ไม้ดอก ปลูกแล้วเสริมสิริมงคล ประวัติที่น่าสนใจ มีต้นอะไรบ้าง

ไม้ดอก (Flowering plant) มีหลายคนที่ให้ความสนใจ แล้วไม้ดอกอะไรที่ปลูกแล้วจะนำพาความเจริญ เสริมสิริมงคลให้กับผู้ปลูกได้ ใคร ๆ ก็อยากจะปลูก แล้วมีไม้ดอกอะไรบ้าง วันนี้ Kaset today มีบทความสนุก ๆ ปนประวัติศาสตร์นิดหน่อย ถ้าอยากรู้แล้ว เราก็มาดูกันเลย

กุหลาบ

ไม้ดอก
credit : wallpaperscraft.com

 ‘กุหลาบงามยามแย้มดาวเรืองทอง

มะลิพ้องบัวเข็มผ่องสนองใส

มณฑาทิพย์สิบพะยอมล้อมอุ่นใจ

  เสริมสุขในดอกมงคลยลเรือนชาน’

คนเราจะมีสุขใดไหนเล่าเท่ากับอาณาบริเวณบ้านเรือนห้อมล้อมไปด้วยความงดงามของธรรมชาติ ยิ่งความงามเหล่านั้นเปี่ยมล้นความเป็นสิริมงคล เราก็ยิ่งสุขมากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว ด้วยเหตุนี้เราจึงอยากจะบอกและแบ่งปันสิ่งดีๆ เกี่ยวกับดอกไม้มงคลอันสอดคล้องกับวิถีชีวิต โดยจะขอไล่ลำดับจากดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมจรุงไปจนถึงดอกไม้อันไร้กลิ่นแต่รวยรูปลักษณ์อย่างยากจะลืมได้…

  • กุหลาบกับเรื่องเทพเจ้า

ดอกไม้มงคลดอกแรกที่จะกล่าวถึงคือ กุหลาบ ดอกไม้งามที่ไม่มีใครไม่รู้จักอย่างแน่นอน แล้วยังถูกจัดเป็นดอกไม้ตัวแทนแห่งความรักมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ซึ่งคนในสมัยนั้นต่างเชื่อว่าดอกกุหลาบมีความเชื่อมโยงกับเทพีอโฟรไดท์ (Aphrodite) ผู้เป็นเทพีแห่งความงามและความรัก

โดยตามตำนานหนึ่งเล่ากันว่าดอกกุหลาบเกิดมาจากเลือดของชายหนุ่มรูปงามผู้เป็นคนรักของเทพีอโฟรไดท์ เมื่อยามที่เขาถูกลอบทำร้ายจากสาเหตุของความริษยาเพราะได้ครองหัวใจรักของเทพีฯ ทันทีที่เขาเสียชีวิตเลือดของเขาได้ไหลลงพื้นดินและตรงจุดนั้นจึงปรากฏเป็นดอกไม้สีแดงที่มีกลิ่นหอม แล้วก็เกิดความเชื่อที่ว่าดอกไม้ดังกล่าวคือสารจากความรักที่เบ่งบานนิจนิรันดร์ของชายหนุ่มถึงเทพีฯ

  • กุหลาบกับเรื่องศาสนา

นอกจากนั้นกุหลาบยังมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาด้วย ดังใน “ศาสนาอิสลาม” ดอกกุหลาบคือสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณ ส่วนใน “ศาสนาคริสต์” มีความเชื่อว่าดอกกุหลาบเป็นเสมือนตัวแทนของพระแม่มารีและเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งในโบสถ์ของชาวคริตส์นิกายโรมันคาทอลิกจะมีดอกกุหลาบปรากฏอยู่บนสถาปัตยกรรมแบบกอทิกที่มีชื่อเรียกว่า…หน้าต่างกุหลาบ หรือ Rose Window

สำหรับในประเทศไทยได้มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากจดหมายเหตุบันทึกของ ซีมง เดอ ลาร์ ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ผู้เป็นอัครราชฑูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ระบุว่าในแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้พบเห็นดอกกุหลาบแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นดอกกุหลาบยังปรากฏอยู่ในผลงานวรรณคดีอีกด้วย อาทิเช่น

  • รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) ซึ่งมีเนื้อความท่อนหนึ่งว่า ” กาหลงกุหลาบกระดังงา  การะเกดกรรณิการ์ลำดวน
  • มัทนะพาธา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) โดยเนื้อเรื่องได้เล่าถึง ” นางมัทนา “ ผู้เป็นตัวเอกของเรื่องซึ่งนางเป็นต้นกำเนิดของกุหลาบดอกแรกในโลก

