ห่าน (Goose) จัดเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายกับเป็ด หงส์
สำหรับประวัติและวิวัฒนาการในการเลี้ยงห่านในประเทศไทยนั้นทางสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยได้ระบุได้ว่า การเลี้ยงห่านนั้นเริ่มต้นเลี้ยงตั้งแต่ยุคที่ชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว โดยในระยะแรก ๆ แหล่งเลี้ยงห่านจะอยู่ใกล้กับริมคลอง หนองหรือบึงและถูกพบว่ามีการเลี้ยงห่านมากในบริเวณจังหวัดรอบ ๆ กรุงเทพฯ โดยการเลี้ยงห่านในยุคนั้นเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจผูกขาดของชาวจีน โดยสาเหตุที่การเลี้ยงห่านในประเทศไทยยังอยู่ในวงแคบ ๆ เพราะผู้บริโภคเนื้อห่านส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนที่อาศัยอยู่ที่ย่านเยาวราช โดยเนื้อห่านมักถูกนำมาใช้ประกอบอาหารตามภัตตาคาร ซึ่งคนจีนเชื่อว่าเป็นอาหารสำหรับเทพเจ้าและมักใช้ไหว้เจ้าหรือไหว้บรรพบุรุษ ห่านจึงขายดีมากเป็นพิเศษในช่วงตรุษจีนและสารทจีน
แม้ว่าคนไทยในสมัยก่อนจะไม่นิยมกินเนื้อห่านกันมากนักเพราะเชื่อว่าเป็นอาหารแสลงและนิยมเลี้ยงไก่เพื่อส่งออกเนื้อมากกว่าแต่อิทธิพลที่ได้รับจากจีนก็ทำให้มีกลุ่มคนที่ชื่นชอบในการบริโภคเนื้อห่านอยู่ไม่น้อย ปัจจุบันการเลี้ยงห่านในประเทศไทยก็ได้กระจายไปทั่วเกือบทุกภูมิภาคโดยการเลี้ยงห่านส่วนใหญ่มักจะเลี้ยงกันตามไร่ตามสวน เพราะเป็นสัตว์ที่สามารถกำจัดวัชพืชต่าง ๆ ได้ดี โดยส่วนใหญ่คนที่เลี้ยงห่านก็จะแบ่งออกเป็นการเลี้ยงเพื่อเก็บไข่ขาย กินในครัวเรือนไปจนถึงธุรกิจฟาร์มห่านรายใหญ่ที่ส่งออกห่านไปยังตลาดต่างประเทศ จากการสำรวจข้อมูลการบริโภคห่านของผู้บริโภคชาวจีนจะพบว่ามณฑลกวางตุ้งมีการบริโภคห่านมากที่สุด โดยในปี 2563 ได้มีการบริโภคเนื้อห่านไปมากถึง 170 ล้านตัวต่อปี รวมถึงมณฑลอื่น ๆ อย่างกวางซี ญูนนาน เจียงซีและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หากพิจารณาความต้องการห่านในประเทศจีนก็จะพบว่า ปัจจุบันประเทศจีนได้ผลิตห่านส่งออกสู่ท้องตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในประเทศเป็นหลักจึงไม่มีแรงกดดันในการนำเข้าห่าน แต่สำหรับการส่งออกไปยังต่างประเทศนั้นยังไม่มีการแข่งขันของประเทศอื่น ๆ ดังนั้นทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จึงมีความเห็นว่า ปัจจุบันจริงอยู่ที่จีนเป็นผู้ผลิตห่านรายใหญ่ของโลกแต่ยังขาดการแปรรูปสินค้าห่านที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เป็นที่น่าสนใจของตลาดและยังขาดการประชาสัมพันธ์คุณค่าทางโภชนาการของห่านให้ผู้บริโภคในต่างประเทศได้รู้จัก ผู้ประกอบการไทยอาจจะศึกษาและออกแบบอาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ ที่ทำด้วยห่านของจีน เพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้ และทางกรมปศุสัตว์เองก็มองว่าเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะนำเข้าห่านของจีนมาเลี้ยง เพราะด้วยสภาพพื้นที่ของไทยเหมาะสม วิธีเลี้ยงห่านก็ไม่ได้ยุ่งยาก ใช้ต้นทุนต่ำ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายที่ยั่งยืนให้แก่เกษตรกรชาวไทยด้วย ดังนั้นทาง Kaset today จะทำหน้าที่รวบรวมสารพัดข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงห่านและช่องทางการหารายได้จากห่านมาให้ทุกคนได้ไปศึกษาพร้อม ๆ กัน
ข้อมูลทั่วไปของห่าน
ชื่อภาษาไทย: ห่าน
ชื่อภาษาอังกฤษ: Goose
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Anserini
ตระกูลสัตว์: Anatidae
สายพันธุ์ห่านที่นิยมเลี้ยงในไทย
สายพันธุ์ห่านที่ทางสมาคมสัตว์ปีกอเมริกันยอมรับว่าเป็นห่านพันธุ์แท้มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 9 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ห่านที่นิยมเลี้ยงกันมากในปัจจุบัน มีอยู่ด้วยกัน 7 สายพันธุ์ คือ
1) ห่านพันธุ์จีน (Chinese)
