ปศุสัตว์
และประมง

ปศุสัตว์ และ ประมง เกษตรกรรมอีกหนึ่งประเภทที่มูลค่ามหาศาล

ปศุสัตว์และการประมงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการผลิตอาหาร รวมไปถึงการใช้ประโยชน์แบบองค์รวมจากสัตว์ทุกชนิด เช่น การใช้สัตว์เพื่อเป็นแรงงานในการเพาะปลูก การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์เพื่อเป็นข้าวของเครื่องใช้ การพัฒนาต่อยอดในวงการแพทย์ เป็นต้น ภาคการผลิตนี้ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนการหาวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีปริมาณลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยจะแปรผันตามการเพิ่มจำนวนของประชากรในพื้นที่ แต่สิ่งที่ตามมาก็คือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงในระยะยาว คุณปราโมทย์ แพงคำ กล่าวว่า การจะตัดกำลังการผลิตให้น้อยลงขณะที่ความต้องการเพิ่มสูงขึ้นนั้นเป็นไปไม่ได้ และการจะกำจัดมลภาวะที่เกิดจากกระบวนการผลิตให้หมดไปอย่างสิ้นเชิงก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน การทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนี้ เริ่มต้นที่การทำความเข้าใจภาพรวมทั้งหมดแล้วพิจารณาว่าสิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำ สำหรับเกษตรกรที่สนใจงานเกษตรกรรมเกี่ยวข้องกับสัตว์ เรื่องที่ต้องเรียนรู้ก็จะแยกได้เป็นการปศุสัตว์และการประมง

วัตถุประสงค์ของการทำปศุสัตว์และประมง

  • เพื่อใช้เป็นอาหารทั้งแบบวัตถุดิบสดใหม่และแบบแปรรูป เช่น เนื้อ นม ไข่ ชีส แฮม
  • เพื่อใช้เป็นพาหนะ เช่น วัว ควาย ม้า ช้าง
  • เพื่อความเพลิดเพลิน เช่น สุนัข แมว หนู ปลา นก กุ้ง อิกัวน่า
  • เพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับ เช่น จระเข้ งู กระต่าย แกะ หอยมุก
  • เพื่อใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น สุนัขนำทางคนตาบอด ใช้ปลิงน้ำจืดสำหรับการรักษาโรคบางชนิด
thematter.co

การปศุสัตว์

การปศุสัตว์ หมายถึง การเพาะเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างแบบเฉพาะเจาะจง เช่น เลี้ยงไว้เป็นอาหาร เลี้ยงไว้ใช้งาน เลี้ยงไว้เก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น ซึ่งชนิดของสัตว์สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตามยุคสมัยและความต้องการของผู้บริโภคที่ต่างไปจากเดิม สัตว์บางสายพันธุ์ที่เคยเป็นดาวเด่นในวงการปศุสัตว์ก็อาจจะไม่มีการเพาะเลี้ยงอีกแล้วในปัจจุบัน หรือถูกปรับให้เหมาะกับการใช้งานในรูปแบบอื่นแทน การปศุสัตว์ไม่ได้มีขอบเขตอยู่แค่การเลี้ยงดูและใช้ประโยชน์จากสัตว์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการวิจัยและพัฒนาทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผลผลิตจากสัตว์มีคุณภาพสูงขึ้นและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงด้วย