นอกเหนือจากนี้ก็มีดอกกุหลาบชนิดหนึ่งที่ได้รับสมญาว่า ‘กุหลาบรักสองแผ่นดิน’ หรืออีกชื่อคือ ‘กุหลาบจุฬาลงกรณ์’ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งตำนานความรักของ ‘พระราชชายาเจ้าดารารัศมี’ กับ ‘พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)’ ทั้งนี้กุหลาบจุฬาลงกรณ์ยังคงมีให้เห็นตราบจนปัจจุบัน ที่ ‘พระตำหนักดาราภิรมย์ จังหวัดเชียงใหม่’

เกร็ดความรู้ ! กุหลาบมอญ

ทุกคนรู้ไหมว่าในประเทศไทยเริ่มมีการปลูก "กุหลาบมอญ" มาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ซึ่งกุหลาบมอญนั้นก็มีหลากหลายสาบพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น กุหลาบมอญพันธุ์ดอกแดง ดอกชมพู หรือ พันธุ์สุโขทัย และยังมีอีกสายพันธุ์ที่มีความพิเศษที่สี และขนาดดอกที่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่น และที่สำคัญไม่มีหนามด้วย และสายพันะุ์นั้นก็คือ กุหลาบมอญสายพันธุ์จุฬาลงกรณ์ หรือที่เราต่างคุ้นชินและเรียกว่า กุหลาบจุฬาลงกรณ์ นั้นเอง เพราะสายพันธุ์นี้มีดอกขนาดใหญ่สุด และมีสีดอกอมชมพูสวยงาม
ไม้ดอก
credit : th.wikipedia.org
  • กุหลาบกับความเชื่อเรื่องมงคล

ส่วนทางด้านความเชื่อของคนไทย จากหนังสือ “ปลูกไม้มงคล จัดสวนโชคลาภ” ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับความเชื่อถึงการปลูกกุหลาบว่าเป็นการช่วยส่งเสริมด้านความรักความเมตตาจากคนรอบข้างรวมถึงทั่วไป แล้วอาจจะช่วยเกื้อหนุนสำหรับผู้ที่มีดวงอาภัพความรักให้สดใสยิ่งขึ้นได้พร้อมกันนั้นก็จะช่วยเสริมเรื่องความโดดเด่นบวกความรู้สึกดีดีและคำชื่นชมจากผู้คนในสังคม

ทั้งนี้ได้มีเคล็ดลับในการปลูกกุหลาบกล่าวว่า ควรจะให้ผู้หญิงที่มีจิตใจอ่อนโยนและกิริยางดงามเป็นผู้ปลูก แล้วควรจะปลูกไว้ในทิศตะวันออกของบ้านและให้ปลูกในวันพุธจะเป็นวันดีวันที่เหมาะสมมาก

สำหรับเรื่องสีของกุหลาบก็มีความหมายดีๆ แฝงอยู่ อย่างเช่น

  • กุหลาบสีแดง จะสื่อความหมายถึงความรักและความปรารถนาซึ่งเป็นดอกไม้ของกามเทพ
  • กุหลาบสีชมพู จะสื่อความหมายว่าสองเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กุหลาบสีเหลือง จะสื่อความหมายถึงความสุข ความสนุกสนาน ความร่าเริงและความเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน
  • กุหลาบสีขาว จะสื่อความหมายว่าฉันรักเธอด้วยความบริสุทธิ์ใจ และ กุหลาบสีส้ม จะสื่อความหมายถึงการบอกความในใจ

มะลิ

ไม้ดอก
credit : Manow Wanwanach

ดอกไม้มงคลลำดับต่อไปจะเป็นที่ขึ้นชื่อในเรื่องความหอมกรุ่นชื่นใจจนถึงกับถูกนำไปโรยไว้ในน้ำเพื่อดื่มกิน ใช่แล้วมันคือ มะลิ นั่นเอง ดอกมะลิมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Jasmine ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษาอาราบิคในคำว่า Yasmin ที่หมายถึงดอกไม้รวยไปด้วยกลิ่นหอม

  • มะลิกับถิ่นกำเนิด

โดยความเชื่อเรื่องถิ่นกำเนิดของดอกไม้หอมชนิดนี้ว่ากันว่าอยู่ในทวีปเอเซีย แต่นักพฤกษศาสตร์บางคนได้ระบุว่า “ดินแดนอารยธรรมเปอร์เซียหรือประเทศอิหร่านคือถิ่นที่มะลิถือกำเนิด” ขึ้นก่อนจะเข้าสู่อียิปต์ในราวหนึ่งพันปีก่อนคริสตกาล และหลังจากนั้นมะลิจึงเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ทั้งในตุรกี จีน เนปาล ไปจนถึงยุโรปตะวันตก แล้วราวศตวรรษที่ 1700 มะลิก็ได้เดินทางจากเอเซียกลางเข้าสู่ดินแดนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้จนกระทั่งดอกมะลิลาได้กลายเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ก็มีอีกข้อมูลประวัติของมะลิที่ บอกว่ามะลิมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เทือกเขาหิมาลัยซึ่งตามความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดูถือว่าเป็นเทือกเขาที่ประทับของพระนารายณ์ ดังนั้นชาวอินเดียจึงจัดให้ดอกมะลิเป็นดอกไม้ประจำองค์พระนารายณ์ และในคราวที่มีพิธีบูชาพระนารายณ์ก็จะใช้ดอกมะลิเป็นดอกไม้หลักในการถวาย

