มานูก้า (Manuka) เป็นพันธุ์ไม้ที่เรียกได้ว่ามีดีทั้งหน้าตา กลิ่น และสรรพคุณ และในปัจจุบันเริ่มความความนิยมมากขึ้นในหมู่คนรักสุขภาพ และคนเมือง ดอกมานูก้าเพึ่งเริ่มนำมาเป็น 1 ในส่วนผสม ไม่ว่าจะเป็นอาหารและเครื่องดื่ม ดังนั้นจึงมีนักปลูกจำนวนไม่น้อยที่อยากมีไว้ปลูกในบ้านของต้นเอง นั้นทำให้วันนี้ Kaset today จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับพันธุ์ไม้ดอกชนิดนี้ กันไม่ว่าจะเป็นแหล่งที่มา ชนิดสายพันธุ์ วิธีการปลูก และเคล็บลับดีๆในการดูแล ที่คุณยังไม่เคยเจอที่ไหน
มานูก้า เป็นไม้ดอกทรงพุ่มขนาดย่อมที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถเพาะเลี้ยงให้เป็นพุ่มเล็กในกระถาง หรือจะนำลงดินให้แตกกิ่งก้านสูงใหญ่ก็ได้เหมือนกัน โดยต้นนี้จะมีความสูงได้มากถึง 3 เมตร จุดเด่นอยู่ที่มีดอกสีสันสวยงามสะดุดตา ทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี ส่วนใบและดอกมีน้ำมันหอมระเหยที่สามารถสกัดไปใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพได้ หรือจะนำไปชงชาเพื่อเพิ่มความผ่อนคลายก็ได้เหมือนกัน แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นคือการผสมเกสรเพื่อผลิต “น้ำผึ้งมานูก้า” ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นน้ำผึ้งที่มีคุณค่าสูงมาก นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการสุขภาพและความงาม
ข้อมูลทั่วไปของ มานูก้า
ชื่อภาษาไทย : มานูก้า
ชื่อภาษาอังกฤษ : Manuka
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Leptospermum scoparium Forst. & Forst.f.
ชื่อวงศ์ : Myrtaceae
ชื่อสกุล : Leptospermum
เกร็ดความรู้ ! มานูก้ามีถิ่นกำเนิดที่ไหน มีนักพฤษศาสตร์หลายท่านให้ความเห็นตรงกันว่า ต้นมานูก้ามีถิ่นกำเนิดในนิวซีแลนด์ แทสเมเนีย สามารถทนอยู่ในดินทราย และชอบสภาพอากาศเย็น
ความพิเศษของน้ำผึ้งมานูก้า
น้ำผึ้งมานูก้าคือผลผลิตที่ได้จากการผสมเกสรของต้นมานูก้าเท่านั้น ไม่มีดอกไม้ชนิดอื่นเจือปน มีความเข้มข้นและมีกลิ่นหอมของดอกไม้จางๆ เป็นน้ำผึ้งที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด และยังมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียที่ค่อนข้างโดดเด่น ในด้านของการดูแลสุขภาพ สามารถใช้เพื่อสมานบาดแผล ลดความตึงเครียด ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น และบรรเทาอาการเจ็บหรือระคายคอ ส่วนในด้านความงามก็มีผลดีต่อการบำรุงผิวพรรณ ลดการอักเสบ เพิ่มความชุ่มชื้น และต้านอนุมูลอิสระบนชั้นผิวได้ดี
