หนูนา (Rattus argentiventer) เป็นหนูที่มีขนาดตัวกลาง ๆ ไม่ใหญ่เท่าหนูพุกหรือหนูบ้าน น้้ำหนักเมื่อโตเต็มวัยประมาณ 100 – 200 กรัม บริเวณขนตามลำตัวจะมีสีน้ำตาล เมื่อใช้มือลูบย้อนขนจะรู้สึกเจ็บมือ เนื่องจากมีขนแข็งสีขาวแทรกอยู่ ลักษณะแข็งกว่าปกติ มีขนสีดำพาดบนหลังเท้า โดยหนูนาจะมีทั้งหนูนาใหญ่และหนูนาเล็ก ซึ่งหนูนาขนนาดใหญ่อาจมีน้ำหนักตัวได้มากถึง 250 กรัม หางสั้นกว่าหนูนาเล็กหรือเท่ากับความยาวหัวและลำตัวรวมกัน หางมีสีดำตลอด มีขนด้านท้องมีสีเงินออกขาว เป็นหนูที่ส่วนใหญ่คนนำไปเลี้ยงบริโภค เพราะอยู่ตามธรรมชาติกินพืชต่าง ๆ ตามท้องไร่ท้องนา ไม่ได้มีแบคทีเรียหรือกินเศษอาหารเหมือนหนูท่อหรือหนูบ้านทั่วไป โดยปกติหนูจะโตเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 2 – 3 เดือนขึ้นไป
เดิมทีหนูนั้นหลายคนคงรู้ดีว่าเป็นเหมือนศัตรูตัวฉกาจของมนุษย์ เพราะพฤติกรรมของหนูนั้นมักจะใช้ฟันแทะเล็มสิ่งของและผลผลิตของชาวไร่ชาวนาจนเสียหาย อีกทั้งหนูเป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้ง่ายมีลูกได้หลายตัวต่อครั้งและมักจะอยู่กันเป็นฝูง ซึ่งก็เป็นที่มาของโรคติดต่อต่าง ๆ อาทิโรคฉี่หนูหรือกาฬโรค ดังนั้น หนูจึงเป็นเหมือนคู่ปรับกับเรามาหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะหนูนาที่ทำให้ผลผลิตอย่างข้าวของชาวนาเสียหายไปไม่น้อยเลย แต่ในปัจจุบันปัญหานี้กำลังจะหมดไป เพราะปริมาณหนูนาตามธรรมชาติได้เริ่มมีจำนวนน้อยลง ไม่ใช่เพราะพวกมันไม่สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมแต่อย่างใด แต่เพราะมนุษย์นั้นรู้แล้วว่าหนูนาสามารถนำไปบริโภคได้ปัจจุบันจึงมีการเลี้ยงหนูนาหรือหนูพุกใหญ่กันอย่างเป็นล่ำเป็นสันเพื่อนำไปบริโภคหรือส่งออกขายตามท้องตลาด โดยเฉพาะในแถบภาคอีสานและยังมีฟาร์มหนูนากระจายอยู่ในหลายพื้นที่ของไทย อาทิ แถบจังหวัดราชบุรี สุพรรณบุรีและปทุมธานี
ในหลายปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าหนูนาได้กลายเป็นอาหารอันโอชาของคนจำนวนไม่น้อย ด้วยความที่หนูนาเป็นหนูที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติและใช้การกินพืชหรือผลผลิตในไร่นาเป็นหลัก จึงปลอดภัยมากกว่าหนูท่อหรือหนูบ้านที่จะหากินตามสิ่งปฏิกูลต่าง ๆจำพวกซากพืช ซากผัก ขยะหรือเศษอาหารทำให้พวกมันดูไม่น่าโปรดปรานมากนัก ซึ่งหนูนานอกจากจะสามารถนำไปประกอบอาหารได้ถูกสุขลักษณะได้มากกว่าหนูทั่วไปแล้ว