ส่วนในประเทศไทยมีการสันนิษฐานไว้ว่าดอกมะลิถูกนำเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย โดยนำมาจากประเทศอินเดียเข้ามาพร้อมกันในช่วงเวลาของการเผยแผ่ศาสนาพุทธ แล้วด้วยเหตุที่มะลิเป็นดอกไม้มีกลิ่นหอมเย็นและมีสีขาว ผู้คนแต่ครั้งโบราณจนถึงปัจจุบันต่างนิยมนำไปบูชาพระ อีกทั้งด้วยความมีสีขาวบริสุทธินี้เอง

  • มะลิกับเรื่องสัญลักษณ์ที่น่าสนใจ

มะลิจึงถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ในวันแม่แห่งชาติของประเทศไทย เพื่อสื่อความหมายเปรียบถึงความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกอย่างไม่เสื่อมคลาย ในวันแม่ทุกปีบรรดาลูกหรือผู้น้อยจึงมอบมาลัยดอกมะลิหรือดอกมะลิให้แก่แม่และผู้มีพระคุณเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที นอกจากนั้นมะลิยังมีปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทยด้วยเช่นกัน อาทิ เรื่อง “เห่เรือพระอภัยมณี ประพันธ์โดย สุนทรภู่” ซึ่งมีเนื้อความ ดังนี้

‘หอมดอกไม้ใกล้กุฏิ

สายหยุดมะลิลา

แย้มผกากลิ่นขจร

ข้างต้นหาได้ทุกอย่างพื้นต่างพรรณ’

  • มะลิกับเรื่องความเชื่อเรื่องมงคล

จะเห็นว่ามะลิได้วนเวียนอยู่ในชีวิตของเราๆ ท่านๆ กันมานมนานจนเราเห็นกันชินตาแถมยังมีความเชื่อที่สืบทอดมาแต่โบราณ ตามที่หนังสือ “พันธุ์ไม้ดอกมงคลยอดนิยม” ได้บอกกล่าวถึงมะลิว่าเป็นต้นไม้ดอกไม้ที่จะทำให้มีความสุขสงบรวมถึงเป็นที่ประทับใจแก่ผู้คนและเกื้อหนุนให้เกิดความกตัญญูของผู้เป็นลูกต่อแม่กับผู้มีพระคุณด้วย

สำหรับเคล็ดลับของการปลูกมะลิก็ควรจะปลูกไว้ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้านและควรปลูกในวันพุธ หากจะให้มีความเป็นสิริมงคลมากยิ่งขึ้น ผู้ที่ปลูกควรจะเป็นผู้หญิงสูงอายุ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูงและเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดีมานาน แล้วก็เป็นที่นับถือแก่ผู้คนทั่วไป


พะยอม

ไม้ดอก
credit : disthai

อีกหนึ่งดอกไม้มงคลที่เป็นที่เลื่องลือเรื่องกลิ่นหอมเช่นกันได้แก่ พะยอม คุ้นๆ กันบ้างไหม บางคนอาจจะเคยรู้จักหรือได้กลิ่นมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะชาวอุบลฯ หรือผู้ที่เคยศึกษาเล่าเรียนและเคยเข้าไปที่ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี เนื่องด้วยพะยอมเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยฯ และยังถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของหอประชุมอันมีนามว่า หอประชุมไพรพะยอม อีกทั้งชาวกาฬสินธุ์ก็คงจะรู้จักไม่น้อยเช่นกัน เพราะดอกพะยอมถือเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดนั่นเอง

ไม้ดอก
credit : pantip.com
  • พะยอมกับเรื่องถิ่นกำเนิด

ในเรื่องถิ่นกำเนิด ที่ “ศูนย์การุณย์สภากาดชาดไทย เขาล้าน” ได้บอกว่าพะยอมป็นต้นไม้ดอกไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเซีย โดยจะมีอยู่ทั้งในประเทศไทย พม่า ลาว ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา  ทั้งนี้ความโดดเด่นของพะยอมจะอยู่ที่ความงามของดอกซึ่งมีสีขาวนวลหรือเหลืองอ่อนๆ และมีกลิ่นหอมจรุงชื่นใจ ทำให้ผู้คนในสมัยโบราณต่างชอบนำไปประดับผมหรือถือติดมือ เพื่อให้ผมหอมและให้กลิ่นหอมนั้นอยู่ติดกับตัวเวลาไปไหนมาไหนเสมอ

