เศรษฐีวิลสัน ไม้มงคลเสริมโชคลาภที่เหล่าคนรักต้นไม้ไม่ควรพลาด

เศรษฐีวิลสัน (Wilson’s Delight) เป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้ที่หลาย ๆ คนชื่นชอบและนิยมปลูกในหมู่คนรักต้นไม้ แถมต้นไม้ชนิดนี้นอกจากจะมอบความหมายในแง่บวก เป็นไม้มงคลที่ช่วยเสริมโชคลาภให้ผู้ปลูกแล้ว ยังถือเป็นไม้ฟอกอากาศที่นิยมปลูกไว้ทั้งภายในตัวบ้านและบริเวณนอกบ้านอีกด้วย

เศรษฐีวิลสัน
www.sites.google.com

ถิ่นกำเนิดของเศรษฐีวิลสัน

ต้นเศรษฐีวิลสัน เป็นไม้ประดับที่จัดอยู่ในตระกูลสาวน้อยประแป้ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบทะเลแคริบเบียน แถบทวีปอเมริกาใต้และหมู่เกาะอินเดียตะวันตก ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ประดับที่เป็นที่นิยมปลูกอย่างกว้างขวาง ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์เป็นไม้ประดับที่มีความหมายเชิงไม้มงคล

เศรษฐีวิลสันกับความเชื่อเรื่องไม้มงคล

ต้นเศรษฐีวิลสัน ถือได้ว่าเป็นพันธุ์ไม้ประดับที่มีความหมายเชิงไม้มงคลที่ดีมาก ๆ โดยมีความหมายในด้านของโชคลาภและทรัพย์สิน ช่วยเรียกทรัพย์และเรียกโชคดีให้มาเยือน จึงทำให้เหล่าคนรักต้นไม้หรือผู้ที่มีความเชื่อในเรื่องของการปลูกไม้มงคลต่างนิยมปลูกต้นเศรษฐีวิลสันไว้ที่บริเวณหน้าบ้านหรือตามร้านค้าต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีความเชื่ออีกว่าหากต้นเศรษฐีวิลสันออกดอก ผู้ปลูกจะพบกับความร่ำรวยไปด้วยทรัพย์สินและเงินทอง

ปลูกต้นเศรษฐีวิลสันบริเวณไหนถึงจะดี

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าต้นเศรษฐีวิลสันนั้นนิยมปลูกที่บริเวณหน้าบ้านหรือตามหน้าร้านค้าเพื่อเสริมในเรื่องของความเป็นมงคล แต่สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการปลูกต้นเศรษฐีวิลสัน คือ บริเวณที่แสงแดดส่องถึงได้อย่างรำไร ดังนั้น จึงปลูกได้ทั้งบริเวณนอกบ้าน (แต่ภายในร่ม)และในบ้าน ต้นเศรษฐีวิลสันเหมาะกับการปลูกเพื่อประดับตัวอาคาร สามารถปลูกลงดินร่วนที่สามารถระบายน้ำได้ดี หรือจะปลูกในกระถางก็ได้

ต้นเศรษฐีวิลสัน ถือว่าเป็นหนึ่งในต้นไม้ที่มีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ทางด้านโชคลาภและความอาถรรพ์ เพราะต้นไม่ชนิดนี้ในบางท้องถิ่นไม่นิยมปลูกไว้ในบ้าน เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่มีวิญญาณสิงสู่เหมือนต้นตะเคียนที่มีนางตะเคียนสิงอยู่ นอกจากนี้ ทางฝั่งประเทศพม่าเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า “เหม่ดอยี” ซึ่งแปลว่าแม่มดหรือนางผีดิบ แต่ก็มีไม่น้อยที่ผู้ปลูกไม่ได้มีความเชื่อเรื่องอาถรรพ์ แต่กลับเชื่อว่าถ้าเลี้ยงให้ดีก็จะมอบโชคลาภและเรียกทรัพย์ให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้ปลูก

เศรษฐีวิลสัน

ลักษณะทั่วไปของเศรษฐีวิลสัน

ต้นเศรษฐีวิลสัน เป็นต้นไม้ในตระกูลสาวน้อยประแป้งจึงมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ยกเว้นเสียแต่ว่าต้นเศรษฐีวิลสันไม่มีลวดลายที่บริเวณใบเหมือนกับต้นสาวน้อยประแป้ง โดยเว็บไซต์ Florafaunaweb ได้อธิบายถึงลักษณะที่โดดเด่นของต้นเศรษฐีวิลสันไว้ดังต่อไปนี้

  • ลักษณะลำต้น: ลำต้นมีลักษณะเป็นรูปรงกระบอกคล้ายต้นสาวน้อยประแป้ง มีความสูงประมาณ 1-2 เมตร ข้อปล้องมีความถี่ และอาจมีรากงอกตามข้อปล้องที่บริเวณลำต้น
  • ลักษณะใบ: ใบเดี่ยวมีลักษณะคล้ายวงรีเรียงเวียนกันไป แผ่นใบมีควมหนาเป็นมันเงา ด้านบนจะเป็สีเขียวเข้มกว่าด้านล่างของใบ สามารถสังเกตเห็นเส้นใบได้ชัดเจน กาบใบหุ้มลำต้น มีริ้วสีขาวกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ
  • ลักษณะดอก: ออกดอกเป็นช่อ ๆ ที่บริเวณปลายยอด ลักษณะดอกเป็นสีขาวขนาดเล็ก จานรองดอกมีสีเขียว

วิธีการเพาะพันธุ์ต้นเศรษฐีวิลสัน

การเพาะพันธุ์ต้นเศรษฐีวิลสันนั้นสามารถทำได้ 4 วิธี คือ การแยกหน่อ การปักชำยอด การตอนยอด และการชำต้นและข้อ

  • การแยกหน่อ: ตัดหน่อใหม่ที่มีใบขึ้นแล้วและมีรากงอกแล้ว ทารอยตัดด้วยปูนแดง ปล่อยทิ้งไว้ให้แป้ง แล้วนำไปปลูกได้เลย
  • การปักชำยอด: ตัดยอดให้รอยตัดชิดกับข้อของลำต้น ลอกใบออกให้เหลือใบที่บริเวณยอดประมาณ 4-5 ใบ แล้วนำไปปักชำในวัสดุปลูก วางในที่ร่มและรักษาความชุ่มชื้นให้สม่ำเสมอ
  • การตอนยอด: วิธีการตอนยอดคือให้ลอกใบใต้ยอดออกให้เหลือพอดี ๆ จากนั้นให้ใช้มีดกรีดเป็นรอยตามความยาวของต้นที่บริเวณข้อที่จะทำการตอนประมาณ 4-6 รอย จากนั้นหุ้มด้วยถุงพลาสติกและมัดให้แน่น
  • การชำต้นและข้อ: วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่จะช่วยให้ได้ต้นใหม่ในจำนวนมาก ๆ ได้ วิธีการคือตัดส่วนของข้อหรือลำต้นเป็นท่อน ๆ ประมาณ 5-7 เซนติเมตร นำไปชำฝังให้จมวัสดุปลูก 2 ใน 3 ส่วนให้บริเวณตาอยู่ด้านบน
เศรษฐีวิลสัน

เคล็ดลับดูแลต้นเศรษฐีวิลสันให้ต้นสวย โตไว ใบงาม 

เศรษฐีวิลสัน ถือเป็นต้นไม้ที่ดูแลไม่ยาก ไม่ต้องการการเอาใจใส่มากนักก็สามารถมีชีวิตรอดและเติบโตได้ดี การดูแลต้นเศรษฐีวิลสัน สามารถทำได้ ดังต่อไปนี้

แสงที่เหมาะสม

แสงที่เหมาะสมต่อการปลูกต้นเศรษฐีวิลสัน คือ บริเวณที่แสงแดดส่องถึงได้แบบรำไร ไม่ควรปลูก​​เศรษฐีวิลสันในบริเวณที่แสงแดดจัดมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ตายหรือใบไหม้ได้ หากใบไหนมีอาการไหม้ สามารถตัดออกได้ทันที

การให้น้ำ

ต้นเศรษฐีวิลสัน เป็นต้นไม้ที่ชอบน้ำปานกลาง ดังนั้น จึงไม่ควรรดน้ำมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ต้นไม้ตายได้ เนื่องจากต้นเศรษฐีวิลสันสามารถเก็บน้ำเลี้ยงไว้ภายในลำต้นและส่วนต่าง ๆ ได้ จึงไม่จำเป็นต้องรดน้ำมากนัก ปริมาณการรดน้ำที่แนะนำคือประมาณ 2-3 วัน ต่อการรดน้ำ 1 ครั้ง

ดินที่เหมาะแก่การปลูก

ดินที่เหมาะสมต่อการปลูกต้นเศรษฐีวิลสัน คือ ดินร่วนหรือดินก้ามปูที่สามารถระบายน้ำได้ดี เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้น้ำขังและเกิดอาการรากเน่าได้

วิธีการให้ปุ๋ย

การให้ปุ๋ยต้นเศรษฐีวิลสัน จะช่วยให้ต้นไม้เติบโต แข็งแรง ใบเขียวสวยสดอยู่ตลอดเวลาและสามารถออกดอกได้อย่างรวดเร็ว ความถี่ในการให้ปุ๋ยที่แนะนำคือประมาณเดือนละครั้ง โดยใส่ปุ๋ยปุ๋ยออสโมโค้ทละลายช้า สูตรเสมอ 16-16-16 

เศรษฐีวิลสัน

พิษและอันตรายจากต้นเศรษฐีวิลสันที่ควรระวัง

ต้นเศรษฐีวิลสันที่ดูออกจะสวยงามนี้ จริง ๆ แล้วมีพิษสะสมอยู่ทั่วลำต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณลำต้น ใบ และยาง หากสัมผัสโดนพิษของต้นเศรษฐีวิลสันจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่บริเวณผิวหนังและอาจรู้สึกปวดแสบปวดร้อนได้ โดยความรุนแรงนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ดังนั้น หากจำเป็นต้องย้ายกระถาง เปลี่ยนวัสดุปลูก หรือเคลื่อนย้ายต้นเศรษฐีวิลสัน แนะนำให้ใส่ถุงมือและระมัดระวังไม่ให้ยางต้นสัมผัสผิวหนังหรือกระเด็นเข้าตา หากเกิดสัมผัสพิษของต้นเศรษฐีวิลสันขึ้นมา แนะนำให้ล้างด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำเปล่าผสมเบคกิ้งโซดา หากอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน

ต้นเศรษฐีวิลสัน กับความนิยมปลูกเพื่อเสริมโชคลาภ

อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นแล้วว่าต้นเศรษฐีวิลสันนั้น นอกจากจะเป็นไม้ประดับอาคารบ้านเรือนให้สวยงามได้แล้ว ยังแฝงความหมายดี ๆ เกี่ยวกับความเชื่อของต้นไม้มงคลด้วย โดยต้นเศรษฐีวิลสันมีความหมายในแง่ของโชคลาภและการช่วยเรียกทรัพย์ให้แก่ผู้ปลูกได้เป็นอย่างดี จึงทำให้ต้นไม้สายพันธุ์นี้เริ่มเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ด้านการเป็นไม้ฟอกอากาศและมีการนำไปปรับปรุงพันธุ์เป็นไม้ด่างเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรทั้งรายใหญ่และรายย่อยได้อย่างมหาศาล

สำหรับใครที่มีความเชื่อในเรื่องของไม้มงคล หรือชื่นชอบต้นไม้ฟอกอากาศที่ช่วยประดับตกแต่งห้องพัก อาคารสถานที่ต่าง ๆ ให้ดูสวยงาม ต้น​​เศรษฐีวิลสันถือว่าเป็นพันธุ์ไม้ที่ตอบโจทย์เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีหลากหลายราคาให้เลือกซื้อ หากต้นเล็ก ๆ ราคาอาจไม่แรงมาก แต่หากซื้อเป็นต้นใหญ่หรือไม้ด่าง ราคาก็อาจจะขยับขยายเพิ่มขึ้นได้

แหล่งอ้างอิง

Dieffenbachia
Dieffenbachia ‘Wilson’s Delight’
Dieffenbachia Care: Growing The Dumb Cane Plant

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้