ปลาเสือตอ ปลาสวยงามหายาก มีสิ่งสำคัญที่ควรรู้ก่อนนำมาเลี้ยง

ปลาเสื้อตอ (Siamese Tiger Fish) เป็นปลาน้ำจืดที่น่าสนใจ เป็นปลาที่คนนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามแต่มีคนกล่าวถึงไม่มากนัก อาจจะเป็นเพราะปลาชนิดนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากแหล่งน้ำธรรมชาติในประเทศไทย และเหลือน้อยมาก จนถือเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์ในแหล่งอื่นด้วย แล้วคุณสงสัยไหมว่าปลาชนิดนี้มีอะไรที่น่าดึงดูดให้คนนิยมเลี้ยง แล้วปลาชนิดนี้สามารถเพาะเลี้ยงได้ไหม…

ปลาเสือตอ
credit : ชมรมคนเลี้ยงปลาเสือตอ
ปลาเสื้อตอ (Siamese Tiger Fish) ถูกเรียกกันในหมู่นักเลี้ยงปลาว่า ปลาเสือตอเขมร ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าปลาเสือตอถูกพบในไทยที่แรก แต่หายสาบสูญไปแล้วในปัจจุบันปลาที่อยู่ในตลาดปลากันส่วนใหญ่นี้มาจากประเทศกัมพูชา ซึ่งมาจากแหล่งน้ำเดียวกันคือแม่น้ำโขง ยิ่งไปกว่านั้นปลาเสือตอที่เลี้ยงและจำหน่ายอยู่ในทุกวันนี้เป็นปลาที่ได้จากการจับจากธรรมชาติทั้งหมด เนื่องจากปลาเสือตอเป็นปลาที่เพาะพันธ์ุได้ยากมากโดยเฉพาะปลาเสือตอลายใหญ่

จากสถานการณ์ปัจจุบันทั้งสภาพแวดล้อมและความต้องการปลาเสือตอที่สูงขึ้นเรื่อยๆโดยที่ยังหาวิธีเพาะพันธุ์เพื่อทดแทนคืนสู่ธรรมชาติได้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงที่ปลาเสือตออาจจะสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ นับวันปลาเสือตอเป็นที่ต้องการของตลาดนักสะสมปลาอย่างมากเนื่องจากเป็นปลาที่หายาก ส่งผลให้ราคาค่อนข้างสูง ทำให้เกษตรกร นักสะสมปลาหลายคนมองเห็นโอกาสตรงนี้และเข้ามาหาความรู้เพื่อที่จะนำไปต่อยอด เผื่อมีโอกาสที่จะไปหาช่องทางสร้างรายได้ได้ในอนาคต 

ทั้งนี้หากเราสามารถที่จะเลี้ยงและเพาะพันธุ์ไปถึงขั้นการทำเป็นปศุสัตว์ได้จะเป็นการเพิ่มรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำอย่างแน่นนอนและมากไปกว่านั้นยังเป็นการอนุรักษ์ปลาเสือตอไว้อีกด้วย แต่ก่อนไปถึงจุดนั้น kaset.today อยากจะบอกคุณว่า คุณจะต้องทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับปลาเสือตอเสียก่อนว่า ปลาเสือตอมีกี่สายพันธุ์ สายพันธุ์ไหนที่ราคาดี ปัจจัยอะไรที่ทำให้ปลาเสือตอเป็นปลาราคาสูง เราสามารถที่จะเลี้ยงปลาเสือตอได้หรือไม่ และหากปลาเสือตอเป็นปลาที่เป็นสัตว์คุ้มครอง จะสามารถเลี้ยงปลาเสือตอได้อย่างไร เพื่อเป็นพื้นฐานความรู้ในการนำไปต่อยอดในอนาคต

ข้อมูลทั่วไปของปลาเสือตอ

ชื่อภาษาไทย : ปลาเสือตอ

ชื่อภาษาอังกฤษ : Siamese tiger fish

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Datnioides (Coius) microlepis

สกุล : Datnioide


มารู้จักกับปลาเสือตอกัน

จาการค้นคว้าของ กลุ่มงานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้้าจืด กล่าวว่า ปลาเสือตอ เป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม ลำตัวสีเหลืองคาดด้วยลายสีดำเป็นริ้วตลอดทั้งลำตัวทั้งสองด้าน เหมือน “เสือ”แหล่งที่อยู่ในธรรมชาติมักพบบริเวณตอไม้ใหญ่ และ บริเวณพรรณไม้น้้า จึงถูกเรียกว่า “ปลาเสือตอ” ลักษณะทั่วไปของปลาเสือตอ มีลำตัวแบน ปากยืดหดได้ สีพื้นลำตัวเป็นสีเหลืองนวล หรือสีเหลืองน้้าตาล และมีแถบสี ดำขนาดใหญ่ พาดขวางลำตัว บริเวณหัว แผ่นปิดเหงือก ลำตัว และคอดหาง

ปลาเสือตอ
credit : ninekaow

ปลาเสือตอเป็นปลาที่สามารถพบได้แค่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่พบปลาชนิดนี้ ได้แก่ ประเทศไทย เขมร เวียดนาม อินโดนีเซียและที่หมู่เกาะปาปัวนิวกินี ในประเทศไทยมักพบได้ทั่วไปตั้งแต่ต้นแม่น้ำโขงลงมา ในลุ่มแม่น้ำภาคกลาง อย่างแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน่าน แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำไทรโยค พบมากที่ บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้น และพบที่โตนเลสาบ (Tonle Sap) ซึ่งเป็นแหล่งประมงค์น้ำจืดที่สำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศกัมพูชา(เขมร) ภายหลังปลาเสือตอยังถูกค้นพบในเวียดนามด้วยเช่นกัน เนื่องจากโตนเลสาปเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่มาก ทะเลสาปแห่งนี้รับน้ำจากแม่น้ำโขงไหลลงผ่านเวียดนามไปสู่ทะเลประเทศเวียดนามนั่นเอง