  • พะยอมกับเรื่องวรรณคดี

นอกเหนือไปจากความงามและความหอมแล้ว พะยอมยังถูกนำไปร้อยไว้ในวรรณคดีที่มีชื่อเรื่องหนึ่งคือ “นิราศพระบาท ประพันธ์โดย สุนทรภู่” ในบทประพันธ์จะเป็นการกล่าวถึงพรรณไม้ต่างๆ ซึ่งมีท่อนหนึ่งที่กล่าวถึงพะยอมว่า “กับหมู่ไม้ไกรกรวยกันเกรากร่าง  พะยอมยางตาพยัคฆ์พะยุงเหียง” เมื่อได้อ่านเรื่องนี้ก็จะได้รับความระรื่นหูด้วยสำเนียงประพันธ์ที่เล่นคำได้อย่างไพเราะเพราะพริ้งจับใจของกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ยิ่งไปกว่านั้นพะยอมได้ถูกนำไปเป็นประเด็นหลักและอยู่ในเนื้อเรื่องของละครกับนวนิยายเรื่อง “เรือนพะยอม” อันเป็นบทประพันธ์ของ “รอมแพง” นักเขียนผู้มีชื่อท่านหนึ่ง โดยเนื้อเรื่องกล่าวถึงเรื่องราวของหนุ่มสาวที่ต้องผิดหวังจากความรักในอดีตชาติ แล้วกลับมาพบกันอีกครั้ง ณ สถานที่แห่งเดิมซึ่งมีต้นพะยอมที่ออกดอกตลอดทั้งปีจนผู้คนร่ำลือและเป็นเสมือนสื่อความผูกพันของเขากับเธอ กระทั่งชายหนุ่มและหญิงสาวสามารถผ่านพ้นอุปสรรคจากปมอดีตและคลายความอาฆาตของหญิงสาวอีกคนผู้ที่วิญญาณยังไม่ยอมไปไหน ในที่สุดทั้งคู่ก็สมหวังได้ครองคู่กันอย่างมีความสุขในชาติปัจจุบัน

  • พะยอมกับเรื่องความเชื่อเรื่องมงคล

ด้านความเชื่อที่เกี่ยวกับพะยอมในหนังสือ “ร่ำรวยด้วยไม้มงคล” บอกถึงพะยอมมีความมงคลตามชื่อที่พ้องความหมายไปถึงการยินยอม การประนีประนอม คนไทยสมัยโบราณจึงเชื่อกันว่าหากปลูกพะยอมไว้ภายในบริเวณบ้านจะทำให้ผู้ที่อาศัยในบ้านได้รับความเมตตาและความนิยมจากบุคคลทั่วไปรวมถึงได้รับการช่วยเหลืออยู่เสมอ แล้วยังได้ความเป็นสิริมงคลเกี่ยวกับเรื่องการเงินของบ้านด้วย ส่วนเคล็ดของการปลูกพะยอมนั้นก็ควรจะปลูกในวันเสาร์ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้านและควรให้สตรีเป็นผู้ปลูก


มณฑา

ไม้ดอก
credit : ไม้ดอกหอม
  • มณฑากับเรื่องศาสนาพุทธ

ลำดับสุดท้ายของดอกไม้มงคลที่มีความหอมชื่อ มณฑา ซึ่งมีสมญาว่า “ทิพยบุปผา หรือ ดอกไม้ทิพย์แห่งสวรรค์” โดยได้มีข้อความสำคัญที่ปรากฏในพระไตรปิฏกว่าด้วยพระสุตตันตปิฏก บทปรินิพพานสูตร กล่าวถึงดอกมณฑาว่าเป็นดอกไม้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่มีความงดงามกับมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ แล้วดอกมณฑาจะเบ่งบานและร่วงหล่นในเหตุการณ์สำคัญๆ เกี่ยวกับองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ได้แก่ วันประสูตร วันตรัสรู้ วันปรินิพพาน วันจาตุรงคสันนิบาต และวันที่ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร

ทั้งนี้ในบทปรินิพพานสูตรยังกล่าวอีกว่าในเหตุการณ์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานวันที่ 7 ของงาน เทวดาได้โปรยดอกมณฑาลงมาจากสรวงสวรรค์ เพื่อบูชาพระสรีระขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นจำนวนมากจนท่วมถึงหัวเข่า ด้วยเหตุนี้ดอกไม้ชนิดนี้จึงได้อีกสมญาว่า “ดอกไม้แห่งวันอัฏฐมีบูชา” ที่หมายถึงดอกไม้เพื่อสักการะพระสรีระแห่งองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าในวันถวายพระเพลิงพระสรีระหรือวันอัฏฐมีบูชา ทั้งนี้หลังจากพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ล่วงไปแล้ว แต่ทว่าทุกหนทุกแห่งของเมืองกุสินารายังคงดาษดื่นไปด้วยดอกมณฑา นอกจากนี้แล้วดอกมณฑาก็ยังถูกจัดให้เป็นดอกไม้ของ “นางกิริณีเทวี ผู้เป็นนางสงกรานต์เทวีประจำวันพฤหัสบดี” อีกด้วย

  • มณฑากับเรื่องวรรณคดีไทย

ด้านวรรณคดีของไทยก็ได้มีดอกไม้ทิพย์แห่งสวรรค์ดอกนี้อยู่ในนั้นด้วยได้แก่วรรณคดีเรื่อง “สิงหไกรภพ ประพันธ์โดย สุนทรภู่” และอีกเรื่องที่เอ่ยถึงดอกมณฑาเช่นกันคือเรื่อง “อิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2)” หากได้อ่านบทประพันธ์ในวรรณคดีทั้งสองเรื่องนั้นจะเห็นว่าเป็นการอ่านที่ได้อรรถรสยิ่งนัก เพราะต่างเล่นสัมผัสของคำได้ดีจับใจจริงๆ  ดังตัวอย่างในเรื่อง “อิเหนา” ท่อนหนึ่งที่ว่า “มลิวันพันกิ่งมณฑาเทศ แก้วเกดดอกดกดกอยู่ถม’

  • มณฑากับเรื่องความเชื่อความมงคล

มาถึงตรงนี้ถ้าไม่กล่าวถึงเรื่องความเชื่อก็ใช่ที่ ฉะนั้นจึงขอยกข้อมูลแหล่งหนึ่งที่ชื่อว่า “รักดอก” ที่กล่าวถึงความเชื่อของคนไทยในสมัยโบราณว่าบ้านใดปลูกมณฑาไว้ประจำบ้าน บ้านเรือนจะมีความสุขสงบรวมถึงได้รับความศักดิ์สิทธิ์อันเนื่องจากเป็นดอกไม้ทิพย์ที่เกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วอีกความเชื่อก็ได้กล่าวว่าบ้านที่ปลูกมณฑาจะเป็นบ้านที่มีความงดงามน่าชมน่ามอง เพราะดอกมณฑามีสีเหลืองนวลอร่ามแถมกลิ่นของดอกก็หอมจรุงใจแก่ผู้พบเห็น

สำหรับเคล็ดลับในการปลูกเพื่อความเป็นสิริมงคลนั้น ควรจะปลูกไว้ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้าน และถ้าต้องการให้ผลิดอกงดงามก็ควรทำการปลูกในวันพุธ แต่หากต้องการความเป็นสิริมงคลมากยิ่งขึ้นควรจะปลูกในวันพฤหัสบดี เนื่องจากดอกมณฑาเป็นดอกไม้ของนางกิริณีเทวีผู้เป็นเทวีประจำวันพฤหัสบดี แล้วถ้ายิ่งผู้อยู่อาศัยในบ้านเกิดวันพฤหัสบดีด้วยแล้วก็จะยิ่งได้รับความเป็นสิริมงคลมากๆ เลย


ดาวเรือง

ไม้ดอก
credit : Kaset today

ที่ว่าไปนั้นล้วนเป็นบุปผาอันเต็มไปด้วยสุคนธรส ถัดจากนี้เราจักเพิ่มสรรพรู้เกี่ยวกับดอกไม้มงคลที่แม้จะไม่มีกลิ่นจรุง แต่เรียกได้ว่ามีรูปเป็นทรัพย์คงจะไม่ผิดแน่

  • ดาวเรืองกับเรื่องถิ่นกำเนิด

เริ่มด้วยดอกไม้มงคลที่ใครหลายคนต้องรู้จักอย่างแน่นอนในนาม ดาวเรือง ดอกไม้ชนิดนี้มิใช่ดอกไม้ที่กำเนิดในแถบเอเซีย ทว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศเม็กซิโก ต่อมาชาวโปรตุเกสได้เดินทางและนำเข้าไปยังประเทศอินเดีย แล้วดอกดาวเรืองก็ถูกนำไปบูชาพระวิษณุกับพระลักษมี และกลายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายรวมถึงได้ถูกนำไปใช้ในพิธีกรรมหลายอย่างทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจนบางครั้งก็เรียกดอกดาวเรืองว่า “ดอกไม้แห่งจิตวิญญาณ”  

