ไก่เนื้อ ผลิตผลทางการเกษตรที่มีตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ

ไก่เนื้อจัดอยู่ในอุตสาหกรรมผลิตสัตว์ปีกที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ยิ่งในช่วงที่กระแสการรักสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น อัตราการเลือกใช้โปรตีนจากไก่ก็ยิ่งเพิ่มสูงตามไปด้วย เพราะเนื้อไก่เป็นโปรตีนคุณภาพสูงที่มีไขมันน้อย ราคาย่อมเยา และปรุงรสได้หลากหลายสไตล์ ไก่จึงกลายเป็นเนื้อสัตว์ที่ตลาดรองรับจากทั่วทุกมุมโลก เมื่อมองในภาพกว้างจะพบว่า การบริโภคเนื้อไก่มีแนวโน้มเพิ่มทุกปี โดยมีโซนยุโรปกับประเทศจีนเป็นกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ มีการส่งออกและนำเข้าตลอดเวลา พอย้อนกลับมาดูวงการไก่เนื้อในประเทศไทยก็พบว่า เราเป็นผู้ส่งออกผลผลิตจากไก่เนื้อที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และอยู่ในอันดับ 4 ของโลก รศ.ดร.สุภาพร อิสริโยดม และคณะ กล่าวว่า สินค้าส่งออกของเรามีทั้งแบบเนื้อไก่สดใหม่และเนื้อไก่ที่ผ่านการแปรรูปแล้ว ทั้งหมดนี้สามารถทำกำไรให้ประเทศได้อย่างมหาศาล ตัวอย่างเช่นการส่งออกเนื้อไก่แปรรูปเพียงอย่างเดียวก็สร้างมูลค่าส่งออกได้สูงถึง 33,172 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขจะไม่หยุดอยู่แค่นี้แต่จะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าในอนาคต ปัญหาอย่างเดียวของเราก็คือยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีในการเพาะเลี้ยงไก่เนื้อมากนัก หากเกษตรกรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงไก่เนื้อและปศุสัตว์ไก่เนื้อให้ดี และรู้จักเลือกใช้เครื่องมืออันทันสมัยที่เหมาะกับตัวเอง ก็จะช่วยผลักดันศักยภาพการผลิตของเราก้าวขึ้นสู่ชั้นนำของโลกอีกระดับหนึ่งได้

ทำความรู้จักกับไก่เนื้อ

เดิมทีการเลี้ยงไก่จะเป็นแบบปล่อยอิสระภายในบริเวณบ้าน และไม่มีการแยกประเภทของไก่เนื้อหรือไก่ไข่อย่างชัดเจน ผลผลิตที่ได้จากการเลี้ยงไก่ในยุคแรกๆ จึงไม่ได้มีความโดดเด่นทางใดทางหนึ่งเป็นพิเศษ หากเทียบกับปัจจุบันก็อาจเรียกได้ว่ามันคือไก่ทวิประสงค์นั่นเอง ไก่พื้นเมืองคือสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนั้น ส่วนหนึ่งต่อยอดมาไก่ป่าและอีกส่วนหนึ่งได้มาจากการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ เมื่อแต่ละพื้นที่มีปริมาณการเพาะเลี้ยงไก่กันมากขึ้นจึงมีคนริเริ่มสร้างระบบฟาร์มขึ้นมา แต่ก็ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไรนักเนื่องจากยังขาดยาและวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในยุคของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปศุสัตว์แห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มผลักดันให้การเลี้ยงไก่สามารถทำเป็นอาชีพได้ ด้วยการจัดหาสายพันธุ์ไก่คุณภาพดีจากต่างประเทศ การให้ความรู้เกี่ยวกับระบบฟาร์ม การให้ทุนเพาะเลี้ยงไก่แก่เกษตรกร ตลอดจนจัดการแข่งขันเพื่อกระตุ้นวงการเลี้ยงไก่ให้มีความตื่นตัวยิ่งขึ้น อีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทอย่างมากก็คือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากจะทำการศึกษาและวิจัยทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงไก่ จนกลายเป็นแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างมากแล้ว ก็ยังมีส่วนช่วยให้ระบบฟาร์มเพาะเลี้ยงมีมาตรฐานและสามารถต่อยอดผลผลิตทั้งหมดให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้ด้วย