ห่านสายพันธุ์นี้เมื่อโตเต็มที่ตัวผู้จะหนักประมาณ 5.5 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียจะหนักประมาณ 4.5 กิโลกรัม ห่านพันธุ์จีนจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ห่านจีนขาวที่มีขนสีขาวและมีโหนกสีส้ม นิยมเลี้ยงเพื่อเฝ้าบ้านและจะมีราคาที่ค่อนข้างแพง ส่วนห่านจีนอีกชนิดจะเป็นห่านเทามีขนเป็นสีน้ำตาลปนเทาที่บริเวณปีก สันคอด้านบนและหน้าท้อง ส่วนบริเวณก้นจะมีสีขาว แต่จะมีปากและโหนกเป็นสีดำ นิยมเลี้ยงไว้เพื่อบริโภคเนื้อ ห่านสายพันธุ์จีนนี้เป็นห่านที่นิยมเลี้ยงมากที่สุดในประเทศไทยและทั่วโลก สำหรับผลผลิตจากห่านสายพันธุ์จีนนั้นออกไข่ได้มาก โดยออกไข่ได้เร็วและดกกว่าสายพันธุ์อื่นเฉลี่ยถึง 40-65 ฟองต่อปี
2) ห่านพันธุ์เอ็มเด็น (Embden)
ห่านสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเยอรมนี ลักษณะเด่นจะมีปากและแข้งเป็นสีส้ม บริเวณปลายจะงอยปากจะมีสีขาวแกมสีชมพู ขาสั้น ไม่มีโหนกที่หัว ขนบริเวณลำตัวจะมีสีขาวหรือสีขาวปนกับสีเทา ขนที่คอมักจะจับกันเป็นก้อนจึงดูเหมือนเป็นแผงเกล็ด เมื่อโตเต็มที่ ตัวผู้จะหนักประมาณ 10 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียจะหนักประมาณ
3) ห่านพันธุ์ตูลูส (Toulouse)
ห่านพันธุ์นี้มีปากสีส้ม แข้งสีส้มแดง และขอบตาสีส้ม อีกทั้งยังมีขาสั้น ลำตัวอ้วนใหญ่ ขนพอง หนังคอยาน เมื่อโตเต็มที่ตัวผู้จะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 12 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียจะหนักอยู่ที่ประมาณ 10 กิโลกรัม ห่านสายพันธุ์ตูลูส ถูกคัดเลือกและผสมพันธุ์มาจากเมืองตูลูส ซึ่งเป็นเมืองทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศสเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว นิยมเลี้ยงในยุโรปและอเมริกา สามารถวางไข่ได้ประมาณ 25-40 ฟองต่อปี โดยให้ไข่ขาวที่มีขนาดใหญ่กว่าไข่แดง
4) ห่านพันธุ์ฟิลกริม (Pilgrim)
ห่านสายพันธุ์นี้มีหัวและขนลำตัวเป็นสีเทาหรือสีขาว แต่มีปากและแข้งเป็นสีส้ม บริเวณปากมีสีชมพูแกมขาว ไม่มีโหนกที่หัว แข้งสั้น และหนังบริเวณใต้คอไม่หย่อนยาน ห่านสายพันธุ์นี้ตัวผู้และตัวเมียจะสามารถแยกออกได้ชัดเจนตั้งแต่เกิดออกมาได้อายุ 1 วัน โดยตัวผู้จะมีสีขาวครีม ตัวเมียจะมีสีเทา เมื่อโตเต็มวัย ตัวผู้จะมีขนสีขาว ตาสีฟ้า ส่วนตัวเมียจะมีขนสีขาวปนเทา ตาสีน้ำตาลหรือสีแดง ห่านชนิดนี้มักถูกเลี้ยงเป็นห่านเนื้อ เพราะให้เนื้อปริมาณที่มาก แต่ให้ไข่ในปริมาณที่ต่ำ โดยให้ไข่ได้แค่ 29-39 ฟองต่อปี
5) ห่านพันธุ์แอฟริกัน (African)
ห่านแอฟริกันเป็นสายพันธุ์ที่มีรูปร่างสง่า มีปมที่บริเวณฐานปากเหนือดวงตาเป็นสีดำ หนังใต้คอมีลักษณะหย่อนยาน ขนที่หลังและปีกมีสีน้ำตาล แต่บริเวณคอ หน้าอก และใต้ท้องจะมีสีน้ำตาลอ่อน ตาเป็นสีน้ำตาล และแข็งมีสีส้ม ห่านแอฟริกันตัวผู้มีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 10 กิโลกรัม ตัวเมียหนักประมาณ 7 กิโลกรัม แต่เมื่อโตเต็มที่ทั้งตัวผู้และตัวมีจะมีขนาดตัวเท่า ๆ กัน เป็นห่านที่โตเร็ว และให้ไข่ได้ดี ประมาณ 10-40 ฟองต่อปี
6) ห่านพันธุ์แคนาดา (Canadian)
ห่านแคนาดาหรือห่านป่า มีลักษณะลำตัวสูงยาว ปาก คอ และแข้งเป็นสีดำ ส่วนใบหน้าและหัวก็มีสีดำ แต่มีแถบสีขาวถัดออกมาที่บริเวณแก้มไปจนถึงคอ ขนมีสีเทาแกมขาว ไม่มีโหนกหัวและใต้คอไม่หย่อนยาน ห่านสายพันธุ์นี้ ตัวผู้จะหนักประมาณ
7) ห่านพันธุ์อียิปต์เชียน (Egyptian)
ห่านสายพันธุ์นี้จะมีลักษณะหัวสีเทา ส่วนปากและแข้งมีสีม่วงแดง บริเวณปลายปากมีสีดำ ขนที่ขอบตาจะมีสีสีน้ำตาลแดง ห่านสายพันธุ์นี้มีความโดดเด่นตรงที่มีสีสันสวยงาม เพราะมีสีแกมกันหลากหลายสี เช่น เทา ขาว ส้ม ดำ เมื่อโตเต็มที่ตัวผู้จะหนักประมาณ 4.5 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียจะหนัก 3.5 กิโลกรัม ห่านสายพันธุ์นี้เป็นที่นิยมเลี้ยงเพราะมีความสวยงาม แต่ก็ยังออกไข่ให้บริโภคได้ โดยสามารถออกไข่ได้ประมาณ
