ต้นเต็ง
ต้นเต็ง จัดเป็นต้นไม้กลุ่มใหญ่ในป่าเต็งรังสามารถเจริญเติบโตได้ดี ในดินลูกรังหรือดินหินทราย พบโดยทั่วไปในภาคเหนือภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ความสูงระดับน้ำทะเล 1,300 เมตร นอกจากจะพบในประเทศไทยของเราแล้วยังสามารถพบได้ในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศพม่า และภูมิภาคอินโดจีน ต้นเต็งเป็นอีกหนึ่งชนิดไม้ที่มีความแข็งแรงทนทานสามารถนำมาแปรรูปทำเครื่องไม้ เครื่องมือ หรือใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ตลอดจนใช้ประโยชน์ในการสร้างบ้าน ซึ่งในวันนี้ เราก็มีสาระที่น่ารู้พร้อมข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับต้นเต็งมาฝาก จะน่าสนใจแค่ไหน ตามไปชมพร้อมๆ กันเลย
ข้อมูลทั่วไปของต้นเต็ง
- ชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ Shorea obtusa Wall. ex Blume
- ชื่อภาษาอังกฤษ คือ Burma Sal, Siamese Sal, Thitya
- ชื่อวงศ์ DIPTEROCARPACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นเต็ง
ต้น
ต้นเต็ง จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง โดยเป็นต้นไม้ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง ซึ่งมักจะคดงอไม่ค่อยตรงนัก โดยมีความสูงประมาณ 10-25 เมตร และมีเรือนยอดเป็นทรงพุ่มกว้าง เปลือกของลำต้นเป็นสีน้ำตาลเทา ตกสะเก็ดหรือแตกเป็นร่อง โดยเปลือกของลำต้นด้านในจะเป็นสีน้ำตาลแกมเหลือง กระพี้มีสีน้ำตาลอ่อนและแก่นมีสีน้ำตาลเข้ม
ใบ
ใบของต้นเต็ง มีลักษณะเป็นใบเดี่ยว โดยจะออกเรียงสลับกัน ลักษณะใบมีรูปขอบขนานหรือรูปทรงรี แกมรูปขอบขนานคล้ายรูปไข่ โคนใบมนหรือทู่ ส่วนปลายใบอาจมนหรือแหลม โดยใบมีความกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตรและยาว 10-16 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวอมเหลือง เนื้อใบหนาผิวใบสาก โดยมีขนขึ้นอยู่ประปรายเส้นแขนงมีประมาณ 15-20 คู่ ก้านใบ ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ใบแก่จะมีสีเหลือง สีส้ม หรือสีแดง ซึ่งจะร่วงหล่นลงสู่พื้น
ดอก
ดอกของต้นเต็งรัง มีลักษณะการออกดอกเป็นช่อแยกแขนง ที่บริเวณปลายกิ่งหรือตามง่ามใบ ช่อของดอกจะมีขนนุ่ม โดยดอกมีขนาดเล็กสีขาวนวล กลีบดอกและกลีบรองดอกมีอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีขาวแกมเหลืองอ่อน กลิ่นหอมปลายกลีบแยกออกจากกัน ส่วนโคนกลีบดอกซ้อนทับกัน ที่บริเวณปลายกลีบจะจีบเวียนตามกันคล้ายกับรูปกังหัน ส่วนกลีบเลี้ยงที่โคนเชื่อมติดกันนั้น แยกออกเป็น 5 แฉก เกสรตัวผู้มีขนาดเล็กและมีจำนวนมากประมาณ 20-25 อัน ซึ่งจะอยู่รอบเกสรตัวเมีย อับเรณูมีขนสั้น รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ในส่วนเกสรเพศเมียจะมีพู 3 พู ก้านดอกค่อนข้างสั้น ดอกของเต็งรังจะออกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม
ผล
ผลของต้นเต็งรัง มีลักษณะเป็นรูปทรงไข่หรือรูปกลมรี โดยมีความกว้างประมาณ 0.8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผลจะมีปีกสั้น 2 ปีก ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตรและปีกยาวมี 3 ปีก ลักษณะคล้ายรูปหอกกลับ โดยมีขนาดความกว้างประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร และยาว 4-6 เซนติเมตร ภายในผลประกอบด้วยเมล็ด 1 เมล็ด โดยผลจะแก่ในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม
ประโยชน์ของต้นเต็ง
- ไม้เต็ง มีเนื้อสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลแก้มแดง ซึ่งเป็นสีสันที่สวยงามและมีความแข็งแรงทนทานดี จึงสามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้าง เช่น ทำเสาบ้าน รอด ตรง คาน กระดาน พื้น ฯลฯ นอกจากนั้นยังนิยมนำมาใช้ในการทำเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือแปรรูปเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อย่างไรก็ตาม ไม้เต็งมีสถานะเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. การลักลอบเข้าไปตัดไม้ทำลายป่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ในขณะเดียวกันผู้ที่มีต้นเต็งไว้ครอบครองก็จะต้องมีใบอนุญาตในการโค่นหรือตัด
- ชันยางที่ได้จากต้นเต็ง สามารถใช้ผสมน้ำมัน ทาไม้ หรือใช้ยาแนวเรือ ตลอดจนใช้ยาแนวเครื่องใช้ต่างๆ ได้
- สามารถนำไม้เต็งไปใช้เป็นเชื้อเพลิง ก่อไฟ หุงหาอาหาร โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองหรือผ่านการทดสอบมาแล้วว่าเนื้อไม้เต็งนั้นสามารถให้พลังงานความร้อนที่สูง
สรรพคุณของต้นเต็ง
- ต้นเต็งมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร โดยเปลือกของต้นสามารถใช้เป็นยาสมานแผล รักษาแผลเรื้อรัง แผลพุพองหรือห้ามเลือดได้ วิธีการ คือ การนำเอาเนื้อไม้หรือเปลือกต้นมาฝนผสมกับน้ำปูนใส แล้วใช้สำลีชุบทาไปที่บริเวณแผล นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยที่ระบุว่าหากใช้ต้นหรือเปลือกของต้นเต็งมาฝนกับน้ำปูนใสยังสามารถใช้เป็นยาฝาด สมานห้ามเลือด และแก้น้ำเหลืองเสียได้
ไม้เต็งจัดเป็นไม้ที่อยู่ในวงศ์เดียวกับไม้ยางนา และไม้เต็ง มีชื่อเรียกเป็นภาษาอีสานว่า “ไม้จิก” และมีชื่อสามัญเรียกว่า Burmese sal หรือ Siamese sal คำว่า Burmese หมายถึง เมียนมา ส่วนคำว่า Siamese หมายถึงประเทศสยามหรือประเทศไทยของเรานั่นเอง เนื่องจากต้นเต็งพืชชนิดนี้พบที่ประเทศพม่าและประเทศไทยเป็นครั้งแรก จึงถูกตั้งชื่อตามสถานที่ที่พบ ส่วนคำว่า sal นั้นเป็นการใช้กับชื่อของต้นไม้ของคนสมัยก่อน จริงๆ แล้วคำนี้ ก็คือ salt หรือ sal หมายถึง เกลือ ดังนั้น การใช้ sal กับชื่อต้นไม้ของคนในสมัยก่อน เพราะว่าไม้ชนิดนี้ เมื่อนำไปเผาแล้วจะได้ถ่านที่มีสีขาวคล้ายกับเกลือนั่นเอง
วิธีการปลูก การขยายพันธุ์และการดูแลรักษาต้นเต็ง
สำหรับวิธีการปลูกหรือการขยายพันธุ์นั้น สามารถทำได้ด้วยวิธีการปักชำ ตอนกิ่ง และการเพาะเมล็ด แต่จะนิยมใช้วิธีการเพาะเมล็ดมากที่สุด เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย ด้วยการเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ เพื่อให้มีอัตราการรอดตายที่สูง อย่างไรก็ตาม ต้นเต็งมีอัตราการเจริญเติบโตที่ช้า หากต้องการนำเนื้อไม้มาแปรรูปใช้ในงานก่อสร้าง อาจจะต้องใช้ระยะเวลาการปลูกที่มากถึง 30-50 ปีเลยทีเดียว หลังจากที่เก็บเมล็ดแก่ ที่ร่วงหล่นลงมาจากต้นเต็งแล้ว ให้ทำการตัดปีกออก โดยให้เหลือเพียงแค่เมล็ดไว้เท่านั้น เสร็จแล้วให้นำเมล็ดไปแช่น้ำทิ้งไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งคืน หลังจากนั้นให้นำเมล็ดไปบ่มไว้ในถุงพลาสติก ปิดถุงพลาสติกให้แน่นทิ้งไว้ 5 วัน การบ่มเมล็ดของต้นเต็งจะต้องผสมขุยมะพร้าวลงไปในถุงพลาสติกด้วย หลังจากระยะเวลา 5 วันผ่านไป เมล็ดของต้นเต็งจะงอกรากหรือแทงรากออกมาให้เห็น โดยให้คัดเฉพาะเมล็ดที่มีรากยาวออกมามากที่สุด เพื่อนำไปเพาะในถุงเพาะชำต่อไป
