ขันทองพยาบาท พันธุ์ไม้ชื่อแปลกประหลากที่เรามั่นใจเลยว่าน้อยคนนักที่รู้จัก แต่ในกลุ่มหมอพื้นบ้าน หรือกลุ่มอนุรักษ์สมุนไพรหายากต่างรู็จักกันดี แต่ความพิเศษของต้นขันทองพยาบาทไม่ได้เป็นเพียงสมุนไพรรักษาโรค แต่มันยังเป็นพันธุ์ไม้ประดับที่มีต้นสูง ใบเขียวเข้ม เมื่อตัดกับผลที่มีสีส้มสวย แค่นี้ก็ทำให้บ้านของคุณถูกเติบเต็มด้วยสีสันสนใสแล้ว แต่ kaset.today ยังมีข้อมูลของต้นขันทองพยาบาทที่อยากให้คุณได้อ่านอีก ในแค่มุมของเกษตรกรที่สามารถใช้ประโยชน์จากการวิจัยสารสกัดของต้นขันทองพยาบาทได้ อย่าช้าอยู่เลย เพราะชื่อว่าต้องมีคนสงสัย และอยากความรู้จักต้นขันทองพยาบาทให้มากขึ้นแน่นอน
ข้อมูลทั่วไปของต้นขันทองพยาบาท
ชื่อวงศ์ : Euphorbiaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Suregada multiflora (A.Juss) Baill
ชื่อภาษาอังกฤษ : Suregada multiflorum Baill
ชื่อท้องถิ่น : ดูกใส(อีสาน) ยางปลอก ยายปลวก ฮ่อสะพานควาย(แพร่ น่าน) ขันทองพยาบาล(ภาคกลาง) ดูกหิน(สระบุรี) ข้าวตาก(กาญจนบุรี) มะดูกเลื่อม(เหนือ) ขันทอง(พิษณุโลก) ขุนทอง(ประจวบคีรีขันธ์) กระดูก(ใต้) มะดูกดง(ปราจีนบุรี)
ถิ่นที่อยู่ของต้นขันทองพยาบาท
เราสามารถพบต้นขันทองพยาบาทได้ในพื้นที่เขตร้อน และเขตร้อนชื้น เช่น ทวีปเอเชียบริเวณเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ในประเทศ, อินเดีย, บังกลาเทศ, ไทย, พม่า, ลาว, กัมพูชา, และในคาบสมุทรมลายู เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น และสำหรับในประเทศไทยเราก็สามารถพบทั่วไปในทุกภาคของประเทศ โดยมักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าละเมาะ และชายป่าที่แห้งแล้ง ที่มีความสูงไม่เกิน 500 เมตรจากระดับน้ำทะเล และจะพบเยอะในหน้าฝน ต้นจะมีดอกออกแล้วมีผลเต็มต้นสีเขียวไปจนถึงสีส้มดูสวยงามเลยละ
ลักษณะต้นขันทองพยาบาท
- ลำต้น
ต้นไม้ชนิดนี้เป็นพรรณไม้ที่กระจายพันธุ์อยู่ในเขตเอเซียและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ คาบสมุทรอินโดจีน รวมถึงคาบสมุทรมลายู โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ความสูงประมาณ 7-13 เมตร ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ และป่าผลัดใบ ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มากกว่า 600 เมตร
มีลักษณะตั้งตรง กิ่งก้านอ่อนและห้อยลง ตรงกิ่งมีขนเป็นรูปดาว เปลือกของต้นมีสีน้ำตาลแก่ เนื้อไม้มีสีขาว และผิวไม้บางเรียบ
- ใบ
เป็นพืชใบเดี่ยวที่เรียงสลับ ใบมีลักษณะหนาและแข็ง เป็นรูปหอกปนรูปขอบขนาน ส่วนปลายใบจะแหลมค่อนกลม ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย(จะพบในบางใบโดยเฉพาะใบแก่ๆ และฟันเลือนมันเล็กมาก) ส่วนหลังใบจะเรียบลื่น ท้องใบมีสีอ่อนกว่าด้านหน้าใบ ผิวใบด้านล่างจะมีต่อมสีเหลืองๆ พร้อมกับมีขนรูปดาว
- ดอก
จะออกดอกช่วงเดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม โดยดอกจะมีสีเขียวปนเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามซอกใบ ช่อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 5-6 ดอก และดอกจะแยกเพศแยกต้นกับไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้แต่ละอันจะมีต่อมที่ฐาน ส่วนดอกเพศเมียจะคล้ายกับดอกเพศผู้ แต่รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ และมีขนละเอียดกับมีหมอนรองดอก
- ผล
ผลของขันทองพยาบาทค่อนข้างจะกลมเท่ากับลูกพุทรา ผิวเกลี้ยง เมื่อเป็นผลอ่อนจะมีสีเขียว พอสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองปนส้มและแตกตามพู มีอยู่ 3 พู ข้างในผลมีเมล็ดประมาณ 3 เมล็ด ซึ่งจะมีลักษณะกลมๆ สีน้ำตาลเข้ม เนื้อบาง และมีสีขาวหุ้มเมล็ด ช่วงการติดผลจะอยู่ในเดือนเมษายน ถึง เดือนมิถุนายน
การขยายพันธุ์ต้นขันทองพยาบาท
ส่วน การขยายพันธุ์ของขันทองพยาบาท ปัจจุบันทำได้โดยการใช้เมล็ด ซึ่งจะเพาะเมล็ดก่อน แล้วจึงนำต้นกล้าไปปลูกตามสถานที่ต่างๆ เพื่ออาศัยร่มเงา แต่ในอดีตจะไม่ค่อยนิยมปลูกไว้ที่บ้านหรือตามสวน เนื่องจากเป็นไม้ยืนต้นที่ขนาดค่อนข้างจะสูงใหญ่ ในการขยายพันธุ์สามารถปลูกได้ในดินทุกชนิด และเป็นต้นไม้ที่ต้องการน้ำในระดับปานกลาง ชอบแสงแดดจัด ฉะนั้น หากจะปลูกก็ควรอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง และในปัจจุบันหากตัดแต่งกิ่งดีๆ ก็จะกลายเป็นไม้ประดับที่ดูสวยงามแปลกตาไปอีกแบบ
ขันทองพยาบาทมีประโยชน์และสรรพคุณอะไรบ้าง
ประโยชน์
ด้านประโยชน์มีดังต่อไปนี้
- ส่วน “เนื้อไม้” มีความเป็นพิษทำให้เมา ใช้เป็นยาเบื่อ
- ส่วน “เนื้อไม้” ใช้ทำเครื่องใช้ไม้สอยหรือทำเครื่องจักรสาน
- ส่วน “ทั้งต้น” ซึ่งมีลักษณะเป็นพุ่ม มีความงดงาม ใบเป็นมัน ผลเมื่อสุกมีสีสดสะดุดตา ดอกมีกลิ่นหอม ต่างๆเหล่านี้สามารถนำไปปลูก เพื่อใช้ประดับสวนหรือปรับภูมิทัศน์ได้
สรรพคุณ
ด้านสรรพคุณทางสมุนไพร ทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้บอกว่า
- เปลือก
เป็นยาบำรุงเหงือก รักษาเหงือกอักเสบ ช่วยทำให้ฟันทน เหงือกแข็งแรง ช่วยแก้ลมและโลหิตเป็นพิษ ช่วยแก้ปอดพิการ ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบายและยาฆ่าพยาธิ ใช้รักษากามโรค ถ่ายน้ำเหลืองเสีย รักษาโรคตับพิการ ใช้รักษาโรคผิวหนัง เช่น ผดผื่นคัน โรคเรื้อน กลากเกลื้อน ใช้รักษาอาการพิษในกระดูก ช่วยรักษาอาการปวดไขข้อ แต่เปลือกจะมีรสเมาเบื่อ ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง
- เนื้อไม้
ช่วยแก้ไข แก้ลมและโลหิตเป็นพิษ เป็นยาฆ่าพยาธิ ใช้รักษากามโรค รักษาน้ำเหลืองเสีย ใช้รักษาโรคผิวหนัง เช่น ผดผื่นคัน โรคเรื้อน กลากเกลื้อน ใช้รักษาอาการพิษในกระดูก แต่เนื้อไม้ก็มีรสเฝื่อนและเมาจึงควรใช้อย่างระมัดระวัง
- ราก
ช่วยแก้ลม รักษาน้ำเหลืองเสีย รากก็มีรสเมา ร้อน และเบื่อ ควรใช้ด้วยความระวัง
- ลำต้น
สำหรับสตรีอยู่ไฟใช้ต้มกับน้ำแล้วอาบได้
- แก่น
รสเฝื่อนเมา แก้โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน แก้ลมพิษ แก้ประดง แก้พิษในกระดูก ฆ่าพยาธิ แก้โรคเรื้อน มะเร็งคุดทะราด แก้กามโรค
ประโยชน์ของต้นขันทองพยาบาทในด้านของเภสัชวิทยา
ในทางข้อมูลเภสัชวิทยาของ ขันทองพยาบาท พบคุณประโยชน์อีกอย่าง คือ สารสกัดจากเปลือกจะมี ไดคลอโรมีเทน เมื่อนำไปแยกให้เป็นสารบริสุทธิ์ จะได้สารไดเทอร์ปีน 7 ชนิด ได้แก่ abbeokutone, ent-3-oxo-16-kaurene-15β, 18-diol, ent-16-kaurene-3β, 15β-diol, ent-kaurene-3β, 15β, 18-diol, helioscopinolide A, helioscopinolide C และ helioscopinolide I
สารดังกล่าวทั้งหมดมีฤทธิ์ยับยั้งการปล่อยเอนไซม์ RBL-2H3 หรือเรียกว่า β-Hexosaminidase ที่เป็นสารกระตุ้นอาการแพ้ของเซลล์ โดยสารทั้ง 7 นั้นสามารถยับยั้งการสลายตัวแกรนูล(เซลล์อักเสพ)ที่ปล่อยเอนไซม์ RBL-2H3 แต่สารทั้ง7 ไม่ได้ยับยั้งฤทธิ์ที่เกิดจากเอนไซม์โดยตรง
เกร็ดความรู็ !
ข้อควรรู้อีกประการเกี่ยวกับ ขันทองพยาบาท ตามที่ "ผู้จัดการออนไลน์" ได้เสนอข่าว เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2563 ว่า…จากการตรวจสอบข้อมูลทางด้านวิชาการ เรื่อง...การใช้ขันทองพยาบาทรักษาโรคมะเร็ง นั้น เป็นเพียงงานวิจัยเบื้องต้นที่ยังไม่มีการยืนยันชัดเจน และไม่มีความเกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็ง เช่นนั้นข้อมูลต่างๆ จึงไม่มีมูลความจริง หากมีข้อมูลอื่นใดเกี่ยวกับสรรพคุณอีกก็ขอให้นักอ่านทุกคน ตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนจะเชื่อข้อมูลนั้นๆ
สารสกัดจากต้นขันทองพยาบาทยับยั้งการงอกของวัชพืช
มาถึงจุดนี้เราก็มีข้อมูลที่น่าจะทำให้นักอ่านทุกคนเกิดความสนใจเกี่ยวกับสมุนไพรชนิดนี้มากขึ้น เพราะเราไปเจอบทความงานวิจัย ผลของสารสกัดจากใบขันทองพยาบาทต่อการงอกและการเจริญเติบโตของผักโขมสวน ของ ปฐวี อามระดิษ, ภัทรนันต์ โชตแสง, พัชนี เจริญยิ่ง และ จํารูญ เล้าสินวัฒนา
แต่ทุกคนอาจจะกำลังงงว่า “ผักโขมสวน” คืออะไร ชื่อออกเสียงเหมือนกับผักที่เรากินกัน ใช่ผักโขมอบชีส เหมือนที่เรากินกันรึเปล่า แต่ไม่ใช่ ! เพราะผักโขมที่เรากำลังจะพูดถึงคือ วัชพืช ที่มักจะชอบขึ้นในสวนผักสวนครัว ความสามารถของวัชพืชชนิดนี้คือ เก่ง! แย้งอาหาร น้ำ และแร่ธาตุที่คนปลูกขยัยใส่ปุ๋ยแต่หารู้ไม่ว่า ปุ๋ยที่ใส่ไปนั้น ไปไม่ถึงผักที่คุณปลูก แต่มันกลับถูกดูดกินไปโดยเจ้าผักโขมตัวนี้ และด้วยที่วัชพืชชนิดนี้มักขึ้นในแปลงหรือสวนทำให้มันถูกเรียกว่า “ผักโขมสวน”
และจากรายงานของงานวิจัย ผลของสารสกัดจากใบขันทองพยาบาทต่อการงอกและการเจริญเติบโตของผักโขมสวน ได้กล่าวว่า สารสกัดหยาบชั้นไดคลอโรมีเทนของใบขันทองพยาบาทมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อจุลชีพ (Jahan et al., 2004) นอกจากนี้ Macias-Rubalcava et al. (2007) ยังพบว่าพืชในวงศ์ Euphorbiaceae บางชนิดยังแสดงผลอัลลีโลพาทีที่ดีจากฤทธิ์ทางชีวภาพเหล่านี้งานวิจัยนี้จึงสนใจศึกษาฤทธิ์ทางด้าน อัลลีโลพาทีของสารสกัดจากใบขันทองพยาบาท เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นและเป็นทางเลือกหนึ่งในการกําจัดวัชพืชจากสารธรรมชาติต่อไปในอนาคต
นําใบขันทองพยาบาทแห้งที่บดละเอียดมาสกัดด้วยวิธีการสกัดตามลําดับความมีขั้วของตัวทําละลาย (sequential solvent extraction) ตัวทําละลายอินทรีย์ที่ใช้คือ เฮกเซน (Hexane) เอทิลอะซิเตต (EtOAc) และเมทานอล (MeOH) ตามลําดับโดยแช่ในตัวทําละลายแต่ละชนิดเป็นเวลา 7 วัน แล้วกรองผ่านกระดาษกรอง Whatman No.1
- สรุป !
สารสกัดชั้นน้ำและชั้นตัวทําละลายอินทรีย์ของใบขันทองพยาบาทมีผลต่อการงอกและการเจริญเติบโตของผักโขมสวน สารสกัดในทุกระดับความเข้มข้นมีผลยับยั้งความยาวรากของผักโขมสวนได้ดีโดยที่สารสกัดชั้นน้ำที่ระดับความเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์และสารสกัดหยาบชั้นเอทิลอะซิเตต ที่ระดับความเข้มข้น 4,000 ppm สามารถยับยั้งการงอกและการเจริญเติบโตของผักโขมสวนได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนั้นยังพบว่าความสามารถในการยับยั้งการงอกและการเจริญเติบโตจะเพิ่มขึ้นเมื่อความเข้มข้นของสารสกัดเพิ่มขึ้น
โห! ใครอ่านถึงตรงนี้คุณต้องมีอาการปวดหัวบ้างแน่นอน แต่เราแน่ใจว่าคุณก็ต้องได้ความรู้อัดแน่น เพราะเรา kaset.today พยายามอย่างมากเพื่อที่จะสรรหาความรู้ดี ๆ ทั้งความรู้ใกล้ตัวและความรู้ในเชิงวิชาการเพื่อให้ผู้อ่านทุกคนมีตัวเลือกได้เสพกันอย่างจุใจ และเรายังมีบทความอีกมากมายเกี่ยวกับ พันธุ์ไม้ สมุนไพร และ ยังมีในส่วนของปศุสัตว์ ที่มีบทความสาระดีๆอีกมาก และถ้าคุณอยากรู้เรื่องเกษตร ต้องนึกถึง kaset.today นะ!
แหล่งอ้างอิง
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ผลของสารสกัดจากใบขันทองพยาบาทต่อการงอกและการเจริญเติบโตของผักโขมสวน