ข่า ภาษาอังกฤษ : Galanga, Greater galangal, False galangal
ข่า ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alpinia galanga (L.) Willd.
ข่า ชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ : กฏุกกโรหินี (ภาคกลาง), ข่าใหญ่, ข่าตาแดง, ข่าหยวก (ภาคเหนือ), ข่าหลวง (ภาคเหนือ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) , สะเอเชย เสะเออเคย (แม่ฮ่องสอน)
ข่า เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่บ้านเรารวมทั้งอินโดนีเซียนิยมนำมาใช้ในการประกอบอาหารต่าง ๆ ใช้เป็นเครื่องเทศเพื่อช่วยแต่งกลิ่นอาหาร ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงหรือน้ำพริกต่าง ๆ ใช้ปรุงรสในอาหารต่าง ๆ อย่างต้มข่า ต้มยำ ผัดเผ็ด เป็นต้น นอกจากนี้ดอกและลำต้นอ่อนยังใช้นับประทานเป็นผักสดได้อีกด้วย เป็นสมุนไพรไทยที่คนไทยพบเห็นและคุ้นเคยกับเครื่องเทศที่ประกอบอยู่ในเมนูอาหารไทยรสชาติจัดจ้าน ทั้งต้มข่า ต้มยำ ต้มแซ่บ ก๋วยเตี๋ยว หรือน้ำพริก เพิ่มความหอมและรสชาติให้กลมกล่อม อร่อยมากยิ่งขึ้น แถมยังมาพร้อมกับคุณสมบัติในเรื่องของการรักษาโรค และคุณประโยชน์ที่ดีต่อร่างกายมากมายที่คุณยังไม่รู้ และเพื่อไม่เป็นการเสียเวลา เราจะพาคุณไปทำความรู้จักสมุนไพรชนิดนี้ผ่านบทความในครั้งนี้กันเลย
ลักษณะทั่วไป
ข่า ลักษณะเป็นพืชล้มลุกตระกูลขิง ที่มีลำต้นอยู่ใต้ดิน เรียกว่า “เหง้า” มีสีน้ำตอมแสด เนื้อสีเหลือง มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีลักษณะเป็นข้อปล้องสั้น ลักษณะใบเป็นใบเลี้ยงเดี่ยว เรียงสลับรอบลำต้น ดอกและผลจะออกเป็นช่อที่ปลายยอด เมื่อดอกยังอ่อนจะมีสีเขียวปนเหลือง เมื่อดอกแก่จะมีสีเชียวปนม่วงแดง ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาวหรือชาวอมชมพู โคนเชื่อมติดกันตลอด มีใบประดับย่อยเป็นแผ่นรูปไข่ ส่วนผล จะมีลักษณะเป็นผลแห้งแตก ทรงกลมรี เปลือกแข็ง ขนาดประมาณ 0.5-1 ซม. ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่จะมีสีแดงดอมส้ม มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ภายในมีเมล็ดสี 1 ดอก จะติดเพียง 1 ผล พบมากในจ.นครนายก ลพบุรี เลย ตราดและชลบุรี ออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน
สายพันธุ์ ข่าที่นิยมปลูกมี 4 สายพันธุ์
1.ข่าป่า
เป็นพืชท้องถิ่นในอินโดนีเซียและมาเลเซียที่ พบได้ทั่วไปในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบชื้น มีลักษณะลำต้นสูง ลำต้น และใบคล้ายกับข่าที่ปลูกทั่วไป หัวมีกลิ่นฉุนน้อย
2.ข่าลิง (ข่าน้อย)
ข่าลิงมีลักษณะคล้ายข่าทั่วไป ลำต้นมีขนาดเล็ก เนื้อในมีสีขาว ผล มีลักษณะกลม ผลแก่สีส้มถึงแดง ปลายผลมักมีกลีบแห้งติดอยู่ พบมากในจังหวัดชลบุรี ปราจีนบุรี และสกลนคร
3.ข่าคม
มีลักษณะใบมน มีขนละเอียดสีขาวปกคลุมทั้งสองด้าน ดอกมีใบประดับ กลีบดอกสีขาว แผ่เป็นแผ่น และมีแถบสีเหลืองส้มบริเวณกลางกลีบดอก
4.ข่าน้ำ (เร่วน้อยหรือหน่อกะลา)
หน่อกะลาหรือข่าน้ำชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุก ที่มีกลิ่นหอม ออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ เป็นข่าพื้นบ้านที่ปลูกเพื่อจำหน่ายของ อ.ปากเกร็ด จ. นนทบุรี