นอกจากห่านทั้ง 7 สายพันธุ์นี้แล้วเพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับเกษตรกรยังมีห่านบางสายพันธุ์ที่ประเทศจีนนิยมเลี้ยงและสร้างรายได้ให้มากที่สุด โดยในรายงานเรื่องห่านในตลาดจีนได้ยกมาทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่
1) ห่านขาวว่านซี (Wanxi white geese)
เป็นห่านที่มีแหล่งเพาะเลี้ยงอยู่ที่มณฑลทางตะวันตกของจีน โดยห่านขาวว่านซีมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว มีความอดทนต่อสภาพแวดล้อมและมีความสามารถในการหาอาหาร มีคุณภาพของเนื้อค่อนข้างดีและมีขนที่มีคุณภาพ ห่านตัวผู้ที่โตเต็มวัยจะมีน้ำหนัก 5.5 – 6.5 กก. และห่านตัวเมียจะมีน้ำหนัก 5 – 6 กิโลกรัม โดยทั่วไปเมื่อห่านอายุ 60 วันจะมีน้ำหนัก 3.0 – 3.5 กิโลกรัม แม่ห่านสามารถเริ่มวางไข่ได้เมื่ออายุ 6 เดือน วางไข่ปีละ 2 – 3 ครั้งและมีปริมาณประมาณ 25 ฟองต่อปี
2) ห่านป่าจีน (Yan Goose)
เป็นห่านที่มีแหล่งเพาะเลี้ยงอยู่ที่มณฑลอันฮุย เป็นห่านที่มีขนาดกลางมีโครงสร้างการเจริญเติบโตที่รวดเร็วและสมดุล ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ห่านตัวผู้เมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนัก 6 – 7 กก. และห่านตัวเมียเมื่อโตเต็มวัย จะมีน้ำหนัก 5 – 6 กิโลกรัมและแม่ห่านจะเริ่มวางไข่เมื่ออายุ 8 – 9 เดือนและวางไข่ได้25 – 35 ฟองต่อปี อัตราส่วนระหว่างตัวผู้ต่อตัวเมียสำหรับห่านผสมพันธุ์คือ 1 : 5
3) ห่านขาวเสฉวน
ห่านพันธุ์นี้มีลักษณะเรียวเล็กน้อยและมีหัวขนาดกลาง ห่านตัวผู้เมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนัก 4.4 – 5.0 กก. และห่านตัวเมียเมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนัก 4.3 – 4.9 กก.เมื่อห่านอายุ 60 วัน จะมีน้ำหนัก 2.5 – 3.5 กก. โดยส่วนใหญ่เมื่อห่านอายุ 90 วัน
จะเป็นห่านที่เหมาะสมที่สุดและมีเนื้อที่ค่อนข้างมีคุณภาพ ห่านตัวเมียจะเริ่มวางไข่เมื่ออายุ 6 – 8 เดือน และออกไข่ 69 – 80 ต่อปี โดยจะมีระยะฟักไข่อยู่ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนของทุกปีและอัตราส่วนการผสมพันธุ์ของห่านตัวผู้และตัวเมียอยู่ที่ 1 : 3
4) ห่านลูกผสม
ห่านพันธุ์นี้ส่วนใหญ่ฟาร์มเพาะเลี้ยงต่าง ๆ จะนำห่านตัวผู้ (ห่านขาวว่านซี) มาผสมข้ามสายพันธุ์กับแม่ห่าน (ห่านขาวเสฉวน) ซึ่งการออกไข่จะมีปริมาณใกล้เคียงกับการออกไข่ของห่านขาวเสฉวน อีกทั้งมีอัตราการเจริญเติบโตในช่วงแรกเหมือนห่านขาวหว่านซีซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงห่าน
ขั้นตอนการจัดการและดูแลห่าน
1) การจัดการพื้นที่เลี้ยงห่าน
โดยทั่วไปแล้ว โรงเรือนสำหรับเลี้ยงห่านไม่ค่อยมีความจำเป็นมากนัก นอกจากสำหรับห่านในระยะแรกเกิดที่ต้องมีโรงเรือนเลี้ยงเป็นสัดส่วน เพราะหากต้องการลดต้นทุนในการเลี้ยงห่านก็สามารถกั้นบริเวณใต้ถุนหรือลานบ้านไว้เป็นสถานที่สำหรับเลี้ยงห่านก็ได้ โดยการใช้สังกะสีหรือลวดตาข่ายสูงประมาณ 1 เมตรล้อมกั้นเอาไว้เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนสถานที่เลี้ยง
แต่ถ้าจำเป็นต้องสร้างโรงเรือนสำหรับเลี้ยงห่านในระยะแรกก็แทบไม่มีอะไรที่ยุ่งยาก เพราะทั้งการจัดพื้นที่และอุปกรณ์ในโรงเรือนสำหรับเลี้ยงห่านมีความคล้ายคลึงกับการจัดโรงเรือนเลี้ยงเป็ดได้เลย ต้องมีรางน้ำ มีหลังคาโรงเรือน มีพื้นที่ให้ห่านไปเดินเล่นผึ่งแดดและมีแหล่งน้ำให้ห่านเล่นน้ำได้ โรงเรือนควรเน้นการระบายอากาศจึงต้องมีความสูงโปร่งและวางหัวท้ายของโรงเรือนในทิศตะวันออกและตะวันตกอย่างถูกต้อง หัวและท้ายของโรงเรือนควรปิดทึบเพื่อป้องกันแดดและฝน ส่วนพื้นของโรงเรือนควรเป็นพื้นดินที่อัดแน่นแต่จะใช้พื้นคอนกรีตก็ได้ตามความเหมาะสม แต่สิ่งสำคัญคือการเลี้ยงห่านนั้นควรปล่อยให้ห่านได้เดินออกไปตามทุ่งหญ้าอย่างอิสระบ้างเพราะนั่นเป็นนิสัยของพวกมัน