ส่วนปลาเสือตอที่ถูกพบทางตอนใต้ของเอเชียตะวันออก ถูกพบบริเวณปากแม่น้้าและชายฝั่งปาปัวนิวกีนี แถบอีเรียนจายา เกาะบอร์เนียว และเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย


ปลาเสือตอมีกี่สายพันธุ์ในโลกนี้

ปลาเสือตอในปัจจุบันนี้ที่พบทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศอนุกรมวิธานได้แบ่ง ปลาเสือตอนักออกเป็นทั้งหมด 4 สายพันธุ์ได้แก่

  • ปลาเสือตอลายใหญ่หรือปลาเสือตอลายคู่เขมร
  • ปลาเสือตอลายใหญ่หรือปลาเสือตอลายคู่อินโดนิเซีย(เสือตอสุมาตรา)
  • ปลาเสือตอลายเล็ก
  • ปลาเสือตอปาปัวนิวกินี

และมีพันธุ์ปลาที่ใกล้เคียงกันอีก 1 สายพันธุ์ ได้แก่ ปลากระพงลาย ซึ่งเป็นปลามีความคล้ายคลึงกับปลาสือตออย่างมากจน จัดอนุกรมวิธานเดียวกันแต่ไม่นับเป็นปลาเสือตอ ปลาชนิดนี้มีความคล้ายคลึงกับปลาเสือตออย่างมาก จนทำให้ผู้สนใจเลี้ยงปลาสวยงามปลามือใหม่สับสนอยู่บ่อยๆ

ปลาเสือตอที่มาจากแหล่งกำเนิดที่ต่างกัน ก็จะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันในแต่ละที่ สามารตรวจสอบแหล่งที่มาด้วยวิธีทางชีววิทยาหากต้องการความแน่นอน แต่ก็สามารถพิจารณาเบื้องต้นได้เช่นกันจากการดูร่วมกันจากลัษณะทางกายพาย รูปร่าง สี ลายและพฤติกรรม 

ปลาเสือตอลายใหญ่และปลาเสือตอลายคู่เขมร

  • ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ : Siamese Tigerfish
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Datnioides pulcher)
ปลาเสือตอ
credit : Animal & LoveFishClub TV

จากแหล่งน้ำไทยและเขมร ปัจจุบันเรียกกันในหมู่นักสะสมปลาเสือตอประเทศไทยว่า “ปลาเสือตอเขมร” เนื่องจากปลาที่ขายกันอยู่นั้นมาจากเขมร ในประเทศไทยนั้นสูญพันธุ์ไปแล้ว ส่วนในเขมรและเวียดนามยังคงจับได้อยู่แต่ก็น้อยลงมากและยังอยู่ในสัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ ในทางวิชาการปลาเสือตอลายใหญ่และปลาเสือตอลายคู่จัดอยู่ในสายพันธุ์เดียวกัน มีความแตกต่างกันแค่ที่ลาย แหล่งกำเนิดมาจากลุ่มแม่น้ำภาคกลาง อย่าง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน่าน แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำไทรโยค เป็นต้น และที่ประเทศกัมพูชา(เขมร) พบบริเวณโตนเลสาป ในภายหลังถูกค้นพบในเวียดนามด้วยเช่นกัน เนื่องจากโตนเลสาปเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่มาก รับน้ำจากแม่น้ำโขงไหลลงผ่านเวียดนามไปสู่ทะเลประเทศเวียดนาม

ลักษณะทั่วไปของปลาเสือตอลายใหญ่เขมร ลำตัวอวบหนา ส่วนหัวค่อนข้างชัน ไม่ลาด รูปร่างแบนข้าง ปากยาวสามารถยืดได้ ครีบก้นเล็กมีก้านครีบแข็ง 3 ชิ้น ครีบหลังแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนหน้าเป็นก้านครีบแข็งมีเงี่ยง 13 ชิ้น ตอนหลังเป็นครีบอ่อน เกล็ดเป็นแบบสาก พื้นตัวสีเหลืองแวววาว บางตัวจะออกสีน้ำตาล แถบสีดำขนาดใหญ่บนลำตัวมีริ้ว 6-7 เส้น คาดในแนวเฉียงโดยเส้นที่ 1 เริ่มนับจากที่ตา เส้นที่ 3 และ 4 จะมีขนาดใหญ่กว่าเส้นอื่น

โดยปลาเสือตอลายใหญ่เขมรเป็นลายที่หายากที่สุด เป็นที่ต้องการมากที่สุด และราคาสูงที่สุดในบรรดาวงศ์ปลาเสือตอทั้งหมด

ลักษณะทั่วไปของปลาเสือตอลายคู่เขมร ลักษณะคล้ายกับปลาเสือตอลายใหญ่เขมร แตกต่างที่ลายเส้นที่3ของปลาเสือตอลายคู่เขมร จะขนานกับลายเส้นที่4

ปลาเสือตอ
credit : lovefishclub.com

ปลาเสือตอลายใหญ่และปลาเสือตอลายคู่สุมาตรา

  • ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ : Indo Tigerfish
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Datnioides microlepis
ปลาเสือตอ
credit : Animal & LoveFishClub TV

ปลาเสือตอลายใหญ่และปลาเสือตอลายคู่สุมาตราหรือปลาเสือตออินโดนีเซียพบบริเวณเกาะบอร์เนียว เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ปลาเสือตอลายใหญ่และปลาเสือตอลายคู่สุมาตรา ในทางวิชาการถือเป็นสายพันธุ์เดียวกันมีลักษณะคล้ายกัน แต่จะมีความแตกต่างเพียงลายที่เกิดจากพันธุ์กรรม 

ลักษณะทั่วไปของปลาเสือตอลายใหญ่สุมาตราค่อนข้างคล้ายปลาเสือตอเขมร แต่ลำตัวจะมีขนาดแคบกว่าและส่วนหัวค่อนข้างลาดเอียง จะไม่ชันเท่าปลาเสือตอเขมร ลำตัวสีเหลืองอ่อนคล้ายสีของกล้วย ลายสีดำจะมี 7 เส้นเสมอ เมื่อเทียบกับปลาเสือตอเขมร สีของปลาเสือตอสุมาตราจะมีความไม่นิ่งมากกว่า และมักจะมีจุดด่างกลางลำตัว เป็นอีกข้อสังเกตุในการเขมรแยกปลาเสือตอสุมาตราออกจากปลาเสือตอ