เนื้อของมันก็อร่อยไม่ไปเป็นสองรองใคร ซึ่งในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนหรือเวียดนามก็มองว่าหนูเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีที่สามารถกินได้ไม่ต่างไปจากเนื้อหมูหรือเนื้อไก่เลย ดังนั้น ใครที่กำลังสนใจอยากจะลองทำความรู้จักกับอาชีพการเลี้ยงหนูนาขายต้องไม่พลาดเนื้อหาที่ทาง Kaset today จะนำมาแบ่งปันในวันนี้ เพราะมีสารพัดข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงหนูนามาให้ทุกคนได้ลองไปศึกษากัน
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับหนูนา
ชื่อภาษาไทย: หนูนา (หนูนาท้องขาว หนูฝ้าย)
ชื่อภาษาอังกฤษ: Lesser ricefield rat
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Rattus losea (Swinhoe)
ตระกูลสัตว์: จัดอยู่ในตระกูลหนูท้องขาว Muridae Rattus
สายพันธุ์หนูที่พบได้บ่อยในประเทศไทย
ก่อนที่เราจะไปรู้จักกับขั้นตอนหรือรูปแบบการเลี้ยงหนูนา การจำแนกชนิดของหนูให้ออกก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องบอกก่อนว่าจริง ๆ แล้วสายพันธุ์หนูทั่วโลกนั้นมีเยอะมาก ๆ แต่หนูที่จะพบได้ในประเทศไทยหรือเขตร้อนอย่างบ้านเรานั้นมีอยู่หลัก ๆ 6 สายพันธุ์ ซึ่งจากการศึกษาในเอกสารเรื่องหนูศัตรูพืชของทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้มีการอธิบายลักษณะของหนูแต่ละสายพันธุ์ไว้ดังนี้
1) หนูพุกใหญ่ (Great Bandicoot)
สำหรับหนูชนิดแรกที่เราอยากแนะนำคือหนูพุกใหญ่ซึ่งจัดเป็นหนูศัตรูข้าวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เพราะมีน้ำหนักตัวเต็มวัย 400 – 600 กรัม ขนตามลำตัวมีสีดำบางครั้งอาจมีสีน้ำตาล บริเวณด้านหลังจะมีขนแข็งโผล่ออกมาให้เห็นได้ชัด เท้ามีสีดำ ท้องสีเข้ม หน้าค่อนข้างสั้น เท้าหลังจะมีความยาวมากกว่า 50 มิลลิเมตร หนูชนิดนี้ชาวนามักจะเรียกว่า “หนูแผง” มีลักษณะเด่นคือเสียงขู่ร้องดังมากในลำคอ เพศเมียมีเต้านมที่อก 3 คู่ที่ท้อง 3 คู่ สามารถขุดดินได้ลึกและมีปากรูทางเข้าขนาดใหญ่และชอบอาศัยอยู่ตามคันนา หนูชนิดนี้เป็นศัตรูพืชตัวฉกาจของชาวนาในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวและยังเป็นที่มาของโรคติดต่ออย่างฮันต้าไวรัส มิวรีนไทฟัสหรือเลปโตสไปโรซีส
2) หนูพุกเล็ก (Lesser Bandicoot)