2) การจัดหาอุปกรณ์ในการเลี้ยงห่าน
อุปกรณ์ให้น้ำ
อุปกรณ์ให้น้ำห่านควรใช้แบบเดียวกันกับที่เลี้ยงไก่แต่สามารถใช้งานกับลูกห่านขนาดเล็กเท่านั้น เพราะห่านที่โตเต็มที่มักจะกินน้ำเยอะจึงอาจทำให้เศษอาหารตกหล่นลงไปได้ ในห่านที่โตขึ้นมาหน่อยแนะนำให้ใช้รางน้ำที่ทำมาจากท่อพีวีซีมาผ่าครึ่งแล้วนำมาวางเรียงกันเป็นแนวยาวตามโรงเรือน
อุปกรณ์ให้อาหาร
รางวางอาหารจะเหมาะกับลูกห่านขนาดเล็ก โดยจะมีตะแกรงกั้นไม่ให้ลูกห่านแย่งอาหารกันกิน จำนวนรางอาหารควรเพียงพอกับจำนวนห่าน เมื่อห่านโตมากขึ้นให้ใช้ถังอาหารแบบแขวนกึ่งอัตโนมัติหรืออาจจะใช้อ่างดินเผาหรืออ่างปูนก็ได้
อุปกรณ์กกไข่ห่าน
อุปกรณ์กกไข่ห่านสามารถใช้เป็นแบบกกแก๊สซึ่งจะใช้แก๊สหุงต้มเป็นเชื้อเพลิง ข้อดีอยู่ตรงที่ให้ความร้อนได้ดี แต่อาจต้องระมัดระวังเรื่องของอากาศที่ถ่ายเทไม่สะดวกจะทำให้ห่านขาดอากาศได้ การกกไข่ห่านสามารถทำได้อีกวิธีคือ กกฝาชี ซึ่งจะใช้หลอดไฟ 60-100 วัตต์จำนวน 5 หลอดเป็นแหล่งความร้อน เหมาะกับการกกห่านจำนวนไม่มากนัก อีกทั้งยังสามารถประดิษฐ์ขึ้นมาใช้เองได้อีกด้วย นอกจากอุปกรณ์กกเหล่านี้ ยังอาจต้องใช้แผงกั้นกก เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกห่านกระจายตัวออกจากพื้นที่ และยังต้องการม่านบังลมให้ลูกห่านด้วยฃ
อุปกรณ์วางไข่
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในช่วงการวางไข่ของแม่ห่าน โดยทำได้ 2 แบบ คือ รังไข่แบบไข่รวม ซึ่งแม่ห่านจะผลัดกันเข้ามาวางไข่ในรังเดียวกัน รังไข่ประเภทนี้จะต้องปูรองรังด้วยฟาง ส่วนนังไข่อีกแบบหนึ่ง คือ รังไข่แบบเป็นช่องเดี่ยว โดยเป็นรังที่รองรับแม่ห่านมาออกไข่ได้ประมาณ 5-6 ตัว
3) การเลี้ยงดูห่านในระยะต่าง ๆ
โดยทั่วไปแล้ การเลี้ยงห่านนั้นจะเลี้ยงเพื่อเก็บผลผลอตอย่างไข่หรือเนื้อของห่าน สำหรับระยะเวลาในการเลี้ยงที่เหมาะสมทางกรมปศุสัตว์ได้กล่าวว่าถึงการศึกษาความต้องการของตลาดก่อน เพราะส่วนใหญ่คนมักจะมีความต้องการซื้อห่านในช่วงตรุษจีนและสารทจีน ดังนั้น ผู้เลี้ยงอาจจะต้องเลี้ยงล่วงหน้าก่อนถึงเทศกาลประมาณ
- การเลี้ยงห่านขุน (แรกเกิด ถึงอายุ 3.5-4 เดือน)
การเลี้ยงห่านขุนสามารถเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี หากมีอุณหภูมิและสภาพอากาศที่เหมาะสม ห่านประเภทนี้มักถูกเลี้ยงเพื่อขายเอาเนื้อหรือตับห่าน สำหรับลูกห่านแรกเกิดจนถึงอายุ 3 สัปดาห์ ควรเลี้ยงในโรงเรือนที่เหมาะสมเพื่อป้องกันอันตรายจากศัตรูต่าง ๆ ควรมีการปูพื้นโรงเรือนด้วยแกลบ ขี้เลื่อย หรือหญ้าแห้ง เพื่อดูดซับความชื้นจากมูลที่ห่านถ่าย และควรมีเครื่องกกสำหรับให้ความอบอุ่น มีน้ำให้กินตลอดเวลา แต่ระวังไม่ให้น้ำหก เพราะจะส่งผลต่อสุขภาพของห่าน
การให้อาหารห่านช่วงวัยนี้ ควรให้อาหารเป็นโปรตีน 21% และมีอาหารให้กินตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดต่อด้วย เมื่อลูกห่านเริ่มโตจนพ้นระยะลูกห่านให้เก็บเครื่องกกออกไปและขยายคอกให้กว้างขึ้น อาหารสำหรับห่านในช่วงวัยนี้ ควรมีโปรตีน 17% มีน้ำให้กินตลอดเวลา และควรฝึกให้ห่านกินหญ้าและอาหารหยาบอื่น ๆ เพิ่มขึ้นตามอายุ การเสริมอาหารหยาบจะช่วยให้ลำไส้ทำงานได้เป็นปกติ และควรเสริมด้วยอาหารข้นเพื่อเร่งการเจริญเติบโต ช่วง 2-4 สัปดาห์สุดท้ายของการขุน หากห่านมีน้ำหนักตัวน้อย ควรเสริมด้วยอาหารข้น อาหารข้นที่ควรใช้ในระยะนี้ควรมีโปรตีน 17% และเสริมอาหารให้จนกว่าห่านจะมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม
- การเลี้ยงห่านพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์
