หมาก คุณค่าเหนือกาลเวลาที่ควรค่าแก่การลงทุน

ชื่อภาษาอังกฤษ

Betel nut , Areca palm

ชื่อวิทยาศาสตร์

Areca catechu Linn

ความหมาย

หมาก คือ ต้นไม้ชนิดหนึ่ง มีลำต้นสูงตั้งตรง

ความเชื่อ

คนไทยในยุคก่อนมีความเชื่อว่าหากได้ปลูกต้นหมากไว้ประจำบ้านก็จะทำให้มีความอ่อนน้อมความมีน้ำใจ

หมาก คือต้นไม้ที่มีความสำคัญในอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน   ด้วยในสมัยโบราณ การกินหมากถือเป็นวัฒนธรรมการกินที่เป็นที่นิยมอย่างหนึ่งของคนไทยและคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความเชื่อที่ว่า คนที่มีฟันดำคือคนสวย คนงาม อีกทั้งการเคี้ยวหมากยังสร้างความเพลิดเพลิน วันไหนไม่ได้เคี้ยวหมากพาลให้หมดเรี่ยวหมดแรง นั่งหาวหวอดๆ จึงทำให้หมากเป็นพืชที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและเป็นผลผลิตที่มีมูลค่ามีราคาเรื่อยมา

ต้นหมากสูง

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อภาษาอังกฤษ : Arceanut plam tree

วงศ์ : PALMAE 

ชื่อท้องถิ่น : หมากเมีย(ทั่วไป) หมากเมีย มะ(ซอง-ตราด) เค็ด สะลา พลา(เขมร)ปีแน(มลายู)

ความเชื่อเกี่ยวกับต้นไม้ 

คนไทยในยุคก่อนมีความเชื่อว่าหากได้ปลูกต้นหมากไว้ประจำบ้านก็จะทำให้มีความอ่อนน้อมความมีน้ำใจ เพราะหมากมีการแตกใบที่สวยงามลักษณะที่มีความนิ่มนวลอ่อนไหว นอกจากนี้ หมากยังถูกใช้เพื่อการต้อนรับแขกที่ไปมาหาสู่กัน ดังนั้นจึงแสดงถึงการมีนิสัยใจคอที่ดี มีน้ำใจงามเพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย ควรปลูกต้นหมากไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผู้ที่ปลูกควรปลูกในวันอังคาร เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เอาประโยชน์ทั่วไปทางใบให้ปลูกในวันอังคาร

ส่วนประกอบของต้นหมากที่น่าสนใจ

ลำต้น

มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร ลำต้นตั้งตรง เป็นต้นเดี่ยวไม่แตกกิ่งก้าน ลักษณะของลำต้นเป็นรูปทรงกระบอก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8-12 เซนติเมตร เปลือกลำต้นเป็นรอยขวั้นรอบ ๆ ขึ้นไปตลอดลำต้น

ใบ

ใบหมากเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงเวียนหนาแน่นที่ปลายยอด ก้านใบรวมยาวได้ประมาณ 130-200 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบเรียวแคบ ใบอ่อนมีรอยแยก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 50-70 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบหนา กาบใบหุ้ม

ดอก

ดอกหมาก หรือ (จั่นหมาก) จะออกตามซอกโคนก้านใบหรือกาบนอก ดอกออกรวมกันเป็นช่อขนาดใหญ่ประกอบไปด้วยโคนจั่นยึดติดอยู่ที่ข้อของลำต้น ก้านช่อดอกเป็นเส้นยาวแตกออกโดยรอบแกนกลาง มีกลีบหุ้มช่อขนาดใหญ่ยาวประมาณ 40 เซนติเมตร เป็นมันเงา มีใบประดับหุ้มอยู่

ผลหมาก

มีลักษณะเป็นทะลาย ซึ่งมีผลเป็นรูปทรงกลม รูปกลมรี รูปไข่ รูปไข่ปลายแหลม หรือเป็นรูปกระสวยขนาดเล็ก รวมอยู่มากมาย โดยเฉลี่ยแล้วผลที่รวกมันเป็นทะลาย ในหนึ่งทะลายจะมีผลอยู่ประมาณ 10-150 ผล ผิวผลเรียบ มีกลีบเลี้ยงติดเป็นขั้วผล ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7 เซนติเมตร ผลดิบหรือผลสดเปลือกผลจะเป็นสีเขียวเข้ม เรียกว่า “หมากดิบ” ผลเมื่อแก่เปลือกผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มทั้งผลหรือสีแดงแกมส้ม เรียกว่า “หมากสุก” หรือ “หมากสง” ซึ่งมักจะออกผลในช่วงเดือนพฤษภาคม ของทุกปี

ต้นหมาก สรรพคุณ

สายพันธุ์ของหมากที่น่าสนใจ ให้ผลผลิตดี รายได้งาม

สายพันธุ์หมากที่นิยมปลูกเพื่อการพาณิชย์ในเมืองไทยได้แก่

หมากพันธุ์ต้นสูง

ซึ่งเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ปลูกมาตั้งแต่สมัยอดีต มีลักษณะลำต้นสูง ต้นค่อนข้างเล็ก ปล่องห่าง ใบยาว จั่นยาว ออกจั่นในปีที่ 4-5 ออกจั่นเยอะ ให้ผลผลิตสูง อายุยืนและมักให้ผลผลิตตลอดอายุขัยของต้นหมาก เป็นหมากเศรษฐกิจ เหมาะสำหรับการปลูกเชิงพาณิชย์ และต้นหมากเมื่อหมดอายุไปไม้หมากจะนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้