ลักษณะทั่วไปของปลาเสือตอลายคู่สุมาตรา เหมือนปลาเสือตอลายใหญ่จากอินโด ลายบนลำตัวปลาเสือตออินโดลายคู่จะมี 8 แถบเสมอ ส่วนปลาเสือตอลายใหญ่อินโดจะมี 7 แถบเสมอ และลายสีดำของปลาเสือตอลายคู่สุมาตราจะขนานกันในเส้นที่3และเส้นที่4เสมอ เห็นได้ว่าปลาเสือตอเขมรและปลาเสือตอสุมาตรามีลักษณะที่แตกต่างกันไม่มาก ต้องอาศัยการสังเกตุในการจำแนกความแตกต่างของปลาจากสองแหล่งเนื่องจากถึงแม้รูปลักษณ์จะแตกต่างกันไม่มาก แต่ความนิยมของปลาสองชนิดนี้แตกต่างกัน ปลาเสือตอเขมรจะมีความนิยมมากกว่าปลาเสือตอสุมาตรา ทำให้ราคาของปลาเสือตอเขมรสูงกว่าตามไปด้วย

ปลาเสือตอ
credit : fishingthai
ปลาเสือตอ
 credit : lovefishclub (เปรียบเทียบความต่างระหว่างปลาเสือลายคู่เขมรและลายคู่อินโด)

ดังนั้นสำหรับนักสะสมปลาหรือผู้ที่เริ่มสนใจควรที่จะแยกปลาจากสองแห่งที่มาออกจากกันได้โดยอาศัยจากรูปลักษณะภายนอกที่สังเกตได้ ความแตกต่างของปลาทั้งสองชนิดมีดังนี้

1.มีนิสัยของปลาเสือตอสุมาตราเมื่อเทียบกับปลาเสือตอเขมรจะมีนิสัยขี้อายเมื่อจับขึ้นมาจากน้ำจะดิ้นแรง

2.ปลาเสือตอสุมาตราจะมีด่างที่ลำตัวเสมอ ส่วนปลาเสือตอเขมรจะไม่มี

3.ปลาเสือตอเขมรจะมีลายดำคาดที่ลำตัว6-7เส้น ถ้ามี 6 เส้น เป็นปลาเสือตอเขมรแน่นอน ถ้ามี 7 เส้น อาจจะเป็นปลาเสือตอลายคู่เขมร หรือไม่ชัดเจนต้องใช้ข้อแตกต่างอื่นๆในการพิจารณาร่วมด้วย

4.ในปลาเสือตอสุมาตรา ลายดำเส้นที่6 จะไม่เชื่อมต่อจากส่วนครีบด้านบนลงมาเสมอ

5.ลายสีดำที่พาดลำตัวของปลาเสือตอเขมรจะมีความเฉียงกว่า ในปลาเสือตอสุมาตราจะค่อนข้างตรง

6.ปลาเสือตอเขมรสีจะสวย และนิ่งกว่าปลาเสือตอสุมาตรา

ปลาเสือตอลายเล็ก

  • ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ : Northern Thai Tigerfish
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Datnioides undecimradiatus
ปลาเสือตอ
credit : PUSAT UNGGULAN IPTEK IKAN HIAS | PUI Ikan Hias

ปลาเสือตอลายเล็ก เป็นปลาเสือตอที่อยู่ในแม่น้ำโขง พบได้ทั่วไปตั้งแต่ต้นแม่น้ำโขงลงมา จะมีลักษณะขนาดเล็กกว่าปลาเสือตอทั่วไปทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน  โตช้า เป็นปลาที่จับได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เนื่องจากมีสีสันที่สวยงาม และราคาถูก ปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์ได้ที่กรมประมง จังหวัดนครสวรรค์ แต่ยังไม่สมบูรณ์และได้ในปริมาณที่ไม่มาก ปลาเสือตอลายเล็กจะอยู่ในแม่น้ำโขง ซึ่งแม่น้ำโขงมีอาณาบริเวณติดกับทั้งชายแดนกัมพูชาและชายแดนไทย ดังนั้นทั้งสองประเทศสามารถจับปลาชนิดนี้ได้เหมือนกัน มีคนบางกลุ่มนำปลาชนิดนี้เข้ามาขายในไทยและบอกว่าเป็นปลาเสือตอลายเล็กเขมรเพื่อเพิ่มราคาให้สูงขึ้น ในเรื่องนี้จริงๆแล้วผู้ขายพูดไม่ผิดไปซะทีเดียวแต่เป็นเรื่องของภูมิคุ้มกันของผู้ซื้อที่จะต้องมีความรู้เพียงพอไม่หลงกล ดังนั้นปลาเสือตอที่จับได้จากฝั่งน่านน้ำฝั่งไทยและน่านน้ำเขมรจริงเป็นปลาสายพันธุ์เดียวกันมาจากแหล่งน้ำเดียวกัน

ลักษณะทั่วไปของปลาเสือตอลายเล็ก จะมีลำตัวที่ผอมเรียวยาวบางเมื่อเทียบกับลายใหญ่และลายคู่ ส่วนสันด้านหน้าจะค่อนข้างลาด ไม่ตั้งชันมาก เกล็ดจะมีขนาดใหญ่และหยาบกว่าลายใหญ่และลายคู่ลำตัว พื้นตัวสีเหลืองอ่อน ลายสีดำมี 6 เส้น มีความบาง ลายดำเส้นที่ 5 ไม่ติดกัน ขนาดลำตัวโตเต็มที่ประมาณ 30 เซนติเมตร

ปลาเสือตอปาปัวนิวกินี

  • ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ : New Guinea Tigerfish
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Datnioides campbelli
ปลาเสือตอ
credit : Datnioides Campbelli

