ชื่อภาษาอังกฤษ Alocasia Plumbea Nigra
ชื่อวิทยาศาสตร์ Alocasia sp.
ชื่ออื่นๆ ว่านเมฆดำ, ว่านพญาลิงดำ, ว่านสบู่เลือดบอน
วงศ์ Araceae
ต้นบอนสบู่เลือดหรือที่หลายคนเรียกว่าว่านพญาลิงดำ เป็นพันธุ์ไม้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับพืชตระกูลบอน เพาะเลี้ยงง่ายแต่เติบโตได้ช้า โดดเด่นที่ใบมีขนาดใหญ่และให้โทนสีเข้มดูแปลกตา แม้ว่าปัจจุบันจะนิยมปลูกไว้เป็นไม้ประดับเพียงอย่างเดียว แต่พืชชนิดนี้ถูกนำไปใช้ประโยชน์หลายอย่างในสมัยก่อน เช่น ทำยาแก้พิษ ทำน้ำมันสักเพื่อความคงกระพัน ใช้รักษาอาการบาดเจ็บในสัตว์ เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นยังเป็นไม้มงคลที่หลายบ้านมักจะปลูกแก้เคล็ดก่อนปลูกเรือนในที่ดินผืนใหม่ เพื่อช่วยปัดเป่าสิ่งเร้นลับที่มองไม่เห็นอีกด้วย
ความเชื่อเกี่ยวกับต้นบอนสบู่เลือด
มีหลากหลายความเชื่อเกี่ยวกับต้นบอนสบู่เลือดที่มีมาแต่โบราณ แต่ที่ล่ำลือกันมากก็คือความเชื่อที่ว่าหัวจากต้นบอนสบู่เลือดนั้นมีคุณทางด้านคงกระพัน โดยผู้มีวิชาจะใช้หัวบอนจากต้นสมบูรณ์ที่เพาะเลี้ยงมาตามหลักจนมีลักษณะที่ดี ผสมกับหัวว่านชนิดอื่นๆ แล้วแช่ลงในน้ำมันงา ใช้น้ำมันนั้นมาสักลงตามตัวเพื่อเป็นยันต์เสริมความคงกระพัน ฟันแทงอย่างไรก็ไม่เข้า ความเชื่อในแง่ของไม้มงคลก็มีเหมือนกัน คือเชื่อว่าต้นบอนสบู่เลือดนั้นช่วยป้องกันสิ่งไม่เป็นมงคลได้ พื้นที่ไหนที่ว่าเจ้าที่แรงหรือมีวิญญาณร้ายก็จะใช้ต้นบอนสบู่เลือดปลูกลงดินเอาไว้ จะช่วยคุ้มครองและกันภัยให้กับคนที่อาศัยในบริเวณนั้นได้
ลักษณะของต้นบอนสบู่เลือด
- ลักษณะของลำต้น ต้นบอนสบู่เลือดจะเป็นหัวฝังอยู่ใต้ดิน มีลักษณะคล้ายทรงกลมผิวขรุขระสีน้ำตาลเข้ม มีตากระจายตัวอยู่รอบหัวนั้น และมีส่วนก้านใบโผล่ขึ้นมาเหนือพื้นดิน ขณะที่ยังเป็นต้นเล็กก้านใบจะเป็นทรงกลมและค่อนข้างเรียวบาง แต่เมื่อต้นโตเต็มที่จะเริ่มมองเป็นเป็นกาบใบชัดเจน ช่วงโคนที่อยู่ชิดกับผิวดิน ก้านใบจะแผ่ออกแล้วโอบทับกันเป็นชั้นๆ จากนั้นจึงค่อยๆ ห่อเข้าแล้วม้วนเป็นทรงกระบอกบริเวณที่ใกล้กับฐานใบ
- ใบ รูปร่างใบจะคล้ายคลึงกับใบบอนทั่วไป คือใบอ่อนจะมีโคนใบกว้าง ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ แต่เมื่อโตขึ้นใบจะขยายใหญ่กว่าเดิมหลายเท่า ขอบใบเปลี่ยนเป็นรอยหยักแบบโค้งมน ผิวใบเกิดลอนคลื่นและมีร่องเว้าของเส้นใบชัดเจน เนื้อใบบางมีสีเขียวเข้มผสมดำ ส่วนก้านใบจะมีสีอมแดงมากกว่า
- ดอก ดอกจะออกที่กึ่งกลางระหว่างกาบใบ โดยงอกออกมาเป็นช่อเดี่ยว รูปร่างดอกคล้ายทรงวงรีที่เรียวยาว ดอกตูมจะเป็นแท่งตั้งตรงสีคล้ายกาบใบแต่อ่อนกว่า เมื่อบานจึงมีสีขาวมากขึ้น มีกลีบรูปวงรีเพียงกลีบเดียว มีเกสรเป็นแท่งยาวสีขาวนวล ปลายเรียวแหลมและโค้งงอเล็กน้อย
สายพันธุ์ยอดนิยม
เนื่องจากต้นบอนสบู่เลือดจัดเป็นพันธุ์ไม้ที่ค่อนข้างหายากอยู่แล้ว และการเพาะเลี้ยงจนกระทั่งเติบโตเป็นต้นสมบูรณ์ก็ใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน จึงไม่ค่อยมีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ให้เราได้เห็นกันมากนัก ในส่วนของคนรักบอนเองก็ยังให้คุณค่ากับสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีเนื้อใบสีโทนเขียวเข้มผสมดำมากที่สุด และน่าจะเป็นสายพันธุ์ที่มีราคาสูงที่สุดในปัจจุบันด้วย นอกเหนือไปจากนี้ก็จะมีบอนสบู่เลือดด่างอีกสายพันธุ์หนึ่ง ลักษณะเหมือนพันธุ์ดั้งเดิม ต่างแค่สีใบที่จะเป็นสีเขียวอมดำแล้วมีด่างเป็นสีเขียวสด หรือไม่ก็เป็นสีเขียวอมดำกับด่างสีขาว ซึ่งบริเวณกาบใบอาจจะมีลายด่างหรือไม่มีก็ได้
