ปลา เป็นแหล่งโปรตีนที่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับอาหารจำพวกเนื้อสัตว์อื่นๆ จึงได้รับความนิยมนำมารับประทานกันอย่างมาก ปลานั้นสามารถเลี้ยงได้ง่าย ไม่ต้องลงทุนสูง เจริญเติบโตไว สร้างรายได้ให้ในระยะสั้น ปัจจุบันการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปลาได้รับความสนใจและแพร่หลายมากขึ้นกว่าเดิมมาก ไม่ว่าจะเป็นเลี้ยงไว้เพื่อรับประทานภายในครอบครัว เลี้ยงไว้ขายเป็นอาชีพ ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดเล็ก และการเลี้ยงปลาแบบผสมผสานแบบเกษตรอินทรีย์ก็กำลังได้รับความนิยม ผู้คนหันมาพึ่งพาตนเองและนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ซึ่งเป็นการประกอบอาชีพด้านการเกษตรพร้อมจัดการระบบนิเวศเกษตรอย่างเหมาะสม ลดต้นทุนในการผลิตและปลอดภัย สามารถใช้พื้นที่ได้เกิดประโยชน์สูงสุด เศษซากของพืชและสัตว์ก็ยังสามารถนำกลับได้ใช้เป็นอาหารของปลาที่เลี้ยงไว้ได้ นอกจากนี้แล้วปลาที่ได้ยังสามารถนำไปแปรรูป สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อีกด้วย
ปลา เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ มีหลากหลายสายพันธุ์ บางชนิดมีเกล็ดและไม่มีเกล็ด มีทั้งปลากระดูกอ่อน ปลากระดูกแข็ง ปลาสามารถดำรงชีพได้ในสภาพอากาศแปรปรวนและแตกต่างกันอย่างมาก ปลาแต่ละชนิดมีคุณสมบัติเฉพาะตัวในการปรับสภาพของตัวเอง ให้สามารถมีชีวิตต่อไปได้ อย่างเช่น ปลาที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแอนตาร์กติก ซึ่งปกคลุมด้วยน้ำแข็งและมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ปลาจึงปรับสภาพร่างกายของตัวเอง โดยการสร้างสารความต้านทานของเม็ดเลือด หรือปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิสูง แหล่งน้ำจืดสนิทจนถึงแหล่งน้ำที่มีความเค็มค่อนข้างมาก ก็จะมีการปรับสภาพการดำรงชีพที่แตกต่างกัน รวมไปถึงวิธีการว่ายน้ำด้วยลักษณะวิธีการที่แตกต่างกัน การปรับตัวและการดิ้นรนเพื่อการดำรงชีวิตของปลา จึงส่งผลให้ลักษณะและพฤติกรรมของปลาแตกต่างกันออกไป
การสืบพันธุ์ของปลา
ปลาเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีวิวัฒนาการในเรื่องการสืบพันธุ์แตกต่างกันไป ปลามีการสืบพันธุ์ทุกแบบ มีการผสมพันธุ์ภายนอกและภายใน ทั้งยังแตกต่างกันในเรื่องแหล่งและฤดูวางไข่ สิ่งที่น่าสนใจอีกหนึ่งอย่างคือ การดูแลตัวอ่อนซึ่งมีความสัมพันธุ์กับความดกของไข่ปลาแต่ละชนิด ความแตกต่างนี้มาจากวิวัฒนาการและการปรับตัวเป็นระยะเวลานานหลายพันปี เพื่อให้การสืบพันธุ์มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในระยะการปฏิสนธิและการอยู่รอดของตัวอ่อน
รูปแบบของการสืบพันธุ์
การสืบพันธุ์ของปลาแบ่งออกได้ 3 แบบ คือ
- การสืบพันธุ์แบบแยกเพศ (Gonochorism) เป็นการสืบพันธุ์ของปลากระดูกแข็งส่วนใหญ่ โดยมีการสร้างเชื้อสืบพันธุ์เพศผู้และเพศเมีย โดยปลาเพศผู้ทำหน้าที่สร้างเชื้อตัวผู้ ปลาตัวเมียสร้างไข่ ปลาเหล่านี้ตัวใดตัวหนึ่งจะเป็นได้เพียงเพศเดียวเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามยังมีปลาบางชนิด เช่น ปลาไหลญี่ปุ่น ปลาเรนโบว์ เทราท์ ฯลฯ มีอวัยวะเพศที่ยังไม่เจริญเป็นเพศใดแน่ชัดในระยะก่อนการเจริญพันธุ์ แต่ในที่สุดอวัยวะเพศก็จะเจริญไปเป็นรังไข่หรือัณฑะเมื่อปลาเหล่านี้เจริญถึงระยะเจริญพันธุ์ ในปลากลุ่มนี้อาจพบว่าปลาบางตัวอาจจะมีอวัยวะเพศทั้ง 2 เพศ แต่พบไม่บ่อยนัก เรียกปลากลุ่มนี้วาอันดิฟเฟอเรนทิเอต โกโนโคริสต์ ส่วนกลุ่มที่มีอวัยวะเพศที่เจริญแยกเพศได้ตั้งแต่ระยะต้น ๆ ของชีวิต เรียกกว่า ดิฟเฟอเรนทิเอต โกโนริสต์ ในกลุ่มนี้แทบจะไม่พบปลาที่มี 2 เพศในตัวเดียวกันเลย
- การสืบพันธุ์แบบกระเทย (hermaphroditism) หมายถึงการสืบพันธุ์แบบที่มีการสร้างไข่และเชื้อตัวผู้ในปลาตัวเดียวกัน การสืบพันธุ์แบบนี้แบ่งออกได้ 2 ลักษณะคือ
– กระเทยแบบที่สร้างเชื้อสืบพันธุ์ทั้งสองเพศพร้อมกัน ภายในอวัยวะสืบพันธุ์ของปลากลุ่มนี้มีเนื้อเยื่อที่สามารถสร้างไข่และเชื้อตัวผู้ออกมาได้พร้อม ๆ กัน โดยไม่คำนึงว่าจะเกิดการผสมกันเองหรือไม่ ตัวอย่างเช่น Serranus scriba ซึ่งเป็นปลาในครอบครัวปลากะรัง (Serranidae)
– กระเทยแบบที่มีการเปลี่ยนเพศ กระเทยแบบนี้แม้จะพบว่ามีทั้งเนื้อเยื่ออัณฑะและรังไข่ปรากฏอยู่ด้วยกัน แต่ในช่วงหนึ่งของชีวิตจะสร้างเฉพาะไข่ หรือน้ำเชื้ออย่างใดอย่างหนึ่ง และจะเปลี่ยนไปสร้างเชื้อสืบพันธุ์ของเพศตรงกันข้ามในภายหลัง
- การสืบพันธุ์แบบพาร์ธิโนเจเนซิส เป็นการสืบพันธุ์แบบที่ตัวอ่อนเจริญจากเซลล์สืบพันธุ์ โดยไม่เกิดการปฏิสนธิ ส่วนใหญ่จะพบแบบที่ตัวอ่อนเจริญจากไข่ เช่น การสืบพันธุ์ของปลาอเมซอน มอลลี่ ปลาที่สืบพันธุ์แบบไจโนเจเนซิสนี้จะมีแต่ปลาตัวเมียล้วน ๆ เมื่อถึงฤดูกาลผสมพันธุ์มันจะอาศัยเชื้อตัวผู้จากปลาชนิดอื่น ในการกระตุ้นให้เซลล์ไข่เกิดจากการเจริญพัฒนา เชื้อตัวผู้นั้น ๆ จะไม่เข้าปฏิสนธิกับไข่และไม่กระตุ้นให้ไข่เกิดการแบ่งเซลล์แบบไมโอซิสระยะที่ 2 ลูกปลาที่เจริญขึ้นมาจึงมีโคโมโซมครบจำนวนดิพลอยด์ และเนื่องจากรับโครโมโซมจากแม่เพียงทางเดียวลูกปลาทั้งหมดจึงเป็นเพศเมีย
การกำหนดเพศของปลา
ปลามีระบบการกำหนดเพศที่แตกต่างกันไปถึง 9 แบบ โดย 8 แบบเป็นการควบคุมโดยโครโมโซมเพศ ซึ่งอาจจะมีรูปร่างแตกต่างหรือไม่แตกต่างจากออโตโซม และอีกแบบหนึ่งนั้นเพศถูกควบคุมโดยยีส บนออโตโซม ซึ่งการกำหนดเพศของปลามีดังนี้
- การกำหนดเพศแบบที่พบในปลาส่วนใหญ่คือ ระบบ XY เช่นเดียวกับที่พบในคน โดยปลาเพศเมียจะมีโครโมโซมเพศเหมือนกัน กำหนดให้เป็น XX เพศผู้มีโครโมโซมเพศต่างกันกำหนดเป็น XY
- ปลาบางชนิดมีระบบการกำหนดเพศแบบ ZW ปลาเหล่านี้มีโครโมโซมเพศเหมือนกันในเพศผู้ (ZZ) และเพศเมียมีโครโมโซมเพศต่างกัน (ZW) โดยความเป็นจริงแล้วการกำหนดเพศแบบนี้ก็เป็นไปทำนองเดียวกับระบบ XY แต่กำหนดสัญลักษณ์ให้ต่างกันเพื่อป้องกันการสับสน
- ในกลุ่มปลาที่สาม การกำหนดเพศเป็นแบบมีโครโมโซมเพศเมีย ( X chromosome) จำนวนมาก (multiple X chromosomes)