ความเป็นมาของการทำปศุสัตว์

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า มนุษย์รู้จักการเลี้ยงสัตว์มานานกว่า 9000 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นมาจากการออกล่าเพื่อหาอาหาร ในบางครั้งที่ได้สัตว์มาจำนวนมากก็แบ่งบางส่วนกักขังไว้โดยหวังให้เป็นอาหารมื้อต่อๆ ไป แต่เมื่อสัตว์บางตัวเกิดความเชื่องจึงได้เปลี่ยนมาเป็นสัตว์เลี้ยงแทน บ้างก็เลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลิน บ้างก็เลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์ในการออกล่าสัตว์อื่น จนกระทั่งพัฒนามาเป็นการเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคแทนการออกล่าในท้ายที่สุด ระหว่างที่เลี้ยงสัตว์เหล่านี้ก็ได้เรียนรู้เรื่องการผสมพันธุ์ การปรับปรุงคุณภาพของผลผลิตที่ได้จากสัตว์ การปรับสภาพแวดล้อมให้สัตว์เติบโตได้ดีตามความต้องการ เมื่อบวกกับปัจจัยเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ในช่วงแรก จึงทำให้วงการเลี้ยงสัตว์ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วและสามารถปรับเปลี่ยนเป็นอาชีพที่มั่นคงได้ ส่วนสัตว์ที่ได้รับความนิยมในการทำปศุสัตว์ในปัจจุบันก็มีที่มาแตกต่างกันไป พื้นที่โซนไหนมีสัตว์ใดมากกว่าก็มักจะเป็นผู้ริเริ่มการเลี้ยงสัตว์ชนิดนั้น เช่น ไก่ถูกเลี้ยงสำหรับเป็นอาหารและการกีฬาที่ประเทศจีน ม้าถูกเลี้ยงเพื่อใช้แรงงานในแถบยุโรป สุกรถูกเลี้ยงเป็นอาหารในประเทศจีน เป็นต้น

siamrath.co.th

ประโยชน์ของการทำปศุสัตว์

1. ด้านเศรษฐกิจ
  • เป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญ จากสถิติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ทั้งการประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์และผลิตผลที่ได้จากสัตว์ ช่วยให้ผู้คนมีรายได้มากพอที่จะเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ อีกทั้งยังดึงเงินตราต่างประเทศเข้ามาจากการส่งออกผลิตภัณฑ์จากสัตว์ด้วย
  • ช่วยลดความใช้จ่ายในภาพรวมได้ดี เมื่อเราผลิตได้เองก็ลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าเนื้อและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ พร้อมกับช่วยลดค่าครองชีพของครอบครัวที่ทำปศุสัตว์ได้อย่างยั่งยืนด้วย
  • ช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปและอุตสาหกรรมที่สนับสนุนงานปศุสัตว์ในด้านต่างๆ นอกจากเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตแล้ว ก็ยังช่วยกระจายงานให้คนในวงกว้าง ส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจมากขึ้น
  • ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตทางการเกษตร เป็นธรรมดาที่บางจังหวะผลผลิตทางการเกษตรจะมีราคาตกต่ำ ก็สามารถดัดแปลงมาเป็นอาหารสัตว์ที่มีมูลค่าสูงกว่าได้
2. ด้านสังคม
  • ช่วยลดปัญหาคนว่างงาน เพราะการทำปศุสัตว์ไม่ได้จบแค่กระบวนการเลี้ยงสัตว์เพียงอย่างเดียว มันยังต่อเนื่องไปสู่งานอีกหลายประเภท เปิดโอกาสให้ทุกคนเลือกงานที่เหมาะกับความถนัดของตัวเองได้อย่างเต็มที่
  • ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น นอกจากการทำปศุสัตว์จะเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนมีสุขภาพที่แข็งแรงดีแล้ว ยังทำให้มีสุขภาพจิตที่ดีจากการเลี้ยงสัตว์ และเสริมความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัวจากการทำงานร่วมกันด้วย
3. ด้านเกษตรกรรม
  • ช่วยลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร หากเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปกับการเพาะปลูก ก็สามารถใช้มูลสัตว์มาทำปุ๋ยเพื่อบำรุงดินและพืชผลได้ สัตว์บางชนิดยังช่วยกำจัดวัชพืชได้ดี จึงไม่ต้องเสียทั้งค่าอาหารสัตว์และค่ากำจัดวัชพืช
  • ช่วยให้ใช้ทรัพยากรที่มีได้อย่างคุ้มค่า ปกติแล้วการเพาะปลูกนั้นอาจมีบางฤดูกาลที่ไม่สามารถทำได้ และในพื้นที่ทั้งหมดที่ครอบครองอยู่ก็อาจมีบางส่วนที่ไม่ได้ใช้งานอะไรเลย การเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์จึงได้ประโยชน์มากกว่า
  • ช่วยลดขยะที่เกิดขึ้นจากการเกษตร ขยะในที่นี้หมายถึงเศษซากพืชผลที่นำไปทำอะไรไม่ได้ เช่น เปลือกข้าวโพด ชานอ้อย เปลือกสับปะรด เป็นต้น เหล่านี้สามารถนำมาเป็นอาหารสัตว์ได้ทั้งนั้น
4. ด้านอื่นๆ
  • ช่วยให้วงการวิทยาศาสตร์ก้าวหน้า สัตว์บางชนิดมีคุณค่าต่อวงการวิทยาศาสตร์มาก เพราะพวกมันต้องเป็นตัวแทนในการทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ อีกทั้งองค์ประกอบในร่างกายสัตว์บางชนิดก็เป็นประโยชน์ สามารถนำมาทำยาหรือวัคซีนรักษาโรคได้
  • ช่วยให้มีพลังงานทดแทน พลังงานในกลุ่มแก๊สชีวภาพที่ได้จากมูลสัตว์นั้นน่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากต้นทุนต่ำและใช้ประโยชน์ได้จริง
  • ช่วยให้เกิดผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในเชิงอุตสาหกรรม ส่วนมากจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องหนัง อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น
  • ช่วยให้เกิดความเพลิดเพลิน แบ่งได้เป็นกลุ่มสัตว์เลี้ยงและสัตว์สำหรับการแข่งขันเกมกีฬา
www.infoquest.co.th