หลังจากที่ได้คัดเลือกห่านหนุ่มสาวมาเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แล้ว ก่อนถึงฤดูผสมพันธุ์จะต้องทำการคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ดีอีกครั้ง แล้วทำการย้ายห่านหนุ่มสาวที่ถูกคัดเลือกเหล่านั้นมาไว้ในคอกเดียวกัน การเลี้ยงห่านพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ควรให้อาหารที่มีโปรตีนประมาณ 14-16% อีกทั้งยังต้องมีหญ้าสดหรืออาหารหยาบอื่น ๆ เพื่อช่วยในเรื่องของระบบย่อยอาหาร เกษตรกรควรเตรียมพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ห่านทุก ๆ 3-5 ปี เพราะห่านแม่พันธุ์จะให้ไข่ได้ดีในช่วงปีที่ 2-4 และจะลดลงในปีที่ 5 ส่วนห่านพ่อพันธุ์จะให้น้ำเชื้อได้ดีในช่วง 2-3 ปีแรก และจะลดลงในป่วงปีที่ 4
ห่านพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ควรได้รับแสงจากธรรมชาติประมาณวันละ 16 ชั่วโมงติดต่อกัน เพราะจะช่วยไปกระตุ้นให้ห่านตัวเมียให้ไข่ได้ดีกว่า และในไข่ตัวผู้จะมีการผลิตน้ำเชื้อได้ดีกว่า การเลี้ยงห่านพันธุ์มักจะผสมพันธุ์เป็นฝูงใหญ่ เพราะอัตราการผสมติดจะดีกว่าการผสมพันธุ์เป็นฝูงเล็ก ห่านเป็นสัตว์ที่ไม่มีการจับคู่เฉพาะเจาะจง ทั้งตัวผู้และตัวเมียจึงสามารถผสมพันธุ์ได้กับห่านเพศตรงข้ามหลายตัว สำหรับการให้อาหารพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของห่าน อายุ ขนาด และผลผลิตไข่ โดยการให้อาหารห่านพันธุ์จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ
ในฤดูผสมพันธุ์: ควรให้อาหารที่มีโปรตีน 14-16% และมีหญ้าสดหรืออาหารหยาบอื่น ๆ ให้ควบคู่กันไปด้วย
นอกฤดูผสมพันธุ์: ควรให้อหารจำกัดที่ 70% ของปริมาณอาหารที่ห่านกินได้เต็มที่ แต่ควรให้หญ้าสดและอาหารหยาบให้ห่านกินอย่างเต็มที่ และควรปล่อยให้ห่านออกไแเดินเพื่อเป็นการออกกำลังไม่ให้ห่านอ้วนจนเกินไป เพราะห่านที่อ้วนจะให้ไข่น้อยลง
4) วิธีจัดการกับห่านและไข่ห่าน
หลังจากที่เราเรียนรู้วิธีการเลี้ยงห่านในแต่ละช่วงกันไปแล้วก็มาถึงวิธีการจัดการกับห่านและไข่ห่านกัน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับใครที่เลี้ยงห่ากันเองในครัวเรือนแบบเน้นการเก็บไข่ขายไม่ได้ส่งออกเนื้อหรือส่งออกโรงเชือด
การจัดการดูแลห่านแต่ละชนิด
การจัดการดูแลห่านนั้นแตกต่างกันออกไปตามแต่ละช่วงวัย การดูเพศห่านนั้นสามารถตรวจดูได้ทั้งห่านที่ยังเป็นลูกห่านและห่านรุ่น โดยในลูกห่านสามารถตรวจดูเพศได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ปลิ้นดูที่ก้น วิธีนี้สามารถใช้กับลูกห่านอายุ 1-2 วันได้ ลูกห่านตัวผู้จะมีเดือยเล็ก ๆ ที่บริเวณก้น ส่วนตัวเมียจะไม่มีเดือย
- ดูที่ปีก เมื่อลูกห่านอายุ 3-4 วัน ให้สังเกตดูปมที่ข้อศอกด้านในปีก ลูกห่านตัวผู้จะมีปมใหญ่สีดำที่มีลักษณะยาวรี ไม่มีขนปกคลุม ขนาดเท่ากับปลายดินสอ แต่ถ้าเป็นลูกห่านตัวเมียจะไม่มีปมดังกล่าว หรือถ้ามีก็จะเล็กมาก และมีขนปกคลุมจนมองไม่เห็น
ส่วนในห่านที่โตจนเป็นห่านรุ่นแล้วสามารถสังเกตเพศได้โดยวิธีต่อไปนี้
- ดูที่อวัยวะเพศ โดยการจับห่านวางบนโต๊ะให้หางชี้ออกจากตัวผู้จับ ใช้นิ้วชี้ที่ทาวาสลีนแล้วสอดเข้าไปในก้นประมาณครึ่งนิ้ว วนหลาย ๆ ครั้ง แล้สค่อย ๆ กดที่ด้านล่างหรือด้านข้างด้านในก้น หากเป็นตัวผู้จะมีอวัยวะเพศโผล่ออกมาให้เห็น
- ฟังเสียงห่าน โดยห่านตัวผู้จะมีเสียงแหลม ส่วนห่านตัวเมียจะมีเสียงต่ำทุ้ม
- ดูรูปร่างห่าน ให้ดูเมื่อห่านอายุเท่ากัน โดยห่านตัวผู้จะมีลำตัวและคอยาวกว่า อีกทั้งยังหนากว่าห่านตัวเมีย
การจัดการไข่ห่าน (การฟักไข่)
การฟักไข่ด้วยวิธีธรรมชาติ: โดยใช้แม่ห่านเป็นผู้ฟักหรือจะใช้แม่ไก่ แม่ไก่งวง หรือแม่เป็ดเทศมาฟักก็ได้ การฟักไข่ด้วยวิธีนี้จะต้องจัดทำรังสำหรับฟักไข่โดยการรองพื้นด้วยหญ้าแห้งหรือฟางข้าว และจะต้องทำการกำจัดไรหรือเหาตามตัวเสียก่อน รังฟักไข่ควรอยู่ใกล้อาหารและน้ำ และอยู่ในบริเวณที่ไม่ถูกรบกวนระหว่างฟักไข่ อีกทั้งยังควรช่วยกลับไข่วันละประมาณ
