ห่าน สัตว์เศรษฐกิจที่ปศุสัตว์สนับสนุนให้เลี้ยงเพื่อสร้างรายได้

ห่าน (Goose) จัดเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ที่มีลักษณะคล้ายกับเป็ด หงส์​และนกเป็ดน้ำ จุดเด่นของห่านคือเมื่อตัวผู้เจริญเข้าสู่ช่วงที่เจริญโตเต็มวัยจะมีปุ่มหรือเนื้อแข็ง ๆ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นโหนกบริเวณจะงอยปากด้านบน แม้ว่าจะจัดเป็นสัตว์ปีกแต่ห่านเป็นสัตว์ที่บินได้ไม่เก่งนัก เพราะมีลำตัวโตและน้ำหนักมาก แต่ว่ายน้ำเก่งเหมือนเป็ดและยังอยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำด้วย คนไทยส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงห่านเพื่อบริโภคเพราะข้อดีของห่านคือตัวใหญ่และให้เนื้อได้เยอะ โดยให้ปริมาณโปรตีนเทียบเท่ากับเนื้อไก่แต่มีไขมันมากกว่า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการเลี้ยงและสายพันธุ์ที่เลือกอีกด้วย

สำหรับประวัติและวิวัฒนาการในการเลี้ยงห่านในประเทศไทยนั้นทางสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยได้ระบุได้ว่า การเลี้ยงห่านนั้นเริ่มต้นเลี้ยงตั้งแต่ยุคที่ชาวจีนอพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว โดยในระยะแรก ๆ แหล่งเลี้ยงห่านจะอยู่ใกล้กับริมคลอง หนองหรือบึงและถูกพบว่ามีการเลี้ยงห่านมากในบริเวณจังหวัดรอบ ๆ กรุงเทพฯ โดยการเลี้ยงห่านในยุคนั้นเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจผูกขาดของชาวจีน โดยสาเหตุที่การเลี้ยงห่านในประเทศไทยยังอยู่ในวงแคบ ๆ เพราะผู้บริโภคเนื้อห่านส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนที่อาศัยอยู่ที่ย่านเยาวราช โดยเนื้อห่านมักถูกนำมาใช้ประกอบอาหารตามภัตตาคาร ซึ่งคนจีนเชื่อว่าเป็นอาหารสำหรับเทพเจ้าและมักใช้ไหว้เจ้าหรือไหว้บรรพบุรุษ ห่านจึงขายดีมากเป็นพิเศษในช่วงตรุษจีนและสารทจีน

ห่าน

แม้ว่าคนไทยในสมัยก่อนจะไม่นิยมกินเนื้อห่านกันมากนักเพราะเชื่อว่าเป็นอาหารแสลงและนิยมเลี้ยงไก่เพื่อส่งออกเนื้อมากกว่าแต่อิทธิพลที่ได้รับจากจีนก็ทำให้มีกลุ่มคนที่ชื่นชอบในการบริโภคเนื้อห่านอยู่ไม่น้อย ปัจจุบันการเลี้ยงห่านในประเทศไทยก็ได้กระจายไปทั่วเกือบทุกภูมิภาคโดยการเลี้ยงห่านส่วนใหญ่มักจะเลี้ยงกันตามไร่ตามสวน เพราะเป็นสัตว์ที่สามารถกำจัดวัชพืชต่าง ๆ ได้ดี โดยส่วนใหญ่คนที่เลี้ยงห่านก็จะแบ่งออกเป็นการเลี้ยงเพื่อเก็บไข่ขาย กินในครัวเรือนไปจนถึงธุรกิจฟาร์มห่านรายใหญ่ที่ส่งออกห่านไปยังตลาดต่างประเทศ จากการสำรวจข้อมูลการบริโภคห่านของผู้บริโภคชาวจีนจะพบว่ามณฑลกวางตุ้งมีการบริโภคห่านมากที่สุด โดยในปี 2563 ได้มีการบริโภคเนื้อห่านไปมากถึง 170 ล้านตัวต่อปี รวมถึงมณฑลอื่น ๆ อย่างกวางซี ญูนนาน เจียงซีและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หากพิจารณาความต้องการห่านในประเทศจีนก็จะพบว่า ปัจจุบันประเทศจีนได้ผลิตห่านส่งออกสู่ท้องตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในประเทศเป็นหลักจึงไม่มีแรงกดดันในการนำเข้าห่าน แต่สำหรับการส่งออกไปยังต่างประเทศนั้นยังไม่มีการแข่งขันของประเทศอื่น ๆ ดังนั้นทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จึงมีความเห็นว่า ปัจจุบันจริงอยู่ที่จีนเป็นผู้ผลิตห่านรายใหญ่ของโลกแต่ยังขาดการแปรรูปสินค้าห่านที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เป็นที่น่าสนใจของตลาดและยังขาดการประชาสัมพันธ์คุณค่าทางโภชนาการของห่านให้ผู้บริโภคในต่างประเทศได้รู้จัก ผู้ประกอบการไทยอาจจะศึกษาและออกแบบอาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ ที่ทำด้วยห่านของจีน เพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้ และทางกรมปศุสัตว์เองก็มองว่าเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะนำเข้าห่านของจีนมาเลี้ยง เพราะด้วยสภาพพื้นที่ของไทยเหมาะสม วิธีเลี้ยงห่านก็ไม่ได้ยุ่งยาก ใช้ต้นทุนต่ำ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายที่ยั่งยืนให้แก่เกษตรกรชาวไทยด้วย ดังนั้นทาง Kaset today จะทำหน้าที่รวบรวมสารพัดข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงห่านและช่องทางการหารายได้จากห่านมาให้ทุกคนได้ไปศึกษาพร้อม ๆ กัน

ห่าน

ข้อมูลทั่วไปของห่าน 

ชื่อภาษาไทย: ห่าน

ชื่อภาษาอังกฤษ: Goose

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Anserini

ตระกูลสัตว์: Anatidae

สายพันธุ์ห่านที่นิยมเลี้ยงในไทย 

สายพันธุ์ห่านที่ทางสมาคมสัตว์ปีกอเมริกันยอมรับว่าเป็นห่านพันธุ์แท้มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 9 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ห่านที่นิยมเลี้ยงกันมากในปัจจุบัน มีอยู่ด้วยกัน 7 สายพันธุ์ คือ

