โรคแอนแทรคโนส ภัยอันตรายต่อผลผลิตทางเกษตร

โรคแอนแทรคโนสเป็นอีกหนึ่งโรคที่มีต้นเหตุมาจากเชื้อรา มีผลกระทบต่อพืชหลายชนิดและยังทำลายเซลล์พืชได้ในทุกระยะ แม้แต่ตอนที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว โรคแอนแทรคโนสก็ยังสามารถปะปนไปกับผลผลิตนั้น และทำให้เกิดการเน่าเสียอย่างรวดเร็ว กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อแห่งใหม่ได้อีกต่อหนึ่ง การทำความเข้าใจถึงสาเหตุของโรคไปจนถึงการป้องกันควบคุม จึงจำเป็นมากต่อกระบวนการผลิตในเชิงเกษตร

ข้อมูลทั่วไปของ โรคแอนแทรคโนส

ข้อมูลของโรค

โรคแอนแทรคโนส (Anthracnose) เป็นโรคพืชที่ทําให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิต ทําให้เกิดความสูญเสียกับพืชเศรษฐกิจ ทั้งพืชตระกูลถั่ว หญ้า ผัก ไม้ผลและไม้ประดับ ทําให้ผลผลิตเน่าเสียอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ไม่สามารถขนส่งระยะไกลได้ การระบาดของโรคเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงในเขตที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูง เชื้อราสามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของพืชตั้งแต่ลำต้น ใบ ก้าน ดอก ผลและเมล็ด ทําให้เปอร์เซ็นต์การงอกลดลงถ้าเกิดกับต้นกล้าจะทําให้ต้นกล้าแห้งตายได้ การเข้าทำลายจะเริ่มตั้งแต่อยู่ในแปลงปลูก โรคนี้พบกระจายอยู่ทั่วโลกโดยเฉพาะในเขตร้อนชื้นจะพบการระบาดอย่างรุนแรง การระบาดของเชื้ออาศัยลม ฝน หรือแมลงที่บินมาเกาะบริเวณแผล ทําให้สปอร์แพร่กระจายไปยังที่ต่าง ๆ เมื่อถูกความชื้นก็สามารถงอกเจริญได้

ยากำจัด เชื้อราแอนแทรคโนส
https://www.thairath.co.th/tags

เชื้อราที่มีชื่อว่า Colletotrichum spp. เป็นเชื้อราที่ก่อของโรคแอนแทรคโนส ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดความเสียหายกับพืชเศรษฐกิจหลายชนิดด้วยกัน เช่น มะม่วง มะละกอ ทุเรียน มันสำปะหลัง พริก ขนุน  ชมพู่ ฝรั่ง เงาะ พืชตระกูลถั่ว อะโวกาโด สตรอเบอร์รี่ องุ่น เป็นต้น สิ่งที่เชื้อราตัวนี้ทำได้นั้น เป็นสิ่งที่น่ากลัวและเป็นภัยต่อพืชเศรษฐกิจของชาวเกษตรกรเป็นอย่างมาก นั่นคือ สามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของพืชตั้งแต่ต้นกล้าจนถึงผล หรือเกือบทุกส่วนของพืชเลยก็ว่าได้

โรคแอนแทรคโนส เป็นโรคพืชจากเชื้อราที่สามารถสร้างความเสียหายได้ในทุกส่วนของต้นพืช แต่ส่วนใหญ่จะเห็นผลชัดเจนกับส่วนที่อยู่เหนือพื้นดินขึ้นมามากกว่า จะมีความรุนแรงที่แตกต่างกัน ถึง 2 ระดับ คือ ระยะก่อนเก็บเกี่ยวและระยะเก็บเกี่ยว โดยที่ในระยะก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต ถ้าเกิดว่าพืชทางเศรษฐกิจได้เกิดโรคแอนแทรคโนส จะส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตขอผลผลิต แต่ถ้าเกิดโรคแอนแทรคโนสในช่วงระยะเก็บเกี่ยวนั้น จะเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก เนื่องจากทำให้ผลผลิตเสียหายเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่การเกิดโรคมักเกิดกับส่วนของพืชที่อยู่เหนือดิน บางครั้งส่วนที่อยู่ใต้ดิน เช่น ราก หรือ หัว

อาการของโรค

ลักษณะของโรคแอนแทรคโนส คือ จะมีแผลสีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีน้ำตาลไหม้ แผลมักแห้งและมีจุดสีดำเล็กขนาดเล็กจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วไป ขอบแผลไม่เรียบ และเป็นมันตรงกลางแผลเล็กน้อย มองดูคล้ายกับกลางแผลมีลักษณะบุ๋มลงไป ขนาดของแผลสามารถลามขยายได้ และส่วนมากมักพบแผลเป็นแนวยาวจากบริเวณขั้วผลลงไป มีตุ่มแข็งเล็กสีดำเรียงซ้อนกันเป็นชั้น  เชื้อไม่มีการสร้าง setae พบ spore mass สีส้มจำนวนมากบนแผล เริ่มต้นด้วยรอยแผลที่มีรูปร่างเป็นวงกลมขนาดเล็ก จากนั้นจึงขยายวงกว้างคล้ายกับการเกิดวงกลมซ้อนทับกันและรูปร่างอาจบิดเบี้ยวไปเรื่อยๆ รอยแผลนี้พบได้ในทุกส่วนของต้นพืช และจะเด่นชัดมากขึ้นเมื่อมีความชื้นสูง

อ่านบทความโรคใบใหม้

โรคแอนแทรคโนส ทุเรียน
https://puechkaset.com/

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดของอาการที่แตกต่างกันไป เมื่อต้นเหตุเป็นเชื้อรา Colletotrichum spp. คนละชนิดกัน ซึ่งจะเข้าใจง่ายกว่าถ้าแยกตามประเภทของพืช และเอกสารเชิงวิชาการของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้ยกตัวอย่างของพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเอาไว้ดังนี้

  • อาการของโรคที่เกิดในพริก

ประเภทและขนาดของพริกที่แตกต่าง ทำให้ได้รับผลกระทบจากเชื้อราต่างชนิดกัน เชื้อรา Collectotrichum capcisi จะสร้างความเสียหายในสายพันธุ์พริกที่มีผลขนาดเล็ก เชื้อรา Collectotrichum gloespoloides จะเข้าทำลายในพริกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกระดับ และเชื้อรา Collectotrichum piperatum จะจัดการกับตระกูลพริกยักษ์ทั้งหมด แต่ไม่ว่าจะมีต้นเหตุมาจากเชื้อราชนิดไหน อาการในพริกจะคล้ายคลึงกัน คือมีรอยแผลวงกลมหรือวงรีสีน้ำตาลอ่อน นานไปก็จะมีสีเข้มขึ้นและขยายแผลให้ใหญ่ขึ้น บริเวณแผลจะกลายเป็นแอ่งยุบลงไปเล็กน้อย หากปล่อยทิ้งไว้จะมีจุดดำหรือจุดเหลืองส้มกระจายตัวโดยรอบ นั่นเป็นสปอร์ที่ผลิตมาเพื่อรอการแพร่ระบาดต่อไป

โรคแอนแทรคโนสในพริก
http://www.thainews7.com/?p=13105
  • อาการของโรคที่เกิดในแตงโม

เชื้อราต้นเหตุคือ Colletotrichum lagenarium (Pass.) ส่วนแรกที่สังเกตเห็นอาการได้ก่อนจะเป็นบริเวณใบ มีจุดสีเหลืองเกิดขึ้นพร้อมขยายขนาดอย่างรวดเร็ว ยิ่งแผลใหญ่ขึ้นเท่าไรสียิ่งดำขึ้นเท่านั้น ที่ลำต้นและผลก็พบรอยแผลได้เช่นกัน หลังจากมีสัญญาณไม่นานจะทำให้ส่วนนั้นเสียหายจนเน่าตายไป

โรคแอนแทรคโนส เมล่อน
  • อาการของโรคที่เกิดในหอม

เนื่องจากต้นหอมมีความชื้นในตัวสูงมาก การก่อตัวของเชื้อราจึงเป็นไปได้อย่างง่ายดาย โดยเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides Penz. จะเริ่มกัดกินที่โคนใบก่อนแล้วค่อยลุกลามไปยังส่วนอื่น นอกจากทำให้ใบหักและบิดงอแล้ว ก็ยังให้ต้นไม่ออกหัว หรือทำให้โคนต้นแข็งเกินกว่าที่ควรจะเป็นได้

โรคแอนแทรคโนสในหอม
https://www.svgroup.co.th/blog
  • อาการของโรคที่เกิดในกาแฟ

อาจเป็นเชื้อรา Glomerella cingulata หรือ Colletotrichum gloeosporioides ก็ได้ ผลคือทำให้ใบเกิดอาการไหม้เป็นวงกว้าง ถูกทำลายจนหลุดออกจากขั้วแต่มีบางอย่างยึดโยงไว้ไม่ให้ร่วงลงดิน เพื่อที่เชื้อราจะได้แพร่ไปยังส่วนกิ่งก้านและดอกผลต่อไป

โรคแอนแทรคโนสกาแฟ
https://beanshere.com/posts/category/uncategorized/
  • อาการของโรคที่เกิดในไม้ดอก

เชื้อราที่มักสร้างปัญหาให้กับไม้ดอกหลายชนิดคือ Colletotrichum gloeosporioides Penz โดยมีอาการเริ่มต้นที่ใบเสมอ มองเห็นเป็นรอยไหม้ไล่จากมาปลายใบ โทนสีมีตั้งแต่น้ำตาลอ่อนจนถึงน้ำตาลไหม้ จากนั้นค่อยลุกลามไปยังกิ่งก้านและดอก ตัวอย่างของไม้ดอกที่พบอาการแบบเดียวกันนี้คือ มะลิ กล้วยไม้ กุหลาบ หน้าวัว เป็นต้น

โรคแอนแทรคโนส กล้วยไม้

สาเหตุและการแพร่ระบาด

สาเหตุของโรค

โรคแอนแทรคโนสเกิดจากเชื้อราในตระกูล Colletotrichum spp. ซึ่งพบได้หลายชนิดในธรรมชาติ มีคุณสมบัติในการแตกกิ่งก้านได้ยอดเยี่ยม และยังมีการสร้างผนังกั้นเส้นใยเพื่อเสริมความแข็งแรงอีกด้วย เชื้อราในกลุ่มนี้จะต้องมีการผลิตโครงสร้างเหนือพื้นดินที่เรียกว่า fruiting body โดยมีเป้าหมายให้ส่วนนี้ทำหน้าที่สร้างสปอร์ต่อไป

สาเหตุของโรคแอนแทรคโนสนั้น เกิดได้หลายสาเหตุ ซึ่งในเชื้อราแต่ละชนิด ก็ก่อให้เกิดอาการที่หลากหลาย เช่น โรคแอนแทรคโนสที่เกิดจากเชื้อรา C. gloeosporioides เป็นเชื้อราที่สามารถสร้างสปอร์ขนาดเล็กได้ในปริมาณมาก ในอวัยวะที่ทำหน้าที่ผลิตสปอร์ ที่เรียกว่า acervulus ซึ่งมองเห็นเป็นจุดสีดำ ขนาดเล็กบนแผลของผลไม้ที่เกิดโรคแอนแทรคโนส ซึ่งสปอร์สามารถลอยไปบนอากาศและสามารถแพร่ระบาดผ่านสายลม น้ำ หรือแม้กระทั่งในตอนที่ฝนตกก็สามารถลอยไปตามน้ำฝนได้อีกด้วย ดังนั้นจึงพบโรคแอนแทรคโนสในเชื้อราชนิดนี้ เกิดระบาดมากในฤดูฝน ซึ่งมีความชื้นสูง และอุณหภูมิค่อนข้างสูง

โรคแอนแทรคโนสในองุ่น
http://ephytia.inra.fr/fr/C/7124/Vigne-Principaux-symptomes

การเจริญของเชื้อรามีได้หลากหลาย มันสามารถสร้างสปอร์บนต้นพืชได้ทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม ทั้งยังเลือกได้ว่าจะสร้างไว้ที่ชั้นไหนของเซลล์พืช เมื่อได้ที่เหมาะสมแล้วจะเริ่มกระบวนการเติบโตขั้นแรกในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง จนกระทั่งหยุดการเติบโตที่ระดับหนึ่ง พร้อมกับแฝงตัวอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะเจอสภาวะที่เหมาะสมอีกครั้ง นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราจัดการกับโรคแอนแทรคโนสได้ค่อนข้างยาก

การแพร่ระบาดของโรค

ส่วนสำคัญในการแพร่ระบาดของโรค คือ สปอร์ที่ถูกผลิตขึ้นมาระหว่างเชื้อราเข้าฝังตัวในต้นพืช สปอร์นี้แข็งแรงทนทานและคงอยู่ในสภาพเฝ้ารอสภาวะเหมาะสมได้นานกว่าที่คิด ฤดูฝนคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการแพร่ระบาด ด้วยมีค่าความชื้นสัมพัทธ์สูงมาก และอุณหภูมิก็ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป สปอร์จะกระจายไปพร้อมกับสายฝน สายลม และเหล่าแมลง หรือแม้แต่การรดน้ำในลักษณะฉีดพ่นก็กระตุ้นให้เกิดการแพร่กระจายได้เหมือนกัน ยิ่งกว่านั้นเส้นใยของโครงสร้างเชื้อราก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่แพร่กระจายโรคได้ ด้วยการเกาะติดไปกับดิน ปุ๋ย และเมล็ดพันธุ์พืช

แอนแทรคโนสมะม่วง
https://www.phtnet.org/2012/02/113/

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ สิริรัตน์ แสนยงค์ ได้มีการอธิบายถึงการแพร่ระบาดของโรคแอนแทรคโนสไว้ว่า การแพร่ระบาดของโรคแอนแทรคโนสนั้น เกิดได้หลายวิธีด้วยกัน คือ

  1. อาศัยตัวกลาง อย่างเช่น อากาศ หรือลม ที่จะคอยโบกพัดไปมาบริเวณพืชที่เป็นโรคแอนแทรคโนส ทำให้สปอร์ลอยออกไปติดที่พืชอื่นๆ จนเกิดการระบาดครั้งใหญ่ได้ เนื่องจากลมมักจะพัดไปในทางต้นที่ยังไม่มีโรค
  2. ผ่านทางน้ำซึ่ง นั่นคือ ฝนตกก็จะมีน้ำฝนที่ตกลงมาโดนพืชที่เป็นโรค จนติดไปกับน้ำแล้วลอยไปลงดินที่พืชอื่นๆได้
  3. แมลง โดยทั่วไปแมลงจะเป็นตัวช่วยหลักในการขยายพันธุ์ให้แก่พืชที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ไปผสมพันธุ์ข้ามดอกกันได้ ทำให้ในบางครั้งแมลงอาจจะนำพาสปอร์ของโรคแอนแทรคโนสไปติดต้นอื่นๆได้ ทำให้โรคสามารถขยายวงกว้างอย่างง่ายดาย

การแพร่ระบาดของโรคแอนแอทรคโนสนั้น จะนิยมแพร่ในช่วงฤดูฝน เนื่องจากโรคแอนแอทรคโนสจะชอบความชื้นสูงมาก พร้อมทั้งถ้าได้อยู่ในบริเวณที่มีน้ำขังหรือระบายได้ไม่ดีจะยิ่งทำให้การแพร่ระบาดได้เป็นอย่างมาก

การป้องกันและกำจัด

การป้องกันโรคแอนแทรคโนส

  1. ก่อนปลูกพืชจะต้องมีการไถตากดินจำนวน 2-3 ครั้ง เป็นการลดปริมาณของเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคแอนแทรคโนส จากนั้นก็นำปูนขาวและปุ๋ยคอก หรือจะเป็นปุ๋ยอินทรีย์มาใส่ดินที่ตากไว้ เป็นการปรับสภาพดิน ให้มี pH หรือความเป็นกรด-ด่างตามที่พืชที่เราต้องการ
  2. ใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ไม่มีโรคแอนแทรคโนสติดมา หรือโรคอื่นๆที่อาจจะให้เกิดโรคแอนแทรคโนสได้
  3. บริเวณแปลงดินจะต้องไม่บำรุงด้วยไนโตรเจนมากเกินไป  เนื่องจากจะทำให้พืชอ่อนแอต่อโรค
  4. ถ้าหากต้องการจะปลูกต้นไม้ด้วยการนำต้นกล้ามาแปลงนั้น จะต้องบำรุงต้นกล้าด้วยสารป้องกัน อาทิเช่น โพรคลอราช 50% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร นาน 15-20 นาที
  5. การปลูกพืชในช่วงฤดูฝน ควรจะต้องยกร่อง เพื่อให้มีการระบายน้ำดี แต่ถ้าหากน้ำท่วมขัง ควรจะต้องรีบระบายน้ำออกไปให้หมด
  6. ในช่วงฤดูฝน ไม่ควรใส่ปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะปุ๋ยไนโตรเจน เพราะจะต้องทำให้ต้นพืชสมบูรณ์มากเกินไป พืชจะมีการอ่อนแอต่อโรค ควรจะต้องทิ้งระยะให้ดินแห้งก่อน แล้วจึงค่อยใส่ปุ๋ยบำรุง
  7. หมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ ถ้าหากพบโรคแอนแทรคโนส ให้ทำลายต้นที่มีโรคแอนแทรคโนสทันที เพื่อไม่ให้โรคกระจายตัวไปที่ต้นไม้ต้นอื่น โดยวิธีการทำลายต้นที่เป็นโรค จะต้องเผาทิ้งและฉีดสารเคมีป้องกันและกำจัดโรคแอนแทรคโนส
  8. จะต้องปลูกพืชอื่นๆ เพื่อหมุนเวียน เป็นการลดระบาดของโรค
  9. ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตนั้นจะต้องเป็นฤดูอื่นๆ ที่ไม่ใช่ในฤดูฝน เพื่อป้องกันการเป็นโรค
  10. สกัดด้วยเอทานอลจากส่วนของรากใบและลำต้นของเจตมูลเพลิงแดง สามารถยับยั้งการงอกของสปอร์เชื้อรา C.gloeosporioides ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคแอนแทรคโนส โดยใช้สารสกัดที่ได้มาทาบริเวณใบของพืช
  11.  สารสกัดว่านน้ำ (Acorus  calamus L.) ที่ความเข้มข้น 1,000 ppm สามารถยับยั้งการเจริญของโคโลนีและการงอกสปอร์ของเชื้อราC. Gloeosporioides
  12. ใช้สารสกัดใบพุทธชาดก้านแดงในเมทานอล พบว่า สามารถยับยั้งการงอก germ tube ของสปอร์เชื้อรา C. gloeosporioides ได้
  13. พ่นเชื้อรา Chaetomium, Penicillium และTrichoderma บนพืช พบว่า ช่วยลดการเกิดโรคแอนแทรคโนสทั้งบนกิ่ง ใบ และผลได้ดี

การควบคุมโรคแอนแทรคโนส

ในการควบคุมโรคแอนแทรคโนส จะต้องมีการดูแลอย่างพิเศษอย่างมาก โดยที่ต้องเริ่มตั้งแต่แรก นั่นคือ การคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่ปราศจากโรค การดูแลแปลงไม่ให้มีไนโตรเจนมากเกินไป มีการขุดร่องดิน หรือแม้กระทั่งขั้นตอนการเก็บผลผลิต ก็จะต้องดูฤดูกาลที่ไม่ใช่ฤดูฝน ดูอากาศจะต้องไม่มีความชื้นสูงจนเกินไป เนื่องจากจะเสี่ยงในการเกิดโรคแอนแทรคโนสได้

หรือถ้าต้องการวิธีที่ได้ผลดี นั่นคือ การรมก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ 20% ในระบบปิดก่อนการปลูกเชื้อให้ผลในการควบคุมโรคได้ดีที่สุด อีกทั้งยังควบคุมโรคแอนแทรคโนสที่เกิดตามธรรมชาติได้ดีที่สุดอีกด้วย การใช้พันธุ์ต้านทานโรคและการแช่ท่อนพันธุ์ ด้วยสารเคมีในกลุ่มของ คาร์บาเมต เช่น mancozeb หรือการแช่ท่อนพันธุ์ด้วยเชื้อจุลลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เช่น Bacillus  subtilis,Trichodermaharzianum และ T.viren

ยากำจัด เชื้อราแอนแทรคโนส

ตัวอย่างโรคแอนแทรคโนสของพืชชนิดต่างๆ

โรคแอนแทรคโนสทุเรียน

  • สาเหตุ สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Colletotrichum zibethinum Sacc.อาการบนใบแผลเป็นจุดวงสีน้ำตาลแดงซ้อนกัน ลมและฝนพัดพาโรคจากใบและกิ่งสู่ดอก ในระยะช่อดอกบานจะถูกทําลายโดยเชื้อรา ทําให้ดอกเน่าก่อนบาน มีราสีเทาดํา เจริญฟูคลุมกลีบดอก ทําให้ดอกแห้งร่วงหล่นไป
  • การป้องกัน ทำลายส่วนที่เป็นโรค โดยการนำไปเผาทิ้ง, ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์จากต้นที่เป็นโรคมาปลูก, ในแหล่งที่มีการระบาด ควรปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรการระบาด, หลีกเลี่ยงการปลูกในแหล่งที่เคยเป็นโรคมาก่อน
  • การดูแล จะต้องหมั่นดูแลบริเวณใบไม่ให้มีรอยแผลสีน้ำตาล ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคแอนแทรคโนส

โรคแอนแทรคโนสมะม่วง

  • สาเหตุ สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioidesPenz. อาการบนใบอ่อนเริ่มจากการเป็นจุดชุ่มน้ำและเปลี่ยนเป็นสีดำต่อไป บริเวณที่เป็นแผลจะหดตัวเล็กลงเล็กน้อยจนดึงให้ใบบิดเบี้ยว ใบแก่ขนาดของจุดจะมีขนาดคงที่ค่อนข้างเป็นเหลี่ยม เมื่อมะม่วงแทงช่อดอก เชื้อจะเข้าทำลายที่ช่อดอก ทําให้ช่อดอกแห้ง ดอกร่วง ช่อที่ติดผลอ่อนรวมทั้งผลแก่จะมีแผลเน่าดำ ในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง จะมีสปอร์สีชมพูเกิดขึ้นตามแผลที่เป็นโรค
  • การป้องกัน มีการแนะนำให้มีการพ่นด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า อัตราส่วน 1 กิโลกรัมต่อ 200 ลิตร พ่นซ้ำจำนวน 2-3 ครั้ง ห่างกัน 3-5 วัน หรืออัตราส่วนที่ระบุตามฉลาก เมื่อสำรวจพบอาการของโรค ควรพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชเป็นระยะๆ เช่น คาร์เบนดาซิม, โพรคลาราซ, ไตรฟลอกซีสโตรบิน, โพรพิเนบ
  • การดูแล ต้องพ่นสารป้องกันโรคอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากมะม่วงเสี่ยงสูงที่จะติดโรคแอนแทรคโนสได้ง่ายมาก และสามารถลุกลามทุกส่วน
โรคแอนแทรคโนส มะม่วง

โรคแอนแทรคโนสมันสำปะหลัง

  • สาเหตุ ใบจะมีไหม้สีน้ำตาล ขยายตัวเข้าสู่กลางใบ มักปรากฏกับใบที่อยู่ล่าง ในตัวแผลบนใบจะมีเม็ดเล็กๆ สีดำขยายตัวไปตามขอบของแผลอาการไหม้ ส่วนก้านใบ อาการจะปรากฏในส่วนโคนก้านใบ  จะเป็นแผลสีน้ำตาลขยายตัวไปตามก้านใบ ทำให้ก้านใบมีลักษณะลู่ลงมาจากยอด หรือตัวใบจะหักงอจากก้านใบ เกิดอาการใบเหี่ยวและแห้งได้ ส่วนลำต้นและยอด แผลที่ลำต้นจะเป็นแผลที่ดำตรงบริเวณข้อต่อกับก้านใบและมีสภาพแวดล้อมเหมาะสม แผลจะขยายตัวไปสู่ส่วนยอดทำให้ยอดเหี่ยวแห้งลงมา
  • การป้องกัน การป้องกันไม่ให้เกิดโรคแอนแทรคโนสในมันสำปะหลัง ก็คือ ให้ใช้พันธุ์ที่ทนทานและปราศจากโรค ใช้การปลูกพืชอื่นๆ เพื่อหมุนเวียน
  • การดูแล หมั่นพ่นสารป้องกัน เช่น เบนดาซิม, โพรคลาราซ, ไตรฟลอกซีสโตรบิน, โพรพิเนบ เป็นต้น และดูแลพื้นที่บริเวณแปลงไม่ให้มีน้ำขังไว้

โรคแอนแทรคโนสพริก

  • สาเหตุ อาการเริ่มแรกจะปรากฏเป็นวงกลมชั้นสีน้ำตาลเนื้อเยื่อบุลงไปจากระดับเดิมเล็กน้อยสีน้ำตาลนี้จะค่อยๆขยายวงกว้างออกไปเป็นแผลวงกลมหรือวงรีรูปไข่ซึ่งมองเห็นลักษณะของเชื้อราที่เจริญภายใต้เนื้อเยื่อของพืชขยายออกไปในลักษณะที่เป็นวงกลมสีดำซ้อนกันเป็นชั้นชั้นซึ่งภายในบรรจุสปอร์ของเชื้อราอยู่เต็ม ในเวลาที่อากาศมีความชื้นสูงสปอร์ที่บรรจุอยู่ภายในจะแตกออกมาจากกลุ่มเรานั้นพอมีสีส้มอ่อนๆซึ่งปูดออกมาคล้ายหยดน้ำบางแพจะมีเส้นใยราสีดำสั้นๆเจริญขึ้นมาเป็นเหมือนน้ำอยู่บนสปอร์ของเชื้อราบนปุ่มเหล่านั้นสีที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อสาเหตุขนาดของแผลแตกต่างกันไปถ้ามีแผลใหญ่จะทำให้ผลพริกเน่าหมดทั้งผลและร่วมก่อนที่ผลแสดงหรือแก่เต็มที่และเมื่อนำไปตากแห้งก็มักจะเกิดการเน่ามากขึ้นอีกในระหว่างการเก็บรักษาทำให้พี่เก็บไว้ทั้งหมดเน่าเสียหายทั้งนี้เป็นเพราะเชื้อรายังมีชีวิตอยู่ในแผลเหล่านั้นเมล็ดพริกจากผลที่เป็นโรคนี้จึงไม่ควรนำไปเก็บไว้ทำพันธุ์ต่อไปหากเกิดโรคกับผลอ่อนเซลล์บริเวณแผลที่ถูกทำลายจะหยุดการเจริญเติบโตส่วนรอบๆแผลที่ไม่ถูกทำลายจะเจริญไปเรื่อยๆทำให้เกิดอาการโค้งงอบิดเบี้ยวโดยมีเซลล์ที่ตายอยู่ด้านในลักษณะคล้ายกุ้งแห้งชาวบ้านจึงนิยมเรียกกันว่าโรคกุ้งแห้ง
  • การป้องกัน การป้องกันไม่ให้เกิดโรคแอนแทรคโนสในพริก โดยการเก็บเมล็ดพันธุ์เอง ต้องเก็บเมล็ดพันธุ์จากผลที่ไม่แสดงอาการโรค ก่อนเก็บจะต้องแช่ในน้ำที่ 50-55 องศาเซลเซียส ประมาณ 15-20 นาที พ่นสารป้องกันโรค เช่น แมนโคเซ็บ เบนโนมิล อซ็อกซีสโตรบิน ฟลูซิลาโลส เป็นต้น
  • การดูแล ทำลายส่วนที่เกิดโรคแอนแทรคโนสแล้วทิ้งทันที เพื่อไม่ให้แพร่ระบาดไปสู่ส่วนอื่นๆ แล้วฉีดพ่นสารป้องกันโรค
แอนแทรคโนสพริก
https://mgronline.com/science/detail/

ที่มา

https://www.opsmoac.go.th/singburi-local_wisdom-files-411891791796
คู่มือโรคผัก : กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้