ดอกขจร ผักพื้นบ้าน คุณประโยชน์มากมาย

ดอกขจร ภาษาอังกฤษ Cowslip creeper

ดอกขจร ชื่อวิทยาศาสตร์ Telosma minor Craib.

วงศ์ Asclepiadaceae

ดอกขจรเป็นพรรณไม้ดอกมีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย มีลักษณะเป็นไม้เลื้อยที่มีความยาวตั้งแต่ 2-15 เมตร บริเวณเถามีขนาดเล็กกลมและเหนียวมาก พื้นผิวของเถาจะไม่เรียบ หากกรีดเถาจะมีน้ำยางสีใสไหลออกมา เนื่องจากเถามีลักษณะที่เหนียวมากจึง สามารถนำมาทำเป็นเชือกมัดได้ เมื่อต้นมีอายุมากขึ้น เถาจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาล สามารถปลูกเป็นเลื้อยเพื่อปกคลุมต้นไม้อื่น หรือบังแดดในสวนหรือตามรั้วบ้านได้ดี ดอกขจรขึ้นง่าย พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศไทย สามารถเติบโตในดินโปร่ง และแสงแดดจ้า พบได้ในป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณป่ าละเมาะและป่าแห้งทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดอกขจรมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ดอกสลิด (บางท้องถิ่นก็เรียกว่า สลิดคาเลา สลิดป่า กะจอน ขะจอน ผักขิก เป็นต้น) ดอกขจร ความหมายคือ คำว่า “ขจร” หรือ “สลิด” ต่างก็มีความหมายเหมือนกันว่า กระจาย หรือ ฟุ้ง จึงอาจเปรียบได้กับกลิ่นของดอกขจรที่ลอยไปไกล มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นใบเตย มักมีกลิ่นตอนเย็น หรือพลบค่ำ

ดอกขจร ความหมาย
https://puechkaset.com

สายพันธุ์ของต้นดอกขจร

หลายคนคงสงสัยว่าดอกขจรมีกี่สายพันธุ์ ที่พบเห็นทั่วไป จะมีอยู่ 2 สายพันธุ์ ได้แก่

  • พันธุ์พื้นบ้าน จะเป็นพันธุ์ที่พบเห็นได้ตามบ้านทั่วไป ลักษณะจะเป็นดอกเล็ก และออกดอกเฉพาะช่วงหน้าฝนเท่านั้น
  • พันธุ์ดอก จะเป็นพันธุ์ที่ได้รับการคัดเลือกมาจากพันธุ์พื้นบ้าน จนได้ดอกที่ใหญ่ และออกดอกจำนวนมาก 
ดอกขจรมีกี่สายพันธุ์
https://www.technologychaoban.com

ลักษณะของต้นและดอก

ใบ

ใบมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจ กว้างประมาณ 4-7 ซม. และยาวประมาณ 6–11 ซม. ด้านล่างเรียบ โดยใบจะออกเป็นคู่ ใบบางมาก  ก้านดอกยาวประมาณ 1–2 ซม. 

ดอก

ดอกจะบานเป็นช่อโดยมีประมาณ 10-20 ดอกต่อหนึ่งช่อ ดอกจะมีสีเหลืองอมเขียวและมีกลิ่นหอมแรงโดยเฉพาะในช่วงเย็นถึงค่ำ มีกลีบ 5 กลีบ ดอกจะเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่สามารถผสมพันธุ์ได้ในตัวเอง โดยปกติ ดอกขจรจะออกมากในช่วงฤดูฝน คือระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงเดือนตุลาคม ซึ่งหากต้นสมบูรณ์ ก็จะให้ดอกที่ยาวนาน 

ผล

ลักษณะผลจะเรียบ มีสีเขียวคล้ายฝักถั่วเขียวและกลมปลายแหลม ด้านในมีเมล็ดแบนจำนวนมากที มีปุยสีขาวติดอยู่ที่ยอดปลาย เมื่อผลแตกออก เมล็ดที่อยู่ภายในจะปลิวตามลมไปตามธรรมชาติ และไปตกยังที่ใด ก็สามารถขยายพันธุ์ได้ในที่แห่งนั้น

ต้นดอกขจร
https://www.sanook.com

การเพาะปลูก

การปลูกต้นดอกขจร สามารถทำได้ หลายวิธี ได้แก่

การเพาะเมล็ด

เนื่องจากในผลของดอกขจรจะมีเมล็ดจำนวนมาก สามารถนำเมล็ดเหล่านั้นมาทำการเพาะปลูกได้ หรือในบางครั้ง หากผลแตกออกเองแล้ว เมล็ดข้างในก็จะปลิวตามลมไปตกอยู่ในที่ต่าง ๆ และหากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ก็สามารถเจริญเติบโตได้เองโดยธรรมชาติ

การปักชำกิ่ง

เป็นวิธีที่นิยมในการขยายพันธุ์ เนื่องจากทำได้ง่าย โดยการตัดกิ่งที่มีอายุปานกลาง ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป โดยมีความยาวของกิ่งที่จะตัดให้ตัดยาวประมาณ 2-3 -จากนั้นก็นำไปปักชำในดินหรือแปลงที่เตรียมไว้ 

การตอน

เป็นวิธีที่นิยมมากอีกวิธีหนึ่งเช่นกัน ใช้เวลาในการตอนจนถึงออกรากประมาณ 20 วัน โดยเวลาตอน จะเว้นระยะห่างประมาณสองข้อ 

นอกจากการขยายพันธุ์แล้ว การดูแลก็มีส่วนสำคัญในการที่จะทำให้ต้นดอกขจรมีอายุยืนยาว และให้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก ทำได้โดยการตัดแต่งกิ่ง การให้ปุ๋ยและการรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้เถารกจนเกินไป เพราะอาจทำให้ปริมาณดอกลดลงได้

ดอกขจร ภาษาอังกฤษ
https://www.technologychaoban.com

ประโยชน์ของดอกขจร

  1. นำมาประกอบอาหาร ดอกขจรถือเป็นผักพื้นบ้าน ที่เป็นที่นิยม สามารถหารับประทานได้ในช่วงฤดูฝนเท่านั้น ดอกขจร ประโยชน์ให้คุณค่าของสารอาหารมาก มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ และวิตามีซีสูง ให้พลังงานมาก ดอกขจร เมนูนำมาเป็นอาหารได้หลากหลายเนื่องจากไม่มีกลิ่น และมีลักษณะกรุบกรอบ เนื้อนุ่ม รสมัน หอม ไม่เหม็นเขียว สามารถนำมาทอด ผัด ทำเป็นซุป หรือเป็นส่วนผสมของอาหารคาว อาหารหวานต่าง ๆ ได้ ส่วนที่มีคุณค่าที่สุดของดอก คือ “ยอดอ่อน”
  1. มีสรรพคุณทางยา สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานเป็นปกติ แก้คลื่นไส้ บำรุงตับ แก้ปวดศีรษะ ขับเสมหะ บำรุงตับ ปอด  บำรุงโลหิต ใช้เป็นยาแก้พิษ และบรรเทาอาการปวดกระดูกสันหลังได้ดีมาก
  2. เป็นไม้ประดับ เนื่องจากลำต้นมีลักษณะเป็นไม้เลื้อย อีกทั้งตัวดอกก็มีกลิ่นหอมไปไกล จึงนิยมนำมาปลูกเป็นไม้เลื้อยเพื่อประดับตัวบ้าน หรือสวน เป็นอย่างมาก อีกทั้งสามารถให้ร่มเงาแก่ผู้พักอาศัยได้ดีมาก
ดอกขจร ประโยชน์
  1. ตัวเถาของต้นมีความเหนียว สามารถนำมาดัดแปลงทำเป็นเชือกไว้สำหรับมัดสิ่งต่าง ๆ ได้
  2. ใบอ่อนและช่อดอก สามารถใช้เป็นอาหารไว้เลี้ยงสัตว์ได้ จะพบได้ตามชนบทที่เลี้ยงหมูอยู่ในครัวเรือน มักจะนำดอกขจรมาต้มผสมกับข้าวเพื่อนำมาให้หมู
  3. ดอกขจรสามารถถือเป็นพืชเศรษฐกิจได้อย่างหนึ่ง เนื่องจากมีราคาซื้อขายที่ดี โดยอยู่ที่ระหว่างกิโลกรัมละ 80-120 บาท และการปลูกก็ใช้ต้นทุนที่ไม่มากนัก อีกทั้งหากดูแล บำรุงรักษาดี ก็สามารถให้ผลผลิตในช่วงหน้าฝนได้อย่างมาก ไม่ค่อยมีโรคพืชหรือแมลงมารบกวน ไม่ต้องใช้สารเคมี ดูแลง่าย จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการปลูกเพื่อผลในเชิงการค้าอย่างยิ่ง.

ที่มา

https://www.technologychaoban.com

http://www.the-than.com

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้