ส่วนวิธีการเพาะชำลงถุงนั้น ให้นำในส่วนของรากลงไปใต้ผิวดิน ส่วนเมล็ดจะอยู่เหนือผิวดิน เพราะหากเมล็ดจมลงไปในดินจะทำให้เมล็ดเกิดการเน่าได้ หลังจากที่เพาะในถุงเพาะชำแล้ว เมื่อระยะเวลาผ่านไป 1 เดือน ต้นเต็งก็จะเริ่มเจริญเติบโตขึ้น โดยมีความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร หรืออาจมีใบที่งอกออกมาประมาณ 3-4 ใบ สามารถที่จะย้ายลงแปลงปลูกได้ในลำดับต่อไป
ต้นเต็งเป็นต้นไม้ที่สามารถทนทานต่อสภาพอากาศได้ดี และสามารถเจริญเติบโตขึ้นได้ในดินทุกสภาพ ไม่ว่าจะเป็นดินลูกรัง หรือดินที่มีความแห้งแล้ง แต่ข้อเสียก็คือ อาจต้องใช้ระยะเวลานานกว่าที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ได้ ในปัจจุบันต้นเต็งสำหรับในประเทศไทยของเรากำลังจะสูญพันธุ์ไปในที่สุด เนื่องจากถูกบุกรุกลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และหาชมได้ยากมาก โดยทั่วไปแล้วจะปลุกให้เห็นตามปั๊มน้ำมันหรือสถานที่ราชการต่างๆ เท่านั้น หรืออาจพบได้บางส่วน ตามหัวไร่ ปลายนาต่างๆ ซึ่งหากพื้นที่ไร่สวนของใครมีต้นเต็งที่กำลังเจริญเติบโตก็อาจจะต้องดูแลรักษาให้ดี เพราะอย่างที่บอกว่าต้นเต็งในปัจจุบันนั้น กำลังจะสูญพันธุ์ไป และสามารถหาชมได้ค่อนข้างยากมาก ทำให้ต้นเต็งกลายเป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและมีราคาสูงเป็นที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบัน
สำหรับราคาต้นเต็ง หรือต้นจิก ในปัจจุบันหากใครที่ไม่สะดวกในการเพาะหรือการขยายพันธุ์ด้วยตนเอง สามารถหาซื้อต้นกล้าของต้นเต็งหรือต้นจิกได้ จากร้านจำหน่ายพันธุ์ไม้ทั่วไป โดยต้นกล้าของต้นเต็งหรือต้นจิกนั้น หากมีความสูงประมาณ 10 เซนติเมตรจะมีราคาประมาณต้นละ 50-100 บาท ซึ่งมีราคาไม่แพงมาก ต่างจากเนื้อไม้ ที่มีราคาสูงมาก อาจสูงถึงหลักหมื่น หรือหลักแสน ยิ่งต้นเต็งมีอายุที่ยืนยาวมากเท่าไหร่ ราคาเนื้อไม้ก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย
การแปรรูปไม้เต็ง
แหล่งข่าวกรุงเทพธุรกิจ (bangkokbiznews) ได้ให้ข้อมูลว่า ต้นไม้มีค่าที่สามารถนำมาค้ำประกันเงินกู้ได้มีอยู่ทั้งหมด 58 ชนิด โดยสามารถนำมาแปลงเป็นทรัพย์เพื่อใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีชื่อไม้เต็งอยู่ด้วย นั่นหมายความว่าไม้เต็งเป็นหนึ่งในไม้เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง ทว่าในปัจจุบันไม้เต็งส่วนใหญ่เป็นไม้นำเข้า เพราะไม้ เต็ง ไทย หาได้ค่อนข้างยาก ส่วนมากจะเป็นไม้เต็งที่ได้จากโครงสร้างบ้านเรือนเก่า อย่างไรก็ตามไม้เต็งเก่าที่มีสภาพสมบูรณ์และผ่านการแปรรูปแล้วจะยิ่งมีมูลค่าสูงขึ้น
ลักษณะของไม้เต็งที่สามารถนำมาแปรรูปได้
ไม้เต็งที่สามารถนำมาแปรรูปได้จะต้องเป็นไม้ที่มีอายุมานานหลายปี หากเป็นไม้อายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป จะทำให้เนื้อไม้แข็งแรงและทนทานมากเป็นพิเศษ โดยความกว้างและความยาวจะต้องสม่ำเสมอ ไม่สั้นจนเกินไป และสภาพโดยรวมสมบูรณ์ หากเป็นไม้เต็งเก่าก็ต้องเป็นไม้ที่ยังมีสภาพดีอยู่ มีตำหนิน้อย และคุณสมบัติโดยรวมอยู่ในระดับพอใช้ได้
ไม้เต็งเก่า แปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง ?