ปลาเสือตอปาปัวนิวกินี อาศัยอยู่ในน้ำที่ค่อนข้างกร่อย พบห่างจากชายฝั่งไม่มาก รูปร่างคล้ายกับปลาเสือตอจากอินโดนีเชียแต่ยาวกว่า ส่วนหัวลาดแหลม เกล็ดมีขนาดใหญ่และหยาบ ลำตัวมีสีเหลืองอ่อน ลายบนลำตัวมีขนาดเล็ก 7-8 เส้นนับเส้นแรกจากตาถึงหาง ลายสีดำจะดูเปรอะ ไม่เป็นระเบียบ ไม่เรียบคม ในตอนเล็กๆสีเหลืองที่ลำตัวจะเหลืองสดใสมาก แต่เมื่อโตแล้วสีจะดำ ลำตัวยาวเต็มที่อยู่ที่ 36 เซนติเมตร  เกล็ดของปลาชนิดนี้จะมีขนาดใหญ่กว่า ลายดำจะไม่เรียบ ขอบขุขระ ซี่เหงือกจะน้อยกว่าปลาชนิดอื่นๆ แถวอินโดนีเซียมักตกเป็นกิจกรรมและตกเพื่อบริโภคด้วย 

ปลากระพงลาย

  • ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ : Sliver Tigerfish
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Datnioides polota
ปลาเสือตอ
credit : segrestfarms

ปลากระพงลาย อยู่ในตระกูลปลาเสือตอ จึงมีส่วนคล้ายปลาเสือตอย่างมาก พบบริเวณน้้ากร่อย พบได้ตั้งแต่ แถบประเทศอินเดียจนถึง ประเทศอินโดนีเซีย มีรูปร่างคล้ายกับปลาเสือตอชนิดอื่นๆ ในวงศ์นี้ แต่มีช่วงปากและรูปทรงลำตัวที่เรียวยาวและแหลมกว่าปลาเสือตอ เกล็ดเป็นแบบละเอียด ลำตัวมีสีขาวเหลือบเงิน ลายแถบสีดำบนลำตัวมีขนาดเรียวเล็ก ความแตกต่างของปลากระพงลายที่นอกจากสีเงินวาวแล้วในปลากระพงลายบางตัว ลายเส้นสุดท้ายจะแยกออกจากกัน จนมองเห็นเป็นจุดสองจุด

ปลาเสือตอ
credit : fishingthai

เลี้ยงและเพาะพันธุ์ปลาเสือตออย่างไรให้ถูกต้อง

การเพาะพันธุ์ปลาเสือตอ

ปลาเสือตอโดยเฉพาะปลาเสือตอลายใหญ่ในตลาดมีราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นปลาที่พบได้เฉพาะในแหล่งน้ำธะรมชาติยังไม่สามารถเพาะพันธุ์ได้ ข้อมูลจาก กรมประมง ทำให้ทราบว่าปลาเสือตอลายใหญ่สูญพันธุ์ในไทยมากว่า20-30ปีแล้ว และในปัจจุบันปลาเสือตอสายพันธุ์เดียวกันที่อยู่ในแหล่งน้ำเขมรและเวียดนามก็ใกล้สูญพันธุ์เต็มทีแล้วเช่นกัน เนื่องจากปลาที่จับได้และอยู่ในตลาดปลาทุกวันนี้เป็นปลาที่จับได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งหมด ส่วนปลาที่เหลืออยู่ ก็กระจายอยู่กับผู้เลี้ยง โดยไม่มีการเพิ่มจำนวนขึ้น 

จากที่เราไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์ปลาเสือตอในประเทศไทยได้พบว่ามีงานวิจัยของ คุณยงยุทธ ทักษิญ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารสัตว์น้ำ ที่ทำให้ทราบว่า ปัจจุบันสามารถที่จะเพาะพันธุ์การพัฒนาการเพาะพันธุ์ปลาเสือตอลายเล็ก Coius undecimradiatusได้แล้วและเป็นสายพันธุ์เดียวที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ในขณะนี้ และ งานวิจัยของสถานีประมงจังหวัด นครสวรรค์ รายงานว่าสามารถเพาะพันธุ์ได้ด้วยวิธีธรรมชาติโดยการปล่อยพ่อแม่พันธุ์ลงเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 และประสบความสำเร็จในขั้นอนุบาลในสองปีต่อมา ทางสถานีประมงจังหวัด นครสวรรค์ จึงทำงานวิจัยขึ้นเพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำนำข้อมูลไปต่อยอดใช้ในการสร้างรายได้ ต่อไป

การเลี้ยงปลาเสือตอ

ในการเลี้ยงปลาเสือตอนั้นสามารถเพาะพันธุ์ได้ด้วยวิธีธรรมชาติโดยการปล่อยพ่อแม่พันธุ์ลงเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ หรือสำหรับการเลี้ยงแบบอิงตามธรรมชาติจะเป็นการเลี้ยงในบ่อคล้ายกับการเลี้ยงปลามังกรในบ่อดิน และสำหรับใครที่จะเลี้ยงในตู้ปลาสวยงามก็สามารถเตรียมอุปกรณ์ได้ดังนี้

