หมากเม่า หรือ มะเม่า (Thai Blueberry) ผลไม้ป่าที่สร้างชื่อเสียงอันโด่งดังให้กับภาคอีสานของประเทศไทย โดยเฉพาะผลหมากเม่าจาก “จังหวัดสกลนคร” ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น ทองคำสีดำแห่งเทือกเขาภูพาน เลยก็ว่าได้ แค่พูดว่าทองคำ นักอ่านหลายท่านก็ตาโตเลยที่เดียว Kaset today จึงขอโอกาสนี้ในการพาทุกคนไปทำความรู้จักกับผลไม้ชนิดนี้กัน
นับได้ว่าผลของหมากเม่า เป็นผลไม้ป่าที่ออกผลผลิต แค่ 1-2 ครั้งใน 1 ปี และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจอีกด้วย โดยหมากเม่า หรือ มะเม่าได้รับการรับรองให้เป็นผลิตภัณฑ์ GI ไทย (Thai Geographical indication) ของจังหวัดสกลนคร สามารถนำไปแปรรูปได้หลากหลายผลิตภันธุ์ ด้วยตัวของหมากเม่ามีสรรพคุณมากมายทำให้ปัจจุบัน มีคนไม่น้อยเลยที่หันมารับประทานผลิตภัณฑ์จากหมากเม่า ไม่ว่าจะเป็น น้ำหมากเม่า ตำหมากเม่า
ข้อมูลทั่วไปหมากเม่า
ชื่อภาษาไทย : หมากเม่า, มะเม่า
ชื่อท้องถิ่น : หมากเม้า บ่าเหม้า (ภาคเหนือ) / หมากเม่า (ภาคอีสาน) / มะเม่า ต้นเม่า (ภาคกลาง) / มะเม่าไฟ (ภาคใต้) และ เม่า เม่าเสี้ยน หมากเม่าหลวง มะเม่าหลวง มัดเซ
ชื่อภาษาอังกฤษ : Thai Blueberry, Mamao, Mao
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Antidesma thwaitesianum Müll.Arg.
ชื่อวงศ์ : Euphorbiaceae
ชื่อสกุล : Antidesma
แหล่งกำเนิด
ต้นหมากเม่า เป็นต้นไม้ป่าที่กระจายอยู่ในพื้นที่เขตร้อนของทวีปเอเซีย ทวีปแอฟริกา ทวีปออสเตรเลีย หมู่เกาะอินโดนีเซีย และเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก
โดยในประเทศไทยพบกระจายตัวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบมากที่สุดในแถบเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร มีหลสยสายพันธุ์ เป็นพืชท้องถิ่นเศรษฐกิจที่สําคัญ แต่สายพันธุ์ที่นิยมปลูกคือ “หมากเม่าหลวง” (A. thwaitesianum Muell Arg.)
ลักษณะของหมากเม่า
- ลำต้น
มีลักษณะตรงชะลูดความสูงจะสูงได้ถึง 20 เมตร เปลือกของต้นมีสีน้ำตาลอมเทาและแตกเป็นสะเก็ด ส่วนของกิ่งอ่อนกับยอดอ่อนจะมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลปกคลุม
บุกสวน หมากเม่า จ.สกลนคร
- ใบ