ห่านจีนขาว
ห่านจีนเทา

1) ห่านพันธุ์จีน (Chinese)

ห่านสายพันธุ์นี้เมื่อโตเต็มที่ตัวผู้จะหนักประมาณ 5.5 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียจะหนักประมาณ 4.5 กิโลกรัม ห่านพันธุ์จีนจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ห่านจีนขาวที่มีขนสีขาวและมีโหนกสีส้ม นิยมเลี้ยงเพื่อเฝ้าบ้านและจะมีราคาที่ค่อนข้างแพง ส่วนห่านจีนอีกชนิดจะเป็นห่านเทามีขนเป็นสีน้ำตาลปนเทาที่บริเวณปีก สันคอด้านบนและหน้าท้อง ส่วนบริเวณก้นจะมีสีขาว แต่จะมีปากและโหนกเป็นสีดำ นิยมเลี้ยงไว้เพื่อบริโภคเนื้อ ห่านสายพันธุ์จีนนี้เป็นห่านที่นิยมเลี้ยงมากที่สุดในประเทศไทยและทั่วโลก สำหรับผลผลิตจากห่านสายพันธุ์จีนนั้นออกไข่ได้มาก โดยออกไข่ได้เร็วและดกกว่าสายพันธุ์อื่นเฉลี่ยถึง 40-65 ฟองต่อปี 

ห่านEmbden

2) ห่านพันธุ์เอ็มเด็น (Embden)

ห่านสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเยอรมนี ลักษณะเด่นจะมีปากและแข้งเป็นสีส้ม บริเวณปลายจะงอยปากจะมีสีขาวแกมสีชมพู ขาสั้น ไม่มีโหนกที่หัว ขนบริเวณลำตัวจะมีสีขาวหรือสีขาวปนกับสีเทา ขนที่คอมักจะจับกันเป็นก้อนจึงดูเหมือนเป็นแผงเกล็ด เมื่อโตเต็มที่ ตัวผู้จะหนักประมาณ 10 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียจะหนักประมาณ​ 7 กิโลกรัม ห่านสายพันธุ์เอ็มเด็นนี้ ให้เนื้อดี นิยมเลี้ยงกันในยุโรปและอเมริกา ให้ไข่เฉลี่ย 35-40 ฟองต่อปี ห่านสายพันธุ์นี้ฟักไข่ได้มาก ให้ผลผลิตไข่ที่มีประสิทธิภาพ

ห่านตูลูส

3) ห่านพันธุ์ตูลูส (Toulouse)

ห่านพันธุ์นี้มีปากสีส้ม แข้งสีส้มแดง และขอบตาสีส้ม อีกทั้งยังมีขาสั้น ลำตัวอ้วนใหญ่ ขนพอง หนังคอยาน เมื่อโตเต็มที่ตัวผู้จะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 12 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียจะหนักอยู่ที่ประมาณ 10 กิโลกรัม ห่านสายพันธุ์ตูลูส ถูกคัดเลือกและผสมพันธุ์มาจากเมืองตูลูส ซึ่งเป็นเมืองทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศสเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว นิยมเลี้ยงในยุโรปและอเมริกา สามารถวางไข่ได้ประมาณ 25-40 ฟองต่อปี โดยให้ไข่ขาวที่มีขนาดใหญ่กว่าไข่แดง

ห่านฟิลกริม
https://pasusat.com

4) ห่านพันธุ์ฟิลกริม (Pilgrim)

ห่านสายพันธุ์นี้มีหัวและขนลำตัวเป็นสีเทาหรือสีขาว แต่มีปากและแข้งเป็นสีส้ม บริเวณปากมีสีชมพูแกมขาว ไม่มีโหนกที่หัว แข้งสั้น และหนังบริเวณใต้คอไม่หย่อนยาน ห่านสายพันธุ์นี้ตัวผู้และตัวเมียจะสามารถแยกออกได้ชัดเจนตั้งแต่เกิดออกมาได้อายุ 1 วัน โดยตัวผู้จะมีสีขาวครีม ตัวเมียจะมีสีเทา เมื่อโตเต็มวัย ตัวผู้จะมีขนสีขาว ตาสีฟ้า ส่วนตัวเมียจะมีขนสีขาวปนเทา ตาสีน้ำตาลหรือสีแดง ห่านชนิดนี้มักถูกเลี้ยงเป็นห่านเนื้อ เพราะให้เนื้อปริมาณที่มาก แต่ให้ไข่ในปริมาณที่ต่ำ โดยให้ไข่ได้แค่ 29-39 ฟองต่อปี

ห่านแอฟริกา
https://pasusat.com

5) ห่านพันธุ์แอฟริกัน (African)

ห่านแอฟริกันเป็นสายพันธุ์ที่มีรูปร่างสง่า มีปมที่บริเวณฐานปากเหนือดวงตาเป็นสีดำ หนังใต้คอมีลักษณะหย่อนยาน ขนที่หลังและปีกมีสีน้ำตาล แต่บริเวณคอ หน้าอก และใต้ท้องจะมีสีน้ำตาลอ่อน ตาเป็นสีน้ำตาล และแข็งมีสีส้ม ห่านแอฟริกันตัวผู้มีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 10 กิโลกรัม ตัวเมียหนักประมาณ 7 กิโลกรัม แต่เมื่อโตเต็มที่ทั้งตัวผู้และตัวมีจะมีขนาดตัวเท่า ๆ กัน เป็นห่านที่โตเร็ว และให้ไข่ได้ดี ประมาณ 10-40 ฟองต่อปี

ห่านแคนาดา

6) ห่านพันธุ์แคนาดา (Canadian)

ห่านแคนาดาหรือห่านป่า มีลักษณะลำตัวสูงยาว ปาก คอ และแข้งเป็นสีดำ ส่วนใบหน้าและหัวก็มีสีดำ แต่มีแถบสีขาวถัดออกมาที่บริเวณแก้มไปจนถึงคอ ขนมีสีเทาแกมขาว ไม่มีโหนกหัวและใต้คอไม่หย่อนยาน ห่านสายพันธุ์นี้ ตัวผู้จะหนักประมาณ​ 5.5 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียจะหนักประมาณ​ 4.5 กิโลกรัม ห่านสายพันธุ์นี้ให้ไข่น้อยและออกไข่ช้า แต่บินเก่ง และสามารถกำจัดศัตรูพืชได้ดี จึงนิยมเลี้ยงไว้เพื่อกำจัดวัชพืชต่าง ๆ แต่มักมีนิสัยเป็นห่านขอทานและก้าวร้าวกับมนุษย์

