ชื่อสามัญ หรือชื่อภาษาอังกฤษ Wild Balbisiana
ชื่อวิทยาศาสตร์ Musa balbisiana Colla.
ชื่อวงศ์ Musaceae
ชื่ออื่น ๆ ภาคใต้จะเรียกกล้วยตานีว่า กล้วยพองลา ส่วนในจังหวัดสุรินทร์ จะเรียกว่า กล้วยชะนี, กล้วยตานีใน, กล้วยป่า, กล้วยเมล็ด
ประเทศไทยมีการปลูกกล้วยกันมาช้านาน กล้วยที่ปลูกก็มีหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นกล้วน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหอม เป็นต้น อีกหนึ่งชนิดที่สำคัญคือ กล้วยตานี กล้วยตานีเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากแคว้นอัสสัมในประเทศอินเดียและแพร่กระจายไปทั่ว ในประเทศไทยสามารถปลูกและพบเห็นได้ทุกภูมิภาคแต่จะปลูกมากที่สุดในจังหวัดสุโขทัย ผู้คนนิยมปลูกเพื่อนำมารับประทาน โดยกล้วยตานีนั้นถือว่าเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น โดยส่วนปลีและหยวกสามารถนำไปปรุงอาหารได้ เช่น นำไปใส่แกงหรือหมกใส่ไก่ได้ หรือจะกินสดโดยใส่กับผัดไทยก็สามารถทำได้ ผลอ่อนที่เมล็ดยังไม่แข็งมากสามารถนำมาตำทำเป็นตำกล้วยได้ และใบตองจากกล้วยตานีเป็นใบตองที่มีคุณภาพมากที่สุดหากเทียบกับกล้วยชนิดอื่น เนื่องจากใบตองจากกล้วยตานีมีลักษณะใบที่กว้าง เหนียว สีเขียวสด ไม่เหี่ยวหรือแตกง่าย เงางาม สามารถเก็บไว้ได้นาน เป็นวัสดุที่ย่อยสลายง่ายไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม จึงนิยมนำมาใช้สำหรับห่ออาหาร ใช้ตกแต่งภาชนะใส่อาหาร ทำกระทง บายสีในงานมงคล หรือบุญประเพณีต่าง ๆ และถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ดี
ลักษณะทั่วไป
- ลำต้น กล้วยตานีนั้นจัดได้ว่าเป็นพืชล้มลุก ที่มีลำต้นสูงใหญ่ประมาณ 3-4เมตร โดยเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นจะอยู่ประมาณ 20ซม. เป็นพืชบก ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า เปลือกลำต้นสีเขียวลักษณะเรียบมียางสีขาวขุ่น
- ใบ ใบเป็นใบเดี่ยว สีเขียว ใบไม่มีร่อง แผ่นใบกว้าง 20-30 เซนติเมตร ยาว 90-200 เซนติเมตร ลักษณะพิเศษใบมีขนาดใหญ่ การเรียงตัวของใบบนกิ่งเวียน แผ่นใบรูปขอบขนาน ปลายใยเว้าตื้น โคนใบรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ ใบจะเหนียวและมีลักษณะมันวาวกว่าใบของต้นกล้วยชนิดอื่น มีกาบปลีกลักษณะปลายมน ป้อม มี 2 สีคือด้านล่างมีสีแดงเข้ม ส่วนด้านบนมีสีแดงแต่จะอมม่วงและมีสีขาว ๆ อยู่บ้าง
- ผล กล้วยตานี 1 เครือ จะมีทั้งหมด 8 หวี และใน 1หวีก็จะมีอยู่ประมาณ 10 – 14 ผล โดยลักษณะผลของกล้วยตานีจะมีลักษณะมีเหลี่ยม ผลป้อมและใหญ่ เมื่อสุกแล้วจะมีสีเหลือง รสชาติหวาน แต่คนส่วนใหญ่นิยมกินกล้วยน้ำว้ามากกว่าเพราะกล้วยตานีนั้นมีเมล็ดอยู่เป็นจำนวนมากเนื้อน้อย และเมล็ดที่แก่ไม่สามารถทานได้
- ดอก ก้านช่อดอกสีเขียวไม่มีขน ปลีรูปร่างป้อม ปลายมน ด้านบนสีแดงอมม่วง มีนวล ด้านล่างสีแดงเข้มสดใส เมื่อกาบปลีกางขึ้นจะไม่ม้วนงอ กาบปลีแต่ละใบซ้อมกันลึก
วิธีการปลูก
สภาพพื้นที่ในการปลูกต้องไม่มีลมแรง เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดจากลม เนื่องจากลมจะพัดใบตองแตก ทำให้ไม่สามารถเก็บจำหน่ายได้ หรือควรปลูกพืชอื่นเป็นแนวกันลม ล้อมรอบแปลงกล้วยตานี ดินควรมีการระบายน้ำดี ไม่ควรเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขังหรือเป็นพื้นที่นา ระยะปลูกที่เหมาะสม 2.50 x 2.50 เมตร หรือ 3 x 2.50 เมตร ประมาณ 200-260 ต้น/ไร่ การให้ปุ๋ย : จะให้ปุ๋ย 3 ครั้ง/ปี ได้แก่ ครั้งที่ 1 ปุ๋ยอินทรีย์ 5 กก./กอ/ต้น ครั้งที่ 2 ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 12 กก./ไร่ ครั้งที่ 3 ใช้ปุ๋ยคอก 5 กก./กอ/ต้น และไม่ต้องใช้สารเคมีในการปลูกกล้วยตานี เนื่องจากไม่พบว่ามีศัตรูพืชระบาด
สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการปลูกกล้วย นอกจากการเลือกประเภทดินให้เหมาะกับสายพันธุ์ มีความอุดมสมบูรณ์และระบายได้ดีแล้ว ควรเลือกช่วงเวลาการปลูกให้เหมาะสม ได้แก่ ช่วงฤดูฝนหรือประมาณเดือนพฤษภาคม เพราะมีความชุ่มชื้นสูง เหมาะแก่การเจริญเติบโต
วิธีการขยายพันธุ์
กล้วยตานีมีการขยายพันธุ์โดยวิธีการ เพาะเมล็ด ปักชำ และแยกหน่อ โดยวิธีที่นิยมมากที่สุดคือการเพาะเมล็ดและแยกหน่อ ซึ่งมีวีธีการคือ
- การเพาะเมล็ด
วิธีดั้งเดิมการปลูกกล้วย โดยการนำเมล็ดกล้วยที่แก่เต็มที่มาเพาะลงในดิน ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะกินเวลาประมาณ 1-4 เดือน เพราะเปลือกเมล็ดกล้วยค่อนข้างหนา จึงใช้เวลากว่าต้นอ่อนจะงอกออกมาให้เห็น ในปัจจุบันไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไรนักเนื่องจากต้องใช้ระยะเวลานาน
- การแยกหน่อ
หน่อกล้วยที่นำมาใช้ขยายพันธุ์มี 2 ชนิด ได้แก่ หน่อใบดาบหรือหน่อใบแคระ หน่อกล้วยที่เกิดจากตาของเหง้า ความสูงประมาณ 75-80 เซนติเมตร ลักษณะใบเรียวยาวเหมือนดาบ ให้ผลผลิตดีและมีลำต้นที่แข็งแรง ส่วนอีกหนึ่งชนิดคือ หน่อแก่ ที่เจริญเติบโตมาจากหน่อใบดาบ และมีอายุประมาณ 5-8 เดือน
วิธีการดูแล
กล้วยเป็นพืชที่ทนแดดทนแล้งได้ค่อนข้างดี สามารถปลูกกลางแจ้งได้สบาย ส่วนน้ำให้รดทุกวัน แต่ระวังอย่าให้มีน้ำแฉะหรือน้ำขัง สำหรับปุ๋ยให้ใส่ทั้งปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักและปุ๋ยเคมี โดยช่วงแรกควรให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนเยอะ ส่วนปุ๋ยยูเรียให้เดือนละครั้ง และหากมีหน่อแตกออกมาต้องตัดออกให้เหลือเพียง 1-2 หน่อ เพื่อที่จะไม่ให้หน่อลูกแย่งอาหารจากต้นแม่
ประโยชน์และสรรพคุณ
ใบตองจากกล้วยตานีมีนิยมนำมาใช้สำหรับห่ออาหาร ใช้ตกแต่งภาชนะใส่อาหาร ทำกระทง บายสีในงานมงคล หรือบุญประเพณีต่าง ๆ ได้ปัจจุบันมีเกษตรกรหันมาปลูกต้นกล้วยตานีเพื่อจำหน่ายใบตอง สร้างรายได้ให้กับเกษตรได้จำนวนมาก นอกจากนี้ต้นกล้วยตานียังสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้อีก เช่น ก้านใบ สามารถนำไปทำกระดาษเชือก หยวก ปลี ผลอ่อนรับประทานเป็นผัก ปลี ใช้ทำอาหาร เหง้าใช้ทำแกงคั่ว ผลอ่อน ใช้ทำส้มตำใช้ทำเมี่ยง ผลแก่ ใช้รับประทานเป็นผลไม้ และยังมีสรรพคุณอีกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น ถ้าหากนำใบที่แห้งแล้วนำไปต้มกับใบมะขาม สามารถนำน้ำมาอาบเพื่อแก้ผดผื่นคันตามตัวได้ ช่วยแก้ท้องเสียโดยการนำผลดิบที่ยังอ่อนอยู่ นำมาฝานแล้วตากแดดไว้หลังจากนั้นนำมาบดแล้วรับประทานจะช่วยแก้ท้องเสียได้ ช่วยแก้ร้อนใน ดับกระหายโดยการนำรากมาต้มน้ำรับประทาน ช่วยกันผมร่วงและเร่งให้ผมเจริญเติบโตเร็วขึ้น โดยนำลำต้นมาคั้นน้ำแล้วนำมาทากับผมตรงที่เราต้องการ ช่วยบรรเทาอาการเคล็ดขัดยอกโดยการนำใบกล้วยที่อ่อน นำมาอังไฟแล้วนำมาทาบริเวณที่เคล็ดขัดยอกจะช่วยบรรเทาได้ ส่วนหัวปลีนั้นสามารถใช้บำรุงน้ำนมได้ดี โดยวิธีการคือนำหัวปลีกไปต้มแล้วคั้นสด รับประทานจะช่วยบำรุงน้ำนมแม่ได้ หัวปลีก็ยังสามารถรักษาโลหิตจางได้เพราะหัวปลีมีธาตุเหล็กอยู่มาก วิธีการทำโดยการนำหัวปลีไปตากแห้งแล้วรับประทาน สามารถใช้รักษาโลหิตจางได้อีกด้วย