หนูชนิดนี้มีลักษณะคล้ายหนูพุกใหญ่มากทั้งนิสัยที่ชอบขู่และสีขนตามลำตัว มีข้อแตกต่างเล็กน้อยเพราะบริเวณเท้าไม่ดำและไม่มีขนแผงที่หลัง ขนตามลำตัวส่วนหลังสีเทาเข้ม ส่วนด้านท้องสีเทาอ่อน บางครั้งมีขนสีขาวขึ้นแซม ปกติหางมีสีเดียวกันตลอดหาง บางท้องที่จะพบปลายหางเป็นสีขาว น้ำหนักตัวเต็มวัยจะอยู่ที่ประมาณ 200 – 500 กรัม เท้าหลังจะมีความยาวน้อยกว่า 41 มิลลิเมตร หนูชนิดนี้สามารถพบได้ทุกภาคมักจะขุดรูอาศัยในคันนาหรือตามคูคลองต่าง ๆ เป็นหนูที่มีนิสัยแทะทำลายข้าวและพืชไร่ตลอดระยะการปลูกข้าว
3) หนูนาท้องขาวหรือหนูนา (Rice – field rat)
หนูนาหรือหนูท้องขาวลักษณะทั่วไปจะมีน้ำหนัก 100 –250 กรัมเมื่อตัวเต็มวัย หางสั้นกว่าหรือเท่ากับความยาวหัวและลำตัวรวมกัน หางมีสีดำ ขนท้องมีสีเงินออกขาว ในหนูที่ยังโตไม่เต็มวัยจะมีขนสีส้มกลุ่มเล็ก ๆ ที่โคนหู เพศเมียมีเต้านม 3 คู่ที่ส่วนอกและมีอีก 3 คู่ที่ส่วนท้องด้านล่าง ตาและใบหูเล็ก หนูนามักจะขุดรูอาศัยตามคันนาหรือที่ที่มีวัชพืชขึ้นปกคลุมมีกองขุยดินที่ปากรู พบหนูชนิดนี้ได้มากในภาคกลางและยังเป็นพาหะหรือโรคติดต่อสำคัญจำพวกกาฬโรค ชอบกัดแทะทำลายข้าวหรือผลผลิตของชาวนาเสียหายเป็นบริเวณกว้าง
4) หนูนาหรือหนูสวน (Lesser rice – field rat)
เป็นหนูในวงศ์เดียวกันกับหนูท้องขาวแต่จะมีขนาดเล็กกว่าหนูนาท้องขาวหรือหนูนาแบบแรก มีน้้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยประมาณ 90 – 100 กรัม ขนตามลำตัวคล้ายหนูนาท้องขาวแต่นุ่มและไม่มีขนแข็ง ๆ มาแทรก ขนใต้ท้องมีสีเข้มออกดำและมีหน้าสั้นกว่าหนูนาท้องขาว เพศเมียมีนม 2 คู่ที่บริเวณอกและมีอีก 3 คู่ที่ส่วนหน้าท้อง ตาและใบหูเล็ก เป็นหนูที่มักจะอยู่ตามที่ที่มีวัชพืชปกคลุม ขุดรูอาศัยตามคันนา ไร่สวนและแปลงปลูกพืชต่าง ๆ เป็นศัตรูที่มักทำให้ข้าวเสียหาย รวมถึงธัญ สามารถพบได้ทุกภาคของประเทศแต่พบมากในภาคกลางและภาคเหนือ
5) หนูหริ่งนาหางยาว (Ryukyu mouse)
เป็นหนูนาที่มีขนาดเล็กมากและมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยเพียงแค่ 12 กรัมเท่านั้น บริเวณขนใต้ท้องจะมีสีขาว ฟันหน้าด้านบนตรง ด้านล่างสีน้ำตาลเข้มกว่าฟันหนูชนิดอื่น จมูกสั้นเมื่อมองจากทางด้านบนจะเห็นฟันหน้ายื่นเลยจมูก หางมีสองสีบริเวณด้านบนมีสีดำส่วนด้านล่างสีขาว ความยาวของหางจะยาวกว่าลำตัวและหัวรวมกัน ตีนหลังใหญ่และมีสีเทา หนูชนิดนี้จะมีพฤติกรรมชอบปีนป่ายได้ดีกว่าหนูหริ่งนาหางสั้น ชอบขุดรูอาศัยตามคันนาหรือพื้นที่ที่มีหญ้ารก ๆ ปกคลุม เป็นศัตรูสำคัญของข้าวและธัญพืช ถั่วเหลือง ถั่วเขียวและข้าวโพด ส่วนในยุโรปพบอยู่อาศัยตามบ้านเรือนในเขตชุมชน
