ออดิบ พันธุ์ไม้เศรษฐกิจทำเงินกำลังมาแรง สร้างรายได้เสริมตลอดปี

ชื่อวิทยาศาสตร์ Colocasia gigantea Hook.f

ชื่อวงศ์ Araceae

ชื่ออื่น ๆ โซน,ออกดิบ,คูณ,กระดาดขาว,ตูน,ทูน,ตูน,ตุน,เอาะดิบ

ออดิบ เป็นพืชตระกูลเผือก บอน จัดเป็นพืชท้องถิ่นที่สามารถพบได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยจะพบมากทางภาคเหนือ อีสาน ตามลำห้วย หนอง คลอง บึง และปัจจุบันมีการนำมาปลูกเพื่อจำหน่ายและรับประทาน ต้นออดิบเป็นพืชล้มลุก มีหัวใต้ดิน อายุหลายปี ชอบที่ชุ่มชื้นที่มีน้ำเพียงพอ จะเจริญเติบโตแตกหน่อแตกกองอกงามตลอดปี ถ้าไม่ค่อยแตกหน่อ ก้านที่จะเก็บมาทำอาหารจะลีบ เล็ก เพราะอัดกันแน่นอยู่ด้านบนของหัว การขยายพันธุ์โดยแยกหน่อไปปลูกแพร่ขยายติดง่าย สามารถนำไปรับประทานสด หรือประกอบอาหารอย่างเช่น แกงส้ม แกงเหลือง หรือยำได้

ออดิบ ชื่อวิทยาศาสตร์
food.trueid.net

ความเชื่อเกี่ยวกับออดิบ

มีความน่าจะเชื่อได้ว่า แต่เดิมคนทางเหนือเรียกว่า ตุน หมายถึงการสะสมทรัพย์สิน หรือกักไว้ และออกสำเนียงหวานแบบชาวเหนือว่า ตูนเน้อเจ้า เมื่อมีพืชชนิดนี้แพร่ความนิยมในการบริโภคมากขึ้น ทางภาคกลาง เรียกออกเสียงเป็นภาษากลาง ว่าทุน ก็หมายถึงทรัพย์สินเงินทองที่ใช้จ่ายเพื่อหาผลกำไร และก็พอเหมาะพอดี

ควรปลูกไว้บริเวณใดของบ้าน

นิยมปลูกไว้หลังบ้าน ในสวน หรือจุดที่ใกล้น้ำ ดินชุ่มมีน้ำเพียงพอ

ลักษณะทั่วไป

  • หัว ต้นออดิบเป็นพืชล้มลุก มีหัวใต้ดิน อายุหลายปี หัวมีลักษณะกลม สีดำ แต่หากผ่าออกจะเป็นสีขาวคล้ายเผือก
  • ใบ ก้านใบแทงออกจากหัว ก้านสีเขียว เปลือกมีผงแป้งสีขาวเคลือบผิว มองเห็นเป็นก้านสีขาวนวล เนื้อก้านใบ คือส่วนหลักที่นำไปเป็นอาหาร เนื้อกรอบ อวบน้ำ มีรูอากาศแทรกมากมาย ใบคูนเป็นรูปหอกแบนรี ปลายใบมน ฐานใบเว้า สีเขียวอ่อน ขนาดใบใหญ่ กว้าง 16-17 นิ้ว ยาว 15-19
ออดิบ คือ
Facebook, เพื่อนเกษตร

วิธีการปลูก

การปลูกที่เหมาะสมควรปลูกเป็นแถวเว้นช่องว่างระหว่างแถวประมาณ 5 ศอก แต่ละกอห่าง 50 x 50 เซนติเมตร ขุดหลุมลึกประมาณ 15 เซนติเมตร นำหน่อพันธุ์ลงหลุม หลุมละ 1 ต้น รดน้ำในช่วงแรกหลังปลูกวันละครั้ง เมื่อหน่อพันธุ์ตั้งตัวได้แล้ว สามารถทิ้งระยะห่างในการรดน้ำได้ 2-3 วันต่อครั้ง จากนั้นประมาณ 15 วัน ให้ปุ๋ยคอกประเภทมูลโคโดยนำไปโปรยรอบ ๆ ต้นออดิบ เว้นระยะประมาณ 15 วัน ใส่อีกครั้งในปริมาณเท่าเดิม ส่วนช่วงหน้าฝนไม่ต้องใส่เพราะต้นออดิบจะเจริญเติบโตดีในช่วงนี้ด้วยมีน้ำอย่างต่อเนื่องและเพียงพอ ประมาณ 3 เดือนหลังการปลูกก็สามารถตัดก้านที่รอบนอกมาบริโภคหรือจำหน่ายในตลาดทั่วไปได้ ซึ่งแต่ละกอหลังตัดควรเหลือก้านไว้ประมาณ 4-5 ก้าน และอีก 7 วัน ก็จะมีก้านคูนงอกออกมาทดแทน