- ปลากลุ่มที่ 4 การกำหนดเพศเป็นแบบมีโครโมโซม W จำนวนมาก (multiple W chromosomes) โดยเพศผู้มีโครโมโซมเพศ ZZ และเพศเมียมีโครโมโซมเพศ ZW1W2 (แทนที่จะเป็น ZW เหมือนปลากลุ่มที่ 2)
- ปลากลุ่มที่ 5 เป็นแบบมีโครโมโซม Y จำนวนมาก (multiple Y Chromosomes) เพศผู้มีโครโมโซมเพศ XY1Y2 ในขณะที่เพศเมียมีโคโมโซม XX เหมือนกับที่พบในการกำหนดเพศแบบแรก
- การกำหนดเพศแบบที่ 6 คือแบบที่เรียกกว่า ระบบ WXY โดยโครโมโซม W จะสามารถข่มการแสดงออกของโครโมโซม Y ซึ่งโดยปกติจะกำหนดการเป็นเพศผู้ ดังนั้นปลาที่จะมีโครโมโซม XY,WX, และ XX จะเป็นเพศเมีย ส่วนตัวที่มีโครโมโซม XY และ YY จะเป็นเพศผู้
- การกำหนดเพศแบบที่ 7 และ 8 เป็นแบบที่มีโครโมโซมเพศเพียงชนิดเดียว เช่นในปลา Sternoptyx diaphana เพศเมียมีโครโมโซมเพศครบคู่ (XX) ส่วนเพศผู้มีโครโมโซมเพศลักษณะเช่นเดียวกับเพศเมียแต่มีเพียงแท่งเดียว (XO)
- ปลากลุ่มที่ 9 เพศควบคุมโดยยีนบนออโตโซม การที่ปลาจะแสดงออกเป็นเพศใด จะขึ้นกับจำนวนยีนเพศผู้และเพศเมีย
นอกจากนี้แล้วในปลาบางชนิด สิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ช่วงแสง ความเค็ม หรือความหนาแน่น มีผลต่อเพศของปลาได้ด้วยเช่นกัน
อายุเจริญพันธุ์
รศ.อุทัยรัตน์ ณ นคร ได้กล่าวว่า ปลาจะเจริญพันธุ์ช้าหรือเร็วแตกต่างกันไปตามชนิด โดยปลาชนิดที่มีขนาดเล็กมีแนวโน้มจะเจริญพันธุ์เร็วกว่าปลาขนาดใหญ่ ปลาพื้นเมืองของไทยส่วนใหญ่จะเจริญพันธุ์ภายในเวลา 8-12 เดือน โดยปลาเพศผู้มักจะเจริญพันธุ์ก่อนเพศเมีย เช่น ปลาตะเพียนขาว ปลาดุกอุย ปลาดุกด้าน ปลาสลิด ปลาสวาย ฯลฯ ปลาช่อนมีเจริญพันธุ์ในระยะ 8-9 เดือน หากสังเกตจากบ่อเลี้ยง ส่วนปลาเฉา ปลาเล่ง ปลาซ่ง ทั้งสามชนิดเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 1 ปี ส่วนปลานิลซึ่งเป็นปลาพื้นเมืองของทวีปอัฟริกาเจริญพันธุ์เมื่ออายุเพียง 3-4 เดือน การที่เจริญพันธุ์เร็วก็ส่งผลให้เกิดปัญหาในการเลี้ยง โดยลูกปลาที่เพิ่มจำนวนขึ้นระหว่างการเลี้ยงจะแย่งอาหาร ทำให้ปลาที่เลี้ยงไม่โตเท่าที่ควร ซึ่งการแก้ปัญหาทำได้โดยคัดเพศเอาเฉพาะปลาตัวผู้ซึ่งโตเร็วกว่ามาเลี้ยง
การวางไข่
แหล่งวางไข่
ปลาแต่ละชนิดจะเลือกแหล่งวางไข่เพื่อให้เหมาะสมกับการเจริญพัฒนาของไข่ และการอยู่รอดของลูก ซึ่งแหล่งวางไข่ของปลาแบ่งกว้าง ๆ ได้ 2 ประเภท คือ
- แหล่งน้ำไหล ปลาที่วางไข่ในน้ำไหล ส่วนใหญ่มีไข่แบบครึ่งจมครึ่งลอย ไข่เหล่านี้มีความถ่วงจำเพาะพอ ๆ กับน้ำ ดังนั้นจึงจมในน้ำนิ่งและลอยในน้ำไหล โดยทั่วไปไข่จะถูกกระแสน้ำพัดไปตามน้ำในฤดูน้ำหลาก และเข้าไปสู่ลำธาร หนอง บึง ทะเลสาบ ที่น้ำท่วมถึง บริเวณนี้ค่อนข้างสงบและมีอาหารอุดมสมบูรณ์สำหรับลูกปลา ส่วนความแรงของกระแสน้ำที่เหมาะสมนั้นแตกต่างไปตามชนิดของปลา บางชนิดอาจต้องการน้ำไหลแรง บางชนิดต้องการเพียงน้ำไหลเอ่อในฤดูน้ำหลาก
- แหล่งน้ำนิ่ง ส่วนใหญ่มีไข่แบบจมติดหรือไข่ลอย ปลาน้ำจืดที่มีไข่แบบไข่ลอยมีไม่มาก การที่ปลาพวกนี้วางไข่ในน้ำนิ่ง อาจจะเป็นเพราะไม่ต้องการให้ไข่กระจัดกระจาย จากการสังเกตการณ์ดูแลไข่ของปลาช่อน พบว่ามันวางไข่ในน้ำนิ่ง ไข่จะลอยเป็นแพอยู่ผิวน้ำ โดยพ่อแม่ปลาจะคอยดูแล ในบางครั้งไข่อาจจะกระจายออกจากกันด้วยแรงลม พ่อแม่ปลาจะพยายามใช้ครีบโบกไล่ให้ไข่กลับไปรวมกันเหมือนเดิม ปลาไข่ติดวางไข่ในแหล่งน้ำนิ่งแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ปลาดุกอุย ปลาดุกด้าน ปลากราย ปลาไน และปลาบึกเป็นต้น
ฤดูวางไข่
การปรับตัวของปลาในการวางไข่ในฤดูกาลต่าง ๆ เป็นไปด้วยเหตุผล 2 อย่างคือ เพื่อให้ลูกปลาได้มีอาหารกินอุดมสมบูรณ์ และการปรับตัวเพื่อป้องกันอันตราจากศัตรู การปรับตัวด้วยเหตุผล 2 อย่างนี้ทำให้ปลาแต่ละท้องที่วางไข่ในฤดูต่างกัน และแม้ในพื้นที่เดียวกันก็ยังมีความแตกต่างกันในเรื่องช่วงเวลา ในเขตอบอุ่นและเขตหนาว ในรอบปีแหล่งน้ำมีความอุดมสมบูรณ์เพียงช่วงสั้น ๆ ในฤดูใบไม้ผลิ ปลาในแถบนั้นจึงจะมีฤดูวางไข่ค่อนข้างสั้นต่างกับปลาในเขตร้อน ซึ่งแหล่งน้ำมีความอุดมสมบูรณ์เกือบตลอดปี ปลาในแถบร้อนจึงมีฤดูวางไข่ยาวนานและส่วนใหญ่จะวางไข่เป็นชุดๆ หลาย ๆ ครั้งระหว่างฤดูวางไข่ สำหรับปลาพื้นเมืองของไทยตามธรรมชาติจะวางไข่ในฤดูฝน ซึ่งจะคลาดเคลื่อนกันบ้างในแต่ละปี ขึ้นกับว่าปีนั้น ๆ ฝนมาเร็วหรือมาช้า และปลาแต่ละชนิดก็จะมีช่วงที่วางไข่มากท่สุดแตกต่างกันไปเช่นกัน
ปัจจัยกระตุ้นการวางไข่
ในปลากระดูกแข็งส่วนใหญ่ซึ่งมีการปฏิสนธิของไข่และน้ำเชื้อเกิดภายนอกร่างกาย ขั้นตอนการตกไข่นับว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการสืบพันธุ์ ในระยะก่อนการตกไข่โอไอไซท์จะสะสมโยล์ค ซึ่งก็คือสารไวเทลโลเจนินไว้เป็นอาหารของตัวอ่อนในระยะที่เพิ่งออกจากไข่ เมื่อการสะสมโยล์คสิ้นสุดลง ไข่ก็จะคงอยู่ในระยะพักภายในฟอลลิเคิลไปเรื่อย ๆ เมื่อได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนควบคุมการตกไข่ การเจริญขั้นสุดท้ายก็จะเกิดขึ้นตามด้วยการตกไข่ และมีการวางไข่ในที่สุด ปัจจัยที่กระตุ้นการวางไข่แบ่งออกได้ 2 อย่างคือ
- ปัจจัยภายใน หมายถึงสภาพทางสรีระของปลา เช่น ระยะของข่ ปริมาณฮอร์โมนที่จำเป็นต่างจะต้องอยู่ในสภาพที่พร้อมจะเกิดการตกไข่ เช่น ไข่ อยู่ในระยะที่การสะสมโยล์คเสร็จสิ้นสมบูรณ์ระดับโกนาโดโทรปิน อยู่ในระดับสูง ฯลฯ
- ปัจจัยภายนอก จากการสังเกตพบว่าปลาหลายชนิดที่อยู่ในที่กักขัง แม้จะมีไข่แก่แต่ไม่วางไข่ ทั้งนี้เป็นเพราะสิ่งแวดล้อมภายนอกไม่เหมาะสม เห็นได้ว่าปลามีวิธีการในการควบคุมการขยายพันธุ์ของมันให้มีประสิทธิภาพที่สุด โดยปลาจะวางไข่ผสมพันธุ์ต่อเมื่อสิ่งแวดล้อมภายนอกเอื้ออำนวยต่อการปฏิสนธิของไข่และน้ำเชื้อ โดยปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลต่อการวางไข่ของปลามีหลายอย่าง เช่น ช่วงแสง อุณหภูมิ น้ำใหม่และน้ำท่วม กระแสน้ำ น้ำขึ้นน้ำลงและข้างขึ้นข้างแรม ฝน วัสดุที่จำเป็นในการวางไข่ ปัจจัยทางสังคม เป็นต้น
การดูแลไข่และตัวอ่อนของปลา