ห่านอียิปต์

7) ห่านพันธุ์อียิปต์เชียน (Egyptian)

ห่านสายพันธุ์นี้จะมีลักษณะหัวสีเทา ส่วนปากและแข้งมีสีม่วงแดง บริเวณปลายปากมีสีดำ ขนที่ขอบตาจะมีสีสีน้ำตาลแดง ห่านสายพันธุ์นี้มีความโดดเด่นตรงที่มีสีสันสวยงาม เพราะมีสีแกมกันหลากหลายสี เช่น เทา ขาว ส้ม ดำ เมื่อโตเต็มที่ตัวผู้จะหนักประมาณ 4.5 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียจะหนัก 3.5 กิโลกรัม ห่านสายพันธุ์นี้เป็นที่นิยมเลี้ยงเพราะมีความสวยงาม แต่ก็ยังออกไข่ให้บริโภคได้ โดยสามารถออกไข่ได้ประมาณ​ 5-10 ฟองต่อครั้ง

นอกจากห่านทั้ง 7 สายพันธุ์นี้แล้วเพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับเกษตรกรยังมีห่านบางสายพันธุ์ที่ประเทศจีนนิยมเลี้ยงและสร้างรายได้ให้มากที่สุด โดยในรายงานเรื่องห่านในตลาดจีนได้ยกมาทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่

ห่านจีว่านซี
ห่านขาวว่านซี
ห่านป่าจีน
ห่านป่าจีน

1) ห่านขาวว่านซี (Wanxi white geese)

เป็นห่านที่มีแหล่งเพาะเลี้ยงอยู่ที่มณฑลทางตะวันตกของจีน โดยห่านขาวว่านซีมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว มีความอดทนต่อสภาพแวดล้อมและมีความสามารถในการหาอาหาร มีคุณภาพของเนื้อค่อนข้างดีและมีขนที่มีคุณภาพ ห่านตัวผู้ที่โตเต็มวัยจะมีน้ำหนัก 5.5 – 6.5 กก. และห่านตัวเมียจะมีน้ำหนัก 5 – 6 กิโลกรัม โดยทั่วไปเมื่อห่านอายุ 60 วันจะมีน้ำหนัก 3.0 – 3.5 กิโลกรัม แม่ห่านสามารถเริ่มวางไข่ได้เมื่ออายุ 6 เดือน วางไข่ปีละ 2 – 3 ครั้งและมีปริมาณประมาณ 25 ฟองต่อปี

2) ห่านป่าจีน (Yan Goose)

เป็นห่านที่มีแหล่งเพาะเลี้ยงอยู่ที่มณฑลอันฮุย เป็นห่านที่มีขนาดกลางมีโครงสร้างการเจริญเติบโตที่รวดเร็วและสมดุล ทนทานต่อสภาพแวดล้อม ห่านตัวผู้เมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนัก 6 – 7 กก. และห่านตัวเมียเมื่อโตเต็มวัย จะมีน้ำหนัก 5 – 6 กิโลกรัมและแม่ห่านจะเริ่มวางไข่เมื่ออายุ 8 – 9 เดือนและวางไข่ได้25 – 35 ฟองต่อปี อัตราส่วนระหว่างตัวผู้ต่อตัวเมียสำหรับห่านผสมพันธุ์คือ 1 : 5

ห่านเสฉวน
ห่านเสฉวน
ห่านลูกผสม
ห่านลูกผสม

3) ห่านขาวเสฉวน

ห่านพันธุ์นี้มีลักษณะเรียวเล็กน้อยและมีหัวขนาดกลาง ห่านตัวผู้เมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนัก 4.4 – 5.0 กก. และห่านตัวเมียเมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนัก 4.3 – 4.9 กก.เมื่อห่านอายุ 60 วัน จะมีน้ำหนัก 2.5 – 3.5 กก. โดยส่วนใหญ่เมื่อห่านอายุ 90 วัน
จะเป็นห่านที่เหมาะสมที่สุดและมีเนื้อที่ค่อนข้างมีคุณภาพ ห่านตัวเมียจะเริ่มวางไข่เมื่ออายุ 6 – 8 เดือน และออกไข่ 69 – 80 ต่อปี โดยจะมีระยะฟักไข่อยู่ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนของทุกปีและอัตราส่วนการผสมพันธุ์ของห่านตัวผู้และตัวเมียอยู่ที่ 1 : 3

4) ห่านลูกผสม

ห่านพันธุ์นี้ส่วนใหญ่ฟาร์มเพาะเลี้ยงต่าง ๆ จะนำห่านตัวผู้ (ห่านขาวว่านซี) มาผสมข้ามสายพันธุ์กับแม่ห่าน (ห่านขาวเสฉวน) ซึ่งการออกไข่จะมีปริมาณใกล้เคียงกับการออกไข่ของห่านขาวเสฉวน อีกทั้งมีอัตราการเจริญเติบโตในช่วงแรกเหมือนห่านขาวหว่านซีซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงห่าน

ขั้นตอนการจัดการและดูแลห่าน 

ห่าน
https://pasusat.com

1) การจัดการพื้นที่เลี้ยงห่าน

โดยทั่วไปแล้ว โรงเรือนสำหรับเลี้ยงห่านไม่ค่อยมีความจำเป็นมากนัก นอกจากสำหรับห่านในระยะแรกเกิดที่ต้องมีโรงเรือนเลี้ยงเป็นสัดส่วน เพราะหากต้องการลดต้นทุนในการเลี้ยงห่านก็สามารถกั้นบริเวณใต้ถุนหรือลานบ้านไว้เป็นสถานที่สำหรับเลี้ยงห่านก็ได้ โดยการใช้สังกะสีหรือลวดตาข่ายสูงประมาณ 1 เมตรล้อมกั้นเอาไว้เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนสถานที่เลี้ยง