ปัจจัยที่สำคัญในการเลี้ยง

  • น้ำเป็นปัจจัยแรกที่ผู้เลี้ยงปลาควรคำนึงถึง โดยเฉพาะปลาที่กินจุอย่างปลาเสือตอ ที่อาจจะเกิดน้ำเน่าเสียได้ง่ายจากขี้และและเศษอาหารที่หลงเหลือ ควรมีระบบกรองที่มีขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพ วัสดุกรองที่นิยมได้แก่หินพัมมิส และใยแก้วปะการังไม่ค่อยจะเหมาะสมกับปลาเสือตอนักเพราะนานไปจะทำให้น้ำกระด้าง นอกจากนี้ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง หรือถ้าเลี้ยงปลาค่อนข้างหนาแน่น ก็ต้องมีถึงสองครั้งต่ออาทิตย์ ผู้เลี้ยงสามารถติดตั้งระบบโอเวอร์โฟร์น้ำในตู้หรือในบ่อ เพื่อลดภาระและยังลดความเสี่ยงในกรณีที่ลืมหรือขี้เกียจถ่ายน้ำได้อีกด้วย
  • อุณหภูมิเป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงปลาทุกชนิด ในการเลี้ยงปลาในที่กักขังไม่ว่าในบ่อซีเมนต์หรือตู้ปลา อุณหภูมิน้ำจเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศโดยรอบปลาแต่ละชนิดก็จะเหมาะกับอุณหภูมิต่างกันตามแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติ อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับปลาเสือตออยู่ที่ 29 ไม่เกิน 31 องศาและไม่ต่ำกว่า 27 องศา หากอุณหภมิต่ำจะเสี่ยงทำให้เกิดโรคต่างๆตามมา อาทิ โรคจุดขาว และหากสูงกว่านี้มากๆเกินจะทำให้ปลาหอบและตาย ควรดูแลไม่ให้อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนไปมาในแต่ละวัน แต่ก็สามารถเลี้ยงเสือตอในตู้ที่ตั้งไว้ในห้องแอร์ได้ หากเป็นตู้ขนาดใหญ่ที่มีมวลน้ำมาก เช่นตู้ 60 นิ้วขึ้นไป
  • อาหาร ปลาเสือตอเป็นปลาล่าเหยื่อในธรรมชาติจับกินเหยื่อที่มีชีวิต สามารถเคลื่อนไหวได้เป็นอาหาร สามารถเลี้ยงด้วยอาหารที่ไม่มีชีวิตได้แต่ต้องฝึกให้ปลาเสือตอยอมรับ และเคยชินกับอาหารที่ไม่มีชีวิตเสียก่อน
  • สภาพแวดล้อม ตู้ที่ใช้เลี้ยงเสือตอควรมีขนาดพอเหมาะ เล็กเกินไปปลาเครียดจนผอมเนื่องจากไล่เหยื่อไม่ทัน เสือตอทั้งเขมรและอินโด ในช่วงแรกก็สามารถเลี้ยงรวมกันได้หลายๆตัว แต่ในการเลี้ยงรวมกันอาจจะมีบ้างปลาจะกัดกันหางแตก หรือข่มกันจนสีดำบ้างเหลืองบ้าง แต่เมื่อผ่านไปนานๆ การกัดกันมีแนวโน้มจะน้อยลงเป็นลำดับ แต่ผู้เลี้ยงต้องสังเกตุดูหากมีความรุนแรงมากต้องแยกออกจากกันก่อน ส่วนการลงปลาใหญ่ ก็มักจะมีการกัดกันเพื่อหยั่งเชิงบ้างให้ผู้เลี้ยงใจแข็งอดทนดูซักระยะ การกัดกันจะลดลงไปเอง ส่วนการปูหินในผู้เลี้ยงมือใหม่ เลี้ยงแน่นตู้เล็ก และยังไม่มีวินัยการเปลี่ยนน้ำพอ แนะนำว่าไม่ควรปูหินเพราะขี้ปลาจะลงไปสะสมทำให้หมักหมมได้ นอกจากนี้ก็ยังมีกรณีที่ปลากินเหยื่อและฮุบเอาหินเข้าไปติดคอหรือลงไปอยู่ในท้องจนตาย นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่ตู้ปลาจะแตกจากหินที่นำลงไปปูด้วยเช่นกัน

อุปการณ์การเลี้ยง

  1. พาชนะในการเลี้ยงปลา บ่อหรือตู้เลี้ยงปลาที่มีขนาดใหญ่เพียงพอกับขนาดและปริมาณปลา
  2. เครื่องปั๊มอากาศ ทำหน้าที่เพิ่มปริมาณออกซิเจนละลายน้ำในตู้ปลา ทำให้ปลาสดชื่นไม่อึดอัด
  3. เครื่องกรองน้ำ การกรองน้ำในตู้ปลามีความสำคัญมาก เพราะการเลี้ยงปลาสวยงามผู้เลี้ยงต้องการให้มีความสวยงามมากที่สุด น้ำควรจะต้องใส ไม่มีเศษอาหาร ตะกอน หรือสิ่งขับถ่ายของปลามาลอยรบกวนสายตา ทำให้น้ำมีคุณภาพดี ส่งผลให้ปลามีสุขภาพดีด้วย
  4. เครื่องทำความร้อน หรือฮีตเตอร์ (Heater) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยปรับอุณหภูมิของน้ำในตู้หรือในบ่อปลา เพื่อควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมกับปลาแต่ละชนิด
  5. หลอดแสงแดดเทียมเป็นอุปกรณ์สำหรับเพิ่มแสงสว่างในตู้ปลา ทำให้มองดูปลามีสีสันสดใสมากขึ้น การใช้หลอดแสงแดดเทียมเปิดให้ปลาในช่วงเวลากลางวันจะช่วยให้พรรณไม้น้ำสามารถสังเคราะห์แสงได้ ทำให้ลดธาตุอาหารต่างๆที่เกิดขึ้นในระหว่างเลี้ยงปลา ช่วยทำให้ปลามีสุขภาพดี อาจเรียกหลอดชนิดนี้ว่า Aquarium Light ควรเปิดให้ตู้ปลาวันละ 8 ชั่วโมง
  6. กระชอนหรือสวิง ใช้ในการจับปลา ให้อาหาร รวมถึงการตักเศษผงไม่พึงประสงค์ที่ปลิวตกลงไปในบ่อปลา
  7. ฝาปิดตู้ปลา เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและปลากระโดดได้ เนื่องจากปลาเสือตอเป็นปลาที่ค่อนข้างก้าวร้าว ฝาปิดตู้ปลาจึงจำเป็นอย่างยิ่ง

