ไก่งวง สัตว์ปีกมูลค่าสูงที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

ไก่งวงอาจจะไม่ใช่สัตว์เลี้ยงที่หลายคนคุ้นเคยมากนัก แต่นี่เป็นสัตว์เศรษฐกิจทางเลือกที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงได้อย่างต่อเนื่อง เพราะผลผลิตที่ได้จากไก่งวงนั้นมีตลาดรองรับเป็นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากเทียบสัดส่วนการเพาะเลี้ยงในปัจจุบันจะพบว่า อัตราการผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เท่ากับเหลือพื้นที่เติบโตให้กับผู้เพาะเลี้ยงรายใหม่ไม่น้อยเลย ถึงแม้ในบ้านเราจะมีพ่อแม่พันธุ์ต้นสายจำกัดแค่ 2 สายพันธุ์ แต่นั่นก็แตกแขนงออกไปเป็นพันธุ์ผสมอีกนับไม่ถ้วน สามารถเลือกพันธุ์ที่เหมาะกับพื้นที่เพาะเลี้ยงและช่องทางจำหน่ายที่สนใจได้เลย อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงไก่งวงมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องเอาใจใส่มากกว่าการเลี้ยงไก่ทั่วไป พร้อมกับต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลในทุกช่วงการเติบโตของไก่ ถึงจะได้ผลผลิตคุณภาพดีอย่างที่ตลาดต้องการ ดังนั้น หน้าที่ของผู้สนใจเลี้ยงไก่งวงที่นอกเหนือไปจากการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ใช่แล้ว ยังต้องทำความเข้าใจกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบก่อนเริ่มต้นเพาะเลี้ยงด้วย

ทำความรู้จักกับไก่งวง

ไก่งวง เป็นสัตว์ปีกที่มีต้นกำเนิดมาจากฝั่งอเมริกาเหนือ มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Meleagris gallopavo M. gallopavo ลักษณะภายนอกจะมีลำตัวอวบอ้วน เนื้อแน่น ช่วงหัวถึงคอไร้ขน ปากสั้นเรียวเล็ก และมีขนหางตั้งขึ้นเหมือนนกยูงรำแพน ตัวผู้จะมีขนเป็นมันเงามากกว่าตัวเมีย เราสามารถแบ่งไก่งวงตามสีขนได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มสายพันธุ์ที่มีขนสีขาว และกลุ่มสายพันธุ์ที่มีขนสีบรอนซ์ ไก่งวงจะออกไข่เป็นสีขาวนวลและมีจุดกระสีน้ำตาลเล็กน้อย แต่ไข่ไม่ใช่ผลิตผลที่สำคัญนัก กลับเป็นเนื้อไก่งวงที่ได้รับความสนใจมากกว่า เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ให้แคลเซียมและโปรตีนมากกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นที่นำมาปรุงเป็นอาหาร แต่ว่ามีไขมันและแคลอรี่ค่อนข้างต่ำ คุณพนม เกิดแสง นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ศูนย์วิจัยและบำรุงสัตว์ทับกวางและสถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์เลย เป็นหน่วยงานที่เริ่มต้นนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่งวง 2 สายพันธุ์ คือ อเมริกันบรอนซ์และเบลท์สวิลล์สมอลไวท์ โดยหวังให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางหารายได้ของเกษตรกร ซึ่งในพื้นที่จังหวัดเลยเคยจัดเทศกาลกินไก่งวงเพื่อสนับสนุนการเพาะเลี้ยงของเกษตรกรด้วย

ไก่งวง ประวัติ
adaybulletin.com

พันธุ์ของไก่งวง

หากเป็นสายพันธุ์ไก่งวงในอเมริกาเหนือที่ถือเป็นแหล่งกำเนิดก็จะมีความหลากหลายค่อนข้างมาก เพียงแค่แบ่งตามลักษณะมาตรฐานของสายพันธุ์ก็ยังแยกได้มากถึง 7 ชนิด ส่วนในบ้านเรามีการนำเข้าเพียงแค่ 2 สายพันธุ์เท่านั้น แล้วจึงมีการผสมข้ามสายพันธุ์เพื่อให้เหมาะกับการเพาะเลี้ยงมากยิ่งขึ้น