แต่ถ้าจำเป็นต้องสร้างโรงเรือนสำหรับเลี้ยงห่านในระยะแรกก็แทบไม่มีอะไรที่ยุ่งยาก เพราะทั้งการจัดพื้นที่และอุปกรณ์ในโรงเรือนสำหรับเลี้ยงห่านมีความคล้ายคลึงกับการจัดโรงเรือนเลี้ยงเป็ดได้เลย ต้องมีรางน้ำ มีหลังคาโรงเรือน มีพื้นที่ให้ห่านไปเดินเล่นผึ่งแดดและมีแหล่งน้ำให้ห่านเล่นน้ำได้ โรงเรือนควรเน้นการระบายอากาศจึงต้องมีความสูงโปร่งและวางหัวท้ายของโรงเรือนในทิศตะวันออกและตะวันตกอย่างถูกต้อง หัวและท้ายของโรงเรือนควรปิดทึบเพื่อป้องกันแดดและฝน ส่วนพื้นของโรงเรือนควรเป็นพื้นดินที่อัดแน่นแต่จะใช้พื้นคอนกรีตก็ได้ตามความเหมาะสม แต่สิ่งสำคัญคือการเลี้ยงห่านนั้นควรปล่อยให้ห่านได้เดินออกไปตามทุ่งหญ้าอย่างอิสระบ้างเพราะนั่นเป็นนิสัยของพวกมัน

2) การจัดหาอุปกรณ์ในการเลี้ยงห่าน

อุปกรณ์ให้น้ำ

อุปกรณ์ให้น้ำห่านควรใช้แบบเดียวกันกับที่เลี้ยงไก่แต่สามารถใช้งานกับลูกห่านขนาดเล็กเท่านั้น เพราะห่านที่โตเต็มที่มักจะกินน้ำเยอะจึงอาจทำให้เศษอาหารตกหล่นลงไปได้ ในห่านที่โตขึ้นมาหน่อยแนะนำให้ใช้รางน้ำที่ทำมาจากท่อพีวีซีมาผ่าครึ่งแล้วนำมาวางเรียงกันเป็นแนวยาวตามโรงเรือน

อุปกรณ์ให้อาหาร

รางวางอาหารจะเหมาะกับลูกห่านขนาดเล็ก โดยจะมีตะแกรงกั้นไม่ให้ลูกห่านแย่งอาหารกันกิน จำนวนรางอาหารควรเพียงพอกับจำนวนห่าน เมื่อห่านโตมากขึ้นให้ใช้ถังอาหารแบบแขวนกึ่งอัตโนมัติหรืออาจจะใช้อ่างดินเผาหรืออ่างปูนก็ได้

อุปกรณ์กกไข่ห่าน

อุปกรณ์กกไข่ห่านสามารถใช้เป็นแบบกกแก๊สซึ่งจะใช้แก๊สหุงต้มเป็นเชื้อเพลิง ข้อดีอยู่ตรงที่ให้ความร้อนได้ดี แต่อาจต้องระมัดระวังเรื่องของอากาศที่ถ่ายเทไม่สะดวกจะทำให้ห่านขาดอากาศได้ การกกไข่ห่านสามารถทำได้อีกวิธีคือ กกฝาชี ซึ่งจะใช้หลอดไฟ 60-100 วัตต์จำนวน 5 หลอดเป็นแหล่งความร้อน เหมาะกับการกกห่านจำนวนไม่มากนัก อีกทั้งยังสามารถประดิษฐ์ขึ้นมาใช้เองได้อีกด้วย นอกจากอุปกรณ์กกเหล่านี้ ยังอาจต้องใช้แผงกั้นกก เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกห่านกระจายตัวออกจากพื้นที่ และยังต้องการม่านบังลมให้ลูกห่านด้วยฃ

อุปกรณ์วางไข่

เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในช่วงการวางไข่ของแม่ห่าน โดยทำได้ 2 แบบ คือ รังไข่แบบไข่รวม ซึ่งแม่ห่านจะผลัดกันเข้ามาวางไข่ในรังเดียวกัน รังไข่ประเภทนี้จะต้องปูรองรังด้วยฟาง ส่วนนังไข่อีกแบบหนึ่ง คือ รังไข่แบบเป็นช่องเดี่ยว โดยเป็นรังที่รองรับแม่ห่านมาออกไข่ได้ประมาณ 5-6 ตัว

ห่าน

3) การเลี้ยงดูห่านในระยะต่าง ๆ 

โดยทั่วไปแล้ การเลี้ยงห่านนั้นจะเลี้ยงเพื่อเก็บผลผลอตอย่างไข่หรือเนื้อของห่าน สำหรับระยะเวลาในการเลี้ยงที่เหมาะสมทางกรมปศุสัตว์ได้กล่าวว่าถึงการศึกษาความต้องการของตลาดก่อน เพราะส่วนใหญ่คนมักจะมีความต้องการซื้อห่านในช่วงตรุษจีนและสารทจีน ดังนั้น ผู้เลี้ยงอาจจะต้องเลี้ยงล่วงหน้าก่อนถึงเทศกาลประมาณ​ 3-4 เดือน แต่เพื่อให้มีห่านที่ให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปีการเรียนรู้วิธีดูแลและจัดการห่านในแต่ละช่วงก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากทีเดียว

  • การเลี้ยงห่านขุน (แรกเกิด ถึงอายุ 3.5-4 เดือน)

การเลี้ยงห่านขุนสามารถเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี หากมีอุณหภูมิและสภาพอากาศที่เหมาะสม ห่านประเภทนี้มักถูกเลี้ยงเพื่อขายเอาเนื้อหรือตับห่าน สำหรับลูกห่านแรกเกิดจนถึงอายุ 3 สัปดาห์ ควรเลี้ยงในโรงเรือนที่เหมาะสมเพื่อป้องกันอันตรายจากศัตรูต่าง ๆ ควรมีการปูพื้นโรงเรือนด้วยแกลบ ขี้เลื่อย หรือหญ้าแห้ง เพื่อดูดซับความชื้นจากมูลที่ห่านถ่าย และควรมีเครื่องกกสำหรับให้ความอบอุ่น มีน้ำให้กินตลอดเวลา แต่ระวังไม่ให้น้ำหก เพราะจะส่งผลต่อสุขภาพของห่าน

