พลูฉลุ ต้นไม้มงคล ช่วยฟอกอากาศ มีความสวยงามเฉพาะตัว

ชื่อสามัญ หรือชื่อภาษาอังกฤษ Window-leaf

ชื่อวิทยาศาสตร์ Monstera obliqua ( Miq.) Walp. ‘ Expilata

ชื่อวงศ์ Araceae

ชื่ออื่น ๆ พลูทะลุ

ต้นพลูฉลุเป็นไม้ในตระกูลพลูด่าง เป็นไม้เลื้อยเนื้ออ่อน มีลำต้นและรากเลื้อยพันไปตามสิ่งยึดเกาะหรือตามผิวดิน ใบเป็นทรงรี ปลายแหลมโคนมน มีรูแหว่งใหญ่เล็กสลับกันไปทั้งสองฝั่งของใบ สวยงามแปลกตา เป็นที่นิยมของผู้ที่ชื่นชอบไม้ประดับสวยงาม กำลังได้รับความนิยมปลูกกันอย่างมาก เหมาะที่จะนำมาตกแต่งทั้งในบ้านหรือบนโต๊ะทำงานเพื่อสร้างความสดชื่น และต้นพลูฉลุยังมีความเชื่อกันว่าหากนำมาปลูกแล้ว จะทำให้มีแต่คนรัก คนหลง อยู่เย็นเป็นสุขไม่มีทุกข์ร้อน ที่สำคัญยังช่วยดูดสารพิษในอาคารได้ดีอีกด้วย ซึ่งต้นพลูฉลุเป็นต้นไม้ที่สามารถเลี้ยงได้ง่าย เลี้ยงไว้ในน้ำใส่ไว้ในแก้วก็ได้ หรือจะปลูกลงกระถางวางพื้น หรือจะแขวนไว้ก็สามารถทำได้เช่นกัน

พลูฉลุ ไม้มงคล

ควรปลูกไว้บริเวณใดของบ้าน

ต้นพลูฉลุเป็นพืชที่ต้องการแดดน้อย ปลูกในที่ร่มได้ หรือจะปลูกไว้ในห้อง บนคอนโด หรือปลูกไว้ประดับโต๊ะทำงานในออฟฟิศก็ได้เช่นเดียวกัน

ลักษณะทั่วไป

  • ลำต้น
    พลูฉลุมีลักษณะอ่อนละเล็ก มีข้อปล้องตลอดลำต้น มักจะเลื้อยพันไปตามไม้ค้ำยัน ต้นไม้ใกล้เคียง หรือวัตถุที่สามารถยึดเกาะได้ มีรากพิเศษงอกออกมาตามข้อปล้อง
  • ดอก
    ดอกพลูฉลุมีลักษณะเป็นช่อเชิงลดบริเวณช่วงตรงปลายกิ่ง มีช่อดอกค่อนข้างยาว และมีกาบคอยหุ้มช่อดอกสีขาวอีกชั้นหนึ่ง ช่อดอกยาว
  • ใบ
    ใบพลูฉลุมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 5 – 10 เซนติเมตร ยาว 8 – 18 เซนติเมตร ปลายใบแหลมโคนใบมน ผิวใบด้านบนสีเขียวถึงเขียวเข้ม แผ่นใบเป็นรูเว้าแหว่งขนาดใหญ่และเล็กสลับกันไปอยู่ระหว่างเส้นใบ แต่ไม่สม่ำเสมอ โคนก้านใบเป็นกาบเล็กๆ และมีความโดดเด่นตรงที่แผ่นใบมีรูเว้าขนาดเล็ก-ใหญ่สลับปะปนกันเหมือนลายฉลุ จึงเป็นที่มาของชื่อ “ พลูฉลุ ” นั่นเอง
พลูฉลุมีกี่ชนิด

วิธีการปลูก

ต้นพลูฉลุเป็นพืชที่ชอบความชื้น จึงควรใส่วัสดุปลูกที่อุ้มน้ำได้ดีและเก็บความชื้นได้มากอย่าง กาบมะพร้าวสับ หรือขุยมะพร้าว ผสมลงไปในดินด้วย โดยให้กาบมะพร้าวมีปริมาณที่มากว่าดินร่วน และก่อนนำมาปลูก ให้แช่กาบมะพร้าวไว้ในน้ำก่อนซัก 1-2 คืน เพื่อช่วยลดสารเทนนิน ซึ่งอาจมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ได้ แม้พลูฉลุจะเป็นต้นไม้ที่ชอบความชื้น แต่ก็ไม่ชอบให้มีน้ำขังแฉะ ดังนั้นหากปลูกในกระถางจึงควรรองก้นกระถางด้วยหินก่อนเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้ดี และหากจะทำหลักไว้ให้ต้นไม้เลื้อยขึ้นไปพัน ก็ให้เลือกกระถางแบบที่เป็นทรงลึก จึงจะสามารถปักไม้หลักลงในกระถางได้อย่างมั่นคง

วิธีการขยายพันธุ์

ต้นพลูฉลุมีวิธีการขยายพันธุ์โดยการปักชำยอด ซึ่งสามารถปักชำได้ด้วยน้ำแทนดิน มีขั้นตอนดังนี้

  1. เตรียมภาชนะสำหรับปักชำ เช่น ขวดโหล ขวดแก้วเหลือใช้ นำมาเช็ดล้างทำความสะอาด เพื่อป้องกันการเกิดโรคในพรรณไม้ที่ปักชำ และใส่น้ำสะอาดในปริมาณที่เกือบเต็มภาชนะ
  2. ตัดกิ่งให้มีความยาวประมาณ  3 – 8นิ้ว โดยตัดใต้ข้อเพราะบริเวณนั้นจะมีอาหารสะสมและมีฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นให้แตกรากใหม่ตัดเฉียงประมาณ 45 องศา (เพื่อเพิ่มพื้นที่การแตกรากได้มากขึ้น)ควรลิดใบออกให้เหลือครึ่งหนึ่ง หรือเหลือใบที่ปลายยอดสัก 3 – 4 ใบเพื่อลดการคายน้ำหากพืชชนิดนั้นออกรากยาก ควรนำไปจุ่มฮอร์โมนเร่งราก(โดยใช้ในอัตราตามที่ระบุในฉลาก)หรือใช้สารป้องกันเชื้อราร่วมด้วย

เวลาในการปักชำควรเป็นช่วงเช้าหรือเย็นจะช่วยลดปัญหาการคายน้ำได้ซึ่งความอ่อนแก่ของกิ่งพันธุ์ และสภาพแวดล้อมทั้งเรื่องของความชื้นและแสงนั้นมีผลต่อการเกิดราก ควรนำไปวางบริเวณที่มีแสงส่องถึงเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของรากโดยที่สภาพอากาศบริเวณนั้นควรได้รับความชื้นและอุณหภูมิเหมาะสม วิธีวัดคือให้ลองลงนั่งดูถ้ารู้สึกว่าเย็นสบายตรงนั้นคือที่ที่เหมาะสำหรับวางต้นไม้ปักชำ

พลูฉลุด่าง

วิธีการดูแล

  • ดิน ควรเป็นดินร่วนผสมกับทรายหยาบ หากมีปุ๋ยคอกให้ผสมรวมลงในดินด้วย
  • น้ำ เป็นพืชที่ต้องการความชื้นสูง ควรรดน้ำให้ชุ่มอย่างสม่ำเสมอโดยการรดจากปลายยอดปล่อยให้น้ำไหลลงมาที่ปากกระถาง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทั้งนี้จะดูจากสภาพดินและอากาศเป็นหลัก
  • แสงแดด ควรปลูกไว้ในตำแหน่งที่มีแดดส่องถึงได้ ประมาณ 50 % พลูฉลุจะเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิ18-24 องศาเซลเซียส สำหรับการปลูกลงในแปลงจัดสวนควรปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ช่วยบังแสงแดดบางส่วนและชะลอการคายน้ำ แต่หากนำใส่กระถางวิธีดูแลต้นไม้ที่ถูกต้องก็คือ ต้องการจัดวางไว้ในตัวบ้านแนะนำให้วางไว้ในตำแหน่งที่มีแสงส่องถึงรำไร เช่น ริมหน้าต่าง ระเบียง หรือจะยกกระถางออกมาวางตากแดดในช่วงเช้าก็ได้ค่ะ การได้รับแสงแดดที่พอเหมาะจะทำให้พลูฉลุเจริญเติบโตได้เต็มที่ ทำให้สามารถแตกยอด ออกใบใหม่และมีสีสดสวยงามขึ้น
  • ปุ๋ย สามารถใช้ได้ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยคอก โดยสูตรที่แนะนำให้ใช้ คือ สูตร 16-8-8 ในปริมาณ 10-20 เม็ดต่อน้ำ 1 ลิตร ควรใส่ 2-3 เดือน ต่อครั้ง ( ปริมาณปุ๋ยที่ใส่ควรขึ้นอยู่กับขนาดของต้นไม้ ) หลังจากใส่ปุ๋ยเสร็จแล้วควรตบท้ายด้วยการรดน้ำให้ชุ่มเพราะปุ๋ยจะไปเพิ่มความเป็นกรดของดินมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้พลูฉลุเหี่ยวตายได้ หรืออาจจะใส่ปุ๋ยเป็นครั้งคราวไปเนื่องจากเป็นต้นไม้ที่ไม่ต้องการแร่ธาตุมากนัก แต่จะเน้นไปที่ความชุ่มชื้นเสียมากกว่า ในส่วนการขยายพันธุ์พลูฉลุนิยมทำโดยวิธีการปักชำมากที่สุดเนื่องจากมีโอกาสรอดสูง ติดง่าย และแข็งแรงเร็วกว่าวิธีอื่น

ประโยชน์ของต้นพลูฉลุ

นอกจากนิยมนำมาตกแต่งบ้านเพื่อเพิ่มความสวยงาม  สร้างบรรยากาศให้บ้านสดชื่น ร่มรื่น สบายตาแล้ว ยังช่วยช่วยฟอกอากาศ ดูดซับสารพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทำให้บ้านมีอากาศที่บริสุทธิ์ส่งผลให้มีสุขภาพที่ดีอีกด้วย

พลูฉลุ ราคา

แหล่งอ้างอิง

web.agri.cmu.ac.th

http://www.msu.ac.th/

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้