ไก่เนื้อ คือ
thaiavian.blogspot.com

สายพันธุ์ของไก่เนื้อ

เราสามารถแยกไก่เนื้อตามวัตถุประสงค์ของการเลี้ยงได้เป็นไก่เนื้อพันธุ์แท้กับไก่เนื้อพันธุ์ผสม กลุ่มสารสนเทศการเกษตร สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพังงาได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ไก่เนื้อพันธุ์แท้จะให้ลูกไก่ที่มีคุณสมบัติตรงตามสายพันธุ์ทุกประการ จึงนิยมเลี้ยงเพื่อใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์สำหรับผลิตไก่เนื้อพันธุ์ผสม ส่วนไก่เนื้อพันธุ์ผสมจะให้เนื้อที่มีคุณภาพและให้ปริมาณไก่รุ่นต่อไปมากกว่าจึงเลี้ยงไว้เพื่อขายเป็นไก่เนื้อ โดยมีสายพันธุ์ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ไก่พื้นเมือง

ข้อดีของไก่พื้นเมืองคือปรับตัวตามสภาพแวดล้อมได้ง่าย สามารถเลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติได้และส่วนมากมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง การผสมพันธุ์ระหว่างไก่พื้นเมืองที่มีสายพันธุ์แตกต่างกัน จะทำให้ได้ลูกผสมที่ตรงกับความต้องการของตลาดและขายได้ราคาดีกว่า

ไก่เนื้อพันธุ์พื้นเมือง
kasetfocusnews.com

ไก่เนื้อพันธุ์แท้

สายพันธุ์ไก่ที่นำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ในปัจจุบันจะเป็นสายพันธุ์จากต่างประเทศทั้งหมด มีลักษณะเด่นที่ให้เนื้อมาก ตัวอย่างของสายพันธุ์ยอดนิยมได้แก่ ไก่พันธุ์พลีมัทร๊อคขาวที่เติบโตเร็วและมีอัตราแลกเนื้อที่ดี ไก่พันธุ์คอร์นิชที่มีเนื้ออกมากและมีขนาดลำตัวค่อนข้างกว้าง และไก่พันธุ์นิวแฮมเชียร์ที่มีลำตัวอวบอ้วน ไข่ดกและคุณภาพเนื้อดีมาก

ไก่เนื้อพันธุ์แท้
garden-th.desigusxpro.com

ไก่พันธุ์ลูกผสม

จะเป็นกลุ่มไก่เนื้อที่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์มากที่สุด ไก่เนื้อที่ได้จะมีลักษณะเด่นของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ผสมกัน ทำให้เลี้ยงง่าย โตเร็ว และได้ผลผลิตเป็นเนื้อไก่คุณภาพดีที่มีปริมาณมาก ตัวอย่างของไก่พันธุ์ลูกผสมในประเทศไทย คือ สายพันธุ์อาร์เบอร์เอเคอร์ สายพันธุ์รอส สายพันธุ์คอบบ์ เป็นต้น

พันธุ์ไก่เนื้อ
agrostory.com

ประเภทการเลี้ยงไก่เนื้อ

คุณอาวุธ ตันโช จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้กล่าวถึงรูปแบบการเลี้ยงไก่เนื้อที่ถูกจำแนกเอาไว้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