ปลามีพฤติกรรมการดูแลไข่และตัวอ่อนแตกต่างกันไปหลายระดับ ตั้งแต่พวกที่วางไข่ทิ้งไว้ตามลำพังโดยไม่มีการดูแลเลย จนถึงการดูแลไข่โดยการฟักไข่ในท้องแล้วออกลูกเป็นตัว ปลาบางกลุ่มพัฒนาพฤติกรรมการสร้างรังแล้ววางไข่ภายในรัง เพื่อป้องกันไม่ให้ไข่ได้รับอันตรายจากสิ่งแวดล้อมและศัตรู แต่พ่อแม่ปลาไม่เฝ้าดูแลรัง ปลาบางกลุ่มพัฒนาพฤติกรรมการดูแลไข่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม โดยการสร้างรังแล้ววางไข่ภายในรังนั้น พ่อแม่ปลาหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะคอยเฝ้าป้องกันอันตราย รังที่สร้างนี้มีหลายลักษณะ ความประณีตในการสร้างก็แตกต่างกันไป ตั้งแต่พวกที่วางไข่ตามวัสดุที่มีอยู่แล้ว โดยไม่ได้สร้างเพิ่มเติม และบางชนิดก็มีการใช้เยื่อใยจากพืชมาสานเป็นรังอย่างปราณีตสาวยงาม
การทำฟาร์มเพาะพันธุ์ปลา
ในปัจจุบันอาชีพเพาะพันธุ์ปลาได้รับความสนใจแพร่หลายขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากการขยายตัวของกิจการเลี้ยงปลา ทำให้มีความต้องการลูกปลาเพิ่มมากขึ้น ในประเทศไทยมีปลาน้ำจืดที่นิยมเลี้ยงกันหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีวิธีเพาะพันธุ์แตกต่างกันไป จึงทำให้ลักษณะของฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาในประเทศไทยมีความแตกต่างกันมากมาย โดยการทำฟาร์มเพาะพันธุ์ปลานั้นมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องพิจารณา คือ
ทำเลในการตั้งฟาร์ม
ในการดำเนินกิจการเพาะพันธุ์ปลา ขั้นตอนการเลือกทำเลเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะส่งผลถึงผลผลิตตลอดจนการตลาด โดยทั่วไปความต้องการเบื้องต้นสำหรับการเพาะพันธุ์ปลาจะเป็นเช่นเดียวกับข้อพิจารณาในการเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วไป เพียงแต่จะมีความแตกต่างบ้างในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ และสิ่งที่ต้องพิจารณามีดังนี้
- แหล่งน้ำ ปัจจัยสำคัญยิ่งในการเพาะพันธุ์ปลาก็คือแหล่งน้ำ ซึ่งนอกจากจะต้องมีปริมาณน้ำเพียงพอตลอดปี หรืออย่างน้อยก็ตลอดช่วงฤดูเพาะพันธุ์ปลาแล้ว คุณสมบัติของน้ำก็เป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการเพาะพันธุ์ปลา
- พื้นที่ในการเลือกทำเลควรเลือกพื้นที่ที่ใกล้กลับแหล่งเลี้ยงปลาชนิดที่จะทำการเพาะพันธุ์ พื้นที่ต้องมีเพียงพอที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างที่จำเป็น เช่น บ่อฟักไข่ บ่ออนุบาล เป็นพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมเพราะหากเกิดน้ำท่วม จะทำให้พ่อแม่พันธุ์และลูกปลาที่อนุบาลในบ่อดินสูญหายไปได้ นอกจากนั้นพื้นที่ไม่ควรสูงชัน เพราะจะทำให้การก่อสร้างทำได้ยาก
- กระแสไฟฟ้า หากมีกระแสไฟฟ้าใช้จะช่วยลดต้นทุนบางอย่าง เช่น การสูบน้ำ การให้อากาศ ทั้งนี้เพราะการใช้อุปกรณ์ที่ทำงานด้วยกระแสไฟฟ้า จะประหยัดกว่าการใช้น้ำมัน นอกจากนั้นการมีกระแสไฟฟ้าจะทำให้การทำงานกลางคืนสะดวกยิ่งขึ้น
- อยู่ใกล้ทางคมนาคม ในการขนส่งลูกปลาไปยังบ่อเลี้ยงนั้น เป็นงานที่ต้องอาศัยความรวดเร็วมาก เมื่อมองในแง่การตลาด ฟาร์มที่อยู่ใกล้เส้นทางคมนาคมย่อติดต่อกับลูกค้าได้สะดวก เพราะในการทำกิจการเพาะพันธุ์ปลา สิ่งที่สำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยให้ขายผลผลิตได้ดีมากขึ้น คือ ผู้เพาะต้องสามารถให้คำแนะนำในการเลี้ยงแก่ลูกค้าได้ การพบปะพูดคุยจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ชนิดของปลาที่จะเพาะพันธุ์
ปลาที่สำคัญทางเศรษฐกิจของไทยมีมากมายหลายชนิด และมีวิธีการเพาะพันธุ์แตกต่างกันไป เช่น ปลาดุกด้าน ปลานิล และปลาไน นิยมเพาะโดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ โดยปล่อยให้พ่อแม่ปลาผสมพันธุ์กันเองในบ่อ ส่วนปลาดุกอุย ปลาสวาย ปลาตะเพียนขาว เพาะโดยการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็จะแตกต่างจากพวกที่เพาะโดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ แม้ในกลุ่มที่เพาะโดยการฉีดฮอร์โมนก็ยังมีความแตกต่างในเรื่องวิธีการฟักในปลาที่มีไข่ต่างชนิดกัน เช่น ปลาดุกอุยและปลาสวายมีไข่แบบจมติด การฟักไข่ไม่จำเป็นต้องใช้กรวยฟัก ในขณะที่ปลามีไข่ครึ่งลอยครึ่งจมต้องฟักในกรวยฟัก ดังนั้นก่อนตัดสินใจสร้างโรงเพาฟัก จึงต้องเลือกชนิดปลาให้แน่นอนลงไปก่อนว่าจะผลิตปลาชนิดใด โดยอาจผลิตเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งหรือผลิตลูกปลาหลาย ๆ ชนิดก็ได้
ขนาดของฟาร์มเพาะพันธุ์ปลา
ขนาดของฟาร์มย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 2 อย่างคือ เป้าหมายในการผลิตและเงินทุนที่มี ฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาโดยเฉพาะปลาน้ำจืดในประเทศไทย มีลักษณะเช่นเดียวกันกับฟาร์มเลี้ยงปลาทั่วไปคือ ส่วนใหญ่เป็นฟาร์มขนาดกลางและขนาดเล็ก การลงทุนตั้งแต่ 500,000-5,000,000 บาท สำหรับฟาร์มระดับอุตสาหกรรมนั้นมีรายจ่ายสูงจึงทำให้เลี้ยงตัวอยู่ไม่ได้ ฟาร์มขนาดเล็กนั้นมีข้อเสียในเรื่องตลาด เพราะไม่มีอำนาจต่อรองนอกจากนั้นผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด จะมีความสม่ำเสมอน้อยกว่าฟาร์มขนาดกลาง ซึ่งส่วนใหญ่นอกจากจะผลิตลูกปลาบางชนิดแล้ว ยังเป็นพ่อค้าคนกลางสำหรับปลาชนิดที่ไม่ได้เพาะพันธุ์ด้วย
องค์ประกอบของฟาร์มเพาะพันธุ์ปลา
ฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาทั่วไปประกอบด้วยส่วนย่อย ๆ 4 ส่วน คือ บ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ โรงเพาะฟัก บ่ออนุบาล และบ่อเลี้ยงปลาขนาดนิ้วมือ
- บ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ ควรเป็นบ่อดินขนาดไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป เพราะหากเล็กเกินไปอาจจะมีผลให้พ่อแม่พันธุ์ปลาขนาดใหญ่ไม่สามารถสร้างไข่และน้ำเชื้อได้ หากใช้บ่อขนาดใหญ่เกินไปก็จะทำให้การจัดพ่อแม่พันธุ์ทำได้ยาก ขนาดของบ่อที่เหมาะสมมีเนื้อที่ประมาณ 0.5-1 ไร่ ความลึกประมาณ 1.5 เมตร และควรเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพื่อความสะดวกในการจับปลาด้วยอวน บ่อพ่อแม่พันธุ์ต้องมีอย่างน้อย 2 บ่อต่อปลาแต่ละชนิด เพราะต้องแยกเลี้ยงปลาเพศผู้และเพศเมียแยกบ่อกัน