ต้นหมากพันธุ์เตี้ย

เป็นหมากที่ให้ผลผลิตที่กินได้ในเวลาไม่นานหลังจากทำการปลูก โดยเฉลี่ยประมาณ 2-3ปีก็ติดผล ซึ่งเป็นหมากสายพันธุ์ที่กำลังเป็นที่นิยมปลูก เพราะเก็บผลง่าย ต้นสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร เท่านั้นเอง

วิธีการปลูก และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกหมาก

วิธีการปลูกต้นหมากสามารถปลูกได้ด้วยการเพาะเมล็ดแต่เพียงเท่านั้น เพราะต้นหมากไม่มีกิ่งก้านให้ปักชำได้ การเลือกพันธุ์ต้นหมากเพื่อที่จะเพาะเมล็ดนั้นควรเลือกจากต้นที่แก่จัดที่มีอายุราว 10 ปี ขึ้นไป หรือเรียกว่าต้นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เพราะจะมีเปลือกหนาและให้ลูกดกสมบูรณ์

วิธีการเพาะเมล็ดจะต้องเริ่มโดยการเพาะลงแปลงปลูกก่อน โดยให้เตรียมดินในแปลงไว้ใช้เป็นดินร่วนปนดินทรายผสมกับแกลบ จากนั้นก็ขุดหลุมในแปลงประมาณ 6 นิ้ว โดยแปลงควรจะกว้างราว 1 เมตร เมื่อขุดหลุมเรียบร้อยแล้วก็นำเมล็ดหย่อนลงไปและกลบด้วยดินผสมแกลบ ควรเพาะเมล็ดต้นหมากไว้ในที่โล่งแจ้ง จากนั้นก็นำกาบมะพร้าวมาบังแสงแดดเพื่อไม่ให้แดดโดนต้นอ่อนมากนัก วิธีดูแลเพียงแค่รดน้ำ 2 วันครั้งและหากเป็นช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกทุกวันก็ควรงดการรดน้ำเพื่อไม่ให้เกิดน้ำขัง

วิธีการดูแลหมากให้ได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ

แสง

หมากชื่นชอบอากาศที่ร้อน และแสงแดดจัด อากาศถ่ายเทสะดวก

น้ำ

หมากเป็นพืชที่ต้องการความชุ่มชื้นสูง และเพียงพออยู่ตลอดเวลาโดยต้องไม่มีน้ำขัง

ดิน

สำหรับปลูกหมากที่ดี มักจะเป็นดินเหนียวที่มีอินทรียวัตถุสูง สามารถระบายน้ำได้เป็นอย่างดี โดยมีหน้าดินอยู่ประมาณ 1 เมตร

ต้นหมากพลู

ประโยชน์และสรรพคุณของหมาก คุณค่าที่แปรเปลี่ยนตามยุคสมัย

หมากเป็นต้นไม้ที่เป็นที่รู้จักในสังคมไทยมาช้านาน และสามารถนำผลไปแปรรูปทำประโยชน์ได้หลายอย่าง เริ่มตั้งแต่นำไปใช้ประกอบพิธีทางศาสนา ใช้เป็นของขบเคี้ยว ใช้ทำยาสมุนไพรทั้งในคนและในสัตว์  จนกระทั่งใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนังและทำสี เรียกว่านำไปใช้ประโยชน์ได้รอบด้าน ทำให้หมากมีตลาดรองรับที่กว้างสามารถขายส่งออกต่างประเทศได้ในราคาสูง

เนื่องจากความนิยมในการเคี้ยวหมากในปัจจุบันลดลงจนแทบไม่หลงเหลือ ประโยชน์ที่ได้จากการปลูกหมากจึงเป็นไปในทางอุตสาหกรรม โดยมีการใช้หมากแห้งสำหรับอุตสาหกกรรมฟอกหนัง ฟอกเส้นใย และทำยารักษาโรค นอกจากนั้นหมากยังมีสารออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และถูกใช้ในยาสมุนไพรในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นต่างๆเช่น ใช้เป็นยาสมานแผล แก้ท้องเสีย รวมถึงยาสีฟันรักษาโรคเหงือกและฟันเป็นต้น นอกจากนั้นหมากยังถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีการปลูกเพื่อการส่งออกอย่างแพร่หลาย เพราะเลี้ยงง่ายโตไว การดูแลรักษาไม่ยุ่งยากแถม ลงทุนปลูกเพียงครั้งเดียว แต่สามารถสร้างผลผลิตไปได้ยาวนานนับ 10 -20ปีเลยทีเดียวแถมยังมีราคาผลผลิตที่ค่อนข้างสูงอีกด้วย

ราคาจำหน่ายต่อต้นโดยประมาณ

กล้าหมากเพาะงอก มีราคาจำหน่ายอยู่ที่ผลละ 5-10 บาท ขึ้นอยู่กับปริมาณและความต้องการของตลาดในช่วงนั้นๆ

แหล่งอ้างอิง

https://arit.kpru.ac.th/

อยากให้มีเนื้อหาเรื่องอะไรเพิ่มเติม หรือมีความคิดเห็นอย่างไร เชิญคอมเม้นท์ไว้ได้เลยครับ