมียจะมีงวงนี้ยาวกว่าเพศผู้ แต่การเทียบความยาวอาจทำได้ยาก จึงควรดูเส้นขนที่ปลายสุดของงวงแทน เพศผู้จะมีขนเส้นสั้นๆ สีน้ำตาลเข้มจนถึงดำขณะที่เพศเมียจะไม่มีขนเลย

ด้วงมะพร้าว วงจรชีวิต
mgronline.com

วงจรชีวิตด้วงสาคูหรือด้วงมะพร้าว

ด้วงสาคูหรือด้วงมะพร้าวจะมีวงจรชีวิตทั้งหมด 4 ช่วง ดังนี้

  • ระยะไข่ เป็นไข่ฟองเดี่ยวที่รูปร่างเรียวยาว ผิวเป็นมันเงาสีขาวขุ่น กว้างยาวแค่ไม่กี่มิลลิเมตรเท่านั้น ครั้นใกล้จะฟักเป็นตัวไข่จะขยายขนาดใหญ่ขึ้นประมาณ 2.5-3.0 มิลลิเมตร
  • ระยะตัวอ่อนหรือตัวหนอน ตัวอ่อนที่ออกจากไข่ใหม่ๆ จะมีสีขาวนวล ลำตัวอวบอ้วนยืดหดได้ ไม่มีขา ปลายด้านหนึ่งเป็นปากแข็งสีน้ำตาลเข้ม เมื่ออายุมากขึ้นลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองปนน้ำตาล หนอนด้วงที่อุดมสมบูรณ์จะมีขนาดลำตัวยาวได้ถึง 40 มิลลิเมตร
  • ระยะดักแด้ ก่อนเข้าสู่ระยะดักแด้ หนอนด้วงจะหดตัวสั้นลงและมีสีเข้มขึ้นเล็กน้อย จากนั้นจึงใช้เส้นใยในถิ่นที่อาศัยมาถักสานเป็นรังทรงไข่ ภายในกลวงและถักโครงข่ายไว้แน่นหนากว่าภายนอก เมื่อรังเสร็จสิ้นแล้วก็จะเข้าไปอยู่ด้านในประมาณ 15-20 วัน
  • ระยะตัวเต็มวัย หลังครบกำหนดหนอนด้วงจะออกจากรังดักแด้ด้วยรูปลักษณ์ใหม่ เป็นแมลงด้วง 6 ขา ด้านหน้าสุดมีงวงโค้งยาวงอกจากส่วนหัว โดยที่เพศผู้จะมีงวงสั้นกว่าเพศเมียและมีขนบริเวณช่วงปลายของงวงนั้น ตัวเต็มวัยจะมีปีกที่สามารถบินได้อย่างคล่องแคล่ว พวกมันชอบออกบินในตอนกลางวันและหลบพักผ่อนในตอนกลางคืน คุณสุปาณี เลี้ยงพรพรรมกล่าวว่า ช่วงอายุของตัวเต็มวัยจะอยู่ที่ประมาณ 90-180 วัน
วงจรชีวิต ด้วงสาคู
www.cpiagrotech.com

โรงเรือนและอุปกรณ์ในการทำฟาร์มด้วงสาคูหรือด้วงมะพร้าว

เนื่องจากด้วงสาคูมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราการเกิดและการเจริญเติบโต ดังนั้นการเพาะเลี้ยงจึงต้องเลือกใช้อุปกรณ์ให้ถูกต้องและปรับสภาพโรงเรือนให้เหมาะสมเสมอ

1. โรงเรือน

อันดับแรกต้องเข้าใจธรรมชาติของด้วงสาคูก่อนว่า เมื่อโตเต็มวัยแล้วพวกมันจะสามารถบินได้อย่างอิสระ และในขณะที่เป็นตัวอ่อนก็มีศัตรูจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน โรงเรือนจึงต้องมีตาข่ายหรือมุ้งลวดปิดล้อมรอบอย่างมิดชิด เพื่อไม่ให้สัตว์ชนิดอื่นเข้ามาและไม่ให้ด้วงสาคูที่เลี้ยงไว้หลุดออกไป นอกจากนี้พื้นที่ตั้งโรงเรือนจะต้องมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่มีบริเวณที่น้ำท่วมขังได้ง่าย