การให้อาหารห่านช่วงวัยนี้ ควรให้อาหารเป็นโปรตีน 21% และมีอาหารให้กินตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดต่อด้วย เมื่อลูกห่านเริ่มโตจนพ้นระยะลูกห่านให้เก็บเครื่องกกออกไปและขยายคอกให้กว้างขึ้น อาหารสำหรับห่านในช่วงวัยนี้ ควรมีโปรตีน 17% มีน้ำให้กินตลอดเวลา และควรฝึกให้ห่านกินหญ้าและอาหารหยาบอื่น ๆ เพิ่มขึ้นตามอายุ การเสริมอาหารหยาบจะช่วยให้ลำไส้ทำงานได้เป็นปกติ และควรเสริมด้วยอาหารข้นเพื่อเร่งการเจริญเติบโต ช่วง 2-4 สัปดาห์สุดท้ายของการขุน หากห่านมีน้ำหนักตัวน้อย ควรเสริมด้วยอาหารข้น อาหารข้นที่ควรใช้ในระยะนี้ควรมีโปรตีน 17% และเสริมอาหารให้จนกว่าห่านจะมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม

  • การเลี้ยงห่านพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์

หลังจากที่ได้คัดเลือกห่านหนุ่มสาวมาเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แล้ว ก่อนถึงฤดูผสมพันธุ์จะต้องทำการคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ดีอีกครั้ง แล้วทำการย้ายห่านหนุ่มสาวที่ถูกคัดเลือกเหล่านั้นมาไว้ในคอกเดียวกัน การเลี้ยงห่านพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ควรให้อาหารที่มีโปรตีนประมาณ 14-16% อีกทั้งยังต้องมีหญ้าสดหรืออาหารหยาบอื่น ๆ เพื่อช่วยในเรื่องของระบบย่อยอาหาร เกษตรกรควรเตรียมพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ห่านทุก ๆ 3-5 ปี เพราะห่านแม่พันธุ์จะให้ไข่ได้ดีในช่วงปีที่ 2-4 และจะลดลงในปีที่ 5 ส่วนห่านพ่อพันธุ์จะให้น้ำเชื้อได้ดีในช่วง 2-3 ปีแรก และจะลดลงในป่วงปีที่ 4 

ห่านพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ควรได้รับแสงจากธรรมชาติประมาณวันละ 16 ชั่วโมงติดต่อกัน เพราะจะช่วยไปกระตุ้นให้ห่านตัวเมียให้ไข่ได้ดีกว่า และในไข่ตัวผู้จะมีการผลิตน้ำเชื้อได้ดีกว่า การเลี้ยงห่านพันธุ์มักจะผสมพันธุ์เป็นฝูงใหญ่ เพราะอัตราการผสมติดจะดีกว่าการผสมพันธุ์เป็นฝูงเล็ก ห่านเป็นสัตว์ที่ไม่มีการจับคู่เฉพาะเจาะจง ทั้งตัวผู้และตัวเมียจึงสามารถผสมพันธุ์ได้กับห่านเพศตรงข้ามหลายตัว สำหรับการให้อาหารพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของห่าน อายุ ขนาด และผลผลิตไข่ โดยการให้อาหารห่านพันธุ์จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

ในฤดูผสมพันธุ์: ควรให้อาหารที่มีโปรตีน 14-16% และมีหญ้าสดหรืออาหารหยาบอื่น ๆ ให้ควบคู่กันไปด้วย
นอกฤดูผสมพันธุ์: ควรให้อหารจำกัดที่ 70% ของปริมาณอาหารที่ห่านกินได้เต็มที่ แต่ควรให้หญ้าสดและอาหารหยาบให้ห่านกินอย่างเต็มที่ และควรปล่อยให้ห่านออกไแเดินเพื่อเป็นการออกกำลังไม่ให้ห่านอ้วนจนเกินไป เพราะห่านที่อ้วนจะให้ไข่น้อยลง

4) วิธีจัดการกับห่านและไข่ห่าน 

หลังจากที่เราเรียนรู้วิธีการเลี้ยงห่านในแต่ละช่วงกันไปแล้วก็มาถึงวิธีการจัดการกับห่านและไข่ห่านกัน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับใครที่เลี้ยงห่ากันเองในครัวเรือนแบบเน้นการเก็บไข่ขายไม่ได้ส่งออกเนื้อหรือส่งออกโรงเชือด

การจัดการดูแลห่านแต่ละชนิด

การจัดการดูแลห่านนั้นแตกต่างกันออกไปตามแต่ละช่วงวัย การดูเพศห่านนั้นสามารถตรวจดูได้ทั้งห่านที่ยังเป็นลูกห่านและห่านรุ่น โดยในลูกห่านสามารถตรวจดูเพศได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ปลิ้นดูที่ก้น วิธีนี้สามารถใช้กับลูกห่านอายุ 1-2 วันได้ ลูกห่านตัวผู้จะมีเดือยเล็ก ๆ ที่บริเวณก้น ส่วนตัวเมียจะไม่มีเดือย
  • ดูที่ปีก เมื่อลูกห่านอายุ 3-4 วัน ให้สังเกตดูปมที่ข้อศอกด้านในปีก ลูกห่านตัวผู้จะมีปมใหญ่สีดำที่มีลักษณะยาวรี ไม่มีขนปกคลุม ขนาดเท่ากับปลายดินสอ แต่ถ้าเป็นลูกห่านตัวเมียจะไม่มีปมดังกล่าว หรือถ้ามีก็จะเล็กมาก และมีขนปกคลุมจนมองไม่เห็น

ส่วนในห่านที่โตจนเป็นห่านรุ่นแล้วสามารถสังเกตเพศได้โดยวิธีต่อไปนี้

  • ดูที่อวัยวะเพศ โดยการจับห่านวางบนโต๊ะให้หางชี้ออกจากตัวผู้จับ ใช้นิ้วชี้ที่ทาวาสลีนแล้วสอดเข้าไปในก้นประมาณครึ่งนิ้ว วนหลาย ๆ ครั้ง แล้สค่อย ๆ กดที่ด้านล่างหรือด้านข้างด้านในก้น หากเป็นตัวผู้จะมีอวัยวะเพศโผล่ออกมาให้เห็น
  • ฟังเสียงห่าน โดยห่านตัวผู้จะมีเสียงแหลม ส่วนห่านตัวเมียจะมีเสียงต่ำทุ้ม
  • ดูรูปร่างห่าน ให้ดูเมื่อห่านอายุเท่ากัน โดยห่านตัวผู้จะมีลำตัวและคอยาวกว่า อีกทั้งยังหนากว่าห่านตัวเมีย