ประเภทของสัตว์ที่ทำการปศุสัตว์ในไทย

การปศุสัตว์ในประเทศไทยจะไม่รวมสัตว์ที่เลี้ยงไว้เพื่อความสวยงามหรือการกีฬา และแบ่งประเภทของสัตว์ทั้งหมดตามผลผลิตที่ได้ ซึ่งจะต่างจากการจัดกลุ่มสัตว์ตามหลักชีววิทยาทั่วไป โดยมีรายละเอียดของสัตว์แต่ละประเภทตามเอกสารเชิงวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังต่อไปนี้

  • โค สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
    1. โคเนื้อ คือสายพันธุ์โคที่เลี้ยงไว้เพื่อใช้เนื้อเป็นอาหาร เป้าหมายจึงอยู่ที่การเพิ่มปริมาณและคุณภาพของเนื้อให้สูงที่สุด เริ่มตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์โคที่ให้เนื้อมาก ไปจนถึงการเลี้ยงดูให้โคมีรูปร่างที่สมบูรณ์ ปกติโคชนิดนี้จะมีลำตัวหนาและกว้าง กล้ามเนื้อค่อนข้างแน่น และเคลื่อนไหวเชื่องช้า
    2. โคนม คือสายพันธุ์โคที่ให้ผลผลิตเป็นน้ำนม การเพาะเลี้ยงจึงมุ่งเน้นบำรุงสุขภาพโคและสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการอยู่อาศัย จะได้ส่งเสริมให้โคผลิตน้ำนมได้ในปริมาณมาก ลักษณะโคที่ดีจะต้องไม่อ้วนเกินไป มีหน้าท้องและเต้านมขนาดใหญ่
    3. โคงาน คือสายพันธุ์โคที่เลี้ยงไว้เพื่อใช้แรงงานบางอย่าง จึงต้องมีโครงสร้างร่างกายแข็งแรง สามารถฉุดลากหรือแบกหามของหนักได้ และยังต้องเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่วด้วย โคในกลุ่มนี้จะมีไขมันน้อยมากและกล้ามเนื้อค่อนข้างแข็งจึงไม่เหมาะกับการนำมาเป็นอาหาร
    4. โคอเนกประสงค์ ไม่ใช่โคที่เลี้ยงไว้ทำอะไรก็ได้ แต่ในทางปศุสัตว์จะหมายถึงโคที่มีบทบาทหน้าที่ตั้งแต่ 2 อย่างขึ้นไป เช่น เป็นโคเนื้อและโคนม เป็นโคเนื้อและโคงาน เป็นต้น
www.thaihealth.or.th
  • สุกร สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
    1. สุกรมัน คือสุกรที่ให้ไขมันมาก ลำตัวจะอวบอ้วนและค่อนข้างสั้น แถมยังเติบโตช้า แต่เดิมได้รับความนิยมไม่ต่างจากสุกรกลุ่มอื่น แต่ปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจกับสุขภาพมากขึ้น และลดการบริโภคไขมันหรือน้ำมันที่ได้จากสุกร การเพาะเลี้ยงจึงมีสัดส่วนลดน้อยลงจนหมดไปในที่สุด
    2. สุกรเบคอน คือสายพันธุ์สุกรที่มีความต้องการสูงมากในต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์สุดท้ายที่ได้จากสุกรกลุ่มนี้ก็คือเบคอนนั่นเอง ลักษณะเฉพาะตัวของสุกรคือมีเนื้อแดงมากและไขมันน้อย ชั้นไขมันค่อนข้างบาง และมีการสลับชั้นระหว่างเนื้อกับไขมันหลายชั้น