การขยายพันธุ์

ต้นออดิบมีวิธีการขยายพันธุ์ด้วยวิธีแยกหน่อ และนำหัวต้นออดิบไปปลูก โดยมีวิธีคือ นำส่วนหัวของต้นออดิบมาผ่า แล้ววางไว้บริเวณพื้นดินที่ที่มีความชื้นคลุมด้วยฟางข้าวหรือหญ้าแห้ง หรือใบไม้แห้งก็ได้ ไม่นานต้นออดิบก็จะเกิดหน่อใหม่ขึ้นมา ก็สามารถนำหน่อใหม่นี้ไปปลูกในแปลงปลูกที่เตรียมไว้ได้ต่อไป

ปลูกออดิบ

ประโยชน์ต้นออดิบ

ต้นออดิบนิยมนำก้านใบปอกเปลือก รับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก แกงกะทิ ใบอ่อนและก้านใบ นำไปแกงส้มใส่ปลา และปรุงเป็นผักในแกงแค เป็นอาหารที่ทำกินกันในจังหวัดสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช เป็นอาหารที่มีราคาถูก ทำง่าย กินกับข้าวสวย ทั้ง 3 มื้อ หรือเป็นกับแกล้ม ปัจจุบันยังมีที่ทำกินอยู่บ้าง นอกจากนี้ยังใช้ทำอาหารได้อีกหลายอย่างด้วยการลอกเปลือกบริเวณผิวออก แล้วกินดิบ ๆ ที่สำคัญหลังลอกผิวนอกออกแล้วควรล้างด้วยน้ำส้มสายชู เพื่อให้หมดเมือกคัน จากนั้นปล่อยให้สะเด็ดน้ำก่อนเอามาผัดกับหมูหรือกุ้ง เหมือนผักทั่ว ๆ ไป บางพื้นที่ก็นิยมนำมาทำแกงเลียง ใส่ ปลาย่าง และกุ้งแห้ง หรือกุ้งสด หรือแกงจืด ใส่กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง เป็นต้น ส่วนทางภาคใต้บางพื้นที่นิยมนำมาใส่แกงส้มและรับประทานเป็นผักสด เป็นผักชนิดหนึ่งที่ประชาชนนิยมปลูกไว้ริมรั้ว หรือข้างบ้าน เป็นพืชที่ชอบขึ้นบริเวณที่มีน้ำแฉะ ในการนำมาปลูกปัจจุบันมีเกษตรกรนิยมนำมาแซมยางพารา หรือไม้ยืนต้นประเภทให้ผลทั่วไป สร้างรายได้เสริมได้ตลอดทั้งปี

วิธีปฏิบัติก่อนนำมารับประทาน

1. นำบอนมาแช่หรือปรุงรสในน้ำส้มสายชู น้ำมะขามเปียก

2. ล้างด้วยนำเปล่าหลายครั้งๆ

3. นำพืชตระกูลบอนมาผ่านกระบวนการให้ความร้อน เช่น การต้ม, การเผา

ออดิบ สรรพคุณ
thaifarmer.lib.ku.ac.th

บอนโหรา พืชอันตรายคล้ายต้นออดิบ

ต้นออดิบจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับต้นบอนโหรา หรือเอาะลาย เป็นพืชตระกูลบอนเช่นเดียวกัน ต้นโหรา มีชื่อวิทยาศาสตร์ Alocasia macrorhiza Schott สารพิษที่อยู่ในบอนชนิดที่รับประทานไม่ได้มีชื่อว่า Calcium Oxalate ซึ่งเป็นผลึกรูปเข็มไม่ละลายน้ำพบมากที่ในส่วนน้ำยางใสบริเวณลำต้น และใบ อาการของพิษ หากสัมผัสจะทำให้เกิดการระคายเคือง เป็นผื่นคัน หากรับประทาน จะทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร โดยวิธีการสังเกตต้นโหระ และต้นออดิบคือ ลักษณะใบ ต้นโหรา (กินไม่ได้) ใบมีขนาดใหญ่สีเขียวเข้มและหนา ลักษณะคล้ายรูปร่างคล้ายตาลปัตร ส่วนต้นออดิบ (กินได้) ใบมีขนาดเล็กสีเขียวอ่อนและบาง ลักษณะคล้ายรูปร่างคล้ายลูกศร หากได้รับพิษจากต้นโหรา วิธีการรักษาคือ

  • หากสัมผัสน้ำยาง ให้ล้างออกโดยใช้น้ำสบู่ชะล้างหลายๆ ครั้ง แล้วนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
  • หากรับประทานส่วนของพืชที่มีน้ำยาง ให้ล้างปาก โดยการดื่มน้ำมากๆ ดื่มนมเย็น ไอศกรีม ให้รับประทานอาหารเหลว เช่น ข้าวต้ม และโจ๊ก งดรับประทานอาหารรสจัด จนอาการทุเลาลง ที่สำคัญ ไม่ควรทำให้อาเจียน เพราะจะทำให้สารพิษสัมผัสกับเยื่อบุปาก และลำคออีกครั้ง
บอนโหรากับออดิบ
บอนโหรากับออดิบ

แหล่งอ้างอิง

https://www3.dmsc.moph.go.th/

http://srdi.yru.ac.th/

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้