สำหรับประเทศไทยนั้น มีหลักฐานการปลูกในประเทศมีไม่ชัดเจน แต่ได้มีการนำดาวเรืองเข้ามาปลูกในประเทศครั้งแรก ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2510  โดยการใช้เมล็ดพันธุ์ที่นำมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ และในปัจจุบันก็มีการปลูกดาวเรืองกันมากที่ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน

แล้วอย่างที่ได้รู้กันเมื่อไม่นานมานี้ว่าดอกดาวเรืองได้เบ่งบานสะพรั่งทั่วทั้งประเทศ เมื่อประชาชนคนไทยร่วมใจกันปลูกและประดับดอกดาวเรือง เพื่อแสดงความจงรักภักดีและรำลึกถึง “ในหลวงรัชกาลที่ 9” นับแต่นั้นดอกไม้ชนิดนี้ก็เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นดอกไม้ประจำรัชกาลที่ 9

เหตุที่ดอกดาวเรืองถูกยกให้เป็นดอกไม้ประจำพระองค์ ก็เนื่องจากสีของดอกมีสีเหลืองซึ่งตรงกับสีของวันจันทร์อันเป็นวันพระบรมราชสมภพนั่นเอง นอกจากดอกดาวเรืองจะมีความสำคัญดังที่กล่าวไปแล้ว

  • ดาวเรืองกับเรื่องวรรณคดีไทย

ในวรรณคดีไทยก็มีดอกไม้สีเหลืองอร่ามนี้อยู่ด้วยในเรื่อง “นิราศธารทองแดง ประพันธ์โดย เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง” ซึ่งใครที่เคยได้อ่านเรื่องนี้และได้ถอดตามเนื้อความกาพย์โคลงจะมองเห็นภาพบรรดาเหล่าบุปผาที่งดงามซึ่งผู้ประพันธ์ร่ายออกมาเป็นตัวอักษรได้ชวนตรึงใจนัก ดังนี้

‘ชาติบุษป์พุทธชาตซาบ

กุหลาบกนาบทั้งสองทาง

เบงระมาดยี่สุ่นกาง

กลีบบานเพราเหล่าดาวเรืองฯ’

  • ดาวเรืองกับความเชื่อเรื่องมงคล

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องความเชื่อกันบ้าง หนังสือเรื่อง “พันธุ์ไม้ดอกมงคลยอดนิยม” ได้ให้ข้อมูลดาวเรืองกับความเชื่อไว้ด้วย อาทิ คนไทยในสมัยโบราณจะเชื่อเรื่องหากปลูกดาวเรืองไว้ภายในบริเวณบ้านหรือริมรั้วบ้านจะได้รับความเป็นสิริมงคลเสริมชะตาทำให้ชีวิตมีความรุ่งเรืองและเจริญก้าวหน้า อีกทั้งสีเหลืองของดอกดาวเรืองเปรียบเสมือนสีทองคำซึ่งมีความเป็นมงคลช่วยหนุนให้มีเงินทอง

ส่วนเคล็ดลับในการปลูกนั้นควรจะลงปลูกในวันพุธและปลูกทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคลของบ้านกับผู้อาศัย นอกจากนี้ดอกดาวเรืองยังเป็นดอกไม้ประจำเดือนเกิดของคนที่เกิดในเดือนตุลาคม เนื่องด้วยสีเหลืองอร่ามของดอกดาวเรืองบอกถึงความรู้สึกสนุกสนาน มีความคิดสร้างสรรค์และมีความมุ่งมั่นที่เหมือนอุปนิสัยของคนเกิดเดือนตุลาคมผู้ชอบเข้าสังคม  มีรสนิยมเรื่องศิลปะและมีความจริงจังในการทำงาน


บัว

ไม้ดอก
credit : pbs.twimg
  • บัวกับประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ

เชื่อแน่ว่าดอกไม้มงคลต่อไปนี้ทุกคนจะต้องทั้งเคยเห็นและเคยหยิบจับกันมาบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเวลาไหว้พระหรือเข้าวัดทำบุญก็มักจะนำ บัว ดอกไม้ที่เพียงแค่เห็นก็สามารถทำให้รู้สึกสงบได้ ตามประวัติความเป็นมาของดอกไม้ชนิดนี้ ที่ “พิพิธภัณฑ์บัวมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี” บอกว่าบัวถูกค้นพบนานหลายพันปีมาแล้ว

มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการค้นพบซากดอกบัวแห้งอยู่ในสุสานของกษัตริย์รามาเลสและตุตัน คาเมนแห่งอียิปต์ อีกทั้งยังพบซากโบราณสถานที่มีรูปทรงคล้ายดอกบัวกับกลีบบัวหลวงจำนวนมากในประเทศอินเดีย และในยุคแมนจูเรียของจีนก็พบเมล็ดบัวหลวงที่มีอายุใกล้เคียงกับซากดอกบัวและโบราณสถานที่พบในประเทศอินเดียด้วยซึ่งสิ่งที่ค้นพบเหล่านั้นมีอายุประมาณ 3,000-4,000 ปี นี่จึงแสดงถึงบัวมีความสำคัญกับมนุษย์มาช้านานแล้ว