- โรงเพาะฟัก เป็นสถานที่ที่ใช้ดำเนินกิจกรรมแทบทุกอย่างในการเพาะพันธุ์ปลา โดยเฉพาะในการเพาะพันธุ์ปลาโดยการฉีดฮอร์โมนกระตุ้น โดยเริ่มตั้งแต่การขนย้ายพ่อแม่ปลาเข้ามาพักไว้ และทำการฉีดฮอร์โมนผสมพันธุ์ ฟักไข่ ตลอดจนการอนุบาล ดังนั้นโรงเพาะจะประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
- บ่อพักพ่อแม่พันธุ์ ก่อนการแดและระหว่างการฉีด จำเป็นต้องนำพ่อแม่พันธุ์มาพักไว้ในโรงเพาะโดยแยกเพศ จึงจำเป็นต้องมีบ่อพ่อแม่พันธุ์อย่างน้อย 2 บ่อ
- ห้องปฏิบัติการ ภายในโรงเพาะฟักจะต้องมีบริเวณสำหรับการฉีดฮอร์โมนการผสมเทียม และกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การบรรจุลูกปลาเพื่อการขนส่ง ซึ่งไม่ต้องการเนื้อที่มากมายนัก เพียงแต่สามารถวางโต๊ะทำงานและมีบริเวณเหลือเล็กน้อยพอที่จะทำงานได้สะดวกก็เพียงพอแล้ว
- บ่อฟัก การฟักไข่ปลาต่างชนิดจะใช้อุปกรณ์ต่างกันในกรณีของปลาไข่ติด จำเป็นต้องมีบ่อฟักซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่นัก อาจเป็นขนาดเดียวกับพ่อแม่พันธุ์ สำหรับบ่อฟักไข่ปลาดุกไม่จำเป็นต้องลึกถึง 1 เมตร อาจจะลดลงเหลือ 60 เซนติเมตรก็เพียงพอแล้ว
- บ่ออนุบาล ภายในโรงเพาะฟักอาจจำเป็นต้องมีบ่ออนุบาลคอนกรีต สำหรับอนุบาลลูกปลาบางชนิด นอกจากนั้นบ่อนี้อาจใช้เป็นบ่อพักลูกปลาก่อนการขนส่งก็ได้ บ่อที่ใช้ควารมีลักษณะและขนาดเดียวกันกับพ่อพักพ่อแม่พันธุ์
- บ่อพักน้ำ น้ำที่ใช้ในโรงเพาะฟักจำเป็นต้องพักไว้ก่อนเสมอ ทั้งนี้เพื่อปรับคุณสมบัติของน้ำ บ่อพักน้ำอาจจะสร้างเป็นถังทรงสูงก็จะช่วยประหยัดพื้นที่ นอกจากนั้นยังทำให้น้ำมีแรงดันพอที่จะใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในโรงพักได้โดยสะดวก
- เครื่องเป่าลม การให้อากาศเป็นสิ่งจำเป็นในโรงเพาะฟัก เพราะนอกจากเป็นการป้องกันการขาดออกซิเจนแล้ว ปริมาณก๊าซออกซิเจนที่สูงจะช่วยลดพิษของแอมโนเมียลงได้
- บ่ออนุบาลสำหรับปลาบางชนิด การอนุบาลควรทำในบ่อดิน จะได้ผลดีกว่าอนุบาลในบ่อคอนกรีต โดยใช้บ่อดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 0.5-1 ไร่ ก้นบ่อเรียบและมีความลาดเอียงเล็กน้อย ความลึกของบ่อประมาณ 0.8-1 เมตร มีท่อระบายน้ำทางด้านลึกของบ่อ บริเวณท่อระบายน้ำควรขุดพื้นบ่อให้ลึกเป็นแอ่ง เพื่อความสะดวกในการรวบรวมลูกปลาเมื่อทำการจับโดยการระบายน้ำออก จำนวนบ่ออนุบาลขึ้นกับจำนวนลูกปลาที่ต้องการในแต่ละช่วง โดยจะอนุบาลประมาณ 1 เดือน ได้ลูกปลาประมาณ 200,000 ตัว/บ่อขนาด 0.5 ไร่
- บ่อเลี้ยงปลาขนาดนิ้วมือ บ่อในส่วนนี้ใช้ในการเลี้ยงลูกปลาขนาดนิ้วมือ ซึ่งผู้เลี้ยงปลารายใหม่มักจะต้องการเนื่องจากมีอัตรารอดสูงกว่า บางส่วนจะใช้ในการเลี้ยงปลาที่จะใช้เป็นพ่อพันธุ์ก่อนที่จะแยกลงบ่อสำหรับพ่อแม่พันธุ์ โดยเฉพาะในฟาร์มที่เลี้ยงปลาต่อมเอง ก็สามารถใช้บ่อเหล่านี้เลี้ยงปลาต่อมได้ นอกจากนั้นในกรณีที่ต้องการเลี้ยงปลาโตเพื่อขายสู่ตลาดก็สามารถเลี้ยงในบ่อนี้ได้
การเพาะพันธุ์ปลา
ในการเลี้ยงปลาแทบทุกชนิดมักจะมีจุดเริ่มต้นจากการรวบรวมลูกปลาจากธรรมชาติมาเลี้ยง วิธีการนี้แม้จะลงทุนน้อยแต่ในเวลาต่อมาเมื่อสภาพแวดล้อมของแหล่งน้ำเริ่มเสื่อมโทรมลง จำนวนลูกปลาที่จับได้ก็มีน้อยลง ประกอบกับการเลี้ยงปลาชนิดนั้น ๆ แพร่หลายขึ้น มนุษย์จึงได้หันมาสนใจที่จะเพาะพันธุ์ปลาโดยสังเกตการณ์ขยายพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ แล้วนำมาเลียนแบบและดัดแปลง ทำให้สามารถควบคุมการผสมพันธุ์ของปลาได้ การเพาะพันธุ์ปลามีวิวัฒนาการเป็นลำดับ จนถึงุคการฉีดฮอร์โมนกระตุ้น อย่างไรก็ตามวิธีการต่าง ๆ ที่เคยทำมาในอดีตก็ยังมีผู้นำมาใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของปลาสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนเทคโนโลยที่มีอยู่ ในการเพาะพันธุ์ปลานั้นไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ตาม ขั้นตอนที่เป็นหลักก็ยังคงเหมือนเดิม คือการเตรียมพ่อแม่พันธุ์ ผสมพันธุ์และการอนุบาลลูกปลา
แหล่งของพ่อแม่พันธุ์ปลา
พ่อแม่พันธุ์ปลาที่จะนำมาใช้ในการเพาะพันธุ์ โดยมาจาก 3 แหล่งคือ
- จากแหล่งวางไข่ ปลาบางชนิดจะผสมพันธุ์วางไข่ในบริเวณที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง การรวบรวมพ่อแม่ปลาจากแหล่งวางไข่ทำได้ค่อนข้างง่ายกว่าปกติ เพราะปลาที่กำลังวางไข่จะไม่หนี พ่อแม่ปลาเหล่านี้หากมีความสมบูรณ์ถึงขั้นก็สามารถผสมเทียมได้ทันที
- จากแหล่งน้ำธรรมชาติ สำหรับปลาชนิดที่ไม่ได้มีแหล่งวางไข่เฉพาะเจาะจง การจับปลาชนิดต่าง ๆ จากแหล่งน้ำทั่วไปจะได้ปลาทั้งที่มีความพร้อมและไม่พร้อมคละกันไป พ่อแม่ปลาที่ได้หากมีไข่แก่น้ำเชื้อดีก็สามารถนำมาเพาะพันธุ์ได้ทันที หากยังไม่พร้อมอาจจะนำมาเลี้ยงไว้ก่อนชั่วระยะหนึ่ง พ่อแม่ปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติมักจะบอบช้ำ เนื่องจากการจับและการลำเลียงเมื่อนำมาเลี้ยงก็จะปรับตัวได้ยาก และยังอาจนำโรคพยาธิจากแหล่งน้ำมาสู่โรงเพาะฟักด้วย แต่หากคิดเทียบต้นทุนแล้วพ่อแม่ปลาจากแหล่งดังกล่าวจะมีราคาถูกกว่าที่เลี้ยงไว้เอง และยังจะเป็นการนำแหล่งความหลากหลายทางพันธุกรรมมาเพิ่มให้ประชากรที่มีอยู่เดิม เป็นการลดปัญหาเกี่ยวกับการผสมเลือดชิดที่อาจเกิดขึ้นด้วย
- จากการเลี้ยง ในการผลิตลูกปลาเป็นการค้าไม่อาจพึ่งพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติได้ ทั้งนี้เพราะความไม่แน่นอนในเรื่องเวลาและปริมาณ นอกจากนั้นพ่อแม่พันธุ์ที่ถูกจับด้วยเครื่องมือบางชนิดจะบอกช้ำจนไม่สามารถนำมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ ในปัจจุบันฟาร์มเพาะส่วนใหญ่ยังคงใช้พ่อแม่พันธุ์ที่ได้จากบ่อเลี้ยงปลาเนื้อ จึงทำให้ได้พ่อแม่พันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์เต็มที่ในบางครั้ง นอกจากนั้นยังเป็นปัญหาในการวางแผนผลิตอีกด้วย การเลี้ยงพ่อแม่จึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด
วิธีคัดพ่อแม่พันธุ์
ในการเพาะพันธุ์ปลา พ่อแม่พันธุ์ต้องมีไข่แก่อยู่ในระยะพร้อมที่จะเกิดการตกไข่และมีน้ำเชื้อดี ดังนั้นการคัดพ่อแม่พันธุ์จึงเป็นขั้นตอนแรกที่จะกำหนดความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลา วิธีการคัดเลือกมีอยู่ 2 วิธีคือ
- พิจารณาจากลักษณะภาพนอก ปลาแทบทุกชนิดเมื่อใกล้ถึงฤดูวางไข่ ไข่จะเจริญเพิ่มขนาดขึ้น มีผลให้รังไข่ขายตัวดันช่องท้องในอูมออกมา ส่วนจะนูนออกมามากน้อยก็ขึ้นอยู่กับชนิดและความสมบูรณ์ของปลา โดยเฉพาะเมื่อไข่แก่เต็มที่ท้องปลาจะนิ่มจนรู้สึกเมื่อใช้มือแตะเบา ๆ ช่องเพศหรือติ่งเพศรวมทั้งทวารหนักจะขยายตัวบวมพองมีสีชมพูเรื่อ ๆ ปลาเพศผู้จะต้องคัดปลาที่แข็งแรง ปราดเปรียว ไม่อ้วนหรือผอมจนเกินไป ปลาบางชนิดเมื่อรีดเบา ๆ ที่ช่องเพศ จะมีน้ำเชื้อซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวข้นขาวเหมือนน้ำนมไหลออกมา หากน้ำเชื้อมีลักษณะใสไม่ควรนำปลาตัวนั้นมาใช้เป็นพ่อพันธุ์
- สุ่มตัวอย่างไข่จากรังไข่ การสุ่มตัวอย่างไข่นี้ทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่เกษตรทั่วไปนิยมใช้คือ ใช้หลอดพลาสติกขนาดเล็กสอดผ่านช่องเพศ ดูดตัวอย่างไข่มาตรวจสอบ ควรสอดหลอดเข้าไปลึกประมาณ 2-3 เซนติเมตร เพื่อที่จะได้ตัวอย่างไข่ที่เป็นตัวแทนที่ถูกต้องของไข่ทั้งหมด นำไข่มาพ่นลงในน้ำ ลักษณะที่ใช้สังเกตอาจเป็นสี รูปร่างของฟองไข่ การกระจายตัวของไข่ในน้ำ ถ้าเป็นไข่ลอยอาจจะดูความสามารถในการลอยน้ำ หรือเส้นผ่านศูนย์กลางของไข่
วิธีการเพาะพันธุ์ปลา
ในการเลี้ยงปลาชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในประเทศไทยนั้น ลูกปลาที่ปล่อยในบ่อเลี้ยงได้มาจากการเพาะพันธุ์โดยมนุษย์แทบทั้งหมด จะมีข้อยกเว้นเพียง 2-3 ชนิด เช่นปลาช่อนและปลาเทโพ ซึ่งลูกปลาทั้งหมดได้จากแหล่งธรรมชาติ สำหรับปลาบู่และปลากะรังนั้นแม้จะมีการเพาะพันธุ์บ้าง แต่ลูกปลาส่วนใหญ่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติเช่นเดียวกัน ในการเพาะขยายพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ ในประเทศไทยมีการใช้หลายวิธีแตกต่างกันออกไป ตามชนิดของปลาและอุปกรณ์อำนวยความสะดวก วิธีต่าง ๆ แบ่งได้ 4 วิธีคือ
- วิธีกึ่งควบคุมธรรมชาติ เป็นวิธีการซึ่งใช้เพาะปลาชนิดที่ขายพันธุ์ง่าย โดยผู้เพาะไม่จำเป็นต้องเตรียมสภาพแวดล้อมในการเพาะแต่อย่างใด เพียงแต่เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาในบ่อ ปลาก็จะผสมพันธุ์วางไข่เองตามธรรมชาติ พ่อแม่ปลาจะผสมพันธุ์วางไข่ตามธรรมชาติ หลังจากปล่อยพ่อแม่พันธุ์ประมาณ 8-11 เดือน ก็สามารถจับปลาขายได้
- วิธีควบคุมธรรมชาติหรือเลียนแบบธรรมชาติ เป็นวิธีการเพาะพันธุ์โดยการเตรียมสภาพที่วางไข่ให้คล้ายกับสภาพที่ปลาวางไข่ในธรรมชาติ โดยอาจจะมีการกระตุ้นดดยการเพิ่มและลดระดับน้ำด้วยก็ได้ เมื่อปลาวางไข่แล้วอาจปล่อยให้ไข่ฟักอยู่ในบ่อหรือนำไปฟักในบ่อฟักก็ได้ การเพาะพันธุ์ปลาแบบนี้เกษตรกรในแต่ละท้องถิ่นได้พัฒนาขึ้นจากการสังเกตพฤติกรรมของปลาที่เลี้ยง และได้พยายามปรับปรุงวิธีการเพื่อให้ได้ผลที่ดีขึ้น วิธีการจึงมีต่าง ๆ กันแล้วแต่ชนิดของปลา
- วิธีผสมเทียม การผสมเทียมหมายถึงการเพาะพันธุ์ปลาโดยการรีดไข่และน้ำเชื้อออกมาผสมกันในภาชนะภายนอกตัวปลา พ่อแม่พันธุ์ที่ใช้อาจจะเป็นพ่อแม่พันธุ์ที่ได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งมีไข่อยู่ในขั้นสุกไหล หรืออาจจำเป็นต้องฉีดฮอร์โมนกระตุ้นให้เกิดการตกไข่ก่อนก็ได้ การผสมเทียมมีอยู่ 3 วิธีคือ
- วิธีเปียก เป็นวิธีที่ใช้ในการผสมเทียมปลาในสมัยแรก โดยการรีดไข่และน้ำเชื้อลงผสมกันในภาชนะที่บรรจุ วิธีการนี้ได้ผลพอใช้ในปลาชนิดที่มีไข่ลอยและครึ่งจมครึ่งลอย แต่ไม่เหมาะกับไข่แบบติดกับวัตถุ
- วิธีแห้ง ได้ดัดแปลงขึ้น ทำให้อัตราการปฏิสนธิดีขึ้นกว่าวิธีเปียก โดยการรีดไข่และน้ำเชื้อลงผสมกันในภาชนะที่แห้ง เชื้อตัวผู้จะเคลือบผิวไข่ไว้โดยรอบ เมื่อนำไข่ไปฟักน้ำจะกระตุ้นให้เชื้อตัวผู้เคลื่อนไหวและเข้าผสมกับไข่ได้ง่าย โดยช่องไมโครโพล์ยังไม่ปิด อัตราการปฏิสนธิจึงสูง วิธีการนี้เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับปลาที่มีไข่แบบไข่ติด
- วิธีการฉีดฮอร์โมนกระตุ้น วิธีการเพาะพันธุ์ปลาโดยการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นให้แม่พันธุ์ซึ่งมีไข่อยู่ในระยะพักเกิดการเจริญของไข่ขั้นสุดท้าย และตกไข่ ส่วนปลาเพศผู้นั้นหากมีน้ำเชื้อดีอยู่แล้วอาจไม่จำเป็นต้องฉีด ถ้าเป็นปลาชนิดที่สร้างน้ำเชื้อน้อย สามารถฉีดฮอร์โมนกระตุ้นให้สร้างน้ำเชื้อเพิ่มได้
การเพาะพันธุ์ปลาโดยการฉีดฮอร์โมน
B.A Houssay นักวิทยาศาสตร์ชาวอาร์เจนตินา ได้ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นการออกลูกของปลาที่ออกลูกเป็นตัว โดยการฉีดฮอร์โมนเป็นครั้งแรก (ค.ศ. 1930) และอีก 4 ปีต่อมา R.Von Ihering ชาวบราซิลก็ได้ใช้วิธีการเดียวกันนี้กระตุ้นการตกไข่ของปลาที่ออกลูกเป็นไข่ได้สำเร็จ นับแต่นั้นเป็นต้นมาวิทยาการในด้านนี้ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ และเป็นที่ยอมรับนำไปใช้แพร่หลายทั่วโลก ช่วยเพิ่มผลผลิตของปลาชนิดต่าง ๆ และยังช่วยอนุรักษณ์พันธุ์ปลาที่หายากไม่ให้สูญพันธุ์ไป การฉีดฮอร์โมนเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ในการเพาะพันธุ์ปลาสิ่งสำคัญคือต้องมีพ่อแม่พันธุ์ที่มีไข่แก่ น้ำเชื้อดี การเพาะพันธุ์จึงจะมีอากาสสำเร็จสูง
การอนุบาลลูกปลา
เป็นขั้นตอนที่ต้องการความรู้ความชำนาญ ตลอดจนความเอาใจใส่ ความรู้ในการอนุบาลลูกปลานี้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในปลาทะเล ทั้งอาจเป็นเพราะปลาทะเลหลายชนิดมีราคาแพง ราคาลูกปลาจึงสูงตามไปด้วย สิ่งนี้เป็นแรงจูงใจให้พยายามศึกษาเรื่องนี้ นอกจานี้ลูกปลาทะเลส่วนใหญ่ยังมีขนาดเล็กมากจำเป็นต้องเตรียมอาหารชนิดพิเศษ เช่น แพลงค์ตอนชนิดต่าง ๆ ให้เป็นอาหาร สำหรับปลาน้ำจืดส่วนใหญ่ลูกปลามีขนาดใหญ่จึงทำให้การอนุบาลทำได้ง่ายกว่า ประกอบกับราคาลูกปลาค่อนข้างต่ำ ในการผลิตจึงมุ่งที่จะลดต้นทุนมากกว่าที่จะพยายามปรับปรุงผลผลิต