6) หนูหริ่งนาหางสั้น (Fawn – coloured mouse)
หนูชนิดสุดท้ายคือหนูหริ่งหางสั้นมีขนาดพอกับหนูหริ่งนาหางยาว ความยาวของหางจะสั้นกว่าความยาวของหัวและลำตัวรวมกัน หางด้านบนสีเทา ด้านล่างสีขาว ขนท้องมีสีเทา เท้าสีขาว จมูกยาวกว่า ทำให้ส่วนหน้าแหลม หางมี 2 สี ส่วนฟันด้านล่างจะมีสีอ่อนกว่าหนูหริ่งชนิดแรก หนูหริ่งหางสั้นนี้จะพบได้มากเกือบทุกภาคของประเทศไทยและเป็นศัตรูสำคัญของข้าวและธัญพืช ถั่วเหลือง ถั่วเขียวและข้าวโพด ในออสเตรเลียพบระบาดมากในไร่ข้าวสาลีและธัญพืช
วิธีการเลี้ยงหนูนาในบ่อซีเมนต์
สำหรับคนที่สนใจอยากจะเลี้ยงหนูนาต้องบอกก่อนว่าการเลี้ยงในบ่อปูนซีเมนต์แบบนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดและคนส่วนใหญ่ก็นิยมใช้วิธีนี้ในการเลี้ยงเพราะดูแลได้ง่ายและเลี้ยงได้ทีละหลาย ๆ ตัว ซึ่งวันนี้เราก็จะมาแนะนำวิธีการเลี้ยงหนูนาในบ่อปูนทั้งขั้นตอนของการเตรียมพื้นที่และการจัดการดูแลต่าง ๆ มาดูกันว่าจะเลี้ยงหนูนาทั้งทีต้องทำอะไรบ้าง
การเตรียมบ่อเลี้ยงหนูนา
ด้วยความที่เราต้องเลี้ยงหนูในท่อเป็นหลักสิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมก็คือท่อปูนกลม ๆ ให้เทปูนปิดตรงพื้นบ่อที่จะเลี้ยงสามารถใช้ท่อปูนกลม 2 – 3 ท่อต่อกันเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับหนูนาแล้วเจาะรูระหว่างท่อให้หนูนาได้วิ่งไปมาได้ระหว่าง 3 ท่อ ท่อตรงกลางให้ใช้เป็นพื้นที่สำหรับวางน้ำและอาหาร บริเวณก้นบ่อใส่แกลบ ฟางหรือท่อพีวีซีไว้ให้หนู พยายามทำให้สภาพแวดล้อมที่หนูอยู่ปราศจากความชื้นและจัดระบบนิเวศให้คล้ายกับธรรมชาติมากที่สุด สำหรับบ่อปูนที่ใช้เลี้ยงหนูนาควรทำความสะอาดบ่อเลี้ยงหนูนาทุก ๆ 3 วันเพื่อให้ถูกสุขลักษณะ โดยให้จับหนูนาออกแล้วก็ล้างท่อเปลี่ยนแกลบใหม่ คอกของหนูนาจะได้สะอาดและไม่เหม็นฉี่หนู ที่สำคัญหลังทำความสะอาดและปล่อยหนูลงแล้วอย่าลืมหาฝามาปิดให้แน่นหนา เราจะเห็นได้ว่าการเลี้ยงหนูนาแบบนี้แทบไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่เยอะและท่อนึงก็สามารถเลี้ยงหนูได้ 9 – 10 ตัวเลยทีเดียว
การคัดเลือกหนูนาลงบ่อ
