ราสนิม จากรอยแผลเล็กๆ บนผิวใบสู่ความเสียหายมหาศาล

ผลกระทบจากเชื้อราที่สร้างความเสียหายให้กับใบพืชนั้นมีค่อนข้างหลากหลาย และระดับความรุนแรงในการลุกลามก็แตกต่างกันไป โดยแปรผันตามชนิดของเชื้อราและสภาพพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งราสนิมก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบได้บ่อยในกลุ่มธัญพืชและไม้ประดับ ส่วนพืชผักกับไม้ผลก็เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงรองลงมา โรคราสนิมถูกจัดเป็นต้นเหตุสำคัญที่มีบทบาทต่อพืชเศรษฐกิจอย่างมาก เนื่องจากเมื่อเกิดโรคแล้วจะแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว สามารถสร้างความเสียหายได้ในทุกส่วนของพืช เป็นเรื่องที่เกษตรกรทุกคนรวมถึงผู้ที่ชื่นชอบการปลูกไม้ดอกไม้ประดับจำเป็นต้องเรียนรู้และความเข้าใจเอาไว้ จะได้รับมือกับราสนิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ราสนิม คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

ตามเนื้อหาในเอกสารเชิงวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการอธิบายเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ราสนิมคือโรคพืชอีกชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อรา มีลักษณะอาการของโรคเด่นชัดที่ส่วนของใบและลำต้น โดยจะพบสัญญาณของโรคครั้งแรกที่ใบก่อนเสมอ จากใบสีเขียวสดจะเริ่มมีจุดสีน้ำตาลเล็กๆ ให้เห็น ในช่วงแรกเราอาจมองเห็นว่าจุดนั้นเล็กมากและมีโทนสีน้ำตาลเทา แต่เมื่อนานวันเข้าจุดนั้นจะขยายวงกว้างพร้อมกับมีเนื้อที่นูนขึ้น และโทนสีก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมแดงคล้ายกับสนิมบนผิวเหล็ก ผิวสัมผัสของเนื้อใบที่เคยเรียบก็จะกลายเป็นฝุ่นผง หากลองแตะดูก็จะพบว่ามีละอองสีสนิมติดมือมาด้วย ในระยะแรกของการติดโรคราสนิม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับต้นพืชจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า เพราะเชื้อรากำลังสร้างรากฐานให้กับตัวเองอยู่ แต่ไม่นานมันจะลุกลามจนแก้ไขแทบไม่ทันทีเดียว

โรคราสนิมทุเรียน

การเกิดขึ้นของราสนิม

การเกิดขึ้นของราสนิม เกิดจากเชื้อราได้หลายชนิด อย่างเช่น โรคราสนิมบนต้นลีลาวดีจะเกิดจากเชื้อรา Coleosporium plumeriae ส่วนโรคราสนิมบนถั่วเหลืองจะเกิดจากเชื้อรา Phakopsora pachyrhizi เป็นต้น เชื้อราเหล่านี้อาจจะจำเพาะเจาะจงอยู่กับพืชแค่ชนิดเดียว หรือแพร่กระจายบนพืชหลากหลายชนิดก็ได้ เชื้อราของโรคราสนิมอยู่ในกลุ่มของ Phylum Basidiomycota ซึ่งมีเชื้อราที่เป็นต้นกำเนิดของโรคราเขม่าดำและเห็ดอยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้ด้วย ความพิเศษคือไม่ว่าราสนิมที่เกิดขึ้นจะมาจากเชื้อราชนิดไหน มันจะมีการสร้างสปอร์ผนังหนาขึ้นมาด้วยเสมอ เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการแพร่กระจายของโรค การทำงานของราสนิมก็จะเริ่มจากการแทรกซึมไปตามช่องว่างระหว่างเซลล์พืช แล้วก็ดูดซึมอาหาร ทำลายเซลล์พืช และสร้างสปอร์ไปพร้อมกัน โดยเชื้อราชนิดเดียวจะสามารถสร้างสปอร์ได้หลายชนิด ซึ่งทำให้มันสามารถฝังตัวบนพืชได้หลากหลายสายพันธุ์นั่นเอง

