กะเพราแดงภาษาอังกฤษ : Red Holy Basil
กะเพราแดงชื่อวิทยาศาสตร์ : Ocimum tenufiorum L.
ชื่อเรียกอื่น ๆ : กอมก้อดง (เชียงใหม่), กะเพราขน (ภาคกลาง), อีตู่ไทย (ภาคอีสาน), ห่อกวอซู (กะเหรี่ยง) ฯลฯ
วงศ์ : Lamiaceae (เดิมคือ Labiatae)
กะเพราแดง เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุยืนยาวกว่าพืชผักทั่วไป โดยเป็นพืชในเขตร้อนในถิ่นโลกเก่า เช่น เอเชีย แอฟริกา ซึ่งพบมากในแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยที่พบมากและขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด กะเพราแดงนับเป็นสมุนไพรในตำรายาไทย โดยสามารถนำมาใช้รักษาโรคต่าง ๆ ได้มากกว่า 10 โรค ถือเป็นผักชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นหอมฉุน มีรสเผ็ด นิยมนำมาประกอบอาหารอย่างเมนูผัดกะเพรา
ความเชื่อเกี่ยวกับต้นกะเพราแดง
กะเพราแดงนอกจากจะเป็นพืชอาหารแล้ว ยังเป็นสมุนไพรที่สามารถนำมาใช้รักษาโรคได้ด้วย อีกทั้งยังถือเป็นไม้ประดับชนิดหนึ่งที่ให้ความสวยงาม โดยกะเพราแดงนั้นถือเป็นไม้ที่ชาวฮินดูเคารพเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นไม้ที่มีความเกี่ยวข้องกับนางลักษมี พระชายาของพระวิษณุหรือองค์พระนารายณ์ ถูกใช้ในพิธีกรรมบูชาพระวิษณุ ชาวฮินดูจึงเรียกกะเพราว่า Tulasi ที่แปลว่า “ไม่มีสิ่งใดเปรียบเทียบได้” หรืออยู่ในฐานะที่สูงส่งนั่นเอง ในขณะเดียวกันชาวคริสต์ก็ถือว่ากะเพราเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน โดยถือว่าเป็นลูกไม้ที่งอกออกมาจากหลุมศพพระเยซู นอกจากนี้ในวรรณกรรมโบราณ ว่าถึงตัวเอกในละครที่ตั้งใจรดน้ำต้นกะเพราแดงด้วยหยดน้ำตา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรู้สึกแห่งความฉุน ความโกรธ ความรัก ความอาลัยรักในใบกะเพราแดง
ควรปลูกบริเวณใดของบ้าน
สำหรับการปลูกกะเพราแดงควรปลูกในบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดวันจะดีที่สุด เพราะกะเพราแดงชอบอากาศร้อน หากปลูกไว้ในบริเวณที่โดนแสงแดดแบบเต็มวันจะทำให้ต้นเจริญเติบโตได้ดีขึ้น และถ้าหากปลูกไว้ใกล้ ๆ ครัวก็จะยิ่งทำให้สะดวกต่อการนำมาใช้ประกอบอาหารมากยิ่งขึ้น
ลักษณะของต้นกะเพราแดง
- ลำต้น กะเพราแดงเป็นพืชล้มลุก มีลักษณะเป็นทรงพุ่ม ลำต้นของต้นกะเพราแดงมีความแข็งแรง ยิ่งอายุมากก็จะมีต้นที่โตและแข็งแรงมากขึ้น ลำต้นเดี่ยว มีลักษณะกลม ๆ มีสีเขียวอมม่วงแดง มีความสูงเฉลี่ยไม่เกิน 70 เซนติเมตร บริเวณลำต้นจะปกคลุมด้วยขนอ่อน
- ใบ ใบกะเพราแดงเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน โดยใบยอดจะมีขนอ่อน เนื้อใบบาง ใบมีขนาดเล็กกว่าใบกะเพราขาว รูปร่างใบมีลักษณะเป็นรูปรี หรือรีขอบขนาน มีความยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ปลายและโคนใบแหลมหรือมน ขอบใบหยัก กลิ่นจะหอมแรงกว่ากะเพราทั่วไป
- ดอก ดอกกะเพราแดงจะออกเป็นช่อที่บริเวณปลายยอด ดอกมีสีขาวแกมม่วงแดง มีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายมีความเรียวแหลม ด้านนอกมีขน กลีบดอกแบ่งเป็น 2 ปาก ปากบนมี 4 แฉก ส่วนปากล่างจะมี 1 แฉก และปากล่างนั้นจะยาวกว่าปากบน มีขนประปราย เกสรเพศผู้มี 4 อัน
- ผล ผลของกะเพราแดงมีลักษณะเป็นผลแห้ง เมื่อแตกออกจะมีเมล็ดสีดำจำนวนมาก ซึ่งเมล็ดมีลักษณะเป็นทรงรีเล็ก ๆ สีดำ