    3. สุกรเนื้อ ความจริงก็คือการพัฒนาสายพันธุ์จากสุกรมันให้มีเนื้อที่คุณภาพดีขึ้น เติบโตดีและขยายพันธุ์ได้เร็วระดับหนึ่ง แม้ว่าเปอร์เซ็นต์ของเนื้อจะมากขึ้นแต่ก็ยังน้อยกว่าสุกรเบคอน นิยมใช้เนื้อเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารทั่วไป
www.thairath.co.th
  • แพะ แกะ สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
    1. แพะหรือแกะขน เป็นกลุ่มที่เลี้ยงไว้ให้มีอายุยืนยาว แล้วตัดขนไปใช้ประโยชน์ด้วยการแปรรูปเป็นข้าวของเครื่องใช้ แน่นอนว่าสัตว์ขนหนาเหล่านี้จำเป็นต้องเพาะเลี้ยงในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นพอสมควร
    2. แพะหรือแกะเนื้อ จะเป็นสายพันธุ์แกะที่มีความแข็งแรงทนทานต่อโรคมากกว่ากลุ่มแรก ปรับตัวได้ดี เมื่อโตเต็มวัยจะให้เนื้อคุณภาพสูง ไม่มีกลิ่นสาบ โดยปกติตัวผู้จะให้น้ำหนักเนื้อมากกว่าตัวเมีย
  • ม้า สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
    1. ม้างาน คือม้าที่ถูกใช้งานในภาคการเกษตรหลากหลายแบบ ทั้งปศุสัตว์และกสิกรรม ส่วนมากเป็นงานหนักที่ต้องใช้พละกำลังมาก ม้าในกลุ่มนี้จึงมีโครงสร้างกำยำและมีความทนทานสูง
    2. ม้าขับขี่ คือม้าที่นำมาใช้เพื่อความเพลิดเพลิน เช่น ม้านำเที่ยว ม้าแข่ง ม้าสวยงาม เป็นต้น รูปร่างอันปราดเปรียวและการเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่วจึงเป็นลักษณะของม้าในกลุ่มนี้
  • ไก่ สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
    1. ไก่ไข่ คือสายพันธุ์ไก่ที่เลี้ยงไว้เก็บไข่โดยเฉพาะ ซึ่งสามารถเลี้ยงได้ทั้งแบบปล่อยอิสระและจำกัดขอบเขตในลักษณะของฟาร์มไก่ไข่
    2. ไก่เนื้อ คือสายพันธุ์ไก่ที่ต้องการได้เนื้อเป็นอาหาร ไก่กลุ่มนี้จะโตเร็วกว่าไก่ไข่ รูปแบบการเลี้ยงจะเน้นไปที่การบำรุงอาหารและจำกัดขอบเขตให้ไก่เคลื่อนที่ได้น้อย เพื่อให้มีปริมาณเนื้อและไขมันมากขึ้น
www.prachachat.net

นอกจากการแบ่งประเภทของสัตว์ตามผลผลิตที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ในทางปศุสัตว์ยังมีวิธีการแบ่งตามลักษณะการย่อยอาหารของสัตว์ด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการเรื่องอาหารสำหรับสัตว์เหล่านั้น โดยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