โรคราสนิม ลีลาวดี

ผลที่เกิดจากราสนิม

ผลกระทบจากโรคราสนิมก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าอาการที่เราเห็นจากภายนอกหลังต้นพืชเกิดโรคจะเป็นแผลในลักษณะคล้ายคลึงกันทั้งหมด แต่ในรายละเอียดนั้นมีความแตกต่างพอสมควร เนื่องจากเชื้อราที่จัดอยู่ในกลุ่มต้นเหตุของโรคมีมากกว่า 7000 ชนิด ตัวเลขนี้อ้างอิงตามข้อมูลในคู่มือการจัดการ ศูนย์เก็บรักษาตัวอย่างโรคพืช ของ ดร.ศรีสุข พูนผลกุลและคณะ ซึ่งมีการเน้นย้ำอีกว่าหลายชนิดสามารถสร้างสปอร์ได้มากถึง 5 แบบ เรียกว่า macrocyclic rust แต่ละขั้นตอนในวงจรชีวิตของเชื้อราก็จะสร้างความเสียหายในรูปแบบที่ต่างกันไป ทั้งทำลายต้นพืชที่อาศัยและทำลายพืชข้างเคียงได้ตลอดฤดูกาลเพาะปลูก ยิ่งกว่านั้นสปอร์บางส่วนยังมีการพัฒนาให้มีผนังหนาเป็นพิเศษ เพื่อความอยู่รอดระหว่างรอยต่อของฤดูกาลเพาะปลูกอีกด้วย

โรคราสนิม
https://kasetgo.com/t/topic/

สาเหตุและการแพร่ระบาดของโรคราสนิม

สาเหตุของโรคราสนิม

อย่างที่ได้เกริ่นไปในช่วงต้นพอสมควรแล้วว่า โรคราสนิมนั้นมีต้นเหตุมาจากเชื้อราหลายสายพันธุ์ จึงไม่อาจระบุแน่นอนได้ว่าต้นกำเนิดของความเสี่ยงมาจากที่ใดบ้าง อาจจะเป็นพื้นที่ป่าข้างเคียง อาจจะกระจายมาจากต้นพืชที่มีการติดเชื้ออยู่ก่อนแล้ว หรืออาจจะมาพร้อมเมล็ดพันธุ์เลยก็ยังได้ ซึ่งฟังดูแล้วเหมือนเราแทบจะจัดการอะไรไม่ได้เลย แต่ความจริงการมีเชื้อราบนต้นพืชนั้นยังไม่เพียงพอต่อการเกิดโรคราสนิม มันยังต้องอาศัยปัจจัยแวดล้อมอื่นอีก ได้แก่ ระดับความชื้น ปริมาณน้ำ และค่าอุณหภูมิที่เหมาะสม โดยมีการทดลองในปี 2540 ของ ธรรมศักดิ์ และคณะ เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการระบาดของโรคราสนิมระบุไว้ว่า ค่าสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เชื้อราเข้าทำลายเซลล์พืชได้ จะมีความชื้นสัมพันธ์ประมาณ 75-95 เปอร์เซ็นต์ และอุณหภูมิอยู่ในช่วง 20-30 องศาเซลเซียส เมื่อองค์ประกอบทุกอย่างครบถ้วน ราสนิมจะเริ่มสร้างความเสียหายให้กับพืชที่อาศัยอยู่ทันที