  • การเลี้ยงแบบอิสระ
    ถือเป็นรูปแบบการเลี้ยงไก่ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด เพราะผู้เลี้ยงจะต้องแบกรับภาระทุกอย่างที่เกิดขึ้นเอง ต้องใช้เงินทุนและประสบการณ์เพาะเลี้ยงค่อนข้างสูง แต่ก็มีข้อดีในแง่ของการบริหารจัดการ คือเลือกพ่อแม่พันธุ์ได้อย่างอิสระ ติดต่อซื้อขายอาหารและยากับบริษัทใดก็ได้ ตลอดจนขั้นตอนการขายไก่เนื้อก็ยังไม่ผูกขาดกับที่ใด เมื่อเลือกตลาดได้เองก็มีโอกาสต่อยอดผลิตภัณฑ์ได้มาก แต่จะได้รับผลกระทบการขึ้นลงของราคามากตามไปด้วย
  • การเลี้ยงแบบรับจ้างเลี้ยง
    เป็นการรับจ้างเลี้ยงให้กับผู้เลี้ยงไก่รายใหญ่ในท้องถิ่นหรือเลี้ยงให้กับบริษัทอาหารสัตว์ โดยเกษตรกรหรือผู้รับจ้างเลี้ยงจะต้องลงทุนในส่วนของที่ดิน โรงเรือน และค่าน้ำไฟที่ใช้ระหว่างเพาะเลี้ยงทั้งหมด ส่วนผู้ว่าจ้างจะเป็นฝ่ายดูแลเรื่องจัดหาพันธุ์ไก่ อาหาร ยา และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลตอบแทนที่ได้แล้วแต่ตกลงกัน บ้างก็ให้ผลตอบแทนตามน้ำหนัก บ้างก็ให้ผลตอบแทนเป็นจำนวนไก่ที่สามารถจับขายได้ ข้อดีสำหรับการเพาะเลี้ยงแบบนี้คือ ผู้รับจ้างไม่ต้องมีทุนเริ่มต้นมากนักและไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยของไก่หรือราคาตลาดที่ลดต่ำลง
  • การเลี้ยงแบบประกันราคา
    ในภาพรวมจะคล้ายคลึงกับการเลี้ยงแบบรับจ้างเลี้ยง แต่มีการทำสัญญาซื้อขายเอาไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งเรื่องราคารับซื้อและคุณภาพของผลผลิต พร้อมกับมีข้อกำหนดว่าผู้รับจ้างเลี้ยงจะต้องซื้อลูกไก่ อาหาร ยา วัคซีนจากบริษัท ระหว่างการเพาะเลี้ยงจะแอบไปใช้ผลิตภัณฑ์ของที่อื่นไม่ได้ นอกจากนี้ก็อาจจะมีเงื่อนไขเกี่ยวกับรูปแบบการเลี้ยงเพิ่มเติมขึ้นมาอีก หมายความว่าถ้าบริษัทผู้ว่าจ้างให้คำแนะนำในการเลี้ยงอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามนั้น การทำงานจึงค่อนข้างเคร่งครัดแต่ส่วนใหญ่ก็เป็นผลดีต่อผลผลิตที่ได้ของผู้รับจ้างเลี้ยงเอง
การเลี้ยงไก่เนื้อระบบปิด
www.bloggang.com

รูปแบบวิธีการเลี้ยงไก่เนื้อ

ความแตกต่างของรูปแบบการเลี้ยงไก่เนื้อมักจะแปรผันตามสภาพพื้นที่และความพร้อมของผู้เลี้ยง ดังนี้