การเตรียมดิน
ต้นข่าจัดเป็นพืชล้มลุกที่มีลักษณะเนื้ออ่อน เหมือนขิง ขมิ้น โดยจะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่มีอินทรียวัตถุสูง ดินชุ่มชื้น และไม่มีน้ำท่วมขัง โดยเริ่มจากการพรวนหน้าดินให้ลึกอย่างน้อย 50 ซม. กลบทับด้วยปุ๋ยแกลบ ตากไว้ประมาณ 7 วัน พร้อมกำจัดวัชพืช จากนั้น ไถพรวนดินให้ละเอียดอีกครั้ง และตากแดดประมาณ 2-5 วัน ก่อนปลูก ดินแบบนี้ข่าจะเจริญเติบโตได้ดี
วิธีปลูก
การเตรียมเหง้าปลูก ควรเลือกเหง้าข่าอายุประมาณ 1.6 ปี โดยตัดต้นเทียมออก ให้เหลือต้นเพียง 1-2 ต้นที่ติดกับเหง้าประมาณ 15-20 ซม. เหง้ามีแง่งประมาณ 1-2 แง่ง ตัดรากที่ยาวทิ้ง โดยก่อนจะนำลงดิน ควรล้างน้ำเอาดินที่ติดอยู่ต้นออกให้สะอาดก่อน จากนั้นก็ให้นำไปแช่ใน น้ำยาเร่งราก เสร็จแล้วก็ให้นำไปเพาะไว้ในขุยมะพร้าวที่ชุ่มน้ำ รอเวลา 10-15 วัน จะเริ่มมีรากอ่อนงอกออกมา ค่อยนำไปปลูกลงดินที่เตรียมไว้ได้เลย ในช่วงเดือนแรก รดน้ำ 2 ครั้ง เช่น รดในวันที่ 1 และวันที่ 16 ของเดือน โดยให้รดที่แปลง หรือที่ภาชนะปลูกข่า หากดินยังมีความชุ่มชื้นอยู่ก็ไม่ต้องรดเพิ่ม
การเก็บเกี่ยว
ตัดบริเวณหัวออก ถอนออกมาทั้งต้นตามต้องการ และต้องคอยตรวจดู เมื่อข่ามีกอเจริญเติบโตได้เต็มที่แล้ว ต้องนำออกมาหรือแยกออกไปปลูกใหม่ จะช่วยให้ข่าขยายกอใหญ่เพิ่มขึ้นด้วย เพื่อให้ต้นอ่อนโตขึ้นมาใหม่ เป็นการแตกหน่อ จะทำให้การปลูกข่าและการขยายพันธ์ข่าได้ผลผลิตมากขึ้น
ข่า สรรพคุณ
ต้น :
นำมาตำให้ละเอียด ใช้ทาบริเวณข้อต่อต่างๆ มีสรรพคุณ ช่วยบรรเทาการปวด ลดอาการเป็นตะคริว แก้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
ผล :
ใช้ผลแก่กินเป็นยาช่วยย่อยอาหาร เป็นยาฆ่าเชื้ออ่อนๆ แก้ปวดท้อง ท้องเสีย และอาเจียน
ราก :
นำมาทุบให้แตกแล้วต้มกับน้ำ ใช้ดื่มละลายเสมหะในคอ แก้โรคเหน็บชา
ดอก :
ใช้ดอกสดๆ นำมายีให้ละเอียด ทาผิวหนังรักษากลากเกลื้อน
เหง้า :
ใช้เหง้า แก่จัดนำมาทุบหรือซอยให้ละเอียดแล้วต้มกับน้ำ ใช้ดื่มแก้อาการท้องอืด แก้โรคปวดบวมตามข้อ ช่วยปรับสมดุล ระบบหายใจ บำรุงปอด ขับลมในกระเพาะและลำไส้ หรือใช้เหง้าแก่จัดมาทุบให้แตก แล้วใช้น้ำทาตามผิวหนัง แก้โรคกลากเกลื้อน ผดผื่นคัน ลมพิษ
โทษของข่า
ถึงแม้ว่าข่าจะมีสรรพคุณในการรักษาโรคและอาการต่าง ๆ ได้ แน่นอนว่าทุกอย่างมากไปย่อมไม่ และยังไม่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าควรใช้ในปริมาณเท่าใดจึงจะปลอดภัย โดยเฉพาะสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่ต้องให้นมบุตร เนื่องจาก ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ข่าในช่วงระหว่างเวลาดังกล่าวที่ยืนยันถึงความปลอดภัยในการใช้ นอกจากนี้ ข่ายังอาจทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคบางชนิดอย่างยาลดกรดหรือยาที่มีฤทธิ์ลดกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจส่งผลให้ยาลดกรดที่รับประทานมีประสิทธิภาพลดน้อยลง ดังนั้น ก่อนใช้ข่าหรือผลิตภัณฑ์จากข่าจึงควรปรึกษาแพทย์และทำตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด.
ที่มา
http://www.phargarden.com
https://www.pobpad.com