คัดหาพ่อพันธ์ุ-แม่พันธ์ุหนูนา สามารถืำได้ทั้งหาจากธรรมชาติหรือถ้าให้ได้หนูที่แข็งแรงก็ซื้อตามฟาร์มได้เลย สำหรับการปล่อยหนูนาอายุที่เริ่มผสมพันธุ์ได้จะอยู่ที่ 4 เดือนขึ้นไป หากเลี้ยงในท่อแบบท่อเดียวให้ปล่อยหนูตัวเมียและตัวผู้อย่างละ 1 ตัว แต่ถ้าหากเลี้ยงแบบท่อต่อกัน 2-3ท่อก็สามารถผสมพันธ์ุได้ถึง 7 – 8 คู่เลย หรืออัตราส่วนที่ดีคือตัวผู้ 3 ตัวและตัวเมีย 6 ตัว ในส่วนของระยะเวลาถ้าเลี้ยงเป็นคู่ไว้ประมาณ 25 วันหนูก็จะผสมพันธุ์และเริ่มตั้งท้อง ซึ่งต้องบอกว่าหนูเป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์ได้เร็วมากอย่างในแม่พันธ์ุที่สมบูรณ์จะสามารถคลอดลูกได้ครั้งละ 7 – 10 ตัว
เมื่อแม่พันธุ์เริ่มตั้งท้องให้จับแม่หนูนาแยกออกจากบ่อเพราะหนูนาตัวผู้จะกินลูกหนูนาที่พึ่งคลอดเพราะผิดกลิ่นหนูหลังจากแยกบ่อแล้วก็ให้แม่หนูเลี้ยงลูกหนูนาด้วยนมอีกประมาณ 1 เดือนค่อยจับแม่พันธ์ุแยกออกมา แม่พันธ์ุที่ให้นมลูกและเลี้ยงลูกหนูนาได้ 1 เดือนแล้วสามารถนำไปผสมพันธ์ุได้ต่อเลย ลูกหนูนาที่อยู่ในบ่อจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือนก็จะตัวโตเต็มที่และมีน้ำหนักประมาณตัวละ 5 – 6 ขีด
เกร็ดความรู้
สำหรับคนที่เพิ่งจะเคยเลี้ยงหนูนาการสังเกตหรือแยกเพศหนูนาอาจเป็นเรื่องที่ต้องศึกษา แต่ก็ไม่ได้ดูยากเลยเพราะหนูนาเป็นสัตว์ที่สามารถแยกเพศได้ด้วยการดูอวัยวะสืบพันธุ์ของพวกมันได้ โดยวิธีสังเกตให้หงายท้องหนูนาขึ้น ตัวผู้จะมีลูกอัณฑะเล็ก ๆ ยื่นออกมาอย่างชัดเจนและก็จะมีรูทวารเท่านั้น ส่วนหนูนาตัวเมียจะมีรูทวาร มีนมให้เห็นได้ชัดและจะมีช่องคลอดอยู่บริเวณหน้าท้องด้วยซึ่งสามารถแยกออกได้อย่างชัดเจนเช่นกัน
การให้อาหารหนูนา
ต้องบอกว่าการเลี้ยงหนูนาถือว่าใช้ตนทุนด้านอาหารต่ำมาก ๆ เพราะในช่วงลูกหนูเกิดใหม่ 1 เดือนแรกจะให้เพียงแค่นมแม่หนูเท่านั้น หรือในฟาร์มที่จะเลี้ยงหนูนาแบบขุนก็อาจจะให้รำอ่อนผสมกับปลายข้าวเป็นอาหาร แต่เมื่อหนูนาอายุได้ 5 สัปดาห์ขึ้นไปจะเริ่มให้หญ้าอ่อน รำข้าวและปลายข้าวผสมกันไปเพื่อให้หนูนาได้กินอาหารที่หลากหลายขึ้น การให้น้ำจะมีขวดให้น้ำในบ่อซึ่งต้องย้ำว่าน้ำเป็นสิ่งที่ต้องห้ามขาด ผู้เลี้ยงต้องคอยสังเกตว่าน้ำในขวดนั้นหมดหรือยัง หากหมดก็นำน้ำไปเติมได้เรื่อย ๆ ส่วนการให้อาหารก็จะให้ช่วงเช้าหรือไม่ก็ให้แค่ช่วงเย็นเท่านั้น เพราะจริง ๆ แล้วหนูนาจะมีพฤติกรรมการออกหากินในเวลากลางคืน
อาหารแนะนำสำหรับหนูนา
– หัวอาหารหมู
– รำข้าว
– ท่อนอ้อย
– มันสำปะหลัง
– ข้าวโพด
– ข้าวสาร
– หญ้า
– หอยเชอรี่
ทำฟาร์มหนูนาส่งออกขายเพิ่มรายได้หลักแสน