อาหารสำหรับปลาเสือตอ และการฝึกการกินอาหารเม็ด

ปลาเสือตอจะมีนิสัยการกินอาหาร เป็นปลาล่าเหยื่อในธรรมชาติ ชอบจับกินเหยื่อที่มีชีวิต สามารถเคลื่อนไหวได้เป็นอาหาร ลูกปลาเสือตอชอบกินไรแดงสามารถกินอาหารประเภทไข่ปลา เช่น ไข่ปลาสวาย ไข่ปลาไน ส่วนอาหารในปลาโต เหยื่อที่เป็นที่นิยม ได้แก่ ปลานิล กุ้งฝอย ปลาสอด เป็นต้น  แต่ก็สามารถหัดให้กินเหยื่อตายได้ ส่วนการเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดจะให้สารอาหารได้น้อยปลาอาจจะอมและบ้วนทิ้งทำให้น้ำเสียได้จึงนิยมให้อาหารแบบล่าเหยื่อมากกว่า แต่การเลี้ยงอาหารเม็ดก็ยังทำได้แต่ต้องอาศัยความอดทนของผู้เลี้ยง ในตอนแรกเริ่มอาจจะบดอาหารเม็ดและผสมกับเหยื่อตายให้ก่อนสักสองสามวันหลังจากนั้นอดอาหารหนึ่งวันและก็ลองให้อาหารเม็ดอีกรอบ วิธีนี้จะเป็นการฝึกปลาให้ปลากินอาหารเม็ดได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปลาเสือตอที่เลี้ยงด้วยอาหารที่มีชีวิต จะมีอัตราการเจริญเติบโตดีกว่าปลาเสือตอ ที่เลี้ยงด้วยอาหารที่ไม่มีชีวิต ปลาเสือตอที่เลี้ยงด้วยอาหารที่มีชีวิต ลําตัวจะมีสีสวยงามกว่าปลาเสือตอที่เลี้ยง ด้วยอาหารที่ไม่มีชีวิต ซึ่งสังเกตได้อย่างชัดเจน


การเพาะพันธุ์ปลาเสือตอเชิงการค้า

การเพาะพันธุ์ปลาเสือตอในปัจจุบันที่สามารถทำได้มีเพียงสายพันธุ์เดียวคือปลาเสือตอลายเล็ก ด้วยต้นทุนที่ค่อนข้างสูงและข้อจำกัด ที่ไม่มีตัวอย่างปลาเพียงพอที่จะนำมาทดลองพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ในการเพาะพันธุ์อาจจะต้องมีการสูญเสียเนื่องจากการทดลอง ด้วยความที่ปลาเสือตอเป็นปลาที่มีราคาสูง จึงไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงนี้ได้ และปัจจุบันการเพาะพันธุ์ปลาเสือตอลายเล็กยังมีอัตราการผลิตที่ต่ำเนื่องจากอัตราการรอดชีวิตน้อย จึงไม่สามารถสามารถเพาะพันธุ์ในเชิงการค้าได้ จะเห็นได้ว่าปัญญาอยู่ที่ความพร้อมและเงินทุน หากมีความพร้อมก็สามารถที่จะเพาะเลี้ยงปลาเสือตอจำหน่ายในเชิงการค้าได้ไม่ยาก เพราะถึงแม้ว่าอัตราการรอดไม่สูงมากแต่ปลาเสือตอยังเป็นปลาราคาสูงที่มีความต้องการซื้อในตลาดอยู่มาก เพราะฉะนั้นการการเพาะพันธุ์ปลาเสือตอเชิงการค้า เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างแน่นอน

ข้อมูลตัวอย่าง การเลี้ยงปลาเสือตอเชิงพาณิชย์โดย กรมประมงจังหวัด สุพรรณบุรี พ่อแม่ปลาที่เหมาะสมต่อการเพาะพันธุ์มีอายุตั้งแต 2 ปีขึ้นไป หรือความยาวทั้งตัวมากกวา 15 เซนติเมตร การเลี้ยงในที่กักขัง หากมีการจัดการเรื่องแผลติดเชื้อและปรสิตภายนอกที่ดี จะมีอัตราการรอดตายที่ร้อยละ 85 สามารถกระตุ้นให้มีการผสมพันธุ์วางไข่ดวยฮอร์โมนสังเคราะห์ สัดส่วนปลาเพศผูตอเพศเมียอยูที่ 2:1 หรือมากกว่า แม่ปลาสามารถวางไข่ได้เฉลี่ยตัวละ 47,350 ฟอง ไข่มีอัตราการปฏสินธเฉลี่ยที่ร้อยละ 67 อัตราการฟักเฉลี่ยที่ร้อยละ 50 อาหารสํารองของลูกปลาเริ่มหมดเมื่ออายุ 3 วัน อัตราการรอดตายเฉลี่ยที่รอยละ 42 หลังจากอายุ 3 วัน จนถึงขนาด 1 นิ้ว ใช้เวลา 76 วัน อัตราการรอดตายเฉลี่ยที่ร้อยละ 27 

การเพาะพันธุ์ในฟาร์มระบบปิด บนพื้นที่ 1,400 ตารางเมตร กําลังผลิตลูกปลาขนาด 1 นิ้ว จํานวน 360,000 ตัวต่อปี ต้นทุนคงที่ทั้งหมด 1,721,050.00 บาท มูลค่าหลักอยู่ที่โรงเพาะพันธุ์ (970,000.00 บาท) และหมอแปลงไฟ (350,000.00 บาท) ส่วนต้นทุนผันแปรต่อรอบการผลิตอยู่ที่ 536,375.14 บาท มูลค่าสูงสุดได้แก่ ค่าอาหารปลาเสือตอ (299,243.34 บาท) และค่าแรง (212,000.00 บาท) ตามลําดับ โดยอาหารปลาสูงสุดคือ กุ้งฝอยแช่แข็งที่ใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ (136,500.00 บาท) ไข่ไรน้ำเค็มที่ใช้อนุบาลลูกปลา (125,560.00 บาท) ต้นทุนการผลิตลูกปลามีค่าเท่ากับ 4.99 บาทต่อตัว หรือร้อยละ 24.95 ของราคาขาย จึงถือไดว่าเปนธรุกิจที่สามารถ สร้างรายแก่ทั้งผู้ประกอบการได้