ระบบการอนุบาลลูกปลา
การอนุบาลลูกปลา แบ่งตามประเภทของอาหารที่ใช้ดังนี้
- การอนุบาลโดยใช้อาหารสมทบ อาหารของลูกปลาระยะแรก อาหารสมทบที่ใช้อนุบาลปลาแตกต่างกันตามระยะของลูกปลา โดยการอนุบาลลูกปลาที่เริ่มกินอาหารจนถึงอายุประมาณ 10 วัน จะเป็นช่วงที่ต้องการอาหารที่มีคุณสมบัติพิเศษ เนื่องจากลูกปลาในระยะแรกมีขนาดเล็ก นอกจากนั้นอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะอวัยวะรับสัมผัสยังเจริญไม่ดี การหาอาหารจึงเป็นไปในลักษณะไม่ตั้งใจเพียงแต่ว่ายน้ำอ้าปากไปเรื่อย ๆ อาหารเริ่มต้นของลูกปลาจึงควรมีขนาดเล็ก พอดีกับขนาดปากลูกปลา มีปริมาณมากและกระจายทั่วถึงพอที่ลูกปลาจะพบได้ง่าย และต้องมีคุณค่าทางโภชนะครบถ้วนตามความต้องการของลูกปลาและย่อยได้ วิธีการให้อาหาร การให้อาหารแก่ลูกปลาขนาดเล็กไม่อาจกำหนดเป็นสัดส่วนกับน้ำหนักตัวได้ แต่จะต้องให้อาหารตามปริมาณของน้ำเพื่อที่จะให้อาหารกระจายไปทั่วถึง ลูกปลาจะพบได้ง่าย บ่ออนุบาล ในการอนุบาลปลาโดยให้อาหารสมทบทำได้ทั้งในบ่อคอนกรีตและบ่อดิน โดยบ่อคอนกรีดมีข้อได้เปรียบกว่าเพราะดูแลลูกปลาได้ง่าย แต่ในการอนุบาลปลาบางชนิด อนุบาลในบ่อดินจะช่วยลดต้นทุนได้มาก
- การอนุบาลโดยใช้อาหารธรรมชาติ อาหารธรรมชาติได้แก่ สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งพืชและสัตว์ที่เกิดขึ้นในบ่อ เป็นอาหารที่ดีของลูกปลา ทั้งนี้เพราะมีคุณค่าทางโภชนะครบถ้วน มีชนิดและขนาดต่างกัน ให้ลูกปลาได้เลือกกินได้ อาหารธรรมชาติเหล่านี้จะเพิ่มจำนวนขึ้นในบ่อโดยการใส่ปุ๋ย ซึ่งอาจจะเป็นปุ๋ยอินทรีย์ก็ได้ แต่โดยทั่วไปปุ๋ยอินทรีย์จะเป็นที่นิยมมากกว่าเพราะไม่มีผลข้างเคียงอื่น ๆ นอกจากจะทำให้ก๊าซออกซิเจนลดลง นอกจากนั้นแพลงค์ตอนสัตว์ยังเกิดได้รวดเร็ว
อัตราการปล่อยลูกปลาในบ่ออนุบาล
อัตราการปล่อยลูกปลาในบ่ออนุบาล มีผลต่อการเจริญเติบโตและผลิตของลูกปลามาก ถ้าปล่อยลูกปลาในอัตราที่เหมาะสมจะทำให้ปลาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ได้ผลผลิตสูงนอก จากนั้นอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อก็จะมีค่าต่ำด้วย อัตราการปล่อยลูกปลาในการอนุบาลนั้น ยากที่จะกำหนดให้แน่นอนลงไปได้ เนื่องจากมีตัวแปรมากมาย นับตั้งแต่ชนิดของลูกปลาซึ่งมีความทนทานต่างกัน วิธีการอนุบาลซึ่งรวมถึงชนิดของอาหาร การจัดการเกี่ยวกับคุณสมบัติของน้ำตลอดจนขนาดของลูกปลาที่ต้องการ Woynarovich และ Horvath ได้ให้หลักเกณฑ์คร่าว ๆ ว่า ในบ่ออนุบาลคอนกรีตที่มีการเพิ่มระดับน้ำทุกวันมีการใส่ปุ๋ยและให้อาหารสมทบ มีการให้อกซิเจนในตอนกลางคืนจะปล่อยลูกปลาได้ในอัตรา 1,000-2,000 ตัว/ตารางเมตร ส่วนในบ่อดินขนาดเล็กระบบน้ำนิ่งมีการใส่ปุ๋ยและให้อาหารสมทบ ปล่อยลูกปลาได้ 400-600 ตัว/ตารางเมตร หากใส่ปุ๋ยเพียงอย่างเดียวโดยไม่ให้อาหารสมทบจะปล่อยลูกปลาได้เพียง 150-300 ตัว/ตารางเมตร
การจัดการเกี่ยวกับน้ำในการอนุบาลลูกปลา
- ระดับน้ำ ในบ่ออนุบาลระดับน้ำไม่ควรสูงมากนัก โดยทั่วไประดับน้ำเมื่อเริ่มปล่อยลูกปลาควรจะประมาณ 50 เซนติเมตร เมื่อเริ่มอนุบาลไปได้ระยะหนึ่งคุณสมบัติของน้ำเริ่มเปลี่ยนไปจึงเพิ่มระดับน้ำขึ้นเรื่อย ๆ จนเต็มระดับเก็บกักน้ำ ในระยะแรกของการอนุบาลจึงไม่จำเป็นต้องถ่ายน้ำ ซึ่งการถ่ายน้ำในระยะแรก ๆ ทำได้ค่อนข้างลำบาก สำหรับการอนุบาลลูกปลาในบ่อคอนกรีตโดยเลี้ยงอย่างหนาแน่น อาจจำเป็นต้องมีการดูดสิ่งขับถ่ายตลอดจนเศษอาหารทิ้งทุกวัน แล้วจึงเพิ่มระดับน้ำขึ้นเท่าเดิม
- คุณสมบัติของน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปริมาณก๊าซออกซิเจนที่ละลายน้ำควรมีค่าไม่ต่ำกว่า 3 มิลลิกรัม/ลิตร หากพบว่าค่าความเข้มข้นของออกซิเจนในน้ำต่ำเกินไป ก็จำเป็นต้องติมน้ำดีลงในบ่อ การอนุบาลในบ่อคอนกรีตควรให้อากาศตลอดเวลา ทั้งนี้นอกจากจะป้องกันการขาดออกซิเจนแล้ว ยังช่วยลดพิษของแอมโมเนียได้อีกด้วย
การป้องกันและกำจัดศัตรู
สัตว์ที่เป็นศัตรูของลูกปลามีหลายชนิดทั้งที่เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลัง ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย เช่น ปลาต่าง ๆ กบ เขียด งู ฯลฯ และพวกไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น แมลงน้ำชนิดต่าง ๆ ที่ทำอันตรายลูกปลามากได้แก่ มวน ซึ่งมักพบว่ายน้ำในลักษณะหงายท้อง นอกจากนั้นก็มีตัวอ่อนของแมลงปอ แมลงป่องน้ำ ฯลฯ สัตว์เหล่านี้หากหลงเหลืออยู่ในบ่อจะทำลายลูกปลาได้เป็นจำนวนมาก การอนุบาลในบ่อดินจะประสบปัญหานี้ค่อนข้างรุนแรง ส่วนการอนุบาลในบ่อคอนกรีตแทบจะไม่เจอปัญหา การป้องกันและกำจัดศัตรูปลาในบ่อดินมีดังนี้
- ระยะก่อนการปล่อยปลา ก่อนการปล่อยลูกปลาต้องกำจัดศัตรูให้หมด โดยการใช้ยาเบื่อเมา นอกจากนั้นเมื่อสูบน้ำเข้าก็จำเป็นต้องกรองน้ำก่อนเพื่อกำจัดศัตรู ทั้งที่เป็นตัวเต็มวัย ตัวอ่อน หรือแม่แต่ไข่ วิธีการกรองแบบง่าย ๆ คือการใช้ผ้าโอล่อนแก้วเย็บเป็นถุงขนาดเล็ก ยาว นำถุงดังกล่าวมาสวมไว้กับท่อน้ำเข้า การเย็บถุงให้มีลักษณะยาวจะช่วยเพิ่มพื้นที่การกรอง และสามารถกำจัดสิ่งอุดตันได้ง่าย
- ระยะหลังการปล่อยปลา ถึงแม้จะได้ป้องกันในขั้นแรกเป็นอย่างดี ศัตรูอาจจะเล็ดลอดลงไปยังบ่ออนุบาลได้ โดยเฉพาะแมลงหลายชนิดสามารถบินมาจากที่อื่นลงไปทำอันตรายลูกปลาในบ่อ เป็นปัญหาใหญ่ในการอนุบาลลูกปลา โดยเฉพาะปลาตะเพียนขาว และปลาจีน การกำจัดโดยใช้น้ำมันดีเซล เบ็นซิน และน้ำมันมะพร้าว ราดลงในบ่อทางด้านเหนือลม น้ำมันจะแผ่เป็นชั้นบาง ๆ แล้วค่อย ๆ เคลื่อนที่ช้า ๆ ไปยังขอบบ่อด้านตรงกันข้าม เมื่อแมลงขึ้นมาหายใจชั้นน้ำมันจะเคลือบช่องเปิดของท่อหายใจแมลงก็จะตาย และการราดน้ำมันไม่เป็นอันตรายต่อลูกปลา
การจับและลำเลียงลูกปลา