อย่างที่ได้บอกไปว่าหนูนาตามธรรมชาติเริ่มหายากมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้การเพาะเลี้ยงหนูนาเพื่อส่งขายตามท้องตลาดเริ่มเป็นอาชีพที่คนทำกันจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่ชาวนาที่อยู่กับปัญหาเรื่องหนูมาตลอดหลายปี การเลี้ยงหนูคงไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินความสามารถแน่นอน แต่ในปัจจุบันนอกจากจะเลี้ยหนูเพื่อสร้างรายได้เสริมแล้วก็ยังมีการเปิดฟาร์มเลี้ยงหนูเพื่อส่งออกได้มากขึ้น ปัจจุบันเราจะพบว่ามีบางจังหวัดในไทยที่มีการผลักดันให้ชาวบ้านหรือเกษตรกรเลี้ยงหนูนาเพื่อเป็นอาชีพหลัก อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้มาดูแลเรื่องโรคและสุขอนามัยในการเลี้ยงหนูนาด้วย
จากการการเลี้ยงหนูนาของเกษตรกรในพื้นที่อำเภออรัญประเทศที่หลายครัวเรือนทำเป็นอาชีพหลัก การทำฟาร์มเลี้ยงเลี้ยงหนูนาทำได้ง่ายมาก หากคนที่ไม่มีต้นทุนอาจเริ่มจากการจัดหาพ่อพันธ์ุ-แม่พันธ์ุหนูนาที่อยู่ตามท้องไร่ท้องนามาเพาะเลี้ยงในฟาร์มที่เตรียมไว้ สำหรับอาหารที่นำมาเลี้ยงหนูนาก็สามารถหาได้ตามธรรมชาติที่มีอยู่ทั่วไป อาทิ หญ้าหรือรำข้าว หนูนาจะออกลูกครอกหนึ่งประมาณ 8-9 ตัวและใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 3 – 4 เดือนก็จับขายได้ โดยการทำฟาร์มเลี้ยงหนูนามีต้นทุนและผลตอบแทนที่ได้ดังต่อไปนี้
ต้นทุนในการทำฟาร์มหนูนา
- ราคาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ซื้อมาจะอยู่ที่คู่ละ 750 บาท เริ่มลงทุนครั้งแรกด้วยแม่พันธุ์ 20 ตัว พ่อพันธุ์ 10 ตัว ตามอัตราการคำนวณการผสมพันธุ์ตัวผู้ 1 ตัวต่อตัวเมีย 2 ตัว ส่วนคนที่ยังไม่มีต้นทุนก็สามารถหาจับหนูนาตามธรรมชาติได้เลยสามารถเลี้ยงได้เช่นเดียวกัน
- บ่อเลี้ยงหนูนาประกอบด้วย วงปูนซีเมนต์ ฝารองล่าง ฟิวเจอร์บอร์ดแบบเรียบรวมมูลค่าบ่อเลี้ยง 1 บ่อ ประมาณ 500 บาท วงปูนซีเมนต์ใช้ 2 วง (1,000 บาท) ฝารองล่าง 1 แผ่น จำเป็นต้องรองด้านล่างเพราะหนูสามารถขุดดินหนีออกไปได้ ฟิวเจอร์บอร์ดแบบเรียบขนาดหนา 6 มิลลิเมตรสามารถตัดแบ่งได้ 6 ฝา เพื่อใช้ปิดด้านบนของวงปูนซีเมนต์ บางแห่งใช้สังกะสีปิดด้านบนก็ได้แต่แนะนำว่าไม่ควรใช้ไม้เพราะหนูฟันคมจะแทะไม้จนเสียหายและหนีออกไปได้เช่นกัน โดยรวมแล้วไม่เกิน 1,500 บาทกับการทำที่อยู่อาศัยให้กับหนูนา
- อาหารสำหรับหนูนาสามารถคำนวณการให้ได้ล่วงหน้า เพราะโดยเฉลี่ยแล้วหนูนา 1 ตัวจะกินอาหารวันละ 10% ของน้ำหนักตัว ช่วง 1 เดือนแรกหนูนาจะกินแต่นมแม่ พอเข้าสู่ช่วงเดือนที่ 2 น้ำหนักประมาณ 500 กรัมก็จะกินอาหารเฉลี่ยวันละ 50 กรัม ซึ่งอาหารหนูส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบที่หาได้ตามธรรมชาติหรือถ้าหากต้องการจะขุนหนูนาก็ให้ซื้อหัวอาหารหนูมาให้กินได้ ซึ่งปัจจุบันจะราคาอยู่ที่กระสอบละ 400 – 470 บาท