การจัดการไข่ห่าน (การฟักไข่)

การฟักไข่ด้วยวิธีธรรมชาติ: โดยใช้แม่ห่านเป็นผู้ฟักหรือจะใช้แม่ไก่ แม่ไก่งวง หรือแม่เป็ดเทศมาฟักก็ได้ การฟักไข่ด้วยวิธีนี้จะต้องจัดทำรังสำหรับฟักไข่โดยการรองพื้นด้วยหญ้าแห้งหรือฟางข้าว และจะต้องทำการกำจัดไรหรือเหาตามตัวเสียก่อน รังฟักไข่ควรอยู่ใกล้อาหารและน้ำ และอยู่ในบริเวณที่ไม่ถูกรบกวนระหว่างฟักไข่ อีกทั้งยังควรช่วยกลับไข่วันละประมาณ​ 3-4 ครั้งด้วย

การฟักไข่ด้วยตู้ฟัก: เป็นการใช้ความร้อนจากตู้ฟักในการฟักไข่ โดยขั้นแรกให้คัดเลือกขนาดและรูปร่างของไข่ห่าน ต้องมีขนาดที่ใกล้เคียงกัน ไม่กลมหรือแหลมจนเกินไป เปลือกไข่เรียบ ไม่มีรอยยุบหรือรอยร้าวแตก เก็บรักษาไข่ก่อนนำเข้าตู้ฟัก ควรเก็บที่อุณหภูมิ 50-60 องศาฟาเรนไฮด์ และความชื้นที่ประมาณ 75% อีกทั้งยังควรกลับไข่อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เพื่อไม่ให้ไข่แดงติดเปลือก ทำความสะอาดเปลือกไข่ โดยการใช้กระดาษทรายหยาบขัดเอาคราบมูลหรือสิ่งสกปรกออกจากเปลือกให้หมด ไม่ควรล้างน้ำเพราะจะทำให้เชื้อโรคซึมเข้าไปในไข่ ให้ใช้การรมควันฆ่าเชื้อโรคที่เกาะอยู่บนเปลือกไข่ การรมควันไข่จะทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที

ระยะการฟักไข่ของห่าน

การฟักไข่ระยะ 1 – 10 วันของการฟัก: ต้องนำออกมาทิ้งที่อุณหภูมิภายนอกประมาณ 1-2 ชั่วโมงก่อนเข้าตู้ฟัก และควรกลับไข่อย่างน้อยวันละ 6 ครั้ง

การฟักไข่ระยะ 11 – 28 วันของการฟัก: ระยะนี้จะเป็นการเปิดระบบให้ความร้อนเป็นเวลา แต่จะเปิดพัดลมตลอดเวลา และจะมีการพ้นน้ำให้ไข่ด้วย ระยะนี้ควรกลับไข่อย่างน้อยวันละ 6 ครั้ง เพื่อให้เชื้อแข็งแรงและฟักออกมาได้ดีขึ้น

การฟักไข่ระยะ 29 – 31 วันของการฟัก: ช่วงนี้จะไม่มีการกลับไข่หรือพ่นน้ำแต่อย่างใด แต่ความชื้นควรอยู่ที่ 86% ไข่ที่จะฟักออกมาได้ดี ควรมีช่องอากาศภายในฟองประมาณ 1 ใน 3 ของฟองไข่ และตู้เกิดควรแยกออกจากตู้ฟัก โดยลูกห่านจะเจาะเหลือกออกในช่วงวันที่ 30-32 

การส่องไข่ฟัก: เป็นการดูว่าไข่ฟองไหนมีเชื้อหรือไม่มีเชื้อและเชื้อตายหรือไม่ การส่องไข่ควรทำในห้องมืดหรือจับไข่มาส่องกับแสงไฟก็ได้ โดยส่องไข่ 2 ครั้ง ครั้งแรกจะส่องเมื่อไข่ฟักไปแล้ว 10 วัน และครั้งที่ 2 เมื่อฟักไปแล้ว 28 วัน หากส่องดูแล้วพบว่าไม่มีเชื้อหรือเชื้อตาย ให้นำออกจากตู้ฟักไข่ทั้งหมดเพื่อไม่ให้ไปกระทบกับไข่ที่มีเชื้อ ไข่ที่ไม่มีเชื้อจะมองเห็นเป็นเหมือนไข่ธรรมดา ส่วนไข่เชื้อตายจะเห็นเป็นจุดดำ ๆ ติดอยู่กับเยื่อเปลือกไข่และจะมีวงเลือดปรากฏให้เห็น แต่ไข่ที่มีเชื้อและกำลังเจริญเติบโตจะเห็นเป็นจุดดำที่ส่วนท้ายของไข่ใกล้กับช่องอากาศ และจะมีเส้นเลือดกระจายออกไปรอบ ๆ จากจุดนี้

อาหารและโภชนาการของห่าน

การเลี้ยงห่านสัมพันธ์กับเรื่องของโภชนาการอาหารมาก เพราะถ้าหากเราเลือกเลี้ยงห่านแบบปล่อยพื้นที่บริเวณนั้นควรใกล้กับแหล่งน้ำเพราะห่านจะได้สามารถหาอาหารที่มีแหล่งโปรตีนได้เอง ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงเพียงแค่เสริมด้วยอาหารจำพวกรำหยาบผสมปลายข้าวและน้ำหมักเพียงเล็กน้อยได้ แต่หากเลี้ยงเพื่อส่งออกขายเนื้อหรือการเลี้ยงแบบขุนก็จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณอาหารเสริมมากขึ้น เพราะห่านที่ได้รับอาหารหยาบเพียงอย่างเดียวจะเจริญเติบโตได้ช้าและอาจมีปัญหาสุขภาพจากโรคขาดสารอาหารได้ นอกจากนี้การที่ห่านได้รับอาหารคุณภาพดีในปริมาณที่เพียงพอยังส่งผลให้ซากห่านมีคุณภาพดีอีกด้วย