การฟักไข่ด้วยตู้ฟัก: เป็นการใช้ความร้อนจากตู้ฟักในการฟักไข่ โดยขั้นแรกให้คัดเลือกขนาดและรูปร่างของไข่ห่าน ต้องมีขนาดที่ใกล้เคียงกัน ไม่กลมหรือแหลมจนเกินไป เปลือกไข่เรียบ ไม่มีรอยยุบหรือรอยร้าวแตก เก็บรักษาไข่ก่อนนำเข้าตู้ฟัก ควรเก็บที่อุณหภูมิ 50-60 องศาฟาเรนไฮด์ และความชื้นที่ประมาณ 75% อีกทั้งยังควรกลับไข่อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เพื่อไม่ให้ไข่แดงติดเปลือก ทำความสะอาดเปลือกไข่ โดยการใช้กระดาษทรายหยาบขัดเอาคราบมูลหรือสิ่งสกปรกออกจากเปลือกให้หมด ไม่ควรล้างน้ำเพราะจะทำให้เชื้อโรคซึมเข้าไปในไข่ ให้ใช้การรมควันฆ่าเชื้อโรคที่เกาะอยู่บนเปลือกไข่ การรมควันไข่จะทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที
ระยะการฟักไข่ของห่าน
การฟักไข่ระยะ 1 – 10 วันของการฟัก: ต้องนำออกมาทิ้งที่อุณหภูมิภายนอกประมาณ 1-2 ชั่วโมงก่อนเข้าตู้ฟัก และควรกลับไข่อย่างน้อยวันละ 6 ครั้ง
การฟักไข่ระยะ 11 – 28 วันของการฟัก: ระยะนี้จะเป็นการเปิดระบบให้ความร้อนเป็นเวลา แต่จะเปิดพัดลมตลอดเวลา และจะมีการพ้นน้ำให้ไข่ด้วย ระยะนี้ควรกลับไข่อย่างน้อยวันละ 6 ครั้ง เพื่อให้เชื้อแข็งแรงและฟักออกมาได้ดีขึ้น
การฟักไข่ระยะ 29 – 31 วันของการฟัก: ช่วงนี้จะไม่มีการกลับไข่หรือพ่นน้ำแต่อย่างใด แต่ความชื้นควรอยู่ที่ 86% ไข่ที่จะฟักออกมาได้ดี ควรมีช่องอากาศภายในฟองประมาณ 1 ใน 3 ของฟองไข่ และตู้เกิดควรแยกออกจากตู้ฟัก โดยลูกห่านจะเจาะเหลือกออกในช่วงวันที่ 30-32
การส่องไข่ฟัก: เป็นการดูว่าไข่ฟองไหนมีเชื้อหรือไม่มีเชื้อและเชื้อตายหรือไม่ การส่องไข่ควรทำในห้องมืดหรือจับไข่มาส่องกับแสงไฟก็ได้ โดยส่องไข่ 2 ครั้ง ครั้งแรกจะส่องเมื่อไข่ฟักไปแล้ว 10 วัน และครั้งที่ 2 เมื่อฟักไปแล้ว 28 วัน หากส่องดูแล้วพบว่าไม่มีเชื้อหรือเชื้อตาย ให้นำออกจากตู้ฟักไข่ทั้งหมดเพื่อไม่ให้ไปกระทบกับไข่ที่มีเชื้อ ไข่ที่ไม่มีเชื้อจะมองเห็นเป็นเหมือนไข่ธรรมดา ส่วนไข่เชื้อตายจะเห็นเป็นจุดดำ ๆ ติดอยู่กับเยื่อเปลือกไข่และจะมีวงเลือดปรากฏให้เห็น แต่ไข่ที่มีเชื้อและกำลังเจริญเติบโตจะเห็นเป็นจุดดำที่ส่วนท้ายของไข่ใกล้กับช่องอากาศ และจะมีเส้นเลือดกระจายออกไปรอบ ๆ จากจุดนี้
อาหารและโภชนาการของห่าน
การเลี้ยงห่านสัมพันธ์กับเรื่องของโภชนาการอาหารมาก เพราะถ้าหากเราเลือกเลี้ยงห่านแบบปล่อยพื้นที่บริเวณนั้นควรใกล้กับแหล่งน้ำเพราะห่านจะได้สามารถหาอาหารที่มีแหล่งโปรตีนได้เอง ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงเพียงแค่เสริมด้วยอาหารจำพวกรำหยาบผสมปลายข้าวและน้ำหมักเพียงเล็กน้อยได้ แต่หากเลี้ยงเพื่อส่งออกขายเนื้อหรือการเลี้ยงแบบขุนก็จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณอาหารเสริมมากขึ้น เพราะห่านที่ได้รับอาหารหยาบเพียงอย่างเดียวจะเจริญเติบโตได้ช้าและอาจมีปัญหาสุขภาพจากโรคขาดสารอาหารได้ นอกจากนี้การที่ห่านได้รับอาหารคุณภาพดีในปริมาณที่เพียงพอยังส่งผลให้ซากห่านมีคุณภาพดีอีกด้วย
จากการศึกษาในงานวิจัยเกี่ยวกับคุณภาพซากห่านในประเทศไทยที่กล่าวถึงห่านจีนเมื่อถูกเลี้ยงด้วยอาหารไก่ไข่ชนิดโปรตีนด้วยความเข้มข้นของโปรตีนที่ 21% ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 สัปดาห์ โปรตีนเข้มข้น 19% ตั้งแต่อายุ 4-8 สัปดาห์ และโปรตีนเข้มข้น 17% ตั้งแต่ 9-16 สัปดาห์ เมื่อวัดคุณภาพซากห่านที่อายุ 12, 14 และ 16 สัปดาห์พบว่าห่านที่มีอายุ 14 และ 16 สัปดาห์มีคุณภาพดีกว่าห่านที่อายุ 12 สัปดาห์มาก
การดูแลด้านสุขภาพของห่าน
1) โรคที่พบได้บ่อยในห่าน
โรคอหิวาต์: เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ห่านมีอาการซึม เบื่ออาหาร หิวน้ำจัด และมีไข้สูง บริเวณคอและเท้าจะร้อน มูลเป็นสีขาวปนเขียวและมียาวเหนียว โรคนี้อาจทำให้ห่านตายกระทันหัน หรือหากเป็นเรื้อรังจะส่งผลต่อข้อขา ทำให้เดินลำบาก สามารถรักษาได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะไปช่วยลดความเสียหายในฝูงห่านที่เริ่มเป็นในระยะแรกเริ่ม ส่วนการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์เข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนังทุก ๆ 3 เดือน