2. อุปกรณ์ในการเลี้ยง

ถ้าเพาะเลี้ยงในโรงเรือน อุปกรณ์ที่นิยมใช้จะเป็นกะละมังขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40-50 เซนติเมตร ความลึกควรอยู่ที่ประมาณ 20 เซนติเมตร ถ้าตื้นเกินก็เลี้ยงได้น้อย ถ้าลึกไปอากาศก็ระบายได้ไม่ดี จากนั้นใช้ตาข่ายปิดคลุมด้านบนเอาไว้เพื่อกันด้วงหลุดออกมา แต่ถ้าเพาะเลี้ยงกับต้นสาคู ให้ตัดต้นสาคูเป็นท่อนสั้นๆ ประมาณ 46-60 เซนติเมตร แล้วเอาไปวางตั้งเรียงไว้ในโรงเรือน คุณสุปาณีและคุณสมชายแนะนำไว้ในวารสารมหาวิทยาลัยทักษิณว่า ขนาดกระบอกของต้นสาคูที่เหมาะสมจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 36-45 เซนติเมตร

โรงเรือนเลี้ยงด้วงสาคู
today.line.me

การเลี้ยงและการจัดการฟาร์ม

ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงด้วงสาคูและแนวทางบริหารจัดการฟาร์มส่วนมากไม่ยุ่งยากอะไร แค่ต้องเลือกวิธีการให้เหมาะกับสภาพพื้นที่และความพร้อมของตัวเอง และหมั่นดูแลรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับหนอนด้วงเท่านั้น

การเลี้ยงตัวหนอนด้วงสาคูหรือด้วงมะพร้าว

สิ่งที่ต้องทำระหว่างการเลี้ยงด้วงสาคูจะแตกต่างกันไปตามรูปแบบการเพาะเลี้ยงที่เลือก ดังนี้

  • เพาะเลี้ยงโดยใช้ท่อนสาคู
    การเติบโตภายในต้นสาคูเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของด้วงชนิดนี้อยู่แล้ว หน้าที่ของเราจึงมีเพียงแค่คัดเลือกต้นสาคูที่เหมาะสม ตัดให้มีความยาวประมาณ 50-60 เซนติเมตร จากนั้นจะปล่อยพ่อแม่พันธุ์เข้าไปก็ได้ หรือจะใช้วิธีล่อด้วงสาคูในพื้นที่ให้เข้ามาอยู่ในนี้ก็ได้ ปิดคลุมท่อนสาคูเอาไว้ด้วยแผ่นไม้แล้วรดน้ำท่อนสาคูทุกวันเพื่อรักษาระดับความชื้น
  • เพาะเลี้ยงโดยใช้กะละมัง
    เมื่อกะละมังเป็นภาชนะที่เราเอามาประยุกต์ใช้ จึงต้องมีการเติมอาหารเข้าไปเพื่อให้ด้วงสาคูดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วย เริ่มจากเลือกสูตรอาหารที่สามารถหาวัตถุดิบได้ง่ายและทำได้สะดวกเสียก่อน จัดการผสมอาหารแล้วรองไว้ก้นกะละมัง พร้อมกับปรับสภาพภายในให้เหมาะกับการเติบโต แล้วจึงปล่อยพ่อแม่พันธุ์ที่แข็งแรงลงไป
วิธีเลี้ยงด้วงสาคู
www.thairath.co.th

การขยายพันธุ์ด้วงสาคูหรือด้วงมะพร้าว

ทางศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดชุมพร ได้เสนอแนวทางในการขยายพันธุ์ด้วงสาคูที่น่าสนใจเอาไว้ดังนี้

  • การขยายพันธุ์หนอนด้วงสาคูแบบพัฒนา
    จัดการผสมวัตถุดิบตามสูตรอาหารดังนี้ ต้นสาคูบด 10 กิโลกรัม อาหารหมูรุ่น 0.5 กิโลกรัม เปลือกมะพร้าวสดสับ 1 กิโลกรัม น้ำสะอาด 2 ลิตร และกากน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ โดยเริ่มจากละลายส่วนของกากน้ำตาลและอาหารสัตว์ก่อน ค่อยนำวัตถุดิบที่เหลือมาคลุกเคล้าจนเข้ากัน พอได้ที่แล้วให้อัดใส่กะละมังจนแน่น ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ลงไปก่อนปิดฝา ทิ้งไว้ราวๆ 25-30 วันก็จะได้หนอนด้วงสาคูมากพอที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้แล้ว
  • การผลิตพ่อแม่พันธุ์ด้วงสาคู
    พ่อแม่พันธุ์ด้วงสาคู 1 ชุด จะใช้เพื่อขยายพันธุ์หนอนด้วงได้เพียงรุ่นเดียวเท่านั้น จึงจำเป็นจะต้องมีการผลิตพ่อแม่พันธุ์เพิ่มเสมอ วิธีการคือเตรียมอาหารผสม โดยใช้ต้นสาคูบด 10 กิโลกรัมกับอาหารเลี้ยงสัตว์ 0.5 กิโลกรัม คลุกจนกว่าจะเข้ากันดีค่อยนำไปรองก้นกะละมัง วัดความหนาให้ได้สักประมาณ 1 นิ้ว เสร็จแล้วนำเปลือกมะพร้าวสดที่แช่น้ำจนชุ่มวางทับลงไป โรยอาหารผสมปิดช่องว่างระหว่างเปลือกมะพร้าวอีกครั้ง ปล่อยหนอนด้วงสาคูลงไป 100 ตัว ทิ้งไว้ 20-30 วันค่อยมาเก็บรังดักแด้ออกไปรอการฝัก สุดท้ายคือจัดการแยกเพศด้วงเพื่อเก็บไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป
ด้วงมะพร้าว ประโยชน์
farmchannelthailand.com