  • สัตว์กระเพาะเดี่ยว สัตว์ส่วนมากถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ ระบบการย่อยอาหารเป็นไปอย่างเรียบง่าย เมื่อรับอาหารเข้าไปก็ผ่านการย่อยแล้วขับถ่ายออกมาเท่านั้น แต่ยังแบ่งเป็นกลุ่มที่กินสัตว์และกินพืชได้อีกชั้นหนึ่ง เช่น สุกร ไก่ กระต่าย หนู เป็นต้น
  • สัตว์กระเพาะรวม ชนิดของสัตว์ในกลุ่มนี้มีไม่มากนัก ได้แก่ วัว ควาย แพะ แกะ เรียกอีกอย่างว่าสัตว์เคี้ยวเอื้อง มีกระเพาะ 4 ส่วนโดยมีกระเพาะแท้แค่ส่วนเดียว ที่เหลือเป็นพื้นที่สำหรับหมักอาหาร กระบวนการย่อยสลายจึงมีหลายขั้นตอน ทำให้กินอาหารที่ย่อยยากอย่างพืชบางชนิดได้
phukhaopost.com

การประมง

การประมง หมายถึง กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจับ เพาะเลี้ยง แปรรูป และซื้อขายสัตว์น้ำทั้งหมด โดยแบ่งเป็นประเภทย่อยได้อีก 3 ประเภท คือ การประมงน้ำจืด การประมงชายฝั่ง และการประมงทางทะเล ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดจะต้องพิจารณาเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและคุณภาพแหล่งน้ำร่วมด้วย คุณธรัทนล ศรีทองเดิม นักวิเคราะห์จากธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด ได้ให้ข้อมูลเชิงสถิติเพิ่มเติมไว้ว่า ประเทศไทยนับเป็นผู้ผลิตภาคการประมงในอันดับต้นๆ ของโลก เดิมทีเน้นไปที่การจับสัตว์น้ำตามธรรมชาติ แต่ต่อมาการเพาะเลี้ยงถูกผลักดันให้มีการพัฒนามากขึ้น จนกลายเป็นแหล่งผลิตหลักมาถึงปัจจุบัน

ความเป็นมาการประมงของไทย

เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่จำนวนมาก และคนไทยก็เรียนรู้ที่จะทำประมงมาก่อนที่จะมีการให้นิยามความหมายของการทำประมงเสียอีก จึงไม่แปลกใจอะไรที่จะมีการใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำอย่างแพร่หลายในทุกพื้นที่ จนกระทั่งภาครัฐได้เข้ามาจัดระเบียบเป็นครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2444 ด้วยการเก็บค่าภาษีอากรสัตว์น้ำ ทำให้การจับสัตว์น้ำมีระบบระเบียบกว่าที่เคยเป็นมา หลังจากนั้นอีก 20 ปีจึงมีการตั้งหน่วยเพาะพันธุ์ปลาแห่งแรก เพื่อขยายผลการประมงให้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในช่วงเวลานั้นมีการริเริ่มกิจกรรมใหม่ๆ หลายอย่าง ทั้งการสำรวจน่านน้ำ แบ่งหมวดหมู่สัตว์น้ำ เพาะพันธุ์ รวมถึงบำรุงพันธุ์สัตว์น้ำด้วย โดยได้รับคำแนะนำจาก ดร. ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ อดีตกรรมาธิการการประมงสหรัฐอเมริกาที่เข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษาในประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2469 ได้มีการตั้งกรมรักษาสัตว์น้ำเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนทุกกิจกรรมของการประมง ก่อนหน่วยงานนี้จะเปลี่ยนชื่อเป็น “กรมการประมง” ในเวลาต่อมา

การทำประมง
kasetmodern.wordpress.com

ความสำคัญของการประมง

1. ความสำคัญด้านเศรษฐกิจ

นอกจากผลผลิตจากการประมงจะทำให้ได้แหล่งอาหารชั้นดีที่เพียงพอต่อความต้องการ และกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินอย่างมหาศาลแล้ว ความก้าวหน้าในกิจกรรมนี้ยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย จึงนับว่าการประมงมีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก โดยสามารถแบ่งเป็นประเด็นหลักๆ ได้ดังนี้