  • บัวกับเรื่องราวทางพุทธศาสนาที่น่าสนใจ

ยิ่งกว่านั้นก็มีตำนานกล่าวว่าในสมัยพุทธกาล หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้ปรุงยาที่ทำจากดอกบัวถวายแด่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อแก้อาการอ่อนเพลียอีกด้วย

นอกจากนี้บัวยังมีความข้องเกี่ยวนับตั้งแต่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพาน แล้วในทางพุทธศาสนาก็ได้มีคำกล่าวเปรียบเทียบที่ว่ามนุษย์เราเปรียบเสมือนดอกบัว 4 เหล่า บัวประเภทที่ 1 เป็นดอกบัวที่โผล่พ้นน้ำแล้วรอรับแสงอาทิตย์ที่จะบานต่อไป บัวประเภทที่ 2 เป็นดอกบัวปริ่มน้ำสามารถจะบานได้ในวันรุ่งขึ้น บัวประเภทที่ 3 เป็นดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำกว่าจะบานยังต้องรอคอยอีกหลายวัน และบัวประเภทที่ 4 เป็นดอกบัวที่เพิ่งจะงอกออกจากเหง้าในน้ำยังไม่พ้นภัยต่างๆ จากเหล่าปลาและเต่า

  • บัวกับวรรณคดีไทย

พิพิธภัณฑ์บัวมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้ดำเนินการจัดตั้งในปี พ.ศ.2543 และได้เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ในปี พ.ศ.2546  เพื่อดำเนินการสำรวจเก็บรวบรวมพันธุ์บัว ปลูกรักษา ศึกษาการใช้ประโยชน์ และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุ์บัว สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษา ค้นคว้าวิจัย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับวรรณคดีไทยว่า

ความสัมพันธ์ระหว่างบัวกับวรรณคดีสามารถเห็นได้จาก วรรณคดีชิ้นเอกซี่งเป็นที่รู้จักไม่น้อยของท่านกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชื่อ “นิราศภูเขาทอง ประพันธ์โดย สุนทรภู่” มีท่อนหนึ่งที่กล่าวว่า “กระจับจอกดอกบัวบานผกา  ดาษดาดูขาวดังดาวพราย” ทั้งนี้แท้จริงแล้วดอกบัวได้เข้าไปอยู่ในวรรณคดีไทยหลายต่อหลายเรื่องมากมายทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นร้อยแก้ว ร้อยกรอง โคลงฉันท์ กาพย์ หรือกลอน ต่างก็มีดอกไม้ชนิดนี้แทบทั้งนั้น แต่อาจจะใช้คำแตกต่างกันที่เรียกว่าคำไวพจน์ซึ่งมีความหมายว่าดอกบัว อาทิ อุบล บงกช นิลุบล ปทุม สโรชินี จงกลนี สัตตบุษย์  

  • บัวกับความเชื่อเรื่องมงคล

ในเรื่องความเชื่อก็ได้มีคำกล่าวไว้ไม่น้อย เช่น ครอบครัวใดปลูกบัวไว้ที่บ้านจะช่วยให้ครอบครัวนั้นมีจิตที่บริสุทธิ์ สะอาด แล้วก็เบิกบานแจ่มใส และมีความเชื่ออีกว่าสายใยของบัวเปรียบเสมือนสายสัมพันธ์ของครอบครัวที่จะทำให้คนในครอบครัวมีความรักความผูกพันต่อกันอย่างแนบแน่น

ส่วนการปลูกบัวนั้น ควรจะปลูกในวันพุธ เพราะจะทำให้ดอกบัวผลิบานสะพรั่ง แล้วผู้ที่ควรจะปลูกบัวมากที่สุดคือผู้ที่เกิดปีจอ เนื่องจากบัวเป็นต้นไม้ของคนเกิดปีจอ ยิ่งผู้เกิดปีจอเป็นคนปลูกและมีคนในบ้านเกิดปีจอเช่นเดียวกันก็จะยิ่งเพิ่มความเป็นสิริมงคลมากขึ้น และการปลูกบัวควรปลูกทางทิศตะวันตกจะทำให้เจริญงอกงามกว่าปลูกในทิศอื่น แต่ถ้าไม่มีผู้ที่เกิดปีจอก็สามารถให้ผู้นำครอบครัวเป็นผู้ปลูกได้