เป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับอยู่ในระนาบเดียวกัน แผ่นใบเป็นรูปรีๆ แบบไข่และกว้าง ความกว้างจะประมาณ 3.5-4.5 เซนติเมตร ความยาวราวๆ 5-7 เซนติเมตร ปลายใบจะมนกลมหรืออาจจะเป็นติ่งแหลมเล็กๆ โคนใบก็กลมไปจนถึงหยักเว้า ขอบใบจะเรียบ ผิวใบมีความเกลี้ยงทั้งสองด้าน บางทีจะมีขนเล็กน้อยอยู่ตามเส้นใบและตรงด้านหลังของใบ ตัวแผ่นใบจะมีลักษณะบางเหมือนกระดาษหรืออาจจะมีความหนาคล้ายกับแผ่นหนัง และจะมีขนสั้นๆ นุ่มๆ ทั้งสองด้าน เส้นแขนงของใบจะมีข้างละ 5-8 เส้น เส้นใบย่อยจะเป็นแบบร่างแหคมชัด ก้านใบจะมีความยาว 0.5-1 เซนติเมตร แถมมีขนประปรายจนถึงหนาแน่น หูใบเป็นรูปลิ่มแคบๆ ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร และใบมีสีเขียวสด
บุกสวน หมากเม่า จ.สกลนคร (ใบ)
บุกสวน หมากเม่า จ.สกลนคร (หมากเม่าหลวง ใบรียาว)
- ดอก
การออกดอกจะเป็นแบบช่อเชิงลด โดยจะออกตามซอกใบใกล้กับยอดไปจนถึงปลายกิ่ง ดอกมีขนาดค่อนข้างเล็กสีขาวอมเหลือง ความยาวจะประมาณ 1-2 เซนติเมตร ลักษณะของดอกจะเป็นแบบแยกเพศอยู่คนละต้นกัน ดอกเพศผู้มีความยาวราว 2-3 มิลลิเมตร ไม่มีก้าน แต่มีกลีบเลี้ยงแยกจากกันประมาณ 4-6 กลีบ ลักษณะคล้ายสามเหลี่ยม ดอกเพศเมียมีความยาวราวๆ 1.5-2 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยง 5-6 กลีบ และเป็นรูปเหมือนกับสามเหลี่ยม ช่วงออกดอกจะอยู่ในเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน
- ผล
จะออกเป็นช่อ ซึ่งจะมีความยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร ลักษณะของผลเป็นทรงกลม ขนาดค่อนข้างเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางราวๆ 4 มิลลิเมตร ตรงผิวของผลจะมีขน ผนังชั้นในจะแข็ง เมล็ดมีขนาดเล็กจำนวน 1-2 เมล็ด ผลดิบมีสีออกเขียวอ่อนหรือเขียวเข้ม ผลสุกจะเปลี่ยนสีเป็นสีแดงและเมื่อสุกเต็มที่จะกลายเป็นสีม่วงอมดำ รสชาติของผลดิบมีรสเปรี้ยว หากผลสุกจัดก็จะมีรสเปรี้ยวอมหวาน การติดผลจะอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฏาคม
บุกสวน หมากเม่า จ.สกลนคร (ผลดิบ)
บุกสวน หมากเม่า จ.สกลนคร
(ผลกำลังสุก)
บุกสวน หมากเม่า จ.สกลนคร
(ผลสุกแดงมีรสเปรี้ยวฝาด)
บุกสวน หมากเม่า จ.สกลนคร
(ผลแก่จัดสีม่วงดำรสหวานติดเปรี้ยวนิดๆ สายพันธุ์ที่มักจะดำทั้งพวงคือ หมากเม่าหลวง)
สายพันธุ์หมากเม่า
หมากเม่า หรือ มะเม่าเป็นผลไม้ป่าท้องถิ่น ที่พบมากในจังหวัดสกลนคร บนพื้นที่เทือกเขาภูพานประมาณ 5,000 ไร่ จะมีสายพันธุ์อะไรบ้าง
ยกตัวอย่างหมากเม่าที่พบมากที่สุด 3 ชนิด คือ
- มะเม่าไข่ปลา (A. ghaesembilla)
- มะเม่าขี้ตาควายหรือมะเม่าสร้อย (A. acidum Retz.)
- มะเม่าหลวง (A. thwaitesianum Muell Arg.)