  • วิธีการเลี้ยงแบบชนบท
    ตามชนบทที่ต้องการเลี้ยงไก่เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตไว้ใช้ประโยชน์ภายในครัวเรือน จะนิยมเลือกใช้วิธีการเลี้ยงไก่ในลักษณะนี้ คือ ปล่อยให้ไก่ได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างอิสระในบริเวณบ้าน พื้นที่โล่งกว้าง หรือตามเรือกสวนไร่นาซึ่งใกล้กับที่อยู่อาศัย หากสร้างเล้าให้ไก่นอนเป็นสัดส่วนก็จะดูแลและเก็บไข่ได้ง่ายขึ้น เรื่องอาหารจะเป็นข้าวเปลือกหรือข้าวโพดที่ซื้อมาให้ไก่โดยเฉพาะ หรือจะเป็นเศษอาหารที่เหลือในแต่ละวันก็ได้เหมือนกัน ต้นทุนจึงน้อยมากแต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องปริมาณการเลี้ยงที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน
  • วิธีการเลี้ยงแบบจำกัดเขต
    หากบ้านไหนเลี้ยงสัตว์หลายชนิดหรือทำแปลงผักสวนครัวในพื้นที่ด้วย การจำกัดขอบเขตที่อยู่อาศัยของไก่ก็จะควบคุมดูแลได้ง่ายกว่า ลักษณะจะการต่อรั้วออกมาจากเล้าไก่เพื่อให้เป็นลานกว้างเท่าที่เราต้องการ ไก่ทั้งหมดก็จะใช้ชีวิตอยู่ในนั้น ไม่สามารถออกไปหากินด้านนอกได้ ผู้เลี้ยงจึงต้องจัดเตรียมอาหารให้พร้อมอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ไก่เจ็บป่วยหรือออกไข่ลดน้อยลง
  • งานเลี้ยงบนพื้นคอก
    เป็นการเลี้ยงไก่รูปแบบแรกที่จำกัดพื้นที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจน จะไม่มีการต่อลานออกมานอกเล้า แต่ทำเป็นคอกที่มีคอนให้ไก่นอนและรองพื้นล่างด้วยแกรบหรือวัสดุชนิดอื่น ไก่จะไม่ได้ออกไปด้านนอกเลยจึงได้รับแสงแดดน้อย นอกจากอาหารทั่วไปที่ต้องเตรียมไว้แล้ว ก็ควรจะเสริมวิตามินบางตัวที่ช่วยให้ไก่มีสุขภาพโดยรวมสมบูรณ์แข็งแรงด้วย เช่น วิตามินดี น้ำมันตับปลา เป็นต้น ผู้เลี้ยงจะต้องเข้าตรวจสอบความเรียบร้อยของคอกไก่อย่างสม่ำเสมอ ทั้งเรื่องอาหาร สุขภาพ และความสะอาด
  • วิธีการเลี้ยงขังกรงเดี่ยว
    อันที่จริงการเลี้ยงแบบแยกกรงเดี่ยวสามารถใช้ได้ทั้งไก่เนื้อและไก่ไข่ แต่จากการเก็บค่าสถิติพบว่า หากนำวิธีนี้มาเลี้ยงไก่ไข่จะช่วยให้เก็บไข่ได้ง่าย ไก่ให้ไข่ดก และคุณภาพของไข่ที่ได้ก็ดีกว่า ยิ่งถ้ามีพื้นที่เพาะเลี้ยงค่อนข้างน้อยวิธีนี้ยิ่งเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ได้ดีมาก โดยเราจะใส่ไก่เข้าไปในกรงช่องละ 1-2 ตัว แล้วให้ไก่เติบโตในนั้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงเวลาจับขาย ด้านหน้ามีช่องให้ไก่ยื่นหัวออกมากินอาหารได้ หมายความว่าผู้ดูแลต้องเตรียมอาหารและน้ำให้เพียงพอ ห้ามปล่อยปละละเลยเด็ดขาด ข้อดีคือไก่ติดโรคน้อยลง ได้ผลผลิตมากขึ้น แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องการแรงงานค่อนข้างมาก
  • วิธีการเลี้ยงขังกรงฝูง
    การเลี้ยงแบบขังกรงฝูงน่าจะเป็นรูปแบบที่เห็นได้ค่อนข้างมากในบ้านเรา คือจะเพาะเลี้ยงเป็นโรงเรือนแยกเพื่อให้ไก่อาศัยรวมอยู่ด้วยกันเป็นฝูงย่อย ขนาดห้องเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 3×2 เมตร สำหรับไก่ประมาณ 15-25 ตัว วัสดุก่อสร้างแตกต่างกันไปตามความสะดวกของผู้เลี้ยง นอกจากการแบ่งฝูงไก่ให้มีขนาดพอเหมาะแล้ว บางที่ก็อาจจะมีการแยกตามอายุของไก่ด้วย อย่างเช่น เมื่อเป็นลูกไก่ก็เลี้ยงไว้กรงหนึ่ง เมื่อโตขึ้นจึงแยกกระจายกรงออกไปตามจำนวนที่กำหนด
โรงเรือนเลี้ยงไก่
www.bangkokbiznews.com

องค์ประกอบของฟาร์มไก่เนื้อ

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเตรียมสถานที่สำหรับเพาะเลี้ยงไก่เนื้อในรูปแบบของฟาร์มเอาไว้ดังนี้

สถานที่ตั้ง

สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงการมองหาสถานที่ที่เหมาะสมคือเรื่องสุขภาพอนามัยของไก่ ดังนั้นฟาร์มไก่เนื้อจะต้องอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารอันตรายทั้งหมด ไม่ว่าจะมาจากโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งกำจัดขยะมูลฝอย หรืออะไรก็แล้วแต่ และจะต้องห่างจากแหล่งรวมสัตว์ปีก 5 กิโลเมตรเป็นอย่างต่ำ ระยะที่กำหนดนี้สามารถผ่อนผันได้หากมีมาตรการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ นออกจากนี้ฟาร์มไก่เนื้อจะต้องไม่มีน้ำท่วมขัง อากาศถ่ายเทได้สะดวก และมีการคมนาคมขนส่งที่ดีพอ

