หลายๆคนพอได้ยินชื่อ มะระ ต่างส่ายหัวปฏิเสธกันทันที เนื่องจากเป็นผักสวนครัวที่ขึ้นชื่อในเรื่องของรสชาติความขม แต่แท้จริงแล้วนั้นหลายคนอาจไม่ทราบถึงวิธีปรุงมะระให้ถูกวิธี เพราะหากปรุงให้ถูกวิธีจะทำให้มะระไม่หลงเหลือความขมแม้แต่นิดเดียว และที่มากไปกว่านั้น มะระเองก็เต็มไปด้วยสรรพคุณต่างๆ ที่หลายคนคาดไม่ถึง ดังนั้นบทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับมะระให้มากขึ้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์และแหล่งที่มาของมะระ
มะระ มีชื่อสามัญว่า Bitter cucumber และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Momordica charantia Linn. จัดอยู่ในวงศ์ CUCURBITACEAE ลักษณะของต้นมะระนั้นเป็นไม้เถา มีมือเกาะ ใบเป็นใบเลี้ยงเดี่ยวขนาประมาณฝ่ามือ กว้างและยาวที่ 4-7 เซนติเมตร ขอบใบมีลักษณะเป็นหยักซี่ห่างๆ ตัวใบเว้นเป็นแฉกลึก มีขนสากขึ้นตามลำต้นและใบ ดอกของมะระมีสีเหลือง เป็นดอกเดี่ยว ชอบออกตามซอกของใบ ซึ่งดอกของมะระนั้นแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน มีลักษณะเหมือนรูปแตร ปลายกลีบดอกแยกเป็น 5 แฉก เมื่อดอกบานเต็มที่แล้วมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผลของมะระมีสีเขียวทรงยาวเรียว ผิวมีลักษณะขรุขระ เมื่อมะระสุกเต็มที่จะมีสีเหลือง ภายในมะระนั้นมีเมล็ดอยู่มากมาย
สายพันธุ์ของมะระที่นิยมปลูกในประเทศไทย
ในประเทศไทยนั้นนิยมปลูกมะระด้วยกันอยู่ 3 สายพันธุ์ ได้แก่
- มะระพันธุ์จีน โดยมะระจีนนั้นมีขนาดของผลใหญ่ รูปร่างยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ผิวมีสีเขียวอ่อน เนื้อหนา เป็นมะระที่นิยมนำมารับประทานกันมาก
- มะระขี้นก มะระพันธุ์นี้เดิมทีเป็นมะระขี้นกป่า มีรูปร่างป้อม เรียว ผิวไม่เรียน ขรุขระและมีหนามแหลม รสขมจัด มักขึ้นตามชายป่า
- มะระหวาน หรืออีกชื่อที่คุ้นเคยกันดีคือ ฟักแม้ว นิยมนำมาทำแกงจืด เนื่องจากให้รสชาติหวาน กรอบ อร่อย แตกต่างจากมะระสองพันธุ์แรก นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยคุณประโยชน์อีกมากมาย
วิธีการปลูกและดูแลรักษามะระ
โดยการปลูกมะระนั้นต้องมีการเตรียมพื้นที่ให้เรียบร้อยก่อน โดยระยะห่างระหว่างต้นที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 80 เซนติเมตร และระยะระหว่างแถวควรอยู่ที่ 120 เซนติเมตร หลังจากที่วัดระยะให้ได้ตามที่กำหนดแล้ว ให้ทำการไถหน้าดินให้ลึกลงไปประมาณ 30-40 เซนติเมตร แล้วตากดินทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน แล้วนำปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมกในอัตราส่วน 2,000 กิโลกรัมต่อหนึ่งไร่มาใส่ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน หลังจากนั้นจึงทำการยกแปลงสูงประมาณ 30 เซนติเมตร เมื่อจัดการเตรียมพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มเพาะกล้าของต้นมะระ โดยรดน้ำหยอดเมล็ดมะระลงในถาดหลุม หลุมละ 1 เมล็ด หลังจากนั้นเมื่อกล้ามะระมีอายุประมาณ 15-20 วัน หรือ สังเกตว่ามีใบจริงประมาณ 4-5 ใบแล้ว ให้นำลงไปปลูกตามหลุมที่ได้จัดเตรียมไว้ พร้อมทั้งกลบดินและรดน้ำ โดยการรดน้ำให้ต้นมะระนั้น ควรรดทุกเช้า-เย็น จนกล้ามะระสามารถตั้งตัวได้ หลังจากนั้นค่อยๆลดประมาณการให้น้ำลง โดยอาจเหลือเพียงรด 1 วัน หยุด 2 วันก็ได้ นอกจากนี้ควรเสริมสร้างสารอาหารให้กับต้นมระโดยการใส่ปุ๋ยหลังจากย้ายมาปลูกได้ประมาณ 7-10 วัน โดยทำการแบ่งใส่ปุ๋ยในช่วงออกดอกถึงติดผล เมื่อต้นมะระออกผลแล้วควรนำกระดาษมาห่อผลไว้ เพื่อป้องกันแมลงที่เป็นศัตรูพืช และให้สีของมะระยังคงสวยงาม ระยะเวลาที่เหมาะสมกับการเก็บเกี่ยวมะระนั้นอยู่ที่ประมาณ 45- 50 วัน ทยอยเก็บผลผลิตที่ได้ขนาดเหมาะสมทุกวันหรือวันเว้นวัน ซึ่งต้นมะระนั้นสามารถเก็บผลผลิตได้ 17-20 ครั้ง ตลอดอายุการเก็บเกี่ยวครั้งสุดท้ายจะอยู่ที่ 85-90วัน
คุณประโยชน์และสรรพคุณของมะระ
หลายคนคงทราบกันดีว่ามะระนั้นมีรสขม ซึ่งรสขมนี้เกิดจากสารเคมีที่มีชื่อว่า Momodicine แต่ในรสขมนั้นกลับแฝงไปด้วยคุณประโยชน์มากมายแถมยังช่วยกระตุ้นความรู้สึกอยากอาหารได้อย่างดี นอกจากนี้ในมะระเองยังมีแร่ธาตุและสารอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินบี3 วิตามินบี5 วิตามินบี6 วิตามินซี รวมไปสารโฟเลต ธาตุเหล็ก สังกะสี แคลเซียมและฟอสฟอรัสอีกด้วย ไม่เพียงเท่านี้มะระยังมีสรรพคุณอีกมากมาย ที่ช่วยทำบำรุงร่างกายและรักษาโรค ดังนี้
- ผลมะระที่สุก สามารถนำมาใช้รักษาสิวได้
- ใบของมะระ สรรพคุณช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำ และยังช่วยบรรเทาอาการหวัด รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ลดอาการปวด บวม ฟกช้ำได้
- ลำต้นของมะระ มีสรรพคุณที่ช่วยลดความร้อนภายในร่างกาย และแก้ปวดท้อง
- เมล็ดมะระ มีสรรพคุณช่วยปรับสมดุลร่างกาย และยังช่วยขับพยาธิตัวกลม
- รากมะระ มีสรรพคุณในการช่วยรักษาหวัดและแก้ปวดท้อง
วิธีการทำให้มะระไม่มีรสขม
หลายคนคงมีปัญหาว่าอยากทานมะระ แต่ไม่อยากให้มีรสชม ดังนั้นวันนี้จะมาบอกเคล็ดลับง่ายๆกัน นั่นก็คือ ให้นำมะระมาผ่าออก และเอาเมล็ดออกให้หมด นำมาะระมาแช่ในน้ำที่ผสมเกลือไว้ประมาณ 20 นาที ซึ่งเกลือนั้นช่วยลดความขมของมะระลงได้ จากนั้นนำมาแช่ต่อในน้ำเปล่า เพื่อให้มะระคายวามขมออกมา หลังจากนั้นจึงสามารถนำมะระไปประกอบอาหารต่างๆได้ โดยปราศจากรสชมจากมะระแล้ว.
ที่มา
https://www.technologychaoban.com