ต้นกร่าง หรือ ต้นนิโครธ ชื่อสามัญ Banyan tree, Bar, East Indian Fig ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus benghalensis L. จัดอยู่ในวงศ์ MORACEAE ชื่ออื่น ๆ ต้นนิโครธ,ไทรนิโครธ,ไทรทอง(นครศรีธรรมราช), ลุง(เชียงใหม่,เหนือ), ฮ่างขาว, ฮ่างหลวง, ฮ่างเฮือก(เชียงราย),ไฮคำ(เพชรบูรณ์),ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “บันยัน” (Banyan), ในภาษาฮินดูเรียกว่า “บาร์คาด” (Bargad)
เป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา และปากีสถาน ได้แพร่กระจายพันธุ์ไปทั่วในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 10-30 เมตร ลำต้นตรงขึ้นเป็นพูพอน แตกกิ่งก้านหนาทึบ ลักษณะเป็นเรือนยอดแผ่กว้างปลายกิ่งลู่ลง เปลือกต้นเรียบเกลี้ยง ลำต้นและกิ่งมีรากอากาศห้อยย้อยลงมามากมาย และเมื่อหยั่งถึงดินแล้วจะทำให้เกิดเป็นหลืบสลับซับซ้อน เป็นฉากเป็นห้อง หรือเป็นลำต้นต่อไปได้อีก ทุกส่วนของลำต้นมียางสีขาว กิ่งอ่อนมีขนนุ่มอยู่หนาแน่น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด หรือโดยวิธีทางธรรมชาติที่นกหรือ ค้างคาวจะกินผลแล้วถ่ายมูลที่มีเมล็ดติดอยู่ไปยังที่ต่าง ๆ หรือจะขยายพันธุ์ด้วยการปักชำหรือการตอนกิ่งก็ทำได้เช่นกัน โดยสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิดที่ค่อนข้างมีความชุ่มชื้น
ความเชื่อเกี่ยวกับต้นกร่าง
ต้นกร่างเป็นไม้มงคลอย่างหนึ่งของฮินดูและพุทธ จึงนิยมปลูกไว้ในศาสนสถานหรือสวนสาธารณะ อีกทั้งชาวญี่ปุ่นก็มีความเชื่อว่าหากปลูกต้นกร่างหรือต้นบันยันไว้จะช่วยเสริมฮวงจุ้ยด้านการเงิน
ควรปลูกบริเวณใดของบ้าน
ต้นกร่าง หรือ ต้นไทรนิโครธ จัดเป็นไม้มงคลตามพุทธประวัติที่พระกัสสปพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน และได้ตรัสรู้ ณ ควงไม้นิโครธ จึงมีการนิยมปลูกไว้ตามศาสนสถานหรือตามวัดวาอารามทั่วไป เพื่อเป็นไม้ให้ร่มเงาและเพิ่มความร่มเย็น แต่จะไม่นิยมปลูกไว้ในบ้านเนื่องจากต้นนิโครธมีขนาดใหญ่เกินไป นอกจากปลูกไว้ตามศาสนสถานแล้วต้นกร่างยังได้รับความนิยมปลูกไว้ตามสวนสาธารณะอีกด้วย
ลักษณะทั่วไปของต้นกร่าง
- ใบกร่าง
ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบมน มีติ่งแหลมสั้น โคนใบเรียบหรือโค้งกว้าง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10-14 เซนติเมตรและยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีเส้นแขนงของใบประมาณ 4-6 คู่ ก้านใบอวบ ยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร มีหูใบหุ้มยอดอ่อน ใบอ่อนมีขนหนามากโดยเฉพาะในส่วนของท้องใบ ส่วนใบแก่ไม่มีขน ใบเมื่อแก่จะร่วงหล่นและมีรอยแผลใบให้เห็นเด่นชัดบนกิ่ง
- ดอกกร่าง
ออกดอกเป็นช่อแบบช่อมะเดื่อตามซอกใบ ดอกมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก เจริญเติบโตอยู่ภายใต้ฐานรองดอก ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน ภายในดอกประกอบไปด้วยดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย โดยดอกตัวเมียจะอยู่ใกล้กับรูปากเปิด จะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์-มีนาคม