ผังและลักษณะของฟาร์ม

เมื่อได้สภาพพื้นที่อันเหมาะสมแล้ว ต่อมาก็ต้องแน่ใจด้วยว่าขนาดพื้นที่นั้นสอดคล้องกับจำนวนไก่ที่ต้องการเพาะเลี้ยง ไม่แออัดจนกลายเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพ มีทางเข้าออกที่สามารถดำเนินงานได้สะดวก ทั้งขนย้ายไก่เนื้อและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง แผนผังของฟาร์มมีความสำคัญมากเพราะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพของไก่เนื้อโดยตรง ภายในฟาร์มจะต้องมีการแบ่งโรงเรือนอย่างเป็นระเบียบ แยกให้ชัดว่าตรงไหนคือพื้นที่เลี้ยงไก่ ตรงไหนคือโรงเก็บอาหารหรือเป็นพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมอื่นๆ และทั้งหมดต้องมีระบบป้องกันเชื้อที่ดีพร้อมกับสามารถดูแลเรื่องความสะอาดได้ง่ายด้วย หากมีบ้านพักพนักงานก็ต้องอยู่ห่างจากพื้นที่เลี้ยงไก่มากพอ ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งต่อไก่ที่เลี้ยงไว้และต่อตัวพนักงานเอง

ฟาร์มไก่เนื้อ
www.tfg.co.th

โรงเรือน

การเลือกก่อสร้างโรงเรือนให้เหมาะสมจะส่งผลดีต่อระบบการจัดการภายในฟาร์มอย่างมาก โดยจะเลือกเป็นโรงเรือนระบบเปิดที่สภาพแวดล้อมภายมีผลต่อการเติบโตของไก่เนื้อ หรือจะเลือกเป็นโรงเรือนระบบปิดที่ควบคุมทุกองค์ประกอบเอาไว้หมด ไม่ว่าจะเป็นระดับความชื้น อุณหภูมิ หรือปริมาณแสง แต่ไม่ว่าจะเลือกแบบไหนก็ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานเหมือนกัน คือต้องระบายอากาศได้ดี มีอุณหภูมิอยู่ในระดับที่เย็นสบาย ป้องกันอันตรายจากสัตว์ได้ กันแดด กันลม กันฝนได้ และต้องตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ห่างจากที่อยู่อาศัยพอสมควร ส่วนจะใช้วัสดุเกรดไหนก็แล้วแต่ทุนทรัพย์ของผู้เลี้ยง ทางสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพังงาได้แบ่งโรงเรือนตามรูปแบบการก่อสร้างได้อีก 3 แบบดังนี้

  • โรงเรือนแบบเพิงหมาแหงน ก่อสร้างง่าย ใช้ทุนต่ำ แต่ต้องระวังการหันหน้าโรงเรือนเข้าปะทะทิศทางลม
  • โรงเรือนแบบหน้าจั่ว จะกันแดดกันฝนได้ดีกว่าแบบแรก แต่ก็มีค่าใช้จ่ายระหว่างการก่อสร้างสูงขึ้น
  • โรงเรือนแบบจั่ว 2 ชั้น เป็นการยกหลังคาให้มี 2 ชั้นเพื่อประโยชน์ในการระบายความร้อน เหมาะกับโรงเรือนที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่

นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์โรงเรือนแบบดั้งเดิมให้กลายเป็นแบบจั่วกลายและแบบหมาแหงนกลาย ซึ่งมีคุณสมบัติการใช้งานที่ดีกว่า คือกันฝนและระบายความร้อนได้ดีกว่า ค่าก่อสร้างอาจจะสูงขึ้นเล็กน้อยแต่ในระยะยาวก็ถือว่าคุ้มค่าแก่การลงทุน แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยช่างที่มีฝีมือด้วยถึงจะได้โรงเรือนที่มีความแข็งแรงทนทาน

การจัดการน้ำในฟาร์ม

น้ำที่จำเป็นต้องใช้ในฟาร์มจะแยกเป็นหลายส่วน น้ำที่ใช้เลี้ยงไก่จะต้องมั่นใจได้ว่าไม่มีสารปนเปื้อน และแหล่งน้ำที่เลือกใช้จะต้องอยู่ไกลจากโรงงานอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย โรงฆ่าสัตว์ และสถานที่สุ่มเสี่ยงกับการปนเปื้อนทั้งหมด ส่วนน้ำที่ใช้สำหรับกิจกรรมอื่นๆ ภายในฟาร์มก็ต้องเป็นน้ำสะอาดได้มาตรฐาน สามารถใช้ชำระล้างสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย

การจัดการโรงเรือนและอุปกรณ์

ไล่ตั้งแต่บริเวณรอบนอกในระยะ 3 เมตรเข้าไปยังโรงเรือน จะต้องเก็บกวาดให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่มีสิ่งปฏิกูลที่จะกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ เมื่อถึงโรงเรือนก็ต้องมีระบบฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูง ภายในควรจัดตารางทำความสะอาดให้เป็นกิจวัตร โดยเฉพาะช่วงที่มีการขนย้ายไก่เข้าหรือออกจากโรงเรือน อุปกรณ์ทั้งหมดควรหมั่นตรวจสอบให้อยู่ในสภาพที่พร้อมก่อนเริ่มใช้งานทุกครั้ง ยิ่งอุปกรณ์ที่ทำงานแบบอัตโนมัติยิ่งต้องคอยระวังมากเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อไก่ในโรงเรือนและผู้ดูแล และเพื่อความปลอดภัยที่สูงยิ่งขึ้น หลังจับไก่รุ่นก่อนหน้าขายไป ถ้าเป็นไปได้ให้ทำความสะอาดและปิดพักโรงเรือนสักระยะหนึ่งก่อน จะช่วยตัดวงจรการขยายตัวของเชื้อโรคได้ดีกว่า

โรงเรือนไก่เนื้อ
www.bigdutchman.co.th

อาหารและน้ำที่ใช้เลี้ยงไก่เนื้อ

อาหารและน้ำก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องใส่ใจเลือกค่อนข้างมาก เพราะอาหารที่มีส่วนประกอบสำคัญครบถ้วนจะช่วยให้ไก่เติบโตได้รวดเร็วและมีคุณภาพเนื้อตามต้องการ โดยในระบบฟาร์มจะมีการกำหนดมาตรฐานอาหารเอาไว้ด้วยพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ หัวใจอยู่ที่ความปลอดภัยของอาหาร ไม่มีสารผสมต้องห้าม ไม่หมดอายุ ไม่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ชำรุด หลังสุ่มตรวจแล้วไม่พบสี กลิ่น หรือเนื้อสัมผัสที่ผิดปกติ และเพื่อความแม่นยำสามารถตรวจสอบคุณภาพอาหารจากการใช้งานต่อเนื่องระยะหนึ่งได้ ด้วยการสุ่มตรวจไก่ที่เพาะเลี้ยงว่ามีสุขภาพหรืออัตราเติบโตตรงตามมาตรฐานมากน้อยแค่ไหนนั่นเอง

การเลือกใช้วิธีให้อาหารไก่ที่เหมาะสมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ไก่ได้รับปริมาณอาหารอย่างเพียงพอได้ ซึ่งมีดังนี้