  • ไก่งวงพันธุ์เบลท์สวิลล์ สมอลไวท์
    เป็นไก่ที่มีขนาดลำตัวตั้งแต่ขนาดกลางถึงขนาดเล็ก ขนและหนังเป็นสีขาวล้วน ช่วงขาจนถึงปลายเท้าเป็นสีชมพูซีด ให้ปริมาณไข่โดยเฉลี่ย 80 ฟองต่อปี ไก่งวงที่โตเต็มวัยจะมีน้ำหนักอยู่ในช่วงประมาณ 5-7.7 กิโลกรัม คุณเจนณรงค์ คำมงคุณ นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการได้แนะนำถึงวิธีสังเกตเพศไก่งวงสายพันธุ์นี้ว่า ตัวผู้จะมีกลุ่มขนที่คล้ายเส้นผมสีดำที่กลางอก ตัวเมียอาจพบได้บ้างแต่ก็น้อยมาก ไก่งวงพันธุ์นี้มีแหล่งเพาะพันธุ์หลักอยู่ที่จังหวัดเลย ซึ่งมีบทบาทในการผลิตลูกไก่ไปจนถึงไก่ที่มีอายุ 6 เดือน
พันธุ์ไก่งวง
blog.arda.or.th
  • ไก่งวงพันธุ์อเมริกันบรอนซ์
    สายพันธุ์นี้จะมีน้ำหนักมากกว่าสายพันธุ์แรก เส้นขนเป็นสีบรอนซ์ผสมกับน้ำตาลดำ ปลายขนมีสีขาวแต้มอยู่ โดยเฉพาะส่วนหางที่รำแพนจะมองเห็นขนสีขาวเรียงเป็นแถบชัดเจน ช่วงขาเป็นสีชมพูซีดและมีจงอยปากเป็นสีเทาอ่อน ไก่งวงที่โตเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 7-11 กิโลกรัม และให้ไข่ประมาณ 70 ฟองต่อปี ส่วนความแตกต่างระหว่างตัวผู้กับตัวเมียก็จะสังเกตได้จากขนสีดำตรงอกเหมือนกับสสายพันธุ์เบลท์สวิลล์ สมอลไวท์
จุดเด่นไก่งวง
farmerspace.co
  • ไก่งวงลูกผสม
    เป็นการผสมข้ามสายพันธุ์จนได้ลูกไก่รุ่นใหม่ที่มีลักษณะแตกต่างจากรุ่นพ่อแม่ชัดเจน ทั้งสีขน ขนาดลำตัว และอัตราการเติบโต ตัวอย่างของแหล่งเพาะพันธุ์ลูกผสมที่น่าสนใจก็คือ ฟาร์มไก่งวงเบญจพรศิริ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดหนองบัวลำภู ที่นี่เริ่มต้นจากพ่อแม่พันธุ์พื้นฐานแล้วต่อยอดจนได้ลูกผสมมากกว่า 10 สายพันธุ์แล้วในปัจจุบัน
ไก่งวงลูกผสม
farmerspace.co

การจัดการสถานที่ในการเลี้ยงไก่งวง

รูปแบบของการเพาะเลี้ยงไก่งวงก็คล้ายคลึงกับไก่เนื้อทั่วไป คือสามารถเลี้ยงไว้ภายในโรงเรือนหรือเลี้ยงแบบปล่อยอิสระบนพื้นที่โล่งกว้างก็ได้ โดยทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีจัดการที่เหมาะสมกับสถานที่แต่ละแบบเอาไว้ดังนี้

การจัดการไก่งวงในโรงเรือน

เนื่องจากไก่งวงเป็นสัตว์เลี้ยงที่ยังคงมีสัญชาตญาณของสัตว์ป่าอยู่บ้าง การดูแลจึงต้องคำนึงถึงอุปนิสัยในส่วนนี้ด้วย อันดับแรกเป็นเรื่องความกว้างขวางของโรงเรือน ขนาดที่แนะนำจะอยู่ประมาณ 1 ตารางเมตรต่อไก่งวง 1 ตัว พื้นโรงเรือนควรรองด้วยวัสดุรองพื้นที่แห้งและสะอาด พร้อมติดตั้งระบบการฆ่าเชื้อที่ได้มาตรฐานเอาไว้ด้วย ลูกไก่งวงจะต้องถูกแยกออกไปให้เป็นสัดส่วน แล้วรอให้โตได้ระดับหนึ่งก่อนค่อยนำมาเลี้ยงรวมกัน ส่วนพื้นที่อาศัยของไก่งวงที่โตเต็มวัยแล้วก็ต้องมีคอนนอนที่ยาวตลอดโรงเรือน และมีประตูสำหรับปล่อยให้ไก่งวงบินออกด้านนอกในช่วงเช้า สิ่งสำคัญคืออย่าลืมออกแบบประตูให้เปิดปิดได้ง่ายและมีขนาดใหญ่เพียงพอ ไม่อย่างนั้นไก่งวงที่แย่งกันบินออกมาอาจบาดเจ็บถึงขั้นปีกหักได้ นอกจากนี้อุปกรณ์ให้น้ำและอาหารควรแขวนให้สูงจากพื้นเล็กน้อย เมื่อใช้งานไปแล้วก็ต้องถอดออกมาล้างทำความสะอาดและตากให้แห้งสนิทก่อนนำกลับไปใช้ใหม่

การจัดการไก่งวงในทุ่งหญ้า

ไก่งวงที่ถูกเลี้ยงในทุ่งหญ้าโล่งกว้างจะมีสุขภาพจิตที่ดีกว่าก็จริง แต่อาจเป็นงานที่ค่อนข้างยุ่งยากพอสมควรสำหรับผู้เลี้ยง สิ่งแรกที่ควรพิจารณาคือต้องแน่ใจก่อนว่าพื้นที่นั้นสะอาด ปราศจากเชื้อโรคและพยาธิที่อาจทำให้ไก่เจ็บป่วย และต้องมีการกั้นขอบเขตที่แน่นอนเอาไว้ด้วยเพื่อให้ดูแลฝูงไก่ได้สะดวก หากมองในภาพรวมก็คล้ายกับการขยายโรงเรือนให้ใหญ่ขึ้นนั่นเอง ภายในขอบเขตนั้นจะต้องมีการก่อสร้างเพิงพักถาวรที่ไก่งวงจะใช้หลบแดดหลบฝนได้ มีรางน้ำและรางอาหารวางกระจายไว้ตามจุดต่างๆ โดยให้มีปริมาณสอดคล้องกับจำนวนไก่ที่เลี้ยง พื้นด้านล่างหากเป็นดินทรายก็จะดีมาก เพราะมีคุณสมบัติระบายน้ำได้ดี ไม่อ่อนหรือแข็งจนเกินไป

อาหารสำหรับเลี้ยงไก่งวง

สูตรอาหารของไก่งวงจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามช่วงวัยของการเติบโต ดังนี้

  • ช่วงอายุ 0-1 เดือน ให้อาหารที่มีส่วนผสมของหัวอาหาร 22 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับหลีกเลี่ยงการให้ปลายข้าวหรือข้าวเปลือก เพราะอาจทำให้ไก่งวงตายและยังเข้าใจผิดว่าติดเชื้ออหิวาต์อีกด้วย
  • ช่วงอายุ 2-5 เดือน ให้อาหารที่มีส่วนผสมของหัวอาหาร 14 เปอร์เซ็นต์
  • ช่วงอายุ 5 เดือนขึ้นไป ให้เปลี่ยนอาหารเป็นรำอ่อนผสมรำหยาบ หรือจะใช้วัตถุดิบที่มีอยู่แล้วในพื้นที่มาผสมกันก็ได้ สูตรที่แนะนำคือใช้พืชผักหรือสมุนไพรเป็นตัวหลัก ผสมกับมันสำปะหลัง 1 ส่วน รำ 4 ส่วน และปลาป่น 1 ส่วน จะได้เป็นอาหารข้นสำหรับเลี้ยงไก่งวงโตเต็มวัย นอกจากนี้ควรมีอาหารเสริมเพื่อบำรุงร่างกายและเพิ่มภูมิคุ้มกันอีกวันละ 1 ครั้งในช่วงเช้า
อาหารไก่งวง
coastlinesurfsystem.com

การจัดการเลี้ยงดูไก่งวงตามอายุ

การปรับเปลี่ยนวิธีเลี้ยงดูให้สอดคล้องกับช่วงวัยของไก่งวง จะช่วยให้ไก่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ เติบโตได้เร็ว และให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ จากข้อมูลของศูนย์วิจัยและพัฒนาการปศุสัตว์ได้มีแบ่งช่วงของการเลี้ยงดูไก่งวงเป็น 4 ช่วง ดังต่อไปนี้

ลูกไก่งวงเล็ก (อายุแรกเกิดถึง 4 สัปดาห์)

นับเป็นช่วงที่ไก่งวงยังอ่อนแอและต้องประคบประหงมกันมากเป็นพิเศษ หลังจากไก่ฟักออกจากไข่แล้วให้แยกเลี้ยงในพื้นที่เฉพาะซึ่งตั้งไว้บนที่สูง มีมุ้งครอบกันยุงที่อาจเป็นพาหะนำโรคฝีดาษ ช่วงแรกต้องติดตั้งหลอดไฟประมาณ 80 วัตต์เพื่อให้ความอบอุ่น ระดับความร้อนที่เหมาะสมคือ 95-100 องศาฟาเรนไฮต์ แล้วค่อยลดความร้อนลงเรื่อยๆ โดยอ้างอิงกับสภาพแวดล้อมภายนอกด้วย ปริมาณอาหารให้อยู่ที่ 30-50 กรัมต่อตัวต่อวัน และต้องมีการฉีดวัคซีนกับให้วิตามินจนครบถ้วน การดูแลไก่งวงในระยะนี้ให้ดีจะมีผลช่วยลดอัตราการตายของไก่ได้สูงมาก

ไก่งวงรุ่น (อายุ 4 ถึง 12 สัปดาห์)

ถึงจะเลี้ยงอยู่ในกรงเดิมแต่เราจะยกลงมาไว้บนพื้นล่าง เพื่อให้ไก่งวงได้ปรับสภาพร่างกายให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ ปล่อยให้สัมผัสจุลินทรีย์ตามธรรมชาติบ้างก็เป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยตัวเอง ระยะนี้เราจะให้ปริมาณอาหาร 80-100 กรัมต่อตัวต่อวัน โดยแบ่งอาหารให้ทีละน้อยแต่ให้บ่อยครั้ง นอกนั้นก็ปล่อยให้ไก่ได้จิกกินต้นหญ้าหรือพืชขนาดเล็กในบริเวณอาศัย กระบวนการนี้จะกระตุ้นระบบการย่อยอาหารและช่วยให้ไก่งวงปรับพฤติกรรมเพื่อการอยู่รอดได้ดีมาก หลังจากผ่านพ้นช่วง 8 สัปดาห์ไปแล้ว จะเปลี่ยนไปเลี้ยงไก่งวงแบบปล่อยอิสระในพื้นที่ร่มก็ได้

ไก่งวงหนุ่ม-สาว (อายุ 12 ถึง 28 สัปดาห์)

ช่วงนี้ไก่งวงจะมีความแข็งแรงและมีอัตราการเติบโตค่อนข้างมาก ควรให้อาหารด้วยปริมาณ 150-180 กรัมต่อตัวต่อวัน พร้อมกับมีหญ้าสด พืชผัก หรือสมุนไพรมาเป็นส่วนเสริมและปล่อยให้ไก่งวงเลือกกินได้อย่างเต็มที่ สูตรการผสมอาหารต่างๆ ก็สามารถใช้ได้ดีในระยะนี้ เกษตรกรที่มีวัตถุดิบอยู่ในพื้นที่แล้วก็จะสามารถลดต้นทุนไปได้บางส่วน จะเรียกว่าเป็นเวลาขุนไก่งวงให้มีน้ำหนักตัวมากพอกับความต้องการก็ได้

ไก่งวงพ่อแม่พันธุ์ (อายุ 28 สัปดาห์ขึ้นไป)

เรื่องของอาหารจะมีการปรับเปลี่ยนไม่มากนัก แค่ให้ปริมาณมากขึ้นเป็น 180-200 กรัมต่อตัวต่อวัน แต่เราจะมีงานส่วนอื่นเพิ่มขึ้น เริ่มตั้งแต่การสังเกตเพื่อคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ และต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดด้วย เช่น มีอัตราการแลกเนื้อที่ดี เติบโตเร็ว เป็นต้น ทุกครั้งที่มีการคัดเลือกจะต้องมองหาพ่อแม่พันธุ์สำรองเอาไว้ด้วยเสมอ ต่อมาเป็นกระบวนการผสมพันธุ์ของไก่งวงที่พร้อมแล้ว สัดส่วนการผสมควรอยู่ที่แม่พันธุ์ 5-10 ตัวต่อพ่อพันธุ์ 1 ตัว จังหวะนี้ให้ติดตั้งหลอดไฟเพิ่มขึ้นเพื่อให้ภายในโรงเรือนมีแสงสว่างต่อเนื่องประมาณ 13-15 ชั่วโมง และอย่าลืมจัดเตรียมพื้นที่สำหรับวางไข่ไว้ให้แม่พันธุ์ด้วย ที่เหลือก็แค่เฝ้าระวังไม่ให้มีแม่พันธุ์ตัวไหนออกไข่ที่พื้นเท่านั้น

ไก่งวงพ่อแม่พันธุ์
www.khaosod.co.th

การจัดการไก่งวงพันธุ์

ช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับการผสมพันธุ์ของไก่งวงจะต้องมีอายุตั้งแต่ 7 เดือนขึ้นไป โดยเราควรเดินสำรวจเพื่อคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์อย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าเราเก็บรายละเอียดของไก่งวงที่สนใจได้มาก ก็มีโอกาสที่จะได้พ่อแม่พันธุ์คุณภาพดีมากตามไปด้วย ลักษณะพื้นฐานที่ควรพิจารณาคือ ความแข็งแรง ช่วงขาที่ตั้งตรง ท่าทางการยืนและเดิน การมองเห็น และความสมบูรณ์ของเส้นขน ส่วนตัวอย่างของข้อบกพร่องที่พบได้บ่อย ได้แก่ คอคดงอ หลังโก่ง ขาโค้ง เป็นต้น เมื่อได้พ่อแม่พันธุ์แล้วก็ต่อเนื่องไปสู่ช่วงผสมพันธุ์ เราจะต้องเพิ่มแสงสว่างในเวลากลางคืนให้มากขึ้นเพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการผสมพันธุ์ และนำไก่งวงที่คัดเลือกแล้วมาอยู่รวมกัน โดยต้องเลือกตัวผู้สำรองไว้อย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการเลือกทั้งหมดด้วย

การให้ผลผลิตไข่ไก่งวง

จากข้อมูลในเอกสารเชิงวิชาการของมหาวิทยาลัยแม่โจ้กล่าวว่า หลังการผสมพันธุ์เสร็จสิ้น ไก่งวงจะเริ่มวางไข่ได้ตั้งแต่เดือนที่ 8 เป็นต้นไป หากเร่งให้มีการวางไข่เร็วกว่ากำหนดจะทำให้ได้ไข่ฟองเล็กกว่าปกติ หรือไม่ก็ได้จำนวนไข่ต่อปีลดน้อยลง เราสามารถวัดคุณภาพของไข่ได้จากลักษณะภายนอกเป็นอันดับแรก ไข่ต้องมีเปลือกนอกแข็งแรงและมีเปลือกด้านในเหนียว สีเปลือกเป็นสีจางที่มีจะน้ำตาลดำหรือน้ำตาลเหลือง น้ำหนักไข่ควรอยู่ที่ประมาณ 80-85 กรัมขึ้นไป แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูปัจจัยในเรื่องของสายพันธุ์ร่วมด้วย

การจัดรังไข่ให้เหมาะสมก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เราได้ผลผลิตไข่ไก่งวงที่มีคุณภาพมากขึ้น คือต้องมีรังเพียงพอสำหรับแม่ไก่ ความหนาแน่นที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 4-5 ตัวต่อรัง และต้องมีการดูแลให้แม่ไก่วางไข่ครั้งแรกในรัง ห้ามวางที่พื้นโรงเรือนเด็ดขาด พร้อมกับต้องคอยควบคุมดูแลไม่ให้ไก่งวงกกไข่หลังผ่านไปแล้ว 3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะกกไข่ตามธรรมชาติด้วย เพราะเมื่อไก่งวงเริ่มกกไข่จะหยุดให้ไข่ทันทีและปริมาณไข่ที่ได้ต่อปีก็อาจลดน้อยลง แต่ถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำทุกอย่างแล้ว ยังพบว่าปริมาณไข่ที่ได้ลดน้อยลง ก็หมายความว่าถึงเวลาที่เราจะต้องย้ายคอกไก่กันใหม่ได้แล้ว ข้อควรระวังเกี่ยวกับการย้ายคอกมีแค่อย่าทำบ่อยจนเกินไป มากที่สุดคือสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น

โรงเรือนไก่งวง
vgolitsyno.ru

แหล่งอ้างอิง

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้