โดยจากการค้นคว้าโครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตมะเม่าพื้นที่จังหวัดสกลนคร ได้ผลสรุปว่ามะเม่าที่ปลูกบนเทือกเขาภูพานจะมีคุณภาพดีกว่าพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะ “มะเม่าหลวง” เป็นมะเม่าที่นิยมนําผลสุกมาบริโภค และนํามาใช้ในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ เพราะมีผลใหญ่ น้ำเยอะ กว่าสายพันธุ์อื่นๆ
เกร็ดความรู้ ! ปัจจัยในการแยกสายพันธุ์ 1. รูปร่างใบหมากเม่า หรือ มะเม่า มีทั้งแบบกลมรี และ แบบรียาว 2. ผลหมากเม่าออกเป็นช่อ โดยที่ก้านลูกหมากเม่ามีแบบยาวยื่นออกมา และ แบบก้านสั้นทำให้ลูกเกาะชิดกันแน่น 3. ขนาดของลูกหมากเม่า ที่เล็กรีและใหญ่กลม 4. เนื้อของผลหมากเม่าที่บางสายพันธุ์เนื้อแน่น และบางสายพันธุ์เนื้อฉ่ำน้ำเยอะ 5. แยกที่รสชาติของหมากเม่า และการแยกรสชาติก็ช่วยในการนำไปแปรรูป ซึ่งแบ่งรสชาติเป็น 3 ระดับ
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ ต้นหมากเม่า สามารถทำได้ 3 วิธี คือ
- การเพาะเมล็ด ทำได้โดยหว่านเมล็ดลงในแปลงที่เตรียมดินไว้แล้ว แล้วคลุมด้วยวัสดุกันความชื้น เช่น ฟางแห้งหรือหญ้าแห้ง
- การทาบกิ่ง ทำได้โดยใช้ต้นกล้าที่มีอายุประมาณ 6 เดือน ถึง 12 เดือน มาทำให้เกิดแผล แล้วก็ประกบกับกิ่งพันธุ์ดีที่ได้ทำแผลไว้แล้วเช่นกัน เพื่อจะให้เนื้อไม้ทั้งสองต้นประสานเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นก็ตัดยอดของต้นกล้าทิ้งและเหลือไว้เพียงส่วนโคนเท่านั้น
- การเสียบยอด ทำได้โดยให้ตัดกิ่งพันธุ์จากต้นที่เลือกไว้ แล้วนำกิ่งนั้นมาเฉือนทำแผลแบบปาดหรือแบบฝานบวบ จากนั้นก็เฉือนต้นแม่พันธุ์ในแบบเดียวกัน และนำมาประกบกัน พันรอยต่อด้วยพลาสติกใสหรือเชือกฟาง โดยให้แผลประกบกันแน่นไม่เลื่อนหรือโยก พอเรียบร้อยก็นำไปเก็บไว้ในโรงพลาสติกที่กันการคายน้ำ เมื่อครบ 1 เดือนจึงเปิดพลาสติกออก
แต่จากที่ได้ไปหาข้อมูลมา ส่วนใหญ่เกษตรกรจะใช้วิธี “เสียบยอด” เนื่องจากการเพาะด้วยเมล็ดจะออกผลช้ามาก หรือบางต้นที่ปลูกจนต้นใหญ่แล้วแต่ไม่ออกลูกเลยก็อาจจะสันนิฐานได้ว่าเป็น “ต้นตัวผู้”
บุกสวน หมากเม่า จ.สกลนคร
ดังนั้นวิธีการเสียบยอดจึงเป็นวิธีที่เกษตรกรเลือกใช้เพราะ สามารถเลือกกิ่งที่เคยออกลูกมาแล้ว ยังเมื่อนำไปปลูกต่อก็มีโอกาสติดลูกได้เร็วกว่าการเพาะเมล็ดอีกด้วย
การปลูกและการดูแล
การปลูก
- แสงแดด
ต้นหมากเม่าเป็นไม้ผลที่ต้องการแดดมาก โดยเฉพาะช่วงออกลูก ถ้าได้แสงมากเพียงพอก็จะทำให้ลูกหมากเม่าสุกสีม่วงอมดำทั่วทั้งพวง
- น้ำ
น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก โดยเฉพาะช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน ของทุกปี เป็นช่วงที่ต้นหมากเม่ากำลังออกดอกและจะติดผลในเดือนเมษายน ในช่วง 2 เดือนนี้ควรให้น้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง เพราะต้นกำลังต้องการน้ำเพื่อเอาไปเลี้ยงลูกที่กำลังจะเกิด แต่ถ้ามีอากาศแปรโดยมีฝนตกในช่วงเดือนมีนาคม แล้วมาแล้งฝนในเดือนเมษายน ลูกหมากเม่าที่กำลังโตจะ “ร่วงหมด”
- ดิน
เนื่องจากเป็นผลไม้ป่าที่ขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีอากาศที่แห้ง ทำให้สภาพดินเป็นแบบดินร่วนปนทราย และในธรรมชาติ ต้นหมากเม่าจะขึ้นในป่าเบญจพันธุ์ ป่าเต็งรัง เป็นดินที่มีอินทรีย์วัตถุสูงแต่มีความโปร่ง ระบายน้ำดี
- ปุ๋ย
ควรใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในการบำรุงต้นหมากเม่า ผสมกับปุ๋ยคอก
การดูแล
จริง ๆ แล้วการดูแลต้นหมากเม่าต้องคำนึงถึงหลายๆอย่าง ถ้าอยากให้ออกผลได้ขนาดและน้ำหนักตามต้องการ เช่น แสงแดด อุณหภูมิความชื้นสัมพัทธ์ และ ปุ๋ย แต่ถ้าเรามาพูดถึงการดูแลในระดับคนทั่วไป เรามาพูดเรื่องการใส่ปุ๋ยยังไงให้ถูกวิธีน่าจะเป็นอะไรที่ใกล้ตัวมากกว่า
โดยโครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตมะเม่าพื้นที่จังหวัดสกลนคร ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า การดูแลรักษามะเม่าแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะก่อนให้ผลผลิต1-3 ปี และหลังระยะให้ผลผลิต 3 ปี ขึ้นไป
- ระยะก่อนให้ผลผลิต 1-3 ปี แรก
การใช้ปุ๋ย เกษตรกรเน้นการบํารุงต้นมะเม่าให้มีความแข็งแรง สมบูรณ์โดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์
อัตรา 1-3 กก./ต้น ใส่ปีละครั้ง ทําให้มะเม่าเจริญเติบโตดีและอุ้มน้ำได้ดี และใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา สูตร 15-15-15 อัตรา 300 กรัม – 1 กก./ต้น/ปี ปริมาณการให้ปุ๋ยเคมีจะเพิ่มขึ้นตามอายุของมะเม่า
การให้น้ำจะให้น้ำมะเม่า 1-2 ครั้ง/เดือน และช่วงหน้าแล้งจะให้4-6 ครั้ง/เดือน การกําจัดวัชพืช ระหว่างเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม โดยใช้เครื่องตัดหญ้าเป็นส่วนใหญ่
- ระยะให้ผลผลิต 3 ปีขึ้นไป
การให้ปุ๋ยคอกจะเพิ่มปริมาณขึ้นเป็น 5-10 กก./ต้น โดยใส่ 1-2 ครั้ง/ปี ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 1-3 กก./ต้น/ปี โดยใส่ 1-2 ครั้ง/ปี
การให้น้ำจะให้น้ำมะเม่า 1-2 ครั้ง/เดือน ช่วงหน้าแล้งจะให้ 6-8 ครั้ง/เดือน กําจัดวัชพืชระหว่างเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม โดยใช้เครื่องตัดหญ้าเป็นส่วนใหญ่
โรคและแมลงศัตรู
โรคและแมลงศัตรูมะเม่า ได้แก่ หนอนแดงเจาะกิ่ง แมลงกินูน สามารถใช้ “สตาร์เกิล จี” ถุงสีม่วง ในการป้องกันและกำจัดหนอนได้
การเก็บเกี่ยว
อายุการเก็บเกี่ยวตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปและมีผลผลิต วิธีการเก็บและการตัดสินใจในการเก็บผลผลิตโดยดูจากผลมะเม่ามีสัดส่วนการสุกมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์โดย “ใช้มือเก็บเกี่ยวและกรรตัดกิ่งตัดช่อผลมะเม่า”
การแปรรูป
ผลหมากเม่ามีประโยชน์มาก สามารถนำมาแปรรูปได้หลากหลาย โดยน้ำหมากเม่ามีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระและสามารถเก็บรักษาได้ จึงสามารถเอาไปประยุกต์กับผลิตภัณฑ์อย่างอื่น เช่น ขนมขบเคี้ยวกัมมี่ เยลลี่แข็ง พั้นซ์หมากเม่า ไอศกรีมหมากเม่า นมสดน้ำหมากเม่าเพื่อสุขภาพ
และอีกเมนูที่เป็นที่นิยมคือ “ตำหมากเม่าปลาร้า” ที่มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน เพราะใช้ผลที่มีสีชมพูจนถึงสีแดงสด ตัดกับรสเค็มหวาน แซ่บมาก เป็นทั้งอาหารท่านเล่นและอาหารจานหลัก และยังมีประโยชน์กับสุขภาพอีกด้วย
บุกสวน หมากเม่า จ.สกลนคร
นอกจากนี้ยังสามารถนำหมากเม่ามาทำเป็นเครื่องดื่มโดยหมากเม่าลูกที่มีสีแดงยังติดรสชาติเปรี้ยวฝาดอยู่ มักนิยมนำมาหมักทำเป็นไวน์หมากเม่า ส่วนหมากเม่าที่มีผลสีดำสนิทแล้วก็เอามาคั้นน้ำหมากเม่าเข้มข้น
ต้นทุนที่ลงกับกำไรที่จะได้
ต้นทุนการผลิตและผลตอบแทนของ เกษตรกรผู้ปลูกหมากเม่า โดยเราได้นำข้อมูลมาจากสถานการณ์การตลาดและการผลิตหมากเม่าอำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร โดยแบ่งดังนี้
- ต้นทุนการผลิต
ต้นทุนเกษตรกรผู้ปลูกหมากเม่ามีต้นทุนทั้งหมดเฉลี่ย 9,904.67 บาท/ไร่ โดยคิด เป็นต้นทุนผันแปรเฉลี่ย 7,871.3 บาท/ไร่ และต้นทุน
คงที่เฉลี่ย 2,033.33 บาท/ไร
- ผลตอบแทนการผลิต
ผลตอบแทนที่เกษตรกรผู้ปลูกหมากเม่า ให้ผลผลิตต่อไร่ 618.57 กิโลกรัม/ไร่ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 27,835.65 บาท/ไร่ และกำไรสุทธิเฉลี่ย
17,930.96 บาท/ไร
ราคา
ต้นหมากเม่า สามารถซื้อได้ในราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 100 บาท ไปจนถึงหลายร้อยบาท อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับการขยายพันธุ์และสภาพความสมบูรณ์ของต้น ใครอยากจะปลูกต้นไม้ที่อุดมสรรพคุณแบบนี้สามารถเสาะหาได้ที่ ร้านขายต้นไม้ทั่วไป ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาทิ ตลาดนัดจตุจักร ตลาดต้นไม้มีนบุรี ตลาดต้นไม้ราบ 11 สนามหลวง 2 เป็นต้น หรือตามร้านค้าออนไลน์
ใครกำลังอยากกินของเปรี้ยว แล้วได้อ่านบทความนี้ ต้องรู้สึกอยากกินของเปรี้ยว ๆ ขึ้นมาแน่นอน หมากเม่าเป็นผลไม้อีกหนึ่งที่น่าสนใจลงทุนมาก เพราะสามารถแปรรูปได้หลายอย่าง และเกี่ยวข้องกับเรื่องความสวยงาม และกินแล้วสุขภาพดี ตอบโจทย์ความต้องการของคนในปัจจุบันเป็นอย่างดี
แต่ถ้าคุณคิดว่าผลไม้นี้ยังไม่โดน ยังไม่ตอบโจทย์ของคุณ เราก็มีบทความดี ๆ เกี่ยวกับ พันธุ์ไม้ พันธุ์พืช ผลไม้ ผักสวนครัว สมุนไพร และเรื่องที่ต้องรู้คือ ปุ๋ย โรคพืช และ แมลงศัตรูพืช แต่ถ้าคุณสนใจการเสี้ยงสัตว์เราก็มีบทความเกี่ยวกับปศุสัตว์เหมือนกัน ขอให้สนุกกับบทความดี ๆ ที่ kaset.today ตั้งใจมานำเสนอ
แหล่งอ้างอิง ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตมะเม่าพื้นที่จังหวัดสกลนคร สถานการณ์การตลาดและการผลิตหมากเม่าอำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร