บักแงวหรือคอแลน ไม้ป่ามีคุณค่า ใกล้สูญพันธุ์

ชื่อสามัญ Korlan

ชื่อวิทยาศาสตร์ Nephelium hypoleucum Kurz

ชื่อวงศ์ SAPINDACEAE

ชื่ออื่น ๆ คอลัง กะเบน สังเครียดขอน (ภาคใต้), มะแงว มะแงะ หมักงาน บักแงว หมักแวว หมักแงว หมากแงว (ภาคตะวันออก), ลิ้นจี่ป่า (ภาคตันออกเฉียงใต้) เป็นต้น ผลไม้ชนิดนี้จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับลิ้นจี่ ลำไย เงาะ มามอนซีโย

บักแงวมีพิษไหม
www.teaoilcenter.org

บักแงวหรือคอแลน เป็นผลไม้เมืองร้อน ลักษณะคล้ายกับลิ้นจี่แต่เนื้อด้านในจะคล้ายกับเงาะ เนื้อมีรสเปรี้ยว ส่วนเมล็ดมีพิษไม่สามารถรับประทานได้ ในปัจจุบันคอแลนเป็นผลไม้ที่หารับประทานได้ยากและใกล้จะสูญพันธุ์ เพราะไม่ค่อยมีคนปลูก เนื่องจากไม่เป็นที่นิยมในการรับประทานเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะมันมีรสเปรี้ยว แต่ภายหลังเกษตรกรก็ได้หันมาปลูกคอแลนที่มีรสหวานและลูกใหญ่ขึ้นมาทดแทนพันธุ์เดิม คอแลน ถือเป็นไม้พื้นบ้าน ที่มีการใช้ประโยชน์ทั้งการกินเป็นผลไม้และใช้เป็นยาสมุนไพร ผลของคอแลนมีรสเปรี้ยวอมหวาน จึงช่วยทำให้ชุ่มคอ แก้ไอ และใช้เป็นยาระบายท้อง ช่วยในการย่อยอาหาร มีการกล่าวถึงช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย ป้องกันและรักษาไข้หวัด และช่วยลดความเครียด เป็นผลไม้หรืออาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ กินแล้วสดชื่นเพิ่มพลังงาน มีข้อมูลที่ยังไม่มีการรับรองแน่ชัด เป็นเพียงประสบการณ์ว่าการกินคอแลนมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงมีการใช้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน

แหล่งกำเนิดและการแพร่กระจาย

บักแงวหรือคอแลน เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป เป็นพรรณไม้ป่าดงดิบ และพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณที่ชื้นๆ ได้บ้าง เช่น ตามที่ใกล้แหล่งน้ำ เป็นพืชที่ขึ้นได้ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-800 เมตร  จากรายงานพบพืชชนิดนี้ในพม่า มาเลเซีย กัมพูชา ลาว และประเทศไทย และภูมิภาคใกล้เคียงในทางตอนใต้ของเทือกเขาหิมาลัย เช่น ในประเทศภูฏาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน ในประเทศไทยพบด้ทุกภาคของประเทศไทย พบมากในภาคอีสานและภาคเหนือ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด

สวนบักแงว
www.naewna.com

ลักษณะทั่วไปต้นบักแงวหรือคอแลน

  • ลำต้น
    ต้นบักแงว เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูงประมาณ 10-20 เมตร เปลือกเรียบ มีสีน้ำตาลคล้ำ เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างทึบ ลักษณะของใบคอแลน เนื้อหนา ใบสีเขียว ออกเป็นช่อติดเรียงสลับยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร โดยใบย่อยเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับถึงรูปรี ติดตรงข้าม 1-3 คู่ โคนใบมนและเบี้ยว ขอบใบเรียบ หลังใบเกลี้ยงเป็นมัน ส่วนท้องใบสีจาง
  • ดอก
    มีขนาดเล็ก มีสีขาวอมเขียว ออกรวมกันเป็นช่อตามปลายกิ่ง ทุกส่วนของช่อดอกจะมีขนสีเทาทั่วไป โคนกลีบรองดอกจะติดกันเป็นรูปถ้วยปากกว้าง ปลายแยกเป็น 5 แฉก ส่วนกลีบดอกไม่มี มีเกสรตัวผู้ 5 อัน มีรังไข่กลมและมีขนปกคลุม
  • ผล
    ลักษณะเป็นรูปรีถึงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ลักษณะของผิวจะขรุขระ เป็นปมเล็ก ๆ กระจายไปทั่ว ผลอ่อนจะเป็นสีเขียว ส่วนผลแก่จัดจะออกเป็นสีแดงเข้ม โดยในผลจะมีเมล็ด 1 เมล็ด และมีเนื้อเยื่อใส ๆ และน้ำหุ้มเมล็ดอยู่

วิธีการปลูก

ปัจจุบันนิยมขยายพันธุ์ต้นบักแงวหรือคอแลนด้วยการเพาะเมล็ด โดยมีวิธีการดังนี้ นำเมล็ดผลคอแลนที่สุกแล้ว นำไปแกะเปลือกและเนื้อออก หลังจากนั้นตากไว้ลมไว้ 1 วัน หลังจากนั้นแกะผิวของเปลือกนอกเมล็ดออก พอได้เมล็ดที่พร้อมเพาะพันธุ์แล้วก็จัดเตรียมดิน แล้วนำเมล็ดปักลงในดิน โดยไม่ต้องกลบดินลึกมาก หลังจากนั้นรดน้ำทุกวัน วันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น พอต้นกล้างอกออกมาและแข็งแรง จึงนำไปปลูกลงดินอีกครั้ง

ต้นบักแงว
writer-kaew.blogspot.com

วิธีการดูแลรักษา

ต้นบักแงวหรือคอแลนเป็นต้นไม้ที่ทนแล้ง หากต้นกล้าเจริญเติบโตขึ้นมาแล้วไม่จำเป็นต้องรดน้ำทุกวัน ชอบแดดจัด และไม่ต้องการการดูแลรักษามาก สามารถเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ และหากต้องการให้ต้นคอแลนโตได้ไวขึ้น ก็สามารถใส่ปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยคอกได้

ประโยชน์และสรรพคุณ

ลำต้นไม้บักแงวหรือคอแลน มีเนื้อเหนียว แข็ง และละเอียด สามารถนำไปใช้ทำเป็นเครื่องมือทางการเกษตรได้ เช่น คันไถ ด้ามเครื่องได้ ผลแก่ใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ มีรสหวานอมเปรี้ยว ดอกจากไม้คอแลน ใช้เลี้ยงผึ้งได้ให้น้ำผึ้งแบบธรรมชาติที่ดี ในตำรายาพื้นบ้านอีสาน มีการนำเอาแก่นมาฝนกับน้ำ โดยผสมสมุนไพรอื่นๆ หลายชนิด กินแก้ไข้หมักไม้ (อาการไข้ชนิดหนึ่ง) ไข้เปลี่ยนฤดู ไข้หวัดใหญ่ ในตำรายาไทยกล่าวไว้ว่า คอแลน เป็นสมุนไพรที่มีเนื้อไม้รสฝาด ใช้ปรุงเป็นยาห้ามเลือด ผลใช้เป็นยาช่วยการกระจายเลือด เปลือกใช้เป็นยาบำรุงเลือด ตำรับยาโบราณของอีสานตำรับหนึ่ง กล่าวไว้ว่า ให้เอา ฮากฮังหนาม (รากเต็งหนาม; Brideliaretusa (L.) A. Juss.) ท่มโคก (กระทุ่มโคก; Mitragyna hirsute Havil.) ลุมพุกแดง (มะคังแดง; Dioecrescisery throclada (Kurz) Tirveng.) ลุมพุกขาว (ตะลุมพุก; Tamilnadia uliginosa (Retz.) Tirveng. &Sastre) แก่นหมากคำ (ยังจำแนกไม่ได้) ไม้หมากแงว (คอแลน; Nephelium hypoleucum Kurz) ต้มกินดี คายตำลึง 1 แพวาหนึ่ง เหล้า ก้อง ไข่ หน่วยแล (มีค่าบูชาครู 1 ตำลึง ผ้า 1 ผืน เหล้า 1 กระปุก ไข่ 1 ใบ) นอกจากนี้คอแลนยังมีสรรพคุณอื่นอีกมากมาย เช่น ช่วยทำให้ชุ่มคอ ช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ และเพิ่มพลังงาน ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยเสริมสร้างสมาธิ แก้ปัญหาสมาธิสั้น ช่วยลดความเครียด ช่วยในการย่อยอาหาร ใช้เป็นยาระบาย ช่วยต่อสู้กับเชื้อหวัดและไวรัสไข้หวัดใหญ่ คอแลนได้รับความนิยมนำมารับประทานโดยการจิ้มพริกเกลือ และบางคนก็นำไปยำกับปลาร้าเพื่อเพิ่มรสชาติอีกด้วย

บักแงว รสชาติ

แหล่งอ้างอิง

www.teaoilcenter.org

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้