  • อาหารหยาบล้วน คือ เมล็ดธัญพืชที่ผสมกันอย่างน้อย 1 อย่าง และจะบดให้มีขนาดเล็กลงหรือไม่ก็ได้ โปรยให้ไก่ประมาณวันละ 2 รอบ
  • อาหารป่นและอาหารหยาบ คือ การให้อาหารหยาบร่วมกับอาหารป่น ตอนเช้าและเย็นจะโรยอาหารหยาบให้ไก่กิน แล้วระหว่างวันก็แทรกด้วยอาหารป่นตลอดทั้งวัน
  • อาหารป่นล้วน คือ อาหารที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบจากไร่นา แล้วมีการปรับปรุงสูตรให้ดีต่อไก่ยิ่งขึ้นด้วยการเติมแร่ธาตุที่จำเป็นเข้าไป จะให้อาหารเป็นแบบป่นแห้งหรือป่นเปียกก็ได้ หรือถ้ามีทุนมากก็สามารถหาซื้อเครื่องอัดเม็ดมาใช้ก็ได้เหมือนกัน
  • ใช้รางอาหาร คือ การให้อาหารป่นด้วยรางกลหรือรางอัตโนมัติ ในรางจะมีแค่อาหารป่นอย่างเดียวหรือแทรกอาหารหยาบไปด้วยเป็นครั้งคราวก็ได้ วิธีนี้ช่วยให้ไก่ได้รับอาหารอย่างทั่วถึงและมากพอต่อความต้องการ ซึ่งรางอัตโนมัติจะได้เปรียบมากกว่าในการจำกัดปริมาณอาหาร เนื่องจากตั้งเวลาทำงานของรางอาหารได้
  • อาหารป่นเปียก คือ การคลุกอาหารป่นกับน้ำให้พอปั้นได้ พร้อมกะขนาดก้อนอาหารให้ไก่กินหมดในช่วงเวลา 3 ชั่วโมง หากเกินเวลานี้อาหารอาจเน่าเสียได้ วิธีนี้นิยมใช้ในจังหวะที่ต้องการกระตุ้นให้ไก่กินอาหารได้มากขึ้น
  • อาหารพลังงานสูงและพลังงานต่ำ คือ การเลือกว่าจะใช้อาหารที่ให้พลังงานในระดับไหน วัดจากจุดประสงค์ของการเพาะเลี้ยงเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามอาหารพลังงานสูงที่ผ่านการเติมสารเสริมบำรุงร่างกายมาแล้วมักจะถูกเลือกใช้มากกว่า
  • อาหารอัดเม็ดกับอาหารป่น คือ การเอาอาหารป่นมาปั้นหรืออัดให้เป็นเม็ด ทำให้ไก่สามารถกินได้มากในเวลาอันสั้น เหมาะกับไก่กระทงและไก่ไข่ วิธีให้อาหารแบบนี้ช่วยเร่งให้ไก่โตเร็วได้ แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะจิกกันเองในฝูงอยู่ด้วย
อาหารไก่เนื้อ
garden-th.desigusxpro.com

การป้องกันและควบคุมโรคของไก่เนื้อ

ถ้าคาดหวังให้การเพาะเลี้ยงไก่เนื้อสร้างผลตอบแทนคุณภาพดีให้ ก็ต้องหมั่นตรวจสอบและควบคุมโรคเป็นประจำทุกวัน ไม่ละเลยกับความผิดปกติเพียงเล็กน้อย พร้อมแจ้งข้อมูลให้กับสัตวแพทย์คุมฟาร์มทันที จากข้อมูลในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ได้แนะนำวิธีการทำลายซากไก่ที่ตรวจพบโรคเอาไว้ดังนี้

  • ทำลายด้วยการฝัง เหมาะกับผู้เลี้ยงไก่ที่มีพื้นที่มากพอซึ่งจุดฝังกลบจะต้องไม่มีน้ำท่วมถึง หลุมฝังลึกไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร และควรมีการฆ่าเชื้อรอบบริเวณกลบฝังด้วย ดินกลบหน้าก็ควรหนามากพอเพื่อป้องกันการขุดคุ้ยของสัตว์อื่น
  • ทำลายด้วยการเผา เหมาะกับผู้ที่มีเตาเผาหรือมีบริเวณที่เหมาะกับการเผาเท่านั้น อย่าลืมว่าเมื่อเผาแล้วจะสร้างมลพิษและก่อให้เกิดความรำคาญหลายอย่าง จึงควรหลีกเลี่ยงการเผาในพื้นที่โล่งกว้าง และเปลี่ยนมาเผาในเตาหรือหลุมที่ควบคุมได้ง่ายกว่า ทั้งเรื่องความร้อนและควันไฟ
  • ทำลายด้วยการทำให้สุกและบดละเอียด อันดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่าไก่ที่เป็นโรคนั้นไม่นิยมนำมาเป็นวัตถุดิบปรุงอาหาร การทำให้สุกแล้วบดที่ว่านี้จึงเป็นการช่วยให้ซากไก่ย่อยสลายเท่านั้น และผู้เลี้ยงก็ไม่ทำกันเอง แต่จะลำเลียงไก่ให้โรงงานดำเนินการต่อ
  • ทำลายด้วยการกลบทับและย่อยสลาย วิธีนี้คล้ายคลึงกับการกลบฝังแต่ขนาดหลุมจะใหญ่กว่า กินพื้นที่มากกว่า และต้องมีระดับอุณหภูมิในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการย่อยสลาย ข้อดีคือไม่เป็นแหล่งแพร่เชื้อหรือเป็นพาหะนำโรค อีกทั้งยังสามารถกลบทับปริมาณมากในครั้งเดียวได้ด้วย
ไก่เนื้อ ลักษณะ
www.worldanimalprotection.or.th

แหล่งอ้างอิง

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้