จากการศึกษาในงานวิจัยเกี่ยวกับคุณภาพซากห่านในประเทศไทยที่กล่าวถึงห่านจีนเมื่อถูกเลี้ยงด้วยอาหารไก่ไข่ชนิดโปรตีนด้วยความเข้มข้นของโปรตีนที่ 21% ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 สัปดาห์ โปรตีนเข้มข้น 19% ตั้งแต่อายุ 4-8 สัปดาห์ และโปรตีนเข้มข้น 17% ตั้งแต่ 9-16 สัปดาห์ เมื่อวัดคุณภาพซากห่านที่อายุ 12, 14 และ 16 สัปดาห์พบว่าห่านที่มีอายุ 14 และ 16 สัปดาห์มีคุณภาพดีกว่าห่านที่อายุ 12 สัปดาห์มาก 

การดูแลด้านสุขภาพของห่าน

1) โรคที่พบได้บ่อยในห่าน

โรคอหิวาต์: เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ห่านมีอาการซึม เบื่ออาหาร หิวน้ำจัด และมีไข้สูง บริเวณคอและเท้าจะร้อน มูลเป็นสีขาวปนเขียวและมียาวเหนียว โรคนี้อาจทำให้ห่านตายกระทันหัน หรือหากเป็นเรื้อรังจะส่งผลต่อข้อขา ทำให้เดินลำบาก สามารถรักษาได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะไปช่วยลดความเสียหายในฝูงห่านที่เริ่มเป็นในระยะแรกเริ่ม ส่วนการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์เข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนังทุก ๆ 3 เดือน

กาฬโรคเป็ด: เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่จะทำให้ห่านมีอาการซึม ท้องร่วง เบื่ออาหาร ปีกตก และมีน้ำตาเหนียว ๆ ไหลออกมาหากเป็นมากจะมีน้ำมูกไหลออกมาด้วย มูลจะมีสีเขียวปนเหลืองและบางครั้งจะมีเลือดปนออกมาและรอบ ๆ ก้นห่านจะแดง และหายใจลำบาก ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ดังนั้นจึงต้องพึ่งพาการป้องกันอย่างการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้ออกทุก ๆ 6 เดือน

โรคไข้หวัดนก: เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมีระดับความรุนแรงจุขึ้นอยู่กับเชื้อแต่ละชนิด แต่หากเป็นเชื้อ H5N1 ที่ระบาดหนักในช่วงปี 2547-2549 นั้น ถือว่าเป็นเชื้อที่รุนแรงมาก ๆ อาการของโรคคือ ห่านจะมีไข้สูง ซึม หายใจลำบาก บางตัวอาจมีอาการทางประสาทหรือเป็นอัมพาต หากอาการเรื้อรังมักจะมีอาการแทรกซ้อนและเสี่ยงตายสูง การป้องกันที่ดีที่สุดคือพยายามให้ห่านหลีกเลี่ยงการสัมผัสและรับเชื้อ โดยหากรับห่านตัวใหม่มาเข้าคอกต้องได้รับการตรวจเชื้อและกักตัวแยกเป็นเวลา 14 วันเป็นอย่างน้อย

โรคลำไส้อักเสบจากไวรัสพาร์: มักเกิดในห่านที่อายุน้อยกว่า 8 สัปดาห์ โดยลูกห่านที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้จะแสดงอาการอย่างชัดเจนและไวต่อการติดเชื้อ ลูกห่านที่ติดเชื้อมักจะมีอาการไข้สูง ซึม ท้องร่วงและบางตัวจะหิวน้ำมาก สำหรับการป้องกันรักษานั้น ทางกลุ่มงานไวรัสวิทยาแห่งสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติได้กล่าวไว้ว่า การควบคุมที่ได้ผลดีคือการแยกฝูงที่ไม่ติดเชื้อออกจากฝูงที่ติดเชื้อและการฉีดวัคซีนให้ลูกห่าน

โรคติดเชื้อรา: มักติดได้ง่ายในสภาพอากาศที่ร้อนชื้นในประเทศไทย โดยมักจะติดมากับไร่ ทุ่ง หรือติดมากับอาหาร ถึงแม้ว่าการสูญเสียจากโรคติดเชื้อราอาจไม่สร้างความเสียหายมากนัก แต่โรคนี้มักทำให้ห่านอ่อนแอและให้ผลผลิตน้อยลง สำหรับการป้องกันการติดเชื้อรา ควรมั่นใจว่าสภาพโรงเรือนนั้นไม่มีความชื้นมากจนเกินไป อีกทั้งยังควรมั่นใจว่าโรคเชื้อราต่าง ๆ ไม่แพร่กระจายผ่านเสื้อผ้า อาหาร และของใช้ต่าง ๆ ที่ใช้เลี้ยงห่าน

โรคจากพยาธิ: มักเกิดจากการปล่อยห่านออกไปหากินตามธรรมชาติแล้วร่างกายได้รับพยาธิมาจากแหล่งน้ำหรืออาหาร โดยพยาธิที่พบได้บ่อยในห่านจะเป็นพยาธิใบไม้หรือพยาธิตัวตืด เป็นต้น เมื่อพยาธิเข้าสู่ร่างกายห่านจะไปแย่งสารอาหารและแพร่พันธุ์ในร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอและให้ผลผลิตได้น้อยลง ใน่สวนของการป้องกันที่ดีที่สุดคือการจัดการสภาพแวดล้อมในโรงเรือนให้สะอาด ถูกสุขอนามัยและควรถ่ายพยาธิอย่างสม่ำเสมอ

ประโยชน์ของการเลี้ยงห่าน 

ถึงแม้ว่าการบริโภคเนื้อห่านจะยังจำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ หรือยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่การเลี้ยงในครัวเรือนหรือเลี้ยงห่าเพื่อส่งออกตลาดทั้งในและต่างประเทศก็มีโอกาสที่จะเติบโตอย่างมากในอนาคต เพราะเนื้อห่านมีคุณค่าทางโภชนาการที่สูงมากเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ปีกอื่น ๆ รสชาติอร่อยและสามารถส่งออกแบบแปรรูปได้ ประเทศคู่ค้ายังน้อยเมื่อตัดประเทศจีนออก อีกทั้งยังมีข้อดีในเรื่องของเงินลงทุนที่ไม่สูงมาก เลี้ยงง่าย ทนทานต่อสภาพอากาศไทยได้ดีเลี้ยงมาแล้วยังมีตลาดรองรับและที่สำคัญคือสร้างกำไรได้หลายช่องทาง ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรที่อยากเลี้ยงห่านมากขึ้น เราจะมาดูกันว่าเลี้ยงแล้วสามารถทำอะไรได้บ้าง

ห่านย่าง
ไข่ห่าน

1) เลี้ยงเพื่อส่งออกพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ห่าน

การเลี้ยงห่านเพื่อส่งออกพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ถือได้ว่ากำลังเป็นที่นิยมมาก ๆ ในแวดวงของคนที่ต้องการทำปศุสัตว์เพื่อส่งออกสัตว์ปีกในราคาสูง ๆ หรือต้องการเพาะพันธุ์ห่านที่เป็นสายพันธุ์หายาก โดยเฉพาะห่านลูกผสมที่ได้พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์แท้นำเข้าจากจีนหรือฝั่งทางยุโรป เมื่อได้ลูกห่านในช่วง 6 เดือนแรกแล้วจะขายได้สูงสุดถึงตัวละ 34,000 บาทเลยทีเดียว ดังนั้น เกษตรกรที่สนใจจะหันมาหารายได้กับห่านด้วยการขายพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์แบบนี้ ก็สามารถศึกษาสายพันธุ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาดก่อนได้ ที่สำคัญลงทุนแค่ช่วงแรกเท่านั้นเพราะพ่อพันธุ์ตัวเดียวสามารถผสมกับแม่ห่านได้หลายตัวและแม่ห่านก็ออกไข่ได้ทีละ 3 – 5 ฟองหรือมากสุดถึง 7 ฟองเพื่อให้เรานำไปเข้าเครื่องฟักต่อได้ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางรวยจากการเลี้ยงห่านเลยก็ว่าได้

2) เลี้ยงเพื่อส่งออกไข่ห่าน

ห่านพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์มักมีอายุใช้งานนาน 4-5 ปีและเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย โตไว สามารถออกไข่ได้ครั้งละ 6-7 ฟอง จำนวนปีละ 3-4 ครั้ง โดยรวมแล้วแม่ห่าน 1 ตัวจึงสามารถวางไข่ห่านได้ประมาณ 20-25 ฟอง ปัจจุบันราคาไข่ห่านจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของห่านและวัตถุประสงค์ของไข่ที่จะขาย ถ้าหากขายไข่ห่านเพื่อการบริโภคราคาจะอยู่ที่ฟองละ 15 -16 บาทแต่ถ้าหากขายเพื่อนำไปเพาะพันธุ์ต่อสายพันธุ์ ไข่ห่านที่เป็นที่คนต้องการก็จะมีราคาสูง เช่น ห่านลูกผสมไข่ที่มีขนาดสมบูรณ์ดีหรือคัดเกรดมาแล้วจะสามารถขายได้ราคาสูงถึงฟองละ 2,300 บาทเลยทีเดียว ดังนั้น การเลี้ยงห่านพันธุ์ดี ๆ อย่างน้อย 10 ตัวขึ้นไปก็จะได้ไข่ส่งออกในราคาที่คุ้มทุนกว่าที่เราคิดไว้แน่นอน

3) ทำฟาร์มห่านเพื่อส่งออกโรงเชือด

จากการศึกษาในหนังสือการผลิตห่านและการตลาดในประเทศไทยที่ได้กล่าวถึงการซื้อขายห่านของผู้ประกอบการหรือเจ้าของโรงฆ่าชำแหละไว้ว่า ผู้ประกอบการจะซื้อห่านอายุ 100 วันจากผู้เลี้ยงห่านขุนที่มีการผูกสัญญากัน เพื่อนำมาเลี้ยงขุนต่ออีก 20 วันก่อนจะส่งไปยังโรงฆ่าชำแหละของตนเอง ซึ่งราคาซื้อขายห่านอายุ 100 วันเฉลี่ยตัวละ 250 – 260 บาทโดยจะมีการซื้อจากหน้าฟาร์มไปประมาณ 1,000 – 1,500 ตัว หลังจากนำมาขุนต่อจนครบ 20 วันก็จะส่งไปที่โรงชำแหละและส่งห่านรูปแบบสดที่ยังไม่ควักเครื่องในออกจากตัวไปขายยังตลาดลูกค้าต่าง ๆ ลูกค้าจะซื้อขายห่านสดในราคาเฉลี่ย 400 – 500 บาทขึ้นอยู่กับขนาดตัวของห่าน จากนั้นทางตลาดก็จะห่านสดไปแปรรูปเป็นเมนูอื่น ๆ และซื้อขายห่านปรุงสุกสำเร็จในราคาตัวละ 750 – 800 บาทแก่ผู้บริโภค 

4) เลี้ยงห่านเพื่อปราบวัชพืช

นอกเหนือจากการการายได้แล้วขอฝากอีกหนึ่งประโยชน์ของห่านอย่างการเลี้ยงไว้จัดการกับวัชพืชต่าง ๆ ได้ดี เพราะเป็นพืชที่พวกมันสามารถกินได้ตลอดและถ้าเลี้ยงแบบปล่อยตามไร่ตามสวนแล้วก็เรียกได้ว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการกำจัดศัตรูพืช อีกทั้งยังเป็นวิธีที่ปลอดภัยกว่าการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชได้อย่าดีเลย โดยเกษตรกรในหลาย ๆ พื้นที่ก็มักจะนิยมเลี้ยงห่านไว้เพื่อกำจัดวัชพืชโดยเฉพาะ

ห่านถือเป็นสัตว์ที่สามารถสร้างรายได้ในเชิงเศรษฐกิจได้ดี เพราะสามารถสร้างเม็ดเงินได้ทั้งจากทั้งไข่ เนื้อ หรือส่งออกทำพันธุ์ ยิ่งถ้าในอนาคตเกษตรกรไทยได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐในการส่งออกเพื่อไปตีตลาดต่างประเทศแล้ว จะถือได้ว่าเป็นช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ที่ให้ผลตอบแทนมหาศาลเลยทีเดียว ดังนั้น Kaset today ก็หวังว่าข้อมูลในการเลี้ยงห่านวันนี้จะเป็นประโยชน์ดี ๆ ที่ช่วยให้เกษตรกรไทยมีช่องทางในการสร้างรายได้มากขึ้นด้วย

แหล่งที่มา
การเลี้ยงห่าน, กรมปศุสัตว์
ห่านในตลาดจีน, กรมส่งเสริมสินค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
การผลิตห่านและการตลาดในประเทศไทย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้