ต้นเข็ม

ไม้ดอก
credit : lifezshining.com
  • ต้นเข็มกับความเป็นมาและแหล่งกำเนิด

ดอกไม้มงคลดอกสุดท้ายที่จะเอ่ยถึงก็เชื่ออีกเช่นกันว่าคนไทยทุกคนต้องรู้จักแน่ๆ ดอกที่ว่านั้นคือ เข็ม เพียงเอ่ยชื่อก็ร้องอ๋อกันแล้วใช่ไหม เข็มมีถิ่นกำเนิดแบบกระจายตัวหลายพื้นที่ตั้งแต่อเมริกาใต้ อินเดีย ศรีลังกา จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศอินเดียถือว่าดอกเข็มเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์สำหรับใช้สักการะบูชาเทพเจ้าและใช้ในงานพิธีสำคัญต่างๆ มากมาย

  • ต้นเข็มกับการนำไปใช้

สำหรับประเทศไทยจัดได้ว่ารู้จักดอกเข็มกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในวันไหว้ครูจะมีการนำดอกเข็มไปเป็นส่วนหนึ่งของพานไหว้ครู เนื่องจากมีความเชื่อมาตั้งแต่ครั้งโบราณว่าดอกเข็มเปรียบเสมือนความเฉลียวฉลาด มีปัญญาเฉียบแหลมดั่งเข็ม ดังนั้นการจัดพานไหว้ครูด้วยดอกเข็มจึงเพื่อเป็นการขอพรให้ได้เป็นนักปราชญ์ที่มีสติปัญญาหลักแหลม

นอกจากนี้ยังมีการนำดอกเข็มไปจัดเป็นเครื่องบูชาพระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์และใช้ในพิธีทางศาสนาเพื่อความเป็นสิริมงคล ยิ่งไปกว่านั้นทางอินเดียก็ได้จัดให้เข็มเป็นดอกไม้สำคัญอยู่ในตำรายาอายุรเวทที่ใช้ในการขจัดพิษและแก้ไข้ด้วย นับว่าดอกเข็มช่างหลายคุณประโยชน์แถมยังมีหลากหลายสี เป็นต้นว่า สีแดงสด สีชมพู สีขาว สีเหลือง ซึ่งแต่ละสีจะให้ความสดใสไม่ต่างกันเลย

  • ต้นเข็มกับวรรณคดีไทย

ส่วนในด้านความข้องเกี่ยวกับวรรณคดีไทย ดอกเข็มได้เข้าไปอยู่ในวรรณคดีเหมือนกัน เช่นเรื่องเด่นเรื่องดังที่เป็นที่รู้จักได้แก่ “พระอภัยมณี ประพันธ์โดย สุนทรภู่” ดังตัวอย่างท่อนหนึ่งที่ว่า

‘ดอกเข็มขาวพวงนั้นฉันถวาย

แต่กลิ่นอายคลายพร้อมไม่หอมหวาน’

  • ต้นเข็มกับความเชื่อเรื่องความมงคล

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ตามที่กล่าวไปแล้วว่าดอกเข็มเป็นสัญลักษณ์ของความฉลาดเฉียบแหลม ดังนั้นบ้านใดปลูกเข็มไว้ในบริเวณบ้านก็จะช่วยให้คนในบ้านมีสติปัญญาแหลมคม แล้วก็ควรจะปลูกเข็มไว้ทางทิศตะวันออกและปลูกในวันพุธจะเป็นวันสิริมงคลแก่ทั้งบ้านทั้งผู้อาศัย

อีกหนึ่งเรื่องของความเชื่อที่เคยได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ คือมีบางคนเชื่อกันว่าเมื่อใดได้พบดอกเข็มที่มี 6 กลีบ เมื่อนั้นจะโชคดี หากยิ่งหาดอกเข็มที่มี 6 กลีบ ได้ครบ 9 ดอก ก็จะได้พบกับโชคลาภครั้งยิ่งใหญ่ ด้วยเพราะเรื่องนี้หลายคนจึงเรียกดอกเข็มว่า…ดอกไม้แห่งความโชคดี…

คงจะพอได้เห็นแล้วว่าดอกไม้ทุกต้นทุกดอกล้วนมีความสวยงามและมีคุณมีประโยชน์แถมช่วยเสริมสิริมงคลให้ได้ไม่มากก็น้อยซึ่งน่าจะเป็นไปตามคำกล่าวที่ว่าไม่มีสรรพสิ่งใดบนโลกใบนี้ที่จะไร้ประโยชน์ ดังนั้นมันจึงขึ้นอยู่กับผู้เห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ เหล่านั้นและดึงมันออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์…เช่นนั้น…นั่นเอง…


แหล่งอ้างอิง

พันธุ์ไม้ดอกมงคลยอดนิยม เสริมดวงการเงินและความมั่งคง
ปลูกไม้มงคลให้ตรงกับวาสนาทิศ
ปลูกไม้มงคลจัดสวนโชคลาภ
ร่ำรวยไม้มงคล

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้