วิธีการปลูก
เราสามารถขยายพันธุ์ต้นบอนสบู่เลือดได้ด้วยการแยกหัวที่อยู่ใต้ดิน เมื่อเพาะเลี้ยงจนต้นแม้พันธุ์เติบโตเต็มที่แล้ว สามารถขุดเพื่อดูใต้ดินว่าการแตกแขนงจากหัวเดิมหรือยัง ถ้ามีแล้วก็สามารถตัดบางส่วนมาเพาะต่อได้ ขนาดหัวที่เหมาะสมจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร นำหัวนั้นมาแช่น้ำหมักเร่งรากที่ผสมปูนแดงหรือปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อรา ระหว่างนี้ให้เตรียมวัสดุปลูกซึ่งประกอบด้วย ดินร่วน ขุยมะพร้าว กาบมะพร้าวสับ ใบก้ามปูหมักหรือปุ๋ยหมักชนิดอื่น ผสมจนเข้ากันเป็นเนื้อเดียวแล้วใส่กระถางเอาไว้ จากนั้นนำหัวบอนสบู่เลือดที่แช่น้ำไว้มาปลูกลงในกระถาง โดยฝังให้ลึกเพียงแค่ประมาณ 1 นิ้วก็พอ เพื่อให้ต้นอ่อนแทงทะลุดินขึ้นมาได้ง่าย ช่วงแรกให้ระวังโรคและแมลงที่เน้นทำลายใบมากเป็นพิเศษ
วิธีการดูแลรักษา
- แสง ต้องการแดดค่อนข้างน้อย เหมาะสำหรับการปลูกในพื้นที่แดดรำไร
- น้ำ ต้องการน้ำปานกลาง ควรรดน้ำประมาณ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์แล้วแต่สภาพความชุ่มชื้นของดิน
- ดิน เติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่ระบายน้ำได้ดี
- ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักบำรุงแร่ธาตุในดินประมาณ 3-4 เดือนต่อครั้ง และเสริมด้วยปุ๋ยบำรุงใบตามความเหมาะสม
คุณประโยชน์ที่ได้จากต้นบอนสบู่เลือด
นอกจากความสวยงามแปลกตาที่เหมาะสำหรับการปลูกไว้เป็นไม้ประดับแล้ว ต้นบอนสบู่เลือดยังใช้ส่วนก้านใบอ่อนมาพันขาไก่ชนเวลาอักเสบหรือแตกหักจากการต่อสู้ได้ แต่ต้องใช้ร่วมกับยาสมานแผลตามสูตรยาโบราณ ส่วนหัวที่อยู่ใต้ดินจะนำมาปรุงยาแก้พิษงูบางชนิด โดยใช้หัวสดโขลกละเอียดแล้วนำไปผสมกับเหล้าขาว กรองเอากากออกให้หมดเพื่อดื่มกินน้ำนั้น ก็จะยับยั้งพิษได้บางส่วนและยืดเวลาให้นำผู้ป่วยส่งถึงมือหมอได้ทันเวลา
ความแตกต่างของบอนสบู่เลือดและว่านสบู่เลือด
เชื่อว่าประเด็นนี้จะทำให้หลายคนเกิดความสับสนได้ง่าย เพราะพันธุ์ไม้ 2 ชนิดนี้มีชื่อเรียกต่างกันเพียงคำเดียว หากเป็นคนที่ไม่เคยเห็นต้นจริงมาก่อนก็มีโอกาสเข้าใจผิด และส่งผลต่อการนำส่วนประกอบของต้นไม้ไปใช้แบบผิดๆ ด้วย เพราะบอนสบู่เลือดและว่านสบู่เลือดต่างมีสรรพคุณทางยาด้วยกันทั้งคู่ แต่วิธีการใช้และอาการเจ็บป่วยที่รักษาได้นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง วิธีสังเกตเพื่อแยกพืช 2 ชนิดนี้ก็คือ บอนสบู่เลือดเป็นพืชตระกูลบอน จึงมีลักษณะภายนอกเหมือนต้นบอนทั่วไป คือมีหัวอยู่ใต้ดิน ส่วนที่โผล่พ้นดินจะเริ่มตั้งแต่กาบใบขึ้นมา รูปร่างใบก็เป็นเช่นเดียวกับใบบอนสายพันธุ์อื่น เพียงแค่มีสีเข้มและมีโทนสีอมแดงผสมอยู่ ส่วนต้นว่านสบู่เลือดจะเป็นไม้เลื้อยในตระกูลเดียวกับบอระเพ็ด ลำต้นเป็นเถายาวและมีใบขนาดเล็กสีเขียวสด เนื้อใบบางและนิ่ม หากขยี้ดูก็จะมีน้ำยางสีคล้ายเลือดสดไหลออกมา จะเห็นว่าพันธุ์ไม้ทั้ง 2 ชนิดมีความแตกต่างที่แยกแยะได้ง่าย ที่เหลือก็แค่เลือกปลูกและเลือกใช้ประโยชน์ให้ถูกต้องตามความต้องการก็พอ