ไม้เต็งเก่าที่ยังคงมีสภาพดีอยู่สามารถนำไปแปรรูปได้ค่อนข้างหลากหลาย แต่การจะนำไปแปรรูปเป็นอะไรนั้นจะขึ้นอยู่กับลักษณะและคุณภาพของเนื้อไม้ ส่วนใหญ่จะนิยมนำไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ ไม้พื้น ไม้บันได ไม้ฝา ไม้สำหรับใช้ตกแต่งภายในและภายนอก และอื่น ๆ เพราะเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความทนทานสูง แต่จะไม่ค่อยนิยมนำไปแปรรูปเป็นบานประตู หน้าต่าง และวงกบมากนัก เพราะไม้เต็งมีความถ่วงจำเพาะสูงกว่าไม้ชนิดอื่น ๆ
ประเภทและขนาดของไม้ที่ทางร้านจำหน่าย
• ไม้พื้น เป็นไม้เนื้อแข็งคุณภาพดีและมีมาตรฐาน เนื้อไม้แข็งแรงและทนทาน สามารถรับน้ำหนักได้ดี จึงเหมาะกับการนำไปใช้เป็นไม้พื้น โดยขนาดจำหน่ายจะมีตั้งแต่ 1“, 1.5” และ 2“
• ไม้ฝา เป็นไม้เทียมที่มีลักษณะคล้ายไม้จริง คุณสมบัติเด่นคือสามารถทนต่อสภาพอากาศและการใช้งานได้เป็นอย่างดี จึงเหมาะกับการนำไปตกแต่งผนังบริเวณต่าง ๆ ของอาคาร ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งภายในและภายนอก นอกจากนี้ไม้ฝายังสามารถใช้ตกแต่งบริเวณฝ้า เพดาน และรั้วบ้านได้อีกด้วย โดยขนาดจำหน่ายจะมีตั้งแต่ 1“, 1.5” และ 2“
• ไม้เสา เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีอายุมาก ส่วนแก่นมากกว่ากระพี้ มีความแข็งแรงและทนทานมากเป็นพิเศษ สามารถแบกรับน้ำหนักส่วนต่าง ๆ ของบ้านได้เป็นอย่างดี จึงเหมาะกับการนำไปใช้เป็นโครงสร้างอาคารบ้านเรือน โดยขนาดจำหน่ายจะมีตั้งแต่ 1“, 1.5” และ 2“
ไม้เต็งเก่าแปรรูป และขนาดมาตรฐาน
ไม่ว่าจะเป็นไม้ เต็ง ไทย, ไม้ เต็ง ลาว, ไม้ เต็ง แดง หรือไม้เต็งสายพันธุ์ใดก็ตาม กรณีไม้เก่าจะต้องเป็นไม้ที่มีสภาพสมบูรณ์และมีขนาดเหมาะสม
โดยขนาดมาตรฐานของไม้เต็งนั้นจะใช้มาตรฐานแบบหน้าตัดเป็นนิ้ว และความยาวเป็นเมตร ซึ่งจะจำหน่ายเป็นคิวบิกเมตร สำหรับขนาดหน้าตัด คือ ความหนา x ความกว้าง เช่น 1×1, 1×2, 2×4 นิ้ว เป็นต้น โดยขนาดหน้าตัดนั้นจะเพิ่มขึ้นทุก ๆ ครึ่งนิ้ว ส่วนความยาวของไม้เต็งจะใช้หน่วยเป็นเมตร และเพิ่มขึ้นทุก ๆ 0.50 เมตร เช่น 1.00, 1.50, 2.00 เป็นต้น
ที่มา
https://biodiversity.forest.go.t