ราสนิม เกิดจาก
https://themomentum.co/coffee-arabica-crisis-2018/

การแพร่ระบาดของโรคราสนิม

มีงานวิจัยเพื่อศึกษาการระบาดของโรคราสนิมในพื้นที่เพาะปลูกที่มูลนิธีโครงการหลวง ได้ทดสอบกับพืชตระกูลพีชและเนคทารีน ได้ข้อสรุปว่า ลักษณะการระบาดของโรคราสนิมในประเทศไทยนั้นมีปัจจัยเรื่องปริมาณน้ำฝนเป็นตัวการหลัก ทันทีที่ย่างเข้าสู่ฤดูฝนจึงเริ่มมีโรคราสนิมเกิดขึ้น ตามปกติก็จะเป็นช่วงปลายเดือนเมษายนจนถึงเดือนพฤษภาคม แต่ถ้าปีไหนที่ฤดูฝนมาถึงเร็วหรือมีระยะเวลายาวนานกว่าปกติ ก็จะทำให้เกิดการระบาดของราสนิมได้เร็ว แล้วก็มีโอกาสสูงมากที่จะกินเวลายาวนานเท่ากับฤดูฝนนั่นเอง สิ่งที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษก็คือ ตัวแปรที่ทำให้โรคราสนิมแพร่ระบาดได้นั้นควบคุมยากมาก และเราต้องเจอกับหน้าฝนในทุกปี ขณะที่สายพันธุ์พืชซึ่งต้านทานโรคนี้ได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ยังไม่มี มีเพียงแค่สายพันธุ์ที่ทนทานได้ในระดับสูงเท่านั้น นี่ก็เป็นจุดที่ต้องนำไปพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อลดความเสียหายกันต่อไป

ราสนิม เกิดจาก
ภาพถ่ายโดย Tom Swinnen จาก Pexels

แก้ปัญหาและป้องกัน

วิธีแก้ปัญหาโรคราสนิม

แนวทางในการแก้ไขโรคราสนิมจะปรับเปลี่ยนไปตามสเกลของการเพาะปลูกและระดับความรุนแรงของอาการ ถ้าเป็นไม้ดอกไม้ประดับในบริเวณบ้านก็จะจัดการได้ง่ายกว่า ทันทีที่เห็นสัญญาณของโรคก็ให้ตัดใบนั้นทิ้งเสีย พร้อมกับนำใบทั้งหมดไปเผาทำลายให้เรียบรอย จากนั้นก็เฝ้าสังเกตอาการอย่างต่อเนื่องว่ายังมีโรคราสนิมลุกลามอยู่อีกหรือไม่ ระหว่างนี้ก็ควรงดให้น้ำเพื่อลดระดับความชื้นรอบบริเวณต้นไปสักระยะหนึ่งก่อน โดยประเมินจากความทนแล้งของพืชชนิดนั้นๆ แต่ในทางกลับกันถ้าเป็นการปลูกพืชสวนพืชไร่ที่มีพื้นที่ค่อนข้างมาก การไล่ตัดใบที่ติดโรคก็อาจทำได้ไม่ทั่วถึง แต่เดิมเราจึงนิยมใช้สารเคมีฉีดพ่น ซึ่งประเภทของสารเคมีที่ใช้ก็จะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์พืช และระดับการเติบโตของพืชที่พบโรคราสนิม อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ ถึงจะได้ผลดีแต่ก็สิ้นเปลืองงบประมาณค่อนข้างมาก ทั้งยังส่งผลเสียต่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมด้วย

โรคราสนิม วิธีแก้
https://kasetsanjorn.com/2380/

ป้องกันการเกิดโรคราสนิมได้ด้วยวิธีไหนบ้าง

การเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันโรคราสนิมเอาไว้ตั้งแต่เริ่มต้น นับว่าเป็นวิธีที่ดีกว่าการรอให้เกิดโรคแล้วตามแก้ไขทีหลังมากนัก ทั้งยังมีทางเลือกค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งทั้งหมดได้ผ่านการทดสอบและวิจัยมาแล้วว่าป้องกันโรคราสนิมได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง

  • การควบคุมโรคพืชด้วยเชื้อแบคทีเรีย

เนื่องจากแบคทีเรียที่แยกออกมาจากดินบริเวณรากไม้และใต้ผิวใบของต้นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีนั้น มีคุณสมบัติในการป้องกันเชื้อโรคได้ตามธรรมชาติ โดยจะทำหน้าที่ 2 อย่างไปพร้อมกัน คือสร้างสารที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของต้นพืช และสร้างสารที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ภายใต้แนวคิดนี้จึงมีการทดสอบกับแบคทีเรียหลายชนิด เช่น Hanudin และคณะ ทดสอบแบคทีเรียที่แยกได้จากดินรอบรากของต้นไผ่ Yongsub และคณะ ทดสอบแบคทีเรียที่ได้จากดินเพาะปลูกต้นข้าวสาลี Dheepa  และคณะ ทดสอบแบคทีเรียที่ได้จากผิวใบต้นเบญจมาศ เป็นต้น ได้ผลสรุปว่าแบคทีเรียทั้งหมดมีผลป้องกันโรคได้ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนวิธีการใช้งานก็มีทั้งแบบที่เอาต้นกล้ามาแช่ในสารสกัด และการฉีดพ่นด้วยสารเหลวที่ใช้เพาะเลี้ยงเชื้อ

  • การควบคุมโรคพืชด้วยสารทดแทนเคมี

สารทดแทนที่ว่านี้ก็คือสารสังเคราะห์ที่ได้มาจากพืช ซึ่งเป็นระบบป้องกันตัวเองที่พืชมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นกรดชนิดต่างๆ เช่น กรดซาลิไซลิก กรดจัสโมนิก เป็นต้น ข้อดีของสารทดแทนเคมีก็คือ นอกจากป้องกันโรคราสนิมได้ค่อนข้างดี มีการลดระดับความรุนแรงเมื่อเกิดโรคได้ และยังช่วยกระตุ้นให้พืชสร้างองค์ประกอบบางอย่างเพื่อเสริมความแข็งแรงในตัวเองอีกด้วย วิธีการใช้กรดแต่ละชนิดจะต่างกันไป บ้างก็ใช้สำหรับแช่ต้นกล้า บ้างก็ใช้สำหรับฉีดพ่นทางใบ

ราสนิม ใช้ยาอะไร
  • การควบคุมโรคพืชด้วยน้ำมันปิโตรเลียม

มีงานวิจัยของ กาญจนา และคณะในปี 2544 เกี่ยวกับการทดสอบประสิทธิภาพน้ำมันปิโตรเลียมในแง่ของการใช้เป็นสารทดแทนเคมี พบว่าหากใช้ฉีดพ่นต้นพืชที่มีความเสี่ยง จะสามารถควบคุมระดับความรุนแรงในการเกิดโรคได้อย่างชัดเจน แต่จะจัดการกับเชื้อราได้เพียงบางชนิดเท่านั้น แล้วก็ยังไม่ได้มีการทดสอบการสายพันธุ์พืชที่หลากหลาย

ราสนิม ใช้ยาอะไร
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/853436

โรคราสนิมบนต้นไม้ชนิดต่างๆ และวิธีป้องกันกำจัด

โรคราสนิมบนเบญจมาศ

  • เชื้อรา Puccinia Horiana เป็น เชื้อราที่เจริญในพืชอาศัยชนิดเดียว และสร้างสปอร์ได้ 2 ชนิด
  • ลักษณะของการเกิดโรค ใบจะเริ่มมีจุดขนาดเล็ก และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เชื้อราจะเข้าทำลายจนใบไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ กระทั่งส่งผลต่อการเติบโตโดยรวมของต้นเบญจมาศ
  • ป้องกันและควบคุมโรคราสนิม
    – ชุบต้นกล้ากับสารเคมี pyraclostrobin เข้มข้น 25%
    – พ่นสารแขวนลอยเชื้อแบคทีเรียที่ได้จากใบเบญจมาศ
    – ฉีดพ่นด้วยสารทดแทนเคมีที่เหมาะสม เช่น กรดซาลิไซลิก เป็นต้น
    – ตัดใบที่เกิดโรคตั้งแต่เริ่มต้นและเผาทำลาย  