เกร็ดความรู้ ! ทำไมต้อง...มานูก้า ที่มาของคำว่า "มานูก้า" มาจากภาษาเมารี ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองของนิวซีแลนด์ แต่ก็ยังมีการถกเถียงว่าควรเอาชื่อนี้เป็นชื่อทางการเลยดีไหม เพราะเป็นการกรองมาจากนิวซีแลนด์เพียงฝ่ายเดียว แต่ในปัจจุบันคนทั่วโลกยอมรับชื่อนี้เพราะเห็นว่า ต้นมานูก้ามีถิ่นกำหนิดจากนิวซีแลนด์ ดังนั้นการที่ฝั้งนั้นตั้งชื่อก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไร...แถมชื่อยังน่ารักอีกด้วย
มานูก้ามีลักษณะยังไง
- ลำต้น
เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กที่เติบโตช้า มีลำต้นใหญ่เป็นแกนกลางผิวสีน้ำตาลอ่อน แล้วแตกกิ่งออกด้านข้างเป็นชั้นๆ คล้ายต้นสน ในกอหนึ่งจะประกอบด้วยลำต้นใหญ่หลายอัน ทำให้ทรงพุ่มขยายออกด้านข้างเล็กน้อย พุ่มโปร่งและไม่ค่อยเป็นระเบียบนัก
- ใบ
รูปร่างใบเป็นทรงเรียวยาวปลายแหลม ขนาดเล็กคล้ายเมล็ดข้าว เนื้อใบหนาสีเขียวอ่อนจนถึงสีเขียวอมม่วงแล้วแต่สายพันธุ์ แตกใบวนเป็นชั้นรอบกิ่งตั้งแต่โคนจรดปลาย ผิวสัมผัสมีขนบางๆ ปกคลุมอยู่
- ดอก
มีทั้งแบบที่เป็นดอกกลีบชั้นเดียวและดอกกลีบซ้อน เนื้อกลีบค่อนข้างบางและช้ำง่าย ตรงกลางเป็นเกสรที่เรียงตัวกันเป็นวงกลม มองเห็นเส้นเกสรได้ชัดเจน กลางดอกจะมีสีเข้มมาก ดอกจะงอกตามซอกใบไล่ตั้งแค่โคนกิ่งไปจนสุดปลายยอด
- ผล
เป็นทรงกลมขนาดเล็ก ผิวเกลี้ยง และแตกได้เมื่อแก่จัด
มานูก้ามีสายพันธุ์อะไรบ้าง
สายพันธุ์ยอดนิยมในไทย การแบ่งสายพันธุ์ของต้นมานูก้าจะเรียกชื่อไปตามสีของดอกที่แตกต่างกันไป ซึ่งอันที่จริงแล้วพืชชนิดนี้ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์จนมีให้เลือกค่อนข้างมากแล้วในปัจจุบัน แต่พันธุ์ที่เพาะปลูกแล้วงอกงามได้ดีในบ้านเรามีดังนี้
- ต้นมานูก้าดอกขาว
นี่เป็นสายพันธุ์แรกๆ ที่นำเข้ามาขยายพันธุ์ในไทย ลักษณะดอกจะมีกลีบชั้นเดียวสีขาว อาจมีสีชมพูระเรื่อปนเล็กน้อย กลางดอกเป็นวงกลมสีโทนแดงม่วง ใบสีเขียวอ่อนขนาดเล็ก
- ต้นมานูก้าRed Damask
พันธุ์นี้มีดอกสีแดงสด กลางดอกเป็นวงกลมที่มีเฉดแดงเข้มกว่ากลีบดอกเล็กน้อย พบได้ทั้งแบบดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน ในพุ่มเดียวกันอาจมีดอกสีขาวปะปนมาบ้าง ใบเล็กยาวสีเขียวเข้ม
- ต้นมานูก้า Burgundy
ลักษณะโดยรวมจะคล้ายคลึงกับพันธุ์ Red Damask แต่กลีบดอกจะเป็นสีโทนแดงที่ผสมชมพูมากกว่า กลีบดอกซ้อนกันหลายชั้น และการแตกดอกจะรวมกันเป็นกระจุกมากกว่า
- ต้นมานูก้า Princes PriManuka
เป็นพันธุ์หายากที่มีดอกสีชมพูหวาน กลางดอกเป็นชมพูอมแดง กลีบดอกชั้นเดียวและแตกออกเป็นกลุ่ม ใบจะต่างจากพันธุ์อื่นชัดเจน เพราะมีขนาดใหญ่กว่าและมีรูปทรงที่อ้วนป้อมมากกว่า
การขยายพันธุ์