ผลกำไรที่ได้จากการขายหนูนา
หลังจากที่ลูกหนูได้รับนมแม่ครบ 1 เดือนและทำการแยกแม่พันธุ์ออกไปอีกบ่อแล้ว หนูจะใช้ระยะเวลาในการเจริญเติบโตเต็มวันประมาณ 4 เดือนโดยประมาณ ระหว่างการเจริญเติบโตของหนูเราควรขุนให้พวกมันมีควาสมบูรณ์เนื้อแน่นเพื่อให้สามารถขายได้ในราคาดี หลัก ๆ จะให้เป็นข้าวเปลือก ข้าวโพด สลับกับหญ้าขนอาทิตย์ละ 2 ครั้งเพื่อช่วยให้หนูานมีขนสวยสุขภาพดี ข้อดีของการเลี้ยงหนูนาแบบระบบปิดนี้จะสามารถควบคุมโรคได้ดีโอกาสติดเชื้อจึงไม่มี สำหรับการจับหนูนาขายส่วนใหญ่จะแยกขายหนูเนื้อพร้อมชำแหละในราคากิโลกรัมละ 200 – 250 บาท แต่ถ้าเน้นส่งขายพ่อแม่พันธุ์จะขายคู่ละ 500-900 บาท ทำให้รายได้ต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 15,000 – 20,000 บาท ยิ่งถ้าเราสามารถขยายบ่อได้ก็จะเพิ่มปริมาณการผลิตหนูนาส่งออกได้มากขึ้น
ต้องบอกเลยว่าการเลี้ยงหนูนามีความนิยมแพร่หลายมากขึ้นในหมู่เกษตรกร ชาวนา ชาวสวนในช่วงหลายปีที่่ผ่านมา เพราะนอกจากจะใช้ต้นทุนต่ำ เลี้ยงง่ายและขายออกได้ราคาแล้ว มันยังช่วยลดปัญหาผลผลิตเสียหายจากหนูศัตรูพืชได้แบบที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาหรือสารเคมีอันตรายเลย เป็นเหมือนภูมิปัญญาและวิธีหาอยู่หากินในแบบของชาวบ้านแต่สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนได้ ยิ่งในปัจจุบันที่การเลี้ยงหนูนามีความจริงจังมากขึ้นทั้งเรื่องของสุขอนามัยต่าง ๆ มีการทำความสะอาดที่อยู่อาศัยของหนูนาอย่างเคร่งครัด มีการจับหนูนามาทำความสะอาดอย่างดี ซึ่งการทำอาชีพเลี้ยงหนูนาแบบนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันช่วยลดปัญหาเรื่องโรคที่มากับหนูได้ไม่น้อยเลย ดังนั้น มันจึงเหมาะกับการสร้างรายได้ในครัวเรือนมาก ๆ โดยเฉพาะใครที่มองว่าตัวเองนั้นเป็นเกษตรกรมานาน คุ้นชินกับการจัดการกับหนูนามาพอตัวและอยากมองหาหนทางสร้างอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้เราได้แบบไม่ต้องลงทุนสูง ๆ ถ้าอย่างนั้น Kaset today ก็มองว่าการเลี้ยงหนูนาสามารถตอบโจทย์ความต้องการนั้นได้อย่างดีเลยทีเดียว
แหล่งที่มา
หนูนาในบ่อซีเมนต์ทำเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย
บุกฟาร์มเลี้ยงหนูนาชื่อดัง, MGR Online