การเก็บด้วงสาคูหรือด้วงมะพร้าวเพื่อจำหน่าย

ขั้นตอนการเก็บด้วงสาคูก็ไม่ได้ยุ่งยากมากนัก เพียงแค่ต้องรอให้ครบกำหนดประมาณ 35-40 วันที่ตัวหนอนด้วงจะโตเต็มที่เสียก่อน จากนั้นให้เราจับหนอนออกจากแหล่งเพาะเลี้ยงทีเดียวทั้งหมด แล้วเลี้ยงต่อด้วยมะพร้าวขูดอีกสัก 1-2 วัน ครบกำหนดแล้วให้นำมาล้างทำความสะอาดก่อนน็อคน้ำเย็น สะเด็ดน้ำให้แห้งแล้วบรรจุลงถุง ส่วนมากจะนิยมที่ขนาดบรรจุประมาณ 1 กิโลกรัม เก็บรักษาด้วยการแช่เย็นที่อุณหภูมิ 1-4 องศาเซลเซียส

ปัญหาที่พบในการเลี้ยงและวิธีแก้ไข

  • ศัตรูของด้วงสาคู เนื่องจากตัวอ่อนของด้วงสาคูนั้นเป็นอาหารอันโอชะของสัตว์หลายชนิด การปิดล้อมโรงเรือนด้วยตาข่ายที่ได้มาตรฐานก็จะช่วยกันสัตว์ใหญ่ได้ในระดับหนึ่ง แต่สำหรับมดและสัตว์ที่มีขนาดเล็กก็นับว่าป้องกันได้ยากพอสมควร หากในพื้นที่มีมดปริมาณมาก ให้ทำร่องน้ำรอบโรงเรือนเพิ่มเติม พร้อมทั้งหมั่นตรวจสอบความเรียบร้อยของโรงเรือนอย่างสม่ำเสมอ
  • สภาพภูมิอากาศ ถ้าระดับความชื้นในอากาศไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้ด้วงสาคูเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร นี่เลยเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมสัตว์ชนิดนี้ถึงนิยมเลี้ยงกันมากในภาคใต้ ที่มีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมากและยาวนานตลอดทั้งปี นอกจากนี้การถ่ายเทของอากาศในโรงเรือนก็สำคัญ จำไว้ว่าต้องชื้นแต่ไม่อับถึงจะดี

การทำความสะอาดและบำรุงรักษา

  • โรงเรือนและอุปกรณ์ ข้อดีของการเลี้ยงด้วงสาคูก็คือทั้งโรงเรือนและอุปกรณ์ไม่ได้มีระบบที่ซับซ้อนมากนัก การดูแลรักษาจึงค่อนข้างเรียบง่าย เพียงแค่คอยเก็บกวาดโรงเรือนไม่ให้มีสิ่งสกปรกสะสม และไม่มีสัตว์ที่เป็นศัตรูหนอนด้วงอาศัยอยู่ ส่วนอุปกรณ์ก็ล้างทำความสะอาดทุกครั้งที่เก็บผลผลิตแต่ละรุ่นออกไป
  • การขจัดของเสีย สิ่งเดียวที่ต้องจัดการก็คือเศษซากอาหารและมูลของด้วงสาคู โดยทำครั้งเดียวหลังจากเก็บตัวหนอนด้วงออกไปแล้ว ให้นำของเสียทั้งหมดนั้นไปแปรรูปเป็นปุ๋ย ส่วนจะนำไปใช้ในการเกษตรด้านอื่นๆ ในพื้นที่ของตัวเองหรือบรรจุถุงขายก็แล้วแต่ความสะดวก
ปัญหาการเลี้ยงด้วงสาคู
www.technologychaoban.com

แหล่งอ้างอิง

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้