ปัจจัยที่สําคัญต่อการผลิตปลาเสือตอลายเล็กระบบเชิงการค้าได้แก่ อาหารทั้งพ่อแม่พันธุ์และลูกปลา ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิต และทําให้ต้นทุนการผลิตสูง หากมีการวิจัยเพื่อเข้าถึงสูตรอาหารสําเร็จ ที่มีประสิทธิภาพ จะทําให้ธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลาเสือตอลายเล็กเป็นตัวสร้างรายแก่ทั้งผู้ประกอบการและประเทศ สามารถลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุในธรรมชาติ รวมถึงสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับปลาเสือตอลายใหญ่ (Datniodes pulcher) ซึ่งเป็นหนึ่งในสัตวป่าคุมครองจําพวกปลาในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครอง สัตวปา พ.ศ. 2535 และมีสถานะใกล้สูญพันธุ์ให้กลับมาให้เหล่านักสะสมปลาได้มาไว้ในครอบครองกันอีกครั้ง


ปลาเสือตอเป็นสัตว์คุ้มครองจริงรึเปล่า แล้วมีสาเหตุจากอะไร และสายพันธุ์อะไรเสี่ยงสูญพันธุ์

จากการค้นคว้าของ กลุ่มงานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้้าจืด กล่าวว่า ในอดีตเป็นปลาที่มีความชุกชุมในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และลุ่มน้ำเจ้าพระยาของ ประเทศไทย แต่เนื่องจากความเสื่อมโทรมของธรรมชาติประกอบกับยังไม่สามารถเพาะพันธุ์ปลาเสือตอได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้ปลาเสือตอที่มีอยู่ในธรรมชาติลดจำนวนลง อย่างรวดเร็ว และสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของประเทศไทย ปัจจุบันปลาเสือตอนิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม และมีการนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยรูปทรงและสีสันที่สวยงามทำให้ปลาเสือตอมีราคาสูง

ปลาเสือตอเป็นปลาสวยงาม ราคาสูงที่แทบจะไม่สามารถเพาะพันธุ์ได้ มีแค่สายพันธฺ์เดียวในปัจจุบันที่สามารถทำการเพาะพันธุ์ได้คือพันธุ์ปลาเสือตอลายเล็ก แต่ในการเพาะพันธุ์ปลาเสือตอชนิดนี้ก็ยังไม่ถือว่าสำเร็จสมบูรณ์ อัตรารอดต่ำ นั่นหมายความว่าปลาเสือตอที่อยู่ในตลาดปลาปัจจุบัน ล้วนเป็นปลาที่จับได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งหมด ด้วยความต้องการที่สูงของตลาดจนทำให้ธรรมชาติไม่สามารถผลิตได้ทันความต้องการ สืบเนื่องให้จำนวนปลาเสือตอทุกสายพันธุ์ลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว เนื่องด้วยความนิยมในปลาเสือตอเขมรอย่างมากทำให้ปลาเสือตอมีความเลี่ยงที่จะสูญพันธุ์ทั้งในขณะนี้ปลาเสือตอจากเขมรทั้งลายใหญ่ ลายคู่และลายเล็ก ซึ่งสูญพันธุ์แล้วในไทย สถานการณ์ปลาเสือตอในต่างประเทศก็ไม่สู้ดี ปริมาณปลาเสือตอเขมรก็ลดลงทุกวัน เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์เต็มทีทั้งในประเทศเขมรและเวียดนาม ทำให้ปลาเสือตอชนิดเป็นถูกจัดอยู่ในสัตว์ป่าคุ้มครองในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

ข้อมูลจากงานวิจัยของ กลุ่มงานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้้าจืด เรียบเรียงโดย คุณโกศล ศรีพุฒินิพนธ์ ยังทำให้ทราบอีกว่า “ปลาเสือตอ หรือปลาเสือ หรือปลาลาด (Datnioides pulcher)” เป็นปลาที่ถูกจัดอยู่ในสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ จำพวกปลาในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 (มีการแก้ไขพระราชบัญญัติในปี พ.ศ.2546 เพิ่มเติมสัตว์คุ้มครองประเภทปลาให้ปลาเสือตอเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้) ซึ่งเป็นกฎหมายที่เน้นการควบคุมและ คุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าทั้งในประเทศและการค้าระหว่างประเทศ โดยมีบทบัญญัติในการควบคุมการล่า การครอบครอง การเพาะพันธุ์ การค้า การเคลื่อนย้าย กิจการสวนสัตว์สาธารณะรวมถึงการนำเข้า ส่งออก และ นำผ่าน และมีการควบคุม ห้ามมิให้ผู้ใด ล่า ครอบครอง ค้า เพาะพันธุ์ น้าเข้า ส่งออก นำผ่านโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีบทลงโทษระวางจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นผู้ที่ต้องการมีปลาเสือตอไว้ในครอบครองจะต้องทำหนังสือขออนุญาต และได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง ตามมาตรา 19 แห่ง พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535(มีการแก้ไขพระราชบัญญัติในปี พ.ศ.2546 เพิ่มเติมสัตว์คุ้มครองประเภทปลาให้ปลาเสือตอเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้) และจะต้องปฏิบัติตามกฎและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน ใบอนุญาต

ซึ่งหากใครที่มีปลาเสือตอสายพันธุ์ที่อยู่ในรายชื่อสัตว์คุ้มครองก็ไม่ต้องกังวลไปว่าจะผิดกฎหมาย ท่านสามารถที่จะไปทำเรื่องขอลงทะเบียนทำใบอนุญาตได้เลยเพื่อความอุ่นใจ และนอกจากนี้ยังสามารถที่จะเพาะพันธุ์ได้ด้วยเนื่องจากมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติในปี พ.ศ.2546 เพิ่มเติมให้ปลาเสือตอเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้และหากการเพาะพันธุ์ประสบความสำเร็จก็สามารถลงทะเบียน ขอใบอนุญาตครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองได้ ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด


อยากเลี้ยงปลาเสือตอต้องซื้อราคาเท่าไร และหาซื้อที่ไหน

ปลาเสือตอที่มาจากคนละแหล่งจะมีราคาที่แตกต่างกัน ปลาเสือตอเขมรจะมีความนิยมมากกว่าราคาจึงแพงกว่าปลาเสือตอสุมาตรา ราคาปลาเสือตอที่ขายกันอยู่ในตลาดปลาสวยงาม (ข้อมูลราคาจากปี พ.ศ.2563) ทั้งนี้ราคาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามความต้องการและกลไกตลาด มีดังนี้

  • ปลาเสือตอลายใหญ่เขมร นิ้วละประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป (ปกติปลาที่เข้ามาขายจะมีขนาดไม่ต่ำกว่า 6-7 นิ้ว)
  • ปลาเสือตอลายใหญ่สุมาตราหรืออินโด นิ้วละประมาณ 1,000 บาทขึ้นไป (ขนาดที่ขายมีตั้งแต่ 2 นิ้วขึ้นไป)
  • ปลาเสือตอลายคู่เขมร นิ้วละประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป (ปกติปลาที่เข้ามาขายจะมีขนาดไม่ต่ำกว่า 6-7 นิ้ว) 
  • ปลาเสือตอลายคู่สุมาตราหรืออินโดนิ้วละประมาณ 500 บาทขึ้นไป (ขนาดที่ขายมีตั้งแต่ 2 นิ้วขึ้นไป)
  • ปลาเสือตอลายเล็ก นิ้วละประมาณ 100 บาทขึ้นไป (ขนาดที่ขายมีตั้งแต่ 2 นิ้วขึ้นไป)
  • ปลาเสือตอปาปัวนิวกีนี นิ้วละ 500 บาทขึ้นไป

นอกจากแหล่งที่มาของปลาจะเป็นตัวส่งผลต่อราคาแล้วยังมีการดูลักษณะอย่างอื่นร่วมด้วย สิ่งที่กำหนดราคาของปลาเสือตอหลังจากการพิจารณาที่มาของปลาหลักๆ คือ สี ต้องเหลืองตัดดำชัดเจนลาย คมชัด ใหญ่ และรูปทรงของตัวปลา ทรงสั้น ป้อม ยิ่งปลามีความสวยตามสเปคเท่าไหร่ราคาต่อนิ้วก็ยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับแหล่งที่จะสามารถไปหาซื้อปลาเสือตอ ตลาดปลาสวยงามจตุจักร เปิดทุกวัน 9 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น เป็นตลาดปลาที่มีปลาให้เลือกมากมาย ปัจจุบันปลาเสือตอที่มีขายอยู่ที่จตุจักรจะเป็นปลานำเข้ามาจากอินโดนีเซียมากกว่า และส่วนใหญ่จะเป็นเสือตอลายเล็กแทบจะไม่มีปลาเสือตอเขมรเลยเนื่องจากเริ่มหายากแล้วในปัจจุบัน

ตลาดปลาสวยงามบ้านโป่ง ราชบุรี เปิดทุกวันเวลา 8 โมงเช้าถึง3  ทุ่ม ตลาดกลางปลาสวยงามและสัตว์เลี้ยง เป็นแหล่งรวบรวมปลาสวยงามที่สำคัญของประเทศ แห่งเดียวที่ทำให้ผู้ซื้อพบผู้ผลิตโดยตรง และเป็นแหล่งรวมเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลา โดยมีปลาให้เลือกหลากหลายชนิด ตลอดจนยังเป็นแหล่งรวมสัตว์เลี้ยงนานาชนิด และอุปกรณ์การเลี้ยงอย่างครบวงจร อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมของคนรักปลาสวยงามที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนอีกด้วย 

หลังจากอ่านบทความนี้และมีความสนใจอยากที่จะมีปลาเสือตอไว้ในครอบครองสักตัวสองตัว แนะนำให้ไปเดินดูตามตลาดปลาสวยงาม แต่จะต้องมั่นใจและมีความรู้เกี่ยวกับปลาเสือตอเพียงพอที่จะไม่โดนพ่อค้าแม่ค้าหลอกและเพื่อให้เลือกตัวที่สวยถูกใจได้ สำหรับผู้ที่อยู่ต่างจัังหวัดในปัจจุบันก็มีช่องทางออนไลน์ให้ติดต่อซื้อขายกัน แต่ขอเตือนว่าจะต้องมีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนที่ตัดสินใจ เนื่องจากปลาเป็นสิ่งมีชีวิตในการขนส่งจะต้องเป็นร้านที่เป็นมืออาชีพจริงๆปลาจะได้ถึงมือเราได้อย่างสวัสดิภาพ

หลังจากอ่านบทความนี้และมีความสนใจอยากที่จะมีปลาเสือตอไว้ในครอบครองสักตัวสองตัว แนะนำให้ไปเดินดูตามตลาดปลาสวยงาม แต่จะต้องมั่นใจและมีความรู้เกี่ยวกับปลาเสือตอเพียงพอที่จะไม่โดนพ่อค้าแม่ค้าหลอก และเพื่อให้เลือกตัวที่สวยถูกใจได้ สำหรับผู้ที่อยู่ต่างจังหวัด ในปัจจุบันก็มีช่องทางออนไลน์ให้ติดต่อซื้อขายกัน แต่ขอเตือนว่าจะต้องมีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนที่ตัดสินใจ เนื่องจากปลาเป็นสิ่งมีชีวิตในการขนส่งจะต้องเป็นร้านที่เป็นมืออาชีพจริงๆปลาจะได้ถึงมือเราได้อย่างสวัสดิภาพ 

และถ้าคุณไม่อยากพลาดบทความดีๆเกี่ยวกับเกษตรและปศุสัตว์ kaset.today ยังมีบทความดีๆที่รอทุกคนมาหาความรู้กับเรากันนะ

แหล่งอ้างอิง

กลุ่มงานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้้าจืด

งานวิจัยของ คุณยงยุทธ ทักษิญ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารสัตว์น้ำ

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้