กาฬโรคเป็ด: เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่จะทำให้ห่านมีอาการซึม ท้องร่วง เบื่ออาหาร ปีกตก และมีน้ำตาเหนียว ๆ ไหลออกมาหากเป็นมากจะมีน้ำมูกไหลออกมาด้วย มูลจะมีสีเขียวปนเหลืองและบางครั้งจะมีเลือดปนออกมาและรอบ ๆ ก้นห่านจะแดง และหายใจลำบาก ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ดังนั้นจึงต้องพึ่งพาการป้องกันอย่างการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้ออกทุก ๆ 6 เดือน
โรคไข้หวัดนก: เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีระดับความรุนแรงจุขึ้นอยู่กับเชื้อแต่ละชนิด แต่หากเป็นเชื้อ H5N1 ที่ระบาดหนักในช่วงปี 2547-2549 นั้น ถือว่าเป็นเชื้อที่รุนแรงมาก ๆ อาการของโรคคือ ห่านจะมีไข้สูง ซึม หายใจลำบาก บางตัวอาจมีอาการทางประสาทหรือเป็นอัมพาต หากอาการเรื้อรังมักจะมีอาการแทรกซ้อนและเสี่ยงตายสูง การป้องกันที่ดีที่สุดคือพยายามให้ห่านหลีกเลี่ยงการสัมผัสและรับเชื้อ โดยหากรับห่านตัวใหม่มาเข้าคอกต้องได้รับการตรวจเชื้อและกักตัวแยกเป็นเวลา 14 วันเป็นอย่างน้อย
โรคลำไส้อักเสบจากไวรัสพาร์: มักเกิดในห่านที่อายุน้อยกว่า 8 สัปดาห์ โดยลูกห่านที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้จะแสดงอาการอย่างชัดเจนและไวต่อการติดเชื้อ ลูกห่านที่ติดเชื้อมักจะมีอาการไข้สูง ซึม ท้องร่วงและบางตัวจะหิวน้ำมาก สำหรับการป้องกันรักษานั้น ทางกลุ่มงานไวรัสวิทยาแห่งสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติได้กล่าวไว้ว่า การควบคุมที่ได้ผลดีคือการแยกฝูงที่ไม่ติดเชื้อออกจากฝูงที่ติดเชื้อและการฉีดวัคซีนให้ลูกห่าน
โรคติดเชื้อรา: มักติดได้ง่ายในสภาพอากาศที่ร้อนชื้นในประเทศไทย โดยมักจะติดมากับไร่ ทุ่ง หรือติดมากับอาหาร ถึงแม้ว่าการสูญเสียจากโรคติดเชื้อราอาจไม่สร้างความเสียหายมากนัก แต่โรคนี้มักทำให้ห่านอ่อนแอและให้ผลผลิตน้อยลง สำหรับการป้องกันการติดเชื้อรา ควรมั่นใจว่าสภาพโรงเรือนนั้นไม่มีความชื้นมากจนเกินไป อีกทั้งยังควรมั่นใจว่าโรคเชื้อราต่าง ๆ ไม่แพร่กระจายผ่านเสื้อผ้า อาหาร และของใช้ต่าง ๆ ที่ใช้เลี้ยงห่าน
โรคจากพยาธิ: มักเกิดจากการปล่อยห่านออกไปหากินตามธรรมชาติแล้วร่างกายได้รับพยาธิมาจากแหล่งน้ำหรืออาหาร โดยพยาธิที่พบได้บ่อยในห่านจะเป็นพยาธิใบไม้หรือพยาธิตัวตืด เป็นต้น เมื่อพยาธิเข้าสู่ร่างกายห่านจะไปแย่งสารอาหารและแพร่พันธุ์ในร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอและให้ผลผลิตได้น้อยลง ใน่สวนของการป้องกันที่ดีที่สุดคือการจัดการสภาพแวดล้อมในโรงเรือนให้สะอาด ถูกสุขอนามัยและควรถ่ายพยาธิอย่างสม่ำเสมอ
ประโยชน์ของการเลี้ยงห่าน
ถึงแม้ว่าการบริโภคเนื้อห่านจะยังจำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ หรือยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่การเลี้ยงในครัวเรือนหรือเลี้ยงห่าเพื่อส่งออกตลาดทั้งในและต่างประเทศก็มีโอกาสที่จะเติบโตอย่างมากในอนาคต เพราะเนื้อห่านมีคุณค่าทางโภชนาการที่สูงมากเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ปีกอื่น ๆ รสชาติอร่อยและสามารถส่งออกแบบแปรรูปได้ ประเทศคู่ค้ายังน้อยเมื่อตัดประเทศจีนออก อีกทั้งยังมีข้อดีในเรื่องของเงินลงทุนที่ไม่สูงมาก เลี้ยงง่าย ทนทานต่อสภาพอากาศไทยได้ดีเลี้ยงมาแล้วยังมีตลาดรองรับและที่สำคัญคือสร้างกำไรได้หลายช่องทาง ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรที่อยากเลี้ยงห่านมากขึ้น เราจะมาดูกันว่าเลี้ยงแล้วสามารถทำอะไรได้บ้าง
1) เลี้ยงเพื่อส่งออกพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ห่าน