โรคราสนิมบนแคคตัส

  • เชื้อรา Puccinia Melanocephala
  • ลักษณะของการเกิดโรค เกิดจุดสีเหลืองขนาดเล็กตามลำต้น ส่วนมากจะพบที่โคนต้นก่อน แล้วค่อยๆ ลามขึ้นมาด้านบน นอกจากจะสร้างรอยแผลบนลำต้นได้แล้ ก็ยังสามารถกัดกินถึงข้างในจนต้นเหี่ยวเฉาและตายได้
  • ป้องกันและควบคุมโรคราสนิม
    – แยกต้นที่มีโรคออกจากต้นอื่น
    – ตัดแต่งส่วนที่มีโรคออกแล้วทาด้วยยากันเชื้อรา
    – ปรับพื้นที่เพาะปลูกให้ได้รับแดดเกินครึ่งวัน
    – เมื่อความชื้นสูง ให้พ่นยากันเชื้อราบ้าง และควรสลับปประเภทของยาที่ใช้ไปเรื่อยๆ  
ราสนิม แคคตัส
https://www.youtube.com/watch?v=qTsg6MdENUc

โรคราสนิมบนพีช

  • เชื้อรา Tranzschelia Discolor เป็นกลุ่มเชื้อราที่เข้าทำลายในพืชตระกูล Prunus หรือสกุลพรุนเท่านั้น
  • ลักษณะของการเกิดโรค เชื้อราจะเข้าทำลายส่วนใบ บริเวณกิ่ง และผล โดยมีรอยสนิมกระจายตัวที่ผิวใบก่อน ทำให้ใบร่วงก่อนเวลาอันควร ส่งผลให้ต้นพีชไม่โต และผลผลิตลดลง
  • ป้องกันและควบคุมโรคราสนิม
    – เลือกใช้สายพันธุ์ที่ทนทานต่อโรคสูง
    – พ่นสารกำจัดเชื้อราอย่างต่อเนื่อง
    – รับแต่งแปลงเพาะปลูกไม่ให้หนาแน่นและอับชื้น  

โรคราสนิมบนถั่วฝักยาว

  • เชื้อรา Uromyces Phaseoil var. vignae เป็นเชื้อราที่ต้องการพืชตระกูลถั่วเพียงชนิดเดียวเท่านั้นตลอดวงจรชีวิต
  • ลักษณะของการเกิดโรค จะพบจุดเหลืองซีดที่ใบก่อน แล้วจุดนั้นจะเริ่มนูนพร้อมกระจายเป็นวงกว้าง เมื่อโตเต็มที่จะแตกออกแล้วมีสปอร์สีน้ำตาลหรือดำกระจายออกมา ส่วนมากจะมีการระบาดของโรคในช่วงที่กำลังออกดอก
  • ป้องกันและควบคุมโรคราสนิม
    – เว้นระยะการปลูกให้เหมาะสม ต้องมีการระบายความชื้นที่ดี
    – กำจัดวัชพืชเป็นประจำ พร้อมนำตากแดดจนกว่าจะแห้งสนิท
    – พ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือแบคทีเรียปฏิปักษ์ตามจังหวะที่เหมาะสม
    – รีบตัดแต่งใบทันทีที่พบสัญญาณของโรค  
โรคราสนิม ถั่วฝักยาว
https://kasetgo.com/t/topic/

ที่มา

เอกสารวิชาการจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
คู่มือการจัดการ ศูนย์เก็บรักษาตัวอย่างโรคพืช, ดร.ศรีสุข พูนผลกุล, คุณศรีสุรางค์ ลิขิตเอกราช และ ดร.พรพิมล อธิปัญญาคม.

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้