ต้นมานูก้าสามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือการเพาะเมล็ดและการปักชำ แต่ในบ้านเราจะนิยมการปักชำมากกว่า เพราะได้ผลผลิตเร็วและมีเปอร์เซ็นต์การติดรากสูง โดยขั้นตอนก็ไม่ยุ่งยากอะไร
การเพาะเมล็ด
- เตรียมเมล็ดพันธุ์ กระบะเพาะ สเปรย์น้ำ และน้ำสะอาด(ไม่ควรใช้น้ำประปา)
- นำพีทมอสเทลงกระบะเพาะ หนาพอสมควร จากนั้น โปรยหว่าเมล็ดพันธุ์ให้กระจายตัว (ไม่เกาะกันเป็นกระจุก) ลงบนพีทมอส
- โรยพีทมอสกลบทับเมล็ดพันธุ์หนาประมาณ 0.5 เซ็นติเมตร และเกลี่ยให้ผิวหนาเรียบเสมอกัน
- สเปรย์น้ำลงบนกระบะเพาะให้ทั่ว ชุ่มชื้นดี แต่อย่าให้แฉะหรือท่วมขัง และนำไปตั้งวางในบริเวณที่ร่มรำไรหรือใต้ต้นไม้ใหญ่
- หมั่นดูแลเรื่องความชื้น มิให้หน้าดินแห้ง และบางพื้นที่ บางช่วงเวลาที่อากาศร้อนจัดอาจต้องใช้แผ่นพลาสติกใส (ที่ใช้ปิดคลุมหรือห่ออาหาร) หุ้มกระบะเพาะเพื่อรักษาความชื้น
การปักชำ
- เริ่มจากหาต้นแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ดี เลือกตัดปลายยอดที่ก้านไม่ใหญ่มากนักให้ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร
- จากนั้นเตรียมวัสดุปลูกเป็นดินร่วมผสมใบก้ามปู เทใส่กระถางขนาดเล็กสำหรับเพาะกล้า 3 ส่วน 4 ของกระถาง คว้านเนื้อดินตรงกลางให้เป็นโพรงลึกลงไปถึงด้านล่าง ใช้ทรายละเอียดผสมน้ำให้พอไหลได้เทลงไปจนเต็ม ทรายนี้จะช่วยไม่ให้ต้นกล้าเน่าตายก่อนแตกราก หากไม่มีทรายจะใช้เป็นขุยมะพร้าวแบบละเอียดก็ได้
- หลังทรายเซตตัวให้ใช้ไม้ปลายแหลมเจาะนำร่อง ก่อนนำกิ่งที่ตัดไว้เสียบให้ลึกลงไปประมาณ 3 เซนติเมตร กดดินบริเวณโคนให้ยึดต้นอยู่ได้
- รดน้ำให้ชุ่มแล้ววางทิ้งไว้จนสะเด็ดน้ำ ปิดท้ายด้วยการครอบถุงพลาสติกที่พอดีกับกระถาง วางไว้ในแดดรำไรจนกว่ารากจะงอกโดยไม่ต้องเปิดถุงอีก
การปลูกและการดูแลต้นมานูก้า
การปลูก
- แสง
ต้องการแสงค่อนข้างมาก เหมาะสำหรับเพาะปลูกไว้กลางแจ้งที่ได้รับแสงเต็มวัน
- น้ำ
ปริมาณน้ำปานกลาง สามารถรดน้ำ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ได้ หรือจะรดเฉพาะตอนที่หน้าดินแห้งก็ได้เหมือนกัน
เติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่มีคุณสมบัติระบายน้ำได้เร็ว
ใช้ปุ๋ยคอกบำรุงแร่ธาตุในดินทั่วไป ความถี่ประมาณเดือนละ 1-2 ครั้งแล้วแต่ความสมบูรณ์ของดินหากต้องการกระตุ้นดอกให้งดการใส่ปุ๋ยในฤดูหนาว
การดูแล
การปลูกต้นมานูก้าสิ่งที่ควรระวังคือ การให้น้ำมากเกินไป หรือดินมีความแฉะ ระบายน้ำไม่ดี ควรระวังในเรื่องแมลงศัตรูพืช คือ เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง
คุณประโยชน์ที่ได้จากต้นมานูก้า
- ใบ
ส่วนใบจะมีน้ำมันหอมระเหยที่สามารถสกัดไปใช้ประโยชน์ได้ นิยมสกัดด้วยวิธีโบราณเพื่อคงคุณสมบัติที่ดีเอาไว้ กลิ่นจะคล้ายคลึงกับ Tea Tree แต่ให้ความบางเบาและสดชื่นกว่า นอกจากนี้ยังนิยมนำใบมาชงชาดื่ม ใช้ได้ทั้งใบสดและใบตากแห้ง ช่วยเพิ่มความรู้สึกผ่อนคลายได้ดี