การจับและการลำเลียงลูกปลา นับเป็นขั้นตอนสุดท้ายของขบวนการผลิตลูกปลา ขนาดลูกปลาที่จับขึ้นกับเป้าหมายของฟาร์มเพาะพันธุ์ ว่าต้องการจำหน่ายปลาขนาดใด ในต่างประเทศนั้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาซัลมอน นิยมซื้อขายลูกปลาตั้งแต่ยังเป็นไข่ โดยจะขนส่งในระยะที่เริ่มมองเห็นตา แต่ในประเทศไทยมีการขายไข่ปลากันน้อยมาก ลูกปลาขนาดเล็กที่สุดที่ทำการซื้อขายจะเป็นลูกไร หรือปลาตุ้มของปลาดุกอุยและปลาสวาย การรวบรวมและลำเลียงลูกปลาระยะต่าง ๆ เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก
การจับลูกปลา
- ลูกไรหรือปลาตุ้ม ในการฟักไข่ปลาสวายนั้นนิยมฟักในกระชังผ้าโอล่อนแก้ว การจับลูกปลาจึงทำได้ง่ายในการตลบกระชังทีละด้านและไล่ให้ลูกปลาไปรวมกันอยู่ด้านหนึ่งของกระชัง แล้วใช้ภาชนะขนาดเล็กตัก ลูกปลาที่โยล์คยังไม่ยุบจะเกาะอยู่ตามก้นบ่อเป็นกลุ่ม ๆ สามารถใช้สายยางดูดออกมาได้โดยง่าย
- ลูกปลาขนาดนิ้วมือ สำหรับลูกปลาที่อนุบาลในบ่อคอนกรีตรวบรวมได้ง่ายโดยใช้อวนลูกปลา หรือผ้าโอล่อนแก้วลากรวบรวมลูกปลาจากหัวบ่อมาท้ายบ่อ พยายามรวบรวมลูกปลาให้ได้มากที่สุด แล้วจึงระบายน้ำออกจากบ่อเพื่อจับลูกปลาที่เหลือ
การลำเลียงลูกปลา
ในการผลิตลูกปลาเพื่อการค้า การลำเลียงปลานับเป็นขั้นตอนสำคัญ เนื่องจากปลามีขนาดเล็ก บอบบาง หากลำเลียงไม่ถูกวิธีจะทำให้ลูกปลาตาย หรืออ่อนแอต่อโรคทำให้เกิดผลเสียตามมาได้ การลำเลียงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของคุณภาพน้ำ และสรีระของปลาเอง
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างการลำเลียง
- การเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำ คุณสมบัติของน้ำหลายประการจะเปลี่ยนแปลงไป ที่สำคัญก๊าซออกซิเจนละลายน้ำที่มีค่าลดลง และจะลดลงมากยิ่งขึ้นหากลำเลียงปลาหนาแน่นขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของปลา เนื่องจากความเครียดจากการลำเลียงขั้นตอนต่าง ๆ ในการลำเลียงลูกปลา การบรรจุลงภาชนะและการขนส่งล้วนแล้วแต่มีผลให้ปลาเกิดความเครียด ส่งผลให้ค่าฮิมาโตคริท ซึ่งเป็นค่าปริมาณของแข็งในเลือดจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากการบีบตัวของม้าม เป็นต้น
โรคและปรสิต
ในการอนุบาลลูกปลากินพืช ปลาตะเพียนขาว ปลาจีน ปลาญี่สกเทศ ฯลฯ พบปัญหาเกี่ยวกับโรคและปรสิตน้อยมาก แต่สำหรับปลาดุกพบว่าปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ ส่วนปลาช่อนและปลาสวายพบมีปัญหาบ้าง
- โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เป็นโรคที่พบแพร่หลายและมีอาการต่างกันในปลาชนิดต่าง ๆ โรคที่พบว่าทำความเสียหายในการอนุบาลลูกปลาเป็นอันมาก คือ โรคโคนครีบหูบวมที่เกิดในปลาดุก และปลาตะเพียนขาว
- โรคคอลัมนาริส เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Flexibacter columnaris โรคนี้พบมาในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่อุณหภูมิของน้ำลดต่ำลงกว่าเดิม
- โรคที่เกิดจากเชื้อรา Saprolegnia sp. เชื้อรานี้จะเข้าทำลายหลังจากเกิดบาดแผลเน่าเปื่อย ปลาจะมีปุยฝ้ายสีขาวอมเทา หรืออมน้ำตาลปกคลุมผิวหนังและครีบเหงือก
- โรคแก๊สบับเบิล มีสาเหตุจากการที่มีก๊าซบางชนิดละลายอยู่ในน้ำมากเกินจุดอิ่มตัว โดยเฉพาะก๊าซไนโตรเจนและออกซิเจน ลูกปลาเป็นโรคนี้ได้ง่าย ลูกปลาจะเกิดถุงลมระหว่างไข่แดงและเยื่อหุ้มไข่ ปลาจะตายเมื่อเยื่อหุ้มไข่ฉีกขาดและไข่เสื่อมสภาพ
- ปรสิต โดยปกติตามตัวลูกปลามักจะมีปรสิตชนิดต่าง ๆ เกาะอยู่ แต่ถ้ามีปริมาณไม่มากและลูกปลามีสุขภาพดีก็จะไม่เกิดอันตราย แต่หากปรสิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นก็จะทำให้เกิดอันตรายได้ ส่วนใหญ่เกิดกับปลาดุก ปลาช่อน และปลาสวาย
- เห็บระฆัง รูปร่างคล้ายระฆัง หรือถ้วยคว่ำ มีขนาดเล็ก มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า พบในปลาหลายชนิด เช่นปลาดุก ปลาช่อน ปลาสวาย ปลาตะเพียน เป็นต้น
- ปลิงใส เป็นปรสิตขนาดเล็ก (2-3 มิลลิเมตร) ลำตัวเรียวใสพบเกาะมากตามเหงือกและลำตัว โดยเฉพาะในลูกปลาดุก
- อิ๊ค จัดเป็นโปรโตซัวขนาดใหญ่ มีรูปร่างกลม มีลักษณะเด่นคือนิวเคลียสเป็นรูปเกือกม้า เมื่อฝังตัวเข้าใต้ผิวหนังปลาแล้วจะเกิดเป็นจุดสีขาวทั่วไป ปลาจะอ่อนแอและตายในที่สุด
- หนอนสมอ มีรูปร่างเป็นทรงกระบอก ส่วนหัวมีลักษณะคล้ายสมอ ซึ่งจะใช้ส่วนหัวนี้ฝังเข้าไปใต้ผิวหนังปลา โผล่ส่วนหางออกมา ทำให้ปลาเกิดความรำคาญ และว่ายน้ำสีข้างบ่อทำให้เกิดแผล
การเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน
นายสุทัศน์ เผือกจีน กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า การทำการเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน หัวใจหลักคือการได้รายได้จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ การเลี้ยงปลาจัดว่าเป็นกิจกรรมที่เอื้อต่อกิจกรรมอื่น ๆ อย่างมาก จะเห็นได้ว่าเมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมต่าง ๆ แล้วกำไรที่ได้จริง ๆ คือ กำไรจากปลา ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้วิธีการเลี้ยงปลากับกิจกรรมต่าง ๆ
ข้อดีของการเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน
- สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้เต็มที่ ที่ดินรอบ ๆ บ่อ ใช้ปลูกพืชผัก และสร้างคอกเลี้ยงสัตว์ ส่วนน้ำในบ่อนอกจากใช้เลี้ยงปลาแล้วยังปลูกพืชอื่น ๆ ได้อีก เช่นผักบุ้ง ผักกระเฉด
- เศษเหลือของพืชและสัตว์สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก เช่น มูลสัตว์ เศษอาหาร เศษผักหญ้าต่าง ๆ
- เป็นการเพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้สามารถใช้บริโภคภายในครอบครัว และสามารถนำออกจำหน่าย เกิดเป็นทุนหมุนเวียน เพื่อดำเนินการต่อไป และเป็นการใช้แรงงานภายในครอบครัวให้เป็นประโยชน์
- ลดอัตราเสี่ยงต่อการขาดทุนได้ดีกว่าการเลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์หรือปลูกพืชเพียงอย่างเดียว และเป็นการลดต้นทุนเพราะกิจกรรมแต่ละอย่างต้องพึ่งพากัน
- ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในการจำหน่ายผลผลิตจากฟาร์มตลอดปี
- ไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และนำไปสู่ระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนต่อไป
- ลดความเสี่ยงเนื่องจากความแปรปรวนของสภาพลมฟ้าอากาศ ราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอนและการระบาดของศัตรูพืช
ประเภทของปลาที่เลี้ยง
- ปลากินพืช สามารถใช้สารอาหารจากพืชและแป้งได้ดี ได้แก่ ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาสลิด
- ปลากินเนื้อ อาศัยกินสัตว์ชนิดอื่น หรืออาหารที่มีปริมาณโปรตีนสูงได้แก่ ปลากดเหลือง ปลาช่อน และปลาดุก
- สัตว์น้ำอื่น ๆ เป็นสัตว์น้ำที่สามารถเลี้ยงร่วมกับปลาได้ เช่น กุ้งก้ามกราม และหอยขม เป็นต้น
แหล่งอาหารสำหรับปลา
- ฟางข้าว และสิ่งเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นสิ่งเหลือทิ้งไว้ให้ย่อยสลายภายในพื้นที่เกษตร หรือเผาทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ได้แก่ ฟางข้าว หญ้า ต้นข้าวโพด ต้นถั่ว รวมถึงวัชพืชต่าง ๆ สิ่งเหลานี้มีปริมาณโปรตรีนและเยื่อใยสูง
- มูลสัตว์ เป็นสิ่งเหลือทิ้งทางการเกษตรประเภทหนึ่งที่มีสารอาหารสูง โดยเฉพาะมูลสัตว์ที่เลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูป ได้แก่ มูลไก่ และมูลสุกร ส่วนมูลวัวที่ปล่อยเลี้ยงให้กินหญ้าตามธรรมชาติมีสารอาหารต่ำ มูลสัตว์เป็นแหล่งของธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัส สำหรับการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนพืช จึงช่วยสร้างอาหารตามธรรมชาติภายในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
- ใบพืชหรือพืชน้ำ เป็นอาหารเสริมที่มีราคาถูกและหาได้ภายในท้องถิ่น เช่น ผักบุ้ง แหนเป็ด แหนแดง ใบมันสำปะหลัง และเศษผัก เป็นต้น ใช้สำหรับเป็นอาหารของปลากินพืช
ขั้นตอนการสร้างอาหารธรรมชาติในบ่อเลี้ยง
- เตรียมฟางข้าวหรือหญ้าแห้ง ใช้ฟางข้าวภายหลังเก็บเกี่ยวข้าวหรือหญ้าจากพื้นที่สวน ตากแดดทิ้งไว้ให้แห้งก่อนนำไปใช้
- เตรียมมูลสัตว์แห้ง การใช้มูลสัตว์ช่วยให้ฟางข้าวย่อยสลายได้เร็วขึ้น เนื่องจากมูลสัตว์มีปริมาณโปรตีน (ไนโตรเจน) สูงทำให้จุลินทรีย์ใช้เป็นอาหารและย่อยสลายฟางข้าวได้เร็วขึ้น ห้ามนำมูลสัตว์สดที่ไม่ผ่านกระบวนการหมักหรือทำให้แห้ง เนื่องจากระหว่างการย่อยสลายจะมีแก๊สแอมโมเนียเกิดขึ้น ซึ่งเป็นพิษต่อสัตว์น้ำ อาจทำให้สัตว์น้ำตายได้
- ปักหลักไม้ภายในบ่อ เพื่อเป็นแนวกั้นไม่ให้ฟางข้าวและมูลสัตว์กระจายทั่วบ่อ เติมฟางข้าวสลับกับมูลสัตว์เป็นชั้น ๆ จนกระทั่งชั้นบนสุดอยู่เหนือผิวน้ำ
การเลี้ยงปลาผสมผสานกับการเลี้ยงสัตว์
การเลี้ยงปลาแบบผสมผสานหากจำแนกตามที่ตั้งของโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ แยกออกเป็น 2 ลักษณะคือ
- แบบสร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ไว้เหนือบ่อเลี้ยงปลา เป็นแบบที่นิยมกันมากที่สุด เพราะสะดวกและสามารถระบายมูลสัตว์จากโรงเรือนลงสู่บ่อปลาโดยตรง สัตว์ที่อาศัยอยู่ในโรงเรือนบนบ่อปลาจะได้ประโยชน์จากบ่อปลาในการช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้ต่ำลง
- แบบสร้างโรงเรือนแยกออกไปจากบ่อปลา โดยมีรางระบายมูลสัตว์จากโรงเลี้ยงมาสู่บ่อปลา แบบนี้จะพบมากในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ใหญ่ เช่น สุกร
เกษตรกรที่จะลงทุนเลี้ยงปลาแบบผสมผลานโดยการสร้างโรงเรือนและขุดบ่อเลี้ยงปลานั้น ขอแนะนำให้สร้างตามแบบแรก ถึงแม้จะต้องลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ผลตอบแทนในระยะยาวจะคุ้มค่าและประหยัดพื้นที่และประหยัดแรงงานมากกว่า
การเลี้ยงปลาผสมผสานกับการปลูกพืช
การเลี้ยงปลาร่วมกับการปลูกพืช เป็นวิธีการที่เก่าแก่ เนื่องจากเลี้ยงปลานาน ๆ บ่อจะเสื่อมโทรมจากโคลนเลน ซึ่งสะสมอาหารที่เหลือจากปลา แต่จะเป็นประโยชน์ต่อพืชผักต่าง ๆ และจะกลายเป็นอาหารปลาต่อไป อาหารปลาและปุ๋ยที่เหลือจะสะสมในบ่อรวมถึงซากปลา ซากสัตว์ พันธุ์ไม้น้ำจะสะสมอยู่ในดินเพิ่มขึ้นทุกปี แบคทีเรียจะย่อยสารเหล่านี้ ก่อให้เกิดก๊าซพิษสะสมกลายเป็นฮิวมัสโคลนตมสีดำ การเลี้ยงปลาร่วมกับการปลูกพืชจะเป็นการเพิ่มอาหารและปุ๋ยในธรรมชาติ การใช้อาหารจะลดลง 1 ใน 3 นอกจากนี้พลังงานที่ใช้ในการขนส่งและซื้อปุ่ยจะลดลงด้วย การทำฟาร์มเลี้ยงปลาฤดูกาลหนึ่ง ๆ การใช้แรงงานจะเปลี่ยนแปลงในขณเลี้ยงปลา แรงงานที่เหลือควรนำไปใช้ผลิตจะทำให้มีงาน และรายได้เพิ่มขึ้นอีก การัดการที่ดินโดยปลูกพืชร่วมกับการเลี้ยงปลา เป็นระบบหนึ่งที่เกษตรกรจะพึ่งตนเองได้ ดินโคลนจะเป็นปุ๋ยในการปลูกพืชอีกด้วย
ปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน
เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจในการเลี้ยงปลาที่ถูกต้อง ซึ่งปัญหาที่พบบ่อย ๆ มีดังนี้
- ปล่อยปลาในบ่อหนาแน่นเกินไป ทำให้ปลาไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร
- จำนวนสัตว์เลี้ยงไม่สัมพันธุ์กับปลาในบ่อ
- บ่อที่ขุดใหม่ ๆ จะมีปัญหาในเรื่องของดินเปรี้ยว
- การใช้ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืชไร่นาที่มีการเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน
- การกำหนดราคาขายปลายังอยู่ในมือพ่อค้าคนกลาง
- ขาดแหล่งจำหน่ายพันธุ์ปลาที่มีคุณภาพดี และมีจำนวนมากเพียงพอ
แหล่งอ้างอิง
- รศ.อุทัยรัตน์ ณ ณคร ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร, การเพาะขยายพันธุ์ปลา
- ทวีเดช ไชยนาพงษ์ สถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ, การสร้างอาหารธรรมชาติในบ่อเลี้ยงปลา
- นายสุทัศน์ เผือกจีน,น.ส.นทีชา วิชัยดิษฐ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหรกรณ์,การเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน
- กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์,บ้านจอมยุทธ,การเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน
- กรมประมง,หลักการเลี้ยงปลาทั่วไป