  • เป็นแหล่งเงินตราต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์ทุกประเภทที่ได้จากการประมง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบสดใหม่หรือผ่านการแปรรูปมาแล้ว ล้วนเป็นสินค้าส่งออกที่ทำกำไรได้ค่อนข้างสูง โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกำแพงเพชรได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ในช่วง 10 ปี ประเทศไทยมีดุลการค้าเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า
  • เป็นแหล่งสร้างรายได้ เนื่องจากกิจกรรมทางด้านการประมงนั้นมีหลายขนาด ทำในลักษณะของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็ได้ ทำแบบกิจการภายในครัวเรือนก็ได้เช่นกัน อีกทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติที่เรามีอยู่ก็ถือว่าอุดมสมบูรณ์ดี ทุกคนจึงมีโอกาสเลือกรูปแบบการประมงที่เหมาะกับตนเองเพื่อเป็นช่องทางสร้างรายได้เพิ่มเติมได้
  • เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นภาพรวมได้ชัดเจนขึ้น เราสามารถแบ่งกลุ่มของอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ 3 กลุ่ม คือ อุตสาหกรรมต้นทางที่เกี่ยวข้องกับการประมงโดยตรง เช่น อุตสาหกรรมต่อเรือ ธุรกิจนำเข้าวัสดุและอุปกรณ์ทางน้ำ ธุรกิจเชื้อเพลิง เป็นต้น ต่อมาคืออุตสาหกรรมปลายทางที่เป็นการนำวัตถุดิบไปต่อยอด เช่น  อุตสาหกรรมแปรรูป อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เป็นต้น สุดท้ายคืออุตสาหกรรมธุรกิจบริการ จะเป็นงานบริการที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของชาวประมง เช่น สถาบันวิจัย ธุรกิจขนส่ง เป็นต้น
2. ความสำคัญทางด้านสังคม

เมื่อรากฐานทางด้านเศรษฐกิจมั่นคงก็เป็นธรรมดาที่สภาพสังคมจะดีขึ้นด้วย อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ เมื่อไรที่ผู้คนในสังคมกินดีอยู่ดี ได้รับความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิตครบถ้วน ความสุขสงบในสังคมย่อมเกิดขึ้น ดังนั้นการประมงที่มีคุณภาพจึงมีบทบาทสำคัญทางด้านสังคมด้วยเช่นกัน

  • เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ นี่คือผลประโยชน์อันดับแรกจากการทำประมงอยู่แล้ว สัตว์น้ำที่ได้จะกลายเป็นอาหารประเภทโปรตีนที่คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องรายได้ เชื้อชาติ ศาสนา และความเชื่อ ยิ่งกว่านั้นสัตว์น้ำหลายชนิดยังมีคุณค่าทางโภชนาการที่สูงมากด้วย
  • เป็นแหล่งจ้างงาน เพียงแค่เฉพาะกิจกรรมการจับสัตว์น้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ก็ต้องการแรงงานในหลายส่วนแล้ว ยังไม่นับรวมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีกมากมาย การประมงจึงถือเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ที่มีงานให้เลือกทำได้ตลอดปี โดยไม่จำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานจากที่อยู่อาศัยเดิมเลย
www.kasetkaoklai.com

ประเภทของการประมง

การแบ่งประเภทของการประมงจะยึดตามแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำเป็นหลัก ได้แก่ การประมงน้ำจืด การประมงชายฝั่ง และการประมงทะเล ซึ่งแต่ละประเภทจะมีแนวทางในดำเนินงานและต้นทุนที่แตกต่างกันดังนี้

  • การประมงน้ำจืด
    เป็นการทำกิจกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับสัตว์น้ำในแหล่งน้ำจืด ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วเป็นการทำประมงเพื่อยังชีพ หากมีส่วนที่เหลือถึงนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย ในประเทศไทยผลผลิตส่วนใหญ่จะเป็นปลามากกว่าสัตว์ชนิดอื่น และมีปลานิลเป็นสายพันธุ์ปลาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แหล่งผลิตกระจายตัวทั่วประเทศและยังแบ่งรูปแบบการเพาะเลี้ยงได้หลากหลาย บ้างก็เลี้ยวเดี่ยวในกระชังหรือบ่อดิน บ้างก็เลี้ยงควบคู่ไปกับการทำเกษตรด้านอื่น สำหรับการเพาะเลี้ยงจะมีต้นทุนในส่วนของค่าอาหารเป็นหลัก ที่เหลือคือค่าบริหารจัดการและซ่อมบำรุงอีกเล็กน้อย ในขณะที่การจับสัตว์น้ำจะมีต้นทุนค่อนข้างต่ำ เพราะใช้เครื่องมือขนาดเล็กและอุปกรณ์หลายชิ้นก็ผลิตได้เองในครัวเรือน
การประมงน้ำจืด
fishing-resource.com
  • การประมงชายฝั่ง
    มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่าการประมงน้ำกร่อย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำบริเวณที่เชื่อมต่อระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็ม สามารถทำได้ทั้งการจับสัตว์น้ำตามธรรมชาติและเพาะเลี้ยงบริเวณชายฝั่ง ตัวอย่างของสัตว์น้ำที่นิยมเลี้ยงกันมากได้แก่ กุ้งกุลาดำ ปลากะพงขาว หอยทะเลบางชนิด เป็นต้น ก่อนหน้านี้ประเทศไทยผลิตกุ้งได้มากกว่าปลาและหอย แต่ปัจจุบันกลายเป็นหอยที่ผลิตได้มากกว่า ส่งผลให้กุ้งมีราคาสูงขึ้นโดยต้นทุนไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก ต้นทุนในส่วนของการเพาะเลี้ยงจะหมดไปกับค่าอาหารและพันธุ์สัตว์น้ำ ส่วนการจับสัตว์น้ำก็ใช้เป็นเรือประมงและเครื่องมือขนาดเล็กซึ่งมีต้นทุนไม่สูงมากนัก
ประมงชายฝั่ง
m.mgronline.com
  • การประมงทะเล
    นับเป็นกิจกรรมการประมงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เพราะต้องทำประมงในบริเวณที่ห่างไกลจากฝั่งออกไป ทั้งยังมีการแบ่งน่านน้ำของแต่ละประเทศอย่างชัดเจน กฎเกณฑ์ในการใช้ประโยชน์จากน่านน้ำแต่ละที่ก็จะแตกต่างกันไป การประมงทะเลจะมีแค่การจับสัตว์น้ำเท่านั้น ไม่มีการเพาะเลี้ยง ต้นทุนทั้งหมดจึงอยู่ที่การจัดหาเรือขนาดใหญ่พร้อมติดตั้งเครื่องมือที่ต้องใช้ในการจับสัตว์น้ำ ยิ่งเครื่องมือทันสมัยมากเท่าไรก็ยิ่งทำให้การจับสัตว์น้ำมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเมื่อการเดินเรือนั้นกินเวลายาวนาน ภายในลำเรือก็จะมีเครื่องมือสำหรับรักษาสภาพและแปรรูปสัตว์น้ำเอาไว้ด้วย ซึ่งผลิตผลที่สำคัญก็มีทั้งพืชและสัตว์ เช่น กุ้งหอย ปลา สาหร่าย เป็นต้น
ประมงทะเล
waymagazine.org

ปัจจัยที่ทำให้การทำปศุสัตว์และประมงประสบความสำเร็จ

การเพาะเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดให้ประสบความสำเร็จตามต้องการนั้น นอกจากต้องมีใจรักและมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ยังต้องอาศัยปัจจัยสำคัญอีก 3 ประการ ดังนี้

  • พันธุ์สัตว์ดี คือส่วนแรกที่ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน หากเริ่มต้นด้วยสายพันธุ์ที่ดีแล้ว การเลี้ยงดูและการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะทำให้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  • อาหารสัตว์ดี เมื่อได้พันธุ์ที่ดีแล้ว การเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมกับลักษณะการเจริญเติบโตของสัตว์นั้นๆ ก็จะช่วยให้สัตว์มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และสร้างประโยชน์ให้ได้ตามความคาดหวัง
  • การจัดการดี ในส่วนนี้จะเป็นการเพื่อเพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบชั้นเยี่ยมที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการวางระบบฟาร์มที่ได้คุณภาพ วิธีทำการตลาด การบริหารวัตถุดิบและผลผลิต ทุกส่วนมีน้ำหนักความสำคัญเท่าเทียมกัน และผู้เลี้ยงจำเป็นต้องศึกษาทุกส่วนอย่างละเอียด ก่อนปรับใช้ให้เหมาะกับตนเอง

การผลิตสัตว์เป็นอุตสาหกรรมในประเทศไทย

มาถึงจุดนี้เราคงเห็นภาพรวมของการทำปศุสัตว์กันไปแล้วว่า จะเลี้ยงแบบธุรกิจในครัวเรือนหรือขยายขนาดให้เป็นฟาร์มใหญ่ก็ได้ แต่พอถึงจุดหนึ่งการผลิตสัตว์ในประเทศไทยก็ต้องพัฒนาไปอยู่ในรูปแบบอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตให้สูงขึ้น ซึ่ง รศ.ดร.สุวรรณา พรหมทอง ได้กล่าวถึงหลักการพัฒนาเอาไว้ในหนังสือหลักสัตวศาสตร์ ดังนี้

  • ด้านคุณภาพของสัตว์
    คุณสมบัติของสัตว์ที่จะนำมาเลี้ยงในระบบอุตสาหกรรม จะต้องมีอัตราการเติบโตที่ดีมาก โครงสร้างร่างกายเป็นไปตามความต้องการของตลาด มีระยะเวลาเพาะเลี้ยงก่อนส่งเข้าสู่ท้องตลาดค่อนข้างสั้น วิธีการคือให้เริ่มต้นจากสายพันธุ์ที่มีอยู่แล้วปรับปรุงพันธุ์ให้ได้คุณภาพตามต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรให้ความรู้พร้อมให้การสนับสนุนเกษตรกรด้วย
  • ด้านอาหารสัตว์
    สัตว์จะเติบโตได้ดีก็ต่อเมื่อมีอาหารที่ดี หน้าที่ของเกษตรกรจึงเป็นการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับอาหารของสัตว์แต่ละชนิด ว่าแต่ละช่วงวัยต้องมีความหลากหลายของอาหารอย่างไร และต้องให้อาหารในปริมาณเท่าไร ถึงจะตอบโจทย์ความต้องการของร่างกายสัตว์ได้ ที่เหลือก็แค่จัดหาอาหารให้ได้ตามที่กำหนดไว้เท่านั้น
  • ด้านการจัดการ
    การจัดการโรงเรือน การคัดเลือกสายพันธุ์ การเลี้ยงดู การป้องกันโรค ทุกอย่างมีผลต่ออัตราการเติบโตและสุขภาพของสัตว์อย่างมาก สังเกตได้ว่าฟาร์มไหนมีการจัดการที่ดีกว่า ก็จะได้ผลผลิตและยกระดับมาตรฐานฟาร์มได้รวดเร็วกว่า ต่อยอดไปถึงความน่าเชื่อถือที่เกิดขึ้นในกลุ่มลูกค้าด้วย
  • ด้านการตลาด
    สินค้าที่ดีหากขาดการตลาดที่มีคุณภาพก็ไร้ประโยชน์ เกษตรกรจึงควรทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ไว้บ้าง อย่างน้อยที่จุดก็ควรรู้ว่าตลาดของตัวเองอยู่ตรงไหน และจะจำหน่ายอย่างไรไม่ให้เสียเปรียบ คนในชุมชนเดียวกันก็สามารถตั้งหน่วยงานในลักษณะของสหกรณ์มาช่วยเหลือกันได้
  • ด้านเงินทุน
    อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงสัตว์ในช่วงเริ่มต้นนั้นยังต้องใช้เงินทุนอยู่ จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ขนาดของการเพาะเลี้ยงที่ต้องการ ถ้าเกษตรกรไม่ได้มีทุนรอนเป็นของตัวเอง ก็อาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐในส่วนเงินกู้ยืม แต่อย่าลืมวางแผนการเงินให้ถี่ถ้วนทุกครั้ง เพื่อไม่ให้การลงทุนนั้นเสียเปล่าในภายหลัง
www.agriplusnews.com

แหล่งอ้างอิง