- ดอก
เป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการผลิตน้ำผึ้งมานูก้า ซึ่งถือว่าเป็นราชินีแห่งน้ำผึ้ง มีคุณสมบัติช่วยบำรุงผิวพรรณและสุขภาพร่างกายได้ดี ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ลดความรุนแรงของภาวะนอนไม่หลับ และยังช่วยปรับระบบขับถ่ายให้ดีขึ้น ยิ่งกว่านั้นยังสามารถนำมาชงชาร่วมกับใบดื่มได้ด้วย
- ลำต้น
ด้วยขนาดพุ่มที่ไม่ใหญ่มากนัก จึงนิยมเพาะลงกระถางเพื่อตั้งไว้เป็นไม้ประดับ จุดเด่นคือออกดอกให้ชื่นชมได้ตลอดทั้งปี
โอกาสในธุรกิจ
ต้นมานูก้า ไม้ประดับทำเงินที่การแข่งขันยังไม่สูงเนื่องจากต้นมานูก้าเป็นพันธุ์ไม้ที่มีดีทั้งความสวยงามและคุณประโยชน์ จึงได้รับความนิยมในวงการไม้ประดับอย่างมาก สำหรับต้นกล้าที่มีความสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตรก็มีมูลค่าสูงหลายพันบาท ยิ่งถ้าเป็นสายพันธุ์หายากก็ยิ่งมีราคาสูงขึ้นไปอีก
กลุ่มลูกค้าของต้นมานูก้ามีทั้งลูกค้ารายย่อยที่เน้นปลูกตกแต่งบริเวณบ้าน และลูกค้ารายใหญ่ที่ต้องการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งแตกแขนงไปได้ทั้งสายสุขภาพและความงาม ประเด็นสำคัญคือยังมีผู้ที่รู้จักพันธุ์ไม้ชนิดนี้น้อย หากนับเฉพาะแหล่งเพาะปลูกก็ยิ่งน้อยลงไปอีก นี่จึงนับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับเกษตรที่ต้องการสร้างช่องทางรายได้ใหม่ๆ
และสินค้าที่ขึ้นชื่อคือ น้ำผึ้งมานูก้า ซึ่งตลาดน้ำผึ้งมานูก้ายังสามารถเติบโตได้อีกมากในอนาคต เพราะต้นมานูก้าก็พึ่งเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยไม่นาน และยังไม่ค่อยมีขายอย่างแพร่หลายแต่พอจะหาได้จากห้างสรรพสินค้าแต่ก็มีราคาแพงมาก
เกร็ดความรู้ ! กินยังไงให้ถูกต้อง การกินน้ำผึ้งมานูก้าสิ่งหนึ่งที่คุณต้องรู้คือ ห้ามใช้ช้อนหรือภาชนะอะไรก็ตามที่เป็น "เหล็ก ทอง เงิน หรือ สแตนเลส" เด็ดขาด! เพราะสารในน้ำผึ้งมานูก้าจะทำปฏิกิริยากับโลหะ ทำให้สารอาหารดี ๆ หายไป ดังนั้นควรหันมาใช้วัสดุที่ทำจาก "ไม้หรือพลาสติก" แทน by : หนูดี วนิษา เรซ
เป็นอย่างไรกันบ้างกับมานูก้า ดอกไม้มหัศจรรย์ ที่กำลังเป็นที่จับตามองของสาว ๆไปทั่วโลก และตอนนี้ในประเทศไทยก็สามารถปลูกมานูก้าได้แล้ว นั้นก็เป็นเรื่องที่ดี หากใครได้อ่านบทความนี้ก็น่าจะเกิดไอเดียดี ๆ ในการนำไปต่อยอดธุรกิจได้อย่างแน่นอน และหากคุณมีความสนใจเกี่ยวกับ พันธุ์ไม้ พันธุ์พืช สมุนไพร ดอกไม้ ผักสวนครัว หรือ เรื่องปุ๋ย และแมลงศัตรูพืช ก็เป็นหัวข้อที่คุณควรรู้เช่นกัน หากคุณกำลังรักในการปลูกต้นไม้
แหล่งอ้างอิง Home Guides thespruce