- ผลกร่าง
ผลมีขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร บ้างว่าประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียวเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนถึงสีส้ม และเมื่อแก่ผลจะเป็นสีแดงคล้ำหรือสีเลือดหมู ในแต่ละผลจะมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ประมาณ 2-4 กลีบ ผลจะออกในช่วงเดือนมีนาคมไปจนถึงเมษายน
- ลำต้น
ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 10-20 เมตร ไม่ผลัดใบเรือนยอดกว้าง แตกกิ่งต่ำ มียางขาวและมีรากอากาศ ลำต้นเป็นพูพอน เปลือกสีน้ำตาลปนเทา
วิธีการปลูก
ต้นกร่างมีการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำหรือการตอนกิ่ง สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิดที่ค่อนข้างมีความชุ่มชื้น สามารถปลูกได้กลางแดดหรือที่มีแสงจ้า เนื่องจากต้นกร่างมีความอดทนต่อสภาพอากาศ ไม่ต้องมีการดูแล บางครั้งหากมีนก ค้างคาว สัตว์ต่าง ๆ หรือแมลงคาบเมล็ดไป ก็สามารถเจริญเติบโตขึ้นได้เช่นเดียวกัน ปัจจุบันมีการเพาะพันธุ์ต้นกร่างเพื่อจำหน่าย และกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก
วิธีการดูแล
ต้นกร่างเป็นไม้ที่ไม่ต้องรับการดูแล สามารถรดน้ำอาทิตย์ละครั้งหรือ 3 วันต่อหนึ่งครั้งได้ เพียงแค่ดินมีความชุ่มชื้น ต้นกร่างก็สามารถเติบโตขึ้นได้ โดยสามารถสังเกตได้จากสภาพดินโดยรอบ หากยังมีความชุ่มชื้นเราสามารถเว้นไปได้ และหากสังเกตเห็นดินโดยรอบแห้งจึงรดน้ำอีกครั้ง
ประโยชน์หรือสรรพคุณของต้นกร่าง
ต้นกร่างมีสรรพคุณด้านยาสมุนไพรมากมาย โดยแต่ละส่วนของต้นกร่างล้วนมีประโยชน์ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น
- เมล็ด ใช้เป็นยาเย็นและยาบำรุงร่างกาย
- เปลือกต้น ทำเป็นยาชงใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้โรคเบาหวาน ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย แก้ท้องเดิน ท้องร่วง ช่วยแก้อาการถ่ายเป็นมูกเลือด และใช้เป็นยาช่วยห้ามเลือด
- ราก นำมาเคี้ยวเพื่อช่วยป้องกันโรคเหงือกบวม
- ใบ ใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง ช่วยแก้อาการถ่ายเป็นมูกเลือด และใช้เป็นยาช่วยห้ามเลือดได้
- ยาง ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย แก้ท้องเดิน ใช้แก้โรคบิด แก้โรคริดสีดวงทวาร ใช้แก้โรคหูด และใช้เป็นยาทาแก้ไขข้ออักเสบได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีประโยชน์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ให้ร่มเงา พักอาศัยทั้งคนและสัตว์ ผลยังสามารถนำมารับประทานได้ นอกจากคนจะรับประทานได้แล้ว ผลของต้นกร่างยังเป็นอาหารของนก และสัตว์อื่น ๆ อีกด้วย นอกจากผลที่รับประทานแล้ว ในอินเดียยังใช้ใบสำหรับใส่อาหารรับประทานด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า รากอากาศของต้นกร่างมีความเหนียว สามารถนำมาใช้ทำเป็นเชือกได้ และส่วนเปลือกด้านในก็ยังสามารถนำมาทำเป็นกระดาษได้อีกด้วย เรียกว่าสารพัดประโยชน์กันเลยทีเดียว