วิธีการปลูก
สำหรับวิธีการปลูกกะเพราแดงสามารถใช้เมล็ดปลูกและชำกิ่ง สำหรับการปลูกด้วยเมล็ดจะใช้เมล็ดกะเพราแดงที่แห้งแตกมาหว่านลงดินที่จะใช้ปลูก หากได้รับน้ำและอุณหภูมิที่เหมาะสมก็จะสามารถงอกขึ้นเป็นต้นได้ ซึ่งการขยายพันธุ์กะเพราแดงนั้นจะนิยมใช้เมล็ดในการเพาะต้นกล้า โดยหว่านลงแปลงปลูก หลังจากนั้นรดน้ำ 1-2 ครั้ง/วัน จนกล้าแตกใบแท้ 2-5 ใบ ก็สามารถขุดต้นกล้าเพื่อย้ายลงในแปลงหรือกระถางตามต้องการ
วิธีการดูแล
- แสง กะเพราแดงชอบอากาศร้อน ดังนั้นควรให้ต้นกะเพราแดงได้รับแสงแดดแบบเต็มวัน จะช่วยให้ต้นเจริญเติบโตได้ดีและเร็วขึ้น
- น้ำ ควรให้น้ำหลังจากปลูกวันละ 1-2 ครั้ง หรืออาจให้วันเว้นวันเมื่อต้นกะเพราแดงแตกกิ่งเป็นพุ่มใหญ่
- ดิน กะเพราแดงอยู่ได้กับดินทุกชนิด แต่ถ้าหากใช้ดินร่วนและระบายน้ำได้ดีในการปลูกจะช่วยให้ผลผลิตที่ดีกว่า สำหรับระยะการปลูกนั้นควรเว้นความห่างเพื่อให้กะเพราแตกพุ่ม 30 เซนติเมตร
- ปุ๋ย ให้ปุ๋ยคอก อัตรา 200 กิโลกรัม/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในอัตรา 30-50 กิโลกรัม/ไร่ หลังปลูกประมาณ 2-4 สัปดาห์
การเก็บเกี่ยวผลผลิต
สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตของกะเพราแดงได้ประมาณ 2 เดือน หลังจากการปลูก โดยสามารถใช้มือเด็ดยอดอ่อนหรือใช้กรรไกรตัดกิ่ง สามารถเก็บเกี่ยวไปได้เรื่อย ๆ ในทุก ๆ 20-30 วัน ทั้งนี้กะเพราแดงนั้นเป็นผักที่ค่อนข้างบอบบาง ช้ำและเหี่ยวง่าย ดังนั้นควรเก็บอย่างเบามือแล้วนำใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้
ประโยชน์และสรรพคุณต่าง ๆ
- สามารถนำกะเพราแดงมาประกอบอาหารในเมนูต่าง ๆ ได้ เช่น ผัดกะเพรา ต้มยำ ต้มโคล้ง แกงเลียง แกงป่า ผัดฉ่า เป็นต้น
- ช่วยป้องกันรักษาดวงตา ป้องกันแก้วตาขุ่น ฟื้นฟูจอประสาทตา บำรุงสายตา ช่วยในการมองเห็น รวมถึงลดอาการบวมของเส้นประสาทตาจากการป่วยโรคเบาหวาน
- แก้หวัด แก้ไข้สันนิบาต ช่วยรักษาไข้มาลาเรีย รักษาอาการวิตกกังวล เครียด และซึมเศร้า
- ใช้ใบและยอดกะเพราแดงในการรักษาอาการกรดไหลย้อน แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นหน้าอก แก้คลื่นเหียนอาเจียน รักษาแผลในกระเพาะ และช่วยให้เจริญอาหาร
- แก้ซางตานขโมย สามารถใช้ใบกะเพราแดงสดมาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับยามหาหิงคุ์ นำมาทาที่บริเวณสะดือของเด็กแก้ปวดท้อง นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณช่วยเพิ่มน้ำนมให้กับสตรีหลังคลอดบุตร ขับน้ำนม บรรเทาอาการไข้เรื้อรัง แก้ปวดฟัน รักษากลาก เกลื้อน และโรคหูดได้
- สามารถนำมาชงดื่มบำรุงธาตุและลดน้ำตาลในเลือดในปัสสาวะได้
- น้ำคั้นจากใบกะเพราแดงสามารถช่วยขับเหงื่อ ขับเสมหะ แก้ไข้ ขับลม แก้ปวดหลัง และใช้หยอดแก้ปวดหูได้
- สามารถนำเมล็ดกะเพราแดงมาแช่น้ำพองเป็นเมือกแล้วใช้พอกตาเมื่อมีขี้ผงฝุ่นเข้าตา ไม่ให้ขอบตาบวมช้ำ
- น้ำมันกะเพราแดงสามารถใช้ป้องกันและไล่ยุงได้
- คนไทยสมัยก่อนนิยมทานแกงเลียงใบกะเพราหลังคลอดบุตร เพื่อขับลมและบำรุงธาตุให้เป็นปกติ
ราคาต่อต้นโดยประมาณ
กะเพราแดงเป็นพืชที่หาได้ค่อนข้างยากกว่ากะเพราขาว โดยต้นกล้ากะเพราแดง มีราคาต้นละประมาณ 25 บาท ส่วนต้นกะเพราแดงขนาดทั่วไป ราคาต้นละประมาณ 30-50 บาท ทั้งนี้ราคาจะขึ้นอยู่กับขนาดของต้น