การเลี้ยงห่านเพื่อส่งออกพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ถือได้ว่ากำลังเป็นที่นิยมมาก ๆ ในแวดวงของคนที่ต้องการทำปศุสัตว์เพื่อส่งออกสัตว์ปีกในราคาสูง ๆ หรือต้องการเพาะพันธุ์ห่านที่เป็นสายพันธุ์หายาก โดยเฉพาะห่านลูกผสมที่ได้พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์แท้นำเข้าจากจีนหรือฝั่งทางยุโรป เมื่อได้ลูกห่านในช่วง 6 เดือนแรกแล้วจะขายได้สูงสุดถึงตัวละ 34,000 บาทเลยทีเดียว ดังนั้น เกษตรกรที่สนใจจะหันมาหารายได้กับห่านด้วยการขายพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์แบบนี้ ก็สามารถศึกษาสายพันธุ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาดก่อนได้ ที่สำคัญลงทุนแค่ช่วงแรกเท่านั้นเพราะพ่อพันธุ์ตัวเดียวสามารถผสมกับแม่ห่านได้หลายตัวและแม่ห่านก็ออกไข่ได้ทีละ 3 – 5 ฟองหรือมากสุดถึง 7 ฟองเพื่อให้เรานำไปเข้าเครื่องฟักต่อได้ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางรวยจากการเลี้ยงห่านเลยก็ว่าได้
2) เลี้ยงเพื่อส่งออกไข่ห่าน
ห่านพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์มักมีอายุใช้งานนาน 4-5 ปีและเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย โตไว สามารถออกไข่ได้ครั้งละ 6-7 ฟอง จำนวนปีละ 3-4 ครั้ง โดยรวมแล้วแม่ห่าน 1 ตัวจึงสามารถวางไข่ห่านได้ประมาณ 20-25 ฟอง ปัจจุบันราคาไข่ห่านจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของห่านและวัตถุประสงค์ของไข่ที่จะขาย ถ้าหากขายไข่ห่านเพื่อการบริโภคราคาจะอยู่ที่ฟองละ 15 -16 บาทแต่ถ้าหากขายเพื่อนำไปเพาะพันธุ์ต่อสายพันธุ์ ไข่ห่านที่เป็นที่คนต้องการก็จะมีราคาสูง เช่น ห่านลูกผสมไข่ที่มีขนาดสมบูรณ์ดีหรือคัดเกรดมาแล้วจะสามารถขายได้ราคาสูงถึงฟองละ 2,300 บาทเลยทีเดียว ดังนั้น การเลี้ยงห่านพันธุ์ดี ๆ อย่างน้อย 10 ตัวขึ้นไปก็จะได้ไข่ส่งออกในราคาที่คุ้มทุนกว่าที่เราคิดไว้แน่นอน
3) ทำฟาร์มห่านเพื่อส่งออกโรงเชือด
จากการศึกษาในหนังสือการผลิตห่านและการตลาดในประเทศไทยที่ได้กล่าวถึงการซื้อขายห่านของผู้ประกอบการหรือเจ้าของโรงฆ่าชำแหละไว้ว่า ผู้ประกอบการจะซื้อห่านอายุ 100 วันจากผู้เลี้ยงห่านขุนที่มีการผูกสัญญากัน เพื่อนำมาเลี้ยงขุนต่ออีก 20 วันก่อนจะส่งไปยังโรงฆ่าชำแหละของตนเอง ซึ่งราคาซื้อขายห่านอายุ 100 วันเฉลี่ยตัวละ 250 – 260 บาทโดยจะมีการซื้อจากหน้าฟาร์มไปประมาณ 1,000 – 1,500 ตัว หลังจากนำมาขุนต่อจนครบ 20 วันก็จะส่งไปที่โรงชำแหละและส่งห่านรูปแบบสดที่ยังไม่ควักเครื่องในออกจากตัวไปขายยังตลาดลูกค้าต่าง ๆ ลูกค้าจะซื้อขายห่านสดในราคาเฉลี่ย 400 – 500 บาทขึ้นอยู่กับขนาดตัวของห่าน จากนั้นทางตลาดก็จะห่านสดไปแปรรูปเป็นเมนูอื่น ๆ และซื้อขายห่านปรุงสุกสำเร็จในราคาตัวละ 750 – 800 บาทแก่ผู้บริโภค
4) เลี้ยงห่านเพื่อปราบวัชพืช
นอกเหนือจากการการายได้แล้วขอฝากอีกหนึ่งประโยชน์ของห่านอย่างการเลี้ยงไว้จัดการกับวัชพืชต่าง ๆ ได้ดี เพราะเป็นพืชที่พวกมันสามารถกินได้ตลอดและถ้าเลี้ยงแบบปล่อยตามไร่ตามสวนแล้วก็เรียกได้ว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการกำจัดศัตรูพืช อีกทั้งยังเป็นวิธีที่ปลอดภัยกว่าการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชได้อย่าดีเลย โดยเกษตรกรในหลาย ๆ พื้นที่ก็มักจะนิยมเลี้ยงห่านไว้เพื่อกำจัดวัชพืชโดยเฉพาะ
ห่านถือเป็นสัตว์ที่สามารถสร้างรายได้ในเชิงเศรษฐกิจได้ดี เพราะสามารถสร้างเม็ดเงินได้ทั้งจากทั้งไข่ เนื้อ หรือส่งออกทำพันธุ์ ยิ่งถ้าในอนาคตเกษตรกรไทยได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐในการส่งออกเพื่อไปตีตลาดต่างประเทศแล้ว จะถือได้ว่าเป็นช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ที่ให้ผลตอบแทนมหาศาลเลยทีเดียว ดังนั้น Kaset today ก็หวังว่าข้อมูลในการเลี้ยงห่านวันนี้จะเป็นประโยชน์ดี ๆ ที่ช่วยให้เกษตรกรไทยมีช่องทางในการสร้างรายได้มากขึ้นด้วย
แหล่งที่มา
การเลี้ยงห่าน, กรมปศุสัตว์
ห่านในตลาดจีน, กรมส่งเสริมสินค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
การผลิตห่านและการตลาดในประเทศไทย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน