เพื่อนชาวเกษตรกรหลายท่านคงเคยประสบปัญหาอาการใบไม้หงิก ปลายใบบิดเป็นเกลียว ใบของพืชบางชนิดด่าง สีของใบเขียวอมเหลืองเกือบน้ำตาล หรือถ้าเกิดในนาข้าวจะพบว่าข้าวไม่ออกรวงหรือออกรวงไม่สมบูรณ์ อาการเหล่านี้เป็นโรคพืชชนิดหนึ่งที่บรรดาชาวเกษตรคงคุ้นหูได้ยินชื่อ โรคใบหงิก หรือ โรคใบจู๋ กันมาบ้าง เพราะโรคนี้เป็นโรคพืชที่รู้จักและมีผู้พบเห็นกันมานาน แต่จะพบมากในนาข้าวชลประทานของภาคกลาง ซึ่งโรคใบจู๋ หรือที่ในทางวิชาการเรียกกันว่า โรคใบหงิก (Leaf Curl Disease) จะพบได้ทั้งช่วงที่ต้นข้าวยังเป็นต้นกล้า หรือระยะแตกกอ ระยะตั้งทอง ซึ่งทำให้ผลผลิตลดลงได้มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และท่านเกษตรกรลองนึกภาพตาม หากระหว่างนั้นเกิดโรคพืชแทรกซ้อนอื่นๆ ซ้ำเดิมกันเพิ่มอีก จะทำให้นาข้าวเสียหายมากมายขนาดไหน ความน่ากลัวของ โรคใบจู๋ นี้ มีสาเหตุมาจากอะไร อาการ และวิธีแก้ไขจัดการทำได้อย่างไร เกษตรกรอย่างเราควรป้องกันและเรียนรู้โรคนี้ไปด้วยกัน
มารู้จักกับ โรคใบหงิก (Leaf Curl Disease) หรือ โรคใบจู๋ กันซักหน่อย
โรคใบหงิก หรือ โรคใบจู๋ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่สร้างความเสียหายให้กับพืชต่างๆ มากมายหลายพวกหลายตระกูล โดยโรคนี้จะพบการระบาดทั่วไปในเกือบทุกแห่งที่มีการเพาะปลูกพืช พบได้ในพืชประเภท ต้นข้าว แตงร้าน แตงกวา พักเขียว พริก มะเขือเทศ ฯลฯ เชื้อไวรัสนี้ทางการเกษตรเรียกว่า Rice Ragged Stunt Virus (RRSV) โดยมีแมลงเป็นพาหนะนำโรค นั่นก็คือ เพลี่ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถอยู่ใด้ในตอชัง และหญ้าบางชนิด
รู้ได้อย่างไรว่า โรคใบหงิก (Leaf Curl Disease) หรือ โรคใบจู๋ มาเยือน?
อาการของโรคใบหงิกนั้น สังเกตได้จากลักษณะใบยอดจะเป็นสีเขียวอ่อน เส้นใบสีเหลือง บางครั้งใบมีแถบสีเขียวเข้ม ขนาดใบเล็ก หดย่นและโค้งงอขึ้นหรือลง ตามแนวเส้นใบ เส้นใต้ใบมักมีสีเขียวและนูนออกมาเป็นติ่ง ถ้าเป็นโรครุนแรง ต้นจะเตี้ย แคระแกรน ใบหรือฝักบิดเบี้ยว ผิวย่น และแก่ช้ากว่าปกติ ถ้าโรคนี้เกิดขึ้นกับต้นข้าว จะเกิดขึ้นได้ทั้งในระยะกล้า แตกกอ ตั้งท้อง โดยไวรัสชนิดนี้จะทำให้ต้นข้าวเตี้ยแคระแกรน เป็นพุ่มแจ้ แตกกอมาก ใบแคบและสั้น สีเขียวเข้มแตกใบใหม่ช้ากว่าปกติ แผ่นใบไม่สมบูรณ์ ปลายใบบิดเป็นเกลียว ขอบใบแหว่ง และเส้นใบบวมโปงเป็นแนวยางทั้งที่ใบและกาบใบ ข้าวที่เป็นโรคนี้จะออกรวงช้า หรือให้รวงไม่สมบูรณ์
โดยทั่วไปแล้วโรคนี้เกิดกับพืชได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ถ้าเป็นกับพืชที่ยังเล็กหรือขณะที่เป็นต้นอ่อน จะแคระแกร็น ใบมีขนาดเล็กลง เส้นใบนูนหนาเด่นชัดขึ้น ก้านใบหดสั้นลง เนื้อใบหงิกจีบย่น สีเข้มกว่าปกติ ในระยะต้นโต อาการจะปรากฏที่ส่วนยอด ปลายกิ่ง ตา หรือแขนงที่แตกออก โดยใบจะหดจีบย่น สีเขียวเข้มขึ้นในระยะแรกและเหลืองซีดในเวลาต่อมา สงผลให้พืชหยุดการเจริญเติบโต ไม่ออกดอกผล หรือออกก็ผิดปกติ ลักษณะดังกล่าวเป็นอากาโดยทั่วไป อย่างไรก็ดี สำหรับพืชผักแต่ละชนิด ตลอดจนการเริ่มต้นของอาการที่เป็นกับพืชนั้นๆ อาจแตกต่างกันออกไปบ้าง ใบที่แสดงอาการอาจม้วนขึ้นด้านบนเล็กน้อยและมีสีเหลืองผิดไปจากปกติ นอกจากนั้นใบพืชนี้จะกรอบเปราะหักง่าย บางครั้งใบจะตกคล้ายอาการเหี่ยว ต่อมาจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง ถ้ามีผลอยู่ก็จะสุกก่อนกำหนด
สำหรับผักชนิดอื่นๆ เช่น แตงต่างๆ อาการที่เกิดขึ้น คือ ใบหด ย่น เหลือง หยุดการเจริญเติบโต ให้ดอกออกผลน้อย ในรายที่รุนแรงพืชอาจถึงตายได้
ไวรัสร้าย กับ เพลี้ยจอมแสบ ต้นเหตุของปัญหา
เพื่อนชาวเกษตรกรคงอยากจะทราบถึงสาเหตุของการเกิดโรคนี้แล้วซิว่า เกิดจากอะไร และส่งผลเสียต่อแปลงนาที่เราไถหว่าน คันดินที่เราเพาะปลูกพืชผัก ผลไม้ มากน้อยเพียงใด เรามารู้จักเชื้อไวรัสที่มีชื่อเรียกว่า Rice Ragged Stunt Virus (RRSV) ซึ่งมีตัวแปรสำคัญที่เป็นพาหนะนำเชื้อไวรัสนี้ ไปแพร่ระบาดในพื้นที่การเกษตรของเรา นั่นคือ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เจ้าพาหะนำโรคจอมแสบ
สาเหตุของโรคใบจู๋ หรือ โรคใบหงิก
- เชื้อไวรัส Rice Ragged Stunt Virus (RRSV) เป็นไวรัสพวก Geminivirus พบที่ก่อให้เกิดโรคในพืชผักต่างๆ มีมากกว่า 10 สายพันธุ์พวกนี้จะระบาดและเข้าสู่พืชได้โดยการนำของแมลงพวกเพลี้ยไฟคือ Bemiscia tabaci โดยที่แมลงพวกนี้ เมื่อไปดูดหรือกัดกินต้นพืซที่เป็นโรคก็จะกินเอาเชื้อไวรัสเข้าไปด้วย และเมื่อกินเข้าไปแล้วครั้งหนึ่งเชื้อก็จะคงอาศัยอยู่ในตัวแมลงได้ตลอดอายุของมัน
- เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล พาหะนำโรคที่มีวงจรชีวิต 3 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่ 7-8 วัน ระยะตัวอ่อน 16-17 วัน และระยะตัวเต็มวัย 14 วัน
การแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
- เกษตรกรใช้พันธุ์ข้าวที่ไม่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และใช้อัตราเมล็ดพันธุ์มากเกิน 20 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งการปลูกอย่างหนาแน่น จะส่งผลให้สภาพแวดล้อมในนาข้าวไม่เหมาะสมกับ การเจริญเติบโต
- เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีที่ผิดสูตร ผิดอัตราและช่วงระยะเวลาของการใช้ปุยแต่ละชนิด โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยยูเรียมากเกินไป และใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชผิดชนิดและผิดวิธี โดยเฉพาะสารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ เช่น แอลฟาไซเพอร์มิทริน ไซเพอร์มิทริน ไซแฮโลทริน เดคาเมทริน เอสเฟนแวเลอเรต เพอร์มิทริน ไตรอะโซฟอส ไซยาโนเฟนฟอส ไอโซซาทอน ไฟริดาเฟนไทออน ควินาลฟอสเตตระคลอร์วินฟอส และสารอะบาเน็กติน เป็นต้น
เหล่านี้จะทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลต้านทานต่อสารเคมี และมีปริมาณการแพร่ระบาดมากยิ่งขึ้น ซึ่งเชื้อไวรัสนี้สามารถคงอยู่ในตอซัง และหญ้าบางชนิดได้เป็นอย่างดี
เราจะจัดการรับมือกับ โรคใบจู๋ หรือ โรคใบหงิก อย่างไร
เพื่อนๆเกษตรกรคงปฏิเสธไม่ได้ที่จะเจอกับโรคใบหงิกในนาข้าวหรือสวนผัก ผลไม้ของเรา ดังนั้นเรามาหาวิธีรับมือ ป้องกัน หาก เรือก สวน ไร่ นา ของเรามีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมาเยือน โดยสิ่งแรกที่เกษตรกรทุกคนสามารถทำได้ คือ กำจัดหรือทำลายเชื้อไวรัส โดยวิธีการไถกลบ หรือเผาตอซังในนาที่มีโรคจากนั้นกำจัดวัชพืชโดยเฉพาะวัชพืชใกล้แหล่งน้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของแมลงที่เป็นพาหะ
นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงนี้กำลังเข้าสู่ฤดูร้อนเริ่มพบการทำลายของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในแถบภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง แต่ไม่ถึงกับระบาดและทำความเสียหายกับผลผลิต โดยปัจจัยที่มีผลต่อการระบาดของเพลี้ยกระโดสีน้ำตาล คือสภาพอากาศร้อน อุณหภูมิสูง ในนาข้าวมีน้ำขังตลอดเวลาทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถเพิ่มจำนวนได้มาก และการปลูกข้าวหนาแน่น ใช้ปุยไนโตรเจนอัตราสูง ใช้พันธุ์ข้าวไม่ต้านทาน และใช้สารเคมีมากเกินความจำเป็น ทำให้ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลหายไป
วิธีการป้องกันและจัดการกับโรคใบหงิก-ใบจู๋
- กำจัดหรือทำลายเชื้อไวรัส โดยไถกลบหรือเผาตอซังในนาที่มีโรค กำจัดวัชพืช โดยเฉพาะวัชพืชใกล้แหล่งน้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของแมลงพาหะ
- กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำให้ใช้พันธุ์ข้าวที่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น พันธุ์สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 2สุพรรณบุรี 90 พิษณุโลก 2 กข41 และ กข47 แต่ไม่ควรปลูกข้าวพันธุ์ดังกล่าวติดต่อกันเป็นแปลงขนาดใหญ่เนื่องจากแมลงสามารถปรับตัว เข้าทำลายพันธุ์ข้าวที่ต้านทานได้
- ในแหล่งที่มีการระบาดและควบคุมระดับน้ำในนาได้หลังปักตำหรือหว่าน 2-3 สัปดาห์ จนถึงระยะตั้งท้อง ควบคุมน้ำในแปลงนาให้พอดินเปียกหรือมีน้ำเรี่ยผิวดินนาน 7-10 วัน แล้วปล่อยขังทิ้งไว้ให้แห้งเองสลับกันไป จะช่วยลดการระบาดของเพลี้ยได้
- เมื่อข้าวอายุ 30-45 วัน ให้ใช้สารฆ่าแมลงไดโนที่ฟูเรน หรือ บูโพรเฟซิน หรือ อีโทเฟนพรอกซิ ไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงผสมกันหลายๆชนิดหรือใช้สารฆ่าแมลงผสมสารป้องกันกำจัดโรคหรือสารกำจัดวัชพืชเพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของสารฆ่าแมลงลดลง
- เมื่อพบแมลงส่วนใหญ่เป็นตัวเต็มวัยจำนวนมากกว่า 1 ตัว ต่อต้น ในระยะข้าวตั้งท้องถึงออกรวงใช้สารไทอะบีโทแซม (แอคทาร่า 25% ดับบลิวพี) อัตรา 2 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สารไดโนทีฟูแรน(สตาร์เกิล 10% ดับบลิวพี) อัตรา 15 กรัม ต่อ น้ำ 20 ลิตร
แต่เพื่อนๆเกษตรกรไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงที่ทำให้เพิ่มการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หรือสารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ เช่น ไซเพอร์มิทรินไซฮาโลทรินเดลต้ามิทริน เนื่องจากสารกลุ่มนี้ จะไปทำลายแมลงศัตรูธรรมชาติจึงทำให้เกิดการระบาดรุนแรงของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
อย่างไรก็ตาม พวกเราชาวเกษตร ควรหมั่นสำรวจแปลงนาของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากพบการเข้าทำลายของศัตรูพืชให้รีบดำเนินการป้องกันกำจัดทันที สำหรับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นแมลงปากดูดที่สามารถทำลายข้าวได้ทุกระยะการเจริญเติบโตด้วยการใช้ปากแทงดูดกินน้ำเลี้ยงจากกาบใบข้าวบริเวณโคนต้นเหนือระดับน้ำเล็กน้อย ทำให้ปริมาณคลอโรฟิลล์ โปรตีนและคาร์โบไฮเดรต ในต้นข้าวลดลง อัตราการสังเคราะห์แสงและการเจริญเติบโตช้า ต้นข้าวแสดงอาการใบเหลืองทำให้ผลผลิตข้าวลดลงตามไปด้วยอีกทั้งยังเป็นพาหะนำโรคใบหยิก (ragged stunt) ถ้าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดรุนแรง ต้นข้าวจะแสดงอาการไหม้แห้งคล้ายถูกน้ำร้อนลวก เรียกว่า ฮอพเพอร์เบิร์น “hopper burn” ทำให้ข้าวแห้งตายได้
และหากเราปฏิบัติได้ เมื่อมีโรคระบาดรุนแรงเกิดขึ้น เกษตรกรอย่างเราควรทำใจและยอมงดปลูก 1- 2 ฤดู เพื่อตัดวงจรชีวิตแมลงพาหะให้สิ้นไป เพื่อการเริ่มต้นใหม่ที่ดีกว่า
แหล่งอ้างอิง
โรคใบหงิกและโรคเขียวเตี้ย, ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช
องค์ความรู้เรื่องข้าว. กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์