ชื่อสามัญ หรือชื่อภาษาอังกฤษ Rose Apple
ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium jambos (L.) Alston
ชื่อวงศ์ MYRTACEAE
ชื่ออื่น ๆ มะชมพู่ มะน้ำหอม (พายัพ), ชมพู่น้ำ ฝรั่งน้ำ (ภาคใต้), มะห้าคอกลอก (แม่ฮ่องสอน), มซามุด มะซามุต (น่าน), ยามูปะนาวา (มลายู-ยะลา) เป็นต้น
ต้นชมพู่น้ำดอกไม้ เป็นชมพู่พันธุ์ดั้งเดิมของไทย มีต้นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่พัฒนาสายพันธุ์มาจากอินเดีย ผลมีรสหวานหอมมีน้ำเยอะลักษณะคล้ายลูกแพร์ ดูคล้ายกับลูกจันสีเหลือง ผลมีกลิ่นหอมคล้ายกับดอกนมแมว ผลดิบเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่สุกแล้วจะเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองทอง เนื้อด้านในบางเป็นสีขาวนวลหรือสีเขียวอ่อน มีรสหวานหอมชื่นใจ ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค จัดเป็นพันธุ์ไม้ผลยืนต้นขนาดกลางเช่นเดียวกับชมพู่แดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความชื้นพอเหมาะ ชอบแสงแดดส่องถึงแบบเต็มวัน มักขึ้นตามป่าราบทั่วไป และพบได้ประปรายตามบ้านเรือนทั่วไป ซึ่งเกษตรกรมีการปลูกไว้เพื่อรับประทาน และจำหน่ายเนื่องจากชมพู่น้ำดอกไม้ มีราคาที่ค่อนข้างสูง
ควรปลูกบริเวณใดของบ้าน
ต้นชมพู่น้ำดอกไม้ นิยมปลูกกันตามหน้าบ้าน หลังบ้าน หรือบริเวณที่มีแดดส่องถึงทั้งวัน และห่างจากตัวบ้าน เนื่องจากต้นชมพู่น้ำดอกไม้ เป็นต้นไม้ขนาดกลาง จึงต้องรักษาระยะห่างจากตัวบ้าน เพื่อป้องกันการโค่นล้มโดนตัวบ้าน หรือกิ่งก้าน หักลงมานั่นเอง
ลักษณะทั่วไปของต้นชมพู่น้ำดอกไม้
- ลำต้น
มีความสูงของต้นประมาณ 10 เมตร เปลือกต้นค่อนข้างเรียบ เป็นสีน้ำตาล
- ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมใบหอกเรียวยาว ปลายใบแหลมและมีติ่งแหลม โคนใบมนรี ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-17 เซนติเมตร แผ่นใบหนาเป็นสีเขียวเข้ม
- ดอก
ชมพู่น้ำดอกไม้ออกดอกเป็นช่อกระจะ โดยจะออกที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อยประมาณ 3-8 ดอก กลีบดอกบางเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ฐานรองดอกมีลักษณะเป็นรูปกรวย ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก
- ผล
ผลเป็นผลสดใช้รับประทานได้ ผลเป็นผลเดี่ยว มีลักษณะเกือบกลม ดูคล้ายกับลูกจันสีเหลือง ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ 4 กลีบ ภายในผลกลวง ผลมีกลิ่นหอมคล้ายกับดอกนมแมว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 80-100 กรัม ผลดิบเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่สุกแล้วจะเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองทอง เนื้อด้านในบางเป็นสีขาวนวลหรือสีเขียวอ่อน ส่วนเมล็ดเป็นสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่ มีรสหวานหอมชื่นใจ โดยจะเริ่มออกผลในช่วงปลายฤดูหนาว (ประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน)
สายพันธุ์ต้นชมพู่น้ำดอกไม้
ปัจจุบันต้นชมพู่น้ำดอกไม้มีสายพันธุ์อยู่ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ที่มาจากในประเทศไทย ผลจะมีเป็นสีเขียวอ่อน และพันธุ์ที่มาจากประเทศมาเลเซีย ผลจะเป็นสีแดง
วิธีการปลูก และการขยายพันธุ์
ชมพู่น้ำดอกไม้ ทำได้ 2 วิธี คือ ใช้เมล็ด และกิ่งตอน การปลูก ขุดดินให้ลึก กว้าง 50 เซนติเมตร แล้วนำเมล็ดหรือกิ่งตอนของชมพู่ลงปลูก เกลี่ยดินกลบ แล้วใช้ฟางข้าวปิดโคนต้นเพื่อช่วยเก็บความชื้น รดน้ำ 2 วัน ต่อครั้ง เมื่อปลูกแล้ว (ถ้าเป็นกิ่งตอน) ให้ทำไม้ปักยึดผูกกับต้น เพื่อป้องกันการโค่นล้ม โดนลม ป้องกันไม่ให้เฉา ควรปลูกใกล้คลอง เพราะชมพู่น้ำดอกไม้เป็นไม้ผลที่ชอบน้ำ ชมพู่น้ำดอกไม้จะเริ่มออกผลปลายฤดูหนาว ช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคม ระยะห่าง 4×4 เมตร การดูแลรักษาง่าย ไม่ต้องฉีดยาฆ่าแมลง เพียงแต่ห่อผลด้วยถุงพลาสติก เพื่อป้องกันนก กระรอก และแมลง รบกวนเท่านั้น ชมพู่น้ำดอกไม้ปลูกง่าย โตไว ให้ผลได้ภายใน 2 ปี
การปลูกชมพู่น้ำดอกไม้ นอกจากเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ ซึ่งเป็นเหมือนต้นไม้โบราณของไทยไม่ให้สูญพันธุ์ไป ยังสร้างรายได้ค่อนข้างดี เป็นผลไม้ที่เป็นทางเลือกของเกษตรกร นอกจากผลที่มีรสชาติหวานและกลิ่นหอมเฉพาะตัวแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยาสมุนไพร และสารอาหารต่างๆ มากมาย
การดูแลรักษาชมพู่น้ำดอกไม้
ชมพู่น้ำดอกไม้ชอบอากาศร้อน ชอบแสงแดดเพียงพอ ต้องให้น้ำเพียงพอ ระบายน้ำดี ไม่แฉะเกินไป ต้องรดน้ำเช้าเย็น เมื่อเติบโตขึ้นก็เว้นการให้น้ำได้ ปลูกในฤดูฝนจะดี เมื่อติดผลแล้ว เกสรร่วงแล้ว ให้เด็ดผลออกบ้างไม่ให้มีเยอะไป แล้วให้นำถุงพลาสติกมาห่อไว้ เพื่อป้องกันแมลงต่างๆ
ประโยชน์และสรรคุณชมพู่น้ำดอกไม้
ผลมีสีสันสวยงามใช้รับประทานได้ มีกลิ่นหอมและมีรสหวานมาก ปัจจุบันจัดเป็นพรรณไม้หายากชนิดหนึ่ง ทำให้ผลที่ขายกันมีราคาแพง เปลือกยังสามารถนำมาสกัดเป็นสารที่ให้สีน้ำตาลได้ด้วย ในชมพู่น้ำดอกไม้อุดมด้วยวิตามินมากมาย ตั้งแต่วิตามินเอ บี1 บี2 บี3 วิตามินซี มีแคลเซียม ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม แมงกานีส ฟอสฟอรัส และสังกะสี และยังมีสารสกัดจากอะซิโตนและน้ำจากเปลือกต้นของชมพู่น้ำดอกไม้มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Staphylococcus aureus, Staphylococcus cohnii, Staphylococcus hominis, Staphylococcus warneri และ Yersinia enterocolitica โดยสารสำคัญในการออกฤทธิ์ต้านเชื้อ คือ สารแทนนิน ที่มีปริมาณมากในสารสกัด (คิดเป็น 83% ในสารสกัดจากอะซิโตน และ 77% ในสารสกัดจากน้ำ) นอกจากนี้ต้นชมพู่น้ำดอกไม้ยังมีสรรพคุณทางสมุนไพรหลายส่วน เช่น
- ผล ใช้ปรุงเป็นยาชูกำลัง มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ ช่วยแก้ลมปลายไข้
- เปลือก มีสรรพคุณเป็นยาแก้เบาหวาน ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย และใช้เป็นยาแก้ท้องร่วงได้ดี
- ใบ มีสรรพคุณเป็นยาลดไข้ ใช้เป็นยาแก้ตาอักเสบ ใบสดนำมาต้มกับน้ำใช้ล้างแผลสด หรือใช้ใบสดตำแล้วพอกรักษาโรคผิวหนัง
- เมล็ด มีสรรพคุณเป็นยาแก้เบาหวาน ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย และเป็นยาแก้โรคบิด