เดิมทีชาวบ้านนิยมปลูกต้นเสี้ยวไว้เป็นผักสวนครัว และปลูกเพื่อเสริมสิริมงคลตามความเชื่อของท้องถิ่น เช่น ช่วยป้องกันคนทำของ ช่วยกันผีที่แปลงกายมา เป็นต้น เราจึงได้เห็นต้นเสี้ยวประดับอยู่ตามแนวรั้วแทบทุกบ้าน ข้อดีคือต้นเสี้ยวเป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกง่ายและเติบโตไว ลงมือปลูกครั้งเดียวก็มีการงอกต้นใหม่จนขยายวงกว้างไปเองตามธรรมชาติ แถมยังใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ยอดจรดรากเลยทีเดียว
ความเชื่อเกี่ยวกับไม้มงคล
มีหนึ่งความเชื่อเกี่ยวกับต้นเสี้ยวที่น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากดินแดนต้นกำเนิดสายพันธุ์ เชื่อว่าต้นเสี้ยวเป็นไม้มงคลแห่งสรวงสวรรค์ที่มีเทพคอยปกปักษ์รักษา ถ้านำมาปลูกไว้ในพื้นที่บ้าน ไม่ว่าจะเลี้ยงดูให้เป็นต้นใหญ่หรือคอยตัดแต่งให้อยู่แค่ไหนกระถาง ขอเพียงมีดอกและใบสมบูรณ์ดี ก็จะช่วยให้คนในบ้านมีความสุขกายสบายใจ คิดทำการงานใดเกี่ยวกับที่ดินนั้นก็ประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังเป็นการช่วยปัดเป่าภัยอันตรายจากศัตรูผู้คิดร้ายให้แพ้ภัยตัวเองไป นอกจากนี้ บางท้องถิ่นในบ้านเรายังมีความเชื่อว่าต้นเสี้ยวช่วยกันผีร้ายที่จะมาเอาชีวิตลูกหลานได้ด้วย
ตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การปลูกภายในบริเวณบ้าน
อย่างแรกที่ต้องคำนึงถึงก็คือเรื่องแสงแดด เพราะถ้าตำแหน่งที่จะปลูกต้นเสี้ยวได้รับแดดไม่พอ การเติบโตจะหยุดชะงัก ใบและดอกก็จะมีขนาดเล็กกว่าที่ควรจะเป็น สามารถปลูกได้ทุกทิศรอบบ้าน ขอแค่อยู่ในจุดที่ดูแลตัดแต่งกิ่งก้านได้ง่ายก็พอ มุมที่แนะนำจะเป็นริวรั้วหน้าบ้านฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หรือริวรั้วข้างบ้านเยื้องไปทางด้านหลัง
ส่วนประกอบของต้นเสี้ยว
ลักษณะของลำต้น
ต้นเสี้ยวเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีพุ่มใบเป็นทรงชัดเจน ผิวเปลือกไม้มีความหยาบ แตกเป็นร่องให้เห็นบ้าง และมีโทนสีน้ำตาลอมเทา กิ่งก้านแตกแขนงออกด้านข้างอย่างไม่เป็นระเบียบนัก
ใบ
รูปร่างของใบคล้ายกับหัวใจหรือผลแอปเปิ้ล มีหลายเฉดสีตามอายุของมัน ตั้งแต่สีเหลืองอ่อนไปจนถึงเขียวเข้ม ขนาดใหญ่ค่อนข้างกว้าง มีเส้นใบชัดเจนพุ่งออกจากจุดเดียวกัน ผิวสัมผัสหยาบเล็กน้อย
ดอก
ลักษณะดอกทั้งรูปร่างและสีสันต่างกันไปตามสายพันธุ์ แต่จะออกเป็นช่อแทรกตามกิ่งก้านเหมือนกันหมด
ผล
เป็นฝักแบนผิวเรียบ ช่วงปลายจะกว้างกว่าโคน โทนสีออกไปทางเขียวหม่น ยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร
สายพันธุ์ยอดนิยม
ต้นเสี้ยวหรือที่หลายคนเรียกผักเสี้ยว จะมีสายพันธุ์ที่เราคุ้นหูคุ้นตากันอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ ต้นเสี้ยวดอกขาว และต้นเสี้ยวดอกแดง ความแตกต่างของ 2 สายพันธุ์สังเกตได้ชัดเจนจากสีของดอก พันธุ์ดอกขาวมีดาวขนาดเล็ก สีขาวนวล บางพื้นที่ก็เรียกว่า เสี้ยวป่า ส้มเสี้ยว ส้มโพะ เป็นต้น ส่วนพันธุ์ดอกแดงจะมีดอกใหญ่กว่าเล็กน้อย มองไปดูคล้ายดอกชะบาที่มีกลีบห่าง พุ่มใบก็จะไม่แน่นเท่ากับพันธุ์ดอกขาว
วิธีการปลูกต้นเสี้ยวให้เจริญงอกงาม
ความจริงแล้วต้นเสี้ยวสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี แต่ที่นิยมก็จะเป็นการเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง หากต้องการเพาะเมล็ด ก็ไม่มีอะไรยุ่งยากนัก แค่เลือกเมล็ดที่แก่ได้ที่และมีความสมบูรณ์เพียงพอ แช่น้ำให้พอชุ่ม แล้วเพาะกับดินร่วมซุยในถุงเพาะกล้า ตั้งไว้ในพื้นที่แดดรำไรในช่วงแรก ต่อเมื่อแตกยอดอ่อนค่อยนำออกแดด ดูแลรักษาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ต้นกล้าที่สูงอย่างน้อย 30 เซนติเมตร ค่อยนำลงดินในตำแหน่งที่ต้องการ โดยขุดหลุมลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร ไม่ต้องรองก้นหลุม แต่ต้องแน่ใจว่าดินไม่แน่นเกินไป นำต้นกล้าลงและกลบดินให้เป็นเนินต่ำๆ เพื่อช่วยระบายน้ำ จากนั้นก็รดน้ำใส่ปุ๋ยตามรอบเวลาที่เหมาะสม
วิธีการดูแลรักษา
แสง
ต้องการแดดจัดตลอดทั้งวัน จึงไม่ควรปลูกใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ และไม่ควรปลูกใกล้สิ่งปลูกสร้างมากเกินไป
น้ำ
ปริมาณน้ำต้องมาก แต่ไม่ท่วมขัง ให้รดน้ำเป็นประจำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง
ดิน
ดินร่วนปนทรายจะช่วยให้ต้นเสี้ยวเติบโตได้เร็ว
ปุ๋ย
ใช้เป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยพื้นฐานบำรุงดินทั่วไป ใส่บริเวณโคนต้นประมาณปีละ 2-3 ครั้ง
คุณประโยชน์ที่ได้จากต้นเสี้ยว
ลำต้น
ต้นเสี้ยวมีพุ่มใบที่ค่อนข้างน่าสนใจ จึงนิยมปลูกไว้เป็นไม้ประดับริมรั้ว ช่วยบังสายตาและกรองฝุ่นละอองได้ ถ้าเป็นต้นใหญ่ที่มีลำต้นแข็งแรงดี ก็สามารถนำไปใช้เป็นเสาค้ำยันได้ด้วย
ใบ
ถือว่าเป็นส่วนที่ใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด บางพื้นที่ทานใบอ่อนเป็นเครื่องเคียงกับน้ำพริก หรือใช้เป็นใบห่อเมี่ยงก็ได้รสชาติดี ทานแล้วได้ประโยชน์ทางโภชนาการมาก ได้ทั้งโปรตีน ไขมัน ใยอาหารและวิตามิน ใบแก่จะมีรสเฝื่อน ใช้ปรุงเป็นยาสมุนไพร บรรเทาอาการไอ ระคายคอ
ดอก
ใช้ผสมกับสมุนไพรพื้นบ้านชนิดอื่น เพื่อช่วยบรรเทาอาการไข้ที่ไม่รุนแรงนัก
ราก
เลือกท่อนที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มาต้มน้ำจนข้นแล้วดื่ม ช่วยขับลมจุกเสียด และใช้เป็นยาระบายได้
ราคาต่อต้นโดยประมาณ
ราคาของต้นเสี้ยวจะขึ้นอยู่กับชนิดของสายพันธุ์ ยิ่งหายากก็